“วัณโรค 2018” ระเบิดเวลาที่รอปะทุ เตือนดังๆ จาก “สุชาดา สวัสดิ์เอื้อ” เทคนิคการแพทย์ “สเตท เซรุ่ม”

สุชาดา สวัสดิ์เอื้อ

“แค่ตะโกนใส่กันก็สามารถแพร่เชื้อให้กันได้แล้ว”

ไม่ได้มีแค่ในภาพยนตร์อีกต่อไป แต่การกลับมาระบาดครั้งใหม่ของ “วัณโรค” ที่ใครๆ แทบจะลืมไปแล้ว มาพร้อมกับความรุนแรงสาหัสนัก

เป็นเพชฌฆาตเงียบที่คร่าชีวิตผู้คนบนโลกใบนี้มากเป็นอันดับ 1 แล้วในปัจจุบัน!

สุชาดา สวัสดิ์เอื้อ นักเทคนิคการแพทย์วิจัยใน ห้องปฏิบัติการ คลาส 3 สถาบันสเตท เซรุ่ม (Statens Serum Institute) ที่กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก สถาบันวิจัยเชื้อก่อโรคตัวจิ๋ว ตั้งแต่ไวรัส แบคทีเรีย มัยโคแบคทีเรีย มัยโคพลาสมา ต้นเหตุการติดเชื้อที่กำลังเป็นที่หวาดวิตกไม่เพียงแต่ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ต่างๆ หรือเอดส์ อธิบายถึงความรุนแรงของทีบี หรือวัณโรค อย่างชัดเจนด้วยประโยคสั้นๆ

Advertisement
ด้านหน้าสถาบันสเตท เซรุ่ม ที่โคเปนเฮเกน เดนมาร์ค

สำหรับ “สถาบันสเตท เซรุ่ม” ที่นี่มีห้องปฏิบัติการ (คลาส 3) ที่ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลกว่าเป็นหนึ่งใน 5 แห่งของโลกที่ยอดเยี่ยมที่สุด ทำงานกับเชื้อโพสิทีฟที่ร้ายแรงที่สุดโดยไม่เป็นอันตรายต่อนักวิจัย มีระบบกรองอากาศ 3 ชั้น ป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ ขณะเดียวกันก็แน่ใจว่าจะได้ผลวิจัยที่เที่ยงตรงไม่ปนเปื้อนเชื้ออื่น

ในยามนี้ สถาบันแห่งนี้ต้องรับมือกับเชื้อโรคตัวจิ๋วเหล่านี้ที่นับวันจะยิ่งอาละวาดไปไกลจนยากจะหยุดได้อยู่ นั่นเพราะถ้าไม่มีการตรวจพบ เชื้อแฝงเหล่านี้จะยังคงอาศัยอยู่ในตัวผู้เป็นพาหะนานเป็นสิบปีตราบที่เจ้าของร่างยังมีภูมิต้านทานโรค ยังมีเม็ดเลือดขาวที่แข็งแรงคอยป้องกันเชื้อโรคที่ผ่านมาเข้ามาได้อยู่

มีโอกาสได้พูดคุยขอความรู้จาก “สุชาดา” คนไทยหนึ่งเดียวในทีมตรวจวิจัยเชื้อโรคระดับพระกาฬทุกชนิด หาเซรุ่มเพื่อการรักษาโรคอย่างสัมฤทธิ์ผลที่สุด หนึ่งในหัวข้อที่น่าสนใจมากที่สุด คือ การกลับมาของวัณโรค ที่สุชาดาย้ำว่า “น่ากลัวมากที่สุด” เพราะแทบจะหยุดไม่อยู่แล้ว!

Advertisement

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้วัณโรคทวีความน่ากลัวมากยิ่งขึ้นคือ “ภาวะดื้อยา” ที่ซ่อนอยู่ในร่างกายคนเรา อันเนื่องมาจากการใช้ “ยาปฏิชีวนะ” อย่างพร่ำเพรื่อและกินไม่ครบโดส ทำให้โรคที่เป็นไม่เพียง “ไม่หาย” แต่เชื้อนั้นยังสร้างเกราะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็นเหตุให้ต้องเพิ่มยามากขึ้น หรือเปลี่ยนยาขนานใหม่ที่แรงกว่าเดิม

รวมทั้งพฤติกรรมการรับประทานอาหารของคนเอเซีย ไม่ว่าจะเป็นการเปิบมือ ปั้นข้าวเหนียวจิ้มแจ่วร่วมถ้วย ไปจนถึงการแสดงความรักด้วยการดื่มน้ำร่วมขัน อมลูกอมร่วมเม็ด ล้วนเป็นสาเหตุให้การแพร่กระจายของเชื้อเกิดขึ้นเร็วและแรงขึ้น

องค์การอนามัยโลกจึงจัดให้ประเทศไทยติด 1 ใน 14 ประเทศที่พบผู้ป่วยวัณโรคสูง โดยพบ 1.2 แสนคน/ปี มีผู้เข้าถึงการรักษาเพียงร้อยละ 60 และเสียชีวิตสูงถึงปีละ 12,000 ราย ทั้งวัณโรคที่ติดเชื้อเอชไอวีสูง และวัณโรคดื้อยารุนแรงปีละ 4,500 คน

สุชาดาบอกว่า ปัจจุบันจำเป็นต้องประกาศให้การฉีดวัคซีนเป็นวาระแห่งชาติ เพราะร่างกายเราแทบไม่มีภูมิต้านทานโรคแล้ว

ไปฟังมุมมองของเธอ ผู้ซึ่งทำงานท่ามกลางเชื้อโพสิทีฟชนิดที่ร้ายแรงที่สุด….

 

สถานการณ์การแพร่กระจายของวัณโรคในปัจจุบัน?

เครื่องอ่านค่าโพสิทีฟของเชื้อ

ที่เดนมาร์กเชื้อทีบีสงบนิ่งมานานจนดูเหมือนไม่มีทีบีแล้ว แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ ที่สถาบันจะได้เชื้อจากในประเทศและต่างประเทศ คือทั่วโลกก็ว่าได้มาทำวิจัยที่นี่ เราพบว่ายังคงมีผู้เสียชีวิตอยู่ทุกวัน และที่คิดว่าสาเหตุมาจากเอดส์หรือเป็นโรคนั้นโรคนี้ จริงๆ เป็นเพราะทีบี

ต้องอธิบายก่อนว่า โรคเอดส์มีมานานแล้ว แต่เราไม่เคยค้นพบ เราเห็นคนท้องร่วงท้องเสียแล้วเสียชีวิต เป็นทีบีแล้วเสียชีวิต แต่ที่ต้องเสียชีวิตเร็วมากขึ้นหรือเป็นมากขึ้นเป็นเพราะ “ภูมิต้านทานเชื้อโรคเราถูกทำลาย” ด้วยเชื้อไวรัสตัวนี้ที่เรียกว่า “มัยโคแบคทีเรีย”

กรณีที่คนๆ หนึ่งได้รับเชื้อไวรัสเอชไอวี ทำให้ภูมิต้านทานโรคถูกทำลายลง ให้คิดถึงสภาพของ “ตัวรั่ว” เมื่อร่างกายเราพรุนทั้งตัว แม้แค่ไอแค็กๆ ก็ตายได้ หรือมดกัดก็ตายได้ เพราะไม่มีภูมิต้านทานอะไรเลย เพราะฉะนั้นเวลาที่เรารักษาโรคเอดส์จะไม่ใช่การรักษาตัวโรคโดยตรง แต่ใช้การอุดรูรั่ว เพื่อให้ชีวิตประทังอยู่ได้ แต่ยังคงมีไวรัสตัวนี้ไปยุ่งวุ่นวายในตัวเราอยู่

คนที่ได้รับเชื้อไวรัสเหล่านี้เข้าไปทำลายภูมิต้านทานแล้ว ด่านแรกของร่างกายเราที่จะต้องปะทะคือ “ปอด” นั่นคือสาเหตุที่ว่า ทำไมการกลับมาใหม่ของทีบีครั้งนี้จึงน่ากลัวกว่าเดิมมากๆ เพราะร่างกายเราไม่มีภูมิต้านทานเหมือนเมื่อก่อนแล้วนั่นเอง

เมื่อก่อนเรายังมีภูมิต้านทานโรค?

ก่อนจะเจอไวรัสเอชไอวี เรามีภูมิต้านทานโรค แต่พอมีไวรัสเอชไอวีแล้วมันไปแตกพันธุ์พัฒนาขึ้นจนกลายเป็นตัวทำลายระบบภูมิคุ้มกันโรค ทำให้เป็นหวัดง่าย ท้องร่วงง่าย อยู่กับน้องหมา น้องหมาไม่สบาย เราก็ติดเชื้อไปด้วย

เครื่องแยกฮีโมโกบินออกจากเม็ดเลือดขาว

เอชไอวีมีการพัฒนาและกลายพันธุ์ด้วย?

ใช่ค่ะ มันจะไปทำให้ความแข็งแกร่งของร่างกายมนุษย์ที่สามารถต้านทานต่อเชื้อโรคของสัตว์อ่อนแรงลง และสลายไป

“เลือด” คือสิ่งสำคัญ ทั้งในแง่ของการแพร่เชื้อและเพื่อการรักษา การฉีดวัคซีนก็เพื่อให้เม็ดเลือดขาวรู้จักวัคซีน รู้จักศัตรูตัวนี้ แล้วจะสร้างภูมิคุ้มกัน เมื่อได้รับเชื้อตัวจริง เม็ดเลือดขาวก็จะทำหน้าที่ฆ่าได้ถูก

ปัจจุบันป่วยวัณโรคสามารถรักษาหายได้?

ผู้ที่เป็นเอชไอวีแล้วเป็นทีบี อาจรักษาทีบีหาย แต่ไม่หายจากเอชไอวี ต้องอุดรูรั่วของร่างกายต่อไป เพื่อไม่ให้เป็นหวัด เป็นซาร์ส ฯลฯ แม้ว่าทีบีจะมียาที่เข้าไปฆ่ามันได้ แต่ที่ฆ่าไม่สำเร็จเพราะคนไข้ฆ่าตัวตายเอง คือ การไม่มีวินัย กินยาไม่ครบโดส ทำให้ทีบีสร้างเกราะคุ้มกันตัวมันเองขึ้นมา หลายๆ ครั้งเข้ากลายเป็น “เชื้อที่ดื้อยา”

ถ้าเป็นทีบีแต่ไม่ได้เป็นเอดส์สามารถรักษาหายได้?

ใช่ค่ะ แม้แต่คนเป็นโรคเอดส์ ถ้ารักษาดีๆ ก็ยังมีชีวิตอยู่ได้ แต่ยาที่ใช้ในการรักษาแพงมาก มากกว่า 1 ล้านโครนต่อคน

แต่ถ้าไม่เป็นเอดส์ เขายังมีภูมิต้านทานโรคอยู่ ดิฉันกำลังจะพูดถึงวัคซีนโบร่ำโบราณ “วัคซีนบีซีจี” ซึ่งสำคัญมาก

ตู้วางเชื้อสำหรับส่องวิเคราะห์ มีฟิลเตอร์กรองอากาศ 2 ชั้น

จากที่ประสบมากับตัวเอง ระหว่างทำวิจัยในห้องแล็บกับเชื้อโพสิทีฟที่แรงๆ ทั้งหลาย ปรากฏว่าเพื่อนทำ “เชื้อ” ในหลอดทดลองตกพื้น ซึ่งเป็นเรื่องร้ายแรงมาก ทุกคนต้องออกจากพื้นที่ทันที อาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าทั้งหมด และปิดตายห้องแล็บป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ หลังจากที่ทุกคนเข้ารับการตรวจร่างกาย จากที่เกรงว่าจะติดเอดส์ เพราะทำงานกับไซรินจ์และเลือด กลายเป็นว่าเพื่อนๆ ติดเชื้อทีบีกันหมด ยกเว้นดิฉัน และเป็นคนเดียวที่เคยฉีดวัคซีนบีซีจี ปัจจุบันที่สถาบันแห่งนี้จึงออกกฎให้ทุกคนต้องฉีดวัคซีนบีซีจี

โดยเฉพาะในอินเดียและแอฟริกา นักวิจัยที่แล็บนี้ซึ่งเพิ่งลงพื้นที่มายืนยันว่า มีผู้ป่วยทีบีหนักๆ เป็นจำนวนมากๆ เพราะไม่ว่าจะโดยวัฒนธรรมการกินที่ใช้มือเปิบ หรือสภาพแวดล้อมที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อทั้งทางอาหาร น้ำดื่ม และอากาศที่หายใจ จึงเน้นย้ำว่าการฉีดวัคซีนเป็นสิ่งจำเป็นมาก โดยเฉพาะในเอเชีย

ปัจจุบันมีผู้เสียชีวิตด้วยทีบีมากกว่าเป็นเอดส์?

ค่ะ เนื่องจาก 1.ไม่ได้ฉีดวัคซีน 2.มีภูมิต้านทานในร่างกายต่ำ 3.เป็นติดต่อกันมาแล้วไม่รักษา ฉะนั้น เปอร์เซ็นต์ของผู้เสียชีวิตด้วยทีบีจึงมากขึ้น และทุกวันนี้มีผู้ป่วยเอดส์เพิ่มมากขึ้นมาก เมื่อเป็นเอดส์แล้วโรคแรกที่จะต้องเจอคือ ทีบี ฉะนั้นตัวเลขผู้เสียชีวิตด้วยทีบีจึงมีมากกว่าเสียชีวิตด้วยเอดส์

ที่น่ากังวลคือวัฒนธรรมการกินของคนเอเชียที่เสี่ยงต่อการรับเชื้อทีบีได้ง่าย การกินข้าวร่วมกัน ติดต่อกันจากน้ำลาย น้ำเมือก (สารคัดหลั่ง) แนะนำให้ล้างมือบ่อยๆ และ “ใช้ช้อนกลาง” จะช่วยได้มาก

ภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปมีผลต่อการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วย?

ทีบีเราปลูกเชื้อในอุณหภูมิ 37 องศาเซลเซียส ฉะนั้นในประเทศที่อุณหภูมิสูง ทีบีย่อมเจริญได้ดีแน่นอน หลังจากประเทศที่ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ อย่างรัสเซีย หรือในกลุ่มยุโรปตะวันออกเปิดประเทศ มีคนไข้ทีบีชนิดดื้อยาแรงๆ เพราะไม่ได้รับการรักษาเป็นจำนวนมาก เป็นพาหะแพร่เชื้ออย่างมีนัยสำคัญ เราพบว่าคนที่เคยเป็นทีบีเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ตอนนี้มีเชื้อตัวนั้นตัวนี้ด้วยทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นเอดส์ นั่นเพราะภาวะ “ดื้อยา” ซึ่งนอกจากอุณหภูมิ ความชื้นก็ทำให้โรคเจริญเติบโตได้ดีเช่นกัน

การดูแลตัวเองในเบื้องต้นเพื่อลดความเสี่ยง?

หนึ่ง นอนให้มาก 8 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย ถ้าไม่ได้ถึง 8 ชั่วโมง ให้ค่อยๆ เก็บสะสม ทุกครั้งที่หลับจะเหมือนชาร์จแบตให้ร่างกายเรา ซึ่งวิธีที่ทำให้ร่างกายเหมือนได้หลับลึกโดยใช้เวลาไม่นานและได้พลังมากที่สุด คือการเข้าสมาธิ

สอง ดื่มน้ำมากๆ โดยเฉพาะ “น้ำอุ่น” จะทำให้รายกายรู้สึกสดชื่น และที่บอกกันว่าก่อนนอนอย่าดื่มน้ำ จริงๆ แล้วการดื่มน้ำก่อนนอนเป็นสิ่งดี เพราะช่วยลดการ “ดีไฮเดรต” (Dehydrate) และเมื่อตื่นนอนแล้วให้ดื่มน้ำอีก การดื่มน้ำเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับทุกคนในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสภาพอากาศทุกวันนี้ที่เปลี่ยนแปลงเร็วมาก น้ำช่วยได้มาก ควรมีน้ำติดตัวและจิบบ่อยครั้ง อย่าให้ร่างกายขาดน้ำ

และสาม คือการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

มิวเซียมเชื้อโรค เก็บเชื้อผู้ป่วยที่อุณหภูมิ -80 องศาเซลเซียส

กลับมาที่กรณีเอดส์ ที่ยูเอ็นไอดีเอส ออกมาเตือนว่า เอดส์จะคุมไม่อยู่ โดยเฉพาะในคนหนุ่มสาว?

ถูกต้องค่ะ ปัจจุบันมีผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวีมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์แล้ว ทั้งด้วยสาเหตุของการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร และการใช้ยาเสพติด

ที่สำคัญคือ ภาวะดื้อยาทำให้ร่างกายไม่สามารถต้านทานอะไรได้เลย ทั้งๆ ที่ยังไม่เป็นเอดส์ คนที่ชอบใช้ยาปฏิชีวนะ ยกตัวอย่างเช่น กินเพนิซิลลินบ่อยๆ ทำให้มีเชื้อดื้อยาอยู่ในตัว รวมทั้งการกินอาหารโดยใช้ช้อนร่วมกัน นอนร่วมกัน หายใจร่วมกัน ทำให้เกิดการติดเชื้อได้ทั้งสิ้น

เอดส์ที่มองกันว่าน่ากลัว ทีบีน่ากลัวกว่า เพราะแค่ตะโกนใส่กันก็ติดได้แล้ว และถ้ารักษาไม่หายก็เหมือนเอชไอวีที่พร้อมจะปะทุทุกเมื่อ

เพราะเชื้อดื้อยาและทำให้เกิดโรคอุบัติใหม่?

ทำนองนั้น ในเอเชียที่เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก เพราะหาไม่พบว่าเชื้ออะไรเป็นสาเหตุ เพราะการจะรักษาวัณโรคต้องมีการจำแนกย่อยต่อไปอีกว่าเป็นวัณโรคอะไร ที่นี่ถ้าจ่ายยาให้ไป 4 ตัว มันดื้อ จะจ่ายอีก 15 ตัว เพื่อดูปฏิกิริยาว่ามีตัวไหนที่พอลุ้นได้ นี่คือสิ่งที่ห้องปฏิบัติการระดับ 3 ทำอยู่ในขณะนี้ ฉะนั้น เมื่อพบเชื้อจึงต้องมีการฟรีซไว้ตลอดกาลเพื่อการทำวิจัย รวมทั้งสำหรับนักศึกษาแพทย์ที่จะทำพีเอชดี

สรุป เอเชียต้องประกาศฉุกเฉินวัคซีนแล้ว เด็กๆ ทุกคน “ต้อง” ได้รับการฉีดวัคซีนบีซีจี ซึ่งทุกคนจะรู้ว่าเพื่อป้องกันทีบี แต่จริงๆ แล้วมันครอบคลุมมัยโคแบคทีเรีย ฉีดแค่ครั้งเดียวเมื่อเม็ดเลือดขาวรู้จักแล้วก็จะสร้างภูมิต้านทานโรค เพราะแค่เอามือเช็ดน้ำมูกไปป้ายเพื่อนอีกคนก็ติดแล้ว

ประเทศที่มีห้องปฏิบัติการระดับ 3 ผู้ป่วยจึงมีโอกาสได้รับการรักษา?

แต่ก็มีปัจจัยอื่นด้วย อย่างที่เดนมาร์กมีแล็บ 3 มีประชากรแค่ 6 ล้านคน ขณะที่ประเทศไทยมีห้องแล็บจำนวนไม่มาก แต่มีประชากร 60 ล้านคน นี่คือความไม่สมดุลของการรักษา คือต้องคำนึงถึงจำนวนบุคลากรเพียงพอมั้ย ห้องแล็บพอมั้ย และยาที่มีราคาแพงมาก อัตราการเสียชีวิตของเอเชียจึงมีมากจนล้น

ขณะเดียวกัน ไทยรวมทั้งประเทศในเอเชียอื่น ใช้ยาปฏิชีวนะกันมานานมาก ซึ่งเป็นอีกโรคหนึ่งที่ทำให้เกิดความยากลำบากของการรักษามากขึ้น น่ากลัวมาก หมอสู้ไม่ไหว

การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ทุกปีจำเป็นมั้ย?

เดี๋ยวนี้เป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ แม้จะเป็นวัคซีนคนละสายพันธุ์ แต่เหมือนเราได้ส่งคู่ชกเข้าไปให้ร่างกายได้ฟิตซ้อมไว้ก่อน เพราะผู้สูงอายุไม่สามารถต้านทานไข้หวัดใหญ่ได้ มักจะเกิดอาการดีไฮเดรต หรือภาวะขาดน้ำ รัฐบาลเดนมาร์กปัจจุบันจึงบังคับให้คนอายุ 60 ปีขึ้นไป ต้องฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ทุกปี โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานในแล็บ แต่ในวัคซีนจะมีส่วนผสมของหลายๆ อย่าง รวมทั้งไข่ด้วย ฉะนั้นถ้าคนแพ้ไข่จะแพ้สารในวัคซีน อาจจะเป็นไข้ มีอาการเมาเชื้อ ซึ่งจะเป็นแค่ไม่กี่วัน

แต่ถ้ารอจนเป็นไข้หวัดใหญ่จริงๆ อาจจะสายเกินการณ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image