‘น่าน หงษ์วิวัฒน์’ เจนสอง”แสงแดด”กับความท้าทายผู้ผลิตคอนเทนต์อาหาร ในยุคใครๆ ก็อ่านแต่ของฟรี

ในยุคที่สื่อสิ่งพิมพ์ถูกคลื่นกระแสของ Digital Disruption ซัดกระหน่ำรุนแรงจนตั้งตัวไม่ติด หลายสื่อต้องปิดตัวลงอย่างถาวร ขณะที่สื่ออีกจำนวนหนึ่งเร่งปรับและขยับองคาพยพเข้าสู่รูปแบบดิจิทัล

หนึ่งในสื่อเก่าแก่อย่าง “นิตยสารครัว” ที่อยู่คู่กับแผงหนังสือมานานกว่า 20 ปี ก็หนีวงจรไม่พ้น หลังประกาศปิดตัวเมื่อกลางปี 2560 ที่ผ่านมา ได้หันหัวเรือเข้าสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ ในนาม Krua.co

การก้าวเข้าสู่โลกใบใหม่นี้ “ครัว” ยังคงรูปแบบเนื้อหาด้านอาหารที่ไม่ใช่สวยแค่รูปลักษณ์ แต่เอกลักษณ์ดั้งเดิมคือ ความมีสาระของอาหารการกินแบบไทยๆ ยังบรรจุไว้ครบถ้วน แต่ท่ามกลางการรักษาคุณค่าเหล่านี้ การปรับตัวของคนทำสื่อยุคนี้เหนื่อยยากท้าทายคนทำงานมากขึ้นทุกขณะ

น่าน หงษ์วิวัฒน์ หรือเชฟน่าน วัย 39 ปี ผู้กุมบังเหียนสำนักพิมพ์แสงแดด ผู้ผลิตตำราอาหารมากมาย และนิตยสารครัว รับไม้ต่อจากรุ่นพ่อแม่ ศาสตราจารย์ ดร.ทวีทอง และนิดดา หงษ์วิวัฒน์ สวมบทบาทหัวเรือใหญ่นำองค์กรปรับตัวจากยุคกระดาษสู่ยุคดิจิทัล

Advertisement

เชฟน่าน สำเร็จการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขยับไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทสาขาบริหารธุรกิจที่ Case Western Reserve University รัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา แล้ว

กลับมาช่วยบริหารกิจการครอบครัวในฐานะทายาทรุ่นที่ 2 มีประสบการณ์เปิดร้านอาหาร ก่อนตัดสินใจเข้าสู่วงการ “เชฟ” เรียนทำอาหารที่สถาบันเลอ กอร์ดอง เบลอ ประเทศไทย และทำคะแนนอันดับหนึ่งของคลาสตั้งแต่ระดับ Basic, Intermediate และ Superior

ทั้งบทบาทเชฟ และเจ้าของรายการทำอาหาร C.I.Y.-Cook It Yourself เชฟน่านมีอีกหมวกใบใหญ่ คือการสานต่อธุรกิจสำนักพิมพ์แสงแดด ควบคู่ไปกับเดินหน้าสร้างสื่อใหม่อย่างเว็บไซต์ Krua.co

Advertisement

ทั้งหมดนี้ “เชฟน่าน” มองว่ายังมีสิ่งเหนื่อยยากต่างๆ ที่คนทำสื่ออย่างเขาต้องเผชิญ

จากนิตยสารครัวมาสู่การปรับตัวในโลกออนไลน์สถานการณ์เป็นอย่างไรบ้าง?

ก่อนจะปิดตัว เราปรับรูปโฉม ดีไซน์ตัวนิตยสาร เพื่อที่จะตอบสนองกับกลุ่มลูกค้า เราคิดว่าถ้าเราลองปรับรูปโฉม ดีไซน์ เนื้อหาคอนเทนต์ ให้ดูไลฟ์สไตล์มากขึ้น ผู้อ่านและสปอนเซอร์จะมีฟีดแบ๊กดีขึ้น แต่ความเป็นจริงก็สวนกระแสของนิตยสารมากๆ เราเลยตัดสินใจปิดตัว เป็นการตัดสินใจเร็วมากๆ เร็วไม่น่าเชื่อ ทุกทีมไม่ได้เตรียมตัว ไม่ได้ทำใจ เพราะเจ้าของผู้ก่อตั้ง (คุณพ่อคุณแม่) ไม่ได้ใช้เวลาทำใจนาน คุณแม่ก่อตั้ง คุณพ่อบริหารมาตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปี ซึ่งเขาสตรอง เราในฐานะคนทำงานก็ต้องสตรองด้วย

ทำสื่อนิตยสารมาวันนี้ภูมิทัศน์ของสื่อเปลี่ยนใหม่หมด เว็บไซต์ Krua.co ไปได้แค่ไหน?

ออนไลน์งานหนักกว่าเดิม มีหลายสิ่งหลายอย่างต้องดูแลมากขึ้น คือ เวลาทำนิตยสารเราเขียนคอลัมน์เสร็จ จบ ก็ไปหาเรื่องใหม่ สำหรับเดือนถัดไป แต่ออนไลน์ไม่จบ มันมีเรื่องข้อมูลมากมายท่วมหัวเรา มีเรื่องฟีดแบ๊กจากแฟนๆ User ต่างๆ มาแบบถึงตัวทันที เดี๋ยวนี้ มีกูเกิล อนาลิติก มีเอสอีโอ การซื้อบูทโพสต์ มีเสิร์ชเอ็นจิ้น มีอะไรต่ออะไรมากมาย

เราก็มีความหวัง แต่ก็ยังฝุ่นตลบอยู่ เราคิดอย่างนี้ คือ เราคงทำเรื่องอื่นไม่เป็นแล้วล่ะในชีวิตนี้ เราคงไปเรื่องปลูกต้นไม้ การเมือง เราทำไม่เป็น เราทำเป็นแต่เรื่องนี้ และชอบที่จะทำ เราเริ่มทำคลิปมาก่อนหน้าที่จะปิดตัวนิตยสาร เริ่มทำคลิปโปรโมตหนังสือ ทำคลิปเนื้อหาที่เราว่าน่าสนใจ แล้วคลิปเราก็ตอบสนองได้ดี ก็เลยมีประสบการณ์บ้างในการทำโปรดักชั่นเกี่ยวกับวิดีโอ ทำคอนเทนต์ออนไลน์ต่างๆ

ยุคที่คอนเทนต์อาหารเยอะมาก ทั้งฉาบฉวยและลงลึก ในฐานะเจ้าใหญ่ดั้งเดิมที่ผลิตคอนเทนต์อาหาร มีจุดเด่นอะไรในตลาดออนไลน์?

เราประเมินแล้วว่าก่อนหน้านี้ เราขายหนังสือ ขายนิตยสาร ทุกคนจ่ายตังค์เพื่อจะซื้อคอนเทนต์อะไรบางอย่าง แต่วันนี้ถ้าไปดูคอนเทนต์เกี่ยวกับอาหารในโลกนี้มันฟรีคอนเทนต์หมดเลย เป็นฟรีมีเดียที่อาจจะแฝงด้วยโฆษณาหรืออะไรก็แล้วแต่ มันเป็นฟรีมีเดียทั้งโลกเลย เราไม่สามารถสวนกระแสโลกนี้ได้ ไม่มียูสเซอร์ (user) คนไหนพร้อมที่จะจ่ายตังค์เราเลย เคยทำสำรวจถ้าจะเอาสูตรอาหารทั้งหมดที่เคยทำมาตลอด 30 ปี มาให้เป็นแบบสมัครสมาชิกรายเดือน จ่ายแค่ 29 บาทต่อเดือน จะดูเท่าไหร่ก็ได้ ไม่มีคนพร้อมจ่าย 29 บาท น่าสงสารมาก

คนที่พูดเหล่านี้มีฐานะ มีหน้าที่การงาน ฉะนั้นมันคงต้องเป็นฟรีมีเดีย เป็นออนไลน์ ถามว่าแล้วเนื้อหาเราแตกต่างยังไงกับเนื้อหาที่มีอยู่เต็มโลก เราคงยังมีความเป็นนิตยสารครัวอยู่ มีเรื่องวัฒนธรรมการกินแบบไทย อาหารไทย แล้วเนื้อหาเราเจาะลึกมากๆ เราก็คิดเหมือนกันว่าเวลาเราทำออนไลน์แล้วจะเจาะลึกได้หรือเปล่า ก็เป็นความท้าทายของทีมงาน

มากๆ ว่าทำอย่างไรให้องค์ความรู้ยังอยู่ โดยที่ยังดึงความสนใจของคนรุ่นใหม่ได้ เพราะฉะนั้นเลยเป็นเรื่องของการสร้างคลิปวิดีโอ รูปแบบคอนเทนต์เพื่อให้ของดีๆ ต้องมี

เราก็คุยกันเสมอว่าเราต้องเรียนรู้นะกับกระบวนการ กับนิสัยของผู้บริโภคออนไลน์ว่าเขาชอบเสพอะไร ไม่ได้แปลว่าเราต้องป้อนในสิ่งที่เขาอยากเสพเสมอไป ผมคุยกับทีมเสมอว่าเรื่องบางเรื่องถ้าเราคิดว่าจำเป็นต้องพูด ต่อให้ไม่มีคนอ่านเลยก็ต้องทำ แต่ขอให้รู้ว่าเรากำลังทำสิ่งเหล่านั้นอยู่นะ

ด้วยความที่คนทำนิตยสารจะรู้ว่ามันไม่มีตัววัด คอนเทนต์ที่เราเขียนมามีคนอ่านเยอะแค่ไหน แต่พอมาออนไลน์ตัวเลขชัดเจนมากว่า ยอดวิวเท่าไหร่ ยอดเข้าถึงหน้าเว็บเราเท่าไหร่ มันเป็นตัวที่แบบ ช็อกนิดหนึ่ง หลักร้อยเราก็เจอ เราก็โห โหดอยู่นะ เลยรู้สึกว่าเป็นยุคใหม่ที่ใครๆ ก็ต้องปรับตัว ท้าทาย อีกทางหนึ่งก็เป็นแรงขับดันด้วย แต่ก็ Dilemma (กลืนไม่เข้าคายไม่ออก) นิดหน่อยว่า การที่เราไปทำเนื้อหาให้คนชอบมันดีจริงหรือเปล่า ในฐานะที่เราเป็นสื่อ

การทำงานสื่อบนแพลตฟอร์มออนไลน์ก็ต้องตั้งคำถามกับตัวเองด้วย?

ต้องตั้งคำถามตัวเองว่า เราไปทำอะไรที่มันสปอยล์(ตามใจ) คนในออนไลน์มันดีหรือเปล่า คนชอบอะไรสั้นๆ แล้วเราจะทำเรื่องสั้นๆ อย่างเดียวเลยเหรอ จะทำเรื่องที่ไม่ต้องคิดอะไรเลยเหรอ หรือเขาชอบอะไรแบบที่พาไปกิน เราจะรีวิวอย่างเดียว ตะบี้ตะบันรีวิวแบบนี้เหรอ ก็เป็นคำถามที่เราตั้งคำถามกับตัวเอง เพราะเราไม่อยากเป็นสื่อแบบที่ยอดวิวเยอะๆ แล้วไม่มีประโยชน์ เราอยากเป็นสื่อที่มีประโยชน์กับผู้คน กับสังคม ต้องคิดเยอะเหมือนกันว่าเราไม่สามารถทำคอนเทนต์ได้ทุกประเภท ไม่สามารถทำคอนเทนต์ที่สังคมออนไลน์ชอบแล้วเราก็ฟีดแต่เรื่องนี้ เพราะเรารู้สึกว่าสุดท้ายแล้วมันไม่ได้สร้างประโยชน์อะไรเลย จะยิ่งทำให้เขาสมาธิสั้นเข้าไปหนัก เลยรู้สึกว่ามันต้องบาลานซ์กันหน่อย

ในโลกของออนไลน์ คลิปอาหารสไตล์ของ Krua.co ที่เน้นสาระทำได้แค่ไหน ที่บอกไม่เอาใจคนดู?

เราพยายาม ถามว่าไหวไหมถึงวันนี้ก็ต้องไหว (หัวเราะ) คือ คุณทำอะไรได้อย่างนั้น ถ้าทำคลิปตลกก็จะได้แต่คนที่ชอบตลก ผมทำแบบนี้แปลว่าผมได้คนที่ชอบทำอาหารจริงๆ คนที่ชื่นชมความสวยงาม ศิลปะ ฉะนั้น ผมได้กลุ่มนี้ ถามว่าเราอยากได้ยอดวิวเป็นล้านไหม แต่ถ้าได้แล้วไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายเราจริงๆ เขาไม่ได้ชอบเราด้วยความเป็นครัวทั้งหมดจริงๆ มันก็ไม่มีประโยชน์สำหรับเราเท่าไหร่ เราก็ค่อยๆ เติบโต อาจจะไม่แมสมาก ซึ่งเราก็โอเค แฮปปี้กับกระบวนการที่เกิดขึ้น

ผมไม่ใช่นักธุรกิจที่อยากจะขยาย เติบโตเข้าตลาดหลักทรัพย์ เรามองว่าแฮปปี้กับสิ่งที่เราทำตอนนี้ ทำในสิ่งที่รักจริงๆ อยากให้เรายังคงผลิตคอนเทนต์ดีๆ ที่ยังสร้างประโยชน์แก่ผู้คนได้ โดยที่มีคนสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ นี่คือเป้าหมาย อยากให้คอนเทนต์ สร้างสรรค์เข้าถึงทุกคนมากขึ้นกว่านี้ ถ้ามีคนสนใจแล้วต่อยอดได้ ไม่ว่าจะเป็นอาชีพ หรืออะไรก็แล้วแต่ ถ้ามีส่วนหนึ่งที่เราจะส่งเสริมอะไรบางอย่างได้ แล้วเกิดอิมแพคขึ้นจริงๆ แบบนี้คือวิถีที่ถูกต้องของเรา

เทรนด์คอนเทนต์เกี่ยวกับอาหารปัจจุบันเป็นอย่างไร เปลี่ยนแปลงรวดเร็วไหม?

มาๆ ไปๆ คนไทยยังนิยมเสพอะไรใกล้ตัว อะไรแซ่บๆ อะไรน้ำลายไหล พริกๆ อะไรแบบนี้ยังคาดเดาได้ ซึ่งเราพยายามทำคลิปที่เกี่ยวกับขนมไทย เพราะรู้สึกว่าขนมไทยถูกลืม แล้วผมเป็นคนทำอาหาร รู้ว่าขนมไทยไม่ได้ทำง่าย ต้องใช้ความพยายาม พิถีพิถันมากๆ ขณะเดียวกันมันขายไม่ได้ราคา ไม่เหมือนขนมฝรั่งที่แบบทำเท่าไหร่ก็ขายแพงได้ ขนมญี่ปุ่นไม่เห็นเป็นแบบนี้เลย แต่ขนมไทยนับวันจะค่อนข้างหายไปเรื่อยๆ ก็พยายามจะผลักดันคอนเทนต์พวกนี้ออกไปบ้าง เพื่อให้คนไทยเห็นคุณค่า เห็นความสวยงามของขนมไทยมากขึ้น คลิปชุดนี้ก็ได้รับความนิยมนะ

เรามีคลิปซีรีส์ที่ชื่อ Heart mate นำเสนอคนที่ทำของดีๆ ทำอาหารดีๆ ที่เขาตั้งใจจริงๆ เหมือนงานคราฟท์ของเขาที่มองผู้กิน ผลงานของเขาเป็นที่ตั้ง เราก็ถ่ายทอดผ่านภาพ น่าแปลกว่าพอเขาเป็นคนคราฟท์เขาก็สามารถถ่ายทอดความรู้สึกเขาได้ โดยเราไม่ต้องมีบทอะไรให้เขา เราแค่ไปเก็บภาพ

มันมี Dilemma ที่พ่อผมเคยพูดถึงเรื่องหนึ่งว่า ยุคปัจจุบันคือคนห่างไกลจากครัวมากขึ้น ห่างไกลจากการทำอาหารกินในบ้านมากขึ้น แต่คนก็ยังมีความคอน

ทราสต์ (contrast) คือชอบดูคอนเทนต์เกี่ยวกับอาหาร พอเปิดฟีดเจอในเฟซบุ๊กจะหยุดดูกับคอนเทนต์อาหารได้ง่าย เพราะว่าคอนเทนต์อาหารนั้นมันลิงก์คุณเข้ากับชีวิต ชีวิตกับอาหารมันของคู่กัน คนจะเป็นคนที่สมบูรณ์ต้องมีเรื่องเกี่ยวข้องกับอาหาร วันนี้คนทำอาหารน้อยลง คนก็ยังดึงตัวเองเข้ากับการใช้ชีวิตด้วยการชอบเสพสื่อที่เกี่ยวข้องกับอาหาร

ในส่วนของงานด้านการทำอาหารยังทำอยู่ไหม?

ยังทำอยู่ ประมาณ 80% เป็นการทำอาหารเพื่องาน ปัจจุบันลดเหลือ 60% ทำที่บ้านสัก 40% ใครที่คิดว่าทำอาหารเป็นพรสวรรค์จริงๆ ไม่ใช่ มันคือการทำบ่อยๆ การที่เราได้มีโอกาสทำอาหารบ่อยๆ ทำให้เราได้เรียนรู้เข้าใจ แล้วทำมันได้มากขึ้น ฉะนั้นถ้าไม่มีงานก็ไม่มีทางทำเก่ง

งานอาหารเป็นงานที่เราชอบจริงๆ หรือไฟต์บังคับจากธุรกิจของครอบครัว?

คุณแม่ คุณพ่อ ไม่เคยตีกรอบว่าต้องเรียนอะไรเลย มันมีความบังเอิญบางอย่าง วันหนึ่งผมไม่ชอบวิศวะก็หางานอื่นทำ แล้วธุรกิจมีปัญหาเกี่ยวกับการตลาดที่รุนแรงเกี่ยวกับร้านหนังสือก็ดึงเราเข้ามาช่วย ส่วนพี่ชายไปเรียนกราฟิกดีไซน์ เขาก็มาช่วยออกแบบกับที่บ้าน โดยที่ไปทำอย่างอื่นมาก่อน ส่วนน้องสาวเรียนวิดีโอมา ภาพยนตร์ ก็มีส่วนที่ชอบและมาช่วยได้ บังเอิญมาที่ทุกคนเรียนในสิ่งที่อยากเรียน ผมไปเรียนอาหารเองหลังจากจบ MBA เรียบร้อยแล้ว ที่ไปเรียนเพราะว่าดันไปเปิดร้านอาหาร แล้วเรารู้สึกว่าเราอยากทำเป็นจริงๆ คือ ทำเป็นบ้างอยู่แล้ว แต่อยากทำเป็นจริงๆ อยากทำเป็นแบบมีครู พี่น้องทั้งหมดบังเอิญมาส่งเสริมในธุรกิจส่วนที่ไม่ได้ซ้ำซ้อนกัน เป็นส่วนผสมที่ลงตัวอย่างบังเอิญ

ในหน้าที่สื่อที่นำเสนอเรื่องราวอาหาร ทุกวันนี้มองเทรนด์ที่ผู้คนหันมาทำอาหารอย่างไร?

สังคมสมัยนี้ให้โอกาสกับคนทำอาหารเยอะ เพราะสมัยก่อนคนทำอาหารก็จะเฉยๆ หน้ามันไป ไม่มีใครสนใจว่าคุณจะทำเป็นหรือไม่เป็น แต่สมัยนี้คนทำอาหารเป็นมันดูดีขึ้นนะ มันมีสเตตัสในสังคมมากขึ้น สังเกตรายการเชฟต่างๆ มีคนติดตามเยอะมาก ทั้งที่สมัยก่อนผมว่าไม่มีทางได้เรตติ้งหรอกพวกนี้

ฉะนั้น ผมว่าสังคมยุคนี้มันเอื้อ แต่ประเด็นคือสังคมยุคนี้มีหลากหลายให้เราเลือกทำ ฉะนั้นการทำอาหารในสังคมนี้ก็มีความท้าทายหน่อยว่าถ้าใครเริ่มได้แล้วจริงจังผมว่ามันก็ดี ที่สำคัญคอนเทนต์มันเต็มไปหมด หาจากมือถือมีเต็มไปหมด แค่ Krua.co ก็เยอะมาก แทบจะทุกอย่าง เราเป็นออนไลน์ฟรีคอนเทนต์หมด มีสูตรอาหาร มีวิดีโอ มีบทความต่างๆ เต็มไปหมด ผมว่าการเข้าถึงข้อมูลที่น่าเชื่อถือมันง่าย เพียงแค่คนที่ทำจะลงมือทำเมื่อไหร่

ผมเคยคุยเรื่องนี้กับหลายคนว่าการทำอาหารคนชอบรู้สึกว่ามันยาก ทำไม่ได้ จะตั้งโจทย์นี้กับตัวเองแต่แรก ฉะนั้น เวลาเขาทำพังในครั้งแรกเขาจะบอกว่าเห็นไหมล่ะ บอกแล้วว่าทำไม่ได้ เราก็จะไม่เกิดการทำซ้ำครั้งที่สอง แต่ชีวิตนี้เราทำเรื่องยากมากกว่านี้เยอะแยะมาก การที่เราประกอบอาชีพปัจจุบันก็ยากกว่าการทำอาหารหนักมากแล้ว การที่เราเรียนจบมันยากกว่าการทำอาหารมากแล้ว แต่เพียงแค่เราไม่ให้โอกาสตัวเองผิดพลาดในการทำอาหารเท่านั้นเอง

เรื่องอาหารผมจะเทียบกับการปั่นจักรยาน ตอนเด็กๆ เราปั่นยังไง มีใครเกิดมาก็ปั่นเป็น ตู เดอ

ฟรองซ์ (รายการการแข่งขันปั่นจักรยานชื่อดังระดับโลก) ไหม ปั่นเสือหมอบอย่างเร็วไม่มีหรอก ก็ปั่นสี่ล้อทั้งนั้นแหละ พอเป็นสองล้อก็ล้ม ก็เหมือนกัน อาหารทำไหม้เป็นเรื่องธรรมดา ทำไม่อร่อยเป็นเรื่องปกติ น้ำมันกระเด็นเป็นเรื่องธรรมดา ถ้าไม่เลิกทำวันหนึ่งคุณก็ทำเก่ง ถ้าเลิกทำก็ไม่ได้ไปต่อเท่านั้นเอง ถามว่ามีคนมีพรสวรรค์ไหม มี ทำอร่อยมาก เรียนรู้แป๊บเดียวก็มี แต่ว่าอาหารเป็น Survival Skill ที่มนุษย์เกิดมาต้องมี แต่คนสมัยนี้ไม่ค่อยให้โอกาส ก็อยากบอกว่าทำไปเถอะ คือ ผมรู้สึกว่ามันเป็นสายใย สร้างสายใยอะไรบางอย่างในครอบครัว สร้างความมั่นใจให้กับตัวเอง สร้างสุขภาพที่ดีให้กับเราได้

ไม่ได้บอกว่าวันนี้คุณฟังผม แล้วคุณไปทำอาหารเลยทุกวัน 7 วัน โอ้โห เฉาตายชีวิต มันเหนื่อยนะอาหาร มันไม่ใช่ทำแล้วกินจบ มันล้าง เตรียม ไปซื้อของ คือ ผมเข้าใจนะว่ามันเหนื่อย แต่การทำอาหารมันก็ได้ความสงบสุขอะไรบางอย่างที่อยากให้ทุกคนได้ลอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image