การวาดภาพคือของขวัญแห่งชีวิต ‘สุมาลี เอกชนนิยม’ ความสุขเมื่อได้ตื่นมาทำงาน

สำหรับคนซึ่งทำงานที่ตัวเองชอบ ชั่วโมงแห่งการทำงานน่าจะเป็นความรื่นรมย์หนึ่งที่เติมความหมายให้ชีวิต

เช่นเดียวกับเธอที่ถือว่าการวาดภาพเป็นรางวัลแห่งชีวิตที่มอบให้ตัวเอง

กว่า 20 ปี ในฐานะอาจารย์คณะศิลปวิจิตร สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ เมื่อเกษียณเธอกลับมาทำงานศิลปะเต็มตัว ใช้เวลา 8 ชั่วโมงต่อวัน จันทร์ถึงศุกร์

“สุมาลี เอกชนนิยม” พูดถึงการทำงานศิลปินเต็มเวลาของเธอว่า หากว่าอยากเขียนรูปอยู่ตลอดเวลา ก็ไม่จำเป็นต้องรออารมณ์ใดๆ

Advertisement

สุมาลีเกิดในครอบครัวคนจีนซึ่งทำธุรกิจโรงสีที่ร้อยเอ็ด ถูกส่งไปโรงเรียนจีนที่อุบลฯตั้งแต่เล็กพร้อมพี่น้อง ในยุคที่จอมพลสฤษดิ์สั่งห้ามสอนภาษาจีน

เธอเล่าว่าการได้จับพู่กันคัดตัวอักษรจีนตั้งแต่เด็ก อาจมีส่วนที่ทำให้ได้ฝึกมือ และทำให้เธอติดใช้พู่กันจีนมาถึงปัจจุบัน

หลังจบ ม.ศ.3 นั่งรถเข้ามาสอบช่างศิลป์ที่กรุงเทพฯ เรียนต่อปริญญาตรีสาขาศิลปศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ประกาศนียบัตร ภาษาฝรั่งเศส ซอร์บอนน์ มหาวิทยาลัยปารีส, ปริญญาโททัศนศิลป์ (ศิลปะสมัยใหม่) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

Advertisement

วิทยานิพนธ์ ป.โท ได้รับการตีพิมพ์เป็นหนังสือ “ฮูบแต้มในสิมอีสาน งานศิลป์สองฝั่งโขง” โดยสำนักพิมพ์ศิลปวัฒนธรรม

เคยมีงานแสดงเดี่ยวหลายครั้ง รวมถึงได้ร่วมแสดงงานที่ อาร์เจนตินา, ชิลี และจีน

แม้ทำงานศิลปะต่อเนื่อง แต่สุมาลีมองว่าที่ผ่านมายังไม่ได้ทำอย่างเต็มที่ ด้วยหน้าที่ทั้งการสอนและการทำงานวิชาการ

หลังเกษียณจึงเริ่มทำงานที่ตั้งใจไว้ และ “วรพจน์ พันธุ์พงศ์” ชวนไปวาดรูปที่น่าน ที่มั่นใหม่ของนักเขียน สุมาลีนั่งเขียนรูปทิวทัศน์และผู้คนที่ได้พบเจอ ประจวบเหมาะกับวรพจน์บรรเจิดโปรเจ็กต์จัดงาน “NAN POESIE” เทศกาลบทกวีที่น่าน ครั้งที่ 1 วันที่ 17-18 พ.ย.นี้ ที่ห้องสมุดบ้านๆ น่านๆ มีอ่านบทกวี ชมเพอฟอร์แมนซ์ และได้ชวนสุมาลีจัดนิทรรศการ “เพราะคุณคือบทกวีของชีวิต” จากภาพเขียนที่น่านชุดนี้ โดยจะแสดงงานยาวถึงต้นปีหน้า

นอกจากนี้ สุมาลียังมีงานชุดพอร์เทรตนักเขียนและนักร้องไทย คาดว่าจะแสดงช่วงปลายปีหน้า คัดสรรจากแต่ละภาพที่เธอนั่งเขียนซ้ำๆ จนกว่าจะพอใจ

การกลับมาทำงานศิลปะเต็มตัว คล้ายเป็นการได้ใช้ชีวิตที่หวังไว้ สุมาลียืนยันว่าการได้นั่งวาดภาพทุกวันเช่นนี้เป็นความสุขที่สุดเท่าที่จะหาได้ในชีวิตนี้

สนใจศิลปะตั้งแต่เมื่อไหร่?

จำได้ว่าตอน ป.2 อยู่โรงเรียนจีน ครูศิลปะที่มาจากปักกิ่งจูงมือไปวาดรูปให้เด็ก ป.4 ดู ตอนนั้นไปวาดรูปดอกบานบุรี ซึ่งง่ายมาก แต่เขาบอกว่าสวยมากเลย เด็กคนอื่นวาดไม่ได้ ตั้งแต่ที่จำได้ครูจะชมว่าวาดรูปสวย ลายมือสวย หลังเลิกเรียนจะขี่จักรยานไปเฝ้าคนวาดคัตเอาต์ที่โรงหนัง เฝ้าตั้งแต่ ป.2 จนจบ ม.ศ.3 ไปเป็นลูกมือล้างพู่กัน วิ่งซื้อบุหรี่กับโอเลี้ยงกระป๋อง ดูไป 3-4 ปี เขาให้เขียนหญ้า แต้มไปบนคัตเอาต์ โอ้โห ปลื้มที่สุดแล้ว เหมือนเราเริ่มเป็นศิลปิน พอจบ ม.ศ.3 ก็มาสอบช่างศิลป์

ตอนนั้นเขียนทั้งป้ายโรงหนัง เขียนฉากหมอลำมา ช่างศิลป์คิดว่าของตาย ยังไงต้องได้ แต่ที่บ้านไม่ให้เรียน มีเพื่อนรุ่นพี่คนหนึ่งจะมาสอบเดคศิลปากร เลยขอนั่งรถเมล์ส้มจากอุบลฯมาหมอชิต นั่งบนเครื่องรถข้างคนขับ 2 คน เพราะไม่ได้ซื้อตั๋ว เด็กๆ ไม่มีเงิน ขอพ่อแม่ก็ไม่ได้เดี๋ยวเขารู้ว่าหนีไปไหน มาสอบก็ได้เรียน ตอนนั้นฝันว่า ชีวิตนี้ไม่ทำอะไรแล้ว ฉันจะเป็นศิลปินอย่างเดียว (หัวเราะ)

ที่บ้านไม่อยากให้เรียนศิลปะ?

ตาย สมัยนั้นไม่ใช่เรื่องพูดกันเล่นๆ แล้วถามว่าสมัยนี้โอเคไหม ถ้าคุณไม่จริงก็ไม่โอเค จะนั่งเป็นศิลปินเพ้อเจ้อ นั่งเทียนวาดรูป เสพยาเสพติด แอลกอฮอล์ ถ้าไม่พิสูจน์ด้วยตัวงาน ไม่มีทางที่จะมีพื้นที่ให้ยืน ถ้าคุณจริงก็พิสูจน์สิ คำตอบพวกนี้อยู่ในใจเราตลอด รู้แต่ว่านี่คือเรา ทำแล้วมีความสุข สนุก แล้วจะแก้ปัญหาทุกอย่าง ถ้าความคิดฟุ้งไม่มีสมาธิ เขียนรูปไม่ได้ ส่วนหนึ่งอาจเพราะวาดรูปเป็นอย่างเดียว ไม่รู้จะไปทำอะไร

ตอนเรียนช่างศิลป์บอกที่บ้านยังไง?

พอสอบได้ก็บอกเขาว่าจะไปเรียนกรุงเทพฯ พ่อไม่ให้หรอก แต่แม่แอบเอาสตางค์ให้ เอาเข้าจริงพอเปิดเทอมเขาก็ยอม เราไม่เคยเกเร จะเป็นเด็กเรียนด้วยซ้ำไป เพียงแต่ไม่ฝักใฝ่เรื่องการค้าขาย เพียงแต่สิ่งที่เราเลือกเรียนมันไม่ฮิต ไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนชอบ เห็นแล้วเขาก็บอกว่าจะไปทำอะไรกิน วาดรูปจะมีปัญญาเอาตัวรอดไหม

มันไม่ง่ายหรอกที่จะอยู่ตรงนี้ได้ สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ทำให้มาถึงวันนี้ได้ คือ ครอบครัว ทุกคนเข้าใจและช่วยเหลือ เขาอาจเห็นว่าสิ่งที่เราทำคืออะไร จริงๆ แค่เราทำไม่เหมือนคนอื่นเท่านั้นเอง ทุกอย่างต้องแลก บางคนบอกว่าวาดรูปเป็นเรื่องของคนรวย จริงไหมไม่รู้ แต่สีแพง ขายรูปให้ใคร ไม่รู้ เขียนรูปแล้วกองไว้ เอาอะไรกินไม่รู้เหมือนกัน แต่ชีวิตก็ผ่านมา แต่ไม่เคยคิดว่าเขียนเพื่อไปขายใคร ไม่เคยเอารูปไปเสนอแกลเลอรี่ และไม่ยินดีเขียนรูปตามคำสั่งรับจ้าง แต่ถ้าคุณชอบก็ซื้อไป

ส่วนใหญ่เขียนรูปไม่ค่อยขาย ให้เพื่อนฝูง แต่อยู่ได้เพราะพี่น้องทุกคนช่วยเหลือเกื้อกูลดีมาก บางคนมีความฝันอยากยืนหยัดในวิถีที่เลือก แต่ถ้ามีภาระต้องเลี้ยงดูใครก็เห็นใจ พูดตรงๆ ถ้ามีภาระเราคงไม่มีวิธีคิดแบบนี้ แต่นี่ไม่มีใครเดือดร้อนจนเราต้องละทิ้งความฝันของตัวเอง ทุกคนพร้อมดูแลด้วยความสมัครใจ เราก็ต้องไม่ฟุ้งเฟ้อ คนเขียนรูปไม่มีเงิน คุณต้องแลกกับแหวนเพชร เครื่องสำอาง แบรนด์เนมทุกอย่าง ไม่มีมันได้ไหม เงินที่ได้ทั้งหมดซื้อวัสดุอุปกรณ์ในการทำงานไว้เลย ไม่มีเหมือนคนอื่นโอเคไหม เราโอเค วาดรูปแฮปปี้จะตาย เราชอบสิ่งนี้มากกว่าสิ่งนั้น และสิ่งนี้หล่อหลอมหล่อเลี้ยงตัวเรามาถึงทุกวันนี้ ไม่ขวนขวายเรื่องการแต่งตัว เราทำงานกับสีที่เลอะอยู่ตลอดเวลา จะแฮปปี้มากกว่าถ้าเอาเงินไปซื้อสีดีๆ ไม่ได้ใช้ก็กองไว้ก่อน วันหนึ่งจะได้ใช้ ซื้อสีน้ำดีๆ กล่อง 2-3 พัน ทิ้งไว้ เวลาเขียนรู้สึกว่ามันดี

ทำไมไปฝรั่งเศสหลังเรียนจบ?

ตอนเด็กๆ รู้ว่าอยากเป็นศิลปินต้องไปดูพิพิธภัณฑ์ลูฟร์ จะได้เห็นงานของจริง ยุคนั้นเป็นที่เผยแพร่งานศิลปะค่อนข้างเยอะ โมนาลิซา เดวิด ไมเคิล งานจริงจะอยู่ที่นั่น ถ้ามีโอกาสก็ไป ตอนเรียนจบรับราชการ 9 เดือนแล้วออก เก็บเงินแต๊ะเอียได้เยอะ ตอนนั้นกะไป 1 ปี ถืองานไปด้วย เอางานไปเสนอขอทุนนายกเทศมนตรีแต่ละเขต หอบไปให้เขาดู ตอนนั้นตั้งใจไปเรียนโทที่โบซาร์ ปรากฏว่าสอบตกภาษาฝรั่งเศส เพราะไม่เคยเรียนมาก่อน โบซาร์เลยทำหนังสือส่งมาที่ซอร์บอร์น ได้เรียนซอร์บอร์น 2 ปี

บังเอิญเจอผู้อพยพคนจีนจากลาว เวียดนาม แล้วเจอเพื่อนคนจีนจากสิงคโปร์ฮ่องกง บางคนเรียนโบซาร์ ก็ไปเรียนด้วย ไม่ได้ลงทะเบียนเรียน ภาคเช้าเรียนซอร์บอนน์ ตกบ่ายไปโบซาร์ ได้รู้ว่าเขาเรียนกันยังไง แอบเข้าไปเขียนนู้ด ถูกครูเชิญออกนอกห้อง (หัวเราะ) อาศัยแบบนี้อยู่ 2 ปีแล้วกลับมา

เป็นประสบการณ์สั้นๆ ได้เห็นอะไรเยอะเหมือนกัน เห็นความเป็นมืออาชีพกับสังคมที่มีกลิ่นของศิลปะ แต่ไม่ได้มองว่าบ้านเราแย่ โดยข้อเท็จจริงของมนุษย์ ปัจจัย 4 ต้องมาก่อน ไม่ได้เรียกร้องคาดคั้นว่าทำไมไม่เข้าใจ ไม่ยอมรับศิลปะ แต่ก่อนอาจมีตามประสาวัยรุ่น แต่ตอนนี้ไม่ใช่เลย เป็นอย่างที่มันเป็น เพราะเขารู้แค่นั้น มีประสบการณ์แค่นั้น เขาคิดได้แค่นั้น จะไปบังคับเขาเหรอ คิดว่าคุณเจ๋งกว่าเหรอ ไม่ใช่หรอก แค่เราอาจจะเห็นบางเรื่องในสิ่งที่เขาไม่เห็น แต่ก็มีบางเรื่องที่เราไม่เห็น แต่เขาเห็น ไม่มีใครดีกว่าใคร

ไม่คิดว่าต้องไปเรียกร้องให้ใครมาสนับสนุนศิลปะ?

ไม่ต้องเลย เหมือนเป็นครู ก็จะไม่เรียกหาลูกศิษย์ว่าฉันจะต้องสอนเธอ เราจะไม่บอกคุณ ไม่เห็นก็เรื่องของคุณ ถ้าเอ่ยปากสิ เราให้ทุกอย่าง ถอดความรู้ทุกอย่างไม่เคยปกปิด แต่ไม่เรียกร้องความเห็นใจ ความเข้าใจ ความใส่ใจ ไม่ต้องเลย ทุกอย่างเข้าใจหมดแล้ว ไม่มีอะไรสงสัยเลยตอนนี้

กลับมาทำงานแล้วจึงต่อ ป.โท?

วาดรูปแสดงเดี่ยวอยู่ 1-2 ครั้ง เขียนรูปคนเดียวแล้วรู้สึกโง่ลงเพราะไม่สังคม เก็บตัววาดรูปแสดงงาน ก็เลยไปเรียนโทที่ มศว หาเงินด้วย เรียนอยู่ 5-6 ปี จบแล้วรู้สึกว่าได้มุมอะไรใหม่ อาจารย์ที่ มศว คนละแนวคิดกับศิลปากร เรามาจากช่างศิลป์เป็นแนวเดียวกับศิลปากร เหมือนเราได้เห็นรอบด้าน ตอนจบเพื่อนเอาธีสิสไปให้พี่จิตต์ดู (สุจิตต์ วงษ์เทศ) พี่จิตต์โทรตามเลยบอกจะพิมพ์หนังสือเล่มนี้ ทำรีเสิร์ช 6 ปี ขับรถเดินทางวันที่ไม่มีสอน เพราะตอนนั้นเป็นอาจารย์พิเศษ สอนแค่อาทิตย์ละ 2 วัน ที่เหลือขับรถไปอีสานทุกจังหวัด เซอร์เวย์วัดว่ามีรูปเก่าอยู่ที่ไหน เงินมีเท่าไหร่ถมไปหมด 6 ปีเต็ม ไม่มีเงินก็หาเงินก่อนแล้วไปทำต่อ ถึงใช้เวลานาน

ทำไมทุ่มเทขนาดนั้น?

ไม่ได้ทุ่มเทเลย มันไม่มีตังค์ แต่ต้องทำให้เสร็จ รู้สึกว่ามันน่าทึ่ง ตอนเริ่มแรกไม่ได้คิดว่าต้องจริงจัง ทำไปทำมาเห็นวัดนี้แล้วต้องไปดูต่อ โห มหัศจรรย์มาก วัดที่กาฬสินธุ์ ที่มหาสารคาม มันสด ดั้งเดิม มีจิตวิญญาณ ก็เลยไป แล้วเป็นธีสิสด้วย ทำแล้วอยากทำให้ดีที่สุด

“…คนเขียนรูปไม่มีเงิน คุณต้องแลกกับแหวนเพชร
เครื่องสำอาง แบรนด์เนมทุกอย่าง
ไม่มีเหมือนคนอื่นโอเคไหม เราโอเค
เราชอบสิ่งนี้มากกว่าสิ่งนั้น และสิ่งนี้หล่อเลี้ยงตัวเรามาถึงทุกวันนี้…”

มองงานสอนว่าเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานศิลปะที่ตั้งใจไว้ไหม?

พอเรียนจบแล้วสรุปได้ว่า อย่าเพ้อเจ้อ ไม่ใช่สวิงสวายจะเป็นจะตาย ศิลปินต้องมีวินัย รับผิดชอบ มีเหตุมีผล การคิดสำคัญที่สุดเลย อยากได้ความรู้สึกแบบนี้จะไปบอกเด็กช่างศิลป์ว่าเอ็งอย่ามั่วนะ สมัยก่อนตอนเรียนก็เจอพวกกัญชาอะไรไม่รู้ กัญชา แต่ตัวเองไม่เป็นนะ

ตอนเรียน ป.โท ปี 1 บังเอิญช่างศิลป์จะเปิดสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ อาจารย์เป็นอธิการบดีคนแรก ส่งหนังสือเชิญไปเป็นอาจารย์พิเศษ เพื่อนที่เป็นคณบดีบอกมาช่วยกัน เขาไม่มีคนทำงานวิชาการ มีแต่วาดรูป ตอนแรกกะสอนเทอมเดียว สอนไม่ถึงเดือนเขาบอกว่าเทอมหน้าเธอต้องรับผิดชอบอันนั้นอันนี้นะ ก็เอาล่ะ ได้ทบทวนความคิดตัวเองและทดสอบตัวเองว่ารู้จริงไหม ถ้าเจอเด็กลองภูมิ เขาซักมา สู้ได้ไหม ถ้าไม่ชัดหรือหลงทางจะพาเด็กเข้าป่าไหม ทำให้ได้ทบทวนวิธีคิดตลอดเวลา บางเรื่องเด็กเก่งกว่าเรา บางเรื่องเราเก่งกว่าเขา เด็กเก่งๆ เยอะ แต่ตอนนี้เราจะได้วาดรูปของเราแล้ว

ถือว่าได้ชีวิตคืนมาหลังเกษียณ?

ใช่เลย ไม่มีข้ออ้างใดๆ ทั้งสิ้น รู้แต่ว่าหายใจไว้นะ อย่าเพิ่งหยุดหายใจ สุขภาพต้องดี แล้วจะทำทุกอย่างได้อย่างที่ฝัน เขียนรูป วันหนึ่งฉันจะเป็นศิลปิน (หัวเราะ)

เป็นคนมองอะไรเรียบง่าย?

ไม่ชอบอะไรที่รุงรัง ไม่อยากเพ้อเจ้อ ใครบอกว่าศิลปินต้องเพ้อฝัน ไม่ใช่เลย คนละเรื่องกับเรื่องสัมผัสความรู้สึก เป็นคนไม่ชอบพิธีกรรมเยอะ แต่ไม่ใช่คนเรื่องมาก ในโลกไม่มีอะไรยุ่งยากหรอก ถ้าเราเข้าใจ คุณจะทำอะไร คุณเลือกใช่ไหม ก่อนเลือกคุณต้องรู้จักมันแล้ว ที่สำคัญทุกอย่างต้องประกอบด้วยความอดทน รู้จักรอคอย ทุกอย่างมีกติกา จะมีใครได้ทุกสิ่งทุกอย่างบนโลก ก็ต้องมีได้บ้าง ไม่ได้บ้าง แต่แฮปปี้กับสิ่งที่เราได้ สิ่งที่ไม่ได้ก็ไม่เสียใจเพราะเราอยากได้ ถ้าเราไม่ได้ต้องการมาก ก็ไม่มีเหตุผลต้องตะเกียกตะกายมา

งานที่เคยทำมามีหลากหลาย คิดว่าสิ่งไหนสะท้อนความเป็นตัวเองได้ดี?

หลายคนบอกว่า รูปสีน้ำมัน สีน้ำ เส้นดรออิ้ง เห็นที่ไหนก็รู้เลยว่างานเรา แต่เราไม่รู้เลยว่าตรงไหน แต่คนอื่นเป็นคนพูด ถ้าสีน้ำอาจมีคนบอกว่ากล้าเล่นกับแปรงกับพู่กัน เคยมีคนถามว่าตอนอยู่โรงเรียนจีนต้องเขียนพู่กันจีน มันมีส่วนช่วยไหม เราเขียนตั้งแต่อนุบาลจะช่วยไหมล่ะ ถ้าไม่มีประสบการณ์ใช้แปรงลากไปจะรู้ได้ยังไงว่าอุ้มสีแค่ไหน ทำงานศิลปะเป็นประสบการณ์ตรงที่ต้องเจอด้วยตัวเอง คนที่ดูงานบ่อยๆ จะรู้ว่าเส้นแบบนี้ต้องของคนนี้แน่ๆ เพราะจะมีหนักเบาจนกลายเป็นลายมือของคนคนหนึ่งไป

ทำไมเริ่มเขียนพอร์เทรตนักเขียน-นักร้องไทย?

ตอนยังสอนอยู่ หนึ่ง (วรพจน์ พันธุ์พงศ์) ให้ช่วยเขียนรูปคุ่น (ปราบดา หยุ่น) เราไม่มีเวลา งานนี้ไม่เสร็จ งานนั้นไม่เสร็จ เขียนมาแล้วใช้ไม่ได้ เขียนรูปไม่ใช่สวิตช์ไฟที่เปิดปุ๊บติดปั๊บ ต้องทำต่อเนื่อง พอไม่ต้องสอนแล้วนี่จึงเป็นเรื่องแรกที่จะทำ คิดคอนเซ็ปต์ไม่ว่าจะแลนด์สเคป ดอกไม้ หุ่นนิ่ง ไม่ใช่เลย ในโลกนี้ไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าคน คนทำให้เราร้องไห้ ทำให้เราอบอุ่น เจ็บปวด เกิดจากคนทั้งนั้น เลยคิดว่าทำเรื่องนี้ดีกว่า

การเขียนรูปนักเขียนเหมือนการยอมรับงานที่เขาทำ งานวรรณกรรมไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เป็นเรื่องความคิดล้วนๆ มันเป็นงานมหัศจรรย์สำหรับเรา พอเขียนคนนั้นคนนี้ก็นึกถึงเพลง “ร้อยบุปผา” ทุกคนคือความงาม มีรูปแบบความงามที่แตกต่างกันไป วาดไปแล้วคิดถึงเรื่องนักร้องลูกทุ่ง จริงๆ นักแต่งเพลงก็คือนักเขียนนั่นเอง เอาข้อเขียนมาใส่ทำนอง เป็นที่มาว่าทำไมจึงเขียนรูปนักร้องกับนักเขียน

มีอะไรที่อยากทำอีกไหม?

ไม่อยากทำอะไรเลยนอกจากวาดรูป คิดแค่ว่าต้องแข็งแรงแล้วกันจะได้เขียนรูปได้ ไม่แข็งแรงก็ทำอะไรไม่ได้ แค่นี้ก็น่าจะหมดเวลาแล้วมั้ง (หัวเราะ)

มองความสำเร็จในชีวิตตัวเองยังไง?

วันนี้แฮปปี้มาก มีโอกาสได้ทำแบบนี้ก็สุดยอด อะไรจะแฮปปี้เท่าเวลานี้ คุณจะรออะไร อะไรคุณก็ได้หมด ได้ทำงานที่เราชอบ แล้วไม่มีเงื่อนไขอื่นมาทำให้ต้องรู้สึกผิด ถ้าที่บ้านเดือดร้อนเราจะมาวาดรูปอยู่ได้ยังไง ถ้าพี่น้องเดือดร้อนเราต้องหยุดทุกอย่าง เราก็ยินดีทำเพื่อเขา คนที่อยู่ในเงื่อนไขนี้วิเศษที่สุดแล้วที่มนุษย์จะได้ มันเหมือนของขวัญ คนทำได้ก็รีบทำ อย่าปล่อยโอกาสอย่างนี้ไป

ชีวิตประจำวันนี้สองทุ่มหลับ ตีสี่ตื่นขึ้นมา อยากเขียนอะไรก็เขียนไปเลย ไม่มีใครห้าม ไม่ใช่ว่า 9 โมงต้องออกจากบ้านเดี๋ยวไม่ทันรถติด มันอยู่ในช่วงที่อยากทำอะไรก็ได้ทำ มีดีกว่านี้ไหมล่ะ (ยิ้ม)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image