เปิดใจผู้บริหารหนุ่มไฟแรงแห่งไลน์แมน นพปฎล วชิรโกวิทย์ ‘แพสชั่น’ หัวใจสำคัญของฟู้ดดิลิเวอรี

เมื่อ “เทคโนโลยี” เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการใช้ชีวิตของผู้คนอย่างไร้ขีดจำกัด ทุกสิ่งทุกอย่าง “ง่าย” และ “รวดเร็ว” ไม่ว่าจะเป็นการค้นหาข้อมูล การซื้อสิ้นค้าและบริการ รวมไปถึงการสั่งอาหารจานร้อนให้เสิร์ฟถึงที่ ทั้งหมดสามารถทำได้เพียงแค่ปลายนิ้วสัมผัส

ฉะนั้นในฐานะผู้ให้บริการ การสร้างสรรค์เทคโนโลยี หรือแอพพลิเคชั่นที่ตอบโจทย์ “คนไอที” จึงเป็นเรื่องเรื่องสำคัญ

ในจุดนี้ ไลน์ (LINE) แอพพลิเคชั่นแชตสัญชาติญี่ปุ่น นับว่าวางยุทธศาสตร์ได้ค่อนข้างดีในการตอบโจทย์เรื่องการเข้าถึงกลุ่มคนทุกช่วงวัย

นพปฎล วชิรโกวิทย์ ผู้บริหารหนุ่มไฟแรงแห่งไลน์แมน เผยว่า ยุทธศาสตร์หรือหัวใจสำคัญอยู่ที่ความ “ง่าย” ของการใช้งาน แม้กระทั่งผู้สูงอายุก็สามารถใช้ไลน์ในการสื่อสาร สามารถส่งสวัสดีวันจันทร์ อะไรต่างๆ ได้แบบง่ายๆ

Advertisement

ความโดดเด่นนี้ ยังถูกหยิบมาใช้ต่อยอดไปถึงบริการด้านต่างๆ รวมถึงด้านอาหารด้วย

“แน่นอนว่าการใช้งานไลน์แมนขั้นตอนต้องเยอะกว่าแชตไลน์ แต่เราจะพยายามทำยังไงให้สิ่งที่มันเยอะ แต่ยังใช้งานง่ายสำหรับคนทุกวัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เพราะผมมองว่าการที่เราช่วยตอบโจทย์เรื่องความสะดวกกลุ่มคนสูงอายุน่าจะได้รับประโยชน์มาก” นพปฎลอธิบาย

สำหรับนพปฎล เป็นผู้บริหารที่คร่ำหวอดในวงการการตลาดและอุตสาหกรรมมากกว่า 6 ปี เคยทำงานในบริษัทชั้นนำระดับนานาชาติ อาทิ Nielsen และ Kantar Group เขาเคยรับตำแหน่งผู้จัดการอาวุโส ที่องค์การธุรกิจขนาดใหญ่ Kantar World Panel (WPP Group) ณ กรุงเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน และยังเป็นที่ปรึกษาธุรกิจให้กับอุตสาหกรรม FMCG ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดของสาธารณรัฐประชาชนจีน

Advertisement

ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งผู้จัดการบริการของไลน์แมน ในกลุ่มธุรกิจ ฟู้ดดิลิเวอรี (Food Delivery) และมีเป้าหมายสำคัญ คือ การผลักดันให้ฟู้ดดิลิเวอรี ของไลน์แมน เป็นแอพพลิเคชั่นอันดับหนึ่งที่มีผู้นิยมใช้บริการมากที่สุด

อย่างไรก็ตาม หากมองให้ลึกแล้วการเข้ามาของแอพพลิเคชั่นสั่งอาหาร เป็นมากกว่าการสร้างความสะดวกสบายให้กับผู้บริโภค แต่กำลังสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับแวดวงและธุรกิจอาหารอย่างพลิกฝ่ามือ บางร้านโด่งดังและมีรายได้เพิ่มขึ้นชั่วพริบตา มีร้านเกิดใหม่เพิ่มขึ้นมากมายที่มีหน้าร้านอยู่บนเว็บไซต์เท่านั้น

บทสนทนาถัดจากนี้ไม่เพียงจะทำให้รู้จักธุรกิจ “ฟู้ดิดลิเวอรี” มากขึ้นเท่านั้น แต่ยังเป็นการเปิดมุมมองใหม่ของธุรกิจอาหารในอนาคตอีกด้วย

การบุกเบิกธุรกิจนี้ในยุคแรกเป็นอย่างไร?

ความจริงแล้ว ไลน์เป็นสิ่งที่หลายคนคุ้นเคย แต่ไลน์แมนเป็นอะไรที่ค่อนข้างใหม่ เราเรียกมันว่าโอทูโอ (Offline to Online) เป็นการทำให้โลกออฟไลน์ หรือโลกของร้านค้ามาเติบโตและโลดแล่นในออนไลน์ได้

ซึ่งธุรกิจนี้เติบโตมาจากความต้องการของคนอยู่แล้ว ผมเคยทำงานที่ต้องวนเวียนกับพฤติกรรมของผู้บริโภคค่อนข้างเยอะ ไลน์แมนก็เริ่มต้นมาจากตรงนั้น เราสังเกตเห็นว่าผู้บริโภคไม่ได้อยากเดินทางเป็นชั่วโมงในกรุงเทพฯ เพื่อไปทานอะไรสัก แล้วจริงๆ ความต้องการของเขาคือการได้ทานอาหารอร่อยมากกว่า นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ต่อยอดมาเป็นไลน์แมน

แต่ต้องบอกว่ามันไม่ใช่เรื่องง่าย ถึงแม้ดิลิเวอรีหรือการส่งอาหารจะอยู่กับคนไทยมาค่อนข้างนาน แต่มันจำกัดอยู่กับร้านแค่บางประเภท คือคนไทยเคยชินกับการสั่งอาการฟาสต์ฟู้ดผ่านเบอร์โทรศัพท์ 4 ตัว แต่เราไม่เคยชินกับการสั่งก๋วยเตี๋ยวหรือข้าวมันไก่ผ่านออนไลน์สักเท่าไหร่ ดังนั้น จุดนี้จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคพอสมควร ถึงแม้จะเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้บริโภคสะดวกขึ้นก็จริง แต่เขาก็ต้องเรียนรู้ว่าต้องทำยังไง ดังนั้น สิ่งที่เราต้องเสนอผู้บริโภคคือทำยังไงให้ง่ายที่สุด และให้ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนตัวเองน้อยที่สุด

ฟู้ดดิลิเวอรีไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่จะทำอย่างไรให้ผู้บริโภครู้สึกด้านบวกกับธุรกิจนี้?

ผมว่าความคาดหวังและความพึงพอใจของผู้บริโภคค่อนข้างสำคัญ ซึ่งมาจากปัจจัยเพียงไม่กี่อย่าง เช่น เมนูการเลือกสรร ราคาหรือโปรโมชั่น และเวลาในการส่ง เป็น 3 อย่างที่เรามุ่งพัฒนา

ผมเชื่อว่าเราเป็นเจ้าที่ส่งเร็วเป็นอันดับต้นๆ เรามีเครือข่ายในมือถึง 30,000 กว่าคน มีร้านอาหารมากกว่า 40,000 ร้าน ผมมองว่าตรงนี้ผู้บริโภคดูยังไงก็ไม่เบื่อ ส่วนราคาและโปรโมชั่นเราพยายามหาอะไรที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคให้มากที่สุด

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการบริการที่เราให้ความสำคัญและใส่ใจมาก มีเรื่องที่น้องคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า เขาอยากส่งมือถือไปให้เพื่อนที่ลืมไว้ ซึ่งการจ้างคนที่ไม่รู้จักส่งมือถือให้มันมีความเสี่ยงพอสมควร บางคนอาจจะไม่กล้าบอกด้วยซ้ำว่าเป็นของมีค่า แต่น้องคนนี้บอกไลน์แมนตรงๆ เลยว่าสิ่งที่เขากำลังจะส่งคือโทรศัทพ์มือถือ แล้วไลน์แมนก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก เขาเก็บมือถือไว้ในกล่องใต้เบาะเพื่อที่มันจะไม่หล่นลงไป แล้วถามด้วยว่า คนรับของเขาไม่มีมือถือแล้วผมจะติดต่อกับเขายังไง ซึ่งคนส่งบอกว่าเดี๋ยวจัดการตรงนั้นเองพอถึงปลายทางให้โทรกลับมาสุดท้ายก็ส่งไปสำเร็จ

ผมว่ามันเป็นเรื่องของการใส่ใจการทำงานที่สูงมากของไลน์แมนคนนี้ เเละผมมองว่าสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ยากถ้าไม่มีไลน์แมน แต่ปัจจุบันการที่เราลืมของอะไรต่างๆ มันเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้นเยอะเพราะมีคนส่งให้

ใช้บริการเองมากน้อยแค่ไหน?

ทำเองต้องสั่งบ่อย (หัวเราะ) จริงๆ แล้วการสั่งอาหารในแต่ละครั้งประสบการณ์ที่มีก็แตกต่างกันบ้างเล็กน้อย และตรงนี้เป็นสิ่งที่ทำให้ผมรู้สึกว่าสามารถเอาไปปรับปรุงผลิตภัณฑ์ของเราได้

แล้วผมก็ไม่ได้สั่งเฉพาะของไลน์แมนอย่างเดียวแอพพลิเคชั่นของคู่แข่งผมก็สั่งและสั่งสม่ำเสมอด้วย เพื่อที่จะเรียนรู้ประสบการณ์ในเชิงของการเป็นผู้บริโภคว่ามันแตกต่างกันยังไงในแต่ละแอพพ์

หลักการทำงานฟู้ดดิลิเวอรี?

ทั้งทีมมีหลักอย่างเดียวกันคือ แพสชั่น หรือความมุ่งมั่นและความรักในงานนี้ มันมีความสำคัญที่สุดเวลาที่ผมคัดคนเข้ามาทำงานในทีม สิ่งเดียวที่ผมมองเลยคือ เขารักในธุรกิจนี้หรือเปล่า คุณมีความรู้ความเข้าใจในวงการอาหารมากน้อยแค่ไหน ผมไม่ต้องการคนที่เห็นออฟฟิศไลน์น่ารักดีเลยอยากเข้ามาทำงานที่นี่ เพราะข้อสำคัญคือคุณจะต้องเป็นคนที่มีแพชชั่นเกี่ยวกับอาหาร เพราะเราทำงานค่อนข้างหนัก ต้องให้การบริการผู้คนเยอะมากในหลักล้านคน ถ้าเราไม่มีใจรักในการทำงานจริงๆ คงทำได้ไม่นาน และผมต้องการให้คำว่าทีม เป็นมากกว่าแค่เพื่อนร่วมงาน คืออยากให้เป็นครอบครัวด้วย

มองว่าธุรกิจฟู้ดดิลิเวอรีเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างไรบ้าง?

ผมมองว่าเราเกิดมาจากความต้องการที่จะให้ผู้บริโภคประหยัดเวลาได้มากขึ้น ซึ่งตอนนี้เราช่วยได้เยอะมาก เพราะอย่างที่รู้กัน กรุงเทพฯ นอกจากรถติดแล้วยังมีเรื่องอากาศร้อนหรือบางทีอยู่ๆ ฝนก็ตก

นอกจากจะช่วยประหยัดเวลาอีกด้านหนึ่งเรายังช่วยเชื่อมต่อคนให้ใกล้ชิดกันมากขึ้น แทนที่จะเสียเวลาหลายชั่วโมงไปเจอกันใจกลางเมือง แล้วมีเวลาอยู่ด้วยกันไม่ถึงชั่วโมง เปลี่ยนมาเป็นการใช้เวลาด้วยกันที่บ้านแล้วให้คนอื่นรออาหารแทนเราดีกว่า ซึ่งผมมองว่าความสัมพันธ์ของครอบครัว ของคนรัก หรือเพื่อน มีความสำคัญ แล้วฟู้ดดิลิเวอรีเป็นเหมือนผู้ช่วยในการตอบโจทย์เรื่องความสะดวกสบายตรงนี้

กลุ่มผู้บริโภคหลัก?

ตอนนี้จะเป็นกลุ่มวัยทำงานเป็นหลัก แต่ผมเล็งเห็นศักยภาพของกลุ่มคนที่สูงอายุขึ้นมาหน่อย เช่น กลุ่มคนวัยกลางคนอายุ 40-50 ปี เป็นอีกกลุ่มที่มีศักยภาพและมีความน่าสนใจ เพราะเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อเเละมีเวลาค่อนข้างน้อย ซึ่งเป็นกลุ่มที่ค่อนข้างตอบโจทย์เราพอสมควร ดังนั้น กลุ่มนี้ก็เป็นกลุ่มต่อไปที่เราเล็งเห็นและเป็นกลุ่มเป้าหมายในอนาคต

ผลตอบรับที่ผ่านมาเป็นอย่างไร?

ค่อนข้างพอใจครับ คนส่วนใหญ่รู้จักและเคยใช้ไลน์แมนในชีวิต หลายคนบอกว่าไลน์แมนตอบโจทย์และช่วยในการใช้ชีวิตของเขามาก ผมก็ได้รับคำแนะนำค่อนข้างดีจากคนที่ไปเจอทั้งคำชมและคำติบ้าง ซึ่งทุกความเห็นเป็นประโยชน์กับการทำงาน

เวลาได้รับคำตำหนิหรือถูกวิพากษ์วิจารณ์รู้สึกยังไง?

ผมถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ทำให้เรารู้ว่าจุดไหนที่เรายังพลาดอยู่ จริงๆ ถ้าได้รับแต่คำชมบางทีมันทำให้เราพัฒนาตัวเองค่อนข้างยาก แต่คำตำหนิมันทำให้เราก้าวขึ้นไปได้ไกลขึ้นกว่าเดิม

มองว่าการให้บริการยังมีปัญหาติดขัดอยู่หรือเปล่า?

การที่จะพัฒนาไปถึงจุดสูงสุดได้ แน่นอนว่าต้องมีติดขัดบ้าง แต่เราต้องเข้าใจก่อนว่าอะไรที่สำคัญต่อผู้บริโภคเเล้วแก้จากจุดนั้นก่อน

ที่ผ่านมาได้รับฟีดแบ๊กหรือผลตอบรับจากผู้บริโภคค่อนข้างเยอะ อย่างใน 2-3 เดือนที่แล้วอาจจะมีข่าวว่าคนสั่งอาหารแล้วไม่รู้ว่าราคามันควรจะเป็นเท่าไหร่ เพราะในแอพพลิเคชั่นไม่มีการบอกราคาไว้ ซึ่งเราก็ได้ทำการพัฒนาตรงนั้นโดยอัพเดตราคาและเมนูเข้าไปให้เยอะที่สุด

เหตุการณ์ที่เป็นข่าว ทำให้ต้องเข้มงวดกับพนักงานมากขึ้น?

ใช่ครับ เพราะว่าจริงๆ แล้วตรงนี้ค่อนข้างสำคัญ ตอนที่มีข่าวพนักงานคนนั้นได้ถูกปลดจากการเป็นไลน์แมนทันที

ผมยอมรับว่าการที่เรามีคนขับอยู่ในมือ 30,000 กว่าคน ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะควบคุมความประพฤติได้ทุกคน จึงเป็นเรื่องที่ดีที่ผู้บริโภคเจอประสบการณ์อะไรแบบนี้แล้วเขาไม่ได้เงียบไป แต่เขาให้ฟีดแบ๊กหรือร้องเรียนเข้ามา เราจะแก้ได้ถูกจุด

อาหารยอดนิยมในขณะนี้ เป็นอาหารประเภทไหน?

เป็นพวกสตรีทฟู้ด หรืออาหารไทยที่เราคุ้นเคยครับ เช่น ส้มตำ ไก่ย่าง ข้าวมันไก่ เป็นอาหารที่คนสั่งค่อนข้างเยอะ ส่วนช่วงเวลาที่คนสั่งเยอะจะเป็นช่วง 11.00-14.00 น. และช่วง 17.00-20.00 น. ช่วงดึกก็มีคนสั่งบ้าง

ตอนนี้เทรนด์มันไปค่อนข้างไว สมมุติเราเห็นร้านชานมต่างๆ ที่ดังมากในโซเชียล อีกไม่ถึงอาทิตย์เราก็จะเห็นว่าตัวเลขสั่งจะเริ่มเพิ่มขึ้น เราเริ่มเป็นเหมือนช่องทางสำหรับคนที่ขี้เกียจรอ แบบเห็นคิวยาวมากก็นึกถึงไลน์แมน ซึ่งผมมองว่าเป็นเรื่องที่ดีที่ผู้บริโภคเห็นอะไรที่เขาอยากทานแต่ไม่อยากเสียเวลาก็นึกถึงเรา

นอกจากนี้ยังมีร้านอาหารบางประเภทที่โตมาได้เพราะดิลิเวอรี เช่น ร้านที่อาจจะไม่ได้มีหน้าร้านที่สวยงามอะไร แต่สามารถสร้างยอดขายในไลน์แมนได้ค่อนข้างดี ร้านประเภทนี้ก็จะมีค่อนข้างเยอะขึ้น

“…ในอีก 3-5 ปี ภาพของร้านอาหารจะเปลี่ยนไปจากเดิมค่อนข้างเยอะ
เพราะว่าแอพพลิเคชั่นสั่งอาหารจะมีความสำคัญมากขึ้น
ร้านที่ขายอาหารธรรมดา แต่รสชาติอร่อย
จะมีบทบาทมากขึ้นในแอพพลิเคชั่นอาหาร…”

 

มองเทรนด์ร้านอาหารในอนาคตอย่างไร?

ผมมองว่าในอีก 3-5 ปี ภาพของร้านอาหารจะเปลี่ยนไปจากเดิมค่อนข้างเยอะ เพราะว่าแอพพลิเคชั่นสั่งอาหารจะมีความสำคัญมากขึ้น เพราะฉะนั้นการเปิดร้านอาหารจะต้องดูทำเลในเมืองอย่าง จะต้องตกแต่งร้านหรูใช้งบเป็นล้าน อาจจะเป็นจริงอยู่สำหรับร้านบางประเภทเท่านั้น แต่ร้านที่ขายอาหารธรรมดารสชาติอร่อยจะมีบทบาทมากขึ้นในแอพพลิเคชั่นอาหาร โดยเฉพาะร้านที่ที่มีฝีมือแต่อาจจะไม่มีงบร้านเหล่านี้จะมีชื่อเสียง โดยที่ไม่ต้องมีหน้าร้านก็ได้

นอกจากร้านอาหารแล้ว ยังส่งผลให้เมนูอาหารในอนาคตเปลี่ยนแปลงหรือเปล่า?

แน่นอนครับ พอร้านอาหารให้ความสำคัญกับดิลิเวอรีมากขึ้น การจัดทำหน้าตาหรือแพคเกจจิ้งต่างๆ จะมีผลสำคัญมาก เพราะสิ่งที่ลูกค้าจะได้เห็นจากร้านมีแค่เมนู หน้าตาอาหารจากรูปถ่ายที่ปรากฏในแอพพลิเคชั่น กับอาหารที่มาส่งถึงหน้าเขาเท่านั้น เพราะฉะนั้นหน้าตาอาหารและแพคเกจจิ้งจึงมีผลมากสำหรับร้านอาหารในอนาคต

คุณไม่จำเป็นต้องมีโต๊ะเกาอี้ที่สวยหรู หรือหน้าร้านที่ตกแต่งด้วยไฟโน้นนี่ แต่ต่อไปอาจจะต้องมาลงทุนที่รูปถ่าย คำบรรยาย และบรรจุภัณฑ์ต่างๆ

ยุทธศาสตร์ในก้าวต่อไป?

ผมอยากให้ไลน์แมนอยู่ในชีวิตประจำวันมากขึ้น วางเป้าหมายสูงสุดว่าดิลิเวอรีหรือการส่งอาหารสามารถช่วยผู้บริโภควางแผนชีวิตตัวเองในแต่ละวันได้ อยากที่จะเห็นคนตื่นขึ้นมาแล้วสิ่งแรกที่เขาทำคือกดสั่งอาหาร แล้วค่อยเตรียมตัวอาบน้ำแต่งหน้าเสร็จแล้วมีอาหารมารอที่หน้าประตู พร้อมทาน ไม่ต้องเสียเวลาทำอาหารเอง หรือกำลังขับรถอยู่ กล้จะถึงบ้านก็สั่งอาหารไว้ พอถึงประตูบ้านมีอาหารรอ เป็นอาหารที่สดใหม่และยังอุ่นอยู่

ตรงนี้เป็นภาพที่ผมอยากเห็น และไลน์แมนน่าจะมีศักยภาพพอที่จะไปถึงตรงนั้น และแน่นอนว่าจะต้องกระจายไปทั่วประเทศ เพราะเวลาผมไปต่างจังหวัดผมก็เห็นว่ามันน่าจะขยายไปได้และผมก็กำลังศึกษาตรงนั้นอยู่


 

ก่อนมาเป็น ‘คีย์แมน’ ของ ‘ไลน์แมน’

“นพปฎล วชิรโกวิทย์” หนุ่มนักเศรษฐศาสตร์ภาคอินเตอร์ ลูกชายคนสุดท้องในบรรดา 3 พี่น้องของบ้าน “วชิรโกวิทย์” ผู้สนใจหุ้นและการลงทุน ก่อนมากุมบังเหียนดูแลฟู้ดดิลิเวอรี ของไลน์แมน

ในวัยเด็กเป็นคนที่ไม่ได้เรียนเก่งมากนัก โดยเฉพาะวิชา “ภาษาอังกฤษ” กระทั่งมีครูชาวต่างชาติมาสอนที่โรงเรียน ด้วยความที่ไม่เข้าใจสิ่งที่ครูพูด ทำให้เขาพยายามจนด้านภาษากลายเป็นสิ่งที่ชอบและถนัดมากที่สุด

หลังจบชั้นประถมศึกษาจึงตัดสินใจเรียนต่อระดับมัธยมที่โรงเรียนนานาชาติ เอกมัย

“การเรียนในโรงเรียนนานาชาติ มันสร้างคาเเร็กเตอร์ให้ผมพอสมควร เพราะเขาจะสอนให้ตั้งคำถาม สอนให้มีส่วนร่วมในการเรียนอย่างมาก ถ้าเทียบกับการเรียนก่อนหน้าที่เป็นการศึกษาค่อนข้างทางเดียว คือครูสอนมานักเรียนต้องเชื่อ เราไม่สามารถตั้งคำถาม”

หลังเรียนจบได้เข้าศึกษาต่อในระดับ ม.ปลายที่สหรัฐอเมริกา ที่นั่นเขาได้เรียนรู้อะไรต่างๆ โดยเพาะเรื่องการทำกิจกรรม รวมถึงได้เริ่มเล่นกีฬา และเป็นหนึ่งในทีมเทนนิสของโรงเรียน

จากนั้นเข้าศึกษาต่อปริญาตรีเศรษฐศาสตร์ ภาคอินเตอร์ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“จริงๆ การเรียนเศรษฐศาสตร์ไม่เคยอยู่ในหัวผมเลย แต่ก่อนจะเข้ามหาวิทยาลัยได้ไปดูรายการเกี่ยวหุ้น ผมคิดว่ามันน่าจะเป็นสาขาที่ใกล้เคียงกับความสนใจของผมมากที่สุดในตอนนั้น เพราะผมอยากทำงานเกี่ยวกับการลงทุน แต่ตอนใกล้เรียนจบ ผมไปฝึกในงานธนาคาร มองว่ามันเป็นงานที่ค่อนข้างตีกรอบการคิดของเราพอสมควร”

ด้วยเหตุนี้เองทำให้ นพปฎลตัดสินใจไม่ทำงานธนาคารแต่ผันตัวมาทำงานด้านการวิจัยการตลาด

“การที่เราจะทำวิจัยอะไรสักอย่างหรือจะแนะนำลูกค้าของเราได้ดี ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจผู้บริโภคก่อนว่าพฤติกรรมส่วนใหญ่ของเขาเป็นอย่างไร ซึ่งผมทำงานในวงการนี้ประมาณ 6-7 ปี บริษัทก็ส่งไปที่เมืองจีน”

การไปประเทศจีนเมื่อปี 59 นับเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในชีวิต นพปฎลเล่าว่า จีนเป็นประเทศที่มีนวัตกรรมและผู้คนค่อนข้างเรียนรู้ที่จะอยู่กับเทคโนโลยี เรียนรู้ที่จะทดลองใช้ของใหม่ๆ ทำให้ผมได้ใช้เทคโนโลยีพวกนี้ในชีวิตประจำวันค่อนข้างมาก โดยเฉพาะบริการขนส่งอาหาร พอกลับมาประเทศไทยก็เลยตั้งมั่นว่าอยากจะมาทำเกี่ยวกับด้านนี้

“พอกลับจากจีน ก็เป็นจังหวะดีมีผู้ใหญ่ในไลน์ ชักชวนมาทำงานที่นี้เพราะเห็นว่าผมมีประสบการณ์และความสนใจ เลยได้เริ่มต้นทำงานที่ไลน์แมน ในส่วนที่เป็นบริการส่งอาหารโดยเฉพาะ ผมคิดว่าเป็นความสนใจของผมและเป็นอะไรที่ผมพอจะเห็นอนาคตพอสมควรในเมืองไทย”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image