ชูเดช โลศิริ ‘เลือดใหม่’ รั้วเทาแดง จาก ‘ทองใบ แตงน้อย’ สู่ ‘ถ้ำหลวง’ และภูมิศาสตร์ดิจิทัล

เหตุการณ์ทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมี่ที่เข้าไปติดถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย เท่ากับเป็นการเปิดตัว “นักภูมิศาสตร์” ได้มีที่ทางบนสายอาชีพที่ชัดเจนมากขึ้น

เป็นครั้งแรกที่เราได้เห็นบทบาทของนักภูมิศาสตร์ ใช้แผนที่สามมิติเข้ามาช่วยในการประเมินสภาพของพื้นที่บริเวณโดยรอบเพื่อการวางแผนดำเนินการให้การช่วยเหลือ ทำหน้าที่เสมือนเป็นกองหนุนอำนวยความสะดวกในด้านที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่

ที่ผ่านมาคำถามที่ได้ยินบ่อยครั้งแม้กระทั่งกับนิสิตที่เลือกเรียนภาควิชานี้…

วิชาภูมิศาสตร์เรียนแล้วนำไปใช้ทำอะไรได้บ้าง?

Advertisement

ดร.ชูเดช โลศิริ อาจารย์ประจำภาควิชาภูมิศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ หนึ่งในคณะกรรมการร่างสาระภูมิศาสตร์ หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ยอมรับว่าเป็นคำถามที่ “ตอบยาก”

“เพราะมันเป็นวิชาที่ไม่สแตนอะโลน หลายๆ มหาวิทยาลัยในต่างประเทศ วิชาภูมิศาสตร์เศรษฐกิจ ภูมิศาสตร์เมือง การตั้งถิ่นฐานยังมีความสำคัญอย่างมาก แต่ไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว เขาจะเอาองค์ความรู้นี้ไปพัฒนานโยบายในการพัฒนาพื้นที่ต่อไป ฉะนั้นภูมิศาสตร์จึงเป็นเหมือนองค์ความรู้พื้นฐานที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการจะนำไปสร้างนโยบายในอนาคต เพราะกิจกรรมของทุกคนเกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตบนผิวโลก ดังนั้นจึงหนีไม่ได้เลยว่าองค์ความรู้ทางภูมิศาสตร์ไม่มีความสำคัญ”

และด้วยเป็นองค์ความรู้พื้นฐานที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดเช่นนี้ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ซึ่งนับเป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกที่ประกาศเป็นมหาวิทยาลัยรับใช้สังคม หลังจากที่สภามหาวิทยาลัยอนุมัติให้ภาควิชาคณะบริหารธุรกิจออกมาเป็นคณะบริหารธุรกิจเพื่อสังคม ปัจจุบันคณะสังคมศาสตร์ที่เหลือเพียง 4 ภาควิชา หนึ่งในนั้นคือ ภาควิชาภูมิศาสตร์

Advertisement

ภูมิศาสตร์สำคัญอย่างไร ไปทำความรู้จักชัดๆ อีกสักที…

กรณีถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน วิชาภูมิศาสตร์ช่วยอย่างไรบ้าง?

เราเป็นส่วนหนึ่งในการซัพพอร์ต เช่น การผลิตแผนที่ จากหลักฐานต่างๆ ที่เราเห็นว่าเคยมีนักภูมิศาสตร์หรือนักวิจัยหลายท่านเข้าไปสำรวจถ้ำหลวงแล้วในระดับหนึ่ง แต่นั่นเป็นเพียงเอกสารหลักฐานเบื้องต้น แต่ด้วยนักภูมิศาสตร์มีเทคนิควิธีการที่ดีมากยิ่งขึ้น เราจึงพยายามใช้เทคนิควิธีการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ เครื่องมือที่เกี่ยวข้องกับการรับรู้จากระยะไกล คือพวกภาพถ่ายจากดาวเทียม เข้าไปช่วยประกอบการสำรวจพื้นที่มากยิ่งขึ้น

จะเห็นได้ว่าอาจารย์หลายๆ ท่านจะใช้พวกข้อมูล ไม่ว่าแบบจำลองความสูงเชิงเลข เรียกว่า Digital Elevator Model เข้าไปใช้จำลองภูเขาในบริบทที่เป็นสามมิติ ทำให้เราเข้าใจสภาพพื้นที่ว่ามีลักษณะทางภูมิศาสตร์อย่างไร ดูการไหลของน้ำว่าจะไหลไปบริเวณไหน หรือนักภูมิศาสตร์หลายคนเข้าไปดูการสำรวจถ้ำว่าจะมีบริเวณไหนที่จะลงไปได้บ้าง แต่อีกสิ่งหนึ่งที่นักภูมิศาสตร์จะต้องมีคือ การลงสำรวจภาคสนาม เพื่อที่จะไปพิสูจน์ว่าองค์ความรู้ต่างๆ ที่มีตรงนั้นกับลักษณะความเป็นจริงว่ามันเป็นบริบทไหน

จากกรณีนี้ทำให้นักวิชาการด้านภูมิศาสตร์ตื่นตัวมากขึ้น?

ที่จริงแล้วการสำรวจเกี่ยวกับถ้ำหลวงถือเป็นหนึ่งในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับวิชาภูมิศาสตร์กายภาพ ซึ่งปัจจุบันนักภูมิศาสตร์กายภาพบ้านเราผมมองว่ามีจำนวนน้อยลง แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้เหมือนเป็นการกระตุ้นนักวิชาการหลายๆ ท่านให้กลับมาสนใจในวิชาที่เป็นแก่นของวิชาภูมิศาสตร์มากขึ้น เด็กๆ ก็เริ่มหันมาให้ความสนใจเกี่ยวกับวิชาภูมิศาสตร์ว่า เรียนเกี่ยวกับอะไรกันแน่

สมัยก่อนชอบมองกันอยู่เสมอว่าภูมิศาสตร์ต้องเรียนเกี่ยวกับแผนที่แน่นอน หนีไม่พ้นการท่องชื่อประเทศท่องชื่อเมืองหลวง แต่แท้ที่จริงแล้วภูมิศาสตร์อยู่รอบๆ ตัวเรา ไม่ว่าเป็นเรื่องของการเดินทางก็ต้องรู้ว่าเราจะไปไหน เราต้องรู้ทิศทาง ระยะทาง องค์ประกอบเหล่านี้ล้วนเป็นองค์ความรู้ทางภูมิศาสตร์ทั้งสิ้น

เพราะเป็นความรู้ที่ต้องท่องจำจึงมองกันว่าไม่ต้องเรียนในห้องเรียนก็ได้?

เราไม่เรียนในลักษณะที่เป็นความรู้พื้นฐาน ถามว่าเราจะไปต่อได้มั้ย อันนี้ต้องไปคิด ในบางประเทศเน้นว่าต้องสร้างองค์ความรู้ทางภูมิศาสตร์ เพราะถ้าตัวผู้เรียนสามารถมีองค์ความรู้นี้อยู่กับตัวแล้ว ต่อไปเมื่อจะไปไหนก็จะมีความรู้เป็นเซนส์ของเขา เช่น เมื่อเห็นอากาศเย็น เราต้องเตรียมเสื้อหนาว เหล่านี้เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตโดยที่เราไม่รู้ตัว เพราะมันถูกควบรวมกับการใช้ชีวิตของเราแต่แรก เราจึงไม่รู้สึกเลย มันอยู่ในกระบวนการสอนพื้นฐานที่เราจะต้องค่อยเติมความรู้เหล่านี้เข้าไปอยู่เรื่อยๆ

ปัจจุบันมีการปรับให้เข้ากับความเป็นจริงมากแค่ไหน?

ถ้าหลักสูตรพื้นฐาน เราพยายามปรับให้เข้ากับบริบทของเมืองไทยและบริบทของสากลมากยิ่งขึ้น ต้องไม่ลืมว่าเราไม่ได้อยู่คนเดียว ดังนั้นการรู้เขารู้เราจึงเป็นสิ่งจำเป็น เราจึงต้องปรับหลักสูตรให้เป็นมาตรฐานสากลมากขึ้น สมัยก่อนเราอาจจะเรียนบางหัวข้อที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ยกตัวอย่าง หลักสูตรมัธยมปลายสมัยก่อนเราดูแค่การเปลี่ยนแปลงประชากรในเมืองไทยเป็นแบบไหน ก็ปรับหลักสูตรว่าจะต้องมีการเรียนการกระจายตัวของประชากรโลกว่า มีการกระจายตัวในลักษณะไหน มีการเปลี่ยนแปลงไปในรูปแบบทิศทางใด เพื่อให้เข้าใจสถานการณ์ของการเปลี่ยนแปลงของประชากรในระดับโลกมากยิ่งขึ้น

คนส่วนใหญ่มักมองว่าการกระจายตัวของประชากรอยู่ในส่วนของประชากรศาสตร์หรือสังคมวิทยา แต่นักภูมิศาสตร์สามารถบ่งชี้ได้ว่าประชากรจะกระจายตัวอยู่ในบริเวณไหน เราก็จะเอาตรงนั้นมาเป็นตัวจับว่าเพราะอะไร ลักษณะภูมิศาสตร์ที่เป็นถนนตัดกัน หรือบริเวณที่เป็นที่ราบลุ่ม ถามว่าทำไมจึงมีประชากรอยู่บริเวณนั้นมาก เพราะดินดี ทำการเกษตรได้ดี คนจึงมาทำการอยู่อาศัยบริเวณนั้นมาก

ความรู้เรื่องการกระจายตัวของประชากรนำไปใช้ประโยชน์ทางไหน?

เมื่อประชากรเข้าไปตั้งถิ่นฐานตรงนั้นมากแล้ว สิ่งสำคัญสุดคือ ประชากรต้องการใช้พื้นที่ การจัดสรรพื้นที่จึงสำคัญ นักภูมิศาสตร์สามารถเข้าไปเป็นบุคคลหนึ่งที่มีบทบาทในการจัดสรรพื้นที่เหล่านั้นได้ว่าพื้นที่ไหนเหมาะสมทำอะไร

เวลาพูดถึงวิชาภูมิศาสตร์จะพูดถึงการเรียนแผนที่ “ทองใบ แตงน้อย”?

หนังสือเล่มนี้ถือว่าคลาสสิกมาก ยอมรับว่าเป็นแผนที่ภูมิศาสตร์เล่มยอดนิยม สมัยที่ผมเรียนประถมมัธยมก็ใช้เล่มนี้ ถามว่ามีการเปลี่ยนแปลงหรือยัง บอกได้เลยว่าวิชาการภูมิศาสตร์มีการเปลี่ยนแปลงเยอะมาก ไม่ใช่เรียนแต่แผนที่ว่าอะไรอยู่ตรงไหน ปัจจุบันจะเป็นการทำความเข้าใจว่าเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นได้ที่ตรงนี้เพราะอะไรมากกว่า คือเอาองค์ความรู้ทางภูมิศาสตร์เข้าไปบ่งชี้ว่าเพราะอะไรมันถึงเกิดที่นั่น เพราะอะไรมันจึงเกิดเหตุการณ์อย่างนั้นที่นี่

เราไม่ได้เป็นองค์ความรู้ที่จะไปบู๊ข้างหน้า ในต่างประเทศการจัดการต่างๆ นักภูมิศาสตร์จะเป็นคนขับเคลื่อนที่สำคัญ เป็นคนประสานงานให้สาขาองค์ความรู้ต่างๆ เชื่อมโยงกันได้ แม้กระทั่งวิชารัฐศาสตร์

ทราบว่าเป็นหนึ่งในกรรมการร่างหลักสูตรภูมิศาสตร์?

ตอนนั้นได้รับเชิญ โดยติดตามอาจารย์ผู้ใหญ่ไป จึงได้ให้มุมมองว่าประเด็นต่างๆ เหล่านี้น่าจะต้องเพิ่มเติมในบริบทของการศึกษาในประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรพื้นฐานการศึกษาเราจะเน้นที่ ม.ปลาย เพราะสมัยก่อนจะเรียนภูมิศาสตร์กายภาพอย่างเดียว แต่ไม่มีบริบทที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตมนุษย์ เลยมองไม่ออกว่าวิชาภูมิศาสตร์เรียนไปเพื่ออะไร ดังนั้นในชั้น ม.ปลายจึงมีการปรับว่าจะต้องให้เข้าใจถึงลักษณะทางกายภาพ ไม่ว่าจะเป็นภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของเรา มันก็จะส่งผลถึงเรื่องของประชากร การตั้งถิ่นฐาน กิจกรรมทางเศรษฐกิจ

อย่างที่ยกตัวอย่างไปแล้วเรื่องการตั้งถิ่นฐาน เรื่องประชากรก็บ่งชี้ในเรื่องของการกระจุกตัว การกระจายตัว ส่วนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ นักภูมิศาสตร์เข้ามาบ่งชี้ได้ เพราะกิจกรรมทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นบนพื้นผิวโลก ภูมิศาสตร์จึงเข้าไปเกี่ยวข้อง เช่น เราจะปลูกพืชก็ต้องวิเคราะห์แล้วว่าลักษณะภูมิประเทศแบบไหนจะปลูกพืชได้

อาจารย์เรียกตัวเองว่า “นักภูมิศาสตร์” นักภูมิศาสตร์ทำอะไร?

ที่จริงในประเทศไทยยังไม่มีคำว่า “นักภูมิศาสตร์” ที่เป็นอัตราการจ้างงาน มีแต่ “นักวิชาการทางแผนที่และภาพถ่าย”, “นักภูมิสารสนเทศ” ถามว่า สองนักนี้ใช้องค์ความรู้ด้านไหน ภูมิศาสตร์ทั้งหมด แต่บ้านเราค่อนข้างให้ความสนใจเกี่ยวกับเรื่องของเทคนิควิธีการ ก็คือพวกเครื่องมือต่างๆ ดังนั้นอาชีพจึงออกไปในลักษณะนั้น จึงไม่มีตำแหน่งงานที่เป็นนักภูมิศาสตร์โดยตรง

มีคนพยายามโปรโมตอยากให้มีนักภูมิศาสตร์เกิดขึ้น เพราะมันจะเป็นการสร้างมูลค่าทางวิชาชีพของเรา จะทำให้นักภูมิศาสตร์มีบทบาทสำคัญขึ้น คือมีทั้งในตัวองค์ความรู้ทางภูมิศาสตร์ และเราก็มีนักภูมิศาสตร์ด้วย ทำให้คนที่จบภูมิศาสตร์ไปสามารถมีแคเรียพาร์ทที่ชัดเจน และเด็กสนใจมากขึ้น เป็นการเพิ่มมูลค่ากับตัววิชาเช่นเมื่อเทียบกับหมอ แต่กับนักภูมิศาสตร์จบแล้วไปทำอะไร

มีแต่คนถามคำถามนี้?

ครับ แม้แต่ลูกศิษย์ผมก็ถาม แต่การเรียนภูมิศาสตร์มันเป็นองค์ความรู้พื้นฐาน ถามว่าทุกสาขาวิชาจำเป็นต้องมีองค์ความรู้ทางภูมิศาสตร์มั้ย ผมตอบเลยว่า “จำเป็น” ลูกศิษย์ผมที่จบปริญญาตรี มีที่มาเรียนต่อทางด้านภูมิศาสตร์โดยตรง 25% แต่ถามว่าเขาไปต่ออะไร ไปต่อด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง ด้านที่เกี่ยวข้องกับวิศวกรรมก็ได้ ภูมิศาสตร์เป็นความรู้พื้นฐานให้กับวิชาเหล่านี้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นนักผังเมือง นักสิ่งแวดล้อม ภูมิศาสตร์สามารถเข้าไปตอบคำถามได้ทั้งหมด

เป็นแบ๊กอัพให้กับศาสตร์ต่างๆ?

คือเราไม่ได้เป็นองค์ความรู้ที่จะไปบู๊ข้างหน้า ในต่างประเทศการจัดการต่างๆ นักภูมิศาสตร์จะเป็นคนขับเคลื่อนที่สำคัญ เป็นคนประสานงานให้สาขาองค์ความรู้ต่างๆ เชื่อมโยงกันได้ แม้กระทั่งวิชารัฐศาสตร์ที่เป็นความรู้ทางการเมืองการปกครอง องค์ความรู้ทางภูมิศาสตร์ก็สามารถเข้าไปในเรื่องทางรัฐศาสตร์ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาณาเขต ดินแดน ล้วนเป็นองค์ความรู้ทางภูมิศาสตร์ทั้งนั้น

นิสิตจบไปแล้วจะเรียนทางรัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ก็ได้ ภูมิศาสตร์เป็นเหมือนฐาน ดังนั้นเมื่อจะมีการตัดสินใจทำอะไรบนผืนดิน องค์ความรู้ทางภูมิศาสตร์ย่อมมีส่วนไปเกี่ยวข้องในการตัดสินใจ ยกตัวอย่างเช่น จะเปิดร้านค้า เราต้องพิจารณาแล้วว่าเป็นร้านอะไร อัตราการเข้ามาของคน ณ บริเวณนั้นมากน้อยแค่ไหน เราดูการกระจายตัวว่ามี “ปัจจัยอะไร” ที่ส่งผลต่อการกระจายตัวการกระจุกตัวในการประกอบกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่นั้น

การส่งเสริมให้คนตระหนักถึงความสำคัญของภูมิศาสตร์?

ต้องสร้างการตระหนักรับรู้ตั้งแต่เด็กว่าวิชาภูมิศาสตร์มีความสำคัญ ประเด็นสำคัญคือ เรายังไม่สามารถชี้ได้ว่าเรียนภูมิศาสตร์แล้วมีเอฟเฟ็กต์อย่างไรต่อสังคม ทุกคนไปมองถึงผลลัพธ์สุดท้าย แต่ไม่ได้มองว่าระหว่างทางมันมาอย่างไร เช่น เรียนจบแล้วเป็นแพทย์ เป็นบัญชี แต่สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนแต่ต้องอาศัยองค์ความรู้พื้นฐานเหล่านี้

หลักสูตรใหม่ที่เข้าไปร่วมให้คำปรึกษาเน้นที่ระดับชั้นไหน?

ตั้งแต่ประถมต้นจนถึงมัธยมปลาย สาระสำคัญเราผนวกส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตของมนุษย์เข้าไปมากขึ้น สมัยก่อนวิชาภูมิศาสตร์เราสอนว่าประเทศนี้มีประชากรแค่นี้ จังหวัดนี้มีประชากรแค่นี้ มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจแบบนี้ มีการเมืองการปกครอง วัฒนธรรมเป็นแบบนี้ แต่เมื่อเราปรับ เราต้องการชูโรงว่าภูมิศาสตร์บ่งชี้สิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้จากลักษณะที่มันเป็นอยู่ เพราะฉะนั้นเราจึงต้องอธิบายความสัมพันธ์ทางกายภาพกับการเกิดรูปแบบการดำรงชีวิตของมนุษย์ในแต่ละพื้นที่ เช่น คนที่อยู่ในพื้นที่สูงกินแบบหนึ่ง คนที่อยู่ใกล้ทะเลกินอีกแบบหนึ่ง หรืออย่างสมัยก่อนคนภาคอีสานมีปัญหาขาดสารไอโอดีน เพราะลักษณะทางกายภาพ เขาอยู่แบบนั้นเขาจึงต้องกินแบบนั้น

มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒกำลังผลักดันให้คณะสังคมเป็นคณะสังคมศาสตร์เพื่อสังคม ภูมิศาสตร์เพื่อสังคมทำอะไรบ้าง?

ตามนโยบายของคณบดี รศ.ดร.สมชาย สันติวัฒนกุล ที่จริงเราชื่อคณะ “สังคมศาสตร์” อยู่แล้ว แต่เรามีพันธกิจเป็น “สังคมศาสตร์เพื่อสังคม” คือไม่ใช่เรียนแค่องค์ความรู้สังคมศาสตร์อย่างเดียว แต่ต้องเทกแอ๊กชั่นเข้าไปมีส่วนร่วมในการช่วยสังคม

ในส่วนของภาควิชาภูมิศาสตร์ก็มีคณาจารย์ในคณะหลายท่านที่ทำงานเกี่ยวกับการบริการทางวิชาการอยู่ ไม่ว่าจะเป็น ผศ.ดร.สุรีย์พร นิพิฐวิทยา ด้านภูมิศาสตร์สิ่งแวดล้อมก็จะมีโครงการให้ความรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมกับเด็ก เช่น เอาหลอดดูดน้ำมาสร้างเป็นถุงมือที่ใช้บีบ เป็นการดูแลสิ่งแวดล้อมเอาสิ่งที่ไม่ได้ใช้เอามาปรับใช้ประโยชน์ใหม่

คือทิศทางกิจกรรมเพื่อสังคม?

แต่ละภาควิชาก็มีพันธกิจในการบริการทางสังคมอยู่แล้ว เรายังมีโครงการบริการวิชาการอื่นๆ ที่ทำร่วมกับหลายๆ หน่วยงาน ที่จะถ่ายโอนองค์ความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัยกับโรงเรียนต่างๆ ยกตัวอย่าง เช่น ดร.สถาพร มนต์ประภัสสร หัวหน้าภาควิชาภูมิศาสตร์ก็มีโครงการร่วมกับ สสวท.ไปสนับสนุนกับโรงเรียนที่มีศักยภาพให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

กับความร่วมมือกับมติชน?

เท่าที่ทราบเป็นองค์ความรู้ในการร่วมมือทางวิชาการ ไม่ว่าการจัดประชุมร่วมกัน ระหว่างองค์ความรู้ทางด้านรัฐศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง หรือแม้กระทั่งในปัจจุบันคณะเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งมีองค์ความรู้ทางภูมิศาสตร์เกี่ยวข้องเยอะมาก ไม่ว่าการจัดการพื้นที่เมือง ความมั่นคงของน้ำ ฯลฯ สามารถถ่ายทอดลงไปในเรื่องการจัดการ การพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ทั้งนั้น

ในส่วนของภาควิชาภูมิศาสตร์ วางเป้าหมายอย่างไร?

เรามีเป้าหมายที่ชัดเจน โดยเฉพาะในการผลิตนิสิตปริญญาตรี นอกจากมีองค์ความรู้ จะต้องมีความสามารถในการปฏิบัติงานในพื้นที่ได้ ดังนั้นหลักสูตรใหม่ที่เราใช้อยู่ จึงเน้นการปฏิบัติงานจริงในภาคสนามมากยิ่งขึ้น เป็นทักษะสำคัญสำหรับนักภูมิศาสตร์ เมื่อนิสิตเกิดการปฏิบัติงานจริง สิ่งที่เห็นจะถูกซึมซาบไปโดยไม่รู้ตัว เมื่อได้เห็นลักษณะรูปแบบเช่นนี้ในอีกพื้นที่ก็จะเข้าใจการเกิดปรากฏการณ์นั้น เช่น สามารถนำองค์ความรู้เรื่องน้ำท่วมจากในพื้นที่หนึ่งไปใช้กับอีกพื้นที่หนึ่งได้

เราคาดหวังว่านิสิตจะสามารถวิเคราะห์ปัญหาในเชิงกายภาพของพื้นที่ได้ เป็นการฝึกคิด ให้เด็กสามารถหาวิธีแก้ไขปัญหาได้


แค่อยากเป็นครู

เป็นหนุ่มหน้าใส ร่างเล็กๆ ที่ถ้าไม่บอกก็ไม่ทราบว่าเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาภูมิศาสตร์ มศวประสานมิตร

ดร.ชูเดช โลศิริ เป็นหนึ่งในคณะกรรมการร่างหลักสูตรสาระภูมิศาสตร์ (ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2560) กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ของกระทรวงศึกษาธิการ

ชีวิตในวัยเยาว์ไม่ต่างจากเด็กกรุงเทพฯ ทั่วไป เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนวัดราชบพิธตั้งแต่มัธยม 1 จนถึงมัธยม 6 ก่อนจะไปศึกษาต่อกระทั่งสำเร็จวิทยาศาสตร์บัณฑิต (ภูมิศาสตร์) เกียรตินิยมอันดับ 1 แล้วศึกษาต่อในระดับมหาบัณฑิต ดุษฎีบัณฑิต ที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) ด้านรีโมต เซ็นซิ่ง และจีไอเอส เกี่ยวกับภาพถ่ายดาวเทียมและระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์

กรรมการและเลขานุการในคณะกรรมการวิชาภูมิศาสตร์ (พ.ศ.2557-2559) มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา(สอวน.) บอกว่า ความสนใจในภูมิศาสตร์เริ่มต้นมาจาก “อยากเป็นครู”

แต่พี่สาวบอกว่าไม่จำเป็นต้องเรียนครูโดยตรง จึงมองว่าที่จริงเราชอบสังคมศาสตร์ และคิดว่าสิ่งหนึ่งที่ค่อนข้างมีอิทธิพลกับชีวิตเราและหลายคนมองข้าม คือภูมิศาสตร์

“ตอนเรียนปริญญาตรี เราก็จะดูว่าต้องเป็นแผนที่แน่ๆ ใช้การท่องจำ แต่ที่จริงภูมิศาสตร์เกี่ยวข้องกับวิชาอื่นอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นภูมิศาสตร์มนุษย์ ที่เรียนเกี่ยวกับกิจกรรมของมนุษย์ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นภูมิศาสตร์ประชากร การตั้งถิ่นฐาน ภูมิศาสตร์เศรษฐกิจ ภูมิศาสตร์การเมือง หรือแม้แต่ภูมิศาสตร์วัฒนธรรม”

ดร.ชูเดช บอกอีกว่า โดยสถานภาพตนเองเป็นนักภูมิศาสตร์ แต่ไม่ใช่นักภูมิศาสตร์แบบจ๋าๆ เวลาว่างจะชอบอ่านหนังสือเพื่อมองหาเคสใหม่ๆ มาใช้ประกอบการเรียนการสอน

“เพราะผมไม่ใช่นักภูมิศาสตร์กายภาพโดยตรง แต่ชอบดูในเรื่องบริบททางด้านมนุษย์ แต่ก็ไม่กล้าเคลมว่าเป็นนักภูมิศาสตร์มนุษย์”

แม้ว่าที่ผ่านมาสมาคมภูมิศาสตร์แห่งประเทศไทยจะพยายามให้เกิดวิชาชีพที่เรียกว่า “นักภูมิศาสตร์” มีการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับภูมิศาสตร์ เป็นแหล่งชุมนุมของนักภูมิศาสตร์ แต่ถ้าในความเป็นจริงนับว่า “ยังยาก”

อย่างไรก็ตาม ในฐานะอาจารย์ภาควิชาภูมิศาสตร์ ดร.ชูเดช บอกว่า ปัจจุบันการเรียนการสอนด้านภูมิศาสตร์มีการพัฒนาไปมาก เราพยายามที่จะทำให้เด็กโดยเฉพาะระดับมัธยมได้รู้ว่ามันเป็นวิชาที่ว่าด้วยอะไร เพราะกิจกรรมของทุกคนเกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตบนผิวโลก

ดังนั้น จึงหนีไม่ได้เลยว่าองค์ความรู้ทางภูมิศาสตร์ไม่มีความสำคัญ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image