‘นิพนธ์ คนขยัน’ หัวหอกแก้วิกฤต ‘ยางบึงกาฬ’ เคาะทางรอด ด้วยการแปรรูปครบวงจร

“แปรรูปเพิ่มมูลค่าและระบายยางออกจากตลาดให้มากที่สุด” เป็นวิธีการแก้ปัญหายางพาราที่ นิพนธ์ คนขยัน นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดบึงกาฬ และที่ปรึกษาชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางจังหวัดบึงกาฬ จำกัด ผลักดันมาตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา

นับจากวันที่ “ยางพารา” พืชเศรษฐกิจสำคัญของ “จังหวัดบึงกาฬ” เผชิญกับภาวะวิกฤต จากราคาผันผวนและตกต่ำอย่างต่อเนื่อง

ถึงแม้ในมุมมองของนิพนธ์จะเห็นว่า เกษตรกรบึงกาฬสามารถปรับตัวและอยู่ได้แม้ราคายางพาราจะไม่สูงนัก แต่น่าจะยั่งยืนกว่าหากมีทางเลือกที่จะสร้างรายได้เพิ่มขึ้น

“วันนี้ยางราคาร่วง คนบึงกาฬอยู่ได้แบบทรมาน ชาวสวนยางรับได้แบบจำใจ เพราะถ้าเทียบกับการทำนาปีหนึ่งได้เงินครั้งหนึ่งแล้วบางปีก็ราคาไม่ดี การกรีดยางเกษตรกรได้เงินทุกเดือน อีกทั้งคนบึงกาฬ 80 เปอร์เซ็นต์เรากรีดยางเอง ไม่ต้องจ้างคนกรีด ดังนั้น ถ้ายางขยับสัก 3 กิโลกรัม 100 บาท เราพออยู่ไหว แต่ตอนนี้มันจะเป็น 6 กิโลกรัม 100 บาทอยู่แล้ว ทำให้เราต้องทนสู้ไปเพื่อรอความหวัง”

Advertisement

และความหวังที่นิพนธ์ย้ำเสมอคือ การแปรรูปยางพาราจากวัตถุดิบต้นน้ำ เป็นผลิตภัณฑ์กลางน้ำหรือปลายน้ำ ซึ่งแนวคิดนี้มาจากบุคคล 3 ท่านคือ พินิจ จารุสมบัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีน และส่งเสริมความสัมพันธ์, ณพรัตน์ วิชิตชลชัย ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยาง การยางแห่งประเทศไทย และ จาง เหย็น ประธานกรรมการ บริษัท รับเบอร์วัลเล่ย์ กรุ๊ป จำกัด ที่ให้แนวคิดว่า ทางออกของปัญหายางพารา ต้องระบายยางออกให้มากที่สุดและแปรรูปเพิ่มมูลค่า เช่น เอามาทำหมอน ทำที่นอน ทำสนามกีฬา คนที่ได้ประโยชน์คือประชาชน แต่จะให้ชาวสวนยางขับเคลื่อนเองคงเป็นไปได้ยาก สิ่งที่อยากเสนอวันนี้คือต้องมีการส่งเสริมจากภาครัฐ

ซึ่งบึงกาฬนับว่าโชคดีมาก ไม่เพียงมีผู้นำที่สนับสนุนการแปรรูปอย่างสุดกำลัง มีประชาชนที่พร้อมให้ความร่วมมือเต็มที่แล้วยังได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐด้วย โดยหลัง ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี มาร่วมงานวันยางพาราบึงกาฬ ได้ชูให้งานนี้เป็นต้นแบบของประชารัฐ พร้อมยกเป็น “บึงกาฬโมเดล”

Advertisement

หลังจากนั้นไม่นานบึงกาฬก็ได้งบประมาณ 193 ล้านบาท ในการก่อสร้างโรงงานแปรรูปยางพาราของเกษตรกร 5 โรงงาน ประกอบด้วย โรงงานผลิตน้ำยางข้น โรงงานผลิตยางแผ่นรมควัน โรงงานผลิตหมอนยางพารา โรงงานผลิตที่นอนยางพารา โรงงานยางอัดก้อนลูกขุนเพื่อการส่งออก ซึ่งนิพนธ์คาดการณ์ไว้ว่าจะเสร็จสิ้นในต้นปีหน้า นอกจากนี้ ยังเตรียมต่อยอดโดยใช้งบเพิ่มเติมกลุ่มภาคปี 2562 จำนวน 200 ล้าน ซึ่งได้รับความเห็นชอบจาก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ในการเอายางแผ่นมาทำสนามกีฬา และผลิตภัณฑ์จากยางพาราด้วย

“เมื่อโรงงานเสร็จ ชาวบ้านขายเป็นน้ำยางสดแทนยางก้อนถ้วยก็จะได้เงินเพิ่ม เพราะน้ำยางสดสามารถวัดได้ว่าค่าดีอาร์ซีของยางเป็นเท่าไหร่ แต่ถ้ายางก้อนถ้วยเราวัดไม่ได้ สุดท้ายชาวบ้านจะเสียผลประโยชน์เพราะไม่มีมาตรฐานในการวัด ขณะเดียวกันการไม่ขายยางก้อนถ้วยจะทำให้เกษตรกรลดต้นทุนในการใช้สารเคมี คือไม่ต้องหยดน้ำกรด ไม่ต้องสูดดมสารเคมี ก็จะช่วยในเรื่องสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของคนในบึงกาฬด้วย นอกจากนี้รัฐบาลยังต้องมองด้วยว่า หน่วยงานใดบ้างของรัฐบาลที่สามารถใช้ยางได้ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้ยางในประเทศ เนื่องจากยางพาราทำอะไรได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสนามกีฬา แผ่นกันลื่น กระเบื้องห้องน้ำ แผงกั้นจราจรหรือแบริเออร์ยาง กรวยยาง รองเท้ายาง ล้อจักรยาน หรือล้อรถอีแต๊ก รวมถึงหมอนยางพารา ซึ่งมีราคาถูกด้วย เพราะไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง”

ทั้งนี้ ในปัจจุบันจังหวัดบึงกาฬมีการก่อตั้ง บึงกาฬรับเบอร์กรุ๊ป เป็นการร่วมทุนของ “ชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางจังหวัดบึงกาฬ จำกัด” เพื่อสร้างโรงงานผลิตหมอนยางพาราขึ้น ซึ่งการเกิดขึ้นของชุมนุมสหกรณ์ฯ นับเป็นตัวอย่างความร่วมมือที่สำคัญ เนื่องจากชุมนุมสหกรณ์ฯ เกิดขึ้นจากการระดมทุนของชาวสวนยาง ในการแปรรูปน้ำยางเพื่อแก้ไขปัญหาราคาตกต่ำ โดยได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในจังหวัด ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน

“ขณะนี้หมอนยางพาราบึงกาฬส่งออกไปยังประเทศจีน โดย เฉิน หู้เซิง (โทนี่ เฉิน) ผู้อำนวยการฝ่ายประเทศไทย บริษัท รับเบอร์วัลเล่ย์ กรุ๊ป จำกัด ประเทศจีน และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยวิศวกรรมยางแห่งชาติประเทศจีน (ประจำประเทศไทย) ได้รับมอบหมายจากจาง เหย็น ให้นำหมอนยางพาราบึงกาฬไปขายที่เมืองจีน โดยมีการจดทะเบียนที่ประเทศจีน ใช้ยี่ห้อว่า ‘บึงกาฬ’ นอกจากนี้ ยังมีเวียดนามที่ติดต่อมาซื้อหมอนยางพาราบึงกาฬแล้ว”

นิพนธ์บอกอีกว่า ในส่วนของตลาดประเทศไทยนั้น อยากให้รัฐบาลส่งเสริมให้มีการใช้ผลิตภัณฑ์จากยางพารา

“ที่ผ่านมารัฐบาลทุกรัฐบาลใช้วิธีชดเชยให้ชาวสวนยาง ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า อย่างการให้เงินชดเชยไร่ละ 1,000 บาท เกษตรกรได้เงิน แต่ยางในตลาดยังอยู่เหมือนเดิม แต่ถ้าเอางบที่ใช้มาระบายยางด้วยการทำหมอน ทำที่นอนแจกจ่ายตามโรงพยาบาล ศูนย์เด็กเล็กต่างๆ นอกจากจะเป็นการระบายยางออกจากตลาดแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดการแปรรูปเพิ่มมูลค่าด้วย”

นิพนธ์ยังแนะอีกว่า รัฐบาลควรแก้กฎระเบียบใหม่ ให้ท้องถิ่นสามารถสนับสนุนหรือซื้อผลิตภัณฑ์ที่ทำจากยางพาราได้ เช่น ซื้อสนามกีฬาจากยางพารา ซึ่งเกษตรกรสามารถผลิตและจำหน่ายในราคา 150,000 บาท ขณะที่ท้องตลาดมีราคาประมาณ 400,000 บาท ท้ายที่สุดการที่ท้องถิ่นซื้อให้ชุมชนจะทำให้ชาวบ้านและเยาวชนมีลานกีฬาไว้ออกกำลังกาย มีสนามฟุตซอล สนามวอลเลย์บอล ขณะเดียวกันยังเป็นการระบายยางจากท้องตลาดด้วย

“ผมพูดตลอด ไม่ว่าจะครั้งไหน รวมถึงที่สมาคม อบจ.แห่งประเทศไทยว่า การแก้ปัญหายางพารา อบจ.เราพร้อมสนับสนุน เช่น ให้โรงพยาบาล หรือศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เปลี่ยนมาใช้หมอนหรือที่นอน ที่ทำจากยางพาราและผลิตโดยสหกรณ์ที่มีชาวสวนยางเป็นเจ้าของในราคาที่ไม่แพง ยังมีทหารเกณฑ์ก็ให้ใช้ที่นอนและหมอนยางพารา เมื่อปลดประจำการก็เอากลับบ้านไป ซึ่งหากรัฐบาลไม่มีงบประมาณก็แก้ระเบียบให้ อบจ.ซื้อให้ท้องถิ่นได้ ซึ่ง อบต.หลายแห่งพร้อม เพียงแต่ต้องแก้ระเบียบให้สามารถแก้ปัญหาให้เกษตรกรได้ อย่าไปมองว่าเป็นการแข่งขันทางการค้ากับนักลงทุน ในเมื่อนักลงทุนเอาเปรียบ ผูกขาด ราคาก็ดิ่งลง”

เป็นแนวทางที่นิพนธ์เชื่อว่าจะสร้างความสำเร็จและส่งผลไปทั่วประเทศ ในฐานะเมืองต้นแบบการแก้ปัญหาการเกษตร

“งานวันยางพาราที่จะถึงนี้ก็มี อบจ.จากหลายจังหวัดทั่วประเทศมาร่วมงาน ซึ่งบางจังหวัดอาจจะไม่เกี่ยวกับยางพารา แต่เขาจะมาดูวิธีการแก้ปัญหาของยางพาราแล้วเอาแนวคิดของบึงกาฬไปแก้ปัญหาพืชเกษตรอื่น เช่น ลำไย เป็นต้น”

นอกจากนี้ ยังมีอีกโครงการหนึ่งที่นิพนธ์ประเมินแล้วว่าจะทำให้เกิดการใช้น้ำยางจำนวนมหาศาล และหวังให้เกิดการใช้งานอย่างแพร่หลาย นั่นคือการก่อสร้าง “ถนนยางพาราดินซีเมนต์ (Para Rubber Soil Cement )” ตามแนวคิดของ ผศ.ดร.ระพีพันธ์ แดงตันกี รองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนางานวิจัยและอุตสาหกรรมสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ซึ่งริเริ่มขึ้นในงานวันยางพาราบึงกาฬ

“มีการวิจัยแล้วว่า สามารถนำน้ำยางสดมาทำเป็นถนนของท้องถิ่นได้ โดยซื้อน้ำยางสดกิโลกรัมละ 65 บาท ซึ่งวันนี้ราคาน้ำยางสดอยู่ที่กิโลกรัมละ 32 บาท ดังนั้นจะช่วยให้เกษตรกรที่ขายน้ำยางให้โครงการมีรายได้เพิ่มขึ้น และยังเป็นการระบายยางได้อีกจำนวนมาก”

นายก อบจ.บึงกาฬระบุอีกว่า บึงกาฬพร้อมมากที่จะทำถนนยางพาราทันที เหลือเพียงรอให้กรมบัญชีกลางอนุมัติราคากลางเท่านั้น

“ถนนยางพาราเริ่มเป็นรูปธรรม เพราะตัวราคาส่งไปถึงกรมบัญชีกลางแล้ว เหลือแค่รับรองว่าซื้อได้ ถ้าปลดล็อกวันนี้ท้องถิ่นสามารถจัดซื้อจัดจ้างได้เลย โดยนวัตกรรมนี้ช่วยให้เม็ดเงินเข้าถึงเกษตรกรที่เป็นผู้ผลิต เพราะเราเขียนไว้ชัดเจนว่าให้ซื้อน้ำยางสดจากสหกรณ์ ซึ่งเป็นสหกรณ์ของเกษตรกรชาวสวนยาง ไม่ผ่านโรงงาน ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ก็เชื่อว่าจะทำให้เกษตรกรมีความสุข” นิพนธ์ทิ้งท้าย

สำหรับโครงการถนนยางพาราดินซีเมนต์ค่อยๆ ขับเคลื่อนเป็นรูปเป็นร่างทีละเล็กละน้อย มีการดำเนินการก่อสร้างถนนต้นแบบในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2560 เป็นถนนยางพาราแรกที่มีการใช้งานจริงที่ อ.เซกา จ.บึงกาฬ และล่าสุดมีสาธิตการทำถนนยางพาราต่อเนื่องจากเส้นเเรก โดยผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมและศึกษาวิธีการทำถนนยางพาราดินซีเมนต์ได้ในงานวันยางพาราบึงกาฬที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-20 ธันวาคมนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image