เส้นทางชีวิตลอยฟ้า จากติวเตอร์คณิตศาสตร์ สู่นักบินบัลลูน ‘นิธิศ ทองดี’

แม้ท้องฟ้าวันนี้จะเป็นสีส้มอมชมพู ซึ่งมีความหมายว่า “ฝุ่น” ขนาดเล็กปกคลุมหนากว่าทุกวัน แต่ภารกิจ…เหนือเมฆ ยังคงดำเนินต่อไป

ใช่ ภารกิจ ครั้งนี้คือ การบิน แต่เป็นการบินล่องลอยไปเรื่อยๆ กับบัลลูนลูกโตหลากสีสันและสดใส ท่ามกลางลมเย็นยามเช้าในช่วงปลายฤดูหนาว

นิธิศ ทองดี หรือเต๋า หัวหน้านักบินบัลลูน วัย 39 ปี จากบริษัทฟลายอิ้งมีเดีย จำกัด หรือ Balloon Adventure Thailand หนุ่มหน้ามนคนบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา จบการศึกษาทางด้านการโรงแรมและการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา แต่จับพลัดจับผลูมาเป็นนักบินบัลลูนได้อย่างไร เพราะที่บ้านทำธุรกิจฟาร์มกุ้ง

เริ่มมาจากรุ่นพี่จากสถาบันเดียวกัน คือ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งปัจจุบันเป็นเจ้าของบริษัทฟลายอิ้งมีเดีย จำกัด ชักชวนกันมา และมีเพื่อนที่มาทำงานบัลลูนเป็นอีเวนต์ที่พัทยาเมื่อปี 2007-2008 ซึ่งทำมา 2-3 ปีแล้วที่นั่น เลยได้มาช่วย แต่ตอนนั้นไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบินเลย เพราะอยู่ในส่วนของลูกเรือ ทีมรถกระบะ ทีมภาคพื้น แต่ทำให้ได้มีโอกาสมารู้จักกับพวกลูกเรือ นั่นคือจุดเริ่มต้น

Advertisement

เคยมีทักษะหรือสนใจการบินมาก่อนไหม?

ไม่มีเลย ไม่เคยคิดมาก่อน เพียงแต่ว่าเมื่อเราไปอยู่ในงาน รู้สึกสงสัยว่าบัลลูนบินอย่างไร บังคับแบบไหน และตามเก็บยังไง ก็สงสัยและอยากรู้ เพราะเมื่อก่อนไม่มีนักบินไทย มีแต่ต่างชาติที่รับเชิญมาบินโชว์ เราก็ตามดูนักบินต่างชาติ คือ บอกเลยว่าหลังจากจบเกษตรศาสตร์มา 10 ปี ผมเป็นติวเตอร์สอนพิเศษวิชาคณิตศาสตร์ รับสอนที่บ้านเล่นๆ 4-5 คน แล้วก็ขยายเพิ่มเป็น 40 คนต่อวัน ไม่ได้ทำงานอื่นเลย ปูพื้นฐานให้เด็กมัธยมต้น มัธยมปลาย ตอนเย็นและเสาร์-อาทิตย์ ทำให้มีเวลาว่างตอนเช้า เวลามีอีเวนต์บัลลูนก็จะออกไปช่วยงาน

เรียกว่าเริ่มมองฝรั่งบิน สนใจ ศึกษาไปเรื่อยๆ จนกระทั่ง คุณธีรพัฒน์ ตันศุขะรัตน์ ผู้บริหารบริษัทฟลายอิ้งมีเดีย จำกัด จับมาให้เป็นนักเรียนฝึกหัด (Student Pilot) ประมาณ 2 ปี ฝึกกับนักบินต่างชาติและคนไทยที่อยู่ในทีม และมีโอกาสได้ฝึกเยอะมาก เพราะช่วงนั้นมีการจัดอีเวนต์กันบ่อย มีนักบินต่างชาติเข้ามาเยอะ ทั้งนักบินฝรั่งเศส อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ อเมริกัน และมีครูไทยที่เป็นหลักคือ กัปตันชาย สุวัตถิ เป็นนักบินเฮลิคอปเตอร์ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นนักบินบัลลูนคนแรกของไทยที่ได้ไลเซนส์ (Licence) ไทย

ตอนฝึกบินรู้สึกอย่างไรบ้าง?

รู้สึกว่ามันท้าทายดี เรายิ่งรู้ เรายิ่งอยากบิน เราเชื่อมั่นในความปลอดภัยมากขึ้นเพราะเรามีความรู้มากขึ้น ยิ่งเมื่อเทียบกับอากาศยานอื่นๆ การบินบัลลูนมีความปลอดภัยไม่น้อยไปกว่าอากาศยานอื่น

Advertisement

หลังจากเป็นศิษย์การบินจากการฝึกที่นี่ 2 ปี ซึ่งการฝึกในสมัยก่อนไม่ได้บินทุกวัน เพราะถ้าไม่มีลูกค้าก็ไม่ได้บิน ต้องรอฝรั่งที่นานๆ จะมาจากต่างประเทศที ส่วนใหญ่มาฝึกที่เชียงใหม่ด้วยการทำงานเป็นลูกเรือ เริ่มต้นเหมือนคนอื่นๆ คือต้องมาเตรียมทุกอย่างเองเหมือนกับไฟลต์ในวันนี้ที่เราจะขึ้นบินเอง พอนักบินมาถึงเขาก็จะเช็กว่าเรียบร้อยไหม ถ้าผ่านหมดถือว่าเราประสบความสำเร็จไปแล้วกว่าครึ่ง เพราะความยากง่ายของมันอยู่ที่การเซตลูกก่อนขึ้น พอบินขึ้นไปแล้ว มันแก้ไขอะไรลำบาก ต้องเซตจากภาคพื้น ทำทุกวัน บางที 20 วันติดกัน เราไม่มีอะไรผิดพลาดเลยเราก็มีความมั่นใจ ดีใจ ภูมิใจนะว่าเราเก่ง

เราต้องตรวจเช็กตั้งแต่ถุง เบิร์นเนอร์ สายแก๊ส ถังแก๊ส และตะกร้า ส่วนใหญ่จะสังเกตรอยต่อพวกตัวล็อก คาราบินเนอร์ สายรับน้ำหนัก สายสะลิงต่างๆ มีการเช็กลิสต์ทุกวัน มีความเป็นนักเรียนคือต้องเช็กทุกวัน ตอนนั้นทีมมี 2 คน มีนักบินหญิงอีกคนก็ต้องช่วยกัน ซึ่งปกติเราจะฝึกเป็นคู่เพื่อจะได้ปรึกษากัน เมื่อเซตบัลลูนทุกอย่างถูกต้องแล้วก็เริ่มฝึกบิน เริ่มจากการทำเลเวล (Level) คือไม่ว่าบอลลูนจะไปทิศทางไหนก็ช่าง ต้องทำให้อยู่ในระดับเดิมคือ 500 ฟีต ก็ต้องทำให้อยู่ในระดับ 500 ฟีต หรือ 800 ฟีต 1,000 ฟีต 2,000 ฟีต ก็ต้องทำระดับให้ได้เท่าเดิม พอเราทำเลเวลได้เขาจะให้ฝึก Approach คือ การร่อนลงจาก 100 ฟีต แล้วค่อยๆ ขยับความสูงขึ้นไปจากพื้นดิน 300 ฟีต 500 ฟีต ไปจนถึง 2,000 ฟีต จนทุกระยะเราร่อนลงได้หมดแล้ว นอกจากนั้นก็ไปดูเรื่องทิศทางซึ่งต้องแม่น Level ก่อน เช่น จะไปทางทิศเหนือในระยะ 500 ฟีต ก็ต้องเกาะลมในระยะนี้ ไม่ใช่ขึ้นๆ ลงๆ 400 ฟีต หรือ 600 ฟีตไม่ได้

ความยากง่ายของการเป็นนักบินบัลลูนอยู่ตรงไหน?

การตัดสินใจครับ ว่าเราจะไปทิศทางไหน ที่จะลงแลนด์ได้หรือไม่ได้ หากเราลังเลหรือตัดสินใจผิดก็จะเกิดอุบัติเหตุ แต่อุบัติเหตุจากบัลลูนไม่ค่อยจะร้ายแรงเท่าไรนัก อาจจะเป็นฟกช้ำดำเขียว ถุงขาด ไม่ร้ายแรงอะไรเพราะไม่มีเครื่องยนต์และเบากว่าอากาศ มันก็จะลอยไปเรื่อย เราไม่ลงก็ลอยผ่านไป แต่ทีนี้จังหวะลงไม่ลงจะเกิดการตัดสินใจว่าแม่นหรือไม่ ลงกลางไหม จะไม่มีความเสี่ยงถ้าเรามีความชำนาญ ถ้าเป็นนักบินใหม่ๆ เราก็จะให้เขาบินเดี่ยวหรือตามอีเวนต์ก่อน ยังไม่ให้รับลูกค้า ส่วนตัวยังไม่เคยเกิดอุบัติเหตุเลย เพราะมีมาตรฐานสูงพอสมควร และจะรู้ก่อนว่าจะเกิดอะไรขึ้น

บัลลูนสร้างปัญหาและอุปสรรคต่อการจราจรทางอากาศอื่นๆ หรือไม่ เพราะบินอยู่บนฟ้าเหมือนกัน?

บัลลูนเวลาขึ้นบินจากจุดนี้ เราขีดวงเวียนไปเลยว่าไม่เกิน 10 กิโลเมตร เหมือนเอาฝาชีมาครอบไว้แบบกรงนกยักษ์ เพราะบัลลูนจะบินไม่เกิน 2,000 ฟีต ซึ่งนักบินไม่ได้บินไปตลอด 2,000 ฟีต แต่แค่บินให้ลูกค้าชมวิวสวยๆ สูงสุดแล้ว ไม่นานก็ลดระดับลง เพราะเราขออนุญาตได้แค่นี้ และสายการบินบินอยู่ระดับนี้ แต่เวลา Take Off ไปแล้วก็เลยเราไปที่ 4,000-5,000 ฟีต และเราบินแค่ 1 ชั่วโมงครึ่ง มีการแจ้งหอบังคับการบินก่อน นักบินก็จะรู้และบินเลยเราขึ้นไป บัลลูนเราบินแค่ช่วงเช้าไม่กระทบอะไรเลย ไม่เกิน 08.00 น. ก็ลงหมดแล้ว อากาศตอนเช้าดีที่สุด เพราะบัลลูนบินด้วยความร้อนทำให้ลอย อากาศข้างนอกเย็นเรายิงไฟเล็กน้อยก็ลอยแล้ว และความเร็วลมที่ดีไม่มีลมแรงหรือกระโชก ควบคุมบัลลูนได้ง่าย อย่างวันนี้เราขึ้นจากสนามสวนทวีชล อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ บินไปเหนือฟ้าเพื่อชมทุ่งนา เขื่อนแม่กวงอุดมธารา สบายๆ ตามลมไปเรื่อยๆ

“…บัลลูนดูแลไม่ยาก และไม่ได้กวนอากาศยานใดๆ เลย
เพราะไม่ได้บินทั้งวัน จึงอยากให้ภาครัฐเข้ามาสนับสนุน…
หากทุกฝ่ายมาร่วมมือ จะทำให้เราแข็งแกร่งมากขึ้น
เบอร์หนึ่งของเอเชียเป็นเรื่องง่ายมาก เพราะบุคลากรเราพร้อมแล้ว
เหลือการสนับสนุนในเรื่องนี้เท่านั้น…”

ธุรกิจบัลลูนดีอย่างไร?

ไปได้อีกไกลเลย แต่ไม่ได้ทำเงินเหมือนกับที่ใครๆ เห็น เพราะเราทำทุกอย่างเหมือนสายการบิน การจะทำบัลลูนรับลูกค้าต้องเปิดสายการบินเหมือนกัน ค่าดำเนินการสูงมากเพราะทุกอย่างเหมือนสายการบินหนึ่งเลย แต่เราบินได้เช้ารอบเดียว ขณะที่สายการบินบินได้ทั้งวัน วันไหนบินไม่ได้เราก็ยกเลิกและคืนเงินลูกค้าไป เพราะไม่ควรมาเสียเวลาแทนที่จะได้ไปเที่ยวที่อื่นต่อได้ เราเน้นความปลอดภัยเป็นหลัก เช่น ถ้ามีลมแรง ฝนตก หรือสภาพอากาศที่มีเมฆฝนไม่ปลอดภัย เมฆที่สามารถยกตัวบัลลูนได้เองเราก็ยกเลิก

ความที่ค่าใช้จ่ายต่อการขึ้นบินแต่ละครั้งค่อนข้างสูง 15,000-16,000 บาท กรณีไม่รับลูกค้า การที่เราเก็บลูกค้า 8,800 บาท บิน 2 คน แทบจะไม่เหลือกำไรเลย ปกติการรับลูกค้าจะขึ้นอยู่กับน้ำหนัก ลูกค้า 4-5 คนก็เต็มที่แล้วสำหรับบัลลูน 1 ลูก เพื่อความอยู่รอดเราก็สั่งขนาด 8-10 คนเข้ามาบิน กำลังรอจดทะเบียนนำเข้ามาให้บริการ ในเมืองไทยมีบริษัทเราแห่งเดียว ส่วนใหญ่ที่เห็นจัดงานบินบ่อยๆ เป็นแค่การจัดอีเวนต์ชั่วคราวเท่านั้น ขออนุญาตกรมการบินนำอากาศยานมา 10 ลำ จัดงาน 1 อาทิตย์แล้วก็เลิก แต่ปัจจุบันเราบินได้ทุกวันทั่วประเทศ เพียงแต่ขออนุญาตไปและได้รับการอนุญาต เหมือนตอนที่จัดงานสิงห์ปาร์ค วันที่ 13-17 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ผ่านมา

แววตาดูมีความสุขมากเวลาพูดถึงการจัดอีเวนต์ที่ผ่านมา?

(หัวเราะ) เป็นงานที่เราได้เจ้าภาพที่ดี สิงห์เข้ามาสนับสนุน มีพื้นที่ที่สวยงาม ที่เมืองเชียงรายเมื่อภาครัฐเข้ามาช่วย เอกชนก็เริ่มไหลเข้ามาสมทบ เช่น สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ธนาคารกสิกรไทย เข้ามาร่วมทำให้อีเวนต์ใหญ่ขึ้นก็เป็นที่รู้จักของทั่วโลก เป็นการดึงนักบัลลูนต่างชาติและชาวต่างชาติเข้ามาเที่ยว ปีนี้เราเชิญนักบินเพื่อนบ้านมาเยอะ ซึ่งปีหน้าเขาก็จะเชิญครอบครัว เพื่อน มาเที่ยว เพราะงานเราถือว่าสวยงามไม่แพ้ใครในเอเชีย ตั้งแต่ปี 2013 มาก็เริ่มใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ 36 บัลลูน พื้นที่ภาคเหนือเป็นพื้นที่ดีที่สุดอากาศเหมาะต่อการบินบัลลูนมากที่สุด โดยเฉพาะเชียงใหม่ที่เราสามารถบินได้ 365 วันเลย ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านหรือต่างประเทศเปิดบินได้แค่ 3 เดือน 4 เดือน หรือ 6 เดือนเท่านั้น หิมะตก ฝนตก ก็ต้องหยุดรับลูกค้า ที่เชียงใหม่หรือภาคเหนือฝนจะไม่ตกเช้ามืด ส่วนใหญ่ตกบ่ายถึงค่ำ เราบินชั่วโมงเดียวจึงไม่มีปัญหา ยกเว้นพื้นเปียกมากๆ เราก็อาจจะงดบิน เพราะเวลาเก็บบัลลูนจะเปียก ตอนนี้เริ่มเปิดพื้นที่บินใหม่ที่เชียงรายก็ต้องขนทีมและบัลลูนไปรับลูกค้าที่นั่น 3-4 เดือนนี้

บินต่างประเทศด้วย?

ช่วงหน้าฝนเมื่อนักท่องเที่ยวไม่ค่อยมาก ผมก็มีโอกาสไปต่างประเทศบ้าง นักบินที่เรามี 4 คน อาจจะมีบินแค่ 1-2 คน ที่เหลือก็ว่างทำให้สามารถเดินสายไปต่างประเทศได้ เพราะหน้าฝนบ้านเราแต่ต่างประเทศอากาศดีเหมาะกับการบินไปอังกฤษ อเมริกา ฝรั่งเศส ส่วนหนึ่งบริษัทเราดูแลให้พนักงานไปหาประสบการณ์ และทางสิงห์ คอเปอเรชั่น หรือการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเชิญไปประชาสัมพันธ์ประเทศไทย เพื่อเชิญนักท่องเที่ยวมาบ้านเรา ที่ประทับใจมากคือ เทศกาลบัลลูนนานาชาติอัลบูเควียร์ก (Albuquerque International Balloon Fiesta) เป็นงานเทศกาลบัลลูนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก จัดขึ้นที่รัฐนิวเม็กซิโก ประเทศสหรัฐอเมริกา จะมีบัลลูนเกือบ 800 ลูก มาจากทั่วโลก คนมาร่วมงานกว่า 1 แสนคน ได้เห็นบัลลูนของเราทุกวัน ยิ่งถ่ายภาพไปแชร์ก็ยิ่งแพร่ไปมากขึ้น เป็นความคุ้มค่า เป็นอะเมซิ่งไทยแลนด์ให้เขารู้จักประเทศไทยมากขึ้น นับเป็นโอกาสที่ดีทำให้เราได้ไปในงานอีเวนต์ต่างๆ ที่เป็นกลุ่มลูกค้า และนักบินก็ได้ประสบการณ์ในการจัดงานอีเวนต์อย่างไร และทำการบินแบบไหน ภาคพื้นอากาศเข้าคอนโทรลบัลลูนอย่างไร ซึ่งมันไม่ยาก

ความแตกต่างของการบินบัลลูนของแต่ละพื้นที่ คือ ภูมิอากาศ บางประเทศอากาศเย็นกว่าเรา จะบินได้ง่ายกว่า ยิงไฟครั้งสองครั้งก็ขึ้นแล้วและใช้แก๊สน้อยกว่า ที่สำคัญที่ลงเยอะกว่าเมืองไทย ต่างประเทศสายไฟอยู่ใต้ดิน ไม่มีปัญหาเลย พื้นที่เป็นทุ่งหญ้า ทะเลทราย รถเข้าได้ถึงหมด เมืองไทยบินได้ยากสุด เพราะมันอาจจะมีเลน รถเข้าไปได้ ทุ่งนาหลอก ไม่ได้เป็นพื้นแข็ง นักบินลงไปบางทีเจอเลน เจอโคลน การไปบินต่างประเทศอาจตื่นเต้นเรื่องพื้นที่ ก่อนไปบินต้องศึกษาแผนที่ก่อน แต่ปัจจุบันง่ายขึ้นเพราะมี GPS ก็ดูว่าโซนไหนเป็นเขตห้ามเข้า และมีกฎในแต่ละอีเวนต์ว่าครั้งนี้ห้ามบินสูงเกินเท่าไร บินไปไกลได้แค่ไหน ทิศใต้ 10 กิโลเมตร ทิศเหนือไปได้แค่ 3 กิโลเมตร เพราะติดสนามบินหรือเป็นเมือง

ราคาบัลลูนแพงไหม?

เหมือนรถยนต์เลย มีทั้งถูกทั้งแพง แต่ที่เราใช้เป็นเมอร์เซเดส เบนซ์ คือ ดีที่สุด ยี่ห้อแพงที่สุด 2 ล้านบาท ในลูกขนาด 4 คน หรือหากเป็น 8 คน ก็แพงขึ้นไป 3-4 ล้านบาท ตามขนาด ผลิตในยุโรปและอเมริกา โรงงานมีมาตรฐาน ถึงบอกว่าไม่ง่ายที่จะคุ้มทุน แต่ที่อยากบินเพราะสิ่งแรกคือ เรามีความชอบ ความรัก ทุกคนชอบสีสันบัลลูน ชอบเมืองไทยและคนไทยมีความสุขจากความสวยงามของบัลลูน เวลาเห็นทุกคนมีความสุข มันดีครับ เราจึงทำมา 15 ปีแล้ว ไม่อยากทิ้งเพราะเกือบจะไม่มีใครสานต่อในเมืองไทย ถ้าพออยู่ได้เราก็อยากทำต่อไป

อยากฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องของการสนับสนุนอย่างไรบ้าง?

ความจริงบัลลูนถ้าเราเข้าใจ คือมาพูดคุยกันแล้วมาขึ้นบินไปด้วยกัน จะรู้ว่าบัลลูนดูแลไม่ยาก และไม่ได้กวนอากาศยานใดๆ เลย และไม่ได้บินทั้งวัน จึงอยากให้ภาครัฐเข้ามาสนับสนุนเพราะจะทำให้การจัดอีเวนต์มีมากขึ้น เพราะบัลลูนปลอดภัยและการจัดก็จะแพร่หลายมากขึ้น อย่ามองว่าเป็นเรื่องแปลก ลูกค้าที่มาบินเป็นชาวต่างชาติ 100% การดึงเงินจากต่างชาติมาด้วยบัลลูนเรียกว่าเป็นอากาศยานอย่างเดียวที่เก็บเงินต่างชาติได้ 100% คนไทยมาขึ้นแค่ 1-2% ของลูกค้าทั้งหมด หากเราสนับสนุนแน่นอนรายได้จากต่างประเทศจะเข้ามา เกิดการหมุนเวียนเพราะการเติมแก๊สก็ปั๊มในพื้นที่ ลูกเรือก็เป็นคนพื้นถิ่นมีรายได้ รถกระบะที่เช่ามาก็มีรายได้ บินเสร็จพาลูกค้าไปทานอาหาร ร้านอาหารก็มีรายได้ เม็ดเงินที่เก็บลูกค้าเรียกว่าจ่ายออกไปเกือบหมด แม้กระทั่งนักบินที่เป็นคนไทยเราก็จ่ายค่าแรง ค่าอะไร เงินก็จะกลับไปสู่คนในพื้นที่แบบง่ายมากๆ ยิ่งการจัดอีเวนต์ที่มีชาวต่างชาติเข้ามาเที่ยวด้วยเราจะโกยเงินจากต่างชาติได้มากขึ้น หากทุกฝ่ายมาร่วมมือจะทำให้เราแข็งแกร่งมากขึ้น เบอร์หนึ่งของเอเชียเป็นเรื่องง่ายมาก เพราะบุคลากรเราพร้อมแล้ว เหลือการสนับสนุนในเรื่องนี้เท่านั้น

วางแผนสำหรับอนาคตอย่างไร?

ผมจะเล่นไปเรื่อยๆ เพราะนักบินที่มีอายุ 60 กว่า เขายังบินได้และมีความสุข แข็งแรง แต่เราต้องดูแลสุขภาพตัวเอง ซึ่งตามกฎต้องตรวจสุขภาพทุก 2 ปีอยู่แล้ว ครอบครัวไม่ว่าอะไรสนับสนุนทุกเรื่อง เพราะตอนที่เป็นติวเตอร์ก็มีรายได้หลักแสนต่อเดือน แต่ไปไหนไม่ค่อยได้ เมื่อมาบินชีวิตเปลี่ยนมีเวลาว่างมากขึ้นได้บินไปทั่วโลก พร้อมกับทำงานไปด้วย


ความสุขและอิสระท่ามกลางผืนฟ้าสีคราม

การบินบัลลูนอาจเป็นธุรกิจที่ค่อนข้างใหม่สำหรับบ้านเรา แต่สำหรับต่างประเทศมีมานานแล้ว แม้กระทั่งในโซนเอเชีย อย่าง ไต้หวัน นิธิศบอกว่ามีให้บริการบินบัลลูนมา 7-8 ปีแล้ว

โดยเฉพาะที่ประเทศญี่ปุ่น เมืองซางะเป็นเมืองที่ขึ้นชื่อเรื่องนี้มาก แม้จะเป็นเมืองเล็กๆ แต่จัดงานแต่ละครั้งมีบัลลูนมาร่วมงานกว่า 100 ลูก ฉะนั้นการที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันบินบัลลูนเราทำได้และง่ายด้วย แต่ต้องได้รับการสนับสนุนทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน

อย่างเมืองที่ไปมาเทศกาลบัลลูนนานาชาติอัลบูเควียร์ก ที่นิวเม็กซิโก ทางธนาคารเป็นสปอนเซอร์ใหญ่ของการจัดอีเวนต์ให้งบฯประมาณ 18 ล้านเหรียญสหรัฐทุกปี โรงแรมในพื้นที่ทั้งหมดจะแบ่ง 20% ให้นักบินชาวต่างชาติพักฟรีเลย คือ 100 ห้อง แบ่งให้นักบินพักฟรี 20 ห้อง อีก 80 ห้อง ถูกจองเต็มหมด เป็นธุรกิจและการท่องเที่ยวที่ต้องร่วมมือกัน ร้านอาหารคนต่อคิวยาวมาก ที่ไต้หวันก็เหมือนกันรัฐบาลสนับสนุนเม็ดเงิน 30-40 ล้านต่ออีเวนต์ เพราะทุกคนตั้งตารอ งานที่เชียงรายของเราปีนี้รถติดตั้งแต่บ่าย 2 โมง ทั้งที่งานจัดตอนเย็น ถือว่าประสบความสำเร็จ แม้บัลลูนเราจะไม่เยอะ แค่ 40 ลูก แต่ก็ไม่ได้น้อยไปกว่าใคร มีคนมาร่วมงานทุกวัน วันละเกือบ 5 หมื่นคน

สำหรับนักบินบัลลูนในเมืองไทย นิธิศบอกว่า ที่ได้ไลเซนส์ตามกฎหมายมีทั้งหมด 7 คน 2 คนทำงานอยู่ต่างประเทศ และอยู่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 1 คน ที่เหลืออีก 4 คน บินประจำอยู่ จะเริ่มมีศิษย์การบินเพิ่ม 4-6 คน ก็ยังรออยู่ เพราะไม่ใช่ว่าจะบินบัลลูนได้ทุกคน หรือแม้กระทั่งเราได้ไลเซนส์ขับบัลลูนได้แล้ว ก็ต้องอาศัยการวางใจจากบริษัทให้รับลูกค้า

“ไม่ใช่ว่ามีใบขับขี่แล้วจะบินได้หมด ดังนั้น คนที่อยากเป็นนักบินบัลลูนต้องศึกษาและตามดูอีเวนต์ทุกวัน มาดูเขาทำงานทุกเช้าหากชอบและรักก็ไปต่อได้ เพราะเป็นงานกลางแจ้งทั้งหมด เป็นการแก้ปัญหาเกือบทุกนาที”

นิธิศบอกว่า นักบินบัลลูนมีรายได้เลี้ยงตัวเอง แม้จะไม่สูงมากแต่ก็ไม่น้อย เฉลี่ยอยู่ที่ 30,000-100,000 บาท แล้วแต่ลูกค้า แต่ที่ได้มากกว่าคือ เรื่องเวลาและการท่องเที่ยว ทำงานไม่ถึงครึ่งวันก็จบงาน มีเวลาไปกับครอบครัว

“ตอนนี้มีลูกสาว 5 ขวบ และรักบัลลูนมากด้วย เวลาไปโรงเรียน เพื่อนๆ และคุณครูคิดว่า ลูกผมดูการ์ตูนเยอะเพราะจะเล่าว่าไปบินมา รู้จักกัปตันและนักบินฝรั่ง เพราะเรื่องอย่างนี้เป็นเรื่องไกลตัวสำหรับในห้องเรียน เพื่อนกับครูก็ไม่เชื่อ จนกระทั่งรู้จักและได้เห็นของจริงเริ่มเข้าใจ ผมเลยเข้าไปโรงเรียนนำบัลลูนจำลองไปสอนตอนมีสัปดาห์วิทยาศาสตร์ ก็สนุกดีเพราะครูต้องการความแปลกใหม่ งานประจำปีเอาบัลลูนไปร่วมกิจกรรม เผยแพร่เรื่องบัลลูนไปในกลุ่มเด็กๆ”

เพราะนักบินบัลลูนเป็นอาชีพหนึ่งที่น่าสนใจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image