มัณฑนากรหญิงแกร่ง กับความท้าทายครั้งใหม่ ม.ล.สุทธิ์ธรทิพย์ วรวรรณ ‘การดูแลงานเสด็จปู่คือสิ่งสำคัญที่สุด’

นิยามของ “เจ้า” ณ วันนี้ กับวันวานอาจจะต่างกันไป โดยเฉพาะกับเธอ ผู้เป็นทายาทระดับหลานปู่ของพลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ หรือพระองค์วรรณ

เป็นสตรีสายแกร่งที่มากความสามารถ ทำงานเก่งไม่แพ้ชายอกสามศอก ต่อให้เป็นชายร่างยักษ์หน้าเหี้ยม หนวดเฟิ้ม ที่มีบอดี้การ์ด 4 นายประกบ ก็ไม่ทำให้เธอประหวั่นพรั่นพรึงแต่อย่างใด

เมื่อครั้งที่ไปทำหน้าที่มัณฑนากรออกแบบโครงการระดับหมื่นล้านที่ปาล์มจูไมร่า ดูไบ เป็นคนดูแลทุกสิ่งตั้งแต่ออกแบบ คุมงานก่อสร้าง ไฟฟ้าประปา กระทั่งผ้ารองจาน เธอย้อนประสบการณ์ในต่างแดนครั้งนั้นให้ฟังว่า เคยโดนคนในไซต์งานบีบคอมาแล้ว โมโหมาก คิดว่าทำไมต้องทน จึงยื่นคำขาดกับผู้จ้างให้จัดการถ้าไม่อยากถูกฟ้อง ที่สุดเขาออกกฎเหล็กห้ามใครทำอะไรเธอ ตั้งแต่นั้นมาไปไหนมาไหนจะมีบอดี้การ์ดคุมตลอด

“เดือนแรกที่ไปทำงาน คัลเจอร์ช็อกเลย ความที่เขา (ผู้จ้าง) เป็นคนยูเครน ตัวใหญ่มาก หนวดเฟิ้ม มีบอดี้การ์ด 4 คน เราเป็นเฮด ออฟ ดีพาร์ตเมนต์ ลูกน้องเป็นคนยูเครนทั้งหมด พูดแต่ภาษารัสเซีย และคนก่อนหน้าถูกให้ออกไปแล้ว 11 คน เราเป็นคนเดียวที่กล้าเถียงเขา…อยู่ที่นั่นเป็นการปรับชีวิตอย่างมาก เราต้องย้อนกลับมามองเลยว่า เราดีพอหรือเปล่า เราเก่งจริงหรือเปล่า เราเปิดรับความคิดคนอื่นได้กว้างแค่ไหน เราจะปรับตัวเพื่อเข้ากับคนหมู่มาก คุมคนเป็นพันได้นานแค่ไหน โดยเป็นคนไทยคนเดียว”

Advertisement

ที่สุด โรงแรมเอมเมอรัลด์ พาเลซ เคมปินสกี้ ดูไบ แกรนด์โอเพ่นนิ่งไปอย่างยิ่งใหญ่เมื่อวันที่ 15 มกราคมที่ผ่านมา เป็นผลงานโบแดงชิ้นหนึ่งที่เธอฝากไว้ ก่อนที่จะพักมือก้าวออกมาเอาจริงเอาจังกับการบริหารจัดการหนังสืออันทรงคุณค่าอายุกว่า 100 ปี มรดกของเสด็จปู่

ม.ล.สุทธิ์ธรทิพย์ วรวรรณ หรือ คุณหนอ มัณฑนากรหญิงมือหนึ่ง เชี่ยวชาญด้านออกแบบโรงแรม เป็นบุตรีของ ม.ร.ว.วิบุลย์เกียรติ และ ม.ร.ว.ทิพภากร อาภากร

เกิดที่ฝรั่งเศส มีชื่อตามทะเบียนเกิดว่า “นอร่า วรวรรณ” กลับมาประเทศไทยเมื่อตอนอายุได้ 2 ขวบ เข้าเรียนที่โรงเรียนอนุบาลยุคลธร โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย แต่ไม่นานก็ย้ายไปอยู่โรงเรียนนานาชาติอินเตอร์เนชั่นแนลบางกอก (ไอเอสบี) ก่อนจะถูกส่งไปศึกษาต่อที่โรงเรียนเบย์พาร์ท จูเนียร์ คอลเลจ ที่บอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์

Advertisement

“แม่อยากให้ลูกเรียนโรงเรียนหญิงล้วน แต่หนออยู่ได้ 2 ปีก็ย้ายตัวเองไปอยู่ที่ ซีราคิวส์ ยูนิเวอร์ซิตี้ ที่นิวยอร์ก มหาวิทยาลัยที่เก่งด้านอินทีเรียเป็นอันดับ 2 ของประเทศ โดยมีอา (ม.ร.ว.วิวรรณ วรวรรณ เศรษฐบุตร) ส่งเสียให้จนเรียนจบ”

ทำงานได้ระยะหนึ่งจึงตัดสินใจกลับเมืองไทย เพราะท่านยาย (ม.จ.ดวงทิพย์โชติแจ้งหล้า อาภากร) ไม่ค่อยสบาย

“หนอกลัวที่สุดในชีวิตคือ กลัวว่ายายตายแล้วหนอไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่กับยาย กลับมาอยู่เมืองไทย ปี 1989 ทำงานเมืองไทยตลอด เพิ่งมา 2 ปีหลังที่ไปดูไบ”

ชีวิตที่อยู่ในกรอบทุกกระเบียดนิ้ว ไปไหนต้องมีพี่เลี้ยงไปด้วยตลอดเวลา กระทั่งวันหนึ่งเมื่อต้องเสียพี่ชายคนเดียวไป ทำให้เธอลุกขึ้นปฏิวัติตัวเองใหม่ สมัครงานเข้าไปเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ที่ไม่เคยชอบไม่เคยคุ้นกับบริษัทที่โหดหินเป็นที่สุด นั่นทำให้เธอแกร่งทางด้านวิชาความรู้

ขณะเดียวกันด้วยหัวใจที่ได้รับการหล่อหลอมให้คิดเป็น วางตัวเป็นจากเสด็จปู่ ทำให้เธอเป็นเช่นทุกวันนี้

เพิ่งกลับมาจากดูไบเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมา?

จริงๆ ทำงานอยู่เมืองไทยกับบริษัท ลีโอ อินเตอร์เนชั่นแนล ดีไซน์ เจ้าของบริษัทคือ คุณคงศักดิ์ ยุกตะเสวี ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ ปีนี้ ทำอินทีเรียอาร์คีเท็กเจอร์ให้กับโรงแรม คอนโดมิเนียม ฯลฯ

โปรเจ็กต์นี้ (โรงแรมเอมเมอรัลด์ พาเลซ เคมปินสกี้ ดูไบ) เริ่มตั้งแต่ปี 2012 ทำแบบเสร็จไปเมื่อปี 2014 เจ้าของเป็นคนยูเครนค่อนข้างจะมาเฟีย เปลี่ยนแบบไปมา ทั้งๆ ที่แบบเสร็จแล้ว เพราะเจ้าของยังอยากเปลี่ยนแบบอีก เราจึงถอนตัวออกมา และตอนนั้นเขายังติดเงินเราเป็นล้าน ปี 2016 เขาติดต่อมาอีกให้ไปดูแบบแก้ให้หน่อย เพราะที่ผ่านมาเขาหาคนมาทำไม่ได้ หนอบอกว่าหนอกลับไปได้ แต่ต้องจ่ายเงินที่ค้างไว้ 1.4 ล้านบาทให้นายหนอก่อน เขาจ่ายเลยวันรุ่งขึ้นหลังจากติดมา 2 ปี ก็เลยต้องไป

ส่วนตัวไม่อยากทำงานด้วย ถ้างานนี้จบมันจะเป็น “เลกาซี่” หนอมีความตั้งใจให้จบให้ทิ้งไว้ว่านี่คืองานชิ้นใหญ่ชิ้นสำคัญของบริษัทเรา เลยบอกว่าจะไปดูก่อนเพราะทิ้งมา 2 ปี ปรากฏว่ากะว่าจะไป 3 วัน แต่ต้องอยู่ 3 อาทิตย์

ผลงานการออกแบบที่โรงแรมเอมเมอรัลด์ พาเลซ เคมปินสกี้ ดูไบ

ทำไมคุณแดงจึงส่งคุณหนอไปรับงานนี้?

หนอเป็นคนแข็ง เป็นคนจัดการลูกค้าต่างประเทศที่ยากๆ ให้คุณแดงทั้งหมด เพราะ 1.ภาษาหนอ 2.บุคลิกหนอที่ไม่กลัวใคร หนอโชคดีที่เวลานายให้งานจะเป็นโปรเจ็กต์ที่ใหญ่และสำคัญมากเท่านั้น และเป็นลูกค้าที่ยากจริงๆ หนอจะแฮนเดิลลูกค้าที่เป็นอาร์เมเนีย ที่เซนต์รีจิส เมืองมอสโก ก็ทำจนจบมาแล้ว บาทูมี ประเทศจอร์เจีย ลูกค้าที่กาต้าร์ มิดเดิลอีสต์ เป็นเช็ก เป็นอะไรก็ทำจบมาแล้ว

คือหนอคิดว่า ครอบครัวตระกูลหนอปลูกฝังมาให้ความเป็น diplomatic ไว้ได้ดีเลิศมาก ความที่เราค่อนข้างรู้จักการวางตัว ไม่ก้มให้เขาจนเกินไป ไม่ใหญ่กว่าเขา

คนจะคิดว่าการเป็นเจ้าต้องทำตัวอยู่เหนือคนอื่น แต่สิ่งที่เราได้รับการปลูกฝังมา ไม่ใช่ เราเป็นเจ้าเราต้องรู้จักวางตัว เราต้องเข้าใจคนอื่นอย่างถ่องแท้ว่าเขามีรากฐานของความเป็นมนุษย์ต่างจากเราอย่างไร

การที่หนออยู่ดูไบ คุมคนรัสเซีย ปากีสถาน อินเดีย เลบานอน ปาเลสไตน์ อียิปต์ได้ เพราะว่าหนอต้องทำได้ดีกว่าเขา คือหนอต้องมีความรู้ บางอย่างที่หนอไม่รู้ก็จะบอกว่าไม่รู้ ทำไม่เป็น จะพูดกันตรงๆ อย่างงานปิดทอง หนอทำให้ดูเลย

งานปิดทองนี่เทคนิคของไทย? เรียนรู้จากที่ไหน?

งานปิดทองทำเป็นเพราะเคยซ่อมวัด ตอนอายุ 20 กว่า ถูกส่งไปทำงานกับสมเด็จพระพี่นางฯ (สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์) ซ่อมวัดเป็นงานแรกที่วัดราชบพิธ ท่านทรงสอนหนอหลายสิ่งมาก บอกว่าองค์สถูปอยู่ด้านนอกต้องย้ายเข้ามาอยู่ด้านใน แต่มันเป็นหินใหญ่ รู้หรือเปล่า หนอบอกว่าเห็นแล้วว่าเป็นหินใหญ่แบบคอลัมน์ 4 ก้อน ต้องยกสถูปออกแล้วประกอบใหม่

สมเด็จพระพี่นางฯ ทรงถามหนออย่างเดียวว่า ถนนตรงนั้นวิ่งวันเวย์กี่โมง เพราะต้องใช้เครน และที่นั่นก็ได้เรียนรู้กระบวนการปิดทอง พอไปอิตาลีหนอก็ให้เขาสอน เป็นปรมาจารย์การปิดทอง บางอันเป็นทา ไม่ได้ใช้สีทอง แต่เป็นการเอาทองเปลวมาละลายเพื่อให้เข้าไปในซอกเล็กๆ ได้ ถ้าดำเกินไปต้องเอาทองแตะเป็นจุด

เสด็จปู่ในความทรงจำ?

เป็นคนตัวหอม ผิวเนียน ยิ้มตลอดเวลา แล้วมือสวยมาก ท่านไม่มีคอนฟลิกต์กับใคร เป็นคนที่วางตัวอยู่ตรงกลางได้ดีทุกสถานการณ์ ไม่ว่าจะเครียดแค่ไหน ท่านจะยิ้ม แล้วคอยสอนว่า เราเป็นเจ้าแต่เราต้องทำตัวของเราให้ติดดิน ทำตัวให้เป็นกลาง และพยายามเข้าใจคนให้มากที่สุด คำว่า “เข้าใจคน” คือการวางตัวให้ดีในทุกสถานการณ์ การเป็น diplomatic โมโหอะไรต้องเก็บไว้คิดก่อน นิ่งๆ ไว้ก่อน และทำตัวเป็นกลาง เราต้องมีจุดยืนของเรา แต่เราไม่จำเป็นต้องแสดงตัวว่าเป็นศัตรูกับใคร

นี่คือสิ่งที่ทำให้รอดจากทุกอย่าง ทุกสถานการณ์ หนอไม่มีศัตรู ไม่ว่าในไทยหรือในเมืองนอก จะอยู่ในดงที่มีความขัดแย้งกัน หนอไม่เคยขัดแย้งกับใครเลย

อย่างหนึ่งเสด็จปู่สอนหนอแล้วหนอจำได้คือ Don’t judge a book by its cover. ดูคนแต่ละคนในสิ่งที่เขาทำกับเรา นี่สำคัญมาก

ท่านปู่เปิดหนังสือพิมพ์ประชาชาติด้วย ท่านได้เล่าอะไร?

ไม่เคยพูดถึง แต่รู้ว่าปู่เป็นนักหนังสือพิมพ์ ปู่ทำงานตลอดเวลา ถ้าท่านไม่เสด็จงานที่จุฬาฯ หรือธรรมศาสตร์ ท่านก็ไปทำหน้าที่เป็นรองนายกรัฐมนตรี เวลาอยู่บ้านท่านก็จะมีคนทำหนังสือพิมพ์ประชาชาติมานั่งรอ

ท่านใช้ชีวิตที่เรียบง่ายมาก หนอไปกี่ทีก็เห็นท่านอยู่ชั้นบน เป็นห้องทรงงาน ซึ่งหนอชอบมาก มีโต๊ะเขียนหนังสือ มีรูปเสด็จชวด (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์) ที่หนอชอบที่สุด และประทับใจมาก คือ ห้องน้ำ เพราะเสด็จปู่จะเป็นคนที่ชอบแช่น้ำและเขียนหนังสือ บนอ่างอาบน้ำจะมีที่วางหนังสือ หนังสือเยอะมาก ทุกแห่งคือห้องสมุด เวลาไปในห้องทรงงาน หนอชอบไปเดินดู สวย หนอชอบมาก จำได้แม้กระทั่งแสงที่เข้ามาในห้องนั้น

สิ่งที่อยู่รายรอบ วังต่างๆ มันหลอมเข้าไปอยู่ในตัวคุณหนอทั้งหมด มีความเป็นไทย?

ถ้าถามว่าหนอมีความเป็นไทยในการเป็นอาคิเต็กไหม ไม่เลย เพราะว่าเราไม่ได้อยู่แบบนั้น บ้านเสด็จปู่ก็เป็นบ้านทรงฝรั่งหมด แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้หนอเป็นคือ หนอเป็นนักอนุรักษ์ ถ้าคนจ้างหนอให้ไปรีโนเวตบ้าน หนอจะไม่แนะนำให้เขาทุบทิ้งทั้งหลัง นี่คือข้อดีซึ่งลูกค้าบอก เวลาที่เข้าไปบ้านไหนก็ตามต่อให้เก่าโทรมมากแค่ไหน หนอจะดูว่าบ้านหลังนั้นพูดอะไรกับหนอ หนอเข้าไปจะเห็นเลยว่าตรงไหนมีประวัติที่สวยงามและอนุรักษ์ไว้ได้ ตรงไหนควรจะทุบทิ้ง ตรงไหนควรจะแต่งอย่างไร ถึงแม้บ้านที่หนอไปอนุรักษ์จะไม่ใช่บ้านเก่าโบราณ แต่เมื่อเข้าไปแล้วเราจะรู้ว่า “หัวใจของบ้าน” อยู่ตรงไหน แล้วหนอก็จะเก็บเอามาทำ

จุดเปลี่ยนในชีวิต?

จุดพลิกผันที่ทำให้หนอแข็งแกร่งอย่างทุกวันนี้คือ พี่ชายหนอตาย ไม่งั้นจะไม่มีวันลุกขึ้นหันมามองชีวิตในอีกมุมหนึ่ง คนเราเกิดมาดี มีสตางค์ ทำงานเก่ง แค่ส่วนหนึ่งในชีวิต คนเราต้องมีเลกาซี่ ต้องทิ้งอะไรไว้ข้างหลังให้รู้ว่าเราทำอะไร เหมือนเสด็จปู่ที่ทำให้กับประเทศชาติมากมาย

พอพี่ชายเสียชีวิต หนอมีความรู้สึกว่าคนเราบทจะตายก็ตาย ขนาดมีคนช่วยเต็มที่ขนาดนี้ คำว่า self modification ผุดขึ้นมาในหัว เราต้องปรับปรุงตัวเราให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ หนอเป็นคนที่ All or Nothing คือ ได้ต้องได้ให้หมด เสียก็ยอมเสียหมด หนอต้องการจะปรับตัวเอง ไปทำงานในบริษัทที่ท้าทายที่สุดในชีวิต ไปสมัครบริษัท โบมองท์ พาร์ทเนอร์ชิพ เป็นบริษัทของคนออสเตรเลีย สตริคมาก ต้องสแกนนิ้วมือ ทุกอย่างเป็นไอเอสโอ 2001 จากคนที่ไม่รู้ด้านคอมพิวเตอร์กลายเป็นเก่งเลย ถ้าไม่มีบริษัทนี้หนอคงไปคุมคนที่ดูไบไม่ได้ขนาดนี้ เพราะหนอได้ทั้งความชำนาญด้านการเงินและการจัดการ อยู่ 1 ปีแล้วลาออกตามความตั้งใจ พอดีคุณแดงหาคนอยู่ เลยไปทำกับคุณแดง จนกระทั่งไปอยู่ดูไบ

ผลงานการออกแบบที่โรงแรมเอมเมอรัลด์ พาเลซ เคมปินสกี้ ดูไบ

กลับมาจากดูไบตอนเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา มาเริ่มต้นใหม่?

ที่บอกว่าเริ่มต้นใหม่ เพราะมีสิ่งที่จะทำส่วนตัวที่สำคัญกว่าทุกอย่าง และปล่อยให้รอมานานมาก นั่นคือ การดูแลมูลนิธิของทางวรวรรณ และการดูแลงานของเสด็จปู่ หนอเป็นอินทีเรียประสบความสำเร็จในการทำงานของหนอ ตอนนี้เสด็จปู่คือสิ่งที่สำคัญที่สุด เราไม่ต้องพิสูจน์ว่าเราเก่งอีกแล้ว แต่ต้องพิสูจน์ว่าสามารถดูแลทรัพย์สมบัติชื่อเสียงของเสด็จปู่ได้ไหม

กับรางวัลนราธิปได้เข้าไปดูแลส่วนไหน?

การมอบรางวัลนราธิปมีคณะกรรมการอยู่แล้ว ซึ่งอาหญิงวิวรรณเป็นคนเสนอให้ลดอายุคนรับรางวัลจาก 80 ปี เหลือ 75 ปี เพราะกลัวว่าจะเสียชีวิตก่อน อาหญิงเข้าไปเพราะจะให้หนอดูว่านี่คือส่วนหนึ่งที่หนอจะต้องดูแล คืออย่าทิ้งเรื่องงานเขียนหนังสือของเสด็จปู่ เพราะเสด็จปู่ทรงประพันธ์อะไรไว้มาก เรื่องเอกสารงานวิชาการนั่นเรื่องหนึ่ง และตอนนี้ยังมีเรื่องหอสมุดนราธิป ใช้ชื่อว่า “ศูนย์นราธิปเพื่อการวิจัยสังคมศาสตร์” ซึ่งตอนนี้ได้ย้ายมาอยู่ตรงวัดมหาธาตุ ตัวอาคารเป็นอาคารอนุรักษ์ของกรมศิลปากรซึ่งคงทำอะไรมากไม่ได้ แต่ข้างในทำได้เต็มที่

ข้อสำคัญคือเมื่อ 40 ปีก่อนเสด็จปู่เคยถวายหนังสือให้กับสมเด็จพระเทพฯ และสมเด็จพระเทพฯ พระราชทานไปใส่ไว้ที่นี่ ตั้งชื่อว่าหอสมุดนราธิป แต่หนังสือที่เอาเข้าไป ปัจจัยหนึ่งหนอคิดว่าหอสมุดแห่งชาติน่าจะไม่มีงบประมาณ หรือไม่มีเครื่องมืออุปกรณ์ที่จะทำอะไรได้เต็มที่ หนอเข้าไปดูหนังสืออยู่ในสภาพค่อนข้างแย่ หนอเป็นคนที่รักหนังสือมาก (เน้นเสียง)

หนอโตมากับหนังสือ เสด็จปู่จะให้เอ็นไซโคปิเดียเป็นเซตเลย ให้ไปอ่านแล้วมาเล่าให้ฟัง เสด็จปู่บอกว่าพ่อจำเอ็นไซโคปิเดียได้เป็นเล่มเลยนะ หนอบอกแย่ละ (หัวเราะ) ยังให้หนังสืออ่านเล่น แบล๊กบิวตี้ วอเทอร์ เบบี้ส์ ฯลฯ ที่เป็นวรรณคดีของอังกฤษ หนอมีทุกเล่มเลย หนอเลยมีความรักหนังสือโบราณ พอไปที่นั่นหนังสือห่อพลาสติกเอาไว้ ซึ่งจริงๆ ห่อไม่ได้ บางเล่มเปิดมาเป็นตัวมอด ยิ่งห่อตัวมอดยิ่งกิน หนอเลยบอกว่าถ้าจะอนุรักษ์ต้องอนุรักษ์ตั้งแต่สิ่งที่เราให้เขาไป บางเล่มของรัชกาลที่ 7 บางเล่มอายุ 200 ปี บางเล่มเป็นของสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ จากห้องสมุดส่วนพระองค์ หนอเลยโทรศัพท์หาอาจารย์จิราภรณ์ อรัญยะนาค พาไปดู อาจารย์ถามว่าคุณจะเรียนกับอาจารย์ไหมเรียนเป็นปริญญาโทเลยนะ เป็นผู้ชำนาญการด้านการอนุรักษ์ นี่เป็น chapter ใหม่ของชีวิต (หัวเราะ) ชอบค่ะ

โครงการปรับปรุงหอสมุดนราธิป?

การปรับปรุงที่หอสมุดนราธิปคือเงินส่วนตัวของท่านผู้หญิงวิวรรณ หนอจะทำให้เป็นมิวเซียม เกี่ยวกับอัตชีวประวัติของกรมพระนราฯ เสด็จชวด และเสด็จปู่กรมหมื่นนราธิปฯ เข้าไปจะมีฮอลล์ออฟเฟม มีจอทัชสกรีนแสดงประวัติทั้งสองพระองค์ แสดงชุดเสื้อครุยว่าท่านได้จากไหนมา มีโต๊ะทำงาน หนังสือทรงงาน และหนังสือที่กรมหมื่นนราธิปฯให้ รวมทั้งการบัญญัติศัพท์ต่างๆ จะมีทั้งหนังสือของท่านย่าและท่านยายบางส่วนด้วย เพื่อให้คนที่สนใจได้ดู เนื่องจากหนังสือส่วนมากอายุ 100-200 ปี โดนมือคนไม่ได้ ก็จะทำตู้เก็บ และจะสแกนให้ดาวน์โหลดไปอ่านได้ แต่ตอนนี้ต้องซ่อมก่อน ซึ่งคำว่า “ซ่อม” หมายถึงการอนุรักษ์ให้คงอยู่ในสภาพแข็งแรง แต่จะไม่ทำให้ใหม่ขึ้น ยังคงเป็น authentic antique look

โครงการนานกี่ปี?

ทีแรกอาบอกว่าให้ทำเสร็จใน 5 เดือน (หัวเราะ) แต่ตอนหลังอาเริ่มรู้ว่ามีมากแค่ไหน หนอจะใช้เวลา 6 เดือนในการเปิดหอสมุดนราธิป แต่จะมีหนังสือบางส่วนที่เสร็จ จะเลือกประมาณ 7-10 เล่มก่อน เพราะเรื่องนี้ระยะยาว

หนออยากจะทำอีบุ๊ก เพราะการทำหนังสือเล่มได้โปรโมตแต่หนอนหนังสือคนระดับอายุ 60 ขึ้นไป แต่มันต้องเจาะที่กลุ่มเด็ก ต้องดึงความเป็นไทยออกมา เราถูกปลูกฝังมาอย่างนี้ ทั้งๆ ที่เราก็เรียนเมืองนอกตลอด ถ้าย้อนกลับไปดูเสด็จปู่ท่านจบออกซ์ฟอร์ด ท่านเก่งภาษาบาลี ภาษากรีกโบราณ ภาษาโรมัน แต่ท่านเอามาใช้กับภาษาไทย อย่างรัฐธรรมนูญ แปลมาจาก constitution แปลว่ากฎหมายสูงสุด “ธรรมนูญ” คือกฎหมายสูงสุด “รัฐ” คือการรวมหมดทุกอย่าง ศัพท์เหล่านี้แปลมาจากภาษารากเหง้า รากศัพท์ของอังกฤษทั้งนั้น แล้วเอามาแปลกับบาลีสันสกฤต ออกมาเป็นภาษาไทย

หนอไม่อยากให้สิ่งเหล่านี้หายไป จะน่าเสียดายมาก หนอมีโอกาสเข้าเฝ้าฯพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 กับท่านผู้หญิงวิวรรณบ่อยครั้ง ท่านทรงสอนเลยว่า ศัพท์ต้องใช้อย่างไร และสอนว่าอย่าใช้ผิดนะ อย่าให้ภาษาไทยวิบัติ เราเป็นลูกเป็นหลานสมเด็จในกรมต้องช่วยดูเรื่องภาษาไทยต่อไป นี่คือสิ่งที่เราจำไว้เลย


กับลูกชาย-ชวิศ อ่องจริต และลูกสาว-ฐิตาภา วรวรรณ

เฟมินิสต์
ในแบบ ม.ล.สุทธิ์ธรทิพย์ วรวรรณ

ในความเป็นผู้หญิงเก่งผู้หญิงแกร่งผู้หญิงนักสู้ เมื่อถามถึงเส้นทางชีวิตกว่าจะมาเป็นมัณฑนากรหญิงแถวหน้าของเมืองไทย ม.ล.สุทธิ์ธรทิพย์ เฉลยว่า

จริงๆ ผู้หญิงบ้านหนอเก่งทุกคน หนอมาจากครอบครัวที่ผู้หญิงสุดยอด หนอเห็นตัวอย่างที่แข็งแกร่งมาตลอด ในชีวิตมีผู้หญิงที่ใกล้ชิดมากที่สุด 3 คนคือ แม่ (ม.ร.ว.ทิพภากร อาภากร) อา (ม.ร.ว.วิวรรณ วรวรรณ เศรษฐบุตร) ท่านยาย (ท่านหญิงดวงทิพย์โชติแจ้งหล้า อาภากร) แม่หนอเป็นผู้หญิงที่สุด เป็นนางสนองพระโอษฐ์พระนางรำไพ (สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี) แต่งตัวสวยตั้งแต่หัวจรดเท้า หอมกรุ่นสะอาด พูดได้หลายภาษามาก ฝรั่งเศส เยอรมัน อังกฤษ ฯลฯ เพราะแม่โตที่สวิตเซอร์แลนด์ เป็นผู้หญิงที่สมองไวที่สุด พูดภาษาหนึ่งถ้าไม่เข้าใจสามารถเปลี่ยนเป็นอีกภาษา มีความเป็นผู้หญิงมาก ทำกับข้าว เย็บผ้าปักผ้า ถักนิตติ้งโครเชต์ แต่หนอไม่ได้เลยสักอย่าง

ตอนเด็กๆ หนอต้องไปเรียนทำกับข้าวกับท่านยาย ทุกวันอาทิตย์ แต่หนอมีพี่เลี้ยงชื่อจ๋า รักหนอที่สุด คอยช่วยทำให้ทุกอย่าง โตขึ้นมาเป็นคุณหนูที่สุดในโลก จนเรารู้สึกว่าเราไม่ใช่แบบนี้ เราเป็นคนลุย อยากออกไปฟันฝ่าในชีวิต

ส่วนอา-ท่านผู้หญิงวิวรรณ เก่งมากด้านภาษา เรื่องการงาน เราได้รับการปลูกฝังมาว่าเราไม่จำเป็นต้องเรียนดีเรียนเก่งเหมือนคนอื่น คนสมัยก่อนถ้าเรียนเก่งต้องเรียนแพทย์ ที่บ้านบอกไม่ใช่ คนเรามีเก่งหลายอย่าง ให้เก่งอย่างที่เราจะเป็นแล้ว “เก่งให้สุด” อาเป็นนักการทูต พ่อเป็นนักการทูต ส่วนหนอเป็นอาร์ติสต์

ถามว่า ได้ความเป็นศิลปินจากแม่?

(ยิ้มละไมก่อนจะตอบว่า) แม่เป็นคนวาดรูป เป็นคนแรกๆ ที่ทำผ้าบาติกในประเทศไทย แม่ทำผ้าบาติกให้สมเด็จฯใส่ เป็นผ้าไหม ลายดอกไม้ แม่วาดรูปเก่งมาก แต่แม่วาดแต่รูปดอกไม้ แต่หนอไม่ชอบดอกไม้ ไม่ชอบอะไรที่หวานแหว๋ว แม่สอนให้หนอวาดรูปดอกไม้เยอะมาก พุทธรักษา ดอกกุหลาบ เยอบีร่า ฯลฯ

แต่ความที่เป็นเด็กแหวกแนว แม่บอกให้ไปคิดลายมา แม่จะทำผ้าพิมพ์เป็นผ้าบาติกขาย แม่ทำเป็นดอกไม้ ส่วนหนอทำรูปมือกับเท้า แม่ก็ทำแล้วขายได้ด้วย แม่ไม่ว่า แต่ถ้านอกกรอบในสิ่งที่แม่ห้าม เช่น ห้ามไปถีบจักรยานบนถนน หนอทำก็โดนตี คือหนอทำทุกอย่างที่ห้าม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image