เปิดใจ ‘ทอม วอลเลอร์’ ผู้กำกับ ‘นางนอน’ โด่งดังจากเสียงวิพากษ์ เบื้องหลังการต่อต้านและวิวาทะ

ภาพจากเฟซบุ๊ก Tom Waller (ทอม วอลเลอร์)

เพราะคำวิจารณ์จากปาก “ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร” ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา อดีตพ่อเมืองเชียงราย ซึ่งเคยสร้างปรากฏการณ์ มิชชั่น อิมพอสซิเบิ้ล ในเหตุการณ์ช่วยชีวิต 13 หมูป่า ที่วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ที่มีต่อ “ทอม วอลเลอร์” ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง “The cave นางนอน” ว่าสร้างหนังที่เนื้อหาไม่ตรงกับเรื่องจริง จนเกิดเป็นกระแสทั่วโลกออนไลน์ ทำให้ The Cave นางนอน ภาพยนตร์ที่สร้างและฉายแถวๆ ปากถ้ำหลวง ซึ่งไม่ใช่ภาพยนตร์ที่ทุกคนรู้จัก กลายเป็นผลงานที่ได้รับความสนใจและโด่งดังในช่วงเวลาข้ามคืน จนเกิดเสียงวิพากษ์จากสังคมอย่างหลากหลาย

และต่อไปนี้คือความในใจของชายที่เป็นที่สนใจที่สุดตอนนี้

กับกระแสที่เป็นข่าวในสัปดาห์ที่ผ่านมา รู้สึกอย่างไรบ้าง?

จริงๆ แล้ว ปกติเราทำภาพยนตร์นอกกระแสครับ (หัวเราะ) ตอนนี้กลายเป็นว่าภาพยนตร์เรื่อง The Cave นางนอน กลายเป็นภาพยนตร์ในกระแสเลย แต่ว่าเราไม่ได้ตั้งใจนะ ในฐานะที่เป็นคนทำภาพยนตร์ เป็นศิลปินเนอะ คือเราไม่ได้ทำสารคดี เราทำภาพยนตร์ ตั้งใจสร้างเป็นภาพยนตร์ ซึ่งทำให้คนยังสงสัยอยู่เลยว่า ที่สร้างนั้นมาจากข้อมูลจริงหรือว่าไม่จริง จริงๆ แล้วมันมาจากข้อมูลจริงครับ แน่นอนครับ คือเรามีหลักฐานตรงนี้ เพราะ จิม วอร์นี่ นักดำน้ำชาวเบลเยียม เขาก็แสดงในภาพยนตร์เรื่องนี้ ถ้าข้อมูลนั้นไม่เป็นความจริง จิมเขาคงไม่แสดงเป็นแบบนั้นนะครับ ก็มีคนมาถาม ว่าจริงไหม คือมันจริงหมดครับ

บทพูดบางประโยคที่กลายเป็นประเด็นขึ้นมา

บทพูดของแต่ละคน ผมไม่ได้เขียนขึ้นเอง ไม่ได้เก่งขนาดเขียนขึ้นเองให้คนร้อนตัว ผมรู้สึกว่าประโยคนั้น คนที่พูดคำนั้น น่าจะรู้เองว่าเขาพูด เราอาจจะโอเค จับมาขึ้นเป็นคำพูดของคาแร็กเตอร์ตัวละคร มันมีคนในเหตุการณ์จริงที่เขาแสดงความคิดเห็นด้วยว่าในภาพรวมของภาพยนตร์ เขารู้สึกว่ารายละเอียดที่มันอยู่เบื้องหลังของแต่ละบุคคลที่้เราเอ่ยถึง มันเหมือนมาก แต่ที่เขากังวลว่า ทำไมเราแค่เจาะเรื่องของ จิม วอร์นี่ นักดำน้ำชาวเบลเยียม และของผู้ใหญ่ ทำไมมีแค่นี้ เพราะว่าเรื่องลิขสิทธิ์ คือมันต้องถูกต้อง

Advertisement

ประเด็นลิขสิทธิ์ทำให้ไม่สามารถเล่าเรื่องบุคคลสำคัญบางคนในเหตุการณ์ได้?

มีคนถามว่าทำไมไม่พูดถึง หมอริชาร์ด แฮร์ริส นักดำน้ำผู้ฟันธงทีมหมูป่าพร้อมออกจากถ้ำ ทำไมเขาไม่มีบทเด่นเลย มีแค่ไม่กี่วินาทีในภาพยนตร์ หมอริชาร์ด แฮร์ริส เป็นคนที่สำคัญในเรื่องก็จริงนะครับ แต่ว่าเราเลือกที่จะไม่เล่า เพราะว่าเราไม่มีลิขสิทธิ์ เขาเซ็นขายลิขสิทธิ์ให้คนอื่นไปแล้วเรียบร้อย เขาทำเป็นหนังสือ ถ้าจะเล่ารายละเอียดเกี่ยวกับตัวเขา ต้องสร้างตามหนังสือที่เขาเขียน แต่ว่ามีคนอื่นที่ผมสนใจไหม มีครับ แต่ว่าไปถึงเขาไม่ได้ อย่างเช่นเด็ก 13 ชีวิตนี่เจาะลึกไม่ได้เลย เพราะว่ารัฐบาลเก็บไว้เป็นลิขสิทธิ์ที่จะขายให้เมืองนอก ผมก็ยังสงสัยเลยว่า ทำไมรัฐบาลต้องขายลิขสิทธิ์ให้ต่างประเทศเท่านั้น ทำไมคนไทยนำมาสร้างภาพยนตร์ไม่ได้ ผมก็เลยแปลกใจ ถ้าอย่างนั้นเราไม่ยุ่งเลยดีกว่า ผมจะเอาแต่ข้อมูลที่เป็นสาธารณะมาใช้แล้วกัน เราก็ไปประชุมกับกระทรวงวัฒนธรรม ว่าตกลงที่ผมทำมันถูกต้องใช่ไหม ทางกระทรวงวัฒนธรรมบอกว่าถ้าเป็นข้อมูลสาธารณะเขายินดี มันเป็นข้อมูลที่ออกมาทางข่าวสารที่เราสามารถเล่าเรื่องได้เลย เพราะทางกระทรวงก็แจ้งว่าไม่ได้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์นะ ทางกระทรวงก็ฝากเรื่องเราไว้กับบริษัท บริษัท 13 ถ้ำหลวง จำกัด ที่ดูแลน้องๆ โดยตรง เขาก็เลยบอกตรงๆ ว่า เขาเราจะสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ให้มันตามกฎหมายแล้วกัน เขาบอกแค่นั้นเลย

มีวิธีหาข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์อย่างไร?

ดูจากข่าวเลย ข่าวออนไลน์เป็นหลัก ว่าใครออกมาให้สัมภาษณ์อย่างไร เราก็สัมภาษณ์จิมด้วย ว่าข่าวที่ออกมามันจริงไหม อันนี้ไม่ใช่อย่างที่เขาบอกว่าไม่จริง เขาก็แย้งเลย พร้อมชี้แจงว่า ตอนนำน้องๆ ออก มีนักดำน้ำประกบคนเดียว ไม่ใช่ 2 คน แล้วก็รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่ข้อมูลที่นำเสนอ และข้อมูลจริงมีความคลาดเคลื่อน

Advertisement

จริงๆ ภาพยนตร์ของเราคือ ดราฟที่สองนะ เพราะดราฟแรกที่ถ่ายมามีข้อมูลที่ผิดพอสมควร ไม่มีใครรู้ ผู้สื่อข่าวก็ยืนอยู่นอกถ้ำ ข้างในถ้ำก็นักดำน้ำทีมนี้ ดราฟแรกก็อาจเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้องก็ได้ เหมือนเนินนมสาว ก็สรุปว่าไม่มี แต่ว่าเราไม่จำเป็นต้องแก้ข้อมูล เพราะในนาทีนั้นข้อมูลมันเป็นแบบนั้น ในนาทีที่ผู้สื่อข่าวมายืนรายงานหน้าถ้ำ เขาก็ยืนรายงานด้วยข้อมูลนั้น เลยคิดว่าไม่จำเป็นต้องเปลี่ยน เราไม่มีสิทธิที่จะมาเปลี่ยนข้อมูล เชื่อว่าคงมีคนอยากแก้ข้อมูลให้ถูกต้อง แต่เราไม่ได้โฟกัสตรงนั้น มันไม่ใช่สารคดี เวลาดูภาพยนตร์โดยการเข้าไปถึงเรื่องราวเราต้องการถ่ายทอดในส่วนของนักดำน้ำ คนอาจบอกว่าเรื่องส่วนนักดำน้ำไม่ใช่เรื่องราวที่เขาอยากจะดู ก็ไม่เป็นไร ก็รอให้คนอื่นสร้างภาพยนตร์ส่วนนี้ เพราะว่าก่อนจะสร้างออกมา มันยากเหมือนกัน เราก็ต้องเลือก เราไม่สามารถเอาทุกอย่างมาใส่ในภาพยนตร์ 1 ชั่วโมง 40 นาทีของเราได้ เป็นไปไม่ได้

ตอนนี้มีทั้งคนที่ไม่พอใจที่มีเขาในภาพยนตร์และไม่พอใจที่ไม่มีเขาในภาพยนตร์?

เขาก็แบบ “อ้าว ทำไมบทผมไม่มีล่ะ ผมอยู่ตั้งนาน ตั้งแต่วันแรก อยู่นานกว่าจิมอีก มันมีแบบนี้ด้วยครับ” มันมีอยู่แล้วครับ เป็นเรื่องธรรมดา มีหลายหน่วยงานที่ช่วยเหลือ แต่ว่าเราไม่สามารถใส่ได้ทั้งหมด เราขายเรื่องว่า มีคนหนึ่งไปเจออุปสรรคอย่างนี้ แล้วเขาจะแก้ปัญหาอย่างไร เขาก็อยู่มาสักพัก จนอยากจะกลับบ้านแล้ว ไม่ไหวแล้ว พยายามช่วยแล้วทำไมไม่ได้ แต่ว่าญาติคนหนึ่งของเด็กหมูป่าโทรศัพท์มาขอให้กลับไป แล้วเขาออกมาจากเชียงรายแล้ว ถึงแพร่แล้ว ผมเองก็สงสารคนขับรถเลยนะ ขับมาไกลมากแล้ว

มีข้อมูลลับที่หาไม่ได้ด้วย?

หน่วยซีลนี่ห้ามเลย เราไม่พูดถึงเลย เพราะเราไปพูดถึงการทำงานของเขาไม่ได้อยู่แล้ว ขนาดตอนเขามาปฏิบัติงานแล้วผู้สื่อข่าวจะถ่ายภาพยังต้องเบลอหน้าเขาเลย ทุกอย่างเป็นความลับ แต่ว่าใครจะไปเอาข้อมูลมาได้ ผู้ว่าฯณรงค์ศักดิ์ก็บอกว่าทำไมไม่ปรึกษาผม ทำไมไม่ปรึกษาหน่วยงานของเรา แล้วมีตั้งกว่า 20 หน่วยงาน คิดว่ามันจะง่ายหรือ คือมันไม่ง่ายเลย ถ้าจะมาดูว่ามันยากขนาดไหน อยากให้มาดูตอนที่เราเอาข้อมูลนี่มา มันไมง่ายที่จะมาขอพบผู้ว่าฯ เราพยายามอยู่แล้ว แล้วถ้าต้องเข้าหาทุกหน่วยงาน เราคงไม่ได้สร้างภาพยนตร์ในปีนี้ ต้องรอไปเรื่อยๆ

ผู้ว่าฯณรงค์ศักดิ์สะท้อนว่าเราไม่ได้เล่าความจริง ?

เขายังไม่ได้ดูหนังเลย จะมาพูดแบบนี้ได้อย่างไร ผมเข้าใจว่าอาจมีคนบอกท่านแต่ว่าไม่เหมือนดูเอง ถ้าดูเองแล้วมาวิจารณ์เรา ตอนนั้น เราโอเค เพราะว่าเราเป็นทีมสร้างภาพยนตร์ เราเจอมาเยอะ ทุกวันนี้ยังมีคนมาวิจารณ์ภาพยนตร์เราว่าไม่ชอบตรงนั้น ไม่ถูกใจตรงนี้ ซึ่งมันก็เป็นเรื่องปกติ

แต่ผมเสียใจนิดหนึ่งที่ผู้ว่าฯท่านพูดอยู่ 20 นาที ทำให้คนที่รักผู้ว่าฯณรงค์ศักดิ์เขาเกลียดงานเรา ผมว่าอันนี้มันไม่แฟร์ จริงๆ แล้วเราก็เป็นแค่คนทำภาพยนตร์ อยากให้เขาไปดูก่อนจะตัดสิน หากคุณจะตัดสินใจจากการที่ท่านผู้ว่าฯณรงค์ศักดิ์ ไม่เห็นด้วย แล้วคุณก็เลยไม่เห็นด้วย ผมว่าแบบนี้มันไม่แฟร์นะ ถ้าผู้ใหญ่ในเหตุการณ์นี้เขารู้สึกว่ามันผิดหมด คุณคิดว่าทางกระทรวงวัฒนธรรมจะให้เราฉายได้ไหม อันนี้ผ่านเขามาแล้ว เราทำภาพยนตร์ครับ คุณดูแล้ววิจารณ์ได้ แต่อยากให้คุณตัดสินหลังจากรับชมแล้ว ตอนนี้มีหลายคนบอกว่า ถึงอย่างไรก็ไม่ดู เพราะว่าท่านผู้ว่าฯบอกว่าไม่ดี

ภาพจากเฟซบุ๊ก Tom Waller (ทอม วอลเลอร์)

ประโยคกระแทกใจผู้ชมที่ว่า ‘กลับไปเก่งที่นครปฐม’มาจากไหน?

คือ อาจารย์อดิสรณ์ ศิรินันทพร เป็นชาวนครปฐม แต่ว่าปั๊มน้ำมาจากเพชรบุรี คือผู้ใหญ่คนนั้นที่เป็นเจ้าหน้าที่ เขาได้พูดกับอาจารย์อดิสรณ์จริงๆ เขาอาจจะทะเลาะกันตรงนั้น ผมไม่รู้นะ ผมได้บทตรงนี้มาจากอาจารย์อดิสรณ์ เขาพูดว่า เขาโดนแบบนี้

จะมีโอกาสได้เจรจากับผู้ว่าฯณรงค์ศักดิ์อีกไหม?

ผมเป็นคนสร้างภาพยนตร์ เขาเป็นข้าราชการ พูดง่ายๆ ก็เกี่ยวกับการเมืองด้วยเนอะ ผมก็ไม่อยากจะให้ผู้ว่าฯณรงค์ศักดิ์มาเสียภาพอีก เพราะว่าถ้าเรามาขัดแย้งตรงนี้ มันไม่จบครับ เขาคงไม่เข้าใจความเป็นคนทำาภาพยนตร์ของเรา เพราะเขาก็มองในมุมของเขา เขาก็เป็นผู้ควบคุมที่นั้น เขาเป็นคนประกาศว่า มิชชั่น อิมพอสซิเบิ้ล เป็นคำพูดเขา เรามีในภาพยนตร์อยู่แล้ว เป็นฮีโร่ของเรา เราซื้อภาพจากข่าวมาใส่ในภาพยนตร์ ผมไม่ได้รู้สึกว่ามีผลกระทบต่อตัวของเขานะครับ แต่ว่าเขามาพูดเอง พูดโดยที่ไม่ดูภาพยนตร์ แล้วใครเสียหาย อันนี้คิดกันเอง ถ้าผมเล่าแต่มุมคนไทยช่วย ก็จะมีคำถามว่าอ้าว แล้วคนต่างชาติที่เสียสละกันมาล่ะ มันไม่จบ ถ้าผมโฟกัสแค่นักดำน้ำ ไม่ได้โฟกัสคนอื่น เราก็โดนวิจารณ์ เราก็ว่าเราปรับตรงกลางได้ค่อนข้างดีแล้ว ในมุมมองผม เราก็เล่ามุมที่เกิดขึ้นในเมืองไทยไปก่อน แล้วค่อยมา เรื่องของจิม เพราะเขามาทีหลัง ผมรู้สึกว่าที่เราเล่าเรื่องนี้คนไม่รู้ แต่ว่าเราเจอ เรามีโอกาสได้เห็น เราเลยอยากถ่ายทอดในมุมตรงนั้น

ในขั้นตอนการถ่ายทำมีอุปสรรคอะไรบ้าง?

เราใช้เวลา 4 เดือนถึงจะไปขอถ่ายในถ้ำหลวงได้ และที่ได้คือให้ถ่ายในเวลา 1 วัน ใน 1 วัน ผมถ่ายเก็บช็อตหมดเลย มันยาก เราก็เจออุปสรรคเหมือนคนในหนังนั่นแหละ ผมก็ยกกองไปเชียงราย แต่ว่าถ่ายทำไม่ได้ เราไม่สามารถถ่ายในโลเกชั่นที่เราขอได้ เราไม่ได้ตำหนิใคร มันเป็นเรื่องธรรมดาในเมืองไทย ทำอะไรต้องมีเอกสาร เหมือนมีคนเข้าถ้ำจะเอาเครื่องมือไปช่วยน้องๆก็ต้องมีใบอนุญาต ผมไม่ได้แซวใคร ไม่ได้ทำให้เป็นมุขตลก แต่ว่าเขาเจอแบบนั้นจริงๆ ถามเขาเลย เขาก็ยืนยันว่าจริง จริงๆเราทำเรื่องนี้แยกต่างหากได้เลย เรื่องที่เขาจะเข้าถ้ำอย่างไร อุปสรรคที่เจอทำเรื่องได้เลย แต่มันไม่ใช่ประเด็นของภาพยนตร์

ภาพจากเฟซบุ๊ก Tom Waller (ทอม วอลเลอร์)

ยังมีแง่มุมของหมูป่ามุมไหนที่อยากถ่ายทอดอีกไหม?

เราอยากดูของคนอื่นสร้างมากกว่า เพราะว่าเราไม่ได้มีลิขสิทธิ์ตรงนั้น ให้เขาเถอะ ตอนแรกมันมี 4-5 เรื่องที่จะสร้าง ตอนนี้กลายเป็นไม่มีเลย ตอนแรกคิดว่ามะหลายเรื่อง คนมีหลายคนแบ่งกันชมกันด่า แบ่งกันไป ที่ไหนได้มันมีแค่ของเรา ผมก็โดนหมดเลย ขอบคุณคนที่ชมนะครับ มีทั้งคนที่ให้กำลังใจ ส่งข้อความมาหาผมว่าสู้ๆ แต่ว่าผมคิดว่าไม่ต้องมาสู้ตรงนี้ ผมเป็นศิลปินทำภาพยนตร์ ผมต้องขอโทษที่ไม่ได้ใส่ทุกคน ที่ปฏิบัติงานไปในภาพยนตร์ ผมใส่ไม่ได้ เพราะมีงบที่จะใส่นักแสดงสมทบเป็นหมื่น แต่หลักร้อยยังแย่เลย ไม่มีใครสนับสนุนเราเลยด้วย แต่ขณะเดียวกัน เราขอถ่ายทอดเรื่องงบางคนแต่ว่าเขาปฏิเสธ เขาคอยฮอลลีวู้ดมาซื้อลิขสิทธิ์ คือเราเป็นคนทำภาพยนตร์นอกกระแส เขาอาจไม่สนใจเรา เราไม่ได้เงินสตูดิโอใหญ่ เขาคงคอยแบบฮอลลีวู้ดไหม เผื่อมีผู้กำกับภาพยนตร์เจ๋งๆ คอยก็ได้ แต่ว่าต้องคอยถึงไหนถึงจะมีเรื่องนี้ออกมา ไม่รู้สิ หลายคนปฏิเสธผม เราก็ให้เกียรติกัน

โดยรวมแล้วกระแสที่ออกมาส่งผลดีกับภาพยนตร์อย่างไร?

มีทั้งบวกและลบครับ แง่บวกคือ คนอาจจะดูตัวอย่างภาพยนตร์มากขึ้น แต่ไม่ได้ดันให้คนไปดูในโรงภาพยนตร์นะ บางคนก็ดูเพราะกลัวจะโดนแบน แปลกๆ ดี (หัวเราะ)

 

คทรีน่า กลอส

ส่วนเล็กๆ ของภารกิจยิ่งใหญ่ ‘ทุกคนคือฮีโร่’

ชื่อฝรั่ง หน้าก็ฝรั่ง แต่พูดและฟังภาษาไทยคล่องปรื๋อ นั่นเพราะ ทอม วอลเลอร์ ผู้กำกับคนดังจากหนัง “นางนอน” คือลูกครึ่งไอริช-ไทย มีผลงานคุณภาพมากมายมาก่อนหน้า อาทิ ศพไม่เงียบ อีกทั้งเคยกำกับมิวสิกวิดีโอให้อดีตศิลปินวัยรุ่นชื่อดัง อมิตา ทาทา ยัง กระทั่งมาเปรี้ยงปร้างจากคลิปที่เจ้าตัวถูกอดีตพ่อเมืองเชียงราย ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร วิพากษ์หนังนางนอนกันแลบต่อหน้าต่อตา ก่อนที่ ทอม จะระบายความในใจตอบโต้ด้วยข้อมูลแซ่บซ่า พาให้ชาวเน็ตทั้งฝั่งเชียร์และฝั่งชังโดดร่วมวิวาทะอย่างเมามันส์

ด้านชีวิตส่วนตัว สมรสกับ “คทรีน่า กลอส” หรือ “เคที่” อดีตนางแบบ นักแสดงชื่อดัง ที่หันหลังให้กล้องและแสงไฟ ไปอยู่ในบทบาทเบื้องหลัง รับหน้าที่โปรดิวเซอร์ เตียงบ่าเคียงไหล่สามีจนถึงวันนี้โดยมีลูกน้อยในวัยซน 2 คน เป็นพยานรัก

“สำหรับเราเขาก็เป็นฮีโร่ทุกคนนั่นแหละ” “เคที่” บอกความรู้สึกถึงเหตุการณ์ช่วย 13 หมูป่า โดยย้ำว่า ไม่ใช่คนใดคนหนึ่งเท่านั้น เพียงแต่ว่าฮีโร่ทุกคนที่มีพาร์ตเล็กๆ ในการทำงานใหญ่ๆ บางทีอาจไม่ได้รับความสนใจ หรือไม่เลือกเรื่องของเขามาเล่า

“แต่สำหรับเคที่กับทอม รู้สึกว่าเรื่องพวกนี้ทำให้เราอยากเล่า รู้สึกว่าสวยงาม เรื่องเล็กๆ ที่ผูกกันให้เป็นเรื่องใหญ่ได้ นี่คือเหตุผลที่ทำให้เรามีเรื่องจริงของใครอีกหลายคน เพราะคุณทอมบอกว่า เรื่องจริงของคนเดียวทำไม่ได้ เพราะว่าในความเป็นจริงเขามีร่วมหมื่นคน แต่ถ้าจะเล่าหมด ไม่ได้ เลยต้องเลือกเส้นเรื่องที่เราชอบที่สุด แล้วก็เล่า มาวางผูกกันว่าแบบไหนวางแล้วสวย แบบไหนเราชอบ เลือกเล่าในวิธีที่เราถนัด”

สำหรับขั้นตอนการทำงานนั้น เคที่เล่าว่า ได้เข้าหาหน่วยงานที่คิดว่าดูแลครอบคลุมที่สุด สุดท้ายได้คำตอบกลับมาว่า ภาพยนตร์ The cave “ไม่เข้าข่าย”

“หนังของเราไม่เข้าข่าย ดังนั้น ต้องเลือกว่าจะโฟกัสในเรื่องของเราอย่างไร เลยกลายเป็นที่มาว่านอกจากเราจะได้สิทธิในการเล่าเรื่องของคุณจิม หรือตัวละครหลักอื่นๆ เราคุยกันว่าในการถ่ายทอด ก็ต้องเล่าจากมุมมองของเขา อย่างเราเล่าในมุมของจิม เราก็ต้องเริ่มเล่าในวันที่เริ่มปฏิบัติงาน จะไปเล่าก่อนหน้าก็ไมได้ จิมไม่เจอใคร เราก็ไม่เจอเช่นกัน ในภาพยนตร์ มันก็แค่นั้นเอง มันก็เป็นวิธีการเล่าเรื่องที่เซฟที่สุด

มุมหนึ่งที่เราเลือกว่ามันเป็นมุมนี้น่าจะเป็นมุมที่คนสนใจ

“เพราะไม่ใช่มุมที่มาจากเด็กๆ จากที่เราเห็นในข่าว”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image