มงคลปีใหม่ สนทนาเจ้าอาวาส วัดไทยลุมพินี เนปาล บนแผ่นดินประสูติแห่งพระพุทธเจ้า

พระพุทธศาสนกาลล่วงแล้ว 2563 ปี

เข้าสู่วาระดิถีขึ้นศักราชใหม่

มงคลแห่งชีวิตอันจริงแท้ของพุทธศาสนิกชน อาจไม่ใช่การบวงสรวง หรือพร่ำขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นใด หากแต่เป็นการกระทำคุณงามความดีต่อเพื่อนมนุษย์โดยไม่จำกัดเชื้อชาติ ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ

วัดไทยลุมพินี ประเทศเนปาล อารามสำคัญที่ลงหลักปักฐานบนผืนแผ่นดินอันเป็นสถานที่ประสูติของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ เมืองลุมพินี ไม่เพียงเผยแผ่หลักธรรมคำสอนขององค์พระศาสดาให้ขจรขจาย ทว่า ยังมีกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ต่อสาธุชนและผู้คนอีกมากมาย

Advertisement

ท่ามกลางความงดงามของสถาปัตยกรรมแบบไทยประเพณีสีขาวบริสุทธิ์ ตัดกับท้องฟ้าสีครามสดใสของแดนพุทธภูมิ วัดแห่งนี้คือศูนย์รวมจิตใจของชาวพุทธตลอดมา นับแต่รัฐบาลไทยมีมติให้สร้างขึ้นเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ.2535 เพื่อเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ใน พ.ศ.2539 โดยมีสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเป็นประธานในการวางศิลาฤกษ์การก่อสร้างเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ.2538

นี่คือวัดไทยแห่งแรกในเนปาลอันเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายที่คนไทยต้องไปเช็กอินถิ่นธรรมะให้ได้สักครั้งในชีวิต

พร้อมกราบนมัสการ พระศรีโพธิวิเทศ (สุพจน์ กิตตวัณโณ) เจ้าอาวาสวัดไทยลุมพินี เนปาล บุคลลสำคัญในการผลักดันกิจการต่างๆ ของวัดเป็นอย่างดี

Advertisement
พระศรีโพธิวิเทศ นำคณะบวชเนกขัมมจาริณี ปฏิบัติธรรม ณ รามคามสถูป เมืองเทวทหะ

จากผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ และผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดไทยลุมพินี มหาเถรสมาคมมีมติให้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาส เมื่อ พ.ศ.2560 เดินหน้าสืบสานหลักธรรมพุทธศาสนาในเนปาลจวบจนวันนี้

“ต้องบอกว่างานเผยแผ่พุทธศาสนาของเรา สำหรับคณะสงฆ์ค่อนข้างไปได้ด้วยดี คนเนปาลมีความผูกพันกับคนไทย เรื่องนิสัยใจคอ แม้ประเทศอยู่ไกลกันพอสมควร แต่คนเนปาลกับคนไทยมีความคล้ายคลึงกันมาก ส่วนด้านศาสนาก็ไม่มีปัญหา แม้คนส่วนใหญ่ในแถบนี้ ไม่ใช่ชาวพุทธ” คือถ้อยความจากพระศรีโพธิวิเทศ ก่อนเล่าถึงอาณาบริเวณอันสงบร่มเย็นซึ่งประกอบไปด้วยสิ่งปลูกสร้างอันเรียบง่าย ทว่า งดงาม อาทิ พระอุโบสถ อู่ข้าวนำทอง อาคารที่พัก สำนักงาน 979 วัดไทยลุมพินี อู่น้ำ อู่บุญ หอสวดมนต์ ตำหนักสมเด็จ กุฏิมหาเถรสมาคม และอาคารพระธรรมทูต เป็นต้น โดยที่ดินทั้งหมดนับสิบไร่นี้เป็นการทำสัญญาเช่า 99 ปี ระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลเนปาล ซึ่งมหาเถรสมาคมส่งพระธรรมทูตมาดูแล

พื้นที่ใกล้เคียง ยังเป็นที่ตั้งของวัดนานาชาติ ซึ่งพระศรีโพธิวิเทศบอกว่ามีการพูดคุยหารือเรื่องราวต่างๆ ร่วมกันทุกเดือน รวมถึงสวดมนต์ ณ เสาพระเจ้าอโศกมหาราช อุทยานลุมพินี

วัดไทยลุมพินี หมุดหมายหนึ่งของคนไทยเมื่อเดินทางไปท่องเที่ยวยังลุมพินี

ท่านเจ้าอาวาสยังเล่าว่า ตลอดปี 2562 ที่ผ่านมา มีผู้เดินทางมาเยี่ยมเยือนเพื่อจาริกแสวงบุญ และสนับสนุนกิจการพระศาสนาที่วัดไทยลุมพินีถึงกว่า 21,000 ราย โดยช่วงที่ชาวพุทธอุ่นหนาฝาคั่งที่สุดคือช่วงปลายปีจนถึงต้นปีถัดไป ทั้งมาทำบุญ พักผ่อน และรับประทานอาหารไทย

“ช่วงที่ยุ่งมากจริงๆ คือตุลาถึงมีนา คนมาเยอะที่สุดระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์ มาทำบุญ ทานข้าววันละ 200-300 คน ซึ่งทางวัดก็ดูแลตรงนี้ พระธรรมทูตที่มาปฏิบัติศาสนกิจที่นี่ ก็เหมือนอยู่ในประเทศไทย ตื่นมาทำวัตรเช้า กลางวันทำงาน ยิ่งช่วงนี้ค่อนข้างหนักเพราะผู้แสวงบุญเยอะ บางส่วนก็ขอเข้ามาพัก มาปฏิบัติธรรมที่วัด พระธรรมทูตก็ต้องดูแลตั้งแต่ที่พักและอาหาร มีเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นมาช่วยงาน พระสงฆ์ก็คอยดูแลความเรียบร้อย”

นอกเหนือจากงานในวัด ยังทำหน้าที่นำการบรรยาย พาอุบาสกอุบาสิกาไปสักการะยังสถานที่ประสูติ ณ อุทยานลุมพินี ซึ่งในวันนี้คือแหล่งท่องเที่ยวเชิงจิตวิญญาณที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมโดยองค์การยูเนสโก ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 21 ณ เมืองนาโปลี ประเทศอิตาลี เมื่อ พ.ศ.2540

เนปาล มีสถานที่สำคัญอันเกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนาพร้อมด้วยกิจกรรมมากมายในวัดนานาชาติ ไม่เพียงแต่วัดไทยเท่านั้น
ส่งความสุขจากแดนพุทธภูมิ วัดไทยลุมพินี นำพระสงฆ์นานาชาติสวดมนต์ข้ามปี

“อาตมาพาญาติโยมไปไหว้พระที่สถานที่ประสูติด้วย ตอนเช้าก็ดี ตอนเย็นก็ดี หรือหากมีคณะมาทำบุญที่วัด หลังจากรับผ้าป่า ก็ต้องแสดงธรรม นอกจากงานพวกนี้ ยังมีงานสังคมกับคณะสงฆ์นานาชาติที่นี่ก็ดี กับชุมชนท้องถิ่นก็ดี เวลาเขามีกิจกรรมต่างๆ จะนิมนต์พระสงฆ์ไป ยกตัวอย่างเช่น อุทยานลุมพินี ทุกวันที่ 25 ธันวาคม จะนิมนต์พระไปงานดินเนอร์น้ำปานะราว 1 ทุ่ม มีการมอบสิ่งของ แล้วถวายน้ำปานะ ถือเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับศาสนา แม้แต่พี่น้องชาวฮินดูในเทศกาลต่างๆ หรือพี่น้องชาวมุสลิมมานิมนต์ไปร่วมงาน ทางวัดก็ไป เลยทำงานค่อนข้างเยอะ”

ย้อนกลับไปในช่วงที่เนปาลประสบภัยพิบัติแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ในเดือนเมษายน พ.ศ.2558 วัดไทยลุมพินี

แห่งนี้ก็ให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ โดยพระศรีโพธิวิเทศระบุว่าทางวัดได้รับเงินบริจาคราว 40 ล้านรูปีเนปาล ซึ่งก็ใช้ไปในการช่วยเหลือในครั้งนั้นทั้งหมด และยังมีการสร้างโรงเรียนในหลายจุด

อีกหนึ่งงานสำคัญยิ่งที่ไม่เอ่ยถึงไม่ได้ เพราะสร้างคุณูปการมหาศาลแก่ผู้คนที่ประสบความป่วยไข้ นั่นคือ “โครงการผ่าตัดตาต้อกระจก” ซึ่งจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาเนิ่นนานระหว่างเดือนธันวาคม ได้รับความร่วมมืออันดีทั้งจากชาวไทยและหน่วยงานด้านต่างๆ ในท้องถิ่น โดยมีจุดเริ่มต้นอันน่าสนใจยิ่ง เพราะเชื่อมโยงอย่างมีนัยยะกับสวนลุมพินี

“คนบอกว่าพระพุทธเจ้าประสูติที่นี่ ลืมตาดูโลกเป็นครั้งแรกที่สวนลุมพินี เลยลองหาข้อมูลดูว่าจะทำอะไรได้บ้างที่เกี่ยวกับตา หู จมูก อาตมาเลยส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปถามตามหมู่บ้านและชุมชนรอบๆ พบว่าคนแถวนี้เป็นตาต้อกระจกกันเยอะ เลยเกิดโครงการนี้ โดยมีแพทย์จากไทยและเนปาลมาช่วย ฝั่งไทยคือศาสตราจารย์ นายแพทย์ พรชัย สิมะโรจน์ จากโรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งตอนนี้ท่านเกษียณแล้ว ส่วนหมอเนปาลที่มาเป็นเฮด คือนายแพทย์ซาน ดุ๊ก รูอิท ซึ่งทำงานสังคมสงเคราะห์อยู่แล้ว เคยได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลด้วย อาตมารู้จักกับท่านโดยบังเอิญ เพราะมีปัญหาเรื่องจอประสาทตา โครงการนี้ช่วยคนได้เยอะ ครั้งละ 700-800 คน เราได้ช่วยให้คนที่มองไม่เห็นได้กลับมามองเห็นอีกครั้ง บางคนเป็นข้างเดียว บางคนเป็นทั้ง 2 ข้าง พอได้เห็นแววตา เห็นสีหน้าของเขาที่ได้เห็นโลกอีกครั้งหนึ่งแล้วมีความสุขมาก” พระศรีโพธิวิเทศเล่าด้วยรอยยิ้มแห่งความปลื้มใจ

ถามถึงค่าใช้จ่าย ได้คำตอบว่า “ไม่เยอะ” เพราะค่าหมอไม่ต้องจ่าย ซ้ำที่ผ่านมา แพทย์ไทยสมัครใจควักกระเป๋าซื้อตั๋วเครื่องบินเดินทางมาเอง วัดดูแลเพียงอาหารและที่พัก นอกนั้นก็คือ “ค่ายา” กระทั่งใน พ.ศ.2561 เป็นต้นมา ทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ แห่งพฤกษา เรียลเอสเตท บริจาคทรัพย์ก้อนใหญ่ เพื่อให้นำไปใช้ประโยชน์ในส่วนนี้

“ค่าใช้จ่ายต่อคนไม่เกิน 2,500 บาท เพราะเราไม่ได้จ่ายค่าหมอ จ่ายแค่ค่ายา ค่าอาหาร และค่าผ้าห่มให้ผู้มารับการผ่าตัดด้วย บางปีแจกหมอนอีก เพราะคนไข้ต้องมานอนที่นี่เพื่อติดตามอาการ 15 วัน และ 1 เดือน ต้องเฝ้าระวัง ต้องหยอดตาสม่ำเสมอ ดูแลความสะอาด โครงการนี้ทำให้งานเผยแผ่ของเราได้รับการยอมรับจากคนในท้องถิ่น ไม่ใช่เฉพาะเรื่องของพระสงฆ์ ธรรมทูตไทย แต่เป็นเรื่องของประเทศไทย เหมือนเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเนปาล นอกจากรัฐต่อรัฐ แต่ยังเป็นศาสนาสู่ศาสนา ประชาชนสู่ประชาชนอย่างครบวงจร”

การผ่าตัดตาต้อกระจกให้คนท้องถิ่นระหว่างวันที่ 18-21 ธันวาคมที่ผ่านมา เชื่อมสัมพันธ์ไทย-เนปาลอย่างไร้พรมแดนเชื้อชาติศาสนา

ไม่เพียงเท่านั้น ยังเขยิบขึ้นไปอีกขั้น เมื่อทางวัดเปิดคลินิกเองเมื่อวันที่ 5 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยเปิดทำการทุกวันเสาร์ เริ่มจากทำฟัน ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ กระทั่งมีแผนให้การรักษาโรคทั่วไป จุดประสงค์หลักคือเพื่อดูแลผู้แสวงบุญ และเป็นกิจกรรมสังคมสงเคราะห์ โดยประชาสัมพันธ์แก่คนท้องถิ่นให้เข้าใช้บริการ

“เราทำเอ็มโอยูฉบับแรก 1 ปี กับโรงพยาบาลเอกชนของเนปาล ชื่อว่า ยูนิเวอร์แซล คอลเลจ ออฟ เมดิคัล ไซเอ็นซ์ (Universal College of Medical Sciences) เขามีหมอ พยาบาล ทีมเทคนิคทุกอย่าง ส่วนทางวัดมีเครื่องมือ มีอุปกรณ์ที่ซื้อเอง ยาก็ซื้อเอง ล่าสุดเมื่อเดือนธันวาคม หมดไปแค่ราว 40,000 รูปีเนปาล ตกประมาณหมื่นบาทไทย คนมาเยอะ ในเนปาลเราใช้งานสังคมสงเคราะห์นำงานเผยแผ่ เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างคณะสงฆ์ไทยกับคนท้องถิ่นซึ่งที่ลุมพินีมีชาวพุทธน้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นศาสนิกอื่น”

การดำเนินงานอย่างไม่เลือกปฏิบัติ ไร้พรมแดนทางศาสนาและเชื้อชาตินี้ ปัจจัยเรื่องค่าใช้จ่ายก็ได้มาจากการบริจาคของ “นานาชาติ” ทั้งไทย สิงคโปร์ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์และอีกหลายแห่ง

เพราะความดี ความงาม ความจริง คือสิ่งสากล ก่อนที่โลกใบนี้จะมีศาสนาใดๆ


‘พระพุทธเจ้าประสูติที่นี่’ ลุมพินี เนปาล อุทยานมรดกโลก

เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางว่าสถานที่ประสูติของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครั้งยังเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ แห่งศากยวงศ์ คือสวนลุมพินี ซึ่งอยู่ในเขตแดนของประเทศเนปาลในปัจจุบัน ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์ และนครเทวทหะ ถือเป็นสังเวชนียสถานแห่งเดียว ในจำนวน 4 แห่งที่อยู่นอกประเทศอินเดีย ได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม เมื่อ พ.ศ.2540 ผืนดินนับพันไร่ อยู่ในความดูแลของ Lumbini Development Trust (LDT) ประกอบด้วยวัดนานาชาติมากกว่า 30 แห่ง พร้อมให้เข้าเยี่ยมชมและชำระล้างกายใจให้บริสุทธิ์ อาทิ วัดจีน ญี่ปุ่น พม่า ฯลฯ รวมถึงวัดไทยลุมพินี

พื้นที่ทั้งหมด แบ่งเป็นส่วนต่างๆ อย่างเขตโบราณสถานอันประกอบด้วย “มายาเทวีวิหาร” จุดสำคัญตามพุทธประวัติซึ่งพระนางสิริมหามายา พระพุทธมารดาทรงมีพระประสูติกาล ภายในมีแผ่นหินที่สันนิษฐานว่ามีอายุร่วมสมัยยุคพระเจ้าอโศกมหาราช ภายใต้ความเชื่อที่ว่าปรากฏรอยพระพุทธบาทก้าวแรก อีกไฮไลต์พลาดไม่ได้คือ “เสาหินพระเจ้าอโศก” มีจารึกจดจารด้วยอักษรพราหมี ระบุถึงการเป็นสถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า รายล้อมด้วยร่องรอยสถาปัตยกรรมเก่าแก่ที่ก่อขึ้นจากอิฐ และถูกใช้งานในหลากหลายยุคสมัย

เป็นจุดหมายของชาวพุทธทั่วโลก ไม่เพียงคนไทยที่ต้องมีไว้เป็นเช็กลิสต์ในหนึ่งช่วงชีวิตที่ต้องเดินทางไปสัมผัสพื้นแผ่นดินแห่งพุทธภูมิให้ได้แม้เพียงครั้ง


ติดตามความเคลื่อนไหว และชมภาพความงดงามของวัดไทยลุมพินีได้ที่เฟซบุ๊ก วัดไทยลุมพินี ประเทศเนปาล Royal Thai Monastery

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image