‘พชร วัฒนสกลพันธุ์’ นักศึกษากฎหมายดีเด่น รางวัลสัญญา ธรรมศักดิ์ 2563 ‘ประชาธิปไตย นิติรัฐ นิติธรรม คือความมุ่งหวังสูงสุด’

พชร วัฒนสกลพันธุ์

หากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ นามว่า “โควิด-19” ยังไม่ถือกำเนิดขึ้นในโลก

บรรยากาศในวันอาทิตย์ที่ 5 เมษายน พุทธศักราช 2563 ณ ลานอนุสาวรีย์ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ และสถานที่จัดงานรำลึกถึงปูชนียบุคคลของชาติ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต คงคลาคล่ำด้วยผู้คนที่เข้าร่วม งานวันสัญญา ธรรมศักดิ์ ดังเช่นทุกปี

ทั้งการวางพานพุ่ม เสวนาวิชาการอันเป็นประโยชน์ต่อสังคม รวมถึงพิธีมอบรางวัลแด่นักศึกษากฎหมายดีเด่น รางวัลสัญญา ธรรมศักดิ์ ซึ่งจัดตั้งขึ้นใน พ.ศ.2542 โดยกองทุนสัญญา ธรรมศักดิ์ มูลนิธินิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อประกาศเกียรติคุณและเป็นอนุสรณ์แห่งความดี สืบทอดเจตนารมณ์ อีกทั้งคุณงามความดีของศาสตราจารย์สัญญาสู่อนุชนคนรุ่นหลัง ผู้พร้อมด้วยคุณธรรม ความซื่อสัตย์ สุจริต อุทิศตนเป็นประโยชน์ต่อสังคม

เดิมเป็นการคัดสรร นักกฎหมายดีเด่น แล้วขยายเป็นรางวัล นักศึกษากฎหมายดีเด่น จากคณะนิติศาสตร์ รั้วธรรมศาสตร์ กระทั่ง พ.ศ.2557 ขยายขอบเขตไปยังมหาวิทยาลัยของรัฐ ที่มีคณะนิติศาสตร์ก่อตั้งไม่น้อยกว่า 30 ปี ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยรามคำแหง และมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

Advertisement

ต่อมา ในการประชุมเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.2562 ขยายไปยังมหาวิทยาลัยทั้งภาครัฐและเอกชนที่เปิดหลักสูตรการเรียนการสอนนิติศาสตร์รับใช้สังคมมาไม่น้อยกว่า 30 ปี ซึ่งมีสถาบันเข้าเกณฑ์ 9 แห่ง ได้แก่ 1.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 3.มหาวิทยาลัยรามคำแหง 4.มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช 5.มหาวิทยาลัยกรุงเทพ 6.มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต 7.มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ 8.มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล 9.มหาวิทยาลัยศรีปทุม

อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุผลด้านความพร้อม และความเหมาะสมบางประการ ในปีนี้ ที่ประชุมมีมติให้งดรางวัลนักกฎหมายดีเด่น เหลือไว้เพียงรางวัลนักศึกษากฎหมายดีเด่น ซึ่งมีสถาบันการศึกษา 5 แห่งคัดสรรนักศึกษาผลการเรียนเกียรตินิยม และทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างต่อเนื่องเข้าชิงรางวัลอันทรงเกียรติ

Advertisement

ผู้ทรงคุณวุฒิมากมายร่วมเป็นคณะกรรมการพิจารณา โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.คณิต ณ นคร นั่งเก้าอี้ประธานกรรมการ

ดร.เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) คือหนึ่งในกรรมการพิจารณารางวัล ที่ร่วมเป็นผู้เสนอแนวคำถามหลักเพื่อให้ที่ประชุมพิจารณากำหนดเป็นคำถามกลางเพียงคำถามเดียวในขั้นตอนสัมภาษณ์

และ พชร วัฒนสกลพันธุ์ จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คือชื่อที่ถูกประกาศให้เป็นนักศึกษากฎหมายดีเด่น รางวัลสัญญา ธรรมศักดิ์ ประจำปี 2563

แม้พิธีมอบรางวัลจะถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนดด้วยพิษโควิด แต่โล่เกียรติยศ และเงิน 50,000 บาท จะตกเป็นของบัณฑิตหนุ่มด้านกฎหมาย ทว่าสิ่งสำคัญกว่าวัตถุและเงินตราคือความภาคภูมิใจในชีวิต

“รู้สึกเป็นเกียรติและภาคภูมิใจที่มีโอกาสได้รับคัดเลือกโดยคณะกรรมการเพราะรางวัลสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นรางวัลที่มีชื่อเสียง เป็นที่ยอมรับของบรรดานักกฎหมายและนักศึกษากฎหมายมาเป็นระยะเวลานาน

“ทั้งชีวิตของท่านอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ คือแบบอย่างของผม เพราะท่านทั้งเรียนและการทำกิจกรรมโดดเด่นมาตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษา เมื่อท่านประกอบวิชาชีพด้านกฎหมาย ก็เป็นผู้มีความตั้งใจ ซื่อสัตย์ สุจริต ซึ่งผมก็ได้นำหลักคิด หลักปฏิบัติของท่านมาใช้” คือความในใจจากปาก พชร ซึ่งในวันนี้ทำงานให้สำนักงานกฎหมายแห่งหนึ่ง ในฐานะ “ที่ปรึกษากฎหมายธุรกิจ” อันเป็นสาขาที่เชี่ยวชาญและมีความสนใจเป็นพิเศษ ดังเช่นที่เคยคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 จากการแข่งขันเจรจาต่อรองทางธุรกิจ โดยชมรมเจรจาต่อรองทางธุรกิจแห่งคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ประจำปี 2560 รวมถึงรองชนะเลิศอันดับ 2 จากการแข่งตอบปัญหากฎหมายเนื่องในวันรพี เมื่อ พ.ศ.2561 ในปีเดียวกัน ยังชนะเลิศการแข่งโต้เถียงปัญหากฎหมายโดยการแถลงการณ์ด้วยวาจาในชั้นอุทธรณ์ระดับประเทศ นอกจากนี้ยังเป็นผู้ช่วยอาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายแพ่ง ภาควิชากฎหมายพาณิชย์และธุรกิจอีกด้วย

‘พชร วัฒนสกลพันธุ์’ นักศึกษากฎหมายดีเด่น รางวัลสัญญา ธรรมศักดิ์ 2563


พชร
เปิดเผยถึงเหตุผลที่น่าฟัง ว่าเหตุใดจึงให้ความสนใจในกฎหมายธุรกิจเป็นพิเศษ

“กฎหมายธุรกิจมีความน่าสนใจในแง่ความเปลี่ยนแปลง เพราะธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปตามเศรษฐกิจและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด นักกฎหมายธุรกิจจึงต้องมีความพร้อมที่จะปรับตัวหรือเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพราะมีกฎหมายใหม่ๆ ออกมาตลอดเวลา และการเป็นนักกฎหมายธุรกิจต้องอาศัยความรู้ด้านอื่นประกอบด้วย ไม่ว่าจะเป็นความเข้าใจในธุรกิจ หรือทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น”

ประโยคสุดท้ายสอดคล้องกับ “ทักษะด้านการสื่อสาร” ที่เจ้าตัวระบุว่า สำคัญมากต่ออาชีพทางกฎหมาย

“ทักษะการพูด รวมถึงการเขียน โดยรวมอาจเรียกว่าเป็นทักษะการสื่อสารสำคัญมากต่อผู้พิพากษา อัยการ ทนายความ หรือที่ปรึกษากฎหมาย เพราะปกติแล้วประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้ศึกษากฎหมายมาโดยเฉพาะ อาจเข้าใจว่ากฎหมายเป็นเรื่องยาก ซับซ้อน นักกฎหมายที่ดีควรจะอธิบายหรือสื่อสารให้ง่ายที่สุด ตรงประเด็นที่สุด โดยไม่บิดเบือนข้อเท็จจริงไป”

จากมุมมองข้างต้น จึงไม่ต้องแปลกใจที่ส่วนหนึ่งในประวัติชีวิต มีตำแหน่งบรรณาธิการ “หนังสือรพี 2560” ของคณะนิติศาสตร์ ปรากฏอยู่ด้วย

มาถึงตรงนี้ ไม่ถามไม่ได้ว่า ในห้วงเวลาที่สังคมไทยตั้งคำถามต่อนักกฎหมายบางกลุ่มที่ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือเพื่อประโยชน์บางอย่าง จนถูกติดป้าย “เนติบริกร” ในฐานะบัณฑิตกฎหมาย นักกฎหมาย และเจ้าของรางวัลอันทรงเกียรติ มีความเห็นอย่างไร

พชร ตอบอย่างไม่ลังเลว่า “นักกฎหมายไม่ว่าในระดับไหนก็ตาม ควรยึดมั่นในหลักการ ในอุดมการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ต้องไม่โลเลไปตามสิ่งรอบตัว ผมเชื่อว่าในการทำงาน หรือการประกอบวิชาชีพกฎหมาย เราควรต้องมีหลักอย่างใดอย่างหนึ่งในการยึดปฏิบัติ”

แน่นอนว่าหนึ่งในหลักการที่ว่านั้น คือ “คุณธรรม” และการทำประโยชน์ต่อสังคม อันเป็นอีกส่วนสำคัญในเกณฑ์การพิจารณาตัดสินรางวัลสัญญา ธรรมศักดิ์ ซึ่ง พชร ได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมมากมาย รวมถึงการเป็น รองประธานโครงการกฎหมายบริการสังคม “ต้องไม่มีใครติดคุกเพราะจน : บำเพ็ญประโยชน์แทนค่าปรับ” ซึ่งมีหัวเรือใหญ่อย่าง ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ออกบทแอ๊กชั่นต่อสู้ในประเด็นดังกล่าวมาอย่างยาวนานเป็นที่ประจักษ์

ให้คำแนะนำผู้ต้องกักขัง ขณะเป็น รองประธานโครงการกฎหมายบริการสังคม “ต้องไม่มีใครติดคุกเพราะจน : บำเพ็ญประโยชน์แทนค่าปรับ” ที่เรือนจำกลางสมุทรปราการ


“ผู้กระทำความผิดแล้วโดนศาลพิพากษาลงโทษ เป็นค่าปรับ ถ้าไม่ชำระภายในระยะเวลา ก็จะต้องโดนนำไปกักขังแทนค่าปรับซึ่งตามกฎหมายปัจจุบันคือวันละ 500 บาท ทางอาจารย์ปริญญาเห็นว่าบทบัญญัติแบบนี้อาจไม่เป็นธรรมกับประชาชนหลายๆ คนที่อาจไม่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจเพียงพอที่จะชำระค่าปรับได้

“การลงโทษด้วยการกักขังแทนค่าปรับ อาจเป็นมาตรการของรัฐที่ไม่สมเหตุสมผล หรืออาจจะมีวิธีที่ดีกว่านี้ จริงๆ แล้วตามกฎหมายปัจจุบันก็เปิดโอกาสให้ประชาชนที่กระทำความผิด ไม่มีเงินชำระค่าปรับ มีสิทธิร้องขอต่อศาลเพื่อขอทำงานบริการสังคมแทน แต่จากการที่ทำโครงการมาพบว่าส่วนใหญ่ไม่รู้ถึงสิทธิของตัวเอง ไม่รู้ว่ามีสิทธิที่จะยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอบำเพ็ญประโยชน์ การที่มีโอกาสบำเพ็ญประโยชน์ จะเป็นการดีต่อตัวเขาเองและสังคม รวมถึงเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเยียวยาเขาได้เนื่องจากบางคนเป็นคนหาเลี้ยงครอบครัว การที่ถูกขังในเรือนจำแทนค่าปรับ อาจทำให้ครอบครัวไม่มีรายได้” คือคำอธิบายและความเห็นของพชรจากการทำกิจกรรมในโครงการดังกล่าว

ไม่เพียงกิจกรรมด้านกฎหมายภายในประเทศ เจ้าตัวยังมีโอกาสร่วมสัมมนาในต่างประเทศในประเด็นกฎหมายที่น่าสนใจยิ่ง ระวหว่างปี 2560-2561 ไม่ว่าจะเป็น ALSA Conference โดย Asian Law Student” Association ณ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย และตัวแทน อภิปรายในเสวนาหัวข้อ Human Right Conference : Democracy, A matter of Aspiration and Realisation ที่มหาวิทยาลัยมาลายา ประเทศมาเลเซีย

พชร วัฒนสกลพันธุ์

สำหรับแผนการในอนาคต พชร บอกว่า วางแผนศึกษาต่อต่างประเทศอาจเป็นอังกฤษหรือสหรัฐอเมริกาภายใน 2-3 ปีนี้ อย่างไรก็ตาม ในวันนี้อยากทำงานที่ทำอยู่ให้ดีที่สุด นั่นคือ ที่ปรึกษากฎหมายธุรกิจดังที่กล่าวมาข้างต้น และแม้ปัจจุบันยังสนใจทางด้านกฎหมายธุรกิจ ทว่าเจ้าตัวไม่ปิดกั้นตัวเองในความสนใจต่อกฎหมายในด้านอื่น โดยบอกว่าอนาคตอาจเปลี่ยนแปลงได้ ส่วนในอดีตที่ไม่อาจย้อนไปแก้ไข และเป็นการตัดสินใจที่แน่วแน่ของ พชร ครั้งยังนุ่งขาสั้นเรียนชั้นมัธยมปลายที่ สวนกุหลาบวิทยาลัย คือการติวเพื่อสอบเข้าคณะนิติศาสตร์ รั้วแม่โดมตามคำแนะนำของรุ่นพี่หลังรู้ตัวว่าชอบสายสังคมศาสตร์มากกว่า แม้ตัวเองเป็น “เด็กสายวิทย์”

“รุ่นพี่ที่โรงเรียนแนะนำให้ผมไปลองเรียนพิเศษ ในสถาบันที่ติวสำหรับเข้าคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์โดยเฉพาะ เรียนครั้งแรกก็รู้สึกว่าชอบเลย เพราะรู้สึกว่ามันเป็นเหตุเป็นผล ไม่ได้ต้องท่องจำอย่างที่ใครๆ ว่ามา แต่รู้สึกว่าการที่จะเรียนกฎหมายได้ดี ต้องใช้ความเข้าใจ และความเป็นเหตุเป็นผลมากกว่า”

การตัดสินใจครั้งนั้น นำพชรมาสู่การเป็นบัณฑิตคณะนิติศาสตร์ เกียรตินิยม อันดับ 1 ด้วยคะแนนเฉลี่ย 4 ปี 88.03 และเจ้าของรางวัลอันทรงเกียรติด้านกฎหมายคนล่าสุด

เมื่อถามว่า ความคาดหวังสูงสุดในเชิงอุดมการณ์ของตัวเองคืออะไร

นี่คือคำตอบของ พชร วัฒนสกลพันธุ์

“ต้องการให้ประเทศไทยมีการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง และมีหลักนิติรัฐ นิติธรรม”

สมศักดิ์ศรีรางวัลสัญญา ธรรมศักดิ์ ทุกประการ


 

กองทุนศาสตราจารย์ สัญญา ธรรมศักดิ์

30 ปีกองทุนศาสตราจารย์ สัญญา ธรรมศักดิ์

ปูชนียบุคคลด้านนิติศาสตร์ของไทย ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ประกอบคุณงามความดีรับใช้สังคม ประเทศชาตินานัปการ โดยเคยดำรงตำแหน่งประธานองคมนตรี นายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา รองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยปฏิบัติงานด้วยความวิริยะ อุตสาหะ ซื่อสัตย์ สุจริต มีความกล้าหาญอันเปี่ยมด้วยคุณธรรมเป็นที่ประจักษ์

นอกจากนี้ ยังได้อุทิศตนเพื่อการศึกษาวิชานิติศาสตร์ ส่งเสริมกระบวนการยุติธรรมและวิชาชีพกฎหมาย ผลงานปรากฏ เป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและระดับนานาชาติ

วันที่ 5 เมษายน ของทุกปี คือ วันสัญญา ธรรมศักดิ์ ซึ่งกำหนดตามวันคล้ายวันเกิดของท่าน เมื่อ 5 เมษายน พุทธศักราช 2450

ในปี 2563 ครบรอบ 30 ปี แห่งการก่อตั้งกองทุนศาสตราจารย์ สัญญา ธรรมศักดิ์ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสืบทอดปณิธานของศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ โดยได้สนับสนุนกิจกรรมทางกฎหมายและส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมของนักกฎหมายผ่านการดำเนินงานต่างๆ เช่น การจัดสรรทุนสนับสนุนการศึกษา การจัดสรรทุนสนับสนุนการวิจัยทางนิติศาสตร์ การส่งเสริมและให้ทุนอุดหนุนในการจัดพิมพ์ตำรากฎหมาย เป็นต้น

เนื่องในโอกาสนี้ ขอเชิญชวนศิษย์เก่าและผู้ที่สนใจร่วมสืบทอดปณิธานของศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ผ่านการบริจาคเข้ากองทุน เพื่อเป็นทุนในการดำเนินงานต่างๆ โดยสามารถบริจาคได้ที่กองทุนศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ หมายเลขโทรศัพท์ 0-2613-2166 และ 0-2623-5349

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image