รัฐ ชาติ ประวัติศาสตร์ศิลป์ ในสังคมไม่กล้า (รับคำ) วิจารณ์ ชาตรี ประกิตนนทการ

การเมืองคือเรื่องของทุกคน

กลายเป็นวลีที่ถูกกล่าวถึงอย่างกว้างขวางในระยะหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาแห่งวิกฤตทั้งเศรษฐกิจ สังคม จนถึงสุขภาพ

ไม่เพียงเท่านั้น การเมืองยังเป็นเรื่องที่แทรกซึม ซ้อนทับ กระทั่งครอบงำในสรรพสิ่งมากมายที่รายล้อมตัวเรา ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ไม่เว้นแม้ศิลปะและสถาปัตยกรรมอันงดงามหลากยุคสมัยฉาบทาด้วยความเรืองรองสร้างสรรค์ด้วยฝีมือช่าง อาจชดช้อย แข็งแกร่ง แฝงด้วยสัญลักษณ์ที่ต้องตีความ

“ประวัติศาสตร์ศิลปะสร้างชาติ” คือ หัวข้อสนทนาผ่านแอพพลิเคชั่น “Zoom” เมื่อเร็วๆ นี้ ท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

Advertisement

แน่นอน วิทยากรจะเป็นชื่ออื่นใดไปไม่ได้ นอกจาก ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ว่าที่ศาสตราจารย์คนใหม่ ผู้เป็นที่รู้จักไม่เพียงจากผลงานวิชาการมากมาย โดยเฉพาะประเด็นสถาปัตยกรรมคณะราษฎร อีกทั้งบทบาทรณรงค์คัดค้านการรื้ออาคารศาลฎีการวมถึงชุมชนป้อมมหากาฬซึ่งสุดท้ายไม่ประสบผล

บรรทัดต่อจากนี้ เรียบเรียงจากบทสนทนาที่มี ดร.รังสิมา กุลพัฒน์ มหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา สหรัฐอเมริกา และ ผศ.กฤษณะพล วัฒนวันยู เป็นผู้ดำเนินรายการ

แต่เปล่าเลย นี่ไม่ใช่เนื้อหาหลักในประเด็นเดียวกับชื่อบทบรรยายที่กล่าวข้างต้นอันมาจากงานดุษฎีนิพนธ์เสนอต่อมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในหัวข้อ “การประกอบสร้างศิลปะไทยฉบับทางการ : ประวัติศาสตร์ศิลปะกับการก่อร่างสร้างชาติ พ.ศ.2408-2525”

Advertisement

หากแต่เป็นเรื่องราวเข้มข้นจากมุมมองประสบการณ์ชีวิตที่เฉียบคม ลึกซึ้ง และตรงไปตรงมา

บัณฑิตยุค ‘ต้มยำกุ้ง’ ผู้ไม่เคยอยากเป็นอาจารย์

เป็นอาจารย์ตั้งแต่ปี 2541 สมัยนั้นไม่มีเกณฑ์ทางวิชาการอะไรนู่นนี่ เกณฑ์คุณวุฒิมาตรฐานเพิ่งมาจริงจังปี 2548 การเป็นอาจารย์ตั้งแต่จบปริญญาตรีเป็นเรื่องที่เขาก็เป็นกัน ไม่ใช่กรณีพิเศษ ที่เป็นอาจารย์เร็วเพราะเรียนในสาขาสถาปัตยกรรมไทยรุ่นแรกซึ่งเขาตั้งหลักสูตรเพื่อหาอาจารย์สาขาที่ขาดแคลนอยู่แล้ว

ถ้าดูปีจบจะเห็นว่าผมจบตอนต้มยำกุ้งพอดี ดังนั้น ไม่มีงานทำหรอกโดยเฉพาะสถาปนิก ช่วงนั้นภาควิชาเปิดตำแหน่งอาจารย์ 2 อัตรา จริงๆ แล้วความสนใจในการเป็นอาจารย์ไม่มี อยากเป็นสถาปนิก แต่ช่วงนั้นออฟฟิศต่างๆ ปิดไปคงเกินครึ่ง ในรุ่นที่ผมจบ ไม่มีใครมีงานทำไปเกือบปี

มีคนถามว่าทำไมไม่เรียนต่างประเทศ นั่นเพราะมีเงื่อนไขหลายอย่าง 1.ความสามารถไม่ถึง 2.จบปริญญาตรี ตอนเศรษฐกิจ ยุค 40 ใครเป็นอาจารย์ตอนนั้นจะรู้ว่าถูกตัดทุนทุกอย่างเกลี้ยง โดยเฉพาะทุนต่างประเทศ จะมีก็เฉพาะทุนในประเทศเล็กน้อย พอทำงานไป 1-2 ปี ผมได้ทุนเรียนต่อในประเทศ ซึ่งก็ยังดีกว่าทำงานด้วยวุฒิปริญญาตรีที่เลยใช้ทุนนั้นเรียน 3 ปี ที่สถาปัตย์ จุฬาฯ

พอได้เรียน ความสนใจก็เปลี่ยนไป การเรียนปริญญาโทที่จุฬาฯ 3 ปี ได้ทำวิทยานิพนธ์สาขาที่เกี่ยวข้องกับสถาปัตยกรรมทางการเมือง ทำให้ค้นพบตัวเองประมาณหนึ่ง ความสนใจทางวิชาการชัดเจน หลังจากนั้นมาก็มีโปรเจคงานวิจัยในหัวเยอะแยะ ความสนใจจะเรียนต่อในระดับปริญญาเอกหมดไปเลย รู้สึกว่าอยากทำงานวิจัยนู่นนี่นั่น ขอทุน เขียนหนังสือ เขียนบทความไปเรื่อยๆ งานออกแบบสถาปัตย์ก็ทำอยู่ ตอนนี้ใครจะว่าจ้างก็ยังทำ (หัวเราะ) แต่พอเปลี่ยนมาสนใจวิชาการแล้วก็แทบไม่ได้ทำงานวิชาชีพ

จาก ‘หัวหน้าภาค’ ถึงนักศึกษาปริญญาเอก

ถ้าจำไม่ผิด พอช่วงปี 2552 หรือ 2553 จากอายุงานและลำดับ ถึงคิวผมต้องขึ้นเป็นหัวหน้าภาควิชาศิลปสถาปัตยกรรม ซึ่งเป็นไปตามวาระ ถ้าอยู่ในแวดวงวิชาการ หัวหน้าภาคคือตำแหน่งที่ไม่มีใครอยากเป็น แตกต่างจากตำแหน่งคณบดี หรือเหนือว่านั้นซึ่งจะแย่งกัน

พอเป็นหัวหน้าภาค เรียนตามตรงว่าค่อนข้างเซ็งมากๆ อยากทำงานวิจัยคู่ไปด้วย แต่ส่วนหนึ่งคือในตำแหน่งบริหาร ทุนวิจัยบางส่วนขอไม่ได้ ผมสนใจประวัติศาสตร์มานานแล้ว เคยคิดเรียนปริญญาเอกที่จุฬาฯ แต่ติดปัญหาว่าต้องมีคอร์สเวิร์กซึ่งไม่เอื้อกับชีวิตการทำงานที่ห้ามลาเรียน

จุดเปลี่ยนคืออาจารย์อรรถจักร และอาจารย์สายชล สัตยานุรักษ์ เปิดหลักสูตรปริญญาเอกรูปแบบใหม่ สำหรับสังคมไทยที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คือ ไม่มีคอร์สเวิร์ก ให้ทำวิทยานิพนธ์เลย เงื่อนไขง่ายๆ คือ ต้องเป็นนักวิชาการที่มีงานตีพิมพ์ ถ้าผ่านเกณฑ์ก็เรียนได้ แต่แม้ไม่มีคอร์สเวิร์กก็ไม่ใช่ง่ายๆ ทุกเทอมต้องขึ้นไปเสนอเปเปอร์ 1 ชิ้น มีเวทีที่อาจารย์และคนนอกมาแลกเปลี่ยนเหมือนงานประชุมวิชาการ ต้องเสนอ 3 เปเปอร์ติดกันปีครึ่ง หลังจากนั้นถึงจะเสนอหัวข้อวิทยานิพนธ์ได้ พอหัวข้อผ่าน ต้องอาศัยวินัยมาก ไม่มีใครมาคอยเข้มงวด เพราะโตๆ กันแล้ว เลยล่าช้า เข้าเรียนปี 2555 จบปี 2561 (หัวเราะ) ผมเพิ่งลงจากตำแหน่งหัวหน้าภาคปี 2560 จากนั้นปีครึ่งถึงจบปริญญาเอก

‘การเมือง’ เรื่องสถาปัตย์ ต้นกรุงฯ สู่ร่วมสมัย

ก่อนเข้าไปเรียนต้องมีหัวข้อที่ค่อนข้างชัดพอสมควรอยู่แล้ว สิ่งที่ต้องการทำคือ หลักฐานเอกสารงานขียนประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศไทย โดยศึกษางานเขียนชุดหลักฐานนี้ในส่วนของการสร้างรัฐและสร้างชาติ

คนส่วนใหญ่อาจคิดว่าผมสนใจช่วงสมัยใหม่ เพราะงานอาจจะเกี่ยวข้องกับการเมืองร่วมสมัยมาก แต่ถ้าดูกันจริงๆ ผมมีงานวิจัยที่บางทีอาจจะเยอะกว่าอีก คืองานสถาปัตยกรรมในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ ผมสนใจเรื่องความคิดทางการเมืองของผู้สร้าง ของสังคม และช่วงเวลาที่สนใจจริงๆ คือรัตนโกสินทร์ งานที่ทำเยอะจริงๆ ก็คือช่วงต้นรัตนโกสินทร์ งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับวัดวาอารามสมัยรัชกาลที่ 1 อย่างวัดโพธิ์ วัดอรุณฯ เป็นงานที่ออกมาเยอะ แต่คนอาจไม่คุ้นเคยเพราะไม่ได้สัมพันธ์กับการเมืองร่วมสมัย

ที่ผ่านมา เมื่อทบทวนวรรณกรรมจะพบว่างานวิชาการส่วนใหญ่อธิบายว่าช่วงรัชกาลที่ 1 เป็นการจำลองหรือสร้างซ้ำกับปลายอยุธยาแทบทั้งหมด เป็นการก๊อบปี้ รื้อฟื้น ทำซ้ำ และมักพูดว่าความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งรับอิทธิพลจีน แต่พอผมลงไปศึกษาพบว่าไม่จริงเท่าไหร่ อย่างน้อย ในแง่ไอเดีย งานในสมัยรัชกาลที่ 1 มีความต่างหลายประการอย่างมีนัยสำคัญ แนวคิดที่อยู่เบื้องหลังแตกต่างจากงานสมัยอยุธยาทีเดียว

คอนเซ็ปต์ในการก่อสร้างหรืองานออกแบบทางศิลปะสถาปัตยกรรมในอดีต แม้กระทั่งปัจจุบันก็ตาม มันไม่เรื่องของความคิดสร้างสรรค์ของสถาปนิก ดีไซเนอร์ที่เรามักคุ้นเคย แต่เกี่ยวข้องกับทุกปริมณฑลของเศรษฐกิจ การเมือง บริบททางสังคม วัฒนธรรม การสร้างความชอบธรรม หรือรวมๆ ก็คือการเมือง เลยรู้สึกสนใจ สถาปัตยกรรมวังหน้าและวังหลังในช่วงต้นรัตนโกสินทร์คือประเด็นใหญ่ที่กำลังอยากทำ

งานอีกกลุ่มหนึ่งที่ทำเยอะเหมือนกันคือช่วงสมัยใหม่ คำว่าสมัยใหม่ในที่นี้หมายถึงช่วงรัชกาลที่ 4 – รัชกาลที่ 5 ถ้างานผมมี 100 ชิ้น ประมาณ 30 ชิ้นคือยุคต้นรัตนโกสินทร์ อีก 30 ชิ้นคือยุครัชกาลที่ 4 – รัชกาลที่ 5 และ 30 ชิ้นคือศิลปะยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง 10 ชิ้นที่เหลือเกี่ยวกับการรณรงค์ไม่ให้รื้อ ไม่ให้ถอน ซึ่งถ้าผมทำเมื่อไหร่ โดนรื้อถอนทันที ตั้งแต่ทำมา ไม่เคยประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นอาคารศาลฎีกา และป้อมมหากกาฬ หลังๆ ผมเลยไม่อยากไปยุ่งกับอะไรแล้ว (หัวเราะ)

ว่าที่ศาสตราจารย์ในวัยต้น 40

การขอตำแหน่งทางวิชาการ ตอนเป็นอาจารย์ใหม่ๆ ยังอยู่ในเกณฑ์เก่ามาก งานน้อยมาก รีดเดอร์อ่านกันเอง บางทีอาจารย์ที่นั่งอยู่โต๊ะข้างๆ เป็นคนอ่านให้เราด้วย พอปี 2548 เกณฑ์จึงเปลี่ยนแล้วใช้มาถึงปี 2560 คนเจอเกณฑ์ปัจจุบันอาจบอกว่าอันนี้ง่ายมาก แต่ถ้าเทียบกับเกณฑ์เก่ากว่านั้นจะพบว่าของปี 48 ยากมากแล้ว

ตอนผมขอศาสตราจารย์ ใช้ 3 งาน คือ หนังสือ 2 เล่ม วิจัย 1 ชิ้น ได้แก่

1.หนังสือคติ สัญลักษณ์ และการออกแบบวัดอรุณราชวราราม 2.สถาปัตยกรรมไทยหลังรัฐประหาร 19 กันยา 2549 และ 3.วิจัยเรื่องประวัติศาสตร์วิชาชีพสถาปัตยกรรมในสังคมไทยซึ่งเข้าไปถกเถีบงกับงานคลาสสิกในกลุ่มนี้ไม่ว่าจะเป็นงานของศาสตราจารย์ ดร.วิมลสิทธิ์ หรยางกูร หรือศาสตราจารย์ผุสดี ทิพทัส

อ่านงานครู อย่าดูแต่ข้อดี

ขยี้ปม ‘ทบทวนวรรณกรรม’ แบบ ‘ย่อแปะ’

สังคมไทย ผู้วิจัยส่วนใหญ่ การ “ทบทวนวรรณกรรม” เป็นการสรุปย่องานคนนี้นั้นเรียงต่อๆ กันโดยไม่ขมวดว่าสุดท้ายแล้วจะรีวิวไปเพื่ออะไร ซึ่งจริงๆ แล้วพอคุณอ่านเยอะในระดับหนึ่งจะจัดกลุ่มความคิดได้ว่า งานที่จะไปถกเถียงกับเขามันมีแนวในการอธิบายกี่แนว บทนี้สำหรับผมสำคัญมาก ทำเสร็จเหมือนวิทยานิพนธ์เสร็จไปครึ่งหนึ่งแล้ว เพราะถ้าทบทวนวรรณกรรมได้ถูกต้องในความคิดผมที่ไม่ใช่เรียงหนังสือ จะรู้เลยว่างานเรามันไปทางไหน

วิทยานิพนธ์ในไทย คนมีความกังวลเรื่องความหนา คิดว่ายิ่งเยอะยิ่งแปลว่าอ่านเยอะ แต่ผมมองว่าผิดอย่างมาก ถ้าย่อมาว่าเล่มนี้ว่าอย่างไร 5 หน้า 100 เล่มก็ปาเข้าไป 500 หน้า มักเป็นการย่อมาแปะ ซึ่งส่วนหนึ่งเพราะสังคมไทยไม่มีวัฒนธรรมการวิจารณ์

ความเกรงอกเกรงใจเชิงวิชาการ กับความเคารพเชิงบุคคล ผมว่าสังคมไทยส่วนใหญ่ยังแยกไม่ออก อย่างเวลาทบทวนวรรกรรม แล้วมีอาจารย์ที่ปรึกษาซึ่งการที่เขามาเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาเราได้ส่วนหนึ่งเพราะทำงานเกี่ยวข้องกับหัวข้อที่เราอยากทำ พอเป็นแบบนี้ เวลาเราจะทบทวนวรรณกรรม ก็หนีไม่พ้นที่ต้องอ่านงานครูเรา แต่ในสังคมไทย พออ่านเสร็จ เราไม่กล้าวิจารณ์ เลยเลี่ยงโดยการสรุปย่องานมาให้โดยไม่พูดว่าดีอย่างไร หรือไม่ดีย่างไร โอเค ดีอย่างไรอาจจะพูด แต่ไม่ดี ไม่ยอมพูด

เคารพได้ วิพากษ์ได้

ด้วย ‘วัฒนธรรมการวิจารณ์’ ที่สังคมไทยมีน้อย

จริงๆ แล้วเราเคารพครูบาอาจารย์ในตัวบุคคลได้ ไม่ผิด ในขณะที่เราก็สามารถวิพากษ์วิจารณ์สิ่งที่เขาเขียนได้ ถ้าสังคมไทยแยก 2 ส่วนนี้จากกันได้ จะทำให้การทบทวนวรรณกรรมมีพลังมากขึ้น ที่พูดอย่างนี้ไม่ได้โทษว่านักศึกษาไม่กล้า แต่ครูบาอาจารย์ก็ไม่ยอมให้วิพากษ์วิจารณ์ด้วย โดยให้เอางานไปใช้ เหมือนว่างานแนวนี้คือสิ่งที่ถูกที่สุด

เรื่องข้อจำกัดด้านกำแพงภาษาก็สำคัญ ถ้าจะทำงานให้มีลักษณะงอกงาม ก็ต้องข้ามไปอ่านภาษาอังกฤษ หลักๆ ปัญหาเรื่องพวกนี้คงมีหลายส่วน แต่ส่วนที่คนไม่ค่อยพูดถึง และอยากเสนอคือ เรื่องวัฒนธรรมการวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งเราพูดกันเยอะนะว่า สังคมไทยมีวัฒนธรรมการวิพากษ์วิจารณ์น้อย แต่พอพูดแบบนี้ทีไร มันก็ไม่มีรูปธรรมของปัญหาจริงๆ ผมคิดว่าอันหนึ่งที่อยากจะชี้คือวัฒนธรรมที่ผมรู้สึกว่าเราไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์งานวิชาการได้ เพราะเราแยกไม่ออกระหว่างการเคารพนับถือในส่วนบุคคล กับงานวิชาการ นี่คือปัญหาใหญ่อันหนึ่งในหลายๆ ปัญหา มีตัวอย่างที่ผมไม่อยากระบุตัวบุคคล คืองานหนึ่งของกลุ่มใหญ่มากที่พยายามจะสร้างวัฒนธรรมการวิจารณ์ผ่านวรรณกรรม แต่สุดท้ายก็มีมาสเตอร์ใหญ่ที่ห้ามวิจารณ์งานตัวเองอยู่ดี ทั้งที่เป็นหัวข้อชุดวิจัยที่ว่าด้วยวัฒนธรรมการวิจารณ์ ซึ่งเป็นเรื่องไอรอนนี่ (ย้อนแย้ง) มาก ตลกมาก

ในชีวิตวิชาการของตัวเอง เจอเรื่องพวกนี้เยอะมากจน…(เงียบ)…เซ็ง

ประวัติศาสตร์ศิลป์ เครื่องมือสร้างชาติ

ไม่ใช่แค่ ‘อายุสมัย-สุนทรียะ’

ย้อนไปที่วิทยานิพนธ์ของผม มันพูดถึงประวัติศาสตร์ศิลปะ การสร้างความรู้ของประวัติศาสตร์ศิลปะที่เข้าไปสัมพันธ์กับการสร้างรัฐในศตวรรษที่ 19 ถึงกลางศตวรรษที่ 20 นี่คือไอเดียหลักโดยประกอบด้วยประเด็นการสร้างรัฐในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์, ช่วงสร้างชาติ และช่วงงานชุดประวัติศาสตร์ศิลปะกับสงครามเย็น

งานของผมต้องการพูดในลักษณะที่ไม่ต้องการเข้าไปยุ่งกับการกำหนดอายุสมัยซึ่งเป็นปริมณฑลใหญ่ของงานวิชาการด้านนี้ อีกอย่างหนึ่งคือไม่สนใจการอธิบายทางสุนทรียภาพ ฝีมือช่าง แต่ไปยุ่งว่าการอธิบายประวัติศาสตร์ศิลปะเกี่ยวข้องกับการสร้างรัฐและสร้างชาติไทยอย่างไร

งานเขียนด้านประวัติศาสตร์ศิลปะไม่ใช่งานที่แค่ทำให้เราซาบซึ้งกับวัตถุทางศิลปะ หรือรู้จักอายุสมัยของมันซึ่งเป็นลักษณะทั่วไปของงานประวัติศาสตร์ศิลปะที่ผ่านมา แต่งานประวัติศาสตร์ศิลปะยังเข้าไปเป็นเครื่องมือในการก่อรูปรัฐชาติสมัยใหม่ (โชว์ภาพเก่าภายในอุโบสถวัดโสธรวรารามวรวิหาร ฉะเชิงเทรา) อย่างกรณีวัดโสธรซึ่งมีการสร้างโบสถ์ใหม่ที่ใช้เวลาหลายสิบปี ประเด็นคือ มีการนิมิตหรืออะไรบางอย่าง แล้วบอกว่าจะไม่มีทางย้ายหลวงพ่อโสธรออกจากที่ตั้ง ต้องตั้งที่เดิม เพราะฉะนั้นสถาปนิก ช่างก่อสร้างเลยทำโครงสร้างคลุมไว้ คนไม่มีทางได้เห็นหลวงพ่อโสธรองค์จริง จึงมีการสร้างองค์จำลองขึ้นประดิษฐานที่ศาลาข้างๆ เป็นอย่างนี้มาเรื่อยๆ 20-30 ปีจนสร้างโบสถ์ใหม่เสร็จ ปรากฏว่าคนจำนวนมากไม่รู้แล้วว่าองค์ไหนองค์จริง องค์ไหนจำลอง ถ้าลองไปเสิร์ชกูเกิล ในเว็บไซต์พันทิป ในหลายๆ ปีที่ผ่านมาจะมีคำถามเป็นระลอกๆ ว่าตกลงองค์ไหนองค์จริงกันแน่

หลวงพ่อโสธร

คำอธิบายใหม่ในอุดมการณ์ชาติ

ความพิเศษอีกอย่างหนึ่งคือ หลวงพ่อโสธรองค์จริง ประดิษฐานในสถาปัตยกรรมที่ยิ่งใหญ่มโหฬาร รัฐมองหลวงพ่อโสธร ว่าเป็นศิลปวัตถุสำคัญทั้งในแง่ของการศึกษาและของชาติ เลยห้ามปิดทอง ห้ามยุ่ง ห้ามจับต้อง มีการทำรั้วกั้น เพราะฉะนั้นคนต้องไหว้ห่างๆ ดอกไม้ก็อยู่ห่างๆ การแต่งกายก็ต้องสุภาพตามแบบรัฐ ใครไม่ถูกต้องก็จะมีผ้าถุงให้นุ่ง หมดวิกฤตโควิดลองไปดูที่วัดได้ หลวงพ่อโสธรอยู่ในพื้นที่ของศิลปกรรมไทยแบบทางการที่ภาครัฐคิดว่าควรจะเป็นเพื่อเชิดหน้าชูตา

ในทรรศนะผม นี่ไม่เอื้อกับปฏิสัมพันธ์แบบชาวบ้าน ออร่าความศักดิ์สิทธิ์ที่สัมพันธ์กับวิถีชีวิตหายไป หลวงพ่อโสธรองค์จริงจึงมีลักษณะของศิลปวัตถุซึ่งสนองต่ออุดมการณ์ของชาติอย่างเดียว ซึ่งในขณะที่โบสถ์หลวงพ่อโสธรองค์จริงเปิดขึ้น ศาลาที่ประดิษฐานองค์จำลองก็ไม่ได้รื้อไปไหน คนก็เข้าไปสัมผัสลูบคลำ ห่มผ้า รดน้ำ บวงสรวง เอาไข่ไปถวายเหมือนเดิม ปัจจุบันความศักดิ์สิทธิ์ขององค์จำลอง จึงมีมากกว่าองค์จริงแล้ว

นี่เป็นจุดเริ่มที่ทำให้รู้สึกว่า ตัวศิลปวัตถุมีคำอธิบาย หรืองานประวัติศาสตร์ศิลปะเข้าไปจับแล้วทำให้ความหมายเปลี่ยน

เพื่อตอบสนองเป้าหมายบางอย่างที่ไม่ใช่เรื่องศรัทธาทางศาสนาอย่างเดียว องค์จริงที่ผ่านการบูรณะโดยกรมศิลปากร มีลักษณะห่างไกลจากผู้คนออกไปทุกที ดังนั้น การที่รัฐเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ไปสร้างคำอธิบายใหม่ จนถึงการทรีตวัตถุเหล่านี้

เป้าหมายมันคืออะไร ก็คือรัฐกับชาตินั่นแหละ


ทำไมสุโขทัย?

‘ฟังแล้วอาจจะน่าตกใจประมาณหนึ่ง แต่ผมว่า เมคเซนส์’

“ถ้าให้พูดถึงต้นกำเนิดหรือยุคทองของชาติไทย คนส่วนใหญ่พูดถึงสุโขทัยซึ่งเป็นรัฐในอุดมคติ ศิลปะสุโขทัย เป็นยุคทอง ศิลปกรรมสุดยอด เป็นต้นแบบความเป็นไทย คำถามสำคัญคือ ความคิดนี้มาจากไหน?”

คือปริศนาข้อใหญ่ที่ ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์ภาควิชาสถาปัตยกรรมไทย รั้วศิลปากรพยายามค้นหาคำตอบ โดยหยิบยกกรณีตัวอย่างที่อาจกลายเป็นกุญแจไขปมคาใจ ซึ่งจะเป็นสิ่งอื่นใดไปไม่ได้ นอกจาก “พระพุทธรูปที่ประดิษฐานภายในระเบียงวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามฯ หรือวัดโพธิ์ ย่านท่าเตียน ซึ่งถูกอัญเชิญมามากมายจากหัวเมืองเหนือที่หมายถึงสุโขทัย ศรีสัชนาลัย พิษณุโลก ในครั้งรัชกาลที่ 1 ภายใต้คำอธิบายที่คุ้นหูว่า ในยุคนั้นเป็นช่วงกรำศึก ยังไม่มีช่างที่สามารถหล่อพระพุทธรูปให้ดีได้ เลยใช้วิธีขนย้ายมายังกรุงรัตนโกสินทร์ แต่ว่าที่ศาสตราจารย์คนใหม่ มีข้อเสนอที่น่าสนใจไปกว่านั้น

“สุโขทัยในสมัยอยุธยา มีสถานะเป็นแค่หัวเมืองฝ่ายเหนือแน่นอนว่าสำคัญ แต่ก็ไม่ได้สำคัญมากกว่านครศรีธรรมราช หรือโคราช คนอยุธยาไม่ได้คิดว่าสุโขทัยคือบรรพบุรุษชาวอยุธยา ในพงศาวดาร ถ้าจะพูดถึงบรรพบุรุษจริงๆ เขาไปเขมรอีกต่างหาก ไม่ได้มองสุโขทัยเป็นต้นกำเนิดเลย ถามว่าคนไทยปัจจุบัน ความรู้สึกหรือความคิดว่า สุโขทัยคือต้นกำเนิด มันมาจากไหน

ข้อเสนอของงานวิชาการที่ผ่านมา จะพูดถึงการที่รัชกาลที่ 4 ทรงค้นพบศิลาจารึกหลักที่ 1 ของพ่อขุนรามคำแหง ผลิตความรู้แบบสุโขทัยในรัฐอุดมคติ แต่ช่องว่างทางวิชาการที่ผมก็งงว่าทำไมไม่มีคนสนใจถามเลยคือ เพราะเหตุใดรัชกาลที่ 4 จึงสนพระทัยในสุโขทัย หลังจากนั้นรัชกาลที่ 5 และชนชั้นนำต่างๆ อย่าง จอมพล ป. พิบูลสงคราม หลวงวิจิตรวาทการก็ช่วยกันสร้างให้สุโขทัยเป็นรัฐอุดมคติในแบบที่เราเข้าใจ แต่คำถามสำคัญก็ยังคงอยู่ คือ ทำไมไม่เป็นลพบุรี โคราช นครศรีธรรมราช หรืออื่นๆ นี่คือช่องว่างที่ยังไม่มีใครตอบผมเลยลงไปหาคำตอบ”

ชาตรี ย้อนไปในประเด็นการขนย้ายพระพุทธรูปจากหัวเมืองเหนือที่เจ้าตัวบอกว่ามีเหตุผลสำคัญคือ “คุณสมบัติทางวัสดุล้วนๆ”

“ฟังแล้วอาจจะน่าตกใจประมาณหนึ่ง แต่ผมว่า เมคเซนส์ เพราะทำขึ้นจากโลหะสำริด ทำให้ 1.เบาแก่การขนย้าย 2.ขนย้ายได้ วัสดุอื่นๆ ในอดีต อย่าง 1.โลหะ 2.อิฐ 3.หิน

อิฐ ขนย้ายไม่ได้ พังเลย ยังไม่มีเทคโนโลยีแบบปัจจุบันที่สามารถตัด และยกมาทั้งอันได้ ส่วนหินย้ายได้แต่หนัก พอขนพระพุทธรูปจากเมืองเหนือเข้า กทม.แล้ว มันก็จะเข้าทฤษฎีแมททีเรียล คัลเจอร์ คือ ทำให้พระพุทธรูปสุโขทัยมาปรากฏในราชอาณาจักรใหม่ ผู้คนกราบไหว้พระพุทธรูปสุโขทัย

เวลาขนมา ไม่ได้มาแต่วัตถุ แต่มาพร้อมเรื่องเล่า ตำนานจากเมืองเหนือมาถึงกรุงรัตนโกสินทร์ สุดท้าย รัชกาลที่ 2 ทรงรวบรวมเรื่องเล่าเหล่านี้มาเขียนเป็นพงศาวดารเหนือ เพราะฉะนั้น พระพุทธรูปสุโขทัยที่มาพร้อมพระร่วง ซึ่งเป็นวีรบุรุษของคนสุโขทัย ก็ส่งมาที่กรุงเทพฯ ทั้งที่คนอยุธยาไม่ค่อยสนใจ

สิ่งเหล่านี้ หล่อหลอม 10 ปี 20 ปี 30 ปี 40 ปี จนทำให้วัฒนธรรมสุโขทัยพิเศษในทรรศนะคนยุคต้นรัตนโกสินทร์ รวมถึงรัชกาลที่ 4

ข้อเสนอของผมคือ สุโขทัยในความรับรู้ของคนยุคต้นรัตนโกสินทร์ ต่างจากสุโขทัยที่รับรู้โดยคนอยุธยา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image