ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ แกนนำ ‘ไอลอว์’ ‘ผมสู้เป็นนิสัย ไม่ชนะก็ได้’

“เสียงของทุกคนมีความหมายครับ เชิญช่วยกันเปิดทางร่างรัฐธรรมนูญใหม่ของประชาชน ยกเลิกรัฐธรรมนูญ คสช.ครับ ขอเชิญทุกท่านนะครับ” เป็นประโยคซ้ำๆ ผ่านโทรโข่งด้วยถ้อยคำและสุ้มเสียงที่คุ้นหูจากซุ้มล่า 5 หมื่นชื่อเพื่อ “ร่วมรื้อ ร่วมสร้าง ร่วมร่างรัฐธรรมนูญ” ในแฟลชม็อบมากมายที่มักลงท้ายด้วยคำว่า “ไม่ทน” อีกทั้งยังมีการตั้งโต๊ะตามสถานศึกษาต่างๆ ยังไม่นับการขึ้นปราศรัยในหลายเวทีทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ คือเจ้าของเสียงที่ไม่ได้เปิดเทปวน หากแต่ลงพื้นที่ในฐานะผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ “ไอลอว์”

นับแต่เปิดตัวแคมเปญจนถึงวันนี้ ตัวเลขเดินทางมาไกลเกือบถึงเส้นชัยเข้าไปทุกที

ผู้คนที่ต่อแถวพร้อมบัตรประชาชนในมือ กลายเป็นส่วนหนึ่งของภาพจำในประวัติศาสตร์การเมืองร่วมสมัย ในยุครัฐบาลประยุทธ์ 2

Advertisement

เปล่าเลย บทสัมภาษณ์จากบรรทัดต่อไปนี้ ไม่ใช่การพูดคุยเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ 2560 หรือยุทธศาสตร์การต่อสู้ในกระบวนท่าถัดไป หากแต่เป็นเรื่องราวของชีวิต ความคิด ความเห็น ของชายวัย 34 ปีที่ให้คำตอบอย่างตรงไปตรงมาว่า เมื่อครั้งสอบเอ็นทรานซ์เข้าเป็นเฟรชชี่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีเหตุผลเพียงเพราะหาคำตอบต่อคำถามของตัวเองไม่ได้ ไม่เคยคิดเรื่องอุดมการณ์ การต่อสู้ใดๆ

“เด็ก ม.ปลายมันจะต้องมีคำถามว่า ฉันอยากเป็นอะไร เรียนอะไร อยากทำอะไรในอนาคต ตอนนั้นไม่มีคำตอบเลย พอไม่มีคำตอบก็เป็นความทุกข์ทรมานของเด็ก ม.ปลาย ซึ่งผมก็ตอบไม่ได้หรอก แต่เพื่อให้ตัวเองไม่ต้องทุกข์ทรมานกับการหาคำตอบ เลยบอกว่า งั้นเป็นทนายออฟฟิศพ่อนี่แหละ คิดอะไรเยอะแยะ ก็เรียนนิติศาสตร์”

เด็กชายยิ่งชีพ เกิดในครอบครัวนักกฎหมาย บิดาเป็นชาวไทยเชื้อสายจีนแต้จิ๋ว เปิดสำนักงานกฎหมายในย่านบางลำภู กรุงเทพฯ เรียนมัธยมที่สวนกุหลาบวิทยาลัย นั่งเก้าอี้ตัวเล็กๆ เป็นประธานชุมนุมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ ม.4

Advertisement

“ตอนเด็กพูดน้อย ไม่พูดเลย แต่พอ ม.ปลาย พูด ชอบทำกิจกรรม เรียนดี แต่ไม่ตั้งใจ เวลาทำการบ้านก็ส่งพร้อมพวกหลังห้อง อาจารย์ถาม ไม่ตอบ (ยกมือไหว้) บอก ผมไม่ได้ฟัง ขอโทษครับอาจารย์ ตกเย็นจะเห็นไปอยู่ห้องชุมนุม ตอนเช้าอยู่หน้าเสาธงเรียกเข้าแถว อะไรประมาณนี้”

เป็นคำบอกเล่าถึงชีวิตวัยเยาว์ของตัวเอง ก่อนเข้าสู่คำตอบในคำถามถัดไปจนจบบทสนทนาที่ไม่ต้องเสียเวลาประดิษฐ์คำ

 

บอกว่าไม่มีเหตุผลเชิงวิชาการ หรืออุดมการณ์ตอนเลือกเรียนกฎหมาย แล้วทำไมสุดท้ายมาอยู่ ‘ไอลอว์’

ก็ไม่ได้อยากเป็นข้าราชการ ไม่ได้อยากสอบผู้พิพากษา ไม่ได้อยากทำงานที่คนอื่นเขาทำๆ กัน สมัครงานไปบ้างหลายที่ ตอนนั้นโครงการอาสาสมัครนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนของมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคมเปิดรับ แต่ผมไม่ได้ยินคำว่านักกฎหมายสิทธิมนุษยชนเลย ได้ยินคำว่าอาสาสมัครอย่างเดียว ฟังดูเท่ดี น่าสนุก เลยสมัคร เขามีให้เลือก 20 กว่าองค์กรว่าชอบแบบไหน มีคนทำเรื่องสัญชาติที่แม่ฮ่องสอน เรื่องเหมืองแร่ที่พิจิตร 3 เรื่องจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ตอนนั้นมีภารกิจส่วนตัวอยู่บ้างที่กรุงเทพฯ เลยเลือกองค์กรที่อยู่ใกล้ๆ มีอันนี้ ก็เลือกทำ (หัวเราะ)

แล้วเคยคิดมาก่อนไหมว่า วันหนึ่งผู้จัดการไอลอว์ต้องขึ้นเวทีปราศรัย?

คิดช่วงปี 57-58 ก่อนหน้านั้นไม่เคยคิดเลย ไม่ชอบ ผมไปชุมนุมทางการเมือง ทั้งเสื้อเหลือง เสื้อแดง เสื้อเหลืองตอนมาใหม่ๆ เห็นด้วยก็ไป ตอนนั้นเรียนธรรมศาสตร์ เขาชุมนุมสนามหลวง เดินออกจากประตูรั้วมหา’ลัยก็ไปนั่งชุมนุม ตอนเสื้อแดงบางช่วง เห็นด้วยก็ไป ใส่เสื้อแดงก็เคย ไปแบบไม่ใส่เสื้อแดงก็เคย

ไม่ชอบการปราศรัยแบบ พี่น้องเอ้ยยย ต้องพูดใส่น้ำหนักให้คนตบมือ แต่ช่วง 57-58 เป็นช่วงที่ คสช.เข้ามา แล้วเราติดตามบันทึกข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นประกาศคำสั่ง การจับกุม ดำเนินคดี เอาคนขึ้นศาลทหาร เอาคนเข้าคุก บางคนไม่ให้ประกันตัวอะไรก็แล้วแต่ มันก็รู้สึกเจ็บแค้นไปด้วย เราไม่รู้สึกเท่ากับคนที่เขาโดนเองหรอกแต่ไปเห็นมาเอง เราก็รู้สึกพอสมควร คิดว่าถ้าวันหนึ่งมันจะต้องมีการขับไล่ คสช. คิดว่าทำอะไรได้จะทำหมด ไม่ได้เป็นคนชอบปราศรัย แต่ในฐานะที่เห็นข้อมูลทุกอย่าง ถ้าต้องพูด ก็จะพูด ประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญ เราเป็นคนเสนอให้คนมาเข้าชื่อครบ 5 หมื่น ก็ต้องอธิบายเอง ถ้าถึงตรงนั้นไม่อธิบาย มันก็คือเราไม่ทำงาน ก่อนหน้านั้นเคยมีน้องที่จัดงานมาชวนว่า ปราศรัยไหม ผมบอกว่าไม่อยาก แต่ถ้าจำเป็น ก็ได้

แล้วม็อบ กปปส. ไปไหม ?

ไม่ไปเลย ไม่ชอบ ไม่เห็นด้วย แต่ติดตามทางทีวี สิ่งที่ม็อบ กปปส.ขาดคือ ไม่มีข้อมูล เขารู้ว่าจะด่ารัฐบาลเดิมอย่างไร แต่ปราศรัยไม่มีเนื้อ มีแต่หลักลอยๆ ว่าไม่เอาคนโกง ต้องทำเพื่อชาติ การชุมนุมที่ดี มีคุณภาพต้องมีข้อมูล คุณจะบอกว่าใครไม่ดี ต้องอธิบายในรายละเอียดได้ ม็อบ กปปส. มีไม่กี่คนที่พูดรายละเอียดได้ แล้วจะเอาอะไร คุณต้องบอกได้เป็นรูปธรรม ถึงจะพาการเคลื่อนไหวไปได้

ในช่วงปี 57-59 มันไม่ได้มีการชุมนุมมากนัก สิ่งที่เราทำคือข้อมูลอย่างเดียวเพื่อรอวันหนึ่งที่มันจะถูกใช้ การมีรัฐประหารไม่ดีอย่างไร การมี คสช.ไม่ดีอย่างไร การให้ทหารเป็นผู้นำ เอื้อผลประโยชน์พวกพ้อง ออกกฎหมายเอื้อประโยชน์ตัวเอง ละเมิดสิทธิประชาชน เราติดตามและมั่นใจว่า วันที่คนเปิดใจพร้อมฟังว่า คสช.ไม่ดีอย่างไร เราจะเป็นคนพูด และเราพูดได้ แต่ไม่มีความกระเหี้ยนกระหือรืออยากขึ้นเวทีชุมนุม แต่ถ้าเป็นเสวนา เป็นพื้นที่ของเรา ให้พูดอะไรก็พูดได้

ในยุคนี้ ผมก็เห็นเหมือนกันว่า การชุมนุมก็ต้องเติมข้อมูล เวลาจะด่ารัฐบาล คสช. ประยุทธ์ 1 ประยุทธ์ 2 ต้องเป็นรูปธรรมชัดเจนที่จะทำให้คนที่ไม่เคยรู้อะไรบางอย่าง ได้รู้มากขึ้นแล้วอาจจะตัดสินใจว่าโอ้! ถ้าขนาดนี้เลย ทนไม่ไหวแล้ว ไปร่วมดีกว่า

ถ้ายิ่งชีพยังเป็นเยาวชน จะเป็นแกนนำสวนกุหลาบไม่ทนอะไรแบบนี้หรือเปล่า?

ผมว่าไม่ใช่ คือน่าจะเป็นคนทำ แต่คงไม่ใช่แกนนำ เห็นน้องๆ หลายคนที่เป็นตัวตั้งตัวตีในการจัดกิจกรรมช่วงนี้ โอ้โฮ! เขามุ่งมั่น มีพลังงานมหาศาล ไม่แน่ใจว่าตัวเองเป็นคนนั้นหรือเปล่า แต่ตอนเด็กๆ ถ้าเพื่อนทำ ก็ทำด้วยแน่ๆ อาจอยู่หลังเวที หรือเป็นพิธีกร

ในทุกแฟลชม็อบ ซุ้มไอลอว์ฮอตเว่อร์ ต่อคิวรอลงชื่อแถวยาวมาก โดยเฉพาะวัยรุ่น กลายเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจมาก ?

กระแสดีกว่าที่คิดมาก ช่วงแรกๆ บรรยากาศเหมือนไปคอนเสิร์ตเกาหลี เคยเห็นตามห้างที่คนไปเข้าคิวนั่งๆ นอนๆ รอ เป็นวัยรุ่น ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงแต่งตัวดีๆ เราก็เป็นแบบนี้เลย คนมาเข้าชื่อก็แต่งตัวดีๆ เป็นวัยรุ่น ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง พร้อมเข้าคิว ไม่บ่น

วันที่เริ่ม คิดว่าถ้ากระแสดีๆ ใช้เวลา 6 เดือน เมื่อมีการชุมนุมเรื่อยๆ ก็ไปตั้งโต๊ะที่ชุมนุมต่างๆ อย่างวันที่ไป มศว องครักษ์ได้ 227 ชื่อ ผมคิดว่ามันจะเป็นลักษณะนี้ คือที่ละ 200-300 หรือ 400 ถ้าไปเยอะๆ สัก 6 เดือน 50 ที่ เดี๋ยวก็คงได้ แต่ไม่ใช่ เพราะมันง่ายกว่านั้น เราเปิดตัว

วันที่ 7 สิงหาคม แล้ววันที่ 8 มีงานของกลุ่มแคร์ที่ลิโด้ คนลงทะเบียนมางานกลุ่มแคร์มี 100 คน ผมหยิบพรินเตอร์ใส่รถเตรียมไว้เครื่องเดียว ตื่นเช้ามา 9 โมง ทวีตด้วยตัวเองว่า วันนี้จะไปตั้งโต๊ะที่ลิโด้ ใครผ่านก็แวะมาแล้วกัน เผื่อคนไปเที่ยวสยามแวะมาสัก 20 คนก็ดีใจ ครึ่งชั่วโมงมีคนรีทวิตไป 2,000 เลยคว้าพรินเตอร์ที่บ้านไปอีกตัวหนึ่ง กระดาษเอสี่ที่บ้านมีปึ๊งหนึ่ง ก็คว้าไป โอ้โห คนต่อคิวเยอะมาก

พอเที่ยงตรง เราก็ทวีตในไอลอว์ แป๊บหนึ่งคนรีทวีต 2-3 พันแล้ว กลิ่นนี้แปลกมาก บ่าย 2 ถึงทุ่มหนึ่ง คนมาตลอด วันนั้นซื้อกระดาษเพิ่ม 2 รีม ผิดพลาดทุกอย่าง กะว่าคน 100 กว่าคน แต่วันนั้นได้ 1,100 กว่าชื่อ ถ้าเตรียมตัวดีกว่านั้น น่าจะได้เยอะกว่านั้นนิดหน่อย แต่ส่วนใหญ่ที่มา เห็นคิวยาวก็รอนะ บางคนอาจจะรอถึงครึ่ง ชม. หลังจากนั้นก็รู้แล้วว่า กระแสดีผิดปกติ วันที่ 9 สิงหาคม นอน วันที่ 10 ธรรมศาสตร์ รังสิต ได้ 4,000 รู้แล้วว่ากระแสมา ไปไหนต้องเตรียมคนเยอะตลอด

ส่วนลาดกระบัง ได้ 2,200 ชื่อ ตอนแรกเข้าใจผิดว่ามหา’ลัยเรียนวิศวะ เรียนไฟฟ้า อาจจะไม่ได้แน่นการเมืองไหม ไม่ใช่ คนเยอะมาก มาชุมนุมกัน 3-4 พัน บางงานคนไม่เยอะ คนลงชื่อ 300-400 ก็โอเค ศิลปากร วังท่าพระ ได้ 200-300 ซึ่งเยอนะ ถ้าเทียบกับการไม่ได้มีอีเวนต์ แค่ตั้งโต๊ะเฉยๆ

ยอดต่อวัน ที่มากสุดคือหมื่นกว่าชื่อจากชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย 16 สิงหา ความอลหม่านหลังม่านไอลอว์เป็นอย่างไรบ้าง ?

วันนั้นเตรียมตัวดีที่สุดเท่าที่เกิดมาจะทำได้ ด้วยอุปกรณ์ทั้งหมด คนทั้งหมดที่มี เพื่อนทุกคนที่รู้จัก ชวนกันมาช่วย ผมคิดอยู่แล้วว่าต้องได้เยอะ คิดว่าคนจะมาชุมนุมหมื่นบวกแน่นอน แต่ไม่รู้เท่าไหร่ ร้อยละ 80 ต้องพร้อมลงชื่อ ความท้าทายอยู่ที่ระบบการจัดการ เพราะคนต้องมาเยอะแน่ แต่ทำทันหรือเปล่า ก็พยายามวางระบบที่ใหญ่ที่สุด คือ 7 โต๊ะ ใหญ่กว่านี้ไม่ได้แล้ว แค่วิ่งเติมกระดาษ เปลี่ยนหมึกพรินต์ก็ไม่ทันแล้ว แต่ที่ไม่คาดคือ คนมาชุมนุมมากกว่าที่คิด นัดชุมนุมบ่าย 3 เราเปิดโต๊ะบ่าย 2 ปรากฏว่าบ่ายโมง คนเข้าคิวแล้ว (หัวเราะ) วุ่นกว่าที่คิดมาก พีคตั้งแต่บ่าย 3-4 โมงเย็น คิวยาวเกินร้อย หาพรินเตอร์เพิ่มหน้างาน หากระดาษเพิ่มหน้างานด้วย

การเชิญชวนลงชื่อในทุกชุมนุม ทีมงานไอลอว์ ‘เอเนอจี้’ สูงมาก เอาพลังมาจากไหน ?

ซ้อมๆ มีคุยกันก่อนครับ แต่ปัจจัยหลัก ผมคิดว่ามาจากผลตอบรับ สมมุติว่าเราตะโกนเรียก 5 นาทีคนเดินผ่านไป 50 คนไม่มีใครเข้าเลย เอเนอจี้เตรียมเท่าไหร่ก็หมด แต่คนที่มาชุมนุม เดินมาเท่าไหร่ ก็ลงชื่อสักร้อยละ 80

ในเวที ‘เพื่อปรีดี เพื่ออยุธยา เพื่อประชาธิปไตย’ ที่หน้าศาลากลางเก่าอยุธยา 21 สิงหา ปราศรัยบนเวทีว่ามีเด็กที่อายุไม่ถึงมาขอลงชื่อเยอะมาก ?

มีทุกที่ครับ ทุกคนเห็นอยู่แล้วว่าความตื่นตัวทางการเมืองของคน อายุลดน้อยลงเรื่อยๆ เด็กมัธยมมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ ที่อยุธยา ชัดเจน เพราะกลายเป็นว่าผู้ชุมนุมหลักที่อยุธยาคือเด็กมัธยม และเป็นผู้หญิงด้วย จำนวนหนึ่งลงชื่อได้ จำนวนหนึ่งก็ ม.ต้นเลย ควักบัตรปุ๊บ อายุไม่ถึง ลงไม่ได้จริงๆ

น่าสังเกตว่าตอนนี้เยาวชนผู้หญิงมีส่วนร่วมทางการเมืองมากกว่าผู้ชาย บางคนวิเคราะห์ว่าเป็นเพราะได้รับผลกระทบเยอะกว่าในแง่เสื้อผ้าหน้าผมและระเบียบในโรงเรียน ส่วนตัวมีทฤษฎีไหม ?

ก็เป็นไปได้ แต่คงไม่ใช่แค่ทรงผม คิดว่าเป็นเรื่องอนาคต คนส่วนใหญ่ที่ออกมาชุมนุม เขาไม่พอใจชีวิตที่เป็นอยู่ ผู้หญิงมีโอกาสถูกกดทับทางวัฒนธรรมมากกว่า ผู้หญิงอาจเล่นทวิตเตอร์มากกว่าด้วย สถิติบอกมาอย่างนั้น ผมไม่มีข้อมูลทางวิชาการแต่เท่าที่ติดตามสถานการณ์มา ส่วนหนึ่งคือคนที่เริ่มเล่นทวิตเตอร์ มาจากวัฒนธรรมบันเทิง ตามเกาหลี ดารา ดูละคร แล้วก็เมาธ์กัน จัดตั้งกลุ่มแฟนคลับ เป็นด้อม พอการเมืองมา พื้นที่ทวิตเตอร์ก็ทำงานคล้ายกัน แต่ผมเคยถามน้องที่เป็นแฟนคลับเกาหลีด้วย และอินการเมืองด้วย เขาบอกว่า ที่เห็นการเมืองอินๆ เกาหลีอินกว่า การจัดตั้งของสายบันเทิงโตมาแบบนั้น พอการเมืองอยู่ในทวิตเตอร์เยอะๆ แล้วเขาก็จัดตั้งในวัฒนธรรมแบบเดียวกันกับบันเทิง

เยาวชนบอกว่า ออกมาสู้เพราะนอกจากอนาคตตัวเอง ก็ไม่อยากให้ลูกหลานเกิดมาในประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ยิ่งชีพสู้ด้วยเหตุผลเดียวกันไหม ?

ไม่ คือผมเป็นคนแบบนี้ มันเป็นนิสัย สู้เป็นนิสัย ต้องได้ทำอะไรบางอย่างอยู่ตลอดเวลาถึงจะรู้สึกว่าแฮปปี้กับตัวเอง ทำอะไรได้ก็ทำ ได้ทำก็สนุกแล้ว ไม่ชนะก็ได้ ผมเจนเอ็กซ์ปลายๆ วายต้นๆ เป็นเจนที่เด็กพวกนี้ด่ากระจายว่าไม่ทำอะไร ก็จริง สังคมเป็นแบบนี้ โตมาแบบนี้ ทนได้ ทนกว่าเด็กๆ พวกนี้เยอะ อะไรที่เขาบอกจะไม่ทนๆๆ เราทนมาเยอะแล้ว อยู่กับความไม่เป็นธรรม โกรธไหม โกรธ แต่แก้ไม่ได้ มีเซนส์แบบนี้อยู่ ไม่ได้เห็นด้วยกับตัวเอง แต่ลึกๆ ด้วยความที่โตมาในเจนนี้ ก็ไมได้อินเท่าเด็กๆ พูดจริงๆ ขอโทษด้วยน้องๆ (หัวเราะ) แต่พอดีอยู่ตรงนี้ ทำงานที่นี่ ตำแหน่งนี้ ก็จะทำให้ดีที่สุด เพราะสนุกกับการทำอะไรทุกวัน แต่ภารกิจในการต้องเปลี่ยนโลกให้ได้ เพื่อตัวเองและคนรุ่นถัดไปไมได้มีอิทธิพลกับผมมากเท่าน้องๆที่เขาเป็นอยู่

ตอนนี้ อายุ 34 กว่าๆ เกือบ 35 แล้วก็เริ่มตั้งคำถามว่าแก่ไปจะเป็นอย่างไร คำตอบที่มีให้ตัวเองยังไม่ชัด แต่อยากเป็นคนที่แก่แล้วยังทำงานได้ ยังมีคุณค่า แต่ร่างกายมันก็ถดถอย สมัยทำกิจกรรมมหา’ลัย งานยก มาเลย ผมทำชุมนุมเชียร์ธรรมศาสตร์ ยกเพลทขึ้นแปรอักษร เหนื่อยไหม เหนื่อย แต่อยากยก ตอนนี้ไม่อยากยกพรินเตอร์เลย เหนื่อยมาก (หัวเราะ)

ช่วงนี้เดินสายตลอด นอนวันละกี่ชั่วโมง มีเก็บไปฝันไหม?

ไม่ค่อยได้นอนเลย (เสียงอ่อน) จริงๆ ผมนอนวันละ 6-7 ชั่วโมงตลอดแหละ แต่มันไม่ได้พัก มีบ้างที่เก็บไปฝัน แต่ส่วนใหญ่ถึงเตียงแล้วหลับไปเลย มันเหนื่อย มันล้าแล้วบอกตรงๆ ถ้านับตั้งแต่ชุมนุมใหญ่ 18 กรกฎาคม ก็ประมาณเดือนครึ่งเอง แต่ทุกคนในทีมล้า

กับบทบาทตรงนี้ ครอบครัวมีความเห็นอย่างไรบ้าง เป็นห่วงไหม ?

ไม่มีพ่อแม่คนไหนอยากให้ลูกทำงานแบบนี้ แบบคาดหมายว่ามีลูกโตมาจะเป็นเอ็นจีโอต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ไม่แน่ใจว่าจะมีพ่อแม่แบบนี้ไหม แต่ไม่ใช่พ่อแม่ผมก็แล้วกัน แน่นอนเขาไม่อยากให้ทำ แต่ผ่านกระบวนการคุยมา ตอนคุย หนักคือช่วงปีที่ 2 ปีที่ 3 ที่เขาพยายามจะให้ไปทำอย่างอื่น พอผ่านมามันก็ค่อยๆ ใช้เวลาในการสร้างความเข้าใจ พอเขาเห็นว่าเราทำตรงนี้ก็ไม่ได้เดือดร้อน ไม่เบียดเบียนใคร มีเงินกินข้าว มีโอกาสพัฒนาตัวเอง ได้ทำอะไรใหม่ๆ ที่ได้ขยับชีวิตไปข้างหน้าได้เรื่อยๆ ลึกๆ พ่อแม่คงไมได้คิดว่าต้องเป็นผู้พิพากษาเท่านั้นถึงจะถูกต้อง แต่เขาอยากให้เรามีเกียรติในสังคม อยากให้มีเครือข่ายเพื่อนฝูงที่โอเค ซึ่งที่นี่ก็มีได้ เขาก็เลิกบ่นไปเอง แรกๆ บ่นเยอะมาก ตอนทำงานใหม่ๆ เงินเดือนก็สตาร์ตต่ำหน่อย ต้องพยายามใช้ให้พอ เขาถามเงินเดือนเท่าไหร่ ก็อ่ะๆ เอาไป 2 พัน อะไรอย่างนี้ (หัวเราะ) ไม่ได้ยืมนะ เขาให้

ถ้าวันนี้ไม่ได้ทำไอลอว์ คิดว่าตัวเองทำอะไรอยู่ ?

ปลูกต้นไม้ นี่วางแผนเลย รับจ้างไร่ละหมื่นเอง คิดไว้ 3 โมเดล โมเดลแรกคือ คนที่มีที่รกร้างว่างเปล่า ต้องเสียภาษี หลายคนเลยปลูกกล้วย มะม่วง ไว้ก่อนเพื่อให้เป็นเกษตร แต่ไม่มีการดูแล ก็ตาย แต่ต้องปลูก ถ้าไม่ปลูกเสียภาษีแพง อย่าทำอย่างนั้นเลย ให้เราทำดีกว่า คิดไร่ละหมื่น ปลูกไม้ใหญ่ ประดู่ มะค่า สัก ที่ตัดขายได้ ไม่ต้องดูแลเยอะ 15-20 ปี โลกได้ต้นไม้ 30 ปี ถ้าอยากตัดขาย กำไรกว่าปลูกมะม่วง กล้วย เยอะมาก

โมเดลที่ 2 ทำฟรี เอาที่มาให้พอ แต่คุณจ่ายภาษีนะ เราจะปลูกแบบอนุรักษ์ มีความหลากหลายพันธุ์ แต่ไม่รับประกันผล มันอาจจะตายก็ได้

โมเดลที่ 3 ทำเหมือนทริปพาคนไปเที่ยว เก็บตังค์ 2,000 นอน 1 คืน ทริปละ 15 คนได้ 30,000 บาท พาไปเรียนรู้ว่าพื้นที่ตรงนี้ธรรมชาติเป็นอย่างไร ต้องปลูกต้นอะไร แล้วพาเขาไปปลูก

ปีที่แล้ว เวลาคนถามว่างานอดิเรกคืออะไร ไม่มี ทำงานอย่างเดียวทุกเวลา คือมันก็มีเวลาที่นอนเฉยๆ ดูหนัง ฟังเพลง แต่ไม่เป็นชิ้นเป็นอัน ผมคิดว่างานอดิเรกต้องเป็นชิ้นเป็นอัน เช่น ถ้าเป็นหนังแนวนี้ ผู้กำกับคนนี้ ดูทุกเรื่อง แต่ผมไม่เป็นชิ้นเป็นอัน อะไรก็ได้ดูหมด และไม่ตาม ว่าหนังเรื่องนี้ของผู้กำกับคนนี้มาแล้ว แต่ช่วงนี้ปลูกต้นไม้ ไปเรียนมา ผมอินเรื่องอยากให้บ้านเมืองมีต้นไม้ใหญ่ อยากให้ในเมืองมีร่มเงา มีเพื่อนชวนไปเรียน จริงจังมาก 10 วัน เป็นหลักสูตรปลูกป่า ที่โรงเรียนปลูกป่าขอนแก่นเมื่อช่วงต้นปี

ถามจริงๆ นี่เนิร์ดไหม ?

เนิร์ด ทำอะไรมีทฤษฎี ไม่ว่าจะปลูกต้นไม้ เข้าชื่อแก้รัฐธรรมนูญ ล้มรัฐบาล มีทฤษฎีหมด (หัวเราะ) ไม่ชอบนอนอยู่เฉยๆ จริงจังตลอด เครียดก็สนุกได้ ไม่ค่อยมีเวลาเล่น ตอนเด็กๆ เพื่อนน้อย

อาจเป็นคำถามตามสูตรสำเร็จ แต่อยากถามถึงความภูมิใจในชีวิตการทำงานเมื่อย้อนกลับไปมองจากจุดเริ่มต้นจนมาถึงวันนี้ ?

ไม่มีก้อนเดียว มีเป็นแวบๆ ได้ไหม คือตั้งแต่ คสช.มา เราก็ทำงานแบบอดทน เก็บข้อมูล บันทึก เผยแพร่บนโลกออนไลน์ ความภาคภูมิใจจะมาเวลาได้ยินคนพูดถึง คสช.โดยเป็นคำที่เราทำ มั่นใจนี่ข้อมูลเราแน่นอน เขาไม่ต้องรู้หรอกว่าเราทำ เราอาจขึ้นเว็บไว้แล้วอ่านยาก บางเพจก็หยิบไปเล่นเป็นการ์ตูน เขาอาจอ่านการ์ตูนมาแล้วเอาไปพูดต่อ เช่น สนช.ออกกฎหมาย 244 ฉบับ ประกาศ คสช. รวมแล้ว 556 ฉบับ รวมแล้วพันนึงพอดี อันนี้เราทำ กรรมการสรรหา ส.ว. มีใครบ้าง อันนี้ข้อมูลเรา สนช.โดดประชุม อะไรอย่างนี้ พอได้ยินแว่วๆ ก็รู้สึกว่าสิ่งที่ทำอยู่มันค่อยๆ ซึมอยู่ในพื้นที่ของสังคม

เราได้ส่งข้อมูลบางอย่างเข้าไปฝังไว้ในสังคม ก็พอใจแล้ว

 


 

30 วันปฏิบัติการล่า 5 หมื่นชื่อ ‘ขอให้ครบใน 19 กันยา’

7 สิงหาคม คือวันเปิดตัวแคมเปญ “เข้าชื่อ 5 หมื่นชื่อ ร่วมรื้อ ร่วมสร้าง ร่วมร่างรัฐธรรมนูญ” เพื่อเชิญชวนให้ผู้คนร่วมลงชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

จากวันนั้น จนถึงวันนี้ เป็นเวลา 30 วันเต็มภายใต้กระแสตอบรับดีเยี่ยมเกินคาดหมาย

“มั่นใจว่าครบในเดือนนี้ …จะประกาศว่าขอให้ครบใน 19 กันยายน ถ้าครบก่อนก็ดีไป”

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ “ไอลอว์” เจ้าของแคมเปญ กล่าวก่อนเล่าต่อไปว่า นอกจากรายชื่อที่ได้จากการต่อแถวตามแฟลชม็อบและการเดินสายตั้งโต๊ะ รวมถึงไปรษณีย์ ยังมีคนไทยในต่างแดนส่งเอกสารมาให้จากต่างประเทศมากมาย ญี่ปุ่น อเมริกา อังกฤษ สแกนดิเนเวีย และอื่นๆ ที่จำไม่หมด

“เขามีการส่งรวมกันด้วย สมมุติว่าอยู่สวีเดน 5 คน ส่งคนละครั้ง มันแพง จะมีคนไปรวบรวมแล้วส่งทีเดียว”

หากยึดข้อมูลตามเว็บไซต์ https://50000con.ilaw.or.th ที่อัพเดตยอดรายวัน

นับถอยหลังอีกราวหมื่นชื่อนิดๆ ก็จะถึงเส้นชัยในการ “เติมดาวบนท้องฟ้าให้ครบ” จบตามธีมแคมแปญ

สำหรับประเด็นการแก้ไข มีหลักสำคัญ ได้แก่ นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส., ส.ว. ต้องมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน, แก้กระบวนการสรรหาคนในองค์กรอิสระ, ปลดล็อกกลไกรัฐธรรมนูญ และมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้ง 200 คน โดยต้องจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เสร็จใน 360 วันนับแต่มี ส.ส.ร.

วันที่เก็บยอดได้เยอะสุด คือ 10,521 ชื่อ จากการชุมนุมใหญ่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยมี “แม่ค้าขายผัดไทย” เข็นรถถือบัตรประชาชนลงนามเป็นคนสุดท้ายเมื่อเวลาราว 5 ทุ่ม 10 นาที

11 ตัวคือจำนวนพรินเตอร์ที่ถูกใช้ในวันนั้น เพื่อถ่ายสำเนาบัตรประชาชนใน 7 โต๊ะ

ภาพคนชูนิ้วชี้ เป็นสัญลักษณ์แทน “ปากกา” ในการร่วมลงชื่อแก้รัฐธรรมนูญยังเป็นอีกภาพจำของบรรยากาศในวันนั้น

“คิดสด ไม่ได้เตรียมตัวเลย วันนั้น สิ่งที่คิดในหัวตลอดเวลา คือ พรินเตอร์กี่ตัว พอไหม สายไฟ กระดาษกี่แผ่น รถกี่คันที่จะขนของไป คนที่จะมาช่วย 40-50 คนเป็นใครบ้าง ตอนไปยืนข้างเวที ในใจคิดแค่ว่า ภาพที่ถ่ายออกมา อยากจะให้มีภาพจำ ที่ไม่ใช่ชู 3 นิ้ว เพราะถ่ายเมื่อไหร่ก็มี มีการชุมนุมหนึ่งที่บางมด (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี) ให้ชูปากกา แต่วันนั้นบางคนอาจไม่มี เดี๋ยวคนชูน้อย เลยใช้ 1 นิ้วเป็นปากกาเข้าชื่อ

ไม่รู้ว่าเวิร์กไหม (ยิ้ม)”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image