‘ภาวิต จิตรกร’ ซีอีโอ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ บริหารงานแบบมะพร้าวนอกสวน ยืนหยัดธุรกิจโชว์บิซ-มิวสิก ไม่มีวันตาย

ภาวิต จิตรกร

“ผมน่ะเป็นมะพร้าวนอกสวน” คือนิยามที่ภาวิต จิตรกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายธุรกิจ จีเอ็มเอ็ม มิวสิค บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) เรียกแทนตัวเอง

จากชีวิตที่โลดแล่นอยู่ในวงการโฆษณากว่า 20 ปี สร้างชื่อเสียง คว้ารางวัล และมีรายได้เติบโต จนกระทั่งปี 2559 ตัดสินใจย้ายมารับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่การตลาด ที่จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ และขึ้นสู่ตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายธุรกิจ จีเอ็มเอ็ม มิวสิค ในปี 2560

จีเอ็มเอ็ม มิวสิค รับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างไร ?

จนปัจจุบันที่ทั่วโลกกำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และยังไม่มีทีท่าคลี่คลายลง ยอมรับว่าเหนื่อยขึ้น เพราะในมุมของธุรกิจมีความยากซ้อนอยู่ยิ่งกว่าเดิม ได้เตรียมใจไว้แล้วกับความยากในการทำงานปีนี้ แต่ด้วยภูมิคุ้มกันของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จะไวต่อสถานการณ์วิกฤต เพราะวิกฤตที่เกิดขึ้นจะกระทบเซ็กเตอร์คอนเทนต์มีเดีย เร็วกว่าเซ็กเตอร์อื่น

ผ่านไตรมาส 4/2562 ไม่มีใครบอกว่าปีหน้าจะดี ทุกคนต่างบอกว่าปีนี้เผาจริง และจะเป็นปีที่เศรษฐกิจซบเซา บวกกับแนวโน้มการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในจีนช่วงเดือนธันวาคม 2562 ทำให้รู้สึกเป็นกังวลมาก เนื่องจากธุรกิจโชว์บิซ ซึ่งเป็นหนึ่งในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับผู้คนจำนวนมาก กำลังจะเริ่มต้นขึ้นในเดือนมกราคม 2563 ตามแพลน คืองานร็อกเมาน์เท่น

Advertisement

วันนั้น เป็นคำถามที่ไม่มีคำตอบว่า ทุกอย่างจะดีขึ้นเมื่อไร แต่สิ่งที่เน้นย้ำกับทีมงานคือเราห้ามหยุด ทุกคนจะไม่หยุดอยู่ในสภาพที่ไม่รู้ว่าการจัดงานโชว์บิซจะกลับมาเมื่อไร เพราะแบบนั้นคุณจะไม่มีทางเป็นที่หนึ่ง

สิ่งที่เราทำคือหยุดเพื่อเดินหน้า หยุดในที่นี้คือหยุดทุกอย่างตามมาตรการภาครัฐ เพราะเป็นเรื่องระดับมหภาค ต้องให้ความสำคัญกับประชาชน จึงเลื่อนคอนเสิร์ตทั้งหมดออกไปแบบไม่มีเงื่อนไข หรือภาษาชาวบ้านคือเลื่อนยกกระบะ จากไตรมาส 1/2563 เลื่อนไปอยู่ไตรมาส 4/2563 เกือบทั้งหมด แต่ยังทำงานเหมือนจะจัดคอนเสิร์ต นั่นคือการทำงานที่หนักขึ้น และไม่วอกแวก ข้อดีคือมีเวลาเตรียมงานได้นาน มีความพร้อมมากกว่าเดิม ศิลปินได้ซ้อมมากกว่าเดิม ขณะที่ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ในฐานะผู้นำอุตสาหกรรมการจัดคอนเสิร์ต หรือการจัดเฟสติวัล เตรียมพร้อมจัดงาน สิ่งที่ต้องควบคุมคือความหนาแน่นของผู้คนในงาน ต้องสอดคล้องกับสถานการณ์

ตั้งแต่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เปิดโอกาสให้ได้หารือ รวมถึงการนำเสนอแผน ในฐานะที่เป็นผู้นำร่องการจัดงานโชว์บิซ ซึ่งจะเห็นได้ว่าเหลืออยู่บริษัทเดียวที่มีมาตรฐาน และจัดคอนเสิร์ตใหญ่ไปแล้ว 2 ครั้ง โดยเชิญทั้ง ศบค. ทีมงาน เจ้าหน้าที่ แพทย์ พยาบาล ลงพื้นที่ตรวจสอบการจัดงานตามมาตรการการเว้นระยะห่างทางสังคม (โซเชียล ดิสแทนซิ่ง) แต่ยังสามารถมีกำไรในธุรกิจ สวนทางกับที่เคยมีคนปรามาสไว้ เพราะมองว่าการจัดแบบเว้นระยะห่างทางสังคมต้องไม่มีกำไร ซึ่งได้ตอบกลับว่า คงเป็นที่อื่นคงไม่ใช่จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่

Advertisement

สำหรับมาตรฐานที่แกรมมี่ใช้ เป็นความตั้งใจเพื่อเป็นมาตรฐานให้กับคนอื่นๆ เพราะหากปลาเน่าตัวเดียว มันก็จะลามทั้งอุตสาหกรรม ประกอบด้วย 1.บริหารความหนาแน่นของผู้คน 2.กำหนดเวลาเข้า-ออก ระบบเดียวกับสายการบิน โดยเปิดให้ผู้ที่ซื้อบัตรราคาแพงที่สุดเข้า-ออก ก่อน 3.การควบคุมที่เป็นมาตรฐานทั้งระบบ ตั้งแต่ขั้นเริ่มต้นจนถึงขั้นสูงสุด 4.ลงทุนในเทคโนโลยี ซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ สมาร์ทไอดี และสมาร์ทซิตี้ ที่ทำให้สามารถระบุถึงตัวบุคคลต่อที่นั่งว่าเป็นใคร และนั่งติดกับใคร เมื่อเกิดเหตุสุดวิสัยสามารถติดตามได้ เพื่อไม่ทำให้ผู้เข้าร่วมงานทั้งหมดได้รับผลกระทบ

และการลงทุนในเทคโนโลยีที่ใช้กับงานเฟสติวัลโดยเฉพาะ ที่ถึงแม้จะเป็นเรื่องยาก แต่ช่วยสร้างความมั่นใจให้กับ ศบค.ได้ เป็นเทคโนโลยีที่สามารถดักจับผู้คนในงานทั้งหมดได้แบบรายบุคคล โดยแสดงถึงการเว้นระยะห่างทางสังคม การจำกัดพื้นที่ รวมถึงมีการสวมริสแบนด์ อาร์เอฟไอดี หรือสายรัดข้อมือมีชิป ซึ่งมีการเขียนโค้ดขึ้นมาเป็นลิขสิทธิ์เฉพาะสำหรับผู้ที่เข้าร่วมงาน สามารถเห็นคลื่นความถี่ที่เป็นความร้อนในพื้นที่ที่มีผู้คนอยู่หนาแน่น เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าเคลียร์พื้นที่

5.ธุรกิจต้องมีกำไร สิ่งที่ทำให้ธุรกิจเดินได้ เราต้องรู้ว่าใครเป็นคนจ่ายเงิน โดยตลอดระยะเวลาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ร่วม 6 เดือน ไม่มีสักวันที่เราไม่หยุดสื่อสารกับผู้บริโภค โดยธุรกิจโชว์บิซเป็นธุรกิจบริหารคอมมูนิตี้ คือการบริหารแฟนคลับ ทำทุกวันเพื่อให้เชื่อมั่น เชื่อใจ ฉะนั้นเมื่อถึงเวลา แฟนคลับเหล่านั้นพร้อมร่วมงานโดยไม่กังวล

89% ของการทำแบบสำรวจออนไลน์ทุกเดือน มีผู้เข้าร่วม 17,000 คนต่อครั้ง สูงกว่าก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่อยู่ในหลักพันคน แปลว่าแฟนคลับรู้สึกดีกับการที่เราสื่อสารกับเขาอยู่ตลอดเวลา

และ 6.สื่อสารกับลูกค้า ซึ่งลูกค้าของเราคือสปอนเซอร์ชิปที่ต้องการเข้าถึงลูกค้าแฟนคลับ และตลอด 6 เดือนที่ผ่านมา ไม่มีสปอนเซอร์ขอถอนแม้แต่เจ้าเดียว

หลังเกิดปรากฏการณ์โควิด ธุรกิจเปลี่ยน เกิดคำใหม่ “นิว นอร์มอล” ธุรกิจของจีเอ็มเอ็ม มิวสิค ต้องเปลี่ยนด้วยหรือไม่ ?

ระยะเวลา 1 ปีครึ่งจากนี้ไปจนถึงสิ้นปี 2564 การดำเนินธุรกิจมันยากที่จะพูดว่าจะทำรายได้โดยไม่มีผลกระทบ หากต้องการรายได้เท่าเดิมต้องจัดงานมากขึ้น เพราะถูกจำกัดพื้นที่ ความหนาแน่น และพื้นที่ในการรองรับ ดังนั้น จึงต้องรอดูตอนแถลงผลการดำเนินการว่าธุรกิจโชว์บิซจะสามารถกลับไปยืนที่เดิมได้หรือไม่ ซึ่งส่วนตัวมั่นใจมากว่าจะไม่แย่

ก่อนหน้านี้มีคนบอกว่า การดำเนินธุรกิจอาจต้องจบลงแล้ว และเดินไปสู่การทำเวอร์ชวล คอนเสิร์ต ส่วนตัวไม่คิดแบบนั้น คิดว่าสามารถเดินได้ทั้ง 2 รูปแบบ เพราะผู้ชมหรือลูกค้าจะเป็นคนเลือก หากกังวลก็จะรับชมอยู่ที่บ้าน หากอยากมาพบปะเพื่อนฝูง อยากเสพความบันเทิง ก็จะมาในที่ที่มีประสบการณ์ ดังนั้น การทำการบ้านในเชิงของดาต้าต้องหนักขึ้น การเชื่อมโยงกับผู้บริโภคต้องหนักขึ้นมาก องค์ประกอบเท่านั้นที่ดูเปลี่ยน แต่หัวใจไม่เปลี่ยน คอนเสิร์ต คือการสื่อสารระหว่างศิลปินกับผู้ชม ซึ่งเวอร์ชวลไม่มีทางแทนที่ได้ เวอร์ชวลเหมือนชมคอนเสิร์ตผ่านโทรทัศน์ ผมจึงบอกว่ารูปแบบและหัวใจของค่านิยมหลักไม่ได้เปลี่ยน

ก่อนหน้านี้ คุณภาวิตได้วางยุทธศาสตร์ให้จีเอ็มเอ็ม มิวสิค ด้วยบันได 3 ขั้น ?

ใช่ครับ วางยุทธศาสตร์บันได 3 ขั้นที่ต้องปีนขึ้นไป เพื่อการเติบโตสู่อนาคตที่มั่นคง สดใส และยั่งยืน ได้แก่ บันไดขั้นที่ 1 Restructure-Refocus-Restabilize บันไดขั้นที่ 2 Build-Invest-Aggregate และบันไดขั้นที่ 3 Infrastructure-Sustainable ซึ่งเป้าหมาย End of the day End Game ก่อนเกษียณคือ infrastructure หรือโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อทำให้ธุรกิจยั่งยืน

ปีนี้ไต่บันไดขั้นที่ 2 ที่มี 7 ยุทธศาสตร์สำคัญในการขับเคลื่อนและจะเป็นแผนแม่บทที่สำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจในอีก 5 ปีข้างหน้า (2563-2568) ซึ่งหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญ คือการนำศิลปินในสังกัดมาร่วมกันเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ หรือสินค้าศิลปิน หรือที่เรียกว่า Artist Product โดยก้าวเข้าสู่ธุรกิจขายตรงในรูปแบบเอสแอลเอ็ม ด้วยการตั้งบริษัท จีเอ็มเอ็ม กู๊ดส์ จำกัด

แบรนด์แรกที่เริ่มทำตลาด คือ “ออร่า-ทัย” ผลิตภัณฑ์สกินแคร์แบรนด์ของราชินีลูกทุ่ง “ต่าย-อรทัย ดาบคำ” ซึ่งเกิดจากวิเคราะห์ข้อมูลเชิงบิ๊กดาต้า พบว่าเป็นศิลปินมีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน และแฟนคลับมีระดับความผูกพันที่พร้อมสนับสนุนทุกๆ เรื่อง อยู่ในระดับสูงสุด 1 ใน 5 ของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ประกอบกับศิลปินมีความฝันที่อยากจะเป็นเจ้าของสินค้า การเริ่มต้นในการเดินธุรกิจในครั้งนี้จึงเป็นเรื่องที่มีความพร้อม และมีโอกาสประสบความสำเร็จสูง

การเปิดตัวจีเอ็มเอ็ม กู๊ดส์ มาจากการปักธงว่าจะเดินหน้าสร้างธุรกิจ และหาแหล่งรายได้ใหม่ให้สำเร็จ จึงเปิดตัวธุรกิจใหม่นี้ด้วยความตั้งใจที่จะดำเนินธุรกิจขายตรง ด้วยเจตนารมณ์เพื่อการส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพของศิลปินที่มีชื่อเสียงในสาขาต่างๆ เพื่อให้แฟนคลับได้ใช้สินค้าที่ดีและมีประสิทธิภาพ ตลอดจนสามารถสร้างเป็นรายได้เสริมได้ในฐานะผู้ซื้อและผู้ขาย แม้จีเอ็มเอ็ม กู๊ดส์ จะเป็นการแตกไลน์บริษัทใหม่ แต่ไม่ใช่เส้นทางที่เริ่มต้นจากศูนย์ ได้ศึกษาอดีต และเตรียมตัวทางธุรกิจมาอย่างดี

หัวใจหลักของธุรกิจขายตรง คือการสร้างตัวแทนขายที่มีประสิทธิภาพ สามารถสร้างความสัมพันธ์ และแนะนำสินค้าที่ดีสู่มือผู้บริโภค ทั้งนี้ จำนวนตัวแทนคือ 1 ในเป้าหมายที่สำคัญที่สุดที่จะนำพาความสำเร็จมาสู่ธุรกิจนี้ เราตั้งเป้าจะมีตัวแทนขาย 9,000 คน ในปีที่ 1 และขยายสู่ 25,000 คน ในระยะเวลา 3 ปี ซึ่งบริษัทควรจะมียอดขายอย่างต่ำ 500 ล้านบาท ภายใน 3 ปี

ทั้งนี้ หลายคนอาจสงสัยว่า บันไดขั้นที่ 2 Build-Invest-Aggregate ถึงอยู่กลางท่อน เนื่องด้วยส่วนตัวมองว่าธุรกิจเพลงเป็นธุรกิจที่ไม่มีวันตาย แต่มีเงื่อนไขของเจนเนอเรชั่นเข้ามาเกี่ยวข้อง คนในยุค 1970 ก็จะฟังเพลงในยุคนั้น อาจจะไม่ฟังเพลงในยุค 2000 ดังนั้น จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ที่อยู่มา 37 ปี ต้องถึงยุคหนึ่งที่ต้องเปลี่ยนแปลง และต้องลงทุนเพื่ออนาคตอีก 37 ปีข้างหน้า

ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ส่วนตัวเคยถูกคอมเพลนว่าทำไมไม่เน้นปั้นศิลปิน เพราะช่วงแรกที่สำคัญคือธุรกิจต้องนิ่งก่อน แล้วค่อยลงทุน ซึ่ง 5 ปีจากนี้จะโฟกัสเตาผลิต นั่นคือทีมผลิต เน้นการลงทุนในศิลปิน แบ่งเป็น การสร้างศิลปินและแนวเพลงครอบคลุมทุกเซ็กเมนต์ ซึ่งจะทำทั้งกับศิลปินในจีเอ็มเอ็ม มิวสิค และร่วมมือกับศิลปินทุกค่ายทั้งตลาด ด้วยโมเดลธุรกิจที่เป็นธรรมและมีความยืดหยุ่นในการบริหารลิขสิทธิ์ และการสร้างศิลปินใหม่จีเอ็มเอ็ม มิวสิค ซึ่งจะใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท เพื่อคัดสรรพัฒนาและออกอัลบั้มให้กับศิลปินรุ่นใหม่ โดยมีแผนร่วมมือกับบริษัทพัฒนาศิลปินระดับโลก เพื่อยกระดับคุณภาพของศิลปินรุ่นใหม่

นอกจากนี้ ใน 7 ยุทธศาสตร์สำคัญของบันไดขั้นที่ 2 ยังประกอบด้วย การเดินหน้ารวบรวมพันธมิตรในวงการเพลง เพื่อสร้างประโยชน์ทางรายได้จากทุกช่องทางการค้าร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นช่องทางดิจิทัล แพลตฟอร์ม, คาราโอเกะ แพลตฟอร์ม หรือการสร้างโปรเจ็กต์ร่วมกัน ปัจจุบันมีการร่วมกับค่ายเพลงต่างๆ เกือบทุกค่ายแล้ว เพียงแต่จะอยู่ในธุรกิจของการทำ MP3 เท่านั้น

คิดว่าทุกคนในอุตสาหกรรมเป็นพี่น้องกันหมด ผมเชื่อว่าแท้ที่จริงเราแข่งขันกับทุกธุรกิจด้านคอนเทนต์ ไม่ว่าจะเป็นเน็ตฟลิกซ์ เฟซบุ๊ก โทรทัศน์ หรือแม้กระทั่งวิทยุ เพื่อที่ใครจะได้เวลาของคนดูเยอะที่สุด คนนั้นชนะ ฉะนั้น พี่น้องในอุตสาหกรรมเพลงสามารถมาร่วมกับจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ได้ เพื่อเดินไปด้วยกัน เพราะเรารู้วิธีสร้างรายได้ ทั้งการสร้างรายได้บนแพลตฟอร์มต่างๆ ทำอย่างไร ผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมจะรู้ว่าคุณไม่จำเป็นต้องแข่งกับผม เพียงคุณไปกับผม เพลงคุณดัง เพลงผมดัง เรามานั่งเถียงกันทำไมว่าใครดังกว่ากัน มันไม่เห็นมีประโยชน์เลย

รวมถึงการขยายธุรกิจโชว์บิซอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งมิวสิค เฟสติวัล, ขยายธุรกิจ Solo Concert ครอบคลุมทั้งศิลปินปัจจุบันที่มีความพร้อม ศิลปินหน้าใหม่ที่ต้องการโอกาสและศิลปินกลุ่มที่มีแฟนคลับเหนียวแน่น, การขยายธุรกิจ Theme Concert ด้วยการร่วมมือกับครีเอเตอร์ใหม่ๆ ที่มาจากอุตสาหกรรมต่างๆ ที่หลากหลาย และการขยายธุรกิจสู่การเป็นโปรโมเตอร์ในการจัดโชว์บิซระดับสากลในประเทศไทย

การร่วมมือกับสื่อชั้นนำทั่วประเทศแบบครบวงจร รวมถึงแพลตฟอร์มรายใหญ่ เพื่อขยายฐานการเข้าถึงและการรับรู้ทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสื่อทีวี, สื่อวิทยุ, สื่อกลางแจ้ง และสื่อโรงภาพยนตร์ ซึ่งล่าสุดร่วมมือ กับ Tencent Music Entertainment Group (TME) ผู้นำบริการแพลตฟอร์มบันเทิงยักษ์ใหญ่จากจีน เพื่อเสริมศักยภาพธุรกิจเพลงดิจิทัลไปสู่แฟนๆ ชาวจีน โดย TME มีจุดแข็งการเป็นศูนย์รวมบริการทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเพลงผ่าน 4 แพลตฟอร์มสำคัญ ได้แก่ QQ Music, KuGou Music, Kuwo Music และ WeSing ซึ่งมีผู้ใช้บริการรวมทั้งสิ้นกว่า 800 ล้านคน จึงเป็นโอกาสที่ดีที่เพลงทั้งหมดของ จีเอ็มเอ็ม มิวสิค จะไปสร้างประสบการณ์ความบันเทิงทางดนตรีให้กับแฟนเพลงทั่วโลก

การเสพดนตรีในปัจจุบันมีหลายช่องทาง โดยเฉพาะช่องทางผ่านสื่อโซเชียล สามารถฟังแนวดนตรีได้หลากหลายประเภทและหลากหลายศิลปิน แตกต่างจากในอดีตที่จะผ่านสังกัดหรือค่ายดนตรีเป็นหลัก ?

ส่วนตัวมองว่า โลกนี้แตกเป็นเสี่ยง เราต้องยอมรับให้ได้ว่าทุกอย่างไม่มีวันเหมือนเดิม หนึ่งสิ่งคิดทุกส่วนมันไม่เกิดขึ้นแล้วในโลกนี้ ยกตัวอย่าง ถ้าให้คิดถึงศิลปินสหรัฐคนสุดท้ายที่ว่าดังคือใคร ก็อาจจะคิดไม่ออก แต่ถ้าพูดถึง Billy Elliot, Taylor Swift อาจจะพอคุ้นหูอยู่บ้าง แต่ตอนนี้แตกต่างออกไป กลายเป็นศิลปินเกาหลีเติบโตอย่างก้าวกระโดด อาทิ ศิลปินวง BTS และ Black Pink ทั้ง 2 กลุ่มกวาดรายได้ปี 2562 ไปกว่า 14,000 ล้านบาท เป็นรายได้ในไทย 1,200 ล้านบาท

ทุกวันนี้โลกของการเสพคอนเทนต์ ผมไม่อยากเรียกว่าอินดี้ เพราะเขามีสิทธิเลือก และบางครั้งเขาก็ไม่รู้ตัวด้วยว่าเขาไม่ได้เลือก เชื่อหรือไม่ว่าทุกวันนี้คนฟังเพลงตามอัลกอริทึม มีเพียง 4% ที่ค้นหาเพลง นั่นแปลว่าเราจะเริ่มได้ยินเพลงที่หุ่นยนต์หรือโรโบติกส์กำหนดให้ฟัง จากตัวอย่างเพลงที่ส่วนใหญ่สนใจ นี่คือโลกใหม่ เพราะฉะนั้น ถามว่าเราต้องเป็นอย่างไร ข้อแรกคิดว่าเราต้องมีทุกเซ็กเมนต์ ต้องเข้าใจหัวใจการเปลี่ยนแปลงของเจเนอเรชั่น ต้องมี Quality and scale เพราะมีอย่างใดอย่างหนึ่งไม่สามารถเดินไปได้ แม้อาจจะได้แต่เป็นตัวอย่างหนึ่งในล้าน เหมือนศิลปินวง BTS ที่เป็นศิลปินกลุ่มเดียวในค่าย Big Hit Entertainment แต่ขณะที่ค่ายอื่นมีศิลปินเป็นร้อย แต่ดังวงเดียว ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่คล้ายคลึงกัน

เราเองต้องเพิ่มความสนใจของคนให้ได้ ซึ่งจะมุ่งไปที่เซ็กเมนต์ใดเซ็กเมนต์หนึ่งไม่ได้ และยิ่งจะให้เป็นความสำเร็จแบบผูกขาดก็เป็นไปไม่ได้ ฉะนั้น โลกยุคนี้จึงต้องมีเซ็กเมนต์ที่หลากหลาย เพื่อตอบโจทย์ความหลากหลายทางรสนิยม ทำให้จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ยังยืนหยัดครองใจคนทั้งประเทศ


รู้จักใช้บิ๊กดาต้า ธุรกิจก็คว้าชัยชนะได้ไม่ยาก

“บิ๊กดาต้า” คือยุทธศาสตร์หนึ่งที่มีความสำคัญมาก “จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่” จึงพัฒนาเรื่องของการทำดาต้าและมีทีมดาต้าไซน์ หรือทีมวิทยาศาสตร์ข้อมูลที่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจเพลงโดยเฉพาะ โดยสาเหตุที่ต้องให้ความสำคัญในส่วนนี้เป็นพิเศษ เพราะบิ๊กดาต้าเป็นหัวใจสำคัญที่จะนำจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ไปสู่อนาคตที่ล้ำหน้าที่สุดในอุตสาหกรรม เชื่อมั่นว่า ถ้าไม่เดินด้วยบิ๊กดาต้า ก็ไม่รู้ว่าจะเอาชัยชนะใดมาแตกต่างจากชัยชนะเดิม ซึ่งจากนี้จะพิสูจน์ให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ

เพราะจุดแข็งของการมีบิ๊กดาต้า ทำให้สามารถรู้แฟนเบส หรือแอคเคาต์ทวิตเตอร์ หรือแฟนเพจเฟซบุ๊กของกลุ่มแฟนคลับ ทั้งหมดของทุกศิลปิน สามารถแยกระดับแฟนเบสได้เป็น 3 เทียร์ คือ 1.แฟนเพลง ฟังแต่ไม่จ่ายเงิน 2.แฟนคลับ ฟังแล้วจ่ายเงินบ้างตามกำลัง และ 3.สาวก ฟังแล้วพร้อมจ่ายเงินโดยไม่มีเงื่อนไข จากนั้นจะสามารถเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างแฟนคลับของศิลปินหนึ่งไปยังอีกศิลปินได้ โดยที่ศิลปินหนึ่งอาจเชื่อมความสัมพันธ์ไปหาอีก 50 ศิลปินได้ เปิดโอกาสในการทำธุรกิจที่หลากหลายมากขึ้น

“บิ๊กดาต้า” ยังช่วยให้สามารถเห็นคำตอบก่อนการเฉลยเสมอ หมายความว่า หากพรุ่งนี้จะเปิดจำหน่ายบัตรคอนเสิร์ต วันนี้สามารถรู้ได้ทันทีว่าจะขายบัตรได้กี่ใบ”

อีกทั้ง ยังเห็นถึงการเชื่อมโยงศิลปินและมีเดีย เช่น รู้ว่าแฟนคลับของศิลปินวงค็อกเทลอยู่ในสื่อใดบ้าง ต่อไปหากต้องการโปรโมตศิลปินวงนี้ให้ดัง ต้องโปรโมตผ่านช่องทางใด เป็นต้น ทำให้การลงทุนต่อไปไม่สะเปะสะปะ คือขว้างเหรียญถูกหัวคน รวมไปถึง สามารถเชื่อมโยงศิลปินกับแบรนด์สินค้าได้อีกด้วย ซึ่งเรื่องนี้ภาวิตมองว่าเป็นเรื่องที่ยากพอสมควร เพราะต้องใช้ฐานบิ๊กดาต้าประมาณพันล้านยูนิเวิร์ส เพื่อเข้าไปหาแบรนด์สินค้า ซึ่งสามารถหาคำตอบได้ว่า อาทิ ศิลปินเอมีแฟนคลับที่ชอบดื่มเครื่องดื่มน้ำดำยี่ห้อ A ยี่ห้อ B และยี่ห้อ C กี่เปอร์เซ็นต์ และนั่นแปลว่า สามารถทราบได้ทันทีว่าควรจะขายสปอนเซอร์ให้เจ้าไหน อย่างไร ซึ่งขณะนี้เรามีข้อมูลของทุกศิลปิน และทุกแบรนด์สินค้าใน 500 อันดับแรกของตลาด

“บิ๊กดาต้า เกิดจากจินตนาการในการอยากรู้อนาคตของผม มองเห็นโอกาสว่าควรจะเดินไปในทิศทางใด เป็นอาวุธของซีอีโอ เพราะดาต้าจะไม่หลอกเรา แต่ก็ไม่ได้งมงาย ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่ตัวผมคนเดียวที่พยายามขับเคลื่อน ต้องเครดิตคุณกล้วย ธารทิพย์ แสงสาตรา รองกรรมการผู้อำนวยการ หน่วยงาน CRM Marketing สายธุรกิจ จีเอ็มเอ็ม มิวสิค ที่ทำให้ฝันผมเป็นจริง”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image