เปิดประตู ‘(สิงห์)สนามหลวง’ สุชาติ สวัสดิ์ศรี ‘ถ้าจะต้องเลือก เหลือประตูเดียวคือประชาธิปไตย’

“ประตูที่มันเปิดแล้ว ไม่ว่าจะเปิดแง้ม หรือเปิดกว้าง ค่าเท่ากัน คือเปิดแล้ว”

เป็นถ้อยคำจากมุมมองของ สุชาติ สวัสดิ์ศรี ต่อบรรยากาศการต่อสู้ทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ในห้วงเวลานี้
ศิษย์เก่าศิลปศาสตร์ ธรรมศาสตร์ รุ่นแรก ผู้มีเพื่อน พี่ น้อง อยู่ในแวดวงการเมืองทั้ง 2 ฝักฝ่าย

“คนที่เข้าไปอยู่ในอำนาจทุกพรรคการเมืองผมก็รู้จัก พวกที่ยังไม่ได้อยู่ในอำนาจก็รู้จัก”

แน่นอนว่ารวมถึงศิษย์เก่าแม่โดม ชวน หลีกภัย ประธานสภา ในค่ำคืนประวัติศาสตร์ 24 กันยายน และ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ 1 ใน ส.ว. ผู้ไฟเขียวผ่านร่างตั้ง กมธ. ศึกษาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ถูกมองว่าเป็นการยื้อเวลา

Advertisement

“เป็นรุ่นพี่ 4 ปี เราต่างเป็นเด็กวัดด้วยกัน แต่อยู่คนละวัด ผมเคยลงคะแนนให้ประชาธิปัตย์ตลอด เพราะเห็นหน้าชวน หลีกภัย ที่ชอบงานศิลปะเหมือนกัน”

เป็นแกนนำล่ารายชื่อนักเขียน ศิลปิน เรียกร้องธรรมศาสตร์เปิดประตูให้ชุมนุม 19 กันยา ทว่า ไม่เป็นผล

ส่วนประตูในความหมายที่กล่าวไว้ในประโยคแรกของบทสัมภาษณ์นี้ สุชาติ ยังเน้นย้ำในประเด็นที่สอดคล้องกับ 1 ใน 2 จุดยืนของแฟลชม็อบทั่วไทย

Advertisement

“รัฐประหารคือความพยายามปิดประตูที่เปิดแล้ว คือการหยุดประเทศกับที่ เส้นทางที่มีอนาคตไม่ใช่เส้นทางรัฐประหาร ถ้าจะต้องเลือกเหลือประตูเดียวคือประชาธิปไตย”

ยอมรับว่า ’อิน’ž มาก กับข้อเรียกร้องในขณะนี้ที่ให้หยุดคุกคามประชาชน เพราะเคยประสบมากับตัว

“เคยโดนพันโทโทรเข้าบ้านจนต้องเลิกใช้โทรศัพท์บ้าน หลังปี 57

วันหนึ่งมีรถตู้เข้ามา มีคนไปถามเพื่อนบ้านว่าบ้านศิลปินแห่งชาติอยู่ตรงไหน ตอนนั้นหมาเห่า ก็นึกว่าเพื่อนมาหา แต่ไม่มีใครเข้ามา”

ต่อไปนี้ คือคำในใจของ ’รุ่นใหญ่’ž ในวงการวรรณกรรม ผู้ใช้ 75 ปีของชีวิต

จากยุคน้ำหมึก สู่ตัวอักษรบนอากาศ
จากยุคสังคมศาสตร์ปริทรรศน์ สู่หนังสือมากมายที่มีให้ดาวน์โหลดนับไม่ถ้วน

ผู้ใช้เฟซบุ๊กที่ถามทุกวันว่า ’สุชาติ คุณคิดอะไรอยู่’ž แทนหน้ากระดาษในการแสดงออกความคิดความเห็นในประเด็นสังคม การเมืองอย่างเข้มข้น จนกลายเป็นประเด็นร้อนในวงวรรณกรรมมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง

เจ้าของนามปากกา ‘สิงห์สนามหลวง’ž ในยุคที่สนามหลวง ถูกทวงคืนความทรงจำจากภาครัฐ พร้อมมอบชื่อใหม่โดยประชาชนว่า สนามราษฎร จากการชุมนุมใหญ่ 19 กันยายน พุทธศักราช 2563

ขอเริ่มจากคำถามพื้นฐาน ว่ามองสถานการณ์การเมืองในขณะนี้อย่างไร ?

ผมว่าถึงเวลาเปลี่ยนยุคสมัยให้คนรุ่นใหม่เข้ามาทำงาน เพราะรุ่นผม 70 กว่า ปีนี้ 75 แล้ว อนาคตคือวันเวลาที่เหลืออยู่ พวกที่อยู่ในสภาตอนนี้ก็เหมือนกัน ทำไมไม่มองถึงอนาคตลูกหลาน นี่เป็นสามัญสำนึกโดยทั่วไป
รุ่นอายุ 16-17 ต้องมาถามว่าตัวเองจะมีอนาคตไหม นี่มันเกิดอะไรขึ้น มันต้องมีอะไรผิดปกติ ไม่มากก็น้อย ช่วงเวลาที่ผ่านมา ในรอบอย่างน้อยในช่วงอายุของผม ในสิ่งที่เคยเกี่ยวข้อง ก็คิดว่าเราทำในสิ่งที่ถูกต้อง มาในหนทางที่จะปูทางไว้สำหรับอนาคตของคนรุ่นต่อไป แต่เราทำไม่สำเร็จ แล้วมันยิ่งไม่เข้าใจมากขึ้น เมื่อคนในรุ่นที่ต่อสู้ด้วยกันมากลับกลายสภาพไปอีกแบบ ก็แสดงว่าพวกเขาส่วนหนึ่งไม่เชื่อในสิ่งที่ตัวเองเทศนา เคยพูด เคยเขียน

ตอนยื่นจดหมายในนามกลุ่มนักเขียน ศิลปิน สื่อมวลชนให้อธิการบดีธรรมศาสตร์ทบทวนคำสั่งไม่อนุญาตจัดชุมนุม ตอนนั้นหวังให้เกิดผลจริงๆ หรือต้องการแสดงออกจุดยืนเพราะรู้อยู่แล้วว่าคงไม่มีผล ?

คิดว่า 50/50 ที่ธรรมศาสตร์จะเปิดพื้นที่ จากการที่เราเขียนแถลงการณ์ไป มีเหตุผลชัดเจน ถ้าคุณแก้วสรร อติโพธิ ไม่ออกมาบอกว่าเด็กๆ ละเมิดรัฐธรรมนูญ ผมคงไม่ออกไป แล้วเขาใช้คำว่าประชาคมศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ ผมก็ศิษย์เก่า รุ่นพี่เขาด้วย ผมก็แค่ไปแสดงความเห็น

มีคำกล่าวว่าธรรมศาสตร์มีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว หลัง 14 ตุลา 16 ธรรมศาสตร์เป็น Liberate Zone จริงๆ ชาวนา กรรมกรที่มีปัญหาก็มาเริ่มนับ 1 ที่นี่ อยู่รอบๆ หอประชุมใหญ่ นักศึกษาก็จัดกิจกรรมไป ถนนทุกสายมุ่งสู่ธรรมศาสตร์ น่าเสียดายที่เกิด 6 ตุลา 19 จากนั้นกลายเป็นสถานที่ปิด และขึ้นๆ ลงๆ แล้วแต่ผู้บริหาร

วันที่ 19 กันยา ผมนั่งรถแท็กซี่ไป พอไปถึงประตูเปิดแล้ว ยังเข้าใจผิดเลยว่าธรรมศาสตร์เปิดประตูให้ กลับบ้านมาโพสต์เฟซบุ๊กขอบคุณที่เปิดประตู พอรู้ความจริงต้องรีบลบเลย

ในฐานะศิษย์เก่า มีความเห็นอย่างไรที่ รุ้ง ปนัสยา แกนนำธรรมศาสตร์และการชุมนุมแถลงว่า ขอให้ มธ.เลิกกินบุญเก่า อย่าโฆษณาเรื่องเสรีภาพทุกตารางนิ้ว ไม่ต้องเปิดคลิปเหตุการณ์เดือนตุลาให้ดูตอนปฐมนิเทศ?

เด็กมันพูดถูก ชัดเจน อย่างที่เขาใช้คำว่ากินบุญเก่า ฉันรักธรรมศาสตร์เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน ก็เอาคำพูดของกุหลาบ สายประดิษฐ์ มาปรับให้กะทัดรัด ถ้าธรรมศาสตร์จะนำเสนอตัวเองอย่างนั้นให้สาธารณชนรับทราบ ต้องชัดเจนในเรื่องที่ตัวเองเป็นพื้นที่เสรีภาพ สมัยอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การ ใช้คำว่ามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง แล้วตัดคำว่าวิชา กับการเมืองออกไปในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เพราะคิดว่าธรรมศาสตร์เป็นจุดก่อเกิดของการต่อสู้ทางการเมือง ทุกยุคสมัยธรรมศาสตร์เป็นสัญลักษณ์แบบนี้มาตลอด

ก่อนไปยื่นหนังสือ ยังนั่งไล่ดูชื่อนักเขียนที่เปลี่ยนใจมาลงนาม แสดงว่าส่วนตัวยังมีความหวัง ซึ่งสุดท้ายมีคนเดียว ?

(หัวเราะ) อยากดูว่าคนที่เคยร่วมเขียนบทกวี พิมพ์เป็นหนังสือชื่อ กวีภิวัฒน์ หาเงินช่วยลุงกำนันในการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ต้นปี 57 ซึ่งมีกวี นักเขียน ศิลปินแห่งชาติหลายคนส่งผลงานเข้าร่วมขบวน กปปส. แม้บางคนมาแบบอ้อมๆ ยังไม่เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นนัก แต่เสียเพื่อนไม่ได้ เพื่อนขอก็ให้

ในบรรดากวีภิวัฒน์ที่รวมเล่ม มีคนเดียวที่มาลงชื่อกับผม คือ แสงศรัทธา ณ ปลายฟ้า ซึ่งเขาฉีกหนังสือเล่มนี้เผาทิ้งแสดงในเฟซบุ๊กเลย เพราะเสียใจมากตอนเกิดรัฐประหาร

หลังรัฐประหาร คสช.ผมใช้อันนี้เป็นประเด็นว่า ขอให้แสดงความสำนึกพลาด แต่ละคนก็มีเฟซบุ๊ก แค่แสดงตัวเองออกมาว่าไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร ต่อไปนี้เราจะเป็นเพื่อนกัน ผมประดิษฐ์คำว่าสำนึกพลาดขึ้นมา เพราะไม่อยากใช้คำว่าสำนึกผิด ในสังคมไทยคำว่าขอโทษ กว่าจะหลุดออกมา ยากเหลือเกิน

ตอนไปเยี่ยมนักโทษการเมืองที่บางเขน ผมโพสต์ชวนเพื่อนนักเขียน ศิลปินไป ก็มีเพื่อนในแวดวงไปนะ แต่ไม่ใช่คนที่ผมระบุชื่อไว้ อย่าง หงา คาราวาน คนเหล่านี้ ยังอ้างนายผี จิตรภูมิศักดิ์ ร้องเพลงแสงดาวแห่งศรัทธา แต่เอารัฐประหาร มันย้อนแย้งไปหมด ขึ้นเวที กปปส. ร้องเพลงเพื่อชีวิต ในขณะที่เคยสู้กันมาในช่วงเดือนตุลา

แล้วกับ คนเหล่านี้ž ในชีวิตจริงเจอกันไหม สบตากันได้หรือเปล่า ?

เจอ ผมไม่เคยอันเฟรนด์ใครในชีวิตจริง แต่โดนอันฟอลโล่ ส่งข้อความมาบอกว่ารับไม่ได้ที่ผมก้าวร้าว ในขณะที่ผมยังติดตามเขาอยู่ บางคนบอก ผมไปให้ราคาคนพวกนั้นทำไม เขาข้ามฝั่งไปนานแล้ว ยังไปง้อเขาอีก อย่างกวีเป่าขลุ่ย อะไรอย่างนี้ แต่เราเคยร่วมโต๊ะสนทนา ดื่ม กิน มาด้วยกัน เคยต่อสู้ในความหมายที่เข้าใจกันตอน 14 ตุลา ตอน 6 ตุลาก็หนีตายคล้ายๆ กัน เพราะฉะนั้นเหลือเชื่อที่เขาเปลี่ยนไป มีคำพูดที่ว่า ปรากฏการณ์กับธาตุแท้ ปรากฏการณ์มีหลายรูปแบบ แต่ธาตุแท้มีอย่างเดียว เพียงแต่ยังไม่ปรากฏออกมา ผมก็ยังไม่อยากเชื่อ

นาทีชู 3 นิ้วที่สนามหลวงวันที่ 19 กันยา คิดอะไรในใจ ?

ก็คิดเหมือนกับเขานั่นแหละ คือ เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ ผมเทใจให้กับแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ก็ขอเป็นแนวร่วมสมตามชื่อ เลยไปให้กำลังใจ

การเห็นพัฒนาการของสนามหลวงมาตลอด 7 ทศวรรษ พรุ่งนี้ของสนามหลวงที่อยากเห็นเป็นอย่างไร โดยเฉพาะหลังการเรียกร้องจน กทม.เปิดให้ออกกำลังกายตามเวลาที่กำหนด ?

เดิมสนามหลวงเป็นพื้นที่สาธารณะ ประชาชนมีส่วนร่วม ผู้คนมาพบปะ มีการละเล่น เป็นพื้นที่ทางการเมืองด้วย เพราะการพูดถึงปัญหาความคับข้องใจของผู้คนก็ใช้สนามหลวงแบบไฮด์ปาร์กที่ใครมีลังสบู่ไม้ลังเดียวก็เอามาตั้งเป็นเวทีได้ การขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน กลายเป็นว่าเป็นพื้นที่เฉพาะ การกำหนดเวลาเปิดปิด คือการจำกัดเสรีภาพ เพราะสนามหลวงคือวิถีชีวิตของผู้คน อยากจะพูดว่าเป็นวัฒนธรรมที่มีชีวิต พื้นที่ทั้งหมด 74 ไร่ เป็นพื้นที่สาธารณะ

การจำกัดเวลาให้คนเข้าไปออกกำลังกาย แล้วที่ให้รถทัวร์ไปจอดหมายความว่าอะไร ออกกำลังกายหรือเปล่า
สนามหลวงควรจะเป็นในสิ่งที่มันเป็นมา คือเป็นพื้นที่กลางสำหรับราษฎร อย่างที่เด็กๆ เขาพูดกัน ผมอยากเห็นมันกลับคืนไปสู่พื้นที่ที่มีชีวิตไม่ใช่ที่จอดรถทัวร์ หรือออกกำลังกายเท่านั้น ควรมีการจัดการให้มีความหมายในทางวัฒนธรรม และการเมืองด้วย สำหรับการประท้วง เรียกร้อง ไม่ต้องลงถนนให้ผิด พ.ร.บ.จราจร

นามปากกา สิงห์สนามหลวง ต้องเปลี่ยนเป็นสิงห์สนามราษฎรžไหม ?

(หัวเราะ) นามปากกานี้ก็ไม่ได้ใช้แล้ว เพราะใช้มานาน ตอนสิงห์สนามหลวง มันยังมีมีเฟซบุ๊ก อินเตอร์เน็ต สิงห์สนามหลวงมีข้อความเขียนประจำเลยว่า การเขียนจดหมายเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง วิถีของการที่คุณเขียนจดหมาย ไม่ว่าจะเป็นลายมือ หรือพิมพ์ดีด ใส่ซองติดแสตมป์ แล้วเดินไปทิ้งที่ตู้ไปรษณีย์ แล้วให้จดหมายเดินทางจนกระทั่งถึงผม มันเป็นศิลปะ อย่างน้อยคนเขียนก็มีความตั้งใจ ทุกวันนี้ใช้กล่องข้อความ

แล้วการโพสต์เฟซบุ๊กทุกวันนี้ เป็นศิลปะเหมือนกันหรือเปล่า ?

ก็ใช่ ผมใช้เหมือนมันเป็นเครื่องมือ ตื่นเช้าก็มองดูว่าจะส่องเป้าที่ไหน (ยิ้ม) กลายเป็นวิถีใหม่ที่ไม่ตั้งใจ เพราะผมเป็นอนาล็อก เขียนด้วยลายมือ พิมพ์ดีดก็ไม่เป็นด้วย ใช้คนข้างๆ พิมพ์ต้นฉบับมาตลอด ไม่ต่างจากคุณขรรค์ชัย บุนปาน คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ พวกนี้รุ่นลายมือ แต่เขาพิมพ์ดีดได้

ผมข้ามจากอนาล็อกมาสู่ดิจิทัล ให้ลูกชายเข้าระบบ ตอนแรกตั้งใจจะใช้โชว์ภาพเขียนของตัวเองที่จะจัดแสดงงานศิลปะ แต่ไม่คาดฝันว่าจะมีรัฐประหารเข้ามาช่วง 22 พฤษภา 57 แล้วผมจะทำอย่างไรกับมัน เลยคิดว่าน่าจะใช้เฟซบุ๊กเป็นเครื่องมือสื่อความอะไรบางอย่าง อย่างน้อยก็ความเห็นของเรา เริ่มต้นประโยคแรกคือ ข้าพเจ้าไม่เอารัฐประหาร มันรู้สึกไม่สนุกที่จะไม่สนใจสิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้า พอเข้าระบบแล้ว ก็ช็อกอยู่ เพราะพิมพ์ดีดไม่เป็น เดี๋ยวนี้ก็ยังใช้นิ้วเดียวจิ้ม

โพสต์การเมืองเยอะมาก คิดจะเข้าสู่สมรภูมิทวิตเตอร์ไหม ?

ทุกวันนี้ยังเล่นเฟซบุ๊กจากคอมพิวเตอร์ มือถือก็มี แต่ยังไม่ได้ใช้ให้เป็นเรื่องเป็นราว มีคนบอกว่าน่าจะลองเข้าทวีตเตอร์ ก็สนใจอยู่ แต่คิดว่าแค่นี้ก็น่าจะพอแล้ว จากครั้งแรกไมได้ตั้งใจจะมาสู่โลกดิจิทัล คิดว่าเป็นโลกของคนอีกรุ่นหนึ่ง แต่พอเข้ามาแล้ว ก็เสนอสิ่งที่เคยเสนอครั้งทำหนังสือ เช่น เมื่อทำหนังสือ ปิดเล่มได้บรรณาธิการก็ต้องเขียนบทนำเพื่อแสดงทรรศนะ และติดนิสัยการทำหนังสือ ต้องมีรูป เพราะฉะนั้นก็เหมือนว่าใช้หน้าเฟซบุ๊กเป็นหน้าหนังสือ เหมือนทำเป็นเล่ม

เพราะฉะนั้นการเล่นเฟซบุ๊กมีความหมายในฐานะเป็นเครื่องมือในการแสดงบทบาททางสังคม สำหรับผมมันเป็นเครื่องมือทางวัฒนธรรมในยุคสมัยดิจิทัลประเภทหนึ่ง พอเราเสนอความคิดทางสังคมการเมืองไป อาจจะเกรียนไปบ้าง (หัวเราะ) มันก็ได้ผลสะท้อนกลับมา

จากการแสดงจุดยืนทางการเมืองอย่างชัดเจน เสียเพื่อนในวงการวรรณกรรมไปเยอะหรือเปล่า ?

ที่เสียนั้นมีแน่ ดูจากการที่เรามีทรรศนะไม่ตรงกัน ช่วงปีแรกๆ บางคนบอกว่าเขาขอบล็อกนะ เพราะผมมีความเห็นในลักษณะที่เขารับไม่ได้ อย่างอาจารย์ใหญ่เพื่อชีวิต คุณหงา คาราวาน บอกว่า ให้เวลาเขา (คสช.) หน่อย เมื่อเขาเห็นดีเห็นงามกับการทำรัฐประหาร แล้วผมจะอยู่เฉยๆ ได้อย่างไร ก็แสดงความไม่เห็นด้วยเท่านั้นเอง

ถ้าปรากฏการณ์แฟลชม็อบเกิดตอนสุชาติ สวัสดิ์ศรี ยังเป็นนักศึกษา จะขึ้นเวทีไหม ?

กับผู้คนจำนวนหมื่น จำนวนแสน เห็นคนก็พูดไม่ออกแล้วครับ (หัวเราะ) รุ้ง เพนกวิน เองก็คงไม่คิดว่าจะมาถึงตรงนี้ นี่ผมคิดเองนะครับ คือสั่งสมอะไรมานานตั้งแต่รัฐประหาร 2557 หรือจะว่าไปแล้วก็ย้อนไปถึงปี 53 ปี 49 ผมเองก็มีพัฒนาการ เพราะก่อนปี 49 ก็ขึ้นเวทีเสื้อเหลือง ถึงสำนึกพลาด ตอนนั้นไม่เห็นด้วยกับทักษิณ เรื่องกรือเซะ ตากใบ นโยบายกำปั้นเหล็ก ตอนนั้นยังไม่อยู่ในชื่อพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย อยากให้ทักษิณเว้นวรรคทางการเมือง โดยไม่คิดว่าจะเกิดรัฐประหาร แต่การไปอยู่ตรงนั้นกลายเป็นเครื่องมือ พอรัฐประหาร ตาสว่างทันที

ในฐานะบรรณาธิการะดับตำนาน หากปรากฏการณ์แฟลชม็อบจนถึงวันนี้ คือหนังสือ 1 เล่ม จะเป็นหนังสือชุดที่มีภาคต่อไหม แล้วจะตั้งชื่อว่าอะไร ?

มีแน่นอน แต่ให้คิดชื่อคนเดียวตอนนี้ยังคิดชื่อไม่ออก (หัวเราะ) เด็กเขามาทำการเมืองให้ดีขึ้น สิ่งที่เรียกร้อง เอาแค่ข้อหยุดคุกคามประชาชน ยังไม่ทำให้ปรากฏเป็นจริง ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ ใช้กฎหมายล้นเกิน แค่ชุมนุมโดยสงบ ก็ตั้งข้อหายุยงปลุกปั่น

อยากฟังนิยามคำว่า ชาติž จาก คนชื่อสุชาติ ศิลปินแห่งชาติ ที่ถูกด่าว่าชังชาติ ?

(หัวเราะ) ชาติชัดเจนมาตั้งแต่ต้นแล้ว ว่าหมายถึงประชาชน ชาติ คือประชาชน ผมจะไปชังตัวเอง ชังประชาชนได้อย่างไร การที่ให้เกียรติผมเป็นศิลปินแห่งชาติ คือประชาชนให้เงินภาษีเป็นเหมือนบำนาญให้ผม คนที่มองในลักษณะแตกต่างออกไปก็เป็นสิทธิของเขา

แต่ผมเลือกประชาชน


ผมว่าหนังสือเล่มž
ยังอยู่อย่างน้อยอีกสัก 100 ปี

“เชื่อว่าหนังสือเล่ม ในอนาคตยังคงอยู่ อย่างน้อยอีกสัก 100 ปี นี่ผมเดาเอานะ แต่คนที่จะครอบครองต้องมีอะไรพิเศษในตัวเอง มีลักษณะสำหรับกลุ่มเฉพาะ เป็นชุด มีการจัดรูปเล่มที่พิเศษ คือมันจะไม่เป็นแมส”Ž

คือ คอมเมนต์ž ของ สุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการระดับตำนานในวงการวรรณกรรมร่วมสมัยของประเทศนี้ ที่มีต่อคำถามซึ่งถูกถามนับครั้งไม่ถ้วนในยุคนี้ แต่ก็ยังต้องถาม

ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ พุทธศักราช 2554 ยังย้อนเทียบประวัติศาสตร์การพิมพ์ไทย ที่มีพัฒนาการเรื่อยๆ มา หาได้หยุดนิ่ง จากจารึก ใบลาน สมุดข่อย กระดาษฝรั่ง หนังสือเล่ม จนถึงยุคโซเชียล ออนไลน์ แอพพลิเคชั่น ฯลฯ

จากซ้าย – สุจิตต์ วงษ์เทศ สุชาติ สวัสดิ์ศรี ชาญวิทย์ เกษตรศิริ รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ สนทนาเรื่อง “โลกหนังสือของผม” ห้องเรียนรวมคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ พ.ศ.2528

“เหมือนในอดีตที่เราใช้อาลักษณ์บันทึก ต่อมาพอมีแท่นพิมพ์ การพิมพ์หนังสือก็เกิดขึ้น แทนที่จะไปหาอาลักษณ์ ก็ไปหาสำนักพิมพ์ เกิดการเรียนรู้ในลักษณะใหม่ ในโลกศตวรรษที่ 21 เทคโนโลยีมาเร็วและแรง หนังสือพิมพ์อาจมีปัญหา หมดบทบาท แต่จะล้มหายตายจากไปหรือไม่ ผมว่าขึ้นอยู่กับว่าเขาจะยืนพื้นอยู่ได้แค่ไหน”

จากนามปากกาชื่อกระฉ่อน สิงห์สนามหลวงž ในยุคกระดาษ ถามว่า หากจะมีนามปากกาใหม่ในปี 2020 จะตั้งว่าอะไร ?

คำตอบที่ได้ ไม่ใช่นามปากกา แต่เป็นมุมมองของชีวิตใน โลกใหม่ž ที่ผู้อาวุโสท่านนี้พบพาน

“ผมมีแอคเคาต์เดียว เคยพยายามสร้างเพจ แต่รำคาญที่เฟซบุ๊กเตือนอยู่เรื่อยว่าจ่ายเท่านั้นเท่านี้บาท คนจะเห็นกี่คน ผู้คนที่อยู่ในเฟซบุ๊กที่ว่าเป็นโลกเสมือน ก็เป็นโลกเสมือนจริงๆ ก็พยายามจะตามดูว่าใครคิดเห็นอย่างไร บางคนมีลีลา หลังรัฐประหาร หลายคนเนียนๆ เบลอๆ กับผม รู้ว่าส่องอยู่ แต่ไม่เข้ามามีปฏิสัมพันธ์”

รุ่นใหญ่ในวงการเปิดเผยอย่างตรงไปตรงมาว่า

“ก่อนเข้าสู่โลกโซเชียล ผมอ่านหนังสือเป็นเล่มจบ ตอนนี้ส่องเฟซดูสิว่าวันนี้จะมีใครมาทำให้หัวร้อน (หัวเราะ)”

ใน 1 วัน โลกได้เห็นสเตตัสจาก สุชาติ หลายครั้ง คอยอัพเดตข่าวสารอย่างไม่มีตกยุค จนอดถามไม่ได้ว่า ขยันโพสต์อย่างนี้ อยู่กับเฟซบุ๊กวันละกี่ชั่วโมง ?

“เล่นเรื่อย สลับกับดูเน็ตฟลิกซ์ (หัวเราะ)”

ส่วนใหญ่ ชมภาพยนตร์เป็นเรื่องๆ ไม่ค่อยดูซีรีส์ เพราะกลัวติด ยกเว้นที่มีคนแนะนำว่าน่าสนใจจริงๆ

ย้อนไปยุคก่อนหน้า เคยซื้อ หนังแผ่นž เก็บไว้เป็นพันเรื่อง จนวันนี้ยังดูไม่หมด

“แค่หนังแผ่นที่ซื้อเก็บไว้ก็มีเป็นพันเรื่อง จมน้ำตอนน้ำท่วมไปไม่น้อย แต่ยังซื้อเพิ่ม พอมีออนไลน์ วัฒนธรรมคลองถมหมดไป ทุกวันนี้ยังคิดถึงอยู่ ตอนนี้เข้าสู่โลกดิจิทัลเต็มตัวแล้ว ก็พยายามเรียนรู้

ผมกำลังเป็นส่วนหนึ่งในโลกใหม่ของคนรุ่นใหม่”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image