ข้อมูล การบ้าน สถานการณ์โลก 7 คำถามกับประธานบอร์ดการยาง ประพันธ์ บุณยเกียรติ

“ผมเกิดในสวนยาง”

ไม่ใช่เพียงประโยคบอกเล่าจากชาวสวนยางคนหนึ่ง หากแต่เป็นถ้อยคำจากปาก ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ที่พ่วงอีกฐานะคือ “เกษตรกร” สวนยางที่ลงทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

วิ่งเล่นในสวนยางในบ้านในอำเภอช้างกลาง จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่คนใต้เรียกว่า “ป่ายาง” มาตั้งแต่เด็ก

มีทั้งความรู้ และความรัก อีกทั้งความเข้าใจในด้านการยางเป็นอย่างดี ทว่าที่สำคัญไปกว่านั้น คือวิสัยทัศน์ด้านการเพิ่มมูลค่า การศึกษาวิจัย และ “บิ๊กดาต้า” ในการจะช่วยให้ทำนายแนวโน้มและสถานการณ์ได้อย่างมีหลักวิเคราะห์

Advertisement

ประพันธ์ บุณยเกียรติ นั่งเก้าอี้ประธานบอร์ด กยท. จากการชักชวนโดยผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง ซึ่งเจ้าตัวเปิดใจว่า นี่คือหนึ่งใน “ชุดความฝัน” ที่สุดท้ายได้เป็นจริง

“เมื่อสัก 10 กว่าปีที่แล้ว มีการรับสมัครผู้อำนวยการองค์การสวนยาง ผมเคยไปสมัคร แต่ไม่ได้มีเส้นสายอะไรนะครับ ตอนนั้นมีคนสมัคร 4-5 คน เขาก็ส่งจดหมายมาที่บ้านว่าได้คะแนนเป็นอันดับ 2 ก็แปลว่าไม่ได้ (หัวเราะ) หลังจากนั้นพอทราบว่าเขามีแนวคิดที่จะรวม 3 องค์กร คือ สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง องค์การสวนยาง และสถาบันวิจัยยางของกระทรวงเกษตรฯ เป็นการยางแห่งประเทศไทย ผมก็ติดตามมาโดยตลอด อยากสมัครเป็นผู้ว่าการยาง แต่จังหวะไม่มี จนวันหนึ่งอายุ 60 เลยหมดสิทธิ แต่ยังสนใจอยู่ วันหนึ่งมีผู้ใหญ่โทรศัพท์มาหา ท่านใช้คำพูดที่ว่า ผมอยากจะชวนพี่ เพราะมีความสามารถที่จะมารับตำแหน่งเป็นประธานการยางแห่งประเทศไทย ผมไม่ปฏิเสธเลย ตอบตกลงทันที เพราะอยู่ในชุดความฝันอยู่แล้ว”

หนึ่งในแนวทางการทำงานที่น่าสนใจคือ “ไปเยี่ยมทุกคน ไม่เคยเรียกใครมาพบ”

Advertisement

“ถ้าผมอยากพบใคร ผมขออนุญาตไปเยี่ยมเขาที่บ้าน ที่ทำงาน ไปที่ถิ่นของเขา ไปฟังทุกเรื่อง รับมาทุกประเด็นแล้วมาสรุป”

ดังเช่นความคืบหน้าล่าสุดซึ่งเป็นอีกจุดเริ่มต้นที่ต้องจับตา นั่นคือการแก้ปัญหาเรื่อง “กลิ่น”

“ทุกคนทราบว่ายางมีปัญหาหนึ่งคือ กลิ่นยางที่เหม็นซึ่งยางสดตามธรรมชาติไม่ได้เหม็น ที่เหม็นเพราะกระบวนการทำยางทำให้เกิดการหมักหมม มีแบคทีเรีย มีแก๊สเสียที่สร้างกลิ่นเหม็น วันนี้ผมไปจังหวัดระยอง ซึ่งบริษัทแห่งหนึ่งมีนวัตกรรมตรงนี้” ประพันธ์เล่าด้วยรอยยิ้มและแววตามุ่งมั่น

ยังไม่นับประเด็นที่ประธานบอร์ดการยางท่านนี้บอกว่า ได้รับ “การบ้าน” ที่ถูกฝากไว้ผ่านคำถามที่คนถามไม่ได้เปิดโอกาสให้ตอบ

บรรทัดต่อจากนี้ คือคำตอบขนาดยาวผ่านคำถามเพียงไม่กี่ข้อ ที่ประธานบอร์ดการยางแห่งประเทศไทยฉายภาพชัดผ่านมุมมองที่น่าสนใจยิ่ง

ขอเริ่มจากคำถามพื้นฐานคือสถานการณ์ล่าสุดของยางไทยที่ในช่วงหลังดูจะมีแนวโน้มดีขึ้นตามลำดับ ?

ครับ จะเห็นว่าราคายางทุกประเภทขยับขึ้น น้ำยางสดในรอบ 3 ปี ช่วงนี้ถือว่าราคาสูงที่สุด วันนี้ราคาน้ำยางสดไปถึง 51 บาท 50 สตางค์ นี่ก็เกี่ยวโยงกับโควิด เพราะถุงมือยางส่วนหนึ่งใช้ยางสังเคราะห์ แต่อีกประเภทหนึ่งใช้ยางธรรมชาติ ความต้องการตรงนี้ขับเคลื่อนทำให้ราคาน้ำยางสดสูงขึ้นมา

ช่วงสักเดือนมีนาคม-เมษายน เราจะเห็นความผิดปกติอย่างหนึ่ง ระหว่างน้ำยางสดกับยางแห้ง ราคาต่างกันนิดเดียวแค่ 1-2 บาท แต่ธรรมชาติ การเอาน้ำยางสดมาทำเป็นยางแผ่นรมควันต้องมีต้นทุน 5-6 บาท กลายเป็นว่าช่วงนั้น คนที่ทำน้ำยางสดเป็นยางแห้งขาดทุน เพราะซื้อน้ำยางสดมา ใส่ทุกอย่างเข้าไปก็อีก 4-5 บาท แต่ขายได้ต่างกันบาทเดียว

อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นสถานการณ์เปลี่ยน เพราะช่วงโควิดเรื่องของถุงมือยางยังผลิตอยู่ แต่สินค้าอุตสาหกรรมเช่น พวกยางรถยนต์ชะงักไป ในช่วงนี้ถ้าดูดัชนีเกี่ยวกับอุตสาหกรรมของอเมริกา ยุโรป จีน กระเตื้องขึ้นมา สอดคล้องกับความเป็นจริงว่าความต้องการยางแห้งที่ใช้ในกระบวนการผลิตยางรถยนต์กลับมาอีก ช่วงนี้ราคายางจึงดีค่อนข้างมาก อย่างที่เราทราบว่ารัฐบาลมีโครงการประกันรายได้เกษตรกร หนึ่งประเภทในนั้นคือเกษตรกรสวนยาง เราวางไว้ที่ 60 บาทสำหรับยางแห้ง น้ำยางสด ถ้าจำไม่ผิด 55 หรือ 56 บาท ขณะนี้ยางทุกชนิดฟื้นขึ้นมาใกล้เคียงราคาที่รัฐบาลประกันแล้ว

ราคาที่รัฐบาลประกันก็มีที่มา คือจากข้อมูลของการยาง ประกอบกับข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร พบว่าราคาต้นทุนอยู่ประมาณนี้ นั่นก็แปลว่าถ้าเกษตรกรสวนยางสามารถขายยางด้วยตัวเองได้ในราคาที่เทียบเคียงราคาประกันของรัฐ แปลว่าเขาอยู่ได้

ราคายางไม่ใช่แค่เรื่องเศรษฐกิจ แต่เป็นประเด็นการเมืองด้วย กดดันไหม ?

ในช่วงแรกก็รู้สึกกดดัน เพราะช่วงนั้นราคายางไม่ดีเลย และยังไม่เห็นช่องทางที่ชัดเจนว่า ราคายางจะกระเตื้องขึ้นได้อย่างไร บวกกับนโยบายประกันราคาในตอนนั้นเพิ่งเริ่มใช้ใหม่ๆ ประเด็นคือ เรามีเกษตรกรสวนยาง 2 ประเภท ประเภทที่ 1 เรียกว่าบัตรเขียว คือลงทะเบียนถูกต้องกับ กยท. ที่ดินที่ปลูกยางคือที่ดินที่ถูกกฎหมาย ว่างั้นเถอะ จะเป็นเอกสารสิทธิอะไรก็แล้วแต่ โฉนด น.ส.3 ส.ป.ก. สัญญาเช่าของกรมป่าไม้อะไรก็ตาม กับอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งเป็นพื้นฐานเกษตรกรบ้านเราเลย ไม่ใช่เฉพาะยาง แต่เป็นพื้นที่พืชทุกชนิด พูดง่ายๆ ว่าเป็นพื้นที่บุกรุก ไม่มีเอกสารสิทธิ ในช่วงแรกเอกสารสิทธิของกลุ่มสีเขียวก็ชัดเจน แต่กลุ่มที่เป็นสีชมพู เราต้องขึ้นไปสำรวจใหม่ทั้งหมดเลย ไม่อย่างนั้นจะมีปัญหา เราเอาเงินของรัฐไปจ่ายก็เป็นภาระการยาง ใช้เวลา 2-3 เดือน ความล่าช้านี้ก็เป็นความกดดัน ในราวเดือนกุมภาพันธ์มีการเคลื่อนไหวของมวลชน

พูดภาษาชาวบ้านว่าม็อบที่นครศรีธรรมราช แต่ท้ายที่สุดเราก็ทำความเข้าใจกัน บอกว่าตอนนี้ทั้งการยาง ทั้งรัฐบาล ลงไปพบม็อบมวลชน 2 ครั้ง ครั้งที่ 2 เขายื่นเงื่อนไขว่าเข้าใจทุกเรื่องที่เราชี้แจง แต่อยากได้ยินจากปากรัฐมนตรี ผมเลยประสานให้ท่านรัฐมนตรีไปพบกับทางมวลชน เขาก็ยอมสลายม็อบ หลังจากนั้นสถานการณ์ต่างๆ ก็คลี่คลายเป็นลำดับ ตอนนี้ก็ถือว่าอยู่ในสถานการณ์ที่ดีขึ้นมากทีเดียว อยู่ในระดับที่แรงกดดันในความรู้สึกของเกษตรกร ชาวสวนไม่มากเท่าไหร่ พูดง่ายๆ ว่ามีเวลาหายใจที่จะช่วยกันแก้ปัญหา (หัวเราะ)

การเป็นทั้งลูกหลานชาวสวนยางทำให้ภาษาในการพูดคุยกับฝ่ายต่างๆ สร้างความเข้าใจได้ง่ายขึ้น ?

ผมเองอาจมี 2 สถานภาพกระมังครับ หนึ่ง แน่นอนผมทำงานการยาง เป็นประธานกรรมการ ก็ต้องถือว่าเป็นประธานกรรมการ ก็ถือว่าเป็นตัวแทนของรัฐ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ด้วยพื้นฐาน ผมเป็นลูกหลานชาวสวนยาง พี่น้องเกษตรกรที่เคลื่อนไหว เราก็พอจะคุยกันได้ คุยภาษาเดียวกัน คือภาษาของคนทำสวนยางด้วยกัน

ผมเป็นคนนครศรีธรรมราช คุณพ่อผมถ้ายังมีชีวิต อายุต้องเกิน 100 คุณแม่เพิ่งเสียไป 3-4 ปีที่แล้ว ถ้ายังอยู่ วันนี้อายุ 98 ที่เท้าความอย่างนี้ กำลังเล่าว่าปู่ย่าผมทำสวนยางมาแล้ว ในครอบครัวเราและชุมชนแถบนั้นทั้งหมด ทำสวนยางมา 100 กว่าปี ที่พูด ไม่ได้พูดด้วยความภูมิใจ แต่พูดด้วยความรู้สึกว่า 100 กว่าปีที่ผ่านมา เราเหมือนเสียเวลาเปล่า ในหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลเข้าใจกฎของดีมานด์ ซัพพลาย ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ราว 6-7 ปีถ้าเราไปดูสถิติ จะอยู่ในสภาวะโอเวอร์ซัพพลาย ตั้งแต่ปี 54 หรือ 55 คือช่วงที่เราถอยหลังมาโดยตลอด ราคายางไม่กระเตื้องเลย ถามว่าช่วงนี้ทำไมกระเตื้อง ก็อย่างที่เล่าตั้งแต่ต้น เป็นเรื่องของดีมานด์ ซัพพลายจริงๆ ที่บอกว่าเสียเวลาไป 100 กว่าปี คือเราไปเล่นกับดีมานด์ ซัพพลาย กล่างคือ รัฐบาลในช่วงหลายปีที่ผ่านมา 6-7 ปีก่อน จนถึง 4-5 ปีที่แล้ว รัฐบาลเคยเข้าไปรักษาเสถียรภาพราคายาง เอาเงินไปซื้อ ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าถ้าคุณเจอน้ำป่า ต้องมีระบบจัดการที่ดี ต้องลงทุนสร้างเขื่อนเท่านั้นถึงจะสู้ได้ ต้องคิดเชิงระบบ เราเข้าไปจัดการตลาด แต่ท้ายไม่เคยชนะตลาด ถ้าอยากชนะตลาด ก็ไม่ยาก ปีหนึ่งเราส่งออกยางวันนี้ ที่เป็นวัตถุดิบประมาณ 2 แสนล้าน ส่วนที่เป็นผลิตภัณฑ์ยางที่ทำสำเร็จรูปแล้ว อาจเป็นยางรถยนต์ หรืออื่นๆ อีกราว 1 แสน 8 หมื่นล้าน ถ้าอยากชนะต้องมีเงิน 2 แสนล้านมาเล่นกับเขา เรามีหรือไม่

สำหรับเรื่องของซัพพลาย มีความพยายามส่งเสริมให้ปลูกพืชชนิดอื่น แต่ในความเป็นจริง ยางราคาขึ้นตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา สามารถตรวจสอบสถิติได้ ช่วงที่ยางราคาขึ้น เป็นช่วงที่ป่าเราถูกทำลายมากที่สุดในประวัติศาสตร์ช่วงหนึ่งของป่าไม้เลย เพราะราคายางที่ขึ้นเป็นแรงจูงใจให้ทุกคนไปปลูกยาง อยู่บนเขา ภูเขาก็หัวล้าน

ท้ายที่สุดเราไม่เคยสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับเรื่องยางพาราให้ประเทศเลย พื้นฐานคืออะไร เอ็มดีของมิชลินสาขาประเทศไทยถามผมใน 2 คำถาม คำถามที่ 1 คือ ทราบหรือไม่ว่าความรู้และเทคโนโลยีชั้นสูงเกี่ยวกับยางอยู่ในประเทศไหนบ้าง ผมไม่ได้ตอบนะ เขาถามเพื่อตอบเอง (หัวเราะ) คำตอบคือ อเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส จีน ญี่ปุ่น ไม่ใช่ไทยซึ่งเป็นอันดับหนึ่งของโลกในการผลิตยาง ไม่ใช่อินโดนีเซียซึ่งเป็นอันดับ 2 ของโลก ไม่ใช่เวียดนามซึ่งเป็นอันดับ 3 ของโลก เราปลูกยางและแปรรูปยางขั้นต้นเป็นเท่านั้นเอง นวัตกรรมชั้นสูงเราไม่มีเลย

บทบาทในแง่ของการสนับสนุนการเพิ่มมูลค่า และความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชนคือสิ่งที่พยายามผลักดัน ?

ฝรั่งเศสผลิตไวน์ แต่ไม่เคยส่งออกองุ่น น้ำองุ่นหมักบางขวดราคาถึงล้าน น้ำองุ่นของฝรั่งเศสที่พวกเรานิยมชมชอบกันราคาขวดละเป็นหมื่น นี่คือการแปรรูป ใส่มูลค่า เพราะฉะนั้นนี่คือสิ่งที่เราต้องทำวันนี้ ที่ผ่านมาเราไปมุ่งต้นน้ำ มุ่งสอนให้เกษตรกรปลูกยาง ดูแลสวนยาง ปลายน้ำในประเทศเราไม่เคยมีอะไรที่เป็นรูปธรรมเลย แต่จะบอกว่าไม่ทำก็ไม่แฟร์ ทำแต่ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร ความร่วมมือระหว่างคนที่เกี่ยวข้องในวงการยาง ตาม พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย เขียนคนที่เกี่ยวข้องไว้ในกฎหมายเลยว่าคนนั้นหมายถึงใคร บุคคลที่ 1 เรียกว่าเกษตรกรสวนยาง หมายถึงใคร มีคำจำกัดความตามกฎหมายเลย ท่านไปอ่านดูว่าท่านเป็นหรือเปล่า แต่ผมอ่านแล้ว ผมเป็น (หัวเราะ) ผมขึ้นทะเบียนมานานแล้วตั้งแต่ตั้ง กยท. ไม่ใช่เพิ่งขึ้นเมื่อวันสองวัน

สถาบันเกษตรกรสวนยางหมายถึงอะไร มีการระบุไว้เลยว่าการรวมตัวแบบไหนถึงจะเป็น อีกอย่างหนึ่งที่กฎหมายเขียนไว้คือผู้ประกอบกิจการสวนยาง หมายถึงนักอุตสาหกรรมทั้งหลายที่เอายางมาผลิต ผมเรียนด้วยความเคารพว่าจากที่ติดตามดู พบว่ามิติความสัมพันธ์ระหว่าง กยท. กับเกษตรกร สถาบันเกษตรกรไปได้ดี แต่กับผู้ประกอบการ ไม่ใช่ไม่ดี แต่เรียกว่าไม่ค่อยมีความสัมพันธ์มากกว่า ไม่มีการสร้างห่วงความสัมพันธ์ระหว่างกันสักเท่าไหร่

ถามว่าใครมีศักยภาพในการหาเงินจากตลาดโลกมาให้เรา ก็คือผู้ประกอบกิจการยางเท่านั้น เกษตรกร หรือสถาบันเกษตรกร ไม่มีศักยภาพที่จะลงทุนในการผลิตเทคโนโลยีระดับสูงหรอกครับ กยท.ละเลยตรงนี้มาตลอด

ผมดีใจนะ ที่เมื่อวันก่อนเชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปเยี่ยมที่นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นเขตขององค์การสวนยางเก่า ทุกวันนี้ก็เป็นเขตภาคใต้ตอนกลาง ท่านกล่าวบนเวทีต่อหน้าพี่น้องเกษตรกรว่าความร่วมมือกับภาคเอกชนคือเรื่องจำเป็น เป็นเรื่องที่จะไปรังเกียจไม่ได้ ผมคิดว่าพื้นฐานที่ กยท. ต้องรีบทำคือการดึงความสามารถของภาคธุรกิจ ภาคเอกชนออกมาเกื้อหนุนเราให้ได้

ผมเป็นลูกหลานชาวสวนยาง ยังเคยมีความเข้าใจที่ผิดมาตลอดชีวิต จนเมื่อสักครึ่งปีที่แล้ว จึงเปลี่ยนความคิด นั่นคือ เข้าใจว่ายางกินไม่ได้ แต่จริงๆแล้วกินได้ เอาน้ำยางธรรมชาติ ปล่อยให้เซตตัวตามธรรมชาติ ไม่ได้ใส่สารเคมี ให้เขาแยกตัวระหว่างยาง กับส่วนที่เป็นเซรั่ม สามารถดื่มได้เลย แล้วดีด้วย โดยขณะนี้มีนักวิจัยไทยกำลังทำวิจัยเซรั่มนี้อยู่ ด้วยความร่วมมือกับ ม.อ. และโรงพยาบาลจุฬาฯ ที่จะนำยางพารามาใช้ในการแพทย์

เป้าหมายสูงสุดในฐานะประธานบอร์ด กับฐานะเกษตรกร เหมือนหรือต่างกันหรือไม่ ?

ผมอยากสร้างรากฐานให้อุตสาหกรรมยางแห่งประเทศไทย จะทำอย่างไรที่จะสร้างฐานรากองค์ความรู้ ที่ผมเล่าไปเมื่อสักครู่ว่า เอ็มดีมิชลินตั้งคำถาม คำถามที่ 1 เล่าไปแล้ว คำถามที่ 2 ถามแบบเดิม คือไม่ได้ให้ผมตอบ เขาถามว่า ลูกหลานชาวสวนยางเรียนอะไร เขาตอบเอง ว่าลูกหลานชาวสวนยางเรียนการโรงแรม เรียนครู เรียนนิติศาสตร์ เรียนรัฐศาสตร์ ไม่มีใครเรียนเรื่องยาง แล้วความรู้เกี่ยวกับยางในประเทศไทยจะพัฒนาอย่างไร คำพูดของเขาทำให้ผมกลับมาที่การยางแล้วเขียนนโยบายทันที ใน พ.ร.บ.การยาง มาตรา 49 (4) ให้มีเรื่องการสนับสนุนการวิจัยการศึกษา ผมนำเสนอในบอร์ด แล้วบอร์ดก็เห็นชอบ โดยตัดไว้ 10 เปอร์เซ็นต์ คือ 40 ล้าน สำหรับการศึกษาเรื่องยางพาราของประเทศ ไม่ใช่วิจัยนะ แต่เป็นทุนการศึกษา ตั้งแต่อาชีวะ ปริญญาตรี ที่ไหนสอนเรื่องยาง ปริญญาโท เอก อาจไม่ได้สอนเรื่องยาง ไม่เป็นไร แต่มีการทำวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องยาง มีวิทยานิพนธ์ที่เกี่ยวข้อง เราจะสนับสนุน

สิ่งที่มิชลินไม่ได้ให้เราตอบในวันนั้น คือคำตอบของเราในวันนี้ ?

ผมมองว่าเขาฝากการบ้านไว้ให้ผม แล้วผมก็เอามาทำทุกเรื่อง เรื่องการศึกษา เรื่องนวัตกรรมของประเทศ ตอนนี้เรากำลังจะว่าจ้างให้มีที่ปรึกษาเข้ามาศึกษาเกี่ยวกับการตั้ง รับเบอร์ วัลเลย์

คือเป็นศูนย์กลางเกี่ยวกับยางพาราตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ต้นน้ำคือมีการวิจัยตั้งแต่การปลูกยาง เก็บเกี่ยวยาง เกษตรผสมผสาน ที่น่าสนใจอย่างหนึ่ง มีสวนยางหลายแห่งซึ่งผมไปเยี่ยมมาหมด ล้ำพวกเราไปแล้ว

ยางเป็นสินค้าที่มีปัญหาเรื่องแรงงาน แต่กระบวนการการเก็บน้ำยาง เกษตรกรล้ำหน้าเราไปแล้ว เราต้องวิจัยออกมาให้ได้ ต้องไปเรียนรู้ระบบการจัดการที่ดี เพื่อถ่ายทอดให้กับพี่น้องเกษตรกรคนอื่น นี่คือสิ่งที่การยางต้องทำ ในอดีตเราไม่ได้ทำสิ่งเหล่านี้เลย เราวิจัยในสิ่งที่เราสนใจ 1.เจ้าหน้าที่การยางสนใจ 2.อาจารย์มหาวิทยาลัยสนใจ จบนวัตกรรมการวิจัยของเราในกรอบในอดีตเป็นอย่างนี้ แต่ผมคิดว่าไม่ใช่ ต่อไป เราต้องวิจัยในสิ่งที่อยู่ในชีวิตจริงให้ได้ เกษตรกรเล่าว่าการปลูกยาง 40 ต้น ถ้ามีระบบน้ำดี และมีการปลูกพืชร่วมยาง ได้ผลเท่าปลูก 80 ต้นแบบปกติ เราต้องพิสูจน์ทางวิชาการให้ได้ นี่คือเรื่องท้าทายมาก เพราะใช้แรงงานน้อยลงครึ่งหนึ่ง

ถ้าตัดทุกปัจจัย ทั้งการเมือง เศรษฐกิจและอื่นๆ อยากเห็นยางพาราไทยไปถึงจุดไหน ?

วันนี้อย่าลืมว่าเศรษฐกิจดิจิทัลไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เป็นเรื่องข้อมูล ในอดีต การยางไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องข้อมูลและไอทีสักเท่าไหร่ ปีนี้ผมเข้ามาเป็นปีแรก ผมสามารถรวบรวมงบมาได้ 40 กว่าล้าน จากหน่วยอื่นที่สละสิทธิ ไม่ใช้งบ ไปขออนุญาตสภาพัฒน์มา ปีนี้เป็นปีแรกที่เราเริ่มทำบิ๊กดาต้าด้วยงบ 40 กว่าล้าน ปี 64 ผ่านบอร์ดขั้นต้นแล้ว รอเข้าบอร์ดครั้งสุดท้าย ถามว่าทำไมต้องทำเรื่องบิ๊กดาต้า ถามว่าวันนี้ จีน อเมริกา หรือยุโรป ชนะเราตรงไหน ชนะที่ข้อมูล โลกของเศรษฐกิจดิจิทัลคือโลกของข้อมูล ถ้ามีระบบข้อมูลที่ดี จะสามารถคาดการณ์ได้ว่า แต่ละเดือนต่อไปนี้ การผลิตในโลกจะเป็นอย่างไร เราควรแบกสต๊อกของเราไหม แทนที่จะเอาเงิน 2-3 หมื่นล้านไปแจกเกษตรกร เราเอาไปให้เขากู้แล้วให้เขาเก็บสต๊อกไว้ไม่ดีกว่าหรือ ถ้าเราไม่มีข้อมูล ก็ต้องแจกอย่างที่เคยชิน

อีกประเด็นหนึ่งคือ สตาร์ตอัพ เรื่องยางก็ สตาร์ตอัพได้เหมือนกัน ต้องส่งเสริมบริษัทใหม่ๆ ที่คิดค้นว่าจะเก็บยางอย่างไร จะเพิ่มมูลค่ายางอย่างไร สิ่งเหล่านี้ต้องส่งเสริมเขาทั้งทุนการวิจัยและอาจรวมถึงทุนที่เขาจะใช้ในการลงทุนกับธุรกิจด้วย แม้ผมจะไม่อยู่การยาง ก็เชื่อว่าได้มาสั่งสมองค์ความรู้อีกมิติหนึ่งแล้ว มิติก่อนหน้านี้คือ มิติแบบเกษตรกร แบบชาวบ้าน

วันนี้ผมได้มานั่งตรงนี้ ก็สั่งสมองค์ความรู้ในมิติภาครัฐ เชื่อว่าแม้ผมไม่ได้นั่งตรงนี้ ก็ยังต้องช่วยคนเหล่านี้ได้ (ยิ้ม)


ผมชอบเป็นนักสังเกตการณ์

“ชีวิตส่วนตัวที่ดำรงมาตั้งแต่หนุ่ม ผมชอบขับรถ ตั้งแต่หนุ่มจนแก่ ถ้ามีเวลา ชอบขับรถไปโน่น ไปนั่น ไปนี่ ไม่ได้ขับรถในสนาม แต่หาเส้นทางใหม่ๆ ชอบขับรถ 2 คน อีกคนหนึ่งคือภรรยา เพราะเป็นช่วงเวลาที่ได้คุยกันทุกเรื่องที่อยากคุย ชอบเส้นทางใหม่ๆ อยากดูวิวว่าแถบนี้พืชพันธุ์ธัญญาหารมีอะไรบ้าง บ้านเรือน วัฒนธรรมเป็นแบบไหน ผมชอบเป็นนักสังเกตการณ์”

คือคำตอบจาก ประพันธ์ บุณยเกียรติ ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ต่อคำถามที่ว่า ห้วงเวลาที่ไม่คิดถึงเรื่องยางพารา ใช้เวลาคิดถึงเรื่องอะไร ?

นอกจากคำตอบสั้นๆ ว่า

“ไม่คิดอะไรเลย เพราะอย่างอื่น ไม่ใช่เรื่องต้องคิด แต่ใช้ชีวิตปกติ” ย่อหน้าข้างต้นคือการขยายความที่สะท้อนภาพชีวิต

ประธานบอร์ด กยท. วัย 63 ปี ยังบอกด้วยว่า เป็นคนชอบถ่ายรูป ชอบเรียนรู้เรื่องอาหาร และเครื่องดื่ม ที่บ้านมีค็อกเทลของตัวเอง

“ดื่มไวน์มา 30 ปี หมดตังค์ไปเยอะเหมือนกัน แต่ก็เรียนรู้เรื่องไวน์ตลอดเวลา คนดื่มไวน์จริงๆ ไม่ต้องดื่มไวน์แพง ความท้าทายคือ ต้องมีความรู้ที่จะเลือกชิมไวน์ที่ดี มีคุณภาพ เหมือนรถ ไม่ต้องขับคันละ 20 ล้าน”

ถามถึงการดูแลสุขภาพที่ยังดูแข็งแรงและหนุ่มกว่าวัย ได้คำตอบว่า เป็นคนมีวาสนาหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือเรื่องการรับประทานอาหาร

“ผมชอบทาน แต่โชคดีที่ทานไม่เยอะ อิ่มแล้วเลิก ไม่ทานจุกจิก ไม่กลัวว่าทานนั่นทานนี่ไม่ได้ เป็นคนมีวาสนาตรงนี้”

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีหลักคิดสำคัญเรื่องการพักผ่อนที่ว่า แม้ต้องเจอเรื่องทุกข์เพียงใด แต่การนอนไม่หลับ ก็ไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น

“สิ่งที่เป็นมาตั้งแต่ยังหนุ่มแล้วคือ ออกจากที่ทำงาน ก็ลืมเรื่องที่ทำงาน เคยทุกข์มหาศาลเมื่อวิกฤตปี 40 ไม่ใช่ทุกข์น้อยๆ โดนทั้งคดีแพ่ง คดีอาญา ก็นอนหลับได้ ไม่เคยไม่หลับ เพราะมีหลักคิดอยู่ว่า ถ้านอนไม่หลับก็ไม่ได้ทำให้ชีวิตดีขึ้น คืนนี้นอนก่อน แล้วพรุ่งนี้ค่อยแก้ปัญหา”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image