ชวลิต จันทรรัตน์ แห่งทีมกรุ๊ป สแกนสถานการณ์น้ำ ‘ปีนี้ท่วมกระจุก ปีหน้าแล้งหนัก’

ชวลิต จันทรรัตน์ แห่งทีมกรุ๊ป สแกนสถานการณ์น้ำ ‘ปีนี้ท่วมกระจุก ปีหน้าแล้งหนัก’

ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังไม่มีวี่แววจะคลี่คลาย วันนี้ “ประเทศไทย” ต้องเผชิญกับ “อุทกภัย” ซ้ำเติมอีกระลอก จากพายุเตี้ยนหมู่ นำไปสู่น้ำท่วมกว่า 20 จังหวัด กลายเป็น “วิกฤตซ้ำซ้อน” สั่นคลอนระบบเศรษฐกิจโค้งสุดท้ายของปี

แม้นักวิชาการหลายสำนักออกมาพยากรณ์เหตุการณ์ “น้ำท่วม 2564” ไม่ซ้ำรอย “มหาอุทกภัย 2554” อย่างแน่นอน จากบริบทที่เปลี่ยนไปในหลายๆ อย่าง ไม่ว่าสภาพพื้นที่ สภาพอากาศ ปริมาณน้ำ

ถึงจะโล่งอกไปได้บ้าง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาพจำน้ำท่วมใหญ่ แม้จะผ่านมา 10 ปี คนยังหวาดผวา กับภาพความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน เป็นภาพตามมาหลอนถึงปีนี้

เนื่องจากวิกฤตครั้งนั้น สร้างความเดือดร้อนให้กับภาคธุรกิจและประชาชนค่อนประเทศ จากมวลน้ำที่รัฐบาล “เอาไม่อยู่” จนไหลท่วมพื้นที่กระจายเป็นวงกว้าง รวมถึงกรุงเทพมหานคร

Advertisement

ในห้วง 10 ปีที่เปลี่ยนผ่านรัฐบาล ปัญหา “น้ำท่วมซ้ำซาก” ยังไม่มีสูตรสำเร็จแก้ปัญหาอย่างจริงจังในทางปฏิบัติ ทั้งที่มีบทเรียนจากเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ปี 2554 ที่สามารถนำมาเป็นโอกาสสปีดแผนงาน ระดมแผนเงิน พลิกฟื้นระบบน้ำของประเทศให้ยั่งยืน ตามที่เขียนโครงการไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ

จากวิกฤตอุทกภัย 2554 ถึงอุทกภัย 2564 ถึงจะเทียบเท่ากันไม่ได้ แต่มีคำเตือนจาก “ชวลิต จันทรรัตน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ทีมกรุ๊ป ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำ ให้พื้นที่อยุธยาตอนล่าง ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพฯ ต้องหมั่นดูแลคันกั้นน้ำให้อยู่รอดปลอดภัย พร้อมวิเคราะห์สถานการณ์น้ำพื้นที่ไหนต้องเฝ้าระวังยาวไปจนถึงสิ้นปี 2564

●ปีนี้ทำไมเกิดน้ำท่วมหลายจังหวัดภาคอีสาน ภาคเหนือ ภาคกลาง ตอนนี้สถานการณ์น้ำท่วมเป็นอย่างไรบ้าง?
เกิดจากพายุ “เตี้ยนหมู่” ยังไหลไปไม่หมด และมีร่องฝนที่ตกตามฤดูกาล พัดผ่านภาคอีสาน ภาคกลางตอนบน ภาคเหนือตอนล่าง พายุกับร่องฝนจะดึงดูดกัน เป็นมิตรกันทำให้ฝนตกต่อเนื่อง ทำให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำและนอกคันกั้นน้ำ ตอนนี้สถานการณ์ลุ่มเจ้าพระยาตั้งแต่นครสวรรค์ สิงห์บุรี ชัยนาท อ่างทอง อยุธยาตอนบนดีขึ้น ระดับน้ำอัตราการไหลเริ่มลดแล้ว เหลือพื้นที่อยุธยาตอนล่าง โผงเผง ผักไห่ เสนา บางบาล ก็ทรงตัว
ส่วนเขื่อนป่าสักปล่อยน้ำน้อยลง สถานการณ์จะค่อยๆ ดีขึ้น ทำให้พื้นที่ท้ายเขื่อนพระราม 6 ลงมาถึงอยุธยาน้ำก็เริ่มทรงตัว มาถึงบางไทรยังเพิ่มขึ้น เพราะน้ำจากทุ่งยังระบายออกมายังแม่น้ำน้อย ป่าสัก ทำให้พื้นที่อยุธยาตอนล่างน้ำกลับเริ่มมาสู่ลำน้ำ ทำให้บางไทรมีอัตราการไหลของน้ำเพิ่มสูงถึง 3,100 ลูกบาศก์เมตร/วินาที แนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คงจะถึง 3,200-3,500 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ในวันที่ 17-18 ตุลาคม ที่น้ำทะเลหนุนสูง

Advertisement

พื้นที่น่าห่วงอยุธยาตอนล่างเชื่อมโยงบางไทรต่อมาถึงปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพฯ ต้องดูแลรักษาคันกั้นน้ำให้ดี ถ้ารั่วหรือซึมจะท่วมพื้นที่แนวคันได้ และทำให้พื้นที่นอกคันกั้นน้ำที่ท่วมอยู่แล้วน้ำจะสูงขึ้นอีก 20-40 เซนติเมตร ให้ยกของขึ้นสูงเผื่อไว้ 10 เซนติเมตร ในช่วงน้ำทะเลหนุนสูงถึงวันที่ 19 ตุลาคม เพราะน้ำขึ้นลง ระดับน้ำเปลี่ยน ทำให้คันกั้นน้ำอ่อนตัวลงได้ ต้องหมั่นตรวจตราทุกวัน ถ้ารักษาไม่ได้ น้ำจะเอ่อท่วมพื้นที่เป็นหย่อมๆ ใครที่อยู่ใกล้จะได้รับผลกระทบ หลังจากนั้นน้ำจะน้อยลงการระบายจะดีขึ้นยาวไปถึงวันที่ 3 พฤศจิกายน โดยสิงห์บุรี บางบาล บางไทร น้ำจะลดวันที่ 26-29 ตุลาคม ส่วนปทุมธานี นนทบุรีและกรุงเทพฯจะลดวันที่ 3 พฤศจิกายน เพราะอยู่ในอิทธิพลน้ำทะเลขึ้นลงเดียวกัน

ปัญหาตอนนี้คือน้ำในทุ่งที่ลุ่มต่ำต่างๆ ยังทยอยไหลออกมาแม่น้ำสายหลัก แม่น้ำน้อย แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสักมารวมกันที่บางไทร ทำให้พื้นที่ตั้งแต่บางไทรลงมา ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพฯ น่าเป็นห่วงช่วงน้ำทะเลหนุน เพราะปัจจุบันมีฝนตกอยู่แล้วตามฤดูกาล ไม่ว่าฝนลมมรสุม ร่องความกดอากาศต่ำ วิ่งขึ้นวิ่งลงระหว่างอ่างทองกับกรุงเทพฯ

สำหรับกรณีพื้นที่บางบาลน้ำท่วมนาน เพราะโผงเผง ผักไห่ เสนา บางบาล เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำต่อเนื่องกัน มีแม่น้ำน้อยวิ่งผ่าน และเป็นพื้นที่แก้มลิงรอชาวบ้านเกี่ยวข้าวเสร็จวันที่ 15 ตุลาคมนี้ ถึงจะระบายน้ำเข้าพื้นที่แก้มลิง อีก 1 อาทิตย์ระดับน้ำจะลดลงและบรรเทาได้เร็วกว่าที่อื่น เพราะมีแก้มลิงช่วยไว้

●คาดว่าจะมีพายุลูกใหม่เข้ามาอีกหรือไม่และส่งผลกระทบรุนแรงแค่ไหน?
คาดการณ์ถึงวันที่ 20 ตุลาคม มีพายุ 2 ลูกจะมีอิทธิผลทำให้ฝนตกทางภาคอีสาน ลูกแรกหมายเลข 17 พายุ “ไลออนร็อก” ตอนนี้อยู่ที่ฟิลิปปินส์ จะเข้าเกาะไหหลำ ประเทศจีนวันที่ 9 ตุลาคม ประชิดเมืองวินห์ที่ประเทศเวียดนามวันที่ 10 ตุลาคม และเริ่มมีฝนตกที่นครพนม บึงกาฬ หนองคาย อุดรธานี สกลนคร เลย ในช่วงวันที่ 11-12 ตุลาคม และอาจจะลงไปถึงกาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด จะมีฝนตกปานกลางทั่วอีสานช่วงวันที่ 12-13 ตุลาคม หลังจากนั้นจะสลายตัว จะมีน้ำไปเพิ่มตามลำน้ำชี เพราะฝนจะตกนาน แต่ว่าไม่น่าห่วงไม่มีน้ำท่วมฉับพลัน เพราะระบายลงแม่น้ำโขงที่น้ำยังมีระดับต่ำอยู่ได้ แต่น้ำจะระบายช้าบางพื้นที่ เช่น หนองคาย อ.เมืองอุดรธานี อ.ศรีสงคราม ท่าอุเทน และมีท่วมเพิ่มขึ้นที่มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร ขอนแก่น ที่ยังท่วมอยู่ ใช้เวลาระบายถึงวันที่ 20 ตุลาคม

วันที่ 13-16 ตุลาคม พายุลูกที่ 2 มีแนวโน้มจะตามมา เป็นพายุหมายเลข 18 ชื่อ “คมปาซุ” ก่อตัวอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกเดินทางมาทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือขึ้นฝั่งที่ตอนเหนือของฟิลิปปินส์วันที่ 11 ตุลาคม ณ ตอนนี้คิดว่าจะอ่อนตัว เคลื่อนขึ้นมาทางตอนเหนือเกาะไหหลำวันที่ 13 ตุลาคม น่าจะหยุดอยู่บริเวณนี้ ล่าสุดทิศทางยังไม่แน่ชัด ถ้าถึงด้านเหนือเกาะไหหลำจะปะทะมวลอากาศเย็น เป็นไปได้จะเลี้ยวกลับไปเข้าประเทศจีน ทำให้ฝนตกภาคอีสานเล็กน้อยช่วงวันที่ 13-14 ตุลาคม

ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ เนื่องจากมีพายุไซโคลนก่อตัวในทะเลอันดามันเลยดึงกัน ทำให้มรสุมมีกำลังแรง ทำให้ร่องความกดอากาศต่ำจะเลื่อนขึ้นเลื่อนลงระหว่างอ่างทองกับกรุงเทพฯ ทำให้ร่องฝนจะวิ่งขึ้นวิ่งลงระหว่างอ่างทองกับกรุงเทพฯ จะมีฝนตกต่อเนื่องที่อ่างทอง ตั้งแต่วันที่ 11-15 ตุลาคม แล้วลงมากรุงเทพฯ ไล่ลงไปราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ช่วงวันที่ 13-17 ตุลาคม ถัดจากนั้นหลังวันที่ 20 ตุลาคม-พฤศจิกายน จะไล่ไปทางภาคใต้ตอนบนสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง และหาดใหญ่ จ.สงขลา ซึ่งปีนี้นครศรีธรรมราชน่าห่วงจะหนัก ขณะที่ภาคตะวันออกจะเจอฝนตกนานเหมือนกรุงเทพฯ และเพชรบุรี เพราะมีอิทธิพลจากความกดอากาศสูงจากทะเลพัดขึ้นมาด้วยเหมือนกัน พื้นที่น่าห่วงเป็นจุดเดิมๆ เช่น พัทยา จันทบุรี เมื่อฝนตกนานจะระบายน้ำไม่ทัน

●ปีนี้กรุงเทพฯจะเกิดน้ำท่วมซ้ำรอยปี 2554?
ปีนี้สถานการณ์น้ำท่วมโดยรวมจะท่วมเป็นหย่อมๆ ในพื้นที่ลุ่มต่ำ นอกคันกันน้ำ เกิดจากน้ำไหลในน้ำจนเอ่อล้น ไม่ได้ไหลในทุ่งเหมือนปี 2554 น้ำกระจายหลายพื้นที่ทะลุมาถึงปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพฯ แต่ปีนี้จะไม่เกิดน้ำท่วมซ้ำรอยปี 2554 เพราะสภาพพื้นที่และปริมาณน้ำเป็นแค่ 1 ใน 4 ของปี 2554 เท่านั้น อย่างไรก็ตาม มีการท่วมบางพื้นที่เหมือนปี 2554 คือ อยู่นอกคันกั้นน้ำ และน้ำทะเลหนุน สำหรับพื้นที่กรุงเทพฯ ต้องดูแลคันกั้นน้ำให้ดีให้อยู่รอดปลอดภัยไปถึงวันที่ 5 พฤศจิกายน

●ระบบป้องกันน้ำท่วมของ กทม.ช่วยได้หรือไม่ เช่น อุโมงค์ยักษ์?
ตอนนี้พื้นที่ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพฯ อยู่ในคันกั้นน้ำระบบใหญ่ระบบเดียวกัน เมื่อปี 2554 มีทะเลาะกันระหว่างคนปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพฯ แย่งกุญแจ เปิดบานประตูคลองระบายน้ำ ทั้งฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก ตอนนี้มีคันกั้นน้ำอันเดียวกันแล้ว และได้ขยายคันขึ้นไปเหนือสามโคก คลองพระยาบันลือ ส่วนฝั่งตะวันออกมีคันกั้นน้ำอยู่ชิดแม่น้ำป่าสัก คลองสิบสามก็ครอบคลุมพื้นที่เศรษฐกิจของปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพฯหมดแล้ว

ฉะนั้นเรื่องน้ำเหนือป้องกันไว้ดีแล้ว และไม่มีน้ำวิ่งในทุ่ง มีน้ำที่เอ่อขึ้นจากแม่น้ำเจ้าพระยาเท่านั้น สิ่งสำคัญต้องช่วยกันดูแลคันกั้นน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาและเตรียมรับน้ำฝนและพายุหลังวันที่ 16 ตุลาคม ที่ร่องฝนจะเลื่อนจากอีสานลงมากรุงเทพฯอีก เป็นไปตามธรรมชาติ ทาง กรุงเทพมหานคร (กทม.)ต้องหมั่นตรวจประตูระบายน้ำ ลอกท่อ คลองข้างถนน คลองสายต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพ ให้ระบายน้ำลงไปที่อุโมงค์และเครื่องสูบน้ำก็ต้องพร้อม อย่าให้ไฟดับ

เมื่อฝนตกหนักกรุงเทพฯจะมีปัญหาน้ำรอระบาย มี 12 จุดเป็นพื้นที่เสี่ยง เช่น ถนนแจ้งวัฒนะจากคลองประปา-คลองเปรมประชากร, รัชดาภิเษกหน้าธนาคารกรุงเทพ, ประชาราษฎร์สาย 2 แยกเตาปูน, ราชวิถีหน้าราชภัฏสวนดุสิตและเชิงสะพานกรุงธน, พญาไทหน้ากรมปศุสัตว์, ศรีอยุธยา หน้า สน.พญาไท ถ้าฝนตกเกิน 60 มิลลิเมตร ต้องใช้เวลาระบายหลายชั่วโมง บางพื้นที่ใช้เวลาเป็นวัน เพราะท่อระบายน้ำตกท้องช้าง เก่า มีขนาดเล็ก ยังไม่มีงบประมาณเปลี่ยน ในหลายพื้นที่ เช่น ย่านเศรษฐกิจพยายามเสริมท่อเพิ่ม ที่ผ่านมา กทม.ได้สร้างท่อเร่งระบายน้ำ หรือ Pipe Jacking เพิ่มพื้นที่แก้มลิง 3 แห่ง แต่สิ่งสำคัญต้องกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ ต้องเก็บขยะ ไม่ให้อุดตันท่อและตะแกรงสถานีสูบน้ำ

เมื่อเปิดทางระบายน้ำตามคลองต่างๆ จะสามารถดึงน้ำไปลงอุโมงค์ยักษ์ออกแม่น้ำเจ้าพระยาได้ ซึ่งอุโมงค์ยักษ์ที่ กทม.สร้าง มีประสิทธิภาพอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมามีขยะอุดตัน มีการบุกรุกริมคลอง ทำให้น้ำระบายไปไม่ถึง ไม่ว่าอุโมงค์พระราม 9 ที่ใช้มาหลายปีแล้ว หรืออุโมงค์คลองบางซื่อ จะรับน้ำจากคลองลาดพร้าว ยังมีการบุกรุกริมคลองอยู่ ทำให้ปัจจุบันการระบายน้ำไปไม่ถึงอุโมงค์

●ผังเมืองรวมเป็นสาเหตุของปัญหาด้วยเหมือนกัน?
ปัญหาผังเมืองรวมกรุงเทพฯมีมานานแล้ว เพราะเราใช้ฟลัดเวย์ธรรมชาติทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตก แต่ปัจจุบันมีการก่อสร้างเต็มไปหมด ทั้งที่ผังเมืองกำหนดเป็นพื้นที่สีเขียวลายขาว เพื่อการเกษตร แต่นำไปทำอุตสาหกรรม ถนน สนามบิน ตอนนี้ไม่มีฟลัดเวย์ฝั่งตะวันออกแล้วเป็นธรรมดา เมื่อรุกล้ำพื้นที่น้ำหลากตามธรรมชาติ ก็ถูกน้ำท่วมตามธรรมชาติ ทำให้การไหลไม่สะดวก

●แก้น้ำท่วมให้ยั่งยืน โครงการมอเตอร์เวย์น้ำที่เคยเสนอยังมีความจำเป็น?
การป้องกันน้ำท่วมเป็นยุทธศาสตร์ชาติ 25 ปี ตอนนี้เดินมาแล้ว 5 ปี เหลือ 20 ปี มี 9 แผนงาน เสร็จแล้วคือคันกั้นน้ำปกป้องปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพฯ อยู่ระหว่างก่อสร้างคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร ทำให้การระบายน้ำเร็วขึ้น อีก 4 ปีจะเสร็จ เตรียมจะสร้างต่อไปคือคลองระบายน้ำหลากชัยนาท-ป่าสัก-อ่าวไทย ระยะทางรวม 300 กิโลแมตร

ช่วงชัยนาท-ป่าสักออกแบบเสร็จแล้ว ยังไม่มีงบประมาณสร้าง จะระบายน้ำได้เพิ่มขึ้น 3 เท่า จาก 300 ลูกบาศก์เมตร/วินาที เป็น 900 ลูกบาศก์เมตร/วินาที และช่วงป่าสัก-อ่าวไทย เป็นการขุดคลองใหม่ ระยะทางกว่า 100 กิโลเมตร จากเขื่อนพระราม 6 ลงมาถึงอ่าวไทย แนวจะอยู่ห่างจากถนนวงแหวนรอบนอกตะวันออกประมาณ 10 กิโลเมตร กำลังศึกษาและทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจะระบายน้ำได้ 1,200 ลูกบาศก์เมตร/วินาที อยากให้โครงการนี้เกิดเร็วที่สุดเพราะช่วยน้ำท่วมเจ้าพระยาตอนล่างได้หลายเมืองตั้งแต่สิงห์บุรี อ่างทองลงมาถึงสมุทรปราการ คาดว่าจะใช้งบประมาณก่อสร้างร่วมแสนล้าน เพราะมีเวนคืนที่ดินด้วย

ยังมีโครงการปรับปรุงระบบคลองฝั่งตะวันตกและตะวันออก ใช้งบประมาณรายปีดำเนินการ จะใช้เวลาประมาณ 20 ปี โครงการคลองลัดแม่น้ำท่าจีน จะทำเหมือนคลองลัดโพธิ์ ส่วนมอเตอร์เวย์น้ำจะสร้างคู่ขนานวงแหวนรอบ 3 ไม่มีแล้ว หลังวิเคราะห์พบว่าการขุดคลองระบายน้ำชัยนาท-ป่าสัก-อ่าวไทย มีประสิทธิภาพดีกว่า

●เมื่อ 10 ปีรัฐบาลเคยทำแผนบริหารน้ำไว้ใช้เงินลงทุน 3.5 แสนล้าน ถ้าได้เดินหน้าจะช่วยบรรเทาน้ำปีนี้ได้หรือไม่?
ไม่ต้องทำโครงการใหญ่ขนาดนั้น ทำเฉพาะฝั่งตะวันออกก็พอ ขุดคลองใหม่ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ น่าจะรับน้ำเหนือได้ แต่ขอให้รีบสร้าง อย่าไปนึกถึงโครงการของรัฐบาลนั้น รัฐบาลนี้ รัฐบาลหน้ามาให้รีบจัดสรรงบประมาณมาสร้าง เพราะรัฐบาลนี้ไม่มีงบประมาณแล้ว เพราะ พ.ร.บ.งบประมาณ 2565 ผ่านรัฐสภาไปแล้วและรัฐต้องใช้งบประมาณแก้ปัญหาโควิด-19 ก่อน หวังว่ารัฐบาลหน้ามาหาเสียงกันให้เต็มที่ พรรคไหนก็ได้ ขอให้ทำจริง จัดสรรงบประมาณมาให้เต็มที่ ถ้าได้สร้างจะใช้เวลา 7 ปีเสร็จ

●ปีนี้ประเทศไทยยังมีปัญหาวิกฤตภัยแล้ง?
มีปัญหาเหมือน 2 ปีที่แล้ว น่าห่วงที่สุดพื้นที่ 22 จังหวัดภาคกลาง มีพื้นที่เกษตรถึง 7 ล้านไร่ เมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา มีปริมาณน้ำใช้การจริงในอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ รวมกัน 6,305 ล้านลูกบาศก์เมตร คาดว่าถึงเดือนพฤศจิกายนนี้จะมีปริมาณน้ำใช้การได้จริงไม่เกิน 8,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ในขณะที่ความต้องการใช้น้ำในฤดูแล้งตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเมษายน 2565 ของ 22 จังหวัด ภาคกลาง ที่จะใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำหลักทั้ง 4 แห่งนี้นั้นมีความต้องการใช้น้ำตามปกติสูงถึง 12,000 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือหากจะประหยัดจะต้องการใช้น้ำถึง 10,000 ล้านลูกบาศก์เมตร

คาดว่าในการจัดสรรและบริหารจัดการน้ำนั้น กรมชลประทานจะต้องให้ความสำคัญตามลำดับก่อนหลัง เช่น น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค น้ำเพื่อการรักษาคุณภาพระบบนิเวศวิทยา น้ำเพื่อการเกษตร ซึ่งในที่สุดที่คาดว่าจะไม่ส่งน้ำให้กับการปลูกข้าวหลังจากวันที่ 1 พฤศจิกายนเป็นต้นไป จากปกติจะมีการปลูกข้าวในฤดูแล้ง 3-5 ล้านไร่ เกษตรกรต้องปรับตัวไปปลูกพืชอื่นที่ใช้น้ำน้อย ผู้ใช้น้ำเพื่อการอุตสาหกรรม สถานประกอบการและในทุกครัวเรือน ต้องประหยัดการใช้น้ำ ส่วนภาคอื่นๆ ที่เป็นพื้นที่ดอน ไม่ใกล้อ่างเก็บน้ำ และอยู่ในระบบชลประทาน จะมีปัญหาภัยแล้งหมดทั้งประเทศ ซึ่งจะวิกฤตต่อเนื่องไปถึงปีหน้า

นอกจากนี้คนต้องสร้างแหล่งน้ำของตัวเอง ตรงไหนเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำช่วยกันสร้าง ทำเป็นวิสาหกิจชุมชน เหมือนกับโมเดล “โคก หนอง นา” ที่สร้างสระและปลูกพืชมีราคาสูงรอบสระ สร้างรายได้ แต่ต้องเลือกพื้นที่เหมาะสม อย่าไปรอรัฐบาล ทุกคนต้องร่วมกัน ถ้าทุกพื้นที่มีแหล่งน้ำชุมชน อย่างน้อยจะทุเลาเรื่องน้ำกิน น้ำใช้ได้

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image