ถกเรื่องชุด เจาะหลักสูตร ‘ลูกเสือ’ ครูทิว ธนวรรธน์ สุวรรณปาล ‘ผมสนับสนุนให้เลิกบังคับ’

กลายเป็นประเด็นถกเถียงอย่างกว้างขวาง สำหรับการตั้งคำถามถึงความจำเป็นของ ‘เครื่องแบบลูกเสือ-เนตรนารี’ ที่มีค่าใช้จ่ายสูงมากในยุคที่เพิ่งผ่านพ้นการแพร่ระบาดอย่างเข้มข้นของไวรัสโควิด-19

เศรษฐกิจครัวเรือนที่ฝืดเคืองกว่าเก่าดังปรากฏตัวเลขอย่างเป็นรูปธรรม ในวันที่โรงรับจำนำคึกคักกว่าปกติในวันเปิดเทอมใหม่ที่หัวใจผู้ปกครองต้องควักจ่ายไอเท็มจิปาถะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อชุดดังกล่าวใช้สวมใส่เพียง 1 วันต่อสัปดาห์ ยังไม่นับอุปกรณ์จุกจิกจำพวกเข็มกลัด อินธนู พู่ถุงเท้า และอีกมากมายที่ละลายเงินในกระเป๋าพ่อแม่

“พอบังคับทั้งหมด มันก็มีเด็กที่ไม่เอ็นจอย ส่วนเด็กที่เอ็นจอยก็อาจพาลไม่ชอบไปด้วย กระแสส่วนใหญ่ไม่ได้บอกว่าลูกเสือไม่มีดีเลย แต่ทำเป็นชมรมสิ เมื่อเป็นไปตามความสมัครใจ มันก็เป็นไปตามความพร้อมด้วย”

คือมุมมองของ ว่าที่เรือตรี ธนวรรธน์ สุวรรณปาล หรือ ‘ครูทิว’ จากเพจดังทางการศึกษาอย่าง ‘ครูขอสอน’ ผู้ปรากฏตัวในเครื่องแบบลูกเสือเต็มยศ ทั้งหมวก เข็มขัด ผ้าพันคอ เพราะเพิ่งสอนวิชาดังกล่าวเสร็จสิ้นไม่กี่นาทีก่อนนั่งลงตอบคำถามในบทสัมภาษณ์ในฐานะครูในโรงเรียนรัฐบาลแห่งหนึ่ง ซึ่งทำหน้าที่รับผิดชอบงานหัวหน้าลูกเสือของโรงเรียน มีความเป็นครูเต็มพิกัดตั้งแต่รุ่นคุณพ่อคุณแม่ พื้นเพเป็นชาวจังหวัดจันทบุรี พอขึ้นมัธยม ย้ายไปเรียนที่ชลบุรีจนถึงระดับปริญญาตรี ก่อนสอบบรรจุเป็นครู ผ่านประสบการณ์ยาวนาน 7 ปีเต็มจากโรงเรียน 2 แห่งในสถานศึกษาแห่งมหานครกรุงเทพฯ

Advertisement

ในช่วงเวลาที่การมาถึงของ #ทีมชัชชาติ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่ ถูกมองเป็นแสงสว่างในหลายด้าน หนึ่งในนั้นคือการศึกษา ภายใต้หน้าตักของ 1 ใน 4 รองผู้ว่าฯ นาม ศานนท์ หวังสร้างบุญ

ความคร่ำครึ ล้าหลังที่ถูกคาดหวังให้ปฏิรูปเพื่อประโยชน์ของอนาคตชาติ

ครูทิว มองอย่างไรในหลากหลายประเด็นสำคัญต่อบุคลากรของวันพรุ่งนี้ ?

Advertisement

 

 

 

 

•เมื่อครั้งยังเด็ก ส่วนตัวมีมุมมองต่อเรื่องชุดลูกเสืออย่างไร โอเคกับเครื่องแบบไหม?

บอกตามตรงว่าไม่เคยมีปัญหาเรื่องนี้เลย รู้สึกว่าตัวเองมีเจตคติที่ดีต่อลูกเสือมาตั้งแต่เด็ก ตอนนั้นสัก 3-4 ขวบ ด้วยความที่พ่อแม่เป็นครู จะตื่นเต้นมากเวลาเขาพาพี่นักเรียนไปเข้าค่าย จะไปป่าชุมชนหรือเป็นแคมป์ที่โรงเรียนทำเอง เด็กก็กางเต็นท์ ทำข้าวของเครื่องใช้เอง ฐานกิจกรรมต่างๆ ครูในโรงเรียนจะเอาเชือกไปทำกัน ไม่ใช่ฐานค่ายสำเร็จรูปอย่างที่เห็นในปัจจุบัน เราชอบหอบผ้าหอบผ่อนกับของกิน ไปนั่งดูรอบกองไฟที่พี่ๆ เขาแสดง ส่วนพ่อก็เป็นพิธีกรรอบกองไฟ นั่นคือความทรงจำตั้งแต่เด็กที่ทำให้เราชอบกิจกรรมลูกเสือมาตลอด พอเรียนประถมด้วยความเป็นลูกครู พ่อแม่จะคอยดูแลเรื่องเสื้อผ้าหน้าผม ทำให้ค่อนข้างพร้อมในเรื่องนี้ ก็รู้สึกว่าโอเคด้วยจริตของเรา และความอินกับกิจกรรมแบบนี้

ตอนมัธยมเป็นเด็กกิจกรรม และลูกเสือก็เป็นกิจกรรมหนึ่งที่ครูเขาเปิดโอกาสให้เข้าไปเป็นพี่เลี้ยงค่าย ได้มีการตั้งชุมนุมลูกเสือ แล้วดึงเฉพาะคนที่ชอบเข้ามา มีการตัดและทำเครื่องแบบ มีการสอบวิชาพิเศษต่างหากนอกเหนือจากคนอื่น รู้สึกอินและมันพอดีกับคาแร็กเตอร์ของตัวเอง ที่ชอบแต่งเครื่องแบบ เรารู้สึกภาคภูมิใจเวลาทำอะไรสำเร็จ หรือได้ใส่เครื่องแบบนี้ไปบริการ ทำกิจกรรมต่างๆ ให้กับโรงเรียน ชุมชน

•แล้วเมื่อมาเป็นครูแล้ว คิดว่า ‘เครื่องแบบ’ โดยเฉพาะลูกเสือ-เนตรนารี จำเป็นมาก-น้อยขนาดไหน?

อาจต้องคุยกันในเรื่องตัวกิจการลูกเสือก่อน ว่ากิจการลูกเสือโลกมีที่มาที่ไปกว่า 100 ปี ในไทยมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 แต่ละประเทศทั่วโลกมีกิจการลูกเสือ สโมสร และองค์การลูกเสือแห่งชาติอยู่เกือบทุกประเทศ สิ่งหนึ่งที่เราเห็นคู่กับลูกเสือมาคือเครื่องแบบ ด้วยความเป็นหมู่ เป็นกอง เป็นหน่วย พอมันมีลักษณะอย่างนี้ ใครอยู่สมาคมไหน หมู่ไหน กองไหน ตัวเครื่องแบบก็เป็นตัวบอกสังกัดของตัวเอง บ่งบอกถึงความเป็น unity (ความสามัคคี) ของขบวนการลูกเสือ ดังนั้นถามว่าเครื่องแบบจำเป็นไหม ต้องถามก่อนว่าเครื่องแบบ แบบไหน ?

มันอาจจะจำเป็น แต่เครื่องแบบมันหมายถึงแค่ไหน แค่หมวก ผ้าผูกคอ หรือจะต้องจัดเต็ม เป็นชุดกากี ชุดซาฟารี หรือชุดแบบไหนที่เหมาะสม เรื่องนี้มันสามารถปรับเปลี่ยนได้ อย่างในไทยเอง ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 มีกิจการลูกเสือมาจนกระทั่งเข้าสู่การถูกบังคับเรียนในโรงเรียน เครื่องแบบก็มีการเปลี่ยนแปลงมาตลอด สำหรับชุดที่เราเห็นกันในปัจจุบัน มีมาตั้งแต่กฎกระทรวง พ.ศ.2510 นั่นคือ 50 ปีแล้ว
การใส่เครื่องแบบจะเป็นจุดแรกที่เวลาเรียนลูกเสือ จะบอกว่ามันเป็นเรื่องของการดูแลตัวเอง การมีวินัย แล้วบางครั้ง พวกเครื่องหมายต่างๆ เป็นเหมือนรีวอร์ดให้นักเรียนที่แสดงความสามารถของเขา สามารถประสบความสำเร็จกับอะไรบางอย่าง

•ลูกเสือในต่างประเทศจะมีกิจกรรมให้เด็กไปทำ แล้วมอบเครื่องหมายให้ แต่ไม่ค่อยเห็นสิ่งนี้ในไทย?

ปัญหาคือในไทยเป็นกิจกรรมแบบแมส มันจึงไม่พอดีกับตัวกิจกรรมเดิมของลูกเสือที่ถูกออกแบบมา กิจกรรมลูกเสือในแต่ละประเทศจะแบ่งไม่เหมือนกัน ในประเทศไทยแบ่งเป็นลูกเสือสามัญ สามัญรุ่นใหญ่ และวิสามัญ แบ่งตามช่วงอายุ ตัวกิจกรรมต่างๆ จะถูกออกแบบให้เหมาะสมกับพัฒนาการแต่ละช่วงวัย เราจะเห็นว่าลูกเสือสำรองใส่ชุดและมีกิจกรรมอีกแบบหนึ่ง เน้นเรื่องเมาคลี นิทาน เป็นสัตว์ป่าต่างๆ ให้เหมาะกับวัยของเด็ก พอเด็กสามัญ เด็กประถมก็เป็นอีกระดับหนึ่ง เด็กสามัญรุ่นใหญ่ก็จะเป็นกิจกรรมที่หลากหลาย และให้เขาได้ค้นหาตัวเอง

ลูกเสือเป็นกิจกรรมค่อนข้าง personalized (ส่วนบุคคล) เรากำลังพูดถึงการศึกษาที่เด็กสามารถออกแบบการเรียนรู้ หรือ learning path (เส้นทางการเรียนรู้) ของตัวเองได้ หัวใจของลูกเสือมันเป็นแบบนั้น หลักสูตรลูกเสือที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2528 มีถึง 76 วิชา แต่โอเคว่าในบางวิชาอาจมีการปรับเปลี่ยนไปบ้าง แต่ในหลายวิชาคิดว่ามันคลาสสิก เป็นกิจกรรมที่ทำอยู่ แล้วเวลาเด็กทำเขาก็ได้สนุกสนาน ยกตัวอย่างวิชาหลักๆ เช่น นักผจญภัย อยู่ค่ายพักแรม การจัดการค่ายพักแรม หัวหน้าคนครัว หรือกิจกรรมเฉพาะทาง เช่น นักประชาสัมพันธ์ นักสาธารณสุข ผู้ประถมพยาบาล หรือจะเป็นวิชาเฉพาะเหล่า ของลูกเสืออากาศ ลูกเสือสมุทร มีวิชานักเดินเรือ นักชาวประมง นักว่ายน้ำ และป้องกันภัยทางอากาศ เป็นอะไรที่น่าสนใจมาก แต่ในทาง practical (ใช้ได้จริง) พอโรงเรียนจัดแบบแมสมันไม่สามารถไป personalized กับเด็กได้อย่างจริงจัง จำนวนบุคลากรก็ไม่พอ อย่างที่บอกว่าลูกเสือเป็นกิจกรรมตามความสนใจ แต่ไปบังคับเลยดูเหมือนเพี้ยนไปหมด ครูเองก็ไม่อยากสอน เด็กนักเรียนก็ไม่อยากเรียน

•นอกเหนือจากประเด็นชุดลูกเสือ มีข้อถกเถียงที่ไปไกลกว่านั้น คือควรยกเลิกวิชาลูกเสือหรือไม่ อย่างไร และถ้าไม่ยกเลิกจะปรับตัวแบบไหน?

ส่วนตัวแม้จะชอบกิจกรรมลูกเสือ และรับผิดชอบเป็นหัวหน้ากิจกรรมนี้ แต่ก็สนับสนุนให้ ยกเลิกการบังคับ แต่เปลี่ยนเป็นชมรมหรือสโมสร ซึ่งมีกฎหมายรองรับ ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนเป็นคนจัด เช่น เป็นกองลูกเสือโรงเรียน A B C หรือสมาคมนอกจัดเป็นคลับ นึกภาพง่ายๆ เหมือนเด็กจะเล่นกีฬา สมมุติว่าเป็นฟุตบอล เราจะเห็นว่ามีสโมสรฟุตบอลที่เป็นชมรมหรือคลับ คัดเด็กเข้าไป พาฝึกซ้อม แข่งล่ารางวัลต่างๆ หรือเป็นทีมฟุตบอลที่อยู่กับโรงเรียน ลูกเสือก็มีฟังก์ชั่นเดียวกัน

ตอนไปเป็นครูแลกเปลี่ยนที่ออสเตรเลีย ได้แวะคุยกับกองลูกเสือของเขา เป็นกองลูกเสือของเมือง พอไปก็เป็นโรง มีอาคาร อุปกรณ์แอดเวนเจอร์ และลานกว้าง ได้คุยแลกเปลี่ยนกับเขาว่าลูกเสือไทยเป็นยังไง ลูกเสือออสเตเลียเป็นยังไง โดยช่วงหลังเลิกเรียนผู้ปกครองจะหากิจกรรมให้ลูกทำ เพื่อให้เขาได้ไปค้นพบตัวเอง ได้ไปทำกิจกรรมต่างๆ ไปเข้าสังคม บางคนไปอยู่คลับเทนนิส ฟุตบอล หรือวิทยาศาสตร์ ทดลองประดิษฐ์ บางคนก็มาลูกเสือ ซึ่งเขาบอกว่าเขาต้องแข่งขันสูง พอมันเป็นคลับแบบนี้ ก็อยู่ในสเตตัสที่เขาต้องทำกิจกรรมให้น่าสนใจและดึงดูดมากพอให้คนมาเข้ากิจกรรม มีการเสียค่าบำรุง เพราะว่าต้องมีค่าเช่าสถานที่ อุปกรณ์ ค่าเครื่องหมายต่างๆ ซึ่งจะเป็นความสมัครใจของเด็กและผู้ปกครอง

•ในต่างประเทศ เขาอินกับ ‘ลูกเสือ’ มากน้อยแค่ไหน เปรียบเทียบกับในไทย เหมือนหรือต่างกันอย่างไร?

ถ้าเกิดเคยดูการ์ตูนเรื่องซูโทเปีย จะเห็นว่านิกกี้หรือเจ้าสุนัขจิ้งจอกเคยบอกว่าตอนเด็กใฝ่ฝันอยากเป็นลูกเสือ จะมีเด็กอย่างนี้เยอะจริงๆ เด็กที่ชอบและอิน ต่างประเทศเขามีทำเนียบเลยว่า ประธานาธิบดีคนไหนบ้างเคยเป็นลูกเสือ เคยได้เหรียญไหน กิจกรรมลูกเสือจะเน้นทักษะชีวิต การเอาตัวรอด
ต่างๆ รวมถึงการทำงานเป็นทีม กระบวนการทำงานร่วมกัน มีความเป็นประชาธิปไตย

สำหรับในไทย ลูกเสือ เป็นกิจกรรมของเด็ก แต่เป็นงานของผู้ใหญ่ อย่างเช่นครูที่เขาไปอบรมมาแล้วต้องมีกรรมการมาประเมิน เพื่อให้ได้เครื่องหมายคุณวุฒิ ลูกเสือจะต้องจัดการประชุมกอง ประชุมนายหมู่ จะเห็นว่าการจัดประชุมนายหมู่ คือเด็กมานั่งล้อมวงคุยกัน ว่าหมู่ไหนทำอะไรมา จะไปเข้าค่ายที่ไหนกันดี ใครไปสำรวจ หาข้อมูลสถานที่มาแล้ว ลองโหวตว่าจะไปไหน แล้วครูเป็นที่ปรึกษาก็นั่งห่างๆ คอยให้เด็กหันมาถาม ถึงจะตอบ ไม่เข้าไปบงการใดๆ ทั้งสิ้น

กระบวนการเหล่านี้ พอมันเป็นแมสเลยทำไม่ได้ ฉะนั้นถึงบอกว่าควรเป็นกิจกรรมชมรม เป็นความสมัครใจมากกว่า มันถึงจะทำได้ตามวิถีหรือกระบวนการของลูกเสือจริงๆ หากจะบังคับแล้วให้เวลาแค่สัปดาห์ละ 1 คาบ 50 นาที มันเป็นไปไม่ได้เลยที่คุณบอกว่าควรจะจริงจังกับลูกเสือ ลูกเสือมีดีอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วที่ผ่านมาทำไมยังทำไม่ได้ ตัวแก่นสารของมันจะมีจริง แค่วิธีการเอามาบังคับหรือที่ทำอยู่มันผิด

ทำไมไม่ให้ครูที่อิน เด็กที่อินมาอยู่ด้วยกัน ซึ่งทดลองแล้ว ตั้งแต่อยู่โรงเรียนเก่า ก็ตั้งชมรมลูกเสือขึ้นมา อยากรู้ว่าจะมีเด็กสนใจมากเท่าไหร่ พาทำกิจกรรม ไม่มีการลงโทษ พาไปเที่ยว ไปใช้ชีวิต รับประสบการณ์ที่เป็นลูกเสือจริงๆ แล้วเด็กมีความสุขเรื่องเครื่องแบบ พอเด็กรักก็ดูแลตัวเองได้เรียบร้อยไม่มีปัญหา

ผู้ปกครองฟีดแบ๊กกลับมาว่าพอเด็กมาอยู่ตรงนี้ รู้สึกว่าลูกเขาทำอะไรได้หลายอย่าง ไปช่วยงานที่บ้าน เดี๋ยวนี้มีอะไรเสีย เขาบอกว่าเขาช่วยซ่อมให้ มันแฮปปี้ทุกฝ่าย ดังนั้นคีย์อยู่ตรงนี้ ต่างประเทศมีทั้งรูปแบบที่อยู่กับโรงเรียนและเป็นคลับอย่างที่บอกและค่าใช้จ่ายเยอะ แต่เขายอมจ่ายเพราะเป็นความสมัครใจ ผู้ปกครองสนับสนุน เขาอยากให้ลูกได้เติมเต็มตัวเอง เด็กได้ค้นหาตัวเอง เหมือนการ์ตูนเรื่อง Up รัสเซลล์ต้องไปทำภารกิจบางอย่าง แล้วมันเป็นความภาคภูมิใจจริงๆ ของเด็กวัยนี้ที่เขากำลังเสาะหาตัวเองอยู่ เขาเป็นใคร เขาทำอะไรได้บ้าง

•เคยคุยกับเด็กที่มีปัญหาเรื่องฐานะของครอบครัวที่ไม่พร้อมซัพพอร์ตค่าเครื่องแบบไหม?

มีเด็กมาคุยเหมือนกันว่า ไม่มีชุด ไม่มีอะไร ตั้งแต่ที่โรงเรียนเก่าจนถึงตอนนี้ จะมีคลังไว้ตลอด ครูมีหมวกสำรอง วอกเกิ้ล ให้เอาไปเลย ไม่ได้คาดคั้นเอาเป็นเอาตายกับเด็ก ว่าไม่มีนั่นนี่ ถามว่าพวกนี้มาจากไหน เวลาเด็กรุ่นพี่จบ เราก็จะขอว่า ใครไม่ใช้อะไรแล้ว ขอเก็บไว้ เพราะมันสูญเปล่าทางเศรษฐกิจ มันก็ทิ้งไปเปล่าๆ ถ้าใครไม่มีน้องที่จะส่งต่อก็เอาตรงนี้ไว้ช่วย

•เคยหารือทางออกกับเครือข่ายครูท่านอื่น โรงเรียนอื่นหรือไม่ในปัญหาเรื่องเครื่องแบบลูกเสือ?

ยังไม่เคยคุยจริงจัง แต่เคยมีครูโรงเรียนเอกชนที่พ่อแม่เด็กไม่ได้มีปัญหาทางเศรษฐกิจเลย อยู่ในกลุ่ม 10% ของประเทศด้วยซ้ำที่จะส่งเรียนโรงเรียนนั้น ผู้ปกครองฟีดแบ๊กกลับมา ว่าชุดลูกเสือซื้อมาไม่ค่อยได้ใส่ หรือใส่แค่ตอนเข้าค่าย ถ้าจะไม่ใส่ ไม่ซื้อเลย มันจะเป็นอะไรไหม จริงๆ แล้ว โรงเรียนจะจัดการอย่างไรก็ไม่มีใครว่าหรอก มันขึ้นอยู่กับผู้บริหารและครูในโรงเรียน เปิดพื้นที่ในการคุยกันว่ายังไงแต่ส่วนใหญ่ก็จะ Play Safe หมายความว่าระเบียบมันมายังไง มีข้อกำหนดมายังไงบ้าง ก็พยายามทำให้เป็นไปตามนั้น แต่ตรงไหนที่มีปัญหา โรงเรียนจะซัพพอร์ตยังไงได้บ้าง เพราะถึงแม้รัฐบาลจะมีนโยบายเรียนฟรี มีค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าเครื่องแบบต่างๆ แต่ไม่เคยเพียงพอ แล้วจำนวนยอดเงิน มันตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปีนี้ก็ยังไม่เคยเปลี่ยน

ข้อมูลจากปี 2564 งบค่าเครื่องแบบนักเรียน เสื้อ กางเกง กระโปรง จะเป็นชุดพละ ชุดลูกเสือ ชุดนักเรียนก็ได้ แล้วแต่ผู้ปกครองจัดสรร ปฐมวัยได้ 300 บาท ประถมได้ 360 บาท มัธยมศึกษาตอนต้นได้ 450 บาท และมัธยมปลายได้ 500 บาท ยอดนี้มา 10 กว่าปี ชุดลูกเสือของนักเรียนประมาณ 300-400 บาท แต่ก็ยังไม่รวมเข็มขัด ผ้าผูกคอ เครื่องประดับอื่นอีกหลายร้อย แค่ชุดลูกเสือก็ตกเป็นพัน ยังไม่นับว่าต้องมีชุดนักเรียนอีกอย่างน้อย 2-3 ตัว และชุดพละอีก

•แล้วผู้บริหารมีความคิดเห็นอย่างไร?

ได้อยู่กับผู้บริหารมาหลายคน ก็เป็นผู้บริหารที่เน้นลูกเสืออยู่แล้ว พอเขาเน้นลูกเสือก็พยายามให้เกิดภาพที่เด็กทุกคนแต่งได้ครบ เรียบร้อย แต่เด็กคนไหนที่ขาด ให้เราหาทางช่วยเหลือ กลายเป็นกลไกแบบนั้นไป เหมือนแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ก่อนหน้านี้ มีข้อถกเถียงแต่ไม่ได้เป็นประเด็นใหญ่

สาเหตุที่เริ่มเป็นประเด็นใหญ่เพราะ 2 ปีที่ผ่านมา มันเรียนไม่เต็มที่ เรียนออนไลน์ พอปีนี้เปิดมา ประสบกับภาวะเศรษฐกิจ เลยมีคำถามที่เสียงดังขึ้น กลายเป็นจุดที่ต้องเริ่มพูดคุย แต่แนวทางของกระทรวงเอง ตั้งแต่ปีที่แล้วก็เคยมีคุย สุดท้ายกระทรวงศึกษาธิการออกแนวปฏิบัติมาว่าสามารถใส่ชุดลำลองได้ ชุดลำลองในระเบียบ ปี 2529 บอกว่าให้ลูกเสือสำรอง ลูกเสือสามัญ สามารถใส่ชุดลำลอง เป็นชุดนักเรียน ใส่แค่ผ้าผูกคอกับหมวก อาจจะมีเข็มเครื่องหมายซึ่งไม่ได้ซีเรียส แทนการใส่ชุดลูกเสือ เพราะว่าปีที่แล้วมีประเด็นเรียนออนไลน์บ้าง ไม่ออนไลน์บ้าง เขาจึงออกแนวปฏิบัติ เพื่อให้ปฏิบัติได้ยืดหยุ่นมากขึ้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ รับรู้กันน้อย พอมาเปิดเรียนเต็มรูปแบบหลายโรงเรียนเลยเริ่มมีปัญหา เด็ก ม.3 รุ่นนี้ บางคนเคยซื้อชุดลูกเสือตั้งแต่ ม.1 ใส่ไม่ได้แล้ว เรียนฟรีก็ไม่มีอยู่จริง โรงเรียนทุกโรงเรียนยืนอยู่ไม่ได้จากงบอุดหนุนที่กระทรวงให้มา

•ตอนนี้มีทีมผู้ว่าฯกทม. ชุดใหม่เข้ามา มีความหวังขนาดไหน อยากแนะนำอะไรเพื่อช่วยพัฒนา ร.ร.ในสังกัด กทม.?

เราคาดหวัง อย่างกลุ่มครูขอสอนคอยผลักดันและพูดถึงเรื่องการกระจายอำนาจทางการศึกษามาตลอด แม้ว่า พ.ร.บ.การศึกษาปี 2542 จะบอกว่าให้มีการกระจายอำนาจจัดการศึกษาไปยังเขตพื้นที่ ไปยังสถานศึกษา แต่ภาพความเป็นจริง เขตพื้นที่กับโรงเรียน สพฐ.ทั่วประเทศ ยังดูเหมือนเป็นสาขาของกระทรวง สาขาของ สพฐ.อยู่ มากกว่าเป็นโรงเรียนที่ยืนได้ด้วยตัวเอง โรงเรียนที่สังกัดท้องถิ่นมันค่อนข้างมีความยืดหยุ่น มีพื้นที่ที่สามารถสร้างสรรค์เองได้พอสมควร แม้มีหลักสูตรแกนกลางที่ต้องยึด แต่ตัวหลักสูตรแกนกลางก็เปิดพื้นที่ให้โรงเรียนสามารถออกแบบการศึกษา ออกแบบวิชา ออกแบบหลักสูตรของตัวเองได้มากพอสมควร

ดังนั้นหลายครั้งประเด็นปัญหาในโรงเรียน กทม.ที่เจอ คือพอจะทำอะไร ออกคำสั่งอะไร สำนักการศึกษาหรือ กทม. จะต้องคอยเหลียว สพฐ. ว่า สพฐ.สั่งว่าอะไร ทั้งที่จริงแล้ว อำนาจของตัวเองสามารถจัดการโรงเรียนในสังกัดได้อย่างเต็มที่ เป็นอิสระจากกระทรวงศึกษาพอสมควร แต่แค่จัดการศึกษาให้ตามเป้าหมายของ พ.ร.บ.การศึกษาเท่านั้นเอง ถือว่าค่อนข้างจะยืดหยุ่นเรื่องหลักสูตร โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ บริบทตรงไหนที่คล้ายคลึงกัน เขาก็มีหลักสูตรกรุงเทพศึกษาที่เด็กทุกคนในกรุงเทพฯควรได้รับทักษะ ความรู้ตรงนี้ กทม. ก็ออกแบบเองได้ และในแต่ละเขตพื้นที่ก็ไม่จำเป็นว่า 400 กว่าโรงเรียนในเขต กทม. จะต้องเรียนเหมือนกัน เขตไหนมีอะไรน่าสนใจ มีอะไรเป็นจุดเด่น หรือเป็นความเฉพาะที่จะทำให้เด็กมีความรู้ มีทักษะ เจตคติในพื้นที่ท้องถิ่นตัวเอง เขตสามารถออกแบบได้เต็มที่

•สิ่งที่ กทม.ทำไว้ดีอยู่แล้ว และอยากให้คงไว้ ไม่ยกเลิก?

สำหรับงบประมาณในการสนับสนุนรายหัวหรือ กิจกรรมต่างๆ ของโรงเรียน กทม. สามารถออกนโยบายและแนวปฏิบัติให้กับโรงเรียนของตัวเอง จริงๆ จะยกเลิก (กิจกรรม) หน้าเสาธงก็ยังได้ แต่สิ่งที่ชอบซึ่ง กทม.ทำอยู่เดิม คือเขามีอาหารเช้าให้เด็ก บางครั้งก็มีเหลือพอให้เด็กหิ้วกลับไปฝากผู้ปกครองด้วย ส่วนใหญ่ที่เรียนโรงเรียน กทม. เนื่องจากสวัสดิการหรือเรื่องเงินค่าใช้จ่ายค่อนข้างดีกว่าโรงเรียน สพฐ. กลุ่มคนที่อยู่ในเมือง มันก็มีกลุ่มคนจนเมือง กลุ่มผู้ใช้แรงงาน ตรงนี้เป็นโอกาสส่งลูกหลานเขาให้เข้าถึงการศึกษาได้ กินอิ่ม นอนหลับ มีการศึกษาที่ดี

•สุดท้าย อยากฝากถึง กทม. ในประเด็นการศึกษาโดยภาพรวม?

สิ่งที่อยากจะฝากไว้คือปรัชญาการศึกษา กทม. ควรตั้งคำถามว่าเรามีโรงเรียนไว้ทำไม แล้วจัดการศึกษาให้มันไปตอบสนองกับผู้เรียนมากที่สุด เพราะการศึกษาไม่ว่าจะของท้องถิ่นหรือของชาติ แค่กรอบที่ให้มาก็ค่อนข้างเป็นเครื่องมือในการผลิตซ้ำอุดมการณ์ของรัฐอยู่แล้ว

ดังนั้น กทม. มีพื้นที่ มีสเปซของตัวเองอาจจะเป็นตัวอย่างที่ดีได้ว่า เราสามารถดีไซน์ออกแบบการศึกษาเพื่อนักเรียน เพื่อชุมชน เพื่อทุกคนได้จริงๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image