กราบกระทรวงก็ทำมาแล้ว ‘อันนา อันนานนท์’ ขออยู่ข้างหยก ‘จงขบถต่อไป’ ร่างกายเรา ใช่ของใคร

ก่อนจะมี “หยก” ก็มี “อันนา”

ปรากฏการณ์เรียกร้องสิทธิมนุษยชนในรั้วสถานศึกษา เคยเกิดแล้ว ยังเกิดอยู่ และเกิดต่อ เพราะเด็กไทยส่วนใหญ่ไม่ไหวกับกฎระเบียบโรงเรียนที่ลิดรอนเสรีภาพ ควบคุมแม้กระทั่งอัตลักษณ์ส่วนบุคคล บงการทั้งเครื่องแบบทรงผม ไปจนถึงการลงทัณฑ์ ที่เยาวชนหัวก้าวหน้าพิจารณาแล้วมองไม่เห็นความ ‘เมกเซนส์’

“เมื่อก่อนใช้ไม้ไผ่เรือตีนักเรียนฉันใด สมัยนี้ก็ยังมีการเอา คฝ.หญิงเข้าโรงเรียน”

อันนา อันนานนท์ ในวัย 16 ปี แกนนำกลุ่มนักเรียนเลว คือหนึ่งในเด็กที่ทั้งย้อมผมและแต่งไปรเวตไปโรงเรียน ไม่ต่างจาก หยก ธนลภย์ ผลัญชัย สมาชิกกลุ่มนักเรียนล้ม ที่ออกมาเคลื่อนไหวหวังกระชากหน้ากากอำนาจนิยม ให้ได้มาซึ่งสิทธิในเนื้อตัวร่างกายเหมือนนักเรียนในสากลโลก โฟกัสไปที่การเรียนรู้ เปิดพื้นที่ให้ได้ฟรีสไตล์ คงไว้แค่กรอบอย่าง ‘เดรสโค้ด’

Advertisement

“สมัยเรียนอยู่เตรียมอุดมฯ ครูจะไม่ค่อยยุ่งกับเรามาก การที่ครูไม่ยุ่งกับเราก็เป็น privilege อย่างหนึ่ง ตอนนั้นครูกำลังว่าเพื่อนอยู่ พอเห็นเราเดินมา ครูก็บอกว่า ‘อันนาไปได้เลยลูก’ กลัวว่าถ้ายุ่งกับเรามากจะโดนถล่มจากทวิตเตอร์”

คือคำพูดของ อันนา ว่าที่นิสิต คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งยังเป็นเยาวชนเพียงหนึ่งเดียวที่เข้าร่วมพาแนลระดับโลก ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ร่วมพูดคุยเรื่องราวของเยาวชนไทยที่ต้องเผชิญตลอดหลังการชุมนุมในปี 2563 เมื่อไม่นานมานี้

อันนา เดินมายังจุดหมายปลายทางพร้อมใบหน้าที่ยิ้มแย้ม เธอสวมชุดกระโปรงสีขาว เสื้อคลุมสีชมพู ถุงเท้าดำ รองเท้าผ้าใบให้ลุคทะมัดทะแมง ก่อนจะเลือกสั่งเมนู ‘ลาเต้เย็น’ มานั่งจิบภายใน ฌ เฌอ คาเฟ่ ย่านลาดพร้าว 16 ร่มเงาไม้นานาชนิดส่งกลิ่นอาย ช่วยคลายความร้อนแรงของบทสนทนาได้อย่างดียิ่ง

Advertisement

⦁ เป็นเยาวชนคนเดียวที่อยู่บนเวทีนานาชาติ ขึ้นเวทีครั้งแรกตื่นเต้นไหม อยากสื่อสารกับใครมากที่สุด?
ค่อนข้างตื่นเต้น อยากจะพูดกับ UN และถึงประชาคมโลกที่ดูอยู่ ยอมรับว่าไม่ใช่ภาษาที่หนึ่ง พยายามทำความเข้าใจว่าแต่ละคำที่พูดมีอะไรบ้าง ซ้อมหน้ากระจก ตั้งโทรศัพท์แล้วกดอัด ซ้อมวนไปเรื่อยๆ ก็เหงา หันไปเจอแต่คนอายุ 40-50 ยังดีตรงที่ผู้ชมผู้ฟังเป็นวัยรุ่น 20 ต้นๆ

⦁ จากวันนั้นที่มีชื่อต่อท้ายว่า ‘นักเรียนเลว’ จนวันนี้ที่เป็นว่าที่นิสิตคณะนิติศาสตร์ และก้าวขึ้นเวทีนานาชาติ จากวินาทีแรกที่ลุกขึ้นมาสู้ กับความรู้สึกไม่เป็นธรรม เคยคิดไหมว่าจะมาไกลขนาดนี้?
ไม่คิดเลย ในประเทศนี้มันไม่มีอะไรคาดคิดได้แต่แรก ตั้งแต่กินแมคโดนัลด์แล้วโดนจับ เราก็ไม่คิดอยู่แล้วว่าวันหนึ่งนั่งกินข้าว เราจะโดนตำรวจล้อม 40-50 คน อุ้มหิ้วไป (อย่างละมุนละม่อม) ไม่คิดว่าตั้งแต่วันนั้นเราจะพบเจอกับความไม่เป็นธรรมอะไร ก็ทำให้เราไม่หยุด สู้มาได้ 3-4 ปีแล้ว ก็ไกลเหมือนกัน

⦁ ตอนที่ตัดสินใจออกมาต่อสู้เรียกร้องสิทธิเสรีภาพ เคยคิดไหมว่าจะเจอกับอะไรบ้าง ประเมินความเสี่ยงไว้อย่างไร?
ความเสี่ยงที่เห็นในหน้าข่าว รู้สึกว่ามันไกลตัวมาก ตอนมัธยมศึกษาปีที่ 2 ไปเห็นพิพิธภัณฑ์แบบสามัญชน เห็นว่ามีคนโดนจับติดคุก โดนขัง โดนปรับทัศนคติ มันก็เปิดโลกเรานิดนึง เห็นคนไปชุมนุมเรียกร้องการเลือกตั้งก็โดนจับ ก็ไม่คิดว่าสิ่งๆ นั้นจะใกล้ตัวเราขนาดนี้ เห็นผ่านหน้าข่าวก็รู้สึกไกลตัวมาก จนกระทั่งปี 2563 มีคนโดนตำรวจตามมันก็เริ่มใกล้เราเข้ามาเรื่อยๆ สักพักเป็นเพื่อนเราที่โดนตาม สักพักเป็นเพื่อนเราที่โดนหมาย สักพักเป็นเพื่อนเราที่โดนจับ สักพักก็เป็นเราเองที่โดนจับ อยู่ๆ ก็มีชื่อใน Watch List (บัญชีประชาชนที่ต่อต้านรัฐ) ไม่เข้าใจว่าจะทุ่มทุนในการตามเด็กคนหนึ่งทำไม การเรียกร้องสิทธิ เส้นผมของเด็กคนหนึ่งจะเป็นภัยความมั่นคงได้อย่างไร

⦁ หลังจากสื่อสารออกไป ได้เสียงตอบรับอย่างไร?
ผลตอบรับหลากหลาย ไม่ได้มีวงเดียวที่พูด มีหลายวงเอาไปเปิดสาธารณะ บางคนก็เพิ่งรู้ว่าในประเทศไทยมันยังมีกฎให้เด็กตัดผมทรงทหารด้วยเหรอ มีเด็กโดนขังคุกด้วยเหรอ พอพูดสิ่งเหล่านี้ในไทยมันดูเป็นปัญหาที่ใหญ่ เรื่องทรงผม เรื่องโดนขัง พอเทียบปัญหากับประเทศโลกที่ 1 ที่เผชิญอยู่ เช่น เรื่อง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) เรื่องสิทธิพลเมืองเขาไปไกลแล้ว แต่ประเทศเรายังไม่ไปไกล

⦁ พอเรารู้สึกว่าอะไรหลายอย่างเริ่มใกล้ตัวเรา ความรู้สึกกลัวมีมากขึ้นไหม?
แรกๆ กลัว ด้วยความที่ภัยคุกคามอยู่แค่หน้าประตูบ้าน วันนี้ตำรวจมานั่งรออยู่หน้าป้ายรถเมล์ ตำรวจไปบ้านตา ไปเคาะประตู โดนครั้งแรกมันกลัว โดนครั้งที่ 2 มันกล้า เป็นความรู้สึกที่ว่าแล้วอย่างไร คุณก็ทำได้แค่นี้ ตามหาบ้านตาเจอขนาดนี้ ไม่มีอะไรที่ต้องกลัวแล้ว

⦁ คาดการณ์ฉากเลวร้ายที่อาจจะเกิดขึ้น (worst case scenario) คืออะไร?
ก็คงเป็น ‘ความตาย’ มันมี worst ของ worst กว่านั้นอีก แต่รู้สึกว่าการได้เห็นคนรอบตัวหายไปจากเรา อยู่ๆ ต้องลากันไป ติดคุก ถ้าวันหนึ่งมันเป็นเพื่อนของเราที่โดนอุ้ม อันนั้นมันก็เป็น worst case กว่าเราตายเยอะ

⦁ ความรู้สึกกลัว ความสูญเสียต่างๆ คุ้มไหมที่ออกมาเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ?
คุ้มนะ ถ้าไม่เปลี่ยนประเทศวันนี้ จะให้รออีกกี่ปี ไม่งั้นก็ต้องมี วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ คนที่ 2 สยาม ธีรวุฒิ คนที่ 2 หรืออาจจะมีอันนา 2 ต้องจบวันนี้แหละ ให้อันนาเป็นคนสุดท้าย ให้หยกเป็นคนสุดท้าย

⦁ นิติศาสตร์มีให้เลือกหลายมหาวิทยาลัย ทำไมถึงต้องเป็น ลูกพระเกี้ยว?
เป็นความคุ้นเคยกับสยาม เรียนพิเศษที่สยามตั้งแต่ประถมศึกษาปีที่ 5-6 เดินผ่านรั้วจุฬาฯบ่อยมาก จุฬาฯเหมือนข้างบ้าน ทำตัวเป็นเด็กข้างบ้าน ขอข้าวป้าข้างบ้าน ก็ใกล้ดี น่าจะเป็นเพราะสภาพแวดล้อม ถ้าย้อนไปตอนที่โดนคุกคามหนักๆ พอถึงจุดหนึ่งก็ทำให้คิดว่า ไม่ยอมแล้ว ตอนแรกลังเลระหว่างนิติศาสตร์กับรัฐศาสตร์ แต่สุดท้ายก็เลือกนิติศาสตร์

⦁ หลังจากที่เป็นนิสิต แล้วจะยังขับเคลื่อนเรื่องนี้ต่อไปไหม?
การขับเคลื่อนไม่ใช่วุฒิการศึกษา ถ้าไม่เปลี่ยนก็ต้องทำไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเปลี่ยน ประเทศไทยยังมีกฎทรงผม ก็ยังต้องออกมาพูดเรื่องนี้ อาจจะเรียนจบไปพร้อมกับการที่ประเทศไทยยังมี ม.112 มีรัฐประหาร ถึงจะอายุ 30 ไปแล้ว แต่เมื่อมองกลับมายังเห็นเด็กอายุ 15 โดน ม.112 หรือเห็นเด็กอายุ 12 โดนตัดผม ก็ยังต้องขับเคลื่อนอยู่ดี

⦁ คาดหวังการเคลื่อนไหวของเยาวชนไทยในขณะนี้ โดยเฉพาะประเด็นเสรีทรงผม-เครื่องแบบ ว่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้แค่ไหน?
คาดหวังทั้งในสภาและนอกสภา นอกสภาต้องยอมรับว่ามีคนได้รับผลกระทบทุกวัน มีเด็กโดนตัดผมทุกวัน เมื่อปีก่อนนักเรียนเลวเคยรับเรื่องอาทิตย์ละ 200 เรื่อง เพราะมีทั้งนักเรียนโดนตัดผม ครูทำร้ายในโรงเรียน ซึ่งนอกสภามีความเดือดร้อน ก็ต้องมีการต่อสู้ เพราะฉะนั้นไม่หยุดง่ายๆ ก็ยังดีที่พรรคก้าวไกลเคยพูดไว้ว่า 100 วันแรกจะแก้กฎระเบียบที่ขัดต่อสิทธิมนุษยชน ก็จะนับ day 1 day 2 day 3 ไปยัน day 99

⦁ คิดอย่างไรที่สังคมส่วนหนึ่งแม้แต่ฝ่ายที่เลือกพรรคฝั่งประชาธิปไตย มีความเห็นต่าง และออกมาคัดค้านด้วยท่าทีที่ค่อนข้างรุนแรง บางส่วนเห็นด้วยกับการเรียกร้องแต่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการของหยก โดยมองว่า ‘สุดโต่ง’ เกินไป?
การถกเถียงเกิดขึ้นได้ แต่ต้องมองจุดร่วมบางอย่าง ย้อนไปในช่วงที่หยกบอกว่าจะปฏิเสธอำนาจศาล ก็ช็อกกับวิธีน้อง แต่ก็พยายามทำความเข้าใจว่า ทำไมน้องถึงเลือกที่จะทำ ง่ายๆ คือเขาไม่ได้รับความเป็นธรรม เขาเลือกที่จะสู้ และจะสู้วันนี้ ไม่รอว่าอีก 100 วันได้รัฐบาลใหม่ หรืออีก 30 วันเลือกตั้ง ความไม่เป็นธรรมต้องจบลงวันนี้ ง่ายๆ คือต้องเปิดพื้นที่ในการพูด ไม่ใช่ว่าหยกพูดเรื่องนี้แล้วจะเอาเรื่องเพศ ตัดต่อรูปแล้วทักไปหาว่าน้องหยกมีแอ๊กล็อกไหม จุดยืนที่ทุกคนควรมีร่วมกันอย่างหนึ่งคือ สิทธิมนุษยชน ทุกคนมีสิทธิเท่ากัน เด็กมีสิทธิในร่างกายของตัวเอง จะเด็ก จะโต มีสิทธิหมด

⦁ อยากบอกอะไรกับเยาวชนที่ในวันนี้ ถูกมอง ว่าเป็น ‘ขบถ’ หรือคนที่อยากเปลี่ยนแปลง แต่ยัง ‘ไม่กล้า’?
จง ขบถต่อไป ก่อนจะมีอันนาในวันนี้ก็มีอันนาในวันที่ไม่กล้าขบถมาก่อน มีอันนาที่อ่านหนังสือถึงเที่ยงคืน ตี 2 ตี 3 เพื่อจะสอบเข้าเตรียมอุดมฯ ทำให้รู้ว่านี่คือปัญหา เมื่อรู้ปัญหาก็ไม่จำเป็นต้องออกมาแก้ใหญ่โต ไม่ต้องรอ 10 ปี เพื่อออกมาแก้ แก้ได้เลยวันนี้ อยากให้คิดว่าเราต้องเป็นเด็กคนสุดท้ายที่ต้องเจอปัญหา จะทำให้ทุกคนตระหนักถึงสิ่งรอบตัวมากขึ้น เช่นว่า วันนี้มีเด็กโดนทำร้าย วันนี้มีคนโดนละเมิด

คุณจะไม่เห็นค่ามันจนกระทั่งคุณโดนละเมิด สิ่งที่เรารู้คือสิทธิเด็ก 4 ประการในหนังสือ จนกระทั่งเราโดนตี จนกระทั่งครูบอกให้ตัดผม วันนั้นรู้แล้วว่าไม่ถูกต้อง วันถัดมาถึงรู้ว่าโดนละเมิด

⦁ จากการเคลื่อนไหวตั้งแต่ปี 2563 จนกระทั่งปี 2566 รู้สึกว่ามีการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง?
รู้สึกโอเค ที่สังคมมีพื้นที่ในการพูดคุยถกเถียงมากขึ้น นึกถึงปี 2562 แค่บอกว่าจะไม่เก็บหน้าม้า เราจะมัดผมหลวมๆ เพื่อนรอบข้างก็ติงกลัวครูว่า วันนี้สิ่งนี้ก็ย้ำ แต่ย้ำในสังคมที่เปิดกว้างมากขึ้น

⦁ ในมุมของเยาวชนคนหนึ่ง คิดว่ามีอะไรที่ต้องปรับ และควรจะเริ่มที่ตรงไหน?
โครงสร้างทั้งหมดเลย ตั้งแต่เรื่องเส้นผมจนถึงเรื่องงบประมาณ สิทธิเสรีภาพในโรงเรียน สถาบัน ศาสนา ให้พระเลือกตั้งได้ สถาบันการเมืองยิ่งต้องปรับ ส.ว. 250 รัฐธรรมนูญ ปรับตั้งแต่รากถึงโคน

เริ่มจากคนต้องกล้าออกมาพูดถึงปัญหาก่อน และต้องกล้าพูดกับนักการเมืองว่า ในฐานะที่เลือกคุณมา อยากให้แก้ปัญหานี้ เราต้องจริงจังกับคำนี้ เพราะว่าการที่เลือกพรรคการเมืองเข้าไป ไม่ใช่แค่ไปกากบาทแล้วจบ แต่พรรคการเมืองมีไว้เพื่อสะท้อนเสียงประชาชน เพราะฉะนั้นการออกมากดดันพรรคการเมือง ไม่ผิด

⦁ กรณี ‘หยก’ การแสดงออกของเยาวชนช่วงนี้ หลายคนมองว่าเป็นทางออกที่รุนแรง ไม่น่ารัก บางทีใช้คำว่า ละเมิดสิทธิคนส่วนใหญ่ คิดเห็นอย่างไร?
คำนึงที่ตลกมากคือ หยกไปละเมิดสิทธิใคร ไม่เข้าใจว่าแค่เส้นผมเด็กคนหนึ่งสามารถทำให้คนกลุ่มหนึ่งลุกขึ้นฮือขนาดนั้น มันรุนแรงไหม ก็ต้องมองกลับไปว่ารัฐรุนแรงก่อนหรือไม่ หยกโดนจับไปขัง 51 วัน รัฐรุนแรงกับเขาก่อนหรือไม่ เยาวชนก่อนการเคลื่อนไหวแค่ตั้งคำถาม ก็โดนคดีได้ กลับกันมองว่าทำไมสังคมชินชากับความรุนแรง คนเข็นรถถังออกมารัฐประหาร ไม่มีใครทำอะไรเลย แต่การที่หยกย้อมผมไปโรงเรียนคนเดียว ทำไมทุกคนดูพร้อมที่จะค้าน ว่าไม่ได้ เด็ก 15 ห้ามยุ่งกับผมตัวเอง ก็เป็นอะไรที่แปลกเหมือนกัน

⦁ มีคำพูดที่ว่า การแสดงออกแบบนี้ไม่ปัญญาชนเลย ถ้าคนรุ่นใหม่แสดงออกด้วยวิธีการที่น่ารัก คิดว่าจะได้ในสิ่งที่ต้องการหรือไม่?
ก็ได้เหมือนกัน แต่ว่าปัญญาชนไม่ใช่ ทางเข้าแรกของการแก้ปัญหาทุกอย่าง ต้องย้อนกลับไปว่าชุมนุมคนอยากเลือกตั้ง ปัญญาชนหรือไม่ แค่ชุมนุมเฉยๆ อย่างต้านรัฐประหารรวมตัวทานแซนด์วิช อันนั้นก็แค่ทานแซนด์วิชเฉยๆ ก็ปัญญาชนนะ คือปัญญาชนไหม ไม่รู้ แต่ว่าสิ่งที่เขาได้รับกลับมาจากรัฐ ความรุนแรงจากรัฐ มันรุนแรงกว่า

⦁ บางส่วนเห็นด้วยกับแนวคิด แต่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการ?
โอเค เห็นด้วยกับแนวคิดก็ช่วยกันผลักดันแนวคิด อย่างน้อยก็ยืนอยู่บนจุดเดียวกันว่าเรามีจุดร่วมบางอย่างที่ต้องผลักดันให้สำเร็จไปด้วยกัน เช่น เรื่องทรงผม เห็นด้วยกับแนวคิด งั้นคุณทำอะไรได้อีกบ้าง จะให้ย้อมผมแบบหยกก็ย้อมแล้ว จะให้แต่งไปรเวตไปโรงเรียน ก็เกษียณอายุจากโรงเรียนแล้ว การเห็นด้วยกับแนวคิดแต่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการ รู้สึกว่ามัน เป็นเรื่องโต้แย้งได้ (debatable) มาก ถ้าไม่เห็นด้วยกับวิธีการ จงลุกออกมาทำกับวิธีที่คุณเห็นด้วยคนละไม้คนละมือ ให้แนวคิดถูกผลักดันให้สำเร็จ

ถ้ามีจุดร่วมเดียวกัน ก็จงร่วมกันออกมา ไม่ได้คาดหวังว่าเด็กทุกคนต้องปีนประตูรั้วเข้าแบบหยก เด็กทุกคนมีวิธีแสดงออกของตัวเอง นักเรียนเลวก็ทำมาทุกอย่างแล้ว ไปกราบกระทรวงด้วยซ้ำ แต่ทำไมสิ่งนี้ไม่สำเร็จ แสดงให้เห็นว่าเราสู้กับรัฐ สู้กับความไม่เป็นธรรม พอสู้กับสิ่งไม่เป็นธรรมเราก็ต้องเรียกร้องหนักกว่าเดิม ถ้าเกิดอยากมีใครไปกราบกระทรวงอีก ก็ไม่ได้ว่าอะไร สนับสนุน

⦁ ถ้ามีเสรีทรงผมจะทำให้ เด็กๆ ลุกฮือขึ้นมาแต่งตัวตามแฟชั่น?
ได้เลย แล้วแต่ มองว่าเป็นสิทธิของเขา แฟชั่นมีการเปลี่ยนผ่านอยู่แล้ว เมื่อก่อนการเป็น กปปส. ก็เคยเป็นแฟชั่น เมื่อก่อนการเป่านกหวีดก็เคยเป็นแฟชั่น การเอาดอกกุหลาบให้ทหารก็เคยเป็นแฟชั่น ทำไมตอนนี้ไม่มีใครเอาดอกกุหลาบไปให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา บ้างละ เหมือนกัน แฟชั่นมันก็เปลี่ยน สิ่งหนึ่งก็ล้าสมัยไป ต้องยอมรับว่าวัยที่สนใจแฟชั่นก็คือวัยเด็ก แต่สิ่งที่ควรทำคือเปิดกว้าง ยอมรับว่า แฟชั่นก็คือแฟชั่น มันไม่ใช่ภัยความมั่นคง แต่ก็แปลกที่มันยังเป็นอยู่

⦁ ในกรณีหยก ข้อเสนอที่อยากฝากกับโรงเรียนคืออะไร?
จริงๆ คนในครอบครัวก็เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนนี้ 40-30 ปีผ่านไปก็ยังเหมือนเดิม เมื่อก่อนใช้ไม้ไผ่เรือตีนักเรียนฉันใด สมัยนี้ก็ยังมีการเอา คฝ.หญิงเข้าโรงเรียน จุดแรกเลยคือต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้นักเรียน ให้นักเรียนเรียกร้องได้อย่างปลอดภัย ถ้าไม่ได้ไปละเมิดสิทธิใครก็ควรยืนอยู่บนจุดว่า ทรงผมเราไม่ควรจะไปละเมิดสิทธิของใครแต่แรก แต่กฎระเบียบนี้มาละเมิดเราก่อน อย่างที่สองคือ ยกเลิกกฎระเบียบที่ล้าหลัง สามคือ ยกเลิก คฝ. กองร้อยน้ำหวาน

⦁ สมมุติว่าเป็นนักเรียนโรงเรียนเดียวกับหยก จะทำอย่างไร?
หนึ่งคือ อยู่เคียงข้างหยก สองคือ ร่วมใส่ไปรเวตกับหยกเพราะว่ามันคือสิ่งที่เคยทำตอนอยู่มัธยมปลายเหมือนกัน ก็ยังยืนยันว่าร่างกายคือของเราไม่ใช่ของใคร

⦁ จากที่หยกบอกว่า พรรคก้าวไกล Take Action ช้าไป คิดว่าก้าวไกลช้าไปไหมในเรื่องนี้ เพราะอีกด้านก็มองว่าก้าวไกลยังไม่ได้เป็นรัฐบาล?
อย่างตอน #มีกรณ์ไม่มีกู คือ 4 ชั่วโมงที่ออกมา กลับกัน ครั้งนี้ใช้เวลา 3 วัน ถ้าเป็นที่บ้านคือ แจ้งมูลนิธิกระจกเงา แจ้งคนหาย แต่ถ้าบอกว่ายังไม่ได้เป็นรัฐบาล ยังทำงานไม่ได้ ต้องมองกลับกันว่าพรรคก้าวไกลมีนโยบายว่า ไม่ต้องรอเป็น ส.ส.ก็ทำงานได้เลยพอเป็นเรื่องนี้ ทำไมไม่ทำงาน เป็นเพราะเยาวชนไม่มีสิทธิไม่มีเสียงในการเลือกตั้งเหรอ ถ้าเป็นลูกคุณโดนแบบนี้จะยังนิ่งไหม

⦁ ข่าวที่ปรากฏว่า เด็กต่างจังหวัดไม่มีชุดนักเรียนใส่ แล้วเปิดรับบริจาค จะดีกว่าไหมถ้ายกเลิกชุดนักเรียนไปเลย?
ดีกว่าอยู่แล้ว เพราะชุดๆ หนึ่งไม่ควรเป็นข้อจำกัดในการให้เด็กได้เข้ารับการศึกษา ถ้าเกิดไม่มีเงินก็สามารถใส่ชุดที่ใส่อยู่บ้านแล้วเดินไปเรียนได้เลยด้วยซ้ำ

⦁ ท่ามกลางความขัดแย้งเราจะอยู่ร่วมกันอย่างไรในสังคม หรือต้องถกเถียงกันตลอดไป?
การยกเลิกการบังคับเครื่องแบบ ไม่ใช่การยกเลิกเครื่องแบบ เพราะฉะนั้นก็ยกเลิกการบังคับ ใครใคร่ใส่ใส่ ใครไม่อยากใส่ก็ไม่ต้องใส่ ดีใจด้วยซ้ำที่ยังเปิดพื้นที่ให้เถียงกัน เป็นพลเมืองตื่นรู้ (active citizen) มีเรื่องอะไรก็เถียงกันหมด แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องยืนยันคือ ไม่ควรมีคนที่ออกมาเถียงแล้วโดนจับติดคุก ทุกคนมีเสรีภาพเท่ากันหมด ไม่ควรมีใครต้องติดคุก ติดคดี เพราะว่าออกมาเถียงกับคนอื่น แม้จะเป็นข้อเท็จจริงที่ทำให้คนอื่นอึดอัด ไม่สบายใจก็ตาม

⦁ อยากฝากอะไรถึง ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ?
เยอะเลย เพราะมีหลายอย่างให้คิด ตำแหน่งรัฐมนตรีรักษาการไม่ใช่ต้นไม้ ไม่ต้องนิ่งกับทุกเรื่องแล้วรอคนมารดน้ำ ขยับบ้างก็ได้ โอเคมีกฎว่าห้ามใช้งบผูกพันกับรัฐบาลหน้า แต่ไม่ต้องนิ่งกับทุกสถานการณ์ บางครั้งที่มีคนบอกมาพูดว่า น้องหยกต้องมีหน่วยงานมาดูแล ซึ่งหน่วยงานที่ take action มีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มีสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีพรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย แม้แต่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ก็ยังมี

แล้วกระทรวงศึกษาธิการอยู่ไหนในสมการนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image