คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง ผสมเป็น ‘ศาสนาไทย’ ในสังคมที่ไม่ยอมรับตัวเอง

“อ่านแล้วอิ่มอย่างตาสว่าง หรืออิ่มอย่างตาสว่างเมื่ออ่านข้อเขียนเกี่ยวกับ ผี พราหมณ์ พุทธ ของ เชฟหมี-คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง เสมือนศรัทธากับปัญญา หรือปัญญากับศรัทธา ผสมกลมกลืนอย่างพอดีๆ ทำให้มีความรู้สึกร่มเย็น จึงไม่หงุดหงิดไม่คิดระแวงศัพท์สันสกฤตที่ยกมา”

เป็นคำนำโดย สุจิตต์ วงษ์เทศ ในหนังสือรวมคอลัมน์ “ผี พราหมณ์ พุทธ” จากมติชนสุดสัปดาห์

“ภารตะ-สยาม? ผีพราหมณ์ พุทธ?” หนังสือเล่มใหม่ของ “คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง” หรือ “ตุล” อาจารย์ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร รู้จักกันในชื่อ “เชฟหมี” จากการทำรายการครัวกากๆ

ในจำนวนผู้เชี่ยวชาญวัฒนธรรมอินเดียที่มีไม่มากในไทย คมกฤชศึกษาปรัชญาศาสนา โดยเฉพาะปรัชญาอินเดียและศาสนาฮินดู ทั้งแบบวิชาการและประเพณีปฏิบัติ อีกทั้งเคยเป็นสุดยอดแฟนพันธุ์แท้ตำนานเทพเจ้า

Advertisement

เกิดในครอบครัวชาวพุทธชนชั้นกลางเชื้อสายจีน ในระนอง สนใจศาสนามาตั้งแต่เด็ก

“อาจเป็นจากภพชาติที่ผ่านๆ มา พูดแบบนี้เลยนะ ผมสนใจเรื่องนี้โดยไม่รู้ตัว ตอนเด็กชอบเล่นเป็นพระ ที่บ้านได้ผ้าขนหนูสีส้มมาจากงานกาชาด ผมก็ใส่เป็นจีวรแล้วเรียกเด็กแถวบ้านมา สงสัยชาติก่อนคงยุ่งกับเรื่องพวกนี้มา ตอนมัธยมก็พยายามเรียนรู้คาทอลิก ไปโบสถ์กับเพื่อนที่เป็นคาทอลิก โตมารู้จักมหายานก็ไปกับเขา ยาวนานถึงตอนนี้”

เรียนปริญญาตรี การสื่อสารมวลชน ม.เชียงใหม่ วิชาโทปรัชญา ได้เจอ อ.ประมวล เพ็งจันทร์ ผู้จุดประกายให้สนใจศาสนาและวัฒนธรรมอินเดีย ก่อนไปเรียนตีกลองตับบล้ากับพราหมณ์ชาวอินเดียและได้ซึมซับเรื่องศาสนามาด้วย

Advertisement

ปริญญาโทปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเรียนภาษาสันสกฤตและฮินดีเพิ่มเติม

พราหมณ์ที่สอนตีกลองแนะนำคมกฤชว่า มากรุงเทพฯแล้วให้มาหา อ.บัณฑิต ลลิต โมหัน วยาส ประธานพราหมณ์วัดเทพมณเฑียร เรียนรู้กันอยู่ 2 ปี เขาจึงเอ่ยปากขอให้ อ.บัณฑิต ลลิต รับเป็นศิษย์ เข้าไปอยู่ในชุมชนชาวฮินดูในปี 2548

คมกฤชศึกษาฮินดูจากทั้งแบบวิชาการ อ่านบทความตำรา และศึกษาแบบประเพณี เรียนพระเวท มนต์ โดยท่องตามอาจารย์ทีละวรรค ศึกษาพิธีกรรม ซึมซับจากการปฏิบัติใกล้ชิดในฐานะผู้ช่วยพราหมณ์

“ผมมาอยู่ในวงของฮินดู แต่สำนึกความเป็นพุทธไม่ได้หาย ตอนนี้ผมเข้าใจแล้วว่ามันทำหน้าที่คนละอย่างมาช่วยเติมกัน เวลาอยากเข้าใจจิตใจตัวเอง พุทธศาสนาเป็นวิถีที่ดี แต่เมื่อผมอยากอยู่กับโลกข้างนอกด้วยความเคารพรัก ผมคิดว่าฮินดูเป็นวิถีที่ดี

“ถามว่านับถือศาสนาอะไรผมตอบไม่ได้ ยิ่งช่วงวิกฤตที่ผ่านมา ทั้งวิกฤตชีวิตส่วนตัว เช่น การเสียชีวิตของคุณแม่ หรือวิกฤตการเมืองที่ผ่านมา ผมเห็นเลยว่าพุทธศาสนามีคุณกับผมแค่ไหน ขณะเดียวกันฮินดูยังทำให้ผมสามารถสัมพันธ์กับโลกได้ และผีก็เป็นรากที่ผมปฏิเสธตัวเองไม่ได้เหมือนกัน อยู่ด้วยกันหมด”

การนับถือศาสนาผสมเช่นนี้อาจไม่แปลกเมื่อย้อนกลับมามองศาสนาในสังคมไทย ข้อเขียนของคมกฤชเน้นชัดถึงการผสมผสานทางวัฒนธรรมและศาสนาในไทย ที่มีทั้ง ผี-พราหมณ์-พุทธ ปรับใช้จนเข้ากันเป็น “ศาสนาไทย”

เรื่องศาสนาผสมในไทยมีคนพูดมานานแล้ว แต่ยังไม่เป็นที่ยอมรับในสังคม?

ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ในเล่มนี้ก็มีบางแง่มุมที่ใหม่ โจทย์แต่แรกคือ 1.มองปรากฏการณ์สังคมโดยเฉพาะเรื่องความเชื่อ มีรากเหง้าและปมอะไร 2.ศาสนาไทยเป็นศาสนาผสม ผมพอจะคุ้นกับอินเดียก็ดูว่าผสมยังไง เป็นสัดส่วนของอันไหน 3.ถอดรื้อสิ่งที่เราเชื่อ ว่าจริงๆ แล้วเป็นอย่างไร โดยอาจจะเทียบกับอินเดียหรือภูมิภาคใกล้ๆ

ถามว่าใหม่เลยไหม ก็ไม่เชิง ตัวอย่างงานถอดรื้อที่ทำมาก่อนคือ ไมเคิล ไรท ผมอาศัยว่าคุ้นเคยกับวัฒนธรรมอินเดียจึงเอามาเป็นเชิงอรรถเพิ่ม ขยายสิ่งที่คนอาจไม่ได้เจอหรือมีข้อมูลอยู่แล้ว

เรารู้สึกไม่ใกล้ชิดวัฒนธรรมอินเดีย ทั้งที่สอดแทรกอยู่มาก?

พูดถึงอินเดียคนจะคิดถึงอะไรที่ค่อนข้างแปลกปลอม แต่อินเดียเป็นครูของเราในเรื่องวัฒนธรรมกับศาสนา น่าสนใจว่าเราไม่ได้รับมาจากอินเดียแล้วใช้ตรงๆ แต่เอามาผสมผสานกับความเป็นตัวเอง นี่เป็นโจทย์สำคัญ ถามว่าพระพุทธเจ้า-พุทธศาสนาเป็นอินเดียไหม…อินเดีย แต่เราเป็นพุทธหรือพราหมณ์ที่เหมือนในอินเดียไหม…ไม่เหมือน ความเป็นพื้นเมืองของเราเข้มแข็ง เวลาพูดถึงศาสนาความเชื่อเลยไม่นึกถึงอินเดียทั้งที่เป็นส่วนผสมสำคัญ

ปัญหาหนึ่งคือนักวิชาการรุ่นเก่ามีแนวโน้ม 2 แบบ 1.อินเดียนิยม ทุกสิ่งทุกอย่างมาจากอินเดียหมด 2.ไม่มีอะไรมาจากอินเดียเลย เกิดขึ้นที่นี่หมด แต่น่าสนใจว่าอินเดียมาผสมกับเรายังไง และมีโจทย์ใหม่ที่ท้าทายคือมีอะไรไหมที่เราส่งให้อินเดีย คนที่พูดเรื่องนี้คือไมเคิล ไรท เป็นแง่มุมใหม่

อะไรที่อินเดียรับจากเราไป?

ไมเคิล ไรท ทิ้งโจทย์ไว้หลายชิ้น เช่น พระพิฆเนศ คนจะนึกว่าเป็นเทพจากอินเดีย คนที่ให้ข้อมูลน่าสนใจคือ ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ ในคัมภีร์พระเวทไม่ค่อยมีอะไรเกี่ยวกับช้าง เพราะชาวอารยันไม่รู้จักช้าง แถวนั้นไม่มีช้าง การค้าช้างของสยามกับอินเดียมีมาตั้งแต่ก่อนอยุธยา ช้างอินเดียใต้เกือบทั้งหมดเป็นช้างที่เป็นลูกหลานช้างไทย

ก่อนศตวรรษที่ 9 ไม่ปรากฏรูปเคารพพระพิฆเนศที่เป็นช้าง เป็นไปได้ว่าพิฆเนศมาจากช้างเราที่ส่งไปอินเดีย และเกิดการนับถือช้างขึ้นในอินเดียบางชนเผ่าและรวมกับเทพในศาสนาฮินดูที่ชื่อว่าคเณศ กลายเป็นพระพิฆเนศ ส่งกลับมาให้เราอีกที ในไทยมีเทพเจ้าหน้าตาเป็นช้างแต่ไม่ใช่พระพิฆเนศ ซึ่งอินเดียไม่มี เรียกว่าพระเทวกรรม พระโกญจนาเนศวร นี่เป็นโจทย์ใหม่ จึงสงสัยว่าอินเดียอาจจะรับบางอย่างจากเราด้วย

ถ้าสังคมยอมรับเรื่องศาสนาผสมจะมีอะไรต่างจากเดิม?

ถ้าเรายอมรับว่าเป็นศาสนาผสม จะทำใจกับบางอย่างได้ จะไม่เพียรพยายามแสวงหาพุทธศาสนาแบบบริสุทธิ์ ซึ่งผมคิดว่าไม่มี แต่คนเข้าใจว่าต้องมีแบบบริสุทธิ์สิ แบบไหนล่ะ ไม่เห็นมีใครเคยเอามาให้ดูได้เลย

ต่อให้เรานับถือศาสนาผสม คุณก็สามารถมีท่าทีแบบชาวพุทธกับทุกเรื่องได้ มองคนอื่นด้วยความอ่อนโยน โดยไม่จำเป็นต้องแสวงหาพุทธบริสุทธิ์ซึ่งจะทำให้เกิดความยึดมั่นถือมั่นว่าดีกว่าคนอื่น นี่เป็นปมของเรา เถรวาทดีที่สุด พุทธศาสนาแบบไทยดีที่สุด แก้ไม่หาย

ยึดมั่นพุทธศาสนา เรียกร้องศาสนาประจำชาติ แต่ไม่ได้ใช้ในชีวิตประจำวัน?

เข้าใจว่าการเรียกร้องศาสนาประจำชาติ มีนัยยะทางการเมืองสูง เพราะสถาบันศาสนาของเราไม่ได้ดำรงอยู่อย่างโดดเดี่ยว แต่ผูกโยงกับอย่างอื่น เช่น ความเป็นชาติ จะเป็นปัญหาคือ ถ้าคุณเข้ามายุ่มย่ามกับศาสนาคือคุณกำลังทำลายความเป็นชาติ ถามว่าเรามีท่าทีต่อปัญหาต่างๆแบบที่ชาวพุทธควรเป็นไหม…ไม่ พุทธศาสนากลายเป็นอัตลักษณ์มากกว่าจะเป็นมุมมองหรือวิถีชีวิต

ศาสนาเป็นเครื่องมือทางสังคม เมื่อผูกโยงกับความดี?

ศาสนามาพร้อมกับมโนทัศน์ทางศีลธรรม เผอิญว่าเราเลือกมโนทัศน์ทางศีลธรรมบางอย่างในศาสนามาใช้ หรือเลือกสิ่งที่ผู้ปกครองอยากให้ใช้ ปัญหาจึงเป็นอย่างที่เห็น ศาสนาพุทธมีมโนทัศน์ทางศีลธรรมอีกตั้งหลายแบบแต่เราไม่ใช้ สุดท้ายเป็นเรื่องอัตลักษณ์ที่หวงแหน คนเราจะหวงแหนอัตลักษณ์เมื่อมันไม่มี หรือมีแต่สับสนตัวเองว่าอะไรกันแน่ แล้วยิ่งศาสนาคลุ้มคลั่งมากขึ้นแปลว่าเรากำลังสูญเสียหลักยึดทุกอย่าง ไม่ว่าจะเรื่องชาติ ศาสนา ความภูมิใจในตัวเองหรือวัฒนธรรม

คนทำงานในศาสนามักแสดงออกว่าตัดขาดจากการเมือง?

เวลาพูดว่าศาสนาปลอดการเมืองนั้นอ้างมโนทัศน์ในกรอบแบบเถรวาท เช่น พระต้องไม่ยุ่งกับการเมือง ทั้งที่ในประวัติศาสตร์พระก็ยุ่งกับการเมืองมาตลอด และเกี่ยวพันกับความอยากได้ศาสนาบริสุทธิ์ แต่ลึกๆ รากฐานของเรื่องนี้คือรัฐพยายามเข้ามาควบคุมศาสนา การบอกว่าศาสนาไม่ยุ่งกับการเมือง คือไม่ยุ่งกับการเมืองแบบที่รัฐไม่ต้องการ แต่ถามว่ายุ่งไหม ยุ่งตลอด ยุ่งมากด้วย เพียงแต่หลอกตัวเองว่าไม่ยุ่ง คำพูดนี้ถูกผลิตซ้ำโดยระบบการศึกษาของรัฐหรือคณะสงฆ์ แต่ผมยืนยันว่าศาสนาเป็นเรื่องการเมืองโดยตัวเองอยู่แล้ว

ทำไมสังคมไม่ยอมรับผีกับพราหมณ์ในพื้นที่ทางการ?

พุทธ พราหมณ์ ผี ทำหน้าที่คนละอย่าง ความศักดิ์สิทธิ์แบบพราหมณ์-ผีจะเหมือนกัน คือท้าทายไม่ได้ เราเถียงครูไม่ได้เพราะเขาถือความศักดิ์สิทธิ์ไว้แบบหนึ่ง ทั้งที่ไม่ใช่ความศักดิ์สิทธิ์แบบพุทธ เป็นอำนาจศักดิ์สิทธิ์ลึกลับดลบันดาลให้เกิดคุณหรือโทษก็ได้ ในทางหนึ่งรัฐไทยใช้ความศักดิ์สิทธิ์แบบนี้มาตลอด แต่เอามาพูดออกหน้าไม่ได้ จึงต้องอาศัยภาพของพุทธไว้ข้างหน้า ซึ่งดูดีกว่าในแง่อุดมคติทางศีลธรรม

ผีอยู่ในความเชื่อคนไทยอย่างแนบเนียน

แม้เราจะเรียกตัวเองเป็นพุทธหรือไม่ เรามีผีอยู่ข้างหลังเสมอโดยไม่รู้ตัว ผีทรงอำนาจมากในสังคมเรา เคยเป็นศาสนาประจำชาติของเราและทั่วโลก พอศาสนาที่พัฒนาเชิงศีลธรรมเช่นพุทธเข้ามา ผีก็ต้องไปซ่อนอยู่ข้างหลัง แต่ยังทรงอำนาจอยู่ แล้วพอพราหมณ์เข้ามาก็ซ่อนอยู่หลังพราหมณ์

อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ พูดว่าศาสนาไทยคือศาสนาผีที่รับเอาพุทธและพราหมณ์ที่ไม่ขัดกันเข้ามา เพื่อประดับตกแต่งผีให้ดูดี นึกถึงพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ เช่น หลวงพ่อพระร่วงต้องเอาว่าวกับตะกร้อไปถวาย นี่คือวิธีปฏิบัติกับสิ่งเคารพในศาสนาผี แม้แต่ความคิดว่าพระพุทธรูปดลบันดาลอำนาจได้ก็เป็นความคิดแบบผี ลึกๆ เราเป็นพุทธหรือเปล่าไม่รู้ แต่เรานับถือผีแน่นอน

ส่วนตัวไม่ได้มีปัญหากับเรื่องที่คนอื่นมองว่างมงาย?

ไม่ ผมคิดว่าคำว่า “งมงาย” มีปัญหาในตัวเอง บอกว่าอะไรงมงาย ต้องถามว่าตัดสินจากฐานคิดแบบไหน การวิจารณ์ความเชื่อในบ้านเรามีท่าทีแบบอำนาจนิยมซึ่งอยู่ใน 2 สิ่ง คือพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์มีอำนาจมากในสังคมไทย ชี้นกเป็นนก ชี้ไม้เป็นไม้ พุทธศาสนาก็มีอำนาจแบบเดียวกัน เมื่อสองฝ่ายมีอำนาจก็จะเป็นผู้ตัดสิน ทั้งที่อีกฝ่ายควรมีพื้นที่ให้โต้แย้งได้แต่ไม่มีเลย

เวลาชาวบ้านนับถืออะไรอย่าเพิ่งรีบตัดสิน อาจมีฟังก์ชั่นบางอย่างในชุมชน ต้องเปิดพื้นที่ให้ศึกษา ยิ่งในโลกสมัยใหม่ที่เป็นประชาธิปไตย คำว่า “งมงาย” ใช้ยาก ทุกคนมีสิทธิที่จะเชื่อ คุณจะเชื่อหมากาไก่อะไรก็ได้

สังคมมุ่งไปทางวิทยาศาสตร์เลยกดความเชื่อ?

มุ่งไปในแนวคิดแบบวิทยาศาสตร์หรือเปล่าไม่รู้ แต่วิทยาศาสตร์ทำให้ดูดี วิทยาศาสตร์ดีแต่หลายศาสตร์ในโลกตะวันตกก็ยอมรับข้อบกพร่องตัวเอง จึงไปเถียงแบบเท่ากับเขาได้ วิทยาศาสตร์ก็ยอมรับว่าตอบอะไรไม่ได้หลายเรื่อง และฝ่ายความเชื่อก็อธิบายไม่ได้หลายเรื่อง มันเถียงในพื้นที่เท่ากันได้ แต่ถ้าฝ่ายหนึ่งบอกว่าตัวเองถูกเสมอเพราะอธิบายโลกได้ อีกฝ่ายจะเถียงอะไรล่ะ ความรู้จะไม่งอกเงยจากอำนาจที่ไม่เท่ากัน

มหาวิทยาลัยหลายแห่งในโลกตะวันตกให้ความสนใจอะไรที่ดูประหลาด เช่น เรื่องแม่มด ชอบหรือไม่ไม่รู้แต่ขอศึกษาก่อน สังคมไทยยังก้าวไม่ถึงจุดที่ทำให้สิ่งที่ชาวบ้านเชื่อเป็นวัตถุของการศึกษาได้ เราตั้งมันไว้อีกฟากไม่ลองทำความเข้าใจ

หลังๆ ด้วยการโปรโมตการตลาดวัตถุมงคลทำให้ภูมิปัญญาชาวบ้านเพี้ยน เช่น เรื่องนาคในมิติมานุษยวิทยาศาสนาจะพบว่าสำคัญกับการเคารพสิ่งแวดล้อม เป็นจิตวิญญาณที่เฝ้าผืนน้ำแผ่นดิน แต่หลังๆ ความคิดนี้ก็ถูกกลบ มีความผิดเพี้ยน จึงต้องศึกษาก่อน

แล้วฮินดูมองโลกอย่างไร?

ฮินดูยืนอยู่ตรงกลางระหว่างพุทธิปัญญากับความเชื่อ ครึ่งหนึ่งเป็นผี แต่พยายามพัฒนาทางความคิดเหมือนศาสนาอื่น มีสองภาพซ้อนกันในฐานะความเชื่อโบราณที่อธิบายไม่ได้ และเป็นศาสนาของโลกสมัยใหม่ที่มีความพยายามอธิบายด้วย ทำให้ฮินดูรุ่มรวยเพราะไม่ปฏิเสธโลกโบราณ และพยายามพูดอะไรที่คนสมัยใหม่รับได้

อาจเป็นโชคที่ศาสนาในอินเดียพัฒนาโดยไม่มีองค์กรส่วนกลางหรือการรวมศูนย์อำนาจ จึงเกิดการตีความที่หลากหลาย สำนักไหนอยากสอนอะไรสอนไป เถียงกันใหญ่โต แต่รัฐไม่เข้าไปยุ่ง เพราะถือเป็นเรื่องเอกชน เมื่ออินเดียก้าวสู่ประชาธิปไตยกลายเป็นรัฐโลกวิสัย (Secular State) รัฐเป็นกลางทางศาสนา ทั้งที่อินเดียเต็มไปด้วยศาสนา ประชากรฮินดูมี 80 เปอร์เซ็นต์ของอินเดีย แต่รัฐไม่ยุ่ง ทำอะไรทำ ทำผิดก็จับ

เรากลัวการเป็น Secular State แต่อินเดียแสดงให้เห็นว่ามันเวิร์กกับศาสนา ปล่อยให้เกิดการตีความหลากหลายได้ สร้างพื้นที่เถียงโดยไม่ฆ่ากัน จะเป็นเช่นนี้ได้รัฐจะต้องก้าวไปสู่ประชาธิปไตย

 

จำเป็นไหมที่คนทำงานด้านศาสนาต้องสำรวมเรียบร้อยบริสุทธิ์?

ไม่จำเป็นเลย ความสำรวมเรียบร้อยเป็นภาพความดีแบบนักบวช สังคมไทยขาดจินตนาการเกี่ยวกับคุณค่าแบบอื่นของนักบวช พุทธศาสนาในทิเบตมีโยคีและพระอาจารย์จำนวนมากไม่ได้เรื่องเลยในกฎเกณฑ์ความสงบเรียบร้อย แต่ได้รับการเคารพอย่างสูง บางรูปมีภรรยาอย่างเปิดเผย ถูกจับสึกแล้วยังสอนพระธรรมต่อ บางรูปกินเหล้าเมายา แต่เขามีจิตใจเปิดกว้าง มีความกรุณาต่อคนอื่น ฉายท่าทีแบบพุทธอย่างเต็มเปี่ยม ในทิเบตหรือศาสนาอื่นมีจินตนาการของนักบวชประเภทนี้อยู่ คุณจะตัดสินเขาไม่ได้

เราไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการเป็นตัวเอง แก่นพุทธศาสนาให้เรากลับมาเป็นตัวของตัวเอง ยอมรับทุกสภาวะที่เกิดขึ้น ไม่ตัดสินและมีกรุณา ปัญหาคือการพยายามเป็นคนอื่น สักวันผมจะต้องเป็นคนที่ดีขึ้น ปฏิเสธตัวเอง สุดท้ายทำได้จริงหรือแค่แสร้งว่าเป็นอีกคนหนึ่งได้ พุทธโดยเฉพาะในมหายาน ย้อนกลับมาสู่การเข้าใจตัวเอง ไม่ปฏิเสธตัวเอง และไม่ต้องเป็นคนอื่น พอเป็นคนอื่นก็จะมีกฎเกณฑ์ศีลธรรมเต็มไปและเสแสร้งมากๆ

ส่วนตัวมีคนที่เคารพยกย่องทางศาสนาไหม?

มีหลายคน ครูของผมคือ อ.บัณฑิต ลลิต เป็นพราหมณ์ชาวอินเดีย ท่านมีความเรียบร้อยแบบคนรุ่นเก่าแต่มีความเป็นมนุษย์สูง แสดงความรักต่อเราแบบที่มนุษย์มี ยอมรับข้อบกพร่องตัวเอง

อีกคนคือ อาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ ผมรักมาก เป็นคนเริ่มต้นให้ผมสนใจเรื่องจิตวิญญาณ

อีกคนคือ วิจักขณ์ พานิช ซึ่งเป็นเพื่อนกัน วิจักขณ์เปลี่ยนชีวิตผมเยอะชนิดที่กลับไปเป็นแบบเมื่อก่อนไม่ได้แล้ว เวลาเดินบนเส้นทางจิตวิญญาณเราต้องมีเพื่อน ที่ไม่ได้แค่ให้กำลังใจ แต่จะด่า จะกวนตีน เราพัฒนาความเป็นเพื่อนแบบเห็นทุกด้านของชีวิตโดยไม่มีอะไรปิดบังกันเลย

สามคนนี้เป็นคนใกล้ตัวที่ผมเคารพยกย่อง สังคมเราต้องการครูที่เป็นมนุษย์ไม่ใช่ผู้วิเศษที่นั่งอยู่บัลลังก์ธรรมาสน์แล้วไม่ได้สัมพันธ์อะไรกับเรา แต่เมื่อไหร่ที่เขามาร่วมทุกข์ในชีวิตเรา เราจะเติบโตจากความสัมพันธ์แบบนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image