‘ภาวิต จิตรกร’ กับภารกิจยุคเปลี่ยนผ่าน ธุรกิจดนตรีของ ‘แกรมมี่’

ชื่อของเขาเป็นที่รู้จักในวงการโฆษณาจากการทำงานกว่า 20 ปีในเอเยนซี่ชื่อดัง กับตำแหน่งสุดท้าย คือ กรรมการผู้จัดการของ Ogilvy&Mather

ก่อนจะเปลี่ยนสายมาอยู่ในธุรกิจบันเทิง เป็นประธานเจ้าหน้าที่การตลาด (Chief Marketing Officer-CMO) จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่กรุ๊ป ในปี 2559

ปัจจุบัน ภาวิต จิตรกร ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายธุรกิจ จีเอ็มเอ็ม มิวสิก ในวาระสำคัญที่วงการเพลงเปลี่ยนโฉมหน้ามุ่งสู่ดิจิทัล วิสัยทัศน์ของคนรุ่นใหม่จึงเป็นสิ่งจำเป็น

เขาเล่าว่า เข้ามาในแกรมมี่โดย คุณไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม มอบหมายให้ดูแลเรื่องดิจิทัล มองเห็นยุทธศาสตร์การเปลี่ยนไปของโลกและคิดผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ตอบสนองโลกอนาคต

Advertisement

ปริญญาตรี บริหารธุรกิจบัณฑิต (Advertising) มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ คลุกคลีวงการโฆษณามาตลอด แต่ภาวิตบอกว่าเขาผูกพันกับดนตรีมาตั้งแต่เด็ก ด้วยความชอบเล่นดนตรี เคยได้แชมป์อิเล็กโทนระดับประเทศของสยามกลการ ทำวงดนตรีกับเพื่อนที่โตมาด้วยกัน ทุกวันนี้ก็ยังเล่นดนตรีกับลูกทุกอาทิตย์

ถามถึงศิลปินที่ชอบ “ชอบศิลปินแกรมมี่นี่แหละครับ” ตามมาด้วยเสียงหัวเราะของเขา

“ผมชอบศิลปินทุกแนว เป็นคนสะสมซีดีตั้งแต่เด็ก ตอนเด็กต้องรอทุกวันพุธเก็บค่าขนมไปซื้อเทปที่ร้านหน้า ร.ร.เซนต์คาเบรียล เจ-เจตริน, นูโว ไม่เคยพลาด อีกวงคือไฮดร้า, อัสนี วสันต์ ก็ซื้อทุกอัน ปัจจุบันก็ยังชอบซื้อซีดีเก็บ ที่บ้านทุกที่จะมีลำโพง บ้าถึงขั้นเคยทำเครื่องเสียงเป็นเรื่องเป็นราว”

Advertisement

เขาพูดพร้อมแววตาเป็นประกาย

ไม่ใช่เรื่องง่ายแน่กับการเปลี่ยนผ่านในธุรกิจเพลงที่เป็นหัวใจของแกรมมี่ ค่ายเพลงที่อยู่คู่คนไทยมาหลายยุค

“ประวัติศาสตร์ของแกรมมี่เข้าสู่ปีที่ 35 คนฟังแกรมมี่ 30 กว่าปีที่ผ่านมาคงครอบคลุมคนทุกเจเนอเรชั่น ตั้งแต่เบบี้บูมเมอร์ จนถึงเจนซีปัจจุบัน สำหรับผมเพลงไม่มีอายุขัย บางเพลงเก่ามากแต่ถูก Cover ใหม่ คนอาจจำเวอร์ชั่นออริจินัลไม่ได้ แต่คนรุ่นใหม่จะจำเพลงนี้ในฐานะการสืบทอดที่ถูกต่ออายุให้ศิลปินรุ่นใหม่เป็นคนร้อง เพลงไม่มีอายุขัย”

นับเป็นความท้าทายใหญ่สำหรับภาวิตกับการปรับตัวไปพร้อมวัฒนธรรมการฟังเพลงของคนในอนาคต

– การที่คุณภาวิตเข้ามาดูด้านเพลงมีนัยถึงการเปลี่ยนแปลงของแกรมมี่ไหม?

แกรมมี่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาอยู่แล้ว การเปลี่ยนในยุคสมัยของเจเนอเรชั่นผมคงไม่ได้แปลว่าเราไปเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เจเนอเรชั่นเดิมๆ ทำไว้ แต่ต้องต่อยอดความสำเร็จจากสิ่งที่แกรมมี่เป็นเบอร์ 1 และเอาจริงเอาจังที่สุดด้านอุตสาหกรรมเพลงให้ก้าวทันการแข่งขันในยุคที่เป็นดิจิทัลทั้งระบบ

– เป้าหมายหลักคือมุ่งสู่ดิจิทัล?

ปัจจุบันอุตสาหกรรมเพลงแทบจะไม่มีการแข่งขันที่เป็นรูปธรรมแล้ว แต่ในอนาคตจะก้าวเดินต่อได้อย่างไร จะสามารถสร้างรายได้ให้ยั่งยืนอยู่ได้อย่างไรนั่นคือเป้าหมาย เราก็คงจะเห็นภาพที่ชัดเจนว่ายุคของสินค้าเพลง (Physical Products) มันหดตัวทุกๆ วัน แต่เราก็ยังเป็นคนที่ยังค้าขายได้อยู่คนเดียวเป็นหลักในตลาด แล้วเราจะก้าวข้ามสู่โลกที่เป็นสตรีมมิ่งทั้งระบบ นี่คงเป็นสิ่งที่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างโดยมีบุคลากรใหม่ๆ เข้ามาทำคงเป็นนัยที่ทำให้เราต้องเดินก้าวข้ามให้ได้

– ปัญหาหลักคือเรื่องพฤติกรรมผู้บริโภค?

พฤติกรรมผู้บริโภคไม่ใช่ปัญหา เป็นข้อเท็จจริงที่เราไม่สามารถไปควบคุมหรือปรับเปลี่ยนเขาได้ เราต่างหากที่ต้องปรับให้ทันยุคที่ผู้บริโภคมีวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป ตอนนี้ผู้บริโภคกลุ่มหนึ่งบริโภคเพลงเป็นของฟรี ไม่ได้รอยัลตี้อยู่กับแพลตฟอร์มใด สามารถฟังได้จากทุกแพลตฟอร์ม และมีทั้งฟังและดูเพราะเป็นยุคของ Audio กับ Video หน้าที่ของคนทำอุตสาหกรรมดนตรีคือทำยังไงให้ฮิตและสร้างรายได้ให้ได้

การทำให้ฮิตไม่ได้หมายถึงแค่ว่าทำให้เพลงฮิต แต่ต้องทำให้ศิลปินฮิตด้วย วันนี้บางทีเรารู้จักเพลงแต่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันชื่ออะไร แต่จำได้ว่าคนนี้เป็นคนร้อง หรือเรารู้ว่าคนนี้ดังมากเลยแต่เราไม่รู้ว่าร้องเพลงอะไร เป็นยุคที่เปลี่ยนแปลงไปมาก อัลบั้มเต็มอาจจะไม่อยู่ต่อไปแล้ว แต่การทำอัลบั้มเป็นความภูมิใจของศิลปินทุกคน ไม่ได้หมายความว่าการทำอัลบั้มเป็นเรื่องผิด แต่ทำยังไงให้ส่งผลออกไปต่างหาก

เราจะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคหรือเปล่า ผมกลับคิดสวนทาง เราต้องตามพฤติกรรมผู้บริโภคให้ทัน หรือสามารถที่จะนำหน้าผู้บริโภคต่างหาก

– ซีดียังไปต่อได้ไหม?

ไปต่อได้แน่นอน พื้นฐานวัฒนธรรมด้านดนตรีสร้างให้คนชื่นชอบบทเพลงและศิลปิน บางคนเป็นถึงขั้นไอดอล บางคนเป็นเหมือนความทรงจำ รูปแบบของซีดีเมื่อถึงอายุขัยก็ยังมีคนอยากครอบครองเพลงเหล่านั้น หน้าปกเหล่านั้นก็ยังมีคนซื้อต่อแน่นอน การฟังผ่านดิจิทัลเป็นเรื่องของคนรุ่นใหม่ ขณะที่คนเจนเอ็กซ์ยังซื้อซีดี สังเกตเวลาเราจัดคอนเสิร์ต เจนเอ็กซ์จะซื้อบัตรหมดเร็วกว่าเจนซี (Z) อย่างคอนเสิร์ตพี่เจ-เจตริน ขายหมดเร็วมาก เพราะเจนเอ็กซ์เป็นกลุ่มมีกำลังซื้อ แต่เจนซีจะซื้อบัตรกลุ่มคนที่เขาคลั่งไคล้มาก กับเฟสติวัลอย่างบิ๊กเมาน์เท่นเป็นการชวนเพื่อนไปดู

– การออกอัลบั้มเต็มของศิลปินจะยังมีอยู่?

จะยังมีอยู่ รายได้การค้าแผ่นของแกรมมี่ปัจจุบันตลาดสินค้า Physical ยังดำเนินอยู่ได้ แต่จะอยู่ในรูปแบบเอ็กซ์คลูซีฟอัลบั้ม สำหรับแฟนคลับที่รักในศิลปินกลุ่มนั้นเฉพาะเจาะจง ไม่ได้ขายในปริมาณเท่าเดิม แต่มีคนที่อยากเก็บสิ่งเหล่านี้อยู่

เช่น บอดี้สแลม ก็คงมีคนที่อยากจะเก็บสะสมซีดีของเขา ในขณะที่เป๊ก ผลิตโชค ที่ร้อนแรงขึ้นมาในปีนี้ ก็มีคนอยากจะเก็บเอ็กซ์คลูซีฟอัลบั้มเช่นกัน เรามีความเชื่อเรื่องแฟนคลับ ในอนาคตเป็นยุคของ Fan-based marketing พื้นที่ในเฟซบุ๊กก็เป็นเรื่องแฟนคลับ เมื่อเรามีศิลปิน มีวงดนตรีอยู่ มีช่องจีนี่ เรคคอร์ดส หรือแกรมมี่โกลด์อยู่ นั่นหมายถึงเรากับแฟนมีโอกาสเจอหรือสร้างปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน คนกลุ่มนี้จะตอบสนองเราว่าเขาต้องการสินค้ารูปแบบใด อาจไม่ต้องเป็นสินค้าที่จับต้องได้อย่างเดียว เพราะกลุ่มแฟนคลับที่รักและชื่นชมในตัวศิลปินเหล่านั้น จะเห็นไปไกลกว่าเรื่องของเพลง เป็นความรู้สึกที่มีต่อแบรนดิ้งของศิลปิน

– เน้นทำให้ศิลปินฮิตมากขึ้นอย่างไร?

พื้นฐานเราต้องเน้นศิลปินให้เป็นที่รู้จัก ขยายให้เขามีมิติมากกว่าความเป็นเพลง ปัจจุบันศิลปินหลายๆ คนที่ประสบความสำเร็จหรือดังขึ้นมามากๆ ไม่ได้มีมิติที่ร้องเพลงให้คนฟังอย่างเดียว แต่มีจังหวะที่สามารถมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ฟัง บางคนถึงขั้นขยายตัวเองออกไปมีรายการพูดคุยกับคนได้ นั่นหมายความว่ามิติของเพลงก้าวไกลมากกว่าความเป็นเพลงเอง เช่น ไปทัวร์คอนเสิร์ตแล้วถูกบันทึกจากเสียงเพลงให้เป็นภาพ ก็สามารถเป็นอีกมิติที่ขยายให้คนเข้าใจตัวตนศิลปิน การขายดีเอ็นเอศิลปินเป็นสิ่งที่ทำมาตลอดตั้งแต่อดีต แต่ปัจจุบันมีเครื่องมือที่สามารถทำได้กว้างและง่ายขึ้นด้วยศักยภาพที่แกรมมี่มี

– ถึงยุคธุรกิจดนตรีเปลี่ยน มีช่องทางการหารายได้อย่างไร?

ปัจจุบันรายได้จากสินค้า Physical ยังมีกำไรสูงสุดเกือบจะเป็นรายได้หลัก ยังเป็นสินค้าที่ประสบความสำเร็จในยอดขาย แต่เราแปรสภาพไม่ปล่อยให้มันตายไปตามความต้องการที่น้อยลง ในยุคที่ซีดีชะลอตัว แกรมมี่ก็เป็นคนแรกที่เอาเพลงฟูลอัลบั้มมารวมฮิตเป็นเอ็มพี 3 ทุกวันนี้เรารวมฮิตเอ็มพี 3 วางขายในเซเว่นอีเลฟเว่น 9,000 สาขา มียอดขายหลักหลายร้อยล้านต่อปี ถึงบอกว่าเราไม่ได้ทำแบบเดิมแล้ว เราทำศิลปินให้ฮิต ทำเพลงให้ฮิต มารวมอยู่ในการทำรวมฮิตที่ค้าขายอยู่ในเซเว่น

แต่เมื่อโลกเปลี่ยนเร็ว เอ็มพี 3 ไม่อยู่ค้ำฟ้า คงมีวันเปลี่ยนแปลงไป ก็ต้องมีรูปแบบอื่นมาต่อยอดให้คนเป็นเจ้าของและครอบครองเพลงได้อยู่

– รายได้ยังมาจากหลายช่องทาง?

แบบแรกเป็นสินค้า Physical คนซื้อและครอบครองได้ ไม่ว่าจะเป็นไวนิล ซีดี เอ็มพี 3 หรือจะเป็นสินค้าแห่งอนาคตที่คนครอบครองได้ซึ่งเราต่อยอดมา เรายังมีคำตอบให้คนเสมอ นี่คือแกรมมี่

แบบที่สองการเข้ากับโลกที่เปลี่ยนไปเป็นระบบสตรีมมิ่ง แกรมมี่สามารถค้าขายไลบรารี เป็นอัลบั้มพิเศษ สร้างเม็ดเงินกับแพลตฟอร์มโพรไวเดอร์ต่างๆ เราได้รับเงินจากยูทูบ สามารถสร้างธุรกิจกับ Joox ของเท็นเซ็นต์ หรือล่าสุดที่เพิ่งเปิดตัวคือ Spotify เป็นแพลตฟอร์มดนตรีทั้งสิ้น และยังมีแพลตฟอร์มอื่นๆ อีก อย่าง OTV เป็นอีกรูปแบบในการสร้างรายได้ที่อาจไม่ใช่ทางตรงจากผู้บริโภค

ยังมีอีกส่วนคือรายได้จากการเก็บสิทธิการแสดง และอีกอันเป็นเม็ดเงินที่ใหญ่ที่สุดคือการสร้างรายได้จากการค้างานจ้างทั่วประเทศ เราส่งศิลปินออกไปในตลาด ปีละประมาณ 6,500-7,000 งานต่อปี หมายถึงอย่างต่ำวันละประมาณ 30 งาน

การสร้างรายได้ในอนาคตอีกส่วนที่ผมมองว่าสำคัญมากคือการสร้างรายได้จากโชว์บิส ปัจจุบันแกรมมี่เป็นคนจัดโชว์บิสมากที่สุดของประเทศ สิ่งที่แกรมมี่จัดยิ่งใหญ่ที่สุดคือ Big Mountain Music Festival ซึ่งปีนี้เป็นการจัดยิ่งใหญ่ที่สุดของแกรมมี่

– การแข่งขันในธุรกิจเพลงก็เปลี่ยนไป?

ปัจจุบันเราไม่คิดว่าเป็นเรื่องการแข่งขันทางดนตรีระหว่างค่ายต่างๆ แกรมมี่มีความร่วมมือกับพันธมิตรหลากหลายค่ายในตลาด เพื่อเอาเพลงมาร่วมกันค้าทั้งในช่องทาง Physical และดิจิทัล ร่วมมือกันเอาเพลงมาเป็นไลบรารีกลุ่มเดินเข้าสู่การแข่งขันเรื่องแพลตฟอร์ม นี่คือทิศทางที่เราจะเดินไปคือการสร้างพันธมิตรทั้งระบบ

ปัจจุบันค่ายเพลงส่วนใหญ่ไม่มีอินฟราสตรัคเจอร์ เขาก็มาร่วมมือกับเรา ในฐานะที่เราเป็นอินฟราสตรัคเจอร์ จะเป็นอีกมิติของวงการเพลงในอนาคต ไม่ได้แข่งขันกันทางการค้า แต่มาร่วมกันสร้างการค้ามากกว่า

– การทำงานเอเยนซี่แล้วมาอยู่แกรมมี่แตกต่างกันไหม?

ส่วนตัวไม่ได้รู้สึกว่าต่างกันมาก แต่มีจุดที่ต้องปรับตัวให้เข้ากับสิ่งที่เป็นเอ็นเตอร์เทนเมนต์มากขึ้น แต่ที่ไม่คัลเจอร์ช็อกเลยคือคน คนที่นี่น่ารัก ล้วนเป็นคนที่มีไอเดียสร้างสรรค์ไม่ต่างจาก Creative Business สิ่งที่ต่างกันมากคือเดดไลน์ในการทำงาน เอเยนซี่มีลูกค้าเป็นตัวตั้งมีเงื่อนไขชัดเจนว่าต้องออกเมื่อไหร่ แต่วงการดนตรีมีแฟนเพลงที่รออยู่ แต่ไม่ได้กำหนดว่าต้องวันนี้เป๊ะๆ มีความสร้างสรรค์ที่มีกรอบเวลายืดหยุ่นกว่า

สิ่งที่ผมสนุกคือเป็นธุรกิจที่ต้องใช้ไอเดียทั้งคู่ ธุรกิจเพลงทำยังไงให้เพลงเป็นมากกว่าเพลง นี่คือชาเลนจ์ของอนาคต เพลงหนึ่งเพลงถ้าดีสามารถกลายเป็นละครได้ มิวสิกวิดีโอที่ดังสามารถทำเป็นมินิซีรีส์ภาคต่อได้ เพลงหนึ่งเพลงสามารถทำให้ศิลปินมีรายการทีวีบนโซเชียล 12 ตอนได้ ต้องขยายมิติให้กว้างที่สุด

การก้าวไปข้างหน้าต้องขยายศักยภาพให้มากกว่าการทำเพลง สร้างความร่วมมือกับค่ายต่างๆ ปัจจุบันไม่ใช่ยุคของการแข่งขัน แต่เป็นยุคการสร้างความร่วมมือ นี่จะเป็นยุทธศาสตร์ใหญ่

– มองความสำเร็จในธุรกิจดนตรีต่างจากงานโฆษณาไหม?

ต่างกันมากเลย เป็นจุดที่ตอนแรกผมคิดถึงเล็กน้อย เราอยู่เอเยนซี่ความสำเร็จเกิดขึ้นทุกวัน ขายงานลูกค้าผ่านก็ประสบความสำเร็จแล้ว ได้ผู้กำกับที่ดีก็เป็นเรื่องที่ดี ทำงานดีๆ แล้วคนชื่นชมก็เป็นความสำเร็จอีกแบบ การได้รางวัลก็เป็นความสำเร็จ ตอนทำเอเยนซี่ชีวิตเร็วมาก แต่พอมาอยู่ในวงการเอ็นเตอร์เทนเมนต์ความสำเร็จต่างออกไป

ความสำเร็จของหนึ่งเพลงมีระยะเวลายาวนานพอสมควร เพลงที่ดังสุดสุดหรือศิลปินที่จุดพลุขึ้นมาต้องใช้เวลา บางทีมี 4-5 เดือน แต่นั่นเป็นความสำเร็จพื้นฐาน

ความสำเร็จปัจจุบันของผมเป็นเรื่องการเปลี่ยนผ่าน การสร้างทีมงาน เชื่อมโยงกับบุคคลภายนอกให้เกิดสินค้ารูปแบบใหม่ จำเป็นมากในการเดินเข้าสู่โลกอนาคต เพราะความสำเร็จแบบเดิมคือทำเพลงแล้วโยนเข้าไปในโซเชียล แต่ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ทางดนตรีมีอีกหลายรูปแบบ การสร้างผลิตภัณฑ์เหล่านี้นับเป็นความสำเร็จควบคู่กับความเติบโตด้านธุรกิจ

เงื่อนไขนี้ไม่เร็ว มันใช้เวลา บางทีเราเจรจากับแพลตฟอร์มเพื่อค้าขาย ใช้เวลาครึ่งปีก็มี ความสำเร็จเมื่อเปรียบเทียบว่าผมมาจากสองโลก ใช้ความครีเอทีฟเหมือนกัน แต่ระยะทางของความสำเร็จไม่เท่ากัน


‘บิ๊กเมาน์เท่น’ กลับเขาใหญ่ ปังกว่าเดิม

หนึ่งในเทศกาลดนตรีใหญ่ที่สุดของแกรมมี่ที่ภาวิตพูดถึงคือ Big Mountain Music Festival

“บิ๊กเมาน์เท่นต่างจากการจัดเฟสติวัลอื่น มีสถานะเกือบจะเป็นวัฒนธรรมของการดูเฟสติวัลประเทศไทย ได้รับการยอมรับว่าเป็นเฟสติวัลที่ดีที่สุดของเอเชียเฟสติวัลหนึ่ง หลังไปจัดที่อื่นมาในปีก่อนความพิเศษในปีนี้เรากลับมาจัดที่เขาใหญ่ ทำเป็นแคมเปญสนุกสนานยิ่งใหญ่ และได้รับผลตอบรับที่ดีมาก”

งานจัดขึ้น 9-10 ธันวาคมนี้ ที่ The Ocean เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา รับผู้ชมมากกว่า 50,000 คน บนพื้นหญ้าเขียวขจีของสนามกอล์ฟ 9 สนาม เมื่อสถานที่เปลี่ยนหน้าตาเวทีก็จะเปลี่ยนไปด้วย แต่ยังคงมนต์เสน่ห์ความขลังของเฟสติวัลที่สนุกสนานที่สุดของประเทศ

และยังมีศิลปินกว่า 200 ชีวิตทั้งไทยและต่างประเทศมารวมตัวกันในงานนี้

การสื่อสารเรื่องงานเกิดเป็นกระแสฮือฮาในช่วงที่ผ่านมา โดยในขั้นแรก “สร้างความสงสัย” โดยการยิงเลเซอร์ขึ้นตึกแกรมมี่เป็นข้อความว่า “คืนวัวให้ประชาชน” และปล่อยรูปบิลบอร์ดตัดต่อใส่ข้อความเดียวกันในโซเชียลหลายช่องทาง

“ป๋าเต็ด” และพวกจงดู! พวกเรากลุ่ม Big Back ไม่ได้มาเล่นๆนะป๋าขอประกาศตัวโตๆไว้ที่ตรงนี้และที่ตึกแถวอโศกเลย(ไม่ว่าสายตา…

โพสต์โดย Big Mountain Music Festival บน 1 สิงหาคม 2017

ป๋าเต็ดครับ ก็บอกแล้วว่าพวกเรากลุ่ม Big Back เอาจริง!“บิ๊กเมาน์เท่นปีนี้ จะต้องกลับไปจัดที่เขาใหญ่เท่านั้น!”ถ้ายังไม่ท…

โพสต์โดย Big Mountain Music Festival บน 2 สิงหาคม 2017

ต่อมาเป็นการ “จุดกระแส” ผ่านวิดีโอไวรัลหลายตอน โดยมีกลุ่ม “Big Back” จับตัว “ป๋าเต็ด” (ยุทธนา บุญอ้อม) โดยเรียกร้องให้บิ๊กเมาน์เท่นกลับไปจัดที่เขาใหญ่

ในเมื่อพูดกันดีๆ ไม่ได้ ก็ต้องเจอแบบนี้นะป๋าตอนนี้ “ป๋าเต็ด” ตกเป็น “ลูกวัว” ในกำมือพวกเรากลุ่ม Big Back แล้ว!พูดเป็นครั้งสุดท้าย ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกท่านจงปฏิบัติตาม!“บิ๊กเมาน์เท่นปีนี้ จะต้องกลับไปจัดที่เขาใหญ่เท่านั้น”ไม่งั้นป๋าเจอหนักแบบในคลิปแน่!#คืนวัวให้ประชาชน

โพสต์โดย Big Mountain Music Festival บน 3 สิงหาคม 2017

สุดท้าย “กระตุ้น” ให้คนอยากซื้อบัตร โดยประกาศว่าจะกลับไปจัดที่เขาใหญ่จริงๆ

ถามภาวิตว่าผู้ชมมีส่วนร่วมกับแคมเปญยังไง

“ได้ด่าป๋าครับ (หัวเราะ) มีนักสืบพันทิปไปหาใหญ่เลยว่าตกลงจะกลับไปจัดที่เขาใหญ่จริงหรือเปล่า ถึงขั้นเช็กไปที่โรงแรม เกิดกระแสเต็มโซเชียล ถึงขั้นเรียกร้องให้เราเฉลยเร็วกว่ากำหนด เพราะกลัวที่พักเต็ม”

ภาวิตบอกว่าแคมเปญนี้ใช้เงินเท่าปีที่ผ่านๆ แต่เกิดอิมแพคในโซเชียลและดิจิทัลมากเป็นพิเศษ

สิ่งพิเศษอีกอย่างหนึ่งคือบัตร Early Cow ขายวันที่ 31 สิงหาคม วันเดียว ราคา 1,500 บาท จากปกติ 2,000 บาท ที่ 7-Eleven ทุกสาขา

สิ่งสุดท้ายที่ภาวิตอยากฝากไว้คือ “ระวังบัตรหมด”

จบแล้ว ทุกอย่างที่พวกเรากลุ่ม Big Back พยายามกันมา!“บิ๊กเมาน์เท่น” จะได้กลับเขาใหญ่หรือเปล่า?ไปดูกันเอาเอง! #คืนวัวให้ประชาชน#PEPSI #BMMF2017

โพสต์โดย Big Mountain Music Festival บน 9 สิงหาคม 2017

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image