เพราะความฮา จึงบังเกิด ศิรกานต์ ผาเจริญ ดาวดวงใหม่ในแวดวง ‘นักพากย์ตะกร้อ’

ปิดฉากลงแล้ว สำหรับมหกรรมกีฬาแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่าง ซีเกมส์ 2017 ครั้งที่ 29 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย

ไฟในกระถางคบเพลิงเพิ่งดับมอดลง ขณะที่แสงจากสปอตไลต์เพิ่งเริ่มจับจ้องไปที่ดาวรุ่งดวงใหม่แห่งวงการ “นักพากย์”

กำลังพูดถึง ศิรกานต์ ผาเจริญ หรือโบ๊ต วัยย่าง 28 ปี นักพากย์ตะกร้อสายฮา เจ้าของเพจเฟซบุ๊ก “สนามตะกร้อ” ที่ชาวทวิตเตอร์จำนวนหนึ่งแซวติดตลกว่า มุขห้าบาทสิบบาทเขาก็ยังเล่น

ด้านหนึ่งศิรกานต์เป็นผู้สื่อข่าวกีฬาประจำช่องโทรทัศน์ดิจิทัล 24 true4U ประกอบกับมีใจรักใน “กีฬาตะกร้อ” โดยอาศัยความรู้ด้านนิเทศศาสตร์รังสรรค์เพจสนามตะกร้อสำหรับเผยแพร่ข่าวสาร “ตะกร้อ”

Advertisement

“เริ่มต้นทำเพจประมาณ 3 ปีก่อน ซึ่งเราเล่นตะกร้ออยู่แล้ว พอมาทำงานก็ยังอยากเล่นตะกร้ออยู่ เลยคิดว่าน่าจะมีเพจเพจหนึ่งรวบรวมเรื่องตะกร้อขึ้นมา” ศิรกานต์เริ่มเล่า และว่า ชื่อ “สนามตะกร้อ” เป็นเรื่องบังเอิญมาก ที่ตั้งชื่อนี้เพราะอยากหาสนามตะกร้อเล่น ใครมีสนามตะกร้อที่ไหนก็มาแชร์กัน อย่างน้อยเราได้เห็น คนอื่นที่อยากเตะตะกร้อก็ได้เห็นว่ามีสนามอยู่ที่ไหน ก็ไปเตะ เท่านั้นเอง

ศิรกานต์เล่าต่อว่า เขาทิ้งเพจเฟซบุ๊กไปสักพักใหญ่ โดยกลับมาเริ่มต้นอีกครั้งเมื่อประมาณปีที่แล้วขณะนั่งทำข่าวตะกร้อคิงส์คัพ

“ตอนนั้นเห็นคนไลฟ์ เลยลองไลฟ์ตะกร้อแล้วพากย์แบบกวนๆ ไปด้วย ปรากฏว่า มีคนดูเป็นพันๆ คน พอจบครั้งนั้นเลยกลับไปคิดว่าวันหน้าจะทำอีก แล้วก็ทำมาเรื่อยๆ” ศิรกานต์เล่าทั้งรอยยิ้ม

Advertisement

ทั้ง “เตะตะกร้อแล้วเหนื่อย แต่จะหายเมื่อยเมื่อเจอเธอ” ทั้ง “ดูไปดูมา 3 ชั่วโมงเริ่มเบื่อแล้วตะกร้อที่มีรู ขอตะกร้อที่มี you ด้วยได้ไหม” หรือจะเป็น “เสิร์ฟออกเอง นักเลงพอ” ล้วนเป็นมุขเสียงโมโนโทนที่ผู้รับชมกีฬาตะกร้อในซีเกมส์ 2017 ล้วนติดอกติดใจ

เป็นความน่าสนใจที่อยากชวนให้ทุกคนร่วมรู้จักศิรกานต์ไปพร้อมๆ กัน

 

 

รู้ตัวไหมว่าตอนนี้กำลังได้รับความสนใจจากหลายๆ ด้าน?

รู้ครับ คนรู้จักเจอในทวิตเตอร์แล้วเอามาให้ดู เราเองมีทวิตเตอร์ที่สมัครไว้เมื่อ 5 ปีที่แล้ว กลายเป็นว่าตอนนี้กลับมาติดทวิตเตอร์ เหมือนเราเป็นเด็กเพิ่งแจ้งเกิดแล้วมีคนสนใจ เรานั่งตอบทุกข้อความที่เกี่ยวกับเรา ส่วนหนึ่งเพราะเราเป็นคนที่ค่อนข้างจะเข้าถึงทุกคน แคร์ทุกคน แม้แต่คนที่เกลียดเราก็แคร์หมด ผมรู้สึกว่าถ้าเราจะขึ้นมาอยู่ตรงนี้ได้ ต้องอดทนให้ได้

ส่วนเฟซบุ๊กเอง ตอนแรกตกใจมากที่คนแอดเฟซบุ๊กส่วนตัวมาเยอะมากๆ คุณเห็นผมพากย์แบบนี้ แต่ชีวิตจริงผมไม่ได้ตลกตลอดเวลานะ (ยิ้ม) ถ้าคุณเข้ามาแล้วคุณรับไม่ได้ คุณเข้าเพจมาแล้วไม่ดูผม ผมจะทำยังไง ผมคิดมากไง แต่ถ้าอยากมาติดตามก็โอเค (ยิ้ม)

จากนักข่าวสู่นักพากย์?

เป็นเรื่องปกติ ไม่ได้ข้ามสายงาน คนพากย์ส่วนใหญ่ก็เป็นนักข่าวมาก่อน คนจะพากย์กีฬานั้นๆ ได้คือคุณต้องรู้กีฬานั้นจริง แล้วใครจะรู้จริงเท่านักข่าว เพราะเขาคือคนที่อยู่กับสิ่งๆ นั้นจนถ่องแท้แล้วสามารถนำมาอธิบายได้

การพากย์กีฬาก็เหมือนการรายงานข่าว แต่เป็นการรายงานสดตรงนั้น ที่เหลือก็อยู่ที่ความสามารถอื่นๆ แล้วว่าจะถ่ายทอดอย่างไร ผมเชื่อว่านักข่าวทุกคนมีศักยภาพหมด ขึ้นอยู่กับว่าเขาจะลุกขึ้นมาทำสิ่งนั้นเมื่อไหร่เท่านั้นเอง

กีฬาตะกร้อจำเป็นต้องมีนักพากย์?

จำเป็นครับ ทุกกีฬาต้องมีนักพากย์ และบ้านเรามีนักพากย์อยู่แล้ว คนที่ผมดูมาตลอดแล้วเอามาเป็นแบบอย่างคืออาแป๊ะ-ไพโรจน์ กิ่งแก้ว แต่ผมคิดว่ามันเหมือนฟุตบอลที่เขาไม่ได้มีคนพากย์คนเดียว เราควรจะมีหลากหลาย แต่อยู่ที่ว่าใครเป็นผู้ได้ลิขสิทธิ์ เขาก็ต้องใช้คนพากย์ของเขาเอง

แต่ตะกร้อ คนที่พากย์ได้จะต้องรู้จักนักตะกร้อ รู้จักตะกร้อลึกพอสมควร มันเป็นกีฬาที่เตะไปเตะมา ต้องพยายามหาเรื่องพูดให้ได้ตลอด

นักพากย์ 1 คน สามารถพากย์ได้ทุกกีฬา?

ได้นะ ถ้าเขาเก่งพอที่จะพากย์ได้ และเก่งพอที่จะรู้จักทุกกีฬา ผมเชื่อว่ามี แต่หายาก แต่ถ้าเฉพาะเจาะจง สมมุติผมพากย์ คนอาจไม่ได้ชอบตะกร้อหรอก อาจจะชอบผม เขาก็มาตามดู แถมยังได้ดูตะกร้อด้วย

อย่างน้อยเราเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองก็มีความสุขแล้ว ถึงจะมาสายฮา แต่ถ้าดูจริงๆ เราไม่ได้ฮาอย่างเดียว เหมือนคนดูมัวแต่ขำแล้วไม่ได้สนใจรายละเอียดที่เราบอกไป แต่เชื่อว่าเขารู้ เพราะคนที่ดูตะกร้อจริงๆ จะรู้ว่าข้อมูลที่เราบอกไปมันคือข้อมูลที่ควรต้องรู้ (ยิ้ม)

เอาข้อมูลเหล่านั้นมาจากไหน?

เราเป็นนักข่าว เราตามตะกร้อมาทั้งชีวิต เล่นตะกร้อมาตั้งแต่เด็ก เล่นจนได้ทุนนักกีฬามหาวิทยาลัย ได้เรียนฟรี จบมาเป็นนักข่าว จนตอนนี้เดินเข้าไปในสนามซ้อมรู้จักและสนิทกับทุกคน

เหมือนคนคนหนึ่งที่ถ้าเอาบทบาทนักข่าวออกไปก็เหมือนพยายามถวายหัวให้กับกีฬาที่ทำให้ตัวเองมาถึงจุดนี้ได้ ทั้งหมดทั้งมวลก็เพื่อตอบแทนสิ่งที่เรารักมากที่สุดเท่านั้นเอง (ยิ้ม)

จำเป็นไหมที่ต้องพากย์ให้ตลกขบขันขนาดนั้น?

ไม่จำเป็นนะ (หัวเราะ) แต่ถามว่าถ้าไม่พากย์ฮาขนาดนี้คนจะดูไหม ก็ไม่รู้ แต่เราว่าไม่ เพราะว่าเราอยู่ในยุคที่กำลังจะเข้ายุคโซเชียล มือถือ เฟซบุ๊กเต็มตัวแล้ว เรากำลังเป็นเจนใหม่ที่จะก้าวเข้ามา ก็ต้องทำอะไรที่มันสุดโต่ง เพื่อให้เข้าถึงคนยุคนี้

ถามว่าคนที่ไม่เคยดูตะกร้อ หรือไม่ค่อยดูตะกร้อมาดูแล้วรู้สึกยังไง แปลก? แล้วดีไหม? เราคิดว่าแปลกใครก็แปลกได้ ตลกใครก็ตลกได้ ขณะเดียวกัน เราต้องไม่ลืมว่าคนที่ดูตะกร้อก็มีคนในเจนเก่าเหมือนกัน เวลาพากย์เราจะนึกภาพคนมานั่งดู มีคนทุกวัยที่อยู่กับเรา ต้องทำยังไงก็ได้ให้ทั้งหมดนั้นนั่งอยู่กับเราให้ได้นานที่สุด ก็เลยเล่นมุข แต่ไม่ใช่มุขพร่ำเพรื่อ เราเล่นตามจังหวะ ไม่ใช่มาตลกๆๆๆ พอได้แต้มถึงแซวหรือโยงเข้าเกม

สมมุตินักตะกร้อคนนี้เป็นคนตัวใหญ่ เราก็แซว นักตะกร้อคนนี้ตัวใหญ่รักเด็ก ไม่เช็กมือถือ ไม่ซนไม่ดื้อ ครางชื่อให้ด้วย (หัวเราะ) มันเป็นแฮชแท็กของคนยุคนี้ แต่คนรุ่นเก่าที่ฟังก็ไม่ได้กระดากหูว่าเราพูดอะไร มันเลยเป็นการบ้านที่เราเก็บไปคิดแล้วตกผลึกว่าเราต้องอยู่แบบนี้นะ ไม่หยาบโลน แซวเขาขำๆ นิดหน่อย เพราะเมื่อไหร่ที่เกินเลยไปปุ๊บ เราจะเสียคนกลุ่มหนึ่งไปทันที หรือถ้าเขาด่าเราจริงๆ แสดงว่าเขาไม่เข้าใจพอยต์ที่เราทำ หรืออาจมีอคติกับเราก็ได้

เริ่มพากย์แบบสอดแทรกมุขมาตั้งแต่แรก?

ตั้งแต่ไลฟ์ครั้งแรกเลย แต่อาจไม่หนักขนาดนี้ ที่หนักขนาดนี้เพราะเราทำมาเยอะ คนเราพอลงสนามบ่อยๆ ก็เจนจัดขึ้น เริ่มคล่องขึ้น จับจุดได้ แล้วเราอิ่มตัวตรงนี้พอดี อย่างในชีวิตประจำวันเวลาไปไหนก็เล่นตลก ยิงมุขไป แต่ต้องดูปฏิกิริยาคนอื่นด้วยว่าเขารู้สึกโอเคไหม ถ้าโอเคคือเล่นได้

เอามุขเหล่านี้มาจากไหน?

เราอยู่ในยุคที่มุขมันเยอะมากเลยนะ (หัวเราะ) ใครๆ ก็เล่นมุขเต็มไปหมด แค่เราจะจำได้ไหม พอจำได้แล้ว เราจะใช้ได้ไหม คือมุขบางมุขมันเล่นกับตะกร้อไม่ได้หรอก ต้องค่อยๆ โยง ค่อยๆ หว่านล้อมเข้ามา ถ้ามันไม่ตื้อจนเกินไปก็ได้หมด ทุกอย่างรอบตัวเราตลกไปหมดแหละ

การพากย์ให้ตลกขบขันมีมาก่อนหน้านี้?

มีครับ มีเยอะมาก คนพวกนั้นคือไอดอลผมเลย เช่น พี่โทนคุง-พีระณัฐ จำปาเงิน ช่อง FM 99 ผมฟังตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัย เขาพากย์ตลกมาก พากย์ทางวิทยุ ที่ผมทำอยู่ตรงนี้คือเอาวิทยุมาใส่ภาพ เพราะคนพากย์ในวิทยุจะพากย์อะไรก็ได้ พูดได้น้ำไหลไฟดับ คนฟังแต่เสียง แต่ถ้าตลกด้วยคนก็อยากฟัง

บางมุขผมเอาของเขามาใส่ในตะกร้อทั้งดุ้นเลย ผมถือว่าเขาเป็นอาจารย์เรา เราให้เกียรติเขา เอามาเจริญรอยตาม แต่ทำในแนวทางของเรา เพราะมีตัวอย่างมาก่อนแบบนี้เราเลยทำ ไม่ใช่อยู่ดีๆ ก็มาตลก (หัวเราะ)

เคยพากย์เกินเลยจนมีคอมเมนต์บอกว่าไม่ดีไหม?

ผมไม่เคยหยาบ เพราะระลึกอยู่เสมอว่าแม้จะเป็นแค่เฟซบุ๊กไลฟ์ แต่ก็คล้ายๆ ทีวีที่มีคนดูเหมือนกัน ต้องไม่หยาบ บางมุขอาจจะตื้อๆ ฝืดๆ ไปบ้าง ส่วนคนที่ตำหนิคือบอกว่าทำไมไร้สาระจัง เขาไม่ได้เจาะจงเฉพาะบางมุข เราก็บอกตลอดว่า สวัสดีครับ วันนี้มาดู ดูกันแบบสนุกๆ นะครับ ถ้าอยากดูเป็นทางการให้ไปดูทีวี (ยิ้ม) เราบอกตลอด แต่คนแบบนี้มีน้อยมาก ไม่ค่อยเจอ แต่ก็โอเคถ้าจะมาคอมเมนต์ เพราะเรามีจุดยืนของเรา

เราทำอะไรให้คนถูกใจทั้งหมดไม่ได้หรอก เราทำเพื่อคนส่วนรวม ไม่ได้ทำเพื่อคนส่วนหนึ่ง ผมว่าทุกคนที่พากย์ก็โดนด่าหมดนะ เรื่องปกติ (ยิ้ม)

บางคนเชียร์ให้ไปพากย์กีฬาอื่น?

อยากบอกเขานะว่าเรามาสายนี้จริงๆ อย่างที่บอกว่าคนเราถ้าไม่เจนจัดจริงๆ มาทำแบบนี้ไม่ได้หรอก ให้เราไปพากย์วอลเลย์บอลก็พอได้ พอรู้จักนักกีฬา แต่เราไม่ใช่สาวกวอลเลย์ที่มองแค่ตาเปล่าก็รู้ว่าใครเป็นใคร หรือเขาจะทำอะไร แต่เราก็ขอบคุณนะที่เขาชอบ เราขอทำตรงนี้ให้ดีที่สุดก็พอแล้ว เพราะจุดประสงค์หลักจุดเดียวคืออยากให้คนดูตะกร้อเยอะๆ ไม่มีอะไรอื่น

หากเขาจะชม จะเชิญยังไงเราก็อธิบายไปว่าทำได้ แต่ไม่ได้ทำอะไรแบบนี้ คงต้องพากย์ให้จริงจังมากขึ้น เพราะไม่ได้รู้อะไรเฉพาะ

นักพากย์ต้องมีขนบในการพากย์?

มีครับ ทุกคนต้องมีลายเซ็นเป็นของตัวเอง เมื่อไหร่ที่คุณสามารถพบว่าคุณพูดแค่สวัสดีครับ เมื่อคนหยุดฟังแล้วเขารู้ว่าคนนี้พากย์ยังไง นี่คือความสำเร็จแรกของคนพากย์ อย่างพี่บิ๊กจ๊ะ พี่พิศณุ นิลกลัด

ผมอยากทำให้ทุกคนจำผมให้ได้ว่านี่คือมิสเตอร์ตะกร้อ ถ้าคุณจะดูตะกร้อสนุก คุณต้องมาดูกับผมนะ ผมพร้อมที่จะเล่าให้ฟังว่าตะกร้อแมตช์นี้แข่งยังไง สนุกแค่ไหน

คนทั่วไปสามารถติดตามข่าวสารตะกร้อได้จากที่ไหน?

หนังสือพิมพ์เดลินิวส์มีกรอบเล็กๆ ชื่อเลาะคอร์ตตะกร้อ ผมอ่านตั้งแต่เด็กๆ แต่มันเป็นกรอบเล็กๆ ซึ่งพอเทียบกับอินเตอร์เน็ต เฟซบุ๊ก ตอนนี้เทียบกันไม่ติดแล้ว ทั้งความเร็ว ความยืดหยุ่นของเนื้อหา นี่จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ว่าทำไมต้องมีเพจสนามตะกร้อ

จริงๆ มีคนทำเพจตะกร้อเหมือนกัน ชื่อเพจตะกร้อในสายเลือด แต่เขาไลฟ์ตะกร้อเดินสาย หรือตะกร้อเดิมพัน ส่วนอีกเพจหนึ่งชื่อเซปัก ตะกร้อ เป็นของบริษัทมาราธอนที่ขายลูกตะกร้ออยู่แล้ว ที่เห็นอยู่มี 3 เพจ แต่ถ้าเป็นข่าวจริงๆ ก็เพจสนามตะกร้อ

ถามว่าเพราะช่องทางการรับรู้เรื่องตะกร้อในไทยมีน้อยหรือเปล่า? ผมว่าน้อย และเว็บไซต์น่าจะไม่มีเลย ลองเสิร์ชข่าวตะกร้อดูน่าจะมีแค่เดลินิวส์ สยามกีฬา ซึ่งมันไม่ได้แมส ไม่เหมือนฟุตบอลที่เตะกันทุกวัน แต่เราจะทำยังไงก็ได้ที่ตอนนี้กีฬาตะกร้อกำลังได้รับความสนใจให้กลายเป็นพุ่งกระฉูด อย่างน้อยสร้างให้ 1 หรือ 2 คนที่ไม่ดูตะกร้อเลยไปศึกษาเพิ่มเติม (ยิ้ม)

ดูเหมือนเพจสนามตะกร้อจะทำให้คนสนใจตะกร้อหรือรักตะกร้อมากขึ้น?

ถามว่ามากขึ้นไหม คนรักตะกร้อยังไงก็รัก สมัยก่อนคนที่รักตะกร้ออาจไม่มีอินเตอร์เน็ต แต่สมัยนี้คนที่รักตะกร้อมีอินเตอร์เน็ต ทำให้เราเชื่อมหากัน สร้างโอกาสให้กันได้มากกว่าเดิมมากกว่า

พูดถึงซีเกมส์ที่เพิ่งจบไปที่ไทยไม่ส่งตะกร้อทีมเดี่ยวชาย เทียบกับครั้งที่ผ่านมาเราส่งครบทุกรายการ?

ประมาณนี้ หลายๆ คนสงสัยว่าทำไมเราส่งไม่ครบ ทำไมเราไม่ส่งทีมเดี่ยวชาย แต่ผมมองว่าปกติ ในตะกร้อคิงส์คัพที่เราจัดมีแข่งทั้งทีมเดี่ยวและทีมชุด ซึ่งเราไม่ส่งทีมเดี่ยวลงแข่งมาตั้งนานแล้ว ไม่เห็นมีดราม่าอะไรเลย ที่เราไม่ส่งทีมเดี่ยวเพราะอยากให้ประเทศอื่นได้เหรียญบ้าง เราเลยส่งแต่ทีมชุด

คนที่ดราม่าก็ดราม่ากันหัวชนฝา แต่พอมีคนมาถามเราก็จะบอกตลอด พูดแบบนี้แหละ ต้องลองมอง 2 มุม เรื่องของศักดิ์ศรีและเวทีมันต่างกัน ถ้าจะเอาแชมป์ทุกปีเราทำได้ แต่เวทีล่ะ ถ้าเราชนะไปเรื่อยๆ และเราเลือกได้ว่าจะไม่ส่ง ให้ชาติอื่นส่ง ให้เขามีกำลังใจ วันไหนที่เขาแข็งแกร่งพอจริงๆ ค่อยมาว่ากันว่าเราพร้อมสู้กับเขาแล้วใช่ไหม

ส่วนจะเป็นเพราะเจ้าภาพขอหรือห้ามไว้ ไม่มีใครรู้ว่าห้ามหรือไม่ห้าม ขอหรือไม่ขอ ผู้ใหญ่เขาไม่บอก แล้วแต่ใครจะมองในมุมมองไหน

นอกจากการส่งไม่ครบตามรายการ ยังมีปัญหาอื่น?

กรรมการก็มีบ้างที่อาจเอนเอียงให้เจ้าบ้าน แต่เป็นเรื่องปกติที่ใครเป็นเจ้าภาพซีเกมส์ก็ได้เปรียบทั้งนั้น ลองดูว่าใครเป็นเจ้าเหรียญทอง ก็เจ้าภาพทั้งนั้น อย่าไปมอง อย่าไปคิดเยอะ มองในเกมกีฬาจริงๆ ดีกว่าว่ามันสนุกตรงไหน บางทีคิดมากไปก็ปวดหัวเปล่าๆ

แต่มาเลเซียก็มีปัญหาเยอะจริงๆ คุณด่าได้นะ แต่ดูก่อนว่านักกีฬาเราทำเต็มที่แล้วหรือยัง ไม่ใช่ว่านักกีฬาเราฝีมือแค่นี้ ซีเกมส์ครั้งก่อนก็เท่านี้ มาครั้งนี้ก็เป็นแบบเดิม แต่ไปโทษกรรมการว่าเขาโกง เราต้องดูนักกีฬาเราด้วย ไม่ใช่ไปตั้งแง่ว่าโกงก่อนจะดูกีฬา

 


 

‘ความหวังใหม่’
ที่รอเพียงการ ‘เริ่มต้น’

อีกหนึ่งประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก คือ “เจ้าภาพ” มาเลเซียไม่ผลิตสัญญาณถ่ายทอดสดกีฬาชนิดที่เป็นความหวังของชาติอื่นๆ แต่ผลิตสัญญาณเฉพาะกีฬาที่ตัวเองมีหวังเท่านั้น

โดยเฉพาะกีฬาวอลเลย์บอล และฟุตซอลทั้งชาย-หญิง ที่ไทยประสบปัญหาจากการที่เจ้าภาพไม่ผลิตสัญญาณถ่ายทอดสดให้ แต่โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทีวีพูล) ได้แก้ไขด้วยการถ่ายทอดสดกลับเมืองไทยด้วยวิธี ไลฟ์สตรีมมิ่ง ผ่านกล้องเพียงไม่กี่ตัว

ด้วยเหตุนี้เอง จึงเกิดคำถามตามมาว่า เกิดอะไรขึ้นกับการรับชมกีฬาของคนไทย?

ศิรกานต์เผยว่า เนื่องจากมาเลเซียคิดค่าลิขสิทธิ์แพง และทีวีพูลเองคงพิจารณาแล้วว่าหากรับสัญญาณมาแพร่ภาพทุกชนิดกีฬาอาจไม่คุ้มค่า จึงทำให้เกิดปัญหาดังกล่าว

“บางวันมีแข่งตะกร้อ แต่ไม่มีทีวีช่องไหนถ่ายทอด เราก็อาศัยช่องออฟฟิเชียลทางยูทูบ 1 กับ 2 ว่าเจ้าภาพจะแพร่ภาพทางชาแนลไหน ถ้าวันไหนมีสัญญาณถ่ายทอดสดก็ได้ดูไป” ศิรกานต์กล่าวพร้อมรอยยิ้ม

เมื่อถามว่า ทีวีพูลคือผู้ได้รับสิทธิแพร่ภาพทางโทรทัศน์เพียงเจ้าเดียวหรือไม่ ศิรกานต์ตอบว่าใช่ แต่ไม่แน่ใจว่าเป็นการผูกขาดด้วยหรือไม่

“เพราะทีวีพูลคือฟรีทีวีบ้านเราที่ไม่ใช่ดิจิทัลทีวี ซึ่งในมุมมองส่วนตัวผมว่ามันน้อยไป ผมอยากเห็นภาพที่ดิจิทัลทีวีเข้าไปมีส่วนร่วมนะ แต่มันไม่เคยเกิดขึ้น ซึ่งผมว่าเรามารวมพลังกันจริงๆ เถอะ”

ศิรกานต์ยังบอกอีกว่า ในเมื่อบทบาทของโทรทัศน์กำลังลดน้อยลง เพราะเรากำลังเข้าสู่ยุคโทรศัพท์มือถือเต็มตัว โอกาสที่คนจะสร้างเวทีขึ้นมาเองก็น่าจะเป็น “เฟซบุ๊ก”

โดยเขาเสนอให้ ผู้ใหญ่ เห็นว่าการแพร่ภาพสด สามารถถ่ายทอดทางเฟซบุ๊กไลฟ์ได้อีกหนึ่งช่องทาง เพราะเฟซบุ๊กไลฟ์สามารถวัดจำนวนผู้ชม บอกเรตติ้งได้ การจัดหาคนพากย์ หรือให้เจ้าตัวไปร่วมพากย์ด้วยก็ยินดี เรื่องสปอนเซอร์ หรือโฆษณาก็สามารถกระทำได้ทั้งหมด

ซึ่งมีหลากหลายวิธีถ้าคิดจะทำ

 


 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image