มองโซเชียลอย่างรู้เท่าทัน ‘ก้าวโรจน์ สุตาภักดี’ นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์คนใหม่

ในยุคที่สื่อออนไลน์เติบโตอย่างต่อเนื่อง สั่นสะเทือนวงการสื่อเดิมในอดีต นำมาสู่การปรับตัวเข้าสู่การแข่งขันรูปแบบใหม่ในโลกไซเบอร์ ในฐานะนายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ มาพร้อมกับภาระหน้าที่ครั้งสำคัญในการสร้างความรู้ ความร่วมมือขององค์กรสื่อออนไลน์

กำลังพูดถึง ก้าวโรจน์ สุตาภักดี หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และนายกสมาคมฯ คนปัจจุบัน

ผู้เฝ้ามองปรากฏการณ์และความเปลี่ยนแปลงในแวดวงสื่อออนไลน์มานานกว่า 18 ปี

ก้าวโรจน์ เกิดเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2517 เป็นบุตรคนที่ 3 ของคุณพ่อ ด.ต.ประสิทธิ์ สุตาภักดี และคุณแม่ผุดผ่อง สุตาภักดี มีพี่สาว 2 คนคือ มารีรัตน์ สุตาภักดี และจิราพร สุตาภักดี ปัจจุบันสมรสกับสิริเพ็ญ สุตาภักดี มีบุตรชายด้วยกัน 1 คน คือ ธนดล สุตาภักดี

Advertisement

ตอนเด็กก้าวโรจน์ชอบการเล่นกีฬา ชอบเล่นฟุตบอลเหมือนกับเด็กผู้ชายทั่วไป หลังจบชั้นประถมจากโรงเรียนบ้านนาแวง จ.อุบลราชธานี ก็เข้าเรียนต่อระดับมัธยมต้นที่โรงเรียนเขมราฐพิทยาคม และมัธยมปลายที่โรงเรียนอัสสัมชัญอุบลราชธานี ก่อนจะเรียนต่อปริญญาตรีวิทยาการคอมพิวเตอร์ (Computer science) มหาวิทยาลัยรามคำแหง

“เรียนสายวิทย์มา แต่เรียนไม่ค่อยเก่งครับ ออกจะเกเรด้วยซ้ำและด้วยความที่ไม่ชอบวิชาคำนวณ ตอนแรกตั้งใจจะเรียนนิติศาสตร์แต่พี่สาวแนะนำว่าถ้าเรียนก็เรียนวิทยาการคอมพิวเตอร์เลยเข้าเรียนต่อด้านนี้ ผมได้จับคอมพ์ครั้งแรกตอนปี 4 เป็นเครื่องคอมพ์ ของมหาวิทยาลัยหน้าจอสีฟ้า เวลาจะสอบเขียนโปรแกรม ก็เขียนกันบนกระดาษŽ”

หลังเรียนจบได้เข้าทำงานเป็นครูสอนคอมพิวเตอร์ที่สยามคอมพิวเตอร์ 2 ปี

Advertisement

ก่อนเรียนจบเป็นยุคที่เริ่มมีอินเตอร์เน็ตยุคแรก พอสอนได้ระยะหนึ่งในช่วงที่เว็บดอทคอมกำลังดัง ก็อยากจะลองทำเว็บไซต์ ประกอบกับชอบกีฬาเป็นทุนเดิม เลยตัดสินใจมาสมัครงานที่สยามกีฬาเป็นเว็บโปรแกรมเมอร์Ž

เป็นจุดเริ่มที่ทำให้ก้าวโรจน์ก้าวเข้าสู่แวดวงไซเบอร์อย่างเต็มตัว

“ช่วงเริ่มทำเว็บไซต์ในเมืองไทยก็มีเว็บไซต์ที่เป็นพอร์ทัลเว็บ (Portal Web) เราเป็นยุคแรกของพนักงานที่ทำเว็บและให้กับสยามกีฬา และเนื่องจากผมเป็นอาจารย์มาก่อน เขียนโปรแกรมได้ด้วย เลยได้ทำหน้าที่เทรนให้กับพนักงาน ทำเว็บไซต์และจัดระบบไอทีไปด้วย จนถึงวันนี้ทำเว็บไซต์มา 18 ปี อยู่มาทุกเจเนอเรชั่น ผ่านมาทุกทัวร์นาเมนต์แล้ว (หัวเราะ)Ž”

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ก้าวโรจน์ได้มองเห็นปรากฏการณ์ต่างๆ ในโลกออนไลน์ที่มีทั้งปัญหาและอุปสรรคนำมาสู่การรวมตัวของเพื่อนสมาชิกสื่อ ร่วมก่อตั้งสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ขึ้นมา

‘บทบาทสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์?

สมาคมก่อตั้งมาประมาณ 9-10 ปีแล้ว โดยผมร่วมก่อตั้งสมาคมฯมาตั้งแต่สมัยแรก ตอนนั้นยังไม่มีโซเชียลมีเดีย มีแต่เว็บข่าว แล้วมีการลอกข่าวเกิดขึ้น เราตั้งสมาคมฯเพื่อจะบอกกลุ่มนี้ว่าอย่าลอกนะ รวมถึงการจัดการประชุมอบรมให้ความรู้กับสมาชิกสื่อออนไลน์ด้วย

นอกจากนี้ยังเป็นการปกป้องผลประโยชน์ของสำนักข่าวให้ได้รับความเป็นธรรม และได้รับความคุ้มครองในการทำงาน การช่วยเหลือเพื่อนสื่อเพื่อให้หนังสือพิมพ์อยู่รอดในโลกออนไลน์ ไม่อยากให้ทยอยปิดตัวไปเหมือนนิตยสาร เพราะถ้าสังเกตดู 10 ลำดับสื่อที่อยู่รอดตอนนี้มีแต่หนังสือพิมพ์ทั้งนั้น เนื่องจากนิตยสารเป็นสิ่งแรกที่เข้ามาอยู่ในออนไลน์

‘เป้าหมายที่ตั้งใจจะทำ?

1.อยากให้เพื่อนสมาชิกและสื่อเดิมทุกฉบับเข้ามาร่วมมือกันเพื่อมีอำนาจในการต่อรอง แต่เป็นการต่อรองแบบสมเหตุสมผลนะไม่ใช่แบบมาเฟีย เพื่อให้เราได้รับการปกป้องเพราะการออกไปทำข่าวเรามีต้นทุน ไม่ใช่แค่เปิดเว็บแล้วลอกข่าวออกมา

2.ผมมองว่าตอนนี้เว็บข่าวทุกที่มีช่างภาพถ้าเว็บข่าวในเมืองไทยสามารถรวมภาพกันแล้วไปขายให้อาเซียน เหมือนเราซื้อภาพข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศ ซึ่งตรงนี้ก็เป็นเป้าหมายที่อยากจะทำ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะทันโซเชียลหรือเปล่า แล้วก็ต้องอาศัยความเข้าใจกับของสื่อในการที่จะให้ความร่วมมือ

‘มองพัฒนาการสื่อที่ผ่านมาอย่างไร?

ยุคแรกสื่อออนไลน์เป็นยุค 1.0 ตอนนี้เป็น 2.0 เท่านั้น เพราะเราไม่ใช่โซเชียล ในช่วงเริ่มต้นสื่อออนไลน์เป็นแค่รวมลิงก์ ต่อมาจึงมีเว็บข่าว เเต่พัฒนาการของเว็บค่อนข้างจะช้าเพราะความต้องการของคนอ่านบนเว็บน้อย มีเป็นช่วงเวลาเฉพาะคือ คนจะอ่านข่าวบนเว็บไซต์สมัยก่อน ต้องถึงออฟฟิศ ต้องอยู่หน้าจอคอมพ์ถึงจะมีอินเตอร์เน็ตเปิดอ่านข่าวได้

ตอนที่ผมทำเว็บไซต์ ยังไม่มีใครกล้าลงโฆษณาด้วยซ้ำ แทบจะเรียกว่าซื้อโฆษณาหนังสือพิมพ์ นิตยสารแถมเว็บไซต์ จนมาช่วงก่อนโซเชียลเข้ามา 3-4 ปี ช่วงนั้นก็เริ่มมีเอเยนซี่ออนไลน์ ดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งเกิดขึ้น ตัวเว็บไซต์ก็เริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีในการทำเว็บ เรื่องของรายได้โฆษณา เริ่มมีอีคอมเมิร์ซ โซเชียลมีเดียเข้ามา

แล้วเมื่อก่อนยังไม่มีข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ที่จะเกณฑ์ยูเซอร์เข้ามา หรืออาจจะมีแต่นักดิจิตอลมาร์เก็ตติ้งเองก็ยังไม่รู้ว่าจะเอาไปทำอะไรได้ การลงโฆษณาจึงเลือกลงเช่น ลงหน้าข่าวกีฬา ข่าวการเมือง ข่าวสังคม แต่โฆษณาปัจจุบันสามารถเจาะจงเลือกคนได้เลยว่าเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย ทำงานอะไร อยู่จังหวัดไหนแต่เมื่อก่อนไม่มีการแบ่งส่วนแบบนี้ ส่วนโซเชียลที่เข้ามาเริ่มต้นจะเป็นพวกโลเคชั่นเบส แล้วก็โฟร์สแควร์ ต่อมาก็เป็น
ทวิตเตอร์และเฟซบุ๊ก

‘มองสถานการณ์สื่อออนไลน์ในปัจจุบันอย่างไร?

ผมมองว่าคนยังอ่านอยู่เหมือนเดิมแต่เปลี่ยนดีไวซ์ (Device) เมื่อก่อนคนไทยอ่านจากหนังสือพิมพ์ แต่เปลี่ยนรูปแบบมาอ่านจากสมาร์ทโฟน แล้วหลายเรื่อง เช่นสิทธิส่วนบุคคลเรามองว่าเป็นเรื่องจำเป็น แต่สุดท้ายใน
โซเชียลเราก็เข้าใจว่าอัลกอริทึม (Algorithm) สำคัญที่สุด

ถามว่าสถานการณ์ต่อไปจะเป็นยังไง ก็คาดการณ์ยาวไม่ได้ ต้องประเมินปีต่อปีโดยตัวเลขจะบอกทุกอย่าง เพราะมันไม่ได้อยู่ที่เรา แต่อยู่ที่อัลกอริทึมของสื่อและผู้บริโภค ที่จะบอกว่าผู้บริโภคอ่านเหมือนเดิมแต่เปลี่ยนแพลตฟอร์มมาอยู่บนมือถือ

‘สมาร์ทโฟนมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสื่อออน ไลน์แค่ไหน?

ตั้งแต่มีสมาร์ทโฟนทุกอย่างก็เปลี่ยนไป ตอนแรกทุกคนไม่เชื่อว่าจะมีผลกระทบกับเราได้ ทุกคนที่ทำงานสื่อมองว่าเราจะไม่เป็นอะไร แต่เมื่อทุกคนรู้ตัวก็ติดสื่อโซเชียลไปแล้ว เพราะมันเข้าถึงได้ทุกที่ ทุกเวลา มันเป็นสิ่งใหม่ที่ทุกคนคาดการณ์ผิดหมด แล้วก็มาพร้อมสิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือ เพย์เมนต์เกตเวย์ (Payment Gateway) ที่ทำให้การจ่ายเงินง่ายขึ้น

‘จะทำอย่างไรที่จะควบคุมคุณภาพสื่อ เพราะตอนนี้ใครก็สามารถเป็นสื่อได้?

ฐานันดรที่ 4 ของนักข่าวหมดไป ตั้งแต่โซเชียลมีเดียเข้ามาแล้วจะเห็นว่าคนอยากทำตัวเหมือนนักข่าว อยากส่งข่าวเป็นคนแรก อยากรู้เป็นคนแรก เป็นนิสัยคนไทย (หัวเราะ)

ซึ่งช่วงแรกทุกคนจะเชื่อข่าวที่มาจากออนไลน์ทั้งหมด ไม่ว่าใครโพสต์อะไร แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือพฤติกรรมคนส่งและคนรับสารเปลี่ยนไป คำว่าเปลี่ยนไปคือ การเรียนรู้ว่าคนนี้ส่งข่าวไม่จริง คนนี้ทำจริง ถ้าสังเกตดูเมื่อก่อนจะมีเพจเยอะมาก ช่วงหลังมีเหลือไม่กี่เพจ เหมือนกับเว็บไซต์ตอนแรกมีเยอะมากแต่ตอนนี้หลายเว็บไม่อยู่ในระบบแล้ว

ส่วนสำนักข่าวต้องยกข้อดีคือการทำหน้าที่มีการกลั่นกรองก่อนนำเสนอ ที่เรียกว่ากระบวนการบรรณาธิการ ข่าวที่ออกมาสุดท้ายคนที่ต้องออกมาคอนเฟิร์มจริงๆ ก็คือสำนักข่าว เพราะฉะนั้นข่าวจากสำนักข่าวจึงมีความน่าเชื่อถือ

‘สื่อกระดาษและสื่อออนไลน์ที่ต้องปรับตัวอย่างไรในยุคที่โซเชียลมีเดียมีการเติบโตสูงมาก?

ต้องเข้าใจผู้บริโภคมากๆ ต้องวิเคราะห์ตัวเลข คุณไม่ใช่คนส่งสารคนเดียวอีกแล้ว ถ้าคุณไม่มีข่าวเขาก็ไปอ่านที่อื่นได้ โดยเฉพาะเพจกลุ่มเฉพาะ (Niche page) การปรับตัวคือต้องเข้าใจยูสเซอร์ ต้องเข้าใจผู้บริโภค ต้องเข้าใจสื่อ

ส่วนเรื่องคุณภาพกับความเร็วก็ต้องมาคู่กัน และต้องประเมินว่าบางข่าวไปถึงช้าดีกว่าไปถึงเร็ว บางข่าวรอได้ บางข่าวรอไม่ได้ เช่น ผลการแข่งขัน บอกก่อนได้ เร็วได้ แต่ข่าวอย่างอื่นที่เป็นข่าวทั่วไปก็ต้องรอตรวจสอบก่อน ถามว่ามีที่ผิดไหมความจริงก็ยังมีอยู่ จึงต้องมีระบบบรรณาธิการ

‘มองข่าวออนไลน์ ลอก ปลอม คลิกเบทอย่างไร?

เรื่องคลิกเบท ผมมองว่าไม่ต่างจากพาดหัวหนังสือพิมพ์นะ หนังสือพิมพ์ยังยำ 3 หัวรวมกันเพื่อให้คนอยากอ่าน ข่าวคลิกเบทก็หลักการเดียวกัน ส่วนตัวมองว่าถ้าเขียนได้ตรงความเป็นจริงก็ไม่ถือว่าผิด เพียงแต่จะเลือกใช้คำยังไงให้คนเลือกอ่าน

ส่วนเรื่องการลอกข่าวต้องดูว่าเป็นสำนักข่าวหรือเปล่า หรือเป็นคอนเทนต์โพรไวเดอร์ แต่การลอกสามารถฟ้องร้องดำเนินคดีได้ เมื่อก่อนมีเว็บไซต์หนึ่งเขียนสคริปต์ดูดข่าวจนเว็บขึ้นที่ 1 ก็มีการทำเรื่องฟ้องศาลก็หยุดลอกไป แต่กระบวนการก็ยังช้าอยู่ ถ้าสามารถปรับให้กระบวนการฟ้องเร็วได้ต่อไปจะไม่มีใครกล้าลอกอีก

ส่วนตัวผมมองว่าถ้าลอก ใคร ทำอะไร เมื่อไหร่ ทำได้เพราะมันเป็นความจริง เช่น เรื่องผลการแข่งขันกีฬา ตรงนี้ไม่มีปัญหาแต่อย่างไร หรือที่เป็นฮาวทู เป็นครีเอทีฟที่นักข่าวเขียนขึ้นหรือใส่ดุลพินิจเข้าไปทุกอย่างมีลิขสิทธิ์หมด ลอกไปก็ฟ้องได้ ซึ่งทางสมาคมมีสำนักกฎหมายที่ดูแลเรื่องนี้อยู่ เวลาฟ้องก็จะรวมตัวกันฟ้องร้อง จะเห็นว่าขณะนี้เว็บทั่วไปส่วนใหญ่ไม่ลอกแล้ว รวมถึงข่าวปลอมสามารถฟ้องดำเนินคดีได้เช่นกัน

‘จะทำอย่างไรถึงแก้ปัญหาลอก-ปลอมข่าวได้?

กระบวนการคือ เจ้าหน้าที่ที่เข้ามาดูแลมีความเข้าใจ ตั้งแต่เจ้าหน้าที่ที่เขียนสำนวนต้องมีความรู้ว่าจะเก็บหลักฐานอย่างไร จะเขียนสำนวนอย่างไร ต้องมีกระบวนการดำเนินคดีอย่างรวดเร็ว ซึ่งวันนี้มีทั้ง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์และกฎหมายไซเบอร์ซึ่งมันครอบคลุมอยู่แล้วเพียงเเต่ว่ากระบวนการในการบังคับใช้ ซึ่งจะต้องเข้าใจว่าเรื่องนี้มีผลทำให้ธุรกิจสูญเสีย ถ้าเราไม่ปกป้องตรงนี้ต่อไประบบจะไปกันหมด ข่าวที่เคยต้องผ่านกระบวนการบรรณาธิการ ต่อไปก็อาจจะไม่ต้องแล้ว

สื่อเองก็ต้องร่วมมือกัน จับมือกันให้แข็งแรง เพื่อสร้างมาตรฐาน สร้างเรตราคาโฆษณาว่าเป็นเว็บข่าวพรีเมียมที่มีกระบวนการมากกว่าเว็บอื่น มีกระบวนการบรรณาธิการ เป็นเว็บข่าวทำข่าวคุณภาพ ไม่ใช่ว่าอ่านจากหลายเว็บมายำรวมใหม่แล้วเผยแพร่รับค่าโฆษณาเท่ากัน แต่เรามีต้นทุนดังนั้นกลุ่มที่คัฟเวอร์แพลตฟอร์มต้องจ่ายเราด้วย

‘มีปัญหาใดอีกที่มาพร้อมกับโซเชียล?

ประเทศไทยใช้โซเชียลเยอะมาก เนื้อหาที่มาจากฐานหนังสือพิมพ์เดิมหรือนิตยสารเดิมไม่น่าเป็นห่วง แต่เนื้อหาอื่นๆ จากคนทั่วไป อย่างเพจ 18+ ถ้าเป็นผู้ใหญ่ทั่วไปเข้าไปดูได้ไม่มีปัญหา แต่เด็กเข้าถึงเนื้อหาแบบไหน เขาคุยอะไร ส่งต่ออะไรกัน จุดนี้อันตรายมาก ลิงก์แค่ลิงก์เดียวเปลี่ยนชีวิตเด็กได้เลยนะครับ ว่าจะดีหรือแย่

ยังมีเรื่องของการรู้เท่าทันสื่อด้วย เดี๋ยวนี้ใครก็เสิร์ชผ่านเว็บไซต์แล้วเชื่อทั้งหมด ทั้งที่บางส่วนเป็นพื้นที่โฆษณา ดังนั้นจะต้องรู้เท่าทันไม่ใช่แค่เท่าทันสื่อเดิมที่มาทำสื่อออนไลน์เท่านั้น แต่ต้องรู้เท่าทันแพลตฟอร์มสื่อทุกสื่อด้วย

แต่วันหนึ่งอัลกอริทึมของสื่อโซเชียลมันก็จะฉลาดขึ้น ตอนนี้อาจจะเป็นช่วงการเก็บข้อมูล เพราะมีเนื้อหาที่ไม่ถูกต้องบนโซเชียลเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ การแชร์ภาพยนตร์ การถ่ายทอดสดกีฬาต่างๆ แต่ก็ยังไม่ทำอะไร เพราะต้องเก็บข้อมูล อย่างสื่อ

โซเชียล มีการทำระบบล็อกอิน มีชื่อ มีอีเมล์ มีรูป และมีข้อมูลว่าเราชอบอ่านข่าวแบบไหน ยังไง ชอบเที่ยวที่ไหน ชอบกินอะไร ชอบดูหนังแนวไหน ดูหนังวันละกี่ชั่วโมง กดไลค์ ชอบแชร์เพจอะไร เป็นต้น

‘การเสพสื่อของคนในสังคมมีผลต่อคุณภาพไหม?

ตอบยากครับ ต้องดูด้วยว่าสังคมเราเป็นยังไง เมืองไทยค่อนข้างดราม่า เวลาเขียนข่าวเราตั้งใจแทบตายคนอ่าน 1,000 คน แต่เวลาคอนเทนต์ไม่มีคุณภาพ อาจจะลงภาพวับๆ แวบๆ เขียนคลิกเบท คนเข้ามาอ่านเยอะมากแล้วคนก็จะไปแนวนั้น แต่มันจะต้องมีจุดยืนด้วย สื่อเองก็อย่าหยุดทำหน้าที่สื่อ ต้องนำเสนอเนื้อหาที่ดีด้วย ต้องมีความสมดุล

‘ทางธุรกิจออนไลน์จะสามารถสร้างรายได้เทียบเท่าสื่อเดิมในอดีตได้หรือไม่?

ไม่ได้ครับ มันเป็นคนละโจทย์กัน หนังสือพิมพ์ขายทั้งหนังสือและโฆษณา แต่การทำเว็บมีรายได้จากโฆษณาอย่างเดียว เพราะไม่มีใครซื้อข่าวมาอ่าน ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาที่มีคุณภาพแค่ไหนคนไทยก็ไม่ซื้อข่าวอ่านเพราะเขาคิดว่าเขาสามารถหาข่าวจากที่ไหนก็ได้ แล้วโฆษณามีจำนวนเท่าเดิมแต่เว็บเพจมีมากขึ้น รายได้ก็น้อยลง

แต่ออนไลน์สามารถเลี้ยงตัวเองได้เนื่องจากออนไลน์ต้นทุน จำนวนคน ใช้คนน้อยกว่าสื่อเดิม แต่ออนไลน์ไม่สามารถจะเลี้ยงสื่อเดิมได้ แต่สิ่งที่ต้องใส่คือ เนื้อหา และความคิดสร้างสรรค์ จะต้องทำให้ดี ทำให้แตกต่าง

แล้วอนาคตผมมองว่า จากเดิมเราขายข่าวผ่านหนังสือพิมพ์ แต่ต่อไปเราอาจจะต้องซื้อผู้ชม (audience) หมายความว่า ทำข่าวแล้วต้องไปซื้อคนอ่าน เพื่อเสนอลูกค้าและโฆษณาก็ได้

‘สถานการณ์สื่อในต่างประเทศเป็นอย่างไร?

เมื่อโซเชียลเข้ามาสื่อต่างประเทศไปก่อนครับ ฝั่งอเมริกาสื่อหนังสือพิมพ์ไปนานแล้ว แต่ต่างประเทศเขามีการซื้อข่าวอ่าน มีพรีเมียมคอนเทนต์ให้คนซื้อ แล้วเขาไม่มีเรื่องการก๊อปข่าว เพราะกฎหมายเขาแรง ส่วนประเทศไทยอาจจะมีแค่เนื้อหาที่เป็นนิยายที่คนไทยยอมซื้ออ่าน

‘ทิศทางการแข่งขันสื่อออนไลน์ในอนาคตเป็นอย่างไร?

ต้องพัฒนาเนื้อหาให้ดีและต้องไปในทุกแพลตฟอร์ม มาทำตอนหลังไม่ได้แล้วเพราะทุกทีอาจจะไปก่อนหรือไปไกลแล้วก็ได้ อย่างสื่อบางเล่มช่วงแรกไม่ทำเพจ พอมาตอนนี้ก็ไม่ทันแล้ว

‘ในอนาคตโซเชียลจะมีความเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่เหมือนตอนมีสมาร์ทโฟนเข้ามาอีกไหม?

แน่นอนครับ โลกออนไลน์มันเปลี่ยนเร็วมาก ผมคิดว่าในอีก 20 ปีมันน่าจะเปลี่ยนอีกแบบรวดเร็วและแรง ซึ่งเราก็น่าจะอยู่ทันการเปลี่ยนแปลงนั้น อาจจะเป็นระบบเอไอ (AI) หรือปัญญาประดิษฐ์ ไม่ใช่สมาร์ทโฟนแล้ว เพราะถ้าสังเกตดูโทรศัพท์ในรุ่นหลังๆ แทบไม่มีความเปลี่ยนแปลง คือโทรศัพท์มันจะไม่ฉลาดไปกว่านี้อีกแล้ว จะมีก็ความเร็วเพิ่มขึ้นแรงขึ้น แต่สิ่งที่จะฉลาดอยู่ข้างในคือแอพพลิเคชั่นเท่านั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image