จากไฟแนนซ์ สู่แฮร์ซาลอน เบอร์ 1 ลลิดา มังกรกนก คืนรอยยิ้มให้ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย

“วิกผม” สำหรับคนทั่วไปอาจมองเป็นเรื่องของแฟชั่น แต่กับคนผู้ป่วยมะเร็งหลายต่อหลายคน คือความมั่นใจ คือชีวิต คือความรัก

ภาพของคนไข้มะเร็งเต้านมที่ได้รับวิกผม สีหน้า คำขอบคุณ และรอยยิ้มที่เหมือนทำหล่นหายมานานกลับคืนมาอีกครั้ง ทำให้เจ้าหน้าที่และพยาบาลทุกคนที่ทำงานอยู่ตรงนั้นยิ้มตามไปด้วย

โรงพยาบาลจุฬาภรณ์นอกจากจะมีการจัดกิจกรรมรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับมะเร็งเต้านมแก่ประชาชนทั่วไป บริการตรวจคัดกรองมะเร็ง ฯลฯ เป็นระยะๆ ที่ “คลินิกการแพทย์ผสมผสานผู้ป่วยมะเร็งและญาติ” ซึ่งเป็นการให้บริการแก่ผู้ป่วยแบบสหสาขาวิชาชีพ 2 ปีมาแล้วที่ในส่วนของบริการยืมวิกผมแท้ มีแฮร์ซาลอน เบอร์ 1 อย่าง “โมก้า” (MOGA) เข้ามาให้การสนับสนุน รวมทั้งช่วยดูแลตัดแต่งทรงผมให้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

“ลูกค้าส่วนใหญ่เราเป็นผู้หญิงรักสวยรักงาม มันเป็นสิ่งที่ใกล้ตัว และเท่าที่ทราบมาคือผู้ป่วยมะเร็งหลายรายจะกังวลว่าความสวยของเขาจะหายไป… ลูกค้าเข้ามาร้านเราและมีความสุขกลับไป เราก็อยากจะสานต่อความสุขนี้ให้กับผู้ป่วยด้วย”

Advertisement

ลลิดา มังกรกนก ผู้อำนวยการกลุ่มร้านทำผม “โมก้า” บอกถึงที่มาของการบริจาควิกผมแท้ให้โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ใน 2 ปีที่ผ่านมา

สำหรับปีนี้ ซึ่งเพิ่งส่งมอบไปเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เป็นเครื่องผลิตออกซิเจน 5 เครื่อง

“เพราะคุยกับทางโรงพยาบาลบ่อยจึงพอเข้าใจว่า ผู้ป่วยบางทีก็ไม่ได้ต้องการแต่วิกผม ซึ่งเราบริจาคไปเกือบร้อยชิ้นแล้ว ชิ้นหนึ่งก็ใช้ได้กับผู้ป่วยหลายคน ในปีที่ 3 จึงถามว่าสิ่งที่จะช่วยทำให้ผู้ป่วยดีขึ้น สบายตัวขึ้นคืออะไร ทราบว่าเป็นเครื่องออกซิเจน ราคาสูงหน่อยไม่เป็นไร แต่อย่างน้อยก็ทำให้ผู้ป่วยที่ยืมไปสบายใจว่าไม่ขาดออกซิเจน ซึ่งปีหน้ายังอยากจะได้เครื่องออกซิเจนมากสุด เราก็จะพยายามสมทบทางด้านนี้ดีกว่า”

Advertisement

ลลิดา อดีตสาวไฟแนนซ์ที่ผันชีวิตมาจับกรรไกร ต่อยอดอาณาจักรของความสวยความงามร่วมกับผู้เป็นมารดา เป็นหนึ่งใน 10 ร้านทำผมที่ดีที่สุดในเมืองไทย มีงานโชว์ในระดับประเทศ รวมทั้งรันเวย์นิวยอร์กแฟชั่นวีคก็ขึ้นมาแล้ว

บุตรสาวคนเดียวของ ปลิว มังกรกนก ผู้บริหารกลุ่มทิสโก้ กับ โยชิโกะ มังกรกนก กรรมการผู้จัดการกลุ่มร้านทำผม “โมก้า”

เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย จนถึง ม.2 ก่อนไปเรียนต่อมัธยมปลายที่ Roedean School เมืองไบรตัน ประเทศอังกฤษ แล้วไปศึกษาต่อระดับปริญญาตรี สาขาวิทยาศาสตร์ การเงินธุรกิจ ที่มหาวิทยาลัยเซาท์เทิร์น แคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา

หลังสำเร็จการศึกษา เธอกลับมาเริ่มงานทางด้านการเงินทันทีที่ซิตี้แบงก์ ในตำแหน่ง Relationship manager ดูแลด้านการเงินของบริษัทต่างชาติ ได้ราว 4 ปีเศษ ก็ตกลงใจลาออก หันมาทำตามความฝันของตนเอง

ปัจจุบันในวัย 32 ปี ลลิดาเป็นผู้อำนวยการกลุ่มร้านทำผม “โมก้า” ซึ่งมี 7 สาขาทั่วกรุงเทพฯ และ 1 สาขาที่เชียงใหม่ รวมทั้งโมก้า อคาเดมี ที่เธอเป็นทั้งครูใหญ่ เขียนหลักสูตรการเรียนการสอนในคอร์สอบรมพื้นฐาน และคอร์สระยะสั้นสำหรับช่างมืออาชีพ เพื่อยกระดับและเพิ่มศักยภาพธุรกิจซาลอนในประเทศไทย

เข้าร่วมโครงการ รพ.จุฬาภรณ์ ได้อย่างไร?

ร้านเราเป็นร้านทำผมมา 25 ปี แล้วส่วนใหญ่จะมีการรณรงค์เกี่ยวกับกิจกรรมการกุศลอยู่แล้ว ทำอย่างต่อเนื่องมาเรื่อยๆ จากการรีเสิร์ชพบว่า ปกติกิจกรรมที่ร้านทำผมทำจะเป็นการตัดผมบริจาค เราอยากทราบว่า ผมจำนวนเท่าไหร่จึงจะได้ 1 วิก แต่พอได้พูดคุยกับทางโรงพยาบาลจุฬาภรณ์จึงทราบว่ามีคนบริจาคผมมาเป็นจำนวนมาก แต่การทำวิกที่มีคุณภาพดีสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง ราคาค่อนข้างสูง เพราะมันไม่เหมือนกับวิกผมแฟชั่นอันละร้อยสองร้อยบาท เพราะเรามีผมอยู่มันจะไม่เจ็บ แต่สำหรับผู้ป่วยมะเร็งผมจะร่วง แล้วหนังศีรษะที่ต้องใส่ทุกวันจะมีการอับชื้น และตรงตะเข็บถ้าเย็บไม่ดีใส่แล้วจะเจ็บ

จึงคิดว่าเราสมทบทุนเรื่องการทำวิกดีกว่า เพราะผมที่ทำสีใส่สารเคมีก็ไม่สามารถจะให้ผู้ป่วยมะเร็งได้ จึงเริ่มทำปีแรกปี 2558 ด้วยการจัดกิจกรรมที่เรียกว่า “คัทตะธอน” (MOGA Breast Cancer Care Cut-a-Thon) ระหว่างสาขา โดยเรากำหนดเวลาๆ หนึ่ง ทำเหมือนคัตติ้งมาราธอนสำหรับช่างในร้าน แข่งกันระหว่างสาขา ซึ่งเราถามความสมัครใจกับทุกคนแล้วทุกคนก็ยินดี รายได้ทั้งหมดเป็นการบริจาค ปีแรกได้มา 100,800 บาท ได้จำนวนวิกผมเกือบ 90 วิก ใช้ได้ทั้งปีเลย เพราะวิกมีอายุ 1 ปี ถ้าคนไข้ 1 คนใช้วิก 6 เดือน ก็เท่ากับใช้ได้ 2 คน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับคุณภาพด้วย สระได้ ไดร์ได้ เพราะใช้ผมคนจริงๆ

ผู้ป่วยได้วิกผมจริง ก็สระผมได้?

ค่ะ จึงดีกว่าใยไหม อบม้วนความร้อนได้ วันที่เรามาบริจาควิกผมปีแรก เราตัดเซตทรงผมให้ผู้ป่วยด้วย เพราะวิกจะมีทรงสแตนดาร์ดที่มีเซตไว้ไม่มาก ซึ่งโมก้าเราปกติจะเน้นว่าแต่ละคนมีบุคลิกไม่เหมือนกัน ดังนั้นทรงผมจะเป็นตัวบ่งบอกบุคลิกเราเหมือนกัน เราจึงอยากจะให้ผู้ป่วยมีความสุขมากขึ้น โดยจะดูว่าผู้ป่วยท่านนี้มีบุคลิกแบบไหน ควรตัดแบบแนวๆ เรียบๆ หรือแฟชั่นหน่อย โดยจะมีการพูดคุยกับเจ้าตัว ได้รับรู้ว่าผมมีคุณค่าต่อจิตใจของเขาจริงๆ เราประทับใจมากๆ กับปีแรก

ฉะนั้นวันที่เรามาบริจาควิกผม จะนัดเลยว่ามีผู้ป่วยท่านไหนที่มารับเองได้บ้าง และจะตัดแต่งทรงผมให้ด้วย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเนื่องจากที่โรงพยาบาลจะมีวิกอยู่จำนวนหนึ่ง เราก็จะเอาวิกกลับไปแต่งทรงให้ แล้วเอากลับมาคืนให้ที่นี่

ทำวิกผมเอง?

เราไม่ได้เชี่ยวชาญวิกเกี่ยวกับผู้ป่วย จึงขอคำแนะนำจากทางโรงพยาบาล เพราะลูกค้าเข้ามาร้านเราและมีความสุขกลับไป เราก็อยากจะสานต่อความสุขนี้ให้กับผู้ป่วยด้วย 2 ปีแรกจึงสนับสนุนเป็นวิกผม

พอปีที่ 3 จึงถามว่าสิ่งที่จะช่วยทำให้ผู้ป่วยดีขึ้น สบายตัวขึ้นคืออะไร ทราบว่าเป็นเครื่องออกซิเจน ซึ่งถ้าเครื่องเล็กใช้ได้แค่ 3 ชั่วโมง เราก็เลยคิดถึงเครื่องที่สามารถผลิตออกซิเจนได้ตลอดเวลา ราคาสูงหน่อย แต่อย่างน้อยก็ทำให้ผู้ป่วยที่ยืมไปสบายใจว่าจะไม่ขาดออกซิเจน

“…ไม่ใช่แค่เรา ‘ให้’ แต่ทางช่างก็ ‘ได้รับ’ อะไรที่เป็นคุณค่ากับเขา แต่ละคนจะกระตือรือร้นมากในการช่วยอธิบายให้ลูกค้าฟัง และศึกษาเกี่ยวกับข้อมูลตรงนี้
และรู้ได้ว่าไม่ใช่แค่เรื่องเงิน… เพราะเขาเคยผ่านประสบการณ์ตรงนี้มา
และมีความสุขที่ได้ทำ…”

ทราบว่าทำงานด้านการเงินมาก่อน?

ใช่ค่ะ (ยิ้มกว้าง) เรียนทางด้านไฟแนนซ์มาเลย เรียน corporate finance (การเงินธุรกิจ) ตามรอยคุณพ่อ คิดว่าเป็นอะไรที่เหมือนครอบครัวกึ่งจีนกึ่งไทยอื่นๆ แต่ตลอดเวลาก็ชอบเกี่ยวกับศิลปะการสร้างสรรค์ แต่ ณ เวลานั้นคิดว่ามันยังไม่ควรเป็นอาชีพมั้ง เราควรหาอะไรที่มันจริงจังมากกว่า เช่น เป็นหมอ เป็นบัญชี อะไรอย่างนั้น ก็เรียนทางด้านนั้นมา

เป็นเพราะคุณพ่อ?

ไม่เชิงค่ะ แค่รู้สึกว่าเวลานั้นยังไม่เหมาะที่จะเรียนทางด้านดีไซน์ แล้วตอนนั้นก็ยังไม่มีพวกโลคัลดีไซเนอร์ที่ประสบความสำเร็จอย่างในปัจจุบัน พอเรียนจบแล้วก็ทำงานเลย ไปอินเทิร์นชิพที่ฮ่องกง สิงคโปร์ กลับมาเมืองไทยก็ทำงานที่ซิตี้แบงก์ 4 ปีกว่าๆ ดูด้านการเงินของบริษัทต่างชาติ เป็น Relationship manager พอดีซิตี้แบงก์รับเราเข้าทำงาน ปีนั้นรับแค่ 3 คน แล้วส่งไปฝึกงานตามโปรแกรม management trainnee ที่จัดขึ้น ทำให้เข้าใจว่าระบบการเงินของบริษัทใหญ่ขนาดนั้นต้องบริหารจัดการอย่างไรบ้าง เป็นพื้นฐานที่ดีที่เราได้นำมามาปรับใช้ที่โมก้าได้พอสมควร (ยิ้มกว้าง)

คือเริ่มต้นนับหนึ่ง ตั้งแต่เรียนตัดผมเลย?

ค่ะ ไปเรียนตัดผม 1 ปี ที่อังกฤษ โรงเรียนชื่อ วิดัล แซสซูน เรียนจนได้เซอร์ทิฟิเคทสายอาชีพมา สามารถทำงานที่ยุโรปได้ และต่างประเทศรับรู้ว่าได้ผ่านการเรียนการเทรนนิ่งมาแล้วในระดับหนึ่ง

วิดัล แซสซูน เป็นโรงเรียนที่ค่อนข้างเป็นที่นับถือในวงการด้านการทำผมมาพอสมควร และคิดว่าตรงจุดนั้นมันสร้างรากฐานให้เราดีพอสมควร มันไม่ใช่แค่ทฤษฎี แต่ให้เราได้ปฏิบัติจริงเหมือนกับการที่เราเริ่มต้นในร้านทำผม แต่อยู่ในสภาพที่เซฟ มีอาจารย์อยู่ ถ้าเกิดการผิดพลาด เขาสามารถช่วยเราได้ เขาสามารถสร้างความมั่นใจให้เราได้ในจุดๆ นั้น

แล้วคุณพ่อว่าอย่างไร?

คุณพ่อก็ไม่ได้ว่ายังไง จริงๆ ตอนที่ตัดสินใจเรียนไฟแนนซ์ คุณพ่อยังถามเลยว่าทำไมรีบขนาดนั้น ไม่รู้สึกอยากจะค้นหาตัวเองหรือ ทำไมอยู่ดีๆ ลงไฟแนนซ์เลย พ่อไม่ได้บังคับ เพียงแต่ตอนนั้นรู้สึกว่าเราอยากจับอะไรที่เป็นเรื่องเป็นราว

มองว่ามีคุณพ่อเป็นไอดอล?

ก็นับถือนะคะ แต่มีช่วงหนึ่งที่เราไปอังกฤษแล้วเป็นช่วงต้มยำกุ้งพอดี ซึ่งเราก็จะรับทราบสถานการณ์ตลอด แม้ว่าจะอายุแค่สิบสี่ก็รู้สึกว่ามันไม่ง่าย เพราะค่าใช้จ่ายสูง แล้วค่าเงินก็สูง รู้สึกว่าลำบากมาก ถ้าคุณพ่อไม่ได้ทำอาชีพนี้จะเป็นอย่างไร เราก็เรียนรู้มาจากตรงนั้นจุดหนึ่ง เลยคิดว่าบางทีมันอาจจะเป็นงานนี้ที่จะช่วยเราได้ในระยะยาว

แต่พอไปทำงานองค์กร แล้วเราก็ยังเด็กมันมีข้อจำกัดในการจะทำอะไรด้วยการตัดสินใจของเราเอง และเมื่อเห็นคุณแม่มีความสุขกับการทำงานนั้นงานนี้ตามที่เลือกเองได้ มันเป็นความแตกต่าง เลยอยากเรียนรู้งานตรงนี้

ร้านของท่านเป็นสไตล์ญี่ปุ่นอยู่ก่อนแล้ว?

จริงๆ จุดเริ่มต้นของโมก้าเมื่อ 25 ปีที่แล้ว มีช่างทำผมชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งที่ค่อนข้างจะดังในญี่ปุ่นมาเมืองไทยแล้วอยากจะเปิดร้าน แต่ก็มีข้อจำกัดสำหรับชาวต่างประเทศ ไม่สามารถเป็นเจ้าของกิจการได้ จึงขอคำแนะนำจากคุณแม่ ซึ่งคุณแม่ตอนนั้นมาอยู่เมืองไทย 40 กว่าปีแล้ว เลยเป็นพาร์ทเนอร์กันที่ร้านแรกที่อิเซตัน ทางเขาเป็นช่างทำผมทำเรื่องเทคนิค เรื่องช่าง ส่วนคุณแม่ก็จะทำเกี่ยวกับโนว์ฮาวในเมืองไทย เพราะคุณแม่ตั้งแต่ย้ายมาก็ทำธุรกิจเลย

ถามว่าโมก้าเป็นร้านญี่ปุ่นมั้ย ต้องบอกว่าเป็นในแง่สแตนดาร์ดการให้บริการ แต่ไม่ใช่ในภาพลักษณ์แบบตกแต่งด้วยไม้ไผ่ เทคโนโลยีที่เกี่ยวกับอุปกรณ์เครื่องไฟฟ้าที่ใช้ในการทำผมจะเป็นเทคโนโลยีที่ใหม่ล่าสุดในอุตสาหกรรมการทำผม สแตนดาร์ดในการให้บริการในการเทรนนิ่ง ทุกอย่างต้องประณีต ความสะอาดภายในร้าน เราจะมีเครื่องกรองน้ำ 2 ชั้นเพื่อให้มั่นใจว่าน้ำที่นำมาสระผมลูกค้าสะอาดจริงๆ ไม่ใช่ต่อตรงจากท่อประปา เรื่องเบื้องหลังแบบนี้ละเอียดมาก

มาต่อยอดตรงไหน?

ตอนที่เข้ามาเริ่มต้น เรามีอคาเดมี (MOGA Academy) ก็มาทำด้านอคาเดมี ด้านแชร์ริ่ง ด้านความยั่งยืน ซึ่งก่อนหน้านี้เรารับช่างทำผมจากข้างนอกเข้ามา จึงมีความคิดอยากจะสร้างคน ปูทางสายอาชีพให้กับช่างทำผม และแชร์ในเรื่องที่ได้เรียนมา จึงเขียนหลักสูตรสำหรับคนที่สนใจทางด้านนี้ว่าต้องรู้อะไรที่เป็นเบสิกก่อน เริ่มจากตรงนั้น

จากนั้นมาคิดว่าแล้วถ้าช่างผู้ช่วยอยากจะก้าวขึ้นมาล่ะ เขาต้องเตรียมพร้อมตัวเองอย่างไร ก็เริ่มเขียนหลักสูตรอีก พอเปิดร้านที่เอ็มบาสซี่ แม่ก็บอกว่าให้ลงไปเรียนรู้เอง เซตอัพระบบเองทั้งหมด ลองชาเลนจ์ตัวเองดู ซึ่งจุดนั้นเราได้แบ๊กกราวน์จากซิตี้แบงก์มาเยอะ (ยิ้มกว้าง) แล้วก็ได้สัมผัสกับลูกค้าในฐานะช่าง ได้คุยกับลูกค้าเป็นอีกมุมมองหนึ่ง เพราะถ้าทำแต่หลังบ้านบางทีเราจะไม่รู้จักกับลูกค้าเราจริง

ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ส่วนหนึ่งจากวิดัล แซสซูน?

ส่วนหนึ่งค่ะ เราต้องปรับกับตลาดบ้านเราด้วย อย่างในด้านการตัด วิดัล แซสซูน เป็นญี่ปุ่นเลย เราก็ต้องเอาเทคนิคมาผสมผสานกับบ้านเรา ตอนนี้คนเริ่มสนใจอาชีพนี้มากขึ้น จากที่คิดว่าการทำผมเป็นเรื่องความสวยงาม เรียนรู้จากร้านทำผมเดี๋ยวก็เป็นเอง แต่จริงๆ การตัดผมต้องมีทฤษฎีเยอะเหมือนกัน เป็นเรื่องที่ต้องลงทุน

เป็นเทรนด์เซ็ตเตอร์?

ทางโมก้าโฟกัสไม่ใช่สิ่งที่เกิดจากภายนอก คือเราต้องเข้าใจว่าลูกค้าประมาณไหนแล้วเราเติมเต็มให้กับลูกค้า ในขณะเดียวกันเราทำงานกับหลายแบรนด์ และเราก็มีโอกาสทำงานกับแฟชั่นด้วย เรามีช่างที่ส่งไปนิวยอร์กแฟชั่นวีค เดินทางไปอังกฤษไปดูโชว์ดูอะไร เอากลับมาเพื่อเป็นข้อมูล แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องทำตาม เราจะไม่มีการพูดว่าทำผมสีนี้แล้วเหมาะสำหรับคุณ แต่เราจะทำเป็นไกด์ให้ว่านี่เป็นเทรนด์ที่เกิดจากข้างนอกนะ

งานไฟแนนซ์กับแฮร์ซาลอนต่างกันมาก?

ต่างกันเยอะมาก ซึ่งจนถึงทุกวันนี้ก็ยังติดต่อกับคนที่ทำงานที่แบงก์ นับถือเขามากเป็นคนที่ฉลาดเก่ง เร็วไว ความเครียดสูงด้วย ซึ่งตรงนั้นก็เป็นแรงบันดาลใจ ตอนที่เข้าไปเราเป็นเด็กสุดในทีม ส่วนที่โมก้า เป็นการทำงานกับคน 2 กลุ่ม คืออาร์ติส ซึ่งมีความเป็นตัวของตัวเองสูง กับทางด้านการจัดการ เกี่ยวกับการบัญชี การตลาด คาแรกเตอร์ของสองกลุ่มนี้จะไม่เหมือนกัน เราก็ต้องสร้างทักษะกับสองกลุ่มนี้ ซึ่งเป็นความท้าทาย และยังมีกลุ่มลูกค้า แต่อย่างไรก็มีโอกาสทำสิ่งที่ตัวเองสนุกคือ การสร้างคอลเล็กชั่น (แฮร์ เทรนด์) ซึ่งปกติถ้าเป็นคอลเล็กชั่นประจำปี เราจะลอนช์คอลเล็กชั่นไม่ต่ำกว่า 3 คอลเล็กชั่นต่อปี โดยที่ไม่ได้เน้นแค่เรื่องของซีซันนอล แต่ต้องดูตามจังหวะและตามแบรนด์ ทางร้านเราก็จะมีให้สาขาสร้างแบรนด์ขึ้นมาเป็นของเขาเอง แล้วเขาก็จะภูมิใจ

ล่าสุดเราได้ไปร่วมงานที่ประเทศจีน เป็นงานแข่งขันของประเทศเขา โดยเชิญไปทำโชว์ของเรา คือตอนนี้มีการแชร์ข้อมูลกันข้ามประเทศเยอะมาก อย่างช่างทำผมที่ไต้หวันรู้จักกับช่างทำผมที่อเมริกา คือทุกอย่างมันแคบลง ก็ทำให้เรื่องการแชร์เทคนิค แชร์คอลเล็กชั่นไปเร็ว เรื่องเทรนด์ลูกค้าก็รู้เยอะด้วย ก็ทำให้ช่างต้องกระตือรือร้นในการเรียนรู้มากขึ้น

กับงานจิตอาสาเริ่มตั้งแต่เมื่อไหร่?

สำหรับโมก้าเริ่มปี 2558 ปีนี้เป็นปีที่ 3 ไม่ใช่แค่เรา “ให้” แต่ทางช่างก็ “ได้รับ” อะไรที่เป็นคุณค่ากับเขา แต่ละคนจะกระตือรือร้นมากในการช่วยอธิบายให้ลูกค้าฟัง และศึกษาเกี่ยวกับข้อมูลตรงนี้ และรู้ได้ว่าไม่ใช่แค่เรื่องเงิน อย่างมีลูกค้าที่สนิทจะถามเลยว่าเท่าไหร่แล้วลงไปกดเงินให้ เพราะเขาเคยผ่านประสบการณ์ตรงนี้มา และมีความสุขที่ได้ทำ

ได้อะไรจากการทำตรงนี้?

ตั้งแต่ตอนที่คุยกับทางโรงพยาบาลจนยื่นวิกผมให้ผู้ป่วย รู้สึกว่าทุกปีที่ได้มาตัดผมให้กับผู้ป่วย จะได้อะไรกลับไปทุกปี ได้รู้สึกว่าขนาดเขาเป็นอย่างนี้ยังมีโพสิทีฟ ธิงกิ้ง ขนาดนี้ เราต้องแอพพรีชีเอททุกวันของเราให้เป็นวันที่ดี มันเป็นบทเรียนที่สอนเราว่าอย่าท้อแท้ และรักษาสุขภาพตัวเองให้ดีที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image