สินิทธ์ สิทธิรักษ์ เปิดโลกใบใหม่สตรีศึกษา ผ่าน ‘จดหมายเหตุ’ นักประท้วงบนหลังควาย

ย้อนกลับไปเมื่อ 40 ปีที่แล้ว ภาพของผู้หญิงชาวบ้านขี่ควายบุกทำเนียบ ทวงสิทธิที่ดินทำกินของตนเอง เป็นข่าวโด่งดังปรากฏบนหน้าหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ

แม้ว่าเรื่องราวการต่อสู้ของ พรเพชร เหมือนศรี หญิงชาวนาจากจังหวัดนครสวรรค์ ที่สังคมยุคนั้นรู้จักในฐานะนักประท้วงมาราธอน พยายามทำทุกวิถีทาง ตั้งแต่ยื่นจดหมายร้องเรียนหน่วยงานระดับท้องถิ่น ไปจนขอพบนายกรัฐมนตรี เผาหุ่นประท้วง ขี่ควายประท้วง ฯลฯ จะค่อยๆ เลือนหายไปกับกาลเวลา

แต่สิ่งที่เธอทิ้งไว้เบื้องหลัง ไม่ว่าจะเป็นเอกสารร้องเรียนเกือบ 500 ฉบับ สมุดไดอารี สมุดบัญชีลูกค้า สมุดเรียนตัดเสื้อ และเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง กลับเป็นคลังเอกสารสำคัญ เป็น “จดหมายเหตุ” ที่ ผศ.ดร.สินิทธ์ สิทธิรักษ์ หยิบขึ้นมาถอดรหัสสังเคราะห์ และค้นพบว่านี่คือหลักฐานทางประวัติศาสตร์สำคัญจากเบื้องล่าง บอกเล่าวิถีของคนเล็กๆ และเมื่อนำมาอ่านผ่านมุมมองสตรีนิยม กลับส่งผลกระเพื่อมสำคัญต่อวงการการเรียนการสอนและการทำวิจัยสตรีนิยมสายหลังอาณานิคม

ขณะที่งานวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกชิ้นนี้ของ ผศ.ดร.สินิทธ์ ภายใต้ชื่อ “เส้นทางสู่การเขียนและการต่อสู้ เพื่อสิทธิในที่ทำกินของหญิงรากหญ้า : ศึกษาผ่านเอกสาร ‘จดหมายเหตุ’ และอัตชีวประวัติ (2480-2547) ในมุมมองสตรีนิยมสายหลังอาณานิคม” ได้รับรางวัลวิทยานิพนธ์ ระดับดีมาก ประจำปี 2560 จากสภาวิจัยแห่งชาติ

Advertisement

ผศ.ดร.สินิทธ์ คือหนึ่งในผู้ริเริ่มผลักดันให้มีการเปิดโครงการหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาสตรีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เมื่อ 20 ปีก่อน

เป็นลูกสาวคนสุดท้องในบรรดาพี่น้อง 6 คน ของคุณพ่อ-เปลี่ยน และคุณแม่-กานดา สิทธิรักษ์ สำเร็จการศึกษาทั้งตรีและโทที่ธรรมศาสตร์ ก่อนได้รับทุนไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยยอร์ค ประเทศแคนาดา คู่สัญญาที่ทำงานด้านพัฒนาสตรี ร่วมกับธรรมศาสตร์ในช่วงทศวรรษ 2530

กลับมาพร้อมกับไฟฝัน พยายามบุกเบิกให้มีการผลักดันเปิดหลักสูตรสตรีศึกษาเป็นที่แรกๆ ในประเทศไทย ทำงานเป็นประธานหลักสูตรปริญญาโทสตรีศึกษา และสอนหนังสืออยู่พักหนึ่งก่อนไปเรียนต่อปริญญาเอกที่วิคตอเรีย ยูนิเวอร์ซิตี้ ออฟเวลลิงตัน นิวซีแลนด์ และเป็นที่มาของวิทยานิพนธ์ชิ้นสำคัญที่เปิดมุมมองใหม่ให้กับการเรียนการสอนสตรีศึกษาในเมืองไทย

Advertisement

เพิ่งได้รับรางวัลวิทยานิพนธ์ ระดับดีมาก จากสภาวิจัยแห่งชาติ?

ค่ะ ดีใจแทนคุณพรเพชรมากกว่าค่ะ ในที่สุดเสียงที่พยายามกู่ร้องหาความเป็นธรรมของผู้หญิงชาวบ้านคนหนึ่งมาตลอด 50 ปี ก็ “เริ่ม” เป็นที่ได้ยิน แต่จะดีใจมากกว่านี้ หากงานเขียนที่คุณพรเพชรทิ้งไว้ได้รับการศึกษากว้างขวางออกไปอีกในหลากหลายสาขาวิชา หลากหลายมุมมอง ตลอดเวลาเกือบ 40 ปีที่ลุกขึ้นต่อสู้กับรัฐ เธอเขียนงานทิ้งไว้มากมาย ทั้งไดอารี่เขียนติดต่อกัน 31 ปี (2508-2546) บันทึกช่วยจำจดเรื่องเจ้าหน้าที่มาวัดที่ (ในสมุดฉีกเล่มเล็กตราสิงโตเหยียบโลก) อัตชีวประวัติ แต่ที่เป็นไฮไลต์คือจดหมายร้องเรียนตลอด 36 ปี (2511-2547) กว่า 400 ฉบับ ในรอบ 100 ปีที่ผ่านมา

ตอนเริ่มทำวิจัยสตรีศึกษาบ้านเรายังศูนย์?

ไม่ถึงกับศูนย์ แต่ค่อนข้างเป็นในทิศทางเดียวคือ สตรีนิยมสายเสรีนิยมที่เน้นการเรียกร้องสิทธิ แก้กฎหมาย เปลี่ยนนามสกุล เปลี่ยนคำนำหน้านาม ไม่ได้มีการผลักดันให้มีการจัดการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยอย่างจริงจัง

ที่ผ่านมาเป็นพันๆ ปี เราเรียนแต่ความรู้ของผู้ชาย เป็นความคิดที่ครอบงำสังคมมานาน แต่ความรู้ชุดของผู้หญิงไม่เคยถูกให้คุณค่า อะไรที่เกี่ยวกับผู้หญิงจะเป็นเรื่องเล็กๆ เรื่องในครัว หยุมหยิมยิบย่อย เกี่ยวกับเด็ก แม่ คนแก่ คนป่วย ท่ามกลางวาทกรรมผู้ชายเป็นใหญ่ เมื่อพูดถึงผู้หญิงทีไรก็จะเป็นกลุ่มเฉพาะ เช่น ผู้หญิงที่ถูกทำร้ายทุบตี ผู้หญิงในคุก เป็นเอดส์ ฯลฯ แต่ไม่มีชุดความรู้หลักของผู้หญิงชั้นล่างคือ การต่อสู้กับรัฐ

เลือกชีวิตของ ‘พรเพชร เหมือนศรี’ มาทำวิทยานิพนธ์?

เขียนวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกก็จะถูกคาดหวังว่าต้องเป็นความรู้ชุดใหม่ เป็นงานที่ไม่ซ้ำใคร และเป็นการตั้งคำถามท้าทายความรู้เดิมด้วย ความที่เราเป็นเด็กบ้านนอก ถึงจะมาโตกรุงเทพฯ แต่เรายังจำภาพผู้หญิงถือเลียงอันใหญ่ไปร่อนแร่ในลำธารเดินผ่านหน้าบ้านเราเกือบทุกวัน ยังมีผู้หญิงกรีดยาง จับปลาอยู่ในบึงในห้วย ฯลฯ แต่ไม่มีใครพูดถึงเลย เราสนใจผู้หญิงบ้านนอกมากกว่า เลยนึกขึ้นได้ว่าเคยเห็นจากหน้าหนังสือพิมพ์ว่ามีผู้หญิงชาวนาคนหนึ่งขี่ควายมาประท้วงหน้าทำเนียบ

ตามได้เบาะแสจากไหน?

จาก 1133 จากที่เคยอ่านพรเพชรเป็นคนหนองบัว จ.นครสวรรค์ ก็โทรถาม 1133 ได้เบอร์มาก็โทรแล้วโทรอีก แต่ไม่มีคนรับสาย จึงโทรหา 1133 อีกครั้งขอที่อยู่ แล้วตัดสินใจเขียนอีเอ็มเอสส่งไป รุ่งขึ้นมีโทรศัพท์มาหาทันที ปรากฏว่าปลายสายซึ่งเป็นน้องสะใภ้คุณพรเพชรแจ้งว่าเธอตายไปแล้ว เราก็เข่าอ่อนอึ้งไปเลย แต่น้องที่ช่วยทำวิจัยด้วยทักว่าไม่ใช่ตายแล้วจะทำไม่ได้ ยิ่งตายไปแล้วยิ่งต้องทำ ก็เลยไปที่บ้านที่อำเภอหนองบัว

ได้เห็นเอกสารเต็มห้องเลย ทั้งเอกสารร้องเรียนกว่า 40 ปี เขียนถึงทุกนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่จอมพลถนอม กิตติขจร จนมาถึงพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ร้องเรียนเรื่องที่ทำกิน พ่อแม่ซื้อมาโดยชอบธรรม ทำสัญญาซื้อขายที่บ้านกำนัน แต่ต่อมามีการประกาศเขตทุ่งสาธารณะทับที่ของเธอ เจ้าหน้าที่ก็บอกว่าทางอำเภอสั่งมา ถ้าไม่เห็นด้วยก็ให้ไปร้องเรียนที่อำเภอ เธอเขียนจดหมายร้องเรียนด้วยลายมือ แต่เขียนในนามแม่ ตามเรื่องเป็นเดือนเป็นปี จนกระทั่งแม่ตายปี 2521 เธอมากรุงเทพฯเลย คิดง่ายๆ ในเมื่อระดับเบื้องต้นแก้ไม่ได้ ระดับกลางแก้ไม่ได้ เธอก็จะมาร้องเรียนในระดับสูงสุด

พรเพชร เหมือนศรี ภาพจากบางกอกโพสต์

ที่มาของฉายา ‘นักประท้วงมาราธอน’?

ค่ะ พรเพชรเข้ากรุงเทพฯปี 2521 พยายามทำทุกวิถีทาง ยื่นจดหมายขอพบนายกรัฐมนตรี เผาหุ่นประท้วง ขี่ควายประท้วง ตั้งเพิงใต้ต้นไม้ใกล้สำนักงาน ก.พ. มีป้ายติดข้อความประท้วง ไปยื่นหนังสือทุกวัน ตั้งแคมป์อยู่ 400 วัน

เมื่อไม่สำเร็จก็เตรียมเผาตัวตาย พอปีนขึ้นไปบนหลังคารถตู้ จุดไฟ ตำรวจนอกเครื่องแบบก็กระโจนขึ้นคว้าตัวเธอลงมา แล้วส่งไปโรงพยาบาลจิตเวช 22 วัน หลังจากนั้นก็ส่งไปทัณฑสถานหญิง คือพยายามบอกว่าเธอบ้าถึงกล้าทำแบบนี้ ที่สุดรัฐบาลก็ยอมถอนป้ายปักเขตว่าเป็นทุ่งสาธารณะ หนังสือพิมพ์พาดหัวตัวใหญ่ว่า “รัฐบาลใจดีคืนที่ให้ราษฎร” แต่นี่คือการแก้ปัญหาแบบไม่แก้ปัญหาของรัฐบาล ผลักกลับไปให้คนเล็กๆ สู้กันเอง เพราะในเมื่อเป็นทุ่งสาธารณะ ใครๆ ก็มาใช้พื้นที่ได้

ฉะนั้น 16 ปีที่เหลือของชีวิตคุณพรเพชร จากเดินทางไปร้องเรียนที่ทำเนียบ ย้ายไปศาลนครสวรรค์ไปฟ้องขับไล่ไม่รู้ตั้งกี่คดี เป็นเรื่องที่โหดร้ายมาก

เมื่อก่อนคุณพรเพชรเป็นช่างตัดเสื้อ แต่พอเกิดเรื่องทุกอย่างต้องวางลง ของในบ้านมีอะไรก็ขายหมด มีที่ดินก็ขายไปก่อนเพื่อนำเงินมาเป็นค่าใช้จ่าย แต่ละวันหมดไปกับการตามเรื่อง ขึ้นล่องกรุงเทพฯ-หนองบัว ซึ่งเมื่อ 50 ปีก่อน อำเภอนี้อยู่ไกลมาก ไม่มีช่องทางติดต่อกับโลกภายนอก อำเภอใกล้สุดคือ อ.ชุมแสง ที่มีทางรถไฟผ่าน มันลำบากมากกว่าชาวบ้านจะมากรุงเทพฯได้

การประกาศให้เป็นทุ่งสาธารณะนอกจากทับที่ดินของคุณพรเพชร ก็ยังมีอีก 28 ครอบครัวที่ต้องเดือดร้อน แต่สุดท้ายชาวบ้านก็ทนเดินทางไปกลับแบบเธอไม่ไหวก็เลิกรากันไป ตายไปบ้าง หลายคนย้ายไปอยู่ที่อื่น มีเธอเพียงคนเดียวที่สู้ต่อ แล้วถูกลอบทำร้าย เอาหลักกิโลทุบหัวจนตายเมื่อปี 2547 เธอทิ้งเอกสารไว้ ทั้งจดหมายร้องทุกข์ ภาพถ่าย แผนที่ หนังสือพิมพ์ฉบับไหนลงข่าว เธอตัดเก็บทุกอย่างไว้หมด รวมทั้งเอกสาร คดีความในศาลตลอด 16 ปี

สมุดบัญชีลูกค้าตัดเสื้อบอกอะไร?

ก่อนอื่นต้องเล่าคำว่า “จดหมายเหตุ” ก่อน ในทางวิชาการคำว่า “จดหมายเหตุ” คือวัสดุให้ข่าวสารที่ไม่จำกัดรูปร่าง กระดุม หัวเข็มขัด เสื้อเชียร์ การ์ดปีใหม่ ใบเสร็จรับเงิน ฯลฯ ของพวกนี้ให้ข่าวสารของยุคสมัยนั้นๆ โดยเฉพาะจดหมายเหตุของผู้หญิงเป็นแหล่งข้อมูลที่ซับซ้อนและไม่มีที่สิ้นสุด ถ้าอยากรู้เรื่องผู้หญิงให้ดูจดหมายเหตุ ดูสมุดจดเล็กจดน้อยของเธอ จดเบอร์โทรศัพท์ เปียแชร์ ไดอารี่ เราไม่เคยคิดว่าสิ่งเหล่านี้คือแหล่งความรู้ ถึงปีก็ชั่งกิโลขาย มันนานมากกว่าที่เราจะรู้จักคำว่า “จดหมายเหตุ” และนานมากกว่านั้นกว่าที่เราจะรู้จักคำว่า “จดหมายเหตุจากมุมสตรีนิยม” ที่ให้ค่ากับของกระจุกกระจิก ชิ้นเล็กชิ้นน้อยของผู้หญิง

สมุดเรียนตัดเสื้อเป็นเอกสารชิ้นแรกที่เราได้เห็นลายมือของพรเพชร (2502) ตอนนั้นเธอมีญาติอยู่กรุงเทพฯ เมื่อปี พ.ศ.2502 ได้เข้ามาเรียนตัดเสื้อที่โรงเรียนเอี่ยมสำอาง แล้วกลับบ้านไปเป็นช่างตัดเสื้อ ตอนแรกเราก็ไม่รู้ว่าเอกสารจะเอามาใช้ทำวิทยานิพนธ์ได้อย่างไร ต้องให้เครดิตกับ อ.ที่ปรึกษา (ดร.เทเรเซีย ทีไอว่า) ที่ถามขึ้นว่า ผู้หญิงคนหนึ่งจบ ป.4 กลายมาเป็นนักเขียนได้อย่างไร เราก็เลยต้องกลับไปนั่งรื้อสมุดพวกนี้มาอ่าน จึงได้เห็นว่ามันไม่ได้เป็นแค่สมุดจดบัญชีลูกค้าที่บอกว่ามีใครมาตัดเสื้ออะไร แต่เป็นประวัติศาสตร์ของอำเภอหนองบัว เรารู้เลยว่ามีใครทำอาชีพอะไร น้าชั้นขายเต้าหู้ แวะมาตัดเสื้อชั้นใน ลุงดำมาตัดกางเกงชาวนา พี่นิดทำงานที่ดิน ช่างแสนมากับเมียมาตัดเสื้อ 2 ตัว ตาสีลากไม้ให้คิดค่าเกวียนคิดค่าแรง 15 บาท แสดงว่ายังไม่มีรถกระบะ มอเตอร์ไซค์ก็ยังมาไม่ถึง

เห็นภาพชีวิตคนหนองบัวเป็นฉากๆ เหมือนดูละคร?

ค่ะ (ยิ้มกว้าง) เราได้เห็นชีวิตผู้คน น้าชมมาซื้อไส้ตะเกียง แสดงว่ายังไม่มีไฟฟ้า ลุงฮงหาบน้ำมาส่งน้ำปี๊บละ 2 บาท คือยังไม่มีประปา เราเห็นระบบเศรษฐกิจมีทั้งเงินสดเงินผ่อนเงินเชื่อ เหล่านี้เราจะไม่เห็นถ้าไม่มีมุมมองสตรีนิยม มันบอกเล่ามากกว่าการจดบันทึกรายรับรายจ่ายในแต่ละวัน นี่เรากำลังเดินชนประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่เขียนโดยชาวบ้านเองเลย และได้ยินสรรพสำเนียงเซ็งแซ่ ใครยืมเงินใคร ใครขอติดเงินไว้ก่อน คือเราจะไม่รู้เรื่องราวของอำเภอหนองบัวในปี 2502 เลยถ้าไม่มีสมุดเล่มนี้ นี่คือประวัติศาสตร์นอกกระแสที่มาจากเบื้องล่าง

สมุดบัญชีลูกค้าของพรเพชร เหมือนศรี

พรเพชรได้รับการยอมรับว่าเป็นนักสิทธิมนุษยชนดีเด่น กระทั่งเสียชีวิตไปแล้ว เสียงของผู้หญิงเป็นที่ได้ยินมั้ย?

ยากมากที่จะได้ยิน มุมมองสตรีนิยมสายหลังอาณานิคมเน้นเรื่องความรู้ ถามว่าใครเป็นคนผลิตความรู้ ใครเป็นคนควบคุมความรู้

เรามักบอกว่าภูมิใจที่ไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของใคร แต่ไม่ใช่ เรารับมาเต็มๆ เลย รับวิธีการปกครองอาณานิคมของฝรั่งมาปรับใช้ จึงเป็นลักษณะเฉพาะที่เรียกว่า “อาณานิคมภายใน” ทุกอย่างรวมศูนย์อยู่ที่กรุงเทพฯหมด โดยมีบ้านนอกหรือต่างจังหวัดเป็นบริวาร เมื่อรูปแบบอาณานิคมเปลี่ยนไป รัฐบาลไม่เพียงบริหาร แต่รัฐบาลผลิตความรู้ด้วย

พอยูเอ็นบอกว่า เราต้องพัฒนาสตรี รัฐบาลเขียนแผนพัฒนาสตรีทุก 5 ปี ส่งเสริมให้ทำดอกไม้ ทำขนม กะปิ น้ำปลา แค่งานที่มีอยู่เขาก็ทำไม่ทันแล้ว ที่เขาต้องการมากกว่าคือสวัสดิการ สิ่งที่ทำมันไม่ได้ตอบโจทย์จริงๆ ของเขา “เสียง” ของพรเพชรไม่เคยได้ยิน เพราะมีชุดความรู้แบบนี้ที่กดทับครอบงำอยู่ แนวคิดสตรีนิยมสายหลังอาณานิคมสู้เรื่องนี้ ว่าทำอย่างไรจะให้ “เสียงเงียบ” เป็นที่ได้ยิน ไม่ใช่เขาไม่พูด ไม่ใช่เขาไม่เขียน แต่มุมที่จะอ่าน ที่จะฟังไม่มี อย่างบอกว่า ป้าอายุตั้ง 50 แล้ว จะเอาที่ดินไปเยอะแยะทำไม เอ้า ที่ดินของแกเอาไม่ได้หรือ กว่ารัฐบาลจะแก้ปัญหาให้ก็ผ่านไป 20 ปี เวลา เงินทอง การงาน อาชีพที่เสียไป ใครจะใช้คืนให้ และนี่คือผลมาจากการทำงานที่ผิดพลาดของหน่วยงานราชการ คนที่เสียหายต้องสู้เองหมด 30 ปีผ่านไป คดีก็ยังไม่ยุติ ความยุติธรรมอันล่าช้าคือราคาที่ชาวบ้านต้องจ่าย

ทุกวันนี้ก็ยังเป็นอย่างนั้น?

ก็ยังเป็นอย่างนั้น คุณพรเพชรเคยให้สัมภาษณ์บางกอกโพสต์ว่า ระบบราชการไม่ใช่แค่ไม่เอฟเฟคทีฟ แต่มันแดนเจอรัสเลย ระบบราชการผิดพลาด ถ้าไม่แก้ตรงนี้ คนก็จะเจอแต่ปัญหาแบบนี้ในลักษณะต่างๆ กัน ที่ศาล โรงพยาบาล โรงพัก ฯลฯ

คุณพรเพชรไปยื่นเอกสารที่อำเภอจนเป็นที่รำคาญของนายอำเภอทุกยุค นายอำเภอคนหนึ่งจึงตวาดใส่ จะไปร้องที่ไหนก็ไป คุณไม่มีวันชนะ คุณจะไปร้องที่ไหนก็เพื่อนผมทั้งนั้น นี่คือระบบอุปถัมภ์และระบบพรรคพวก หยั่งรากลึกในสังคมไทยมาก

งานวิจัยชิ้นนี้ส่งผลให้เกิดแรงกระเพื่อมกับแวดวงการเรียนการสอนและการทำวิจัยในสายสตรีศึกษาแค่ไหน?

พอกลับมาแล้วสอนประเด็นจดหมายเหตุศึกษา นักศึกษาเก็ตกันมาก ลุกขึ้นมาทำวิทยานิพนธ์หลายเรื่องที่ทำให้เราดีใจมาก (ยิ้มกว้าง) นักศึกษาที่เป็นเอ็นจีโอทำประเด็นเรื่องความรุนแรง เพิ่งจัดนิทรรศการจดหมายเหตุจากผู้หญิงที่ประสบความรุนแรง บอกเล่าผ่านวัสดุที่ไม่จำกัดรูปร่าง ผ่านเสื้อของผู้หญิงที่ถูกแฟนทุบจนเลือดอาบมา ผ่านตั๋วรถเมล์ของผู้หญิงอีกคนที่ลงจากรถเมล์ยังถือตั๋วรถเมล์ถูกลากเข้าข้างทาง ผ่านถุงน่องที่ฉีกขาดเพราะสามีทำร้ายแล้วดึงถุงน่องขาดเป็นริ้ว ผู้หญิงอีกคนถูกสามีจุดไฟเผาจนไหม้ทั้งตัว ต้องใส่เสื้อทอพิเศษเพื่อให้ผิวหนังกระชับขึ้นมา ก็เอาเสื้อตัวนั้นใส่หุ่นมาให้ดู

รู้สึกเลยว่ามันมาไกลมาก เพราะก่อนหน้านี้พอพูดถึงการยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง ก็จะชวนกันไปวิ่ง ไปเต้นกัน ซึ่งมันแทบจะไม่ได้ช่วยอะไรเลย แล้วผู้หญิงที่ประสบความรุนแรงอยู่ไม่ได้รับการแก้ปัญหา แต่นิทรรศการนี้ผู้หญิงที่ประสบความรุนแรงเอาของๆ เขามาจัดนิทรรศการ จัดแบบง่ายๆ เจ้าของเขียนเล่าเรื่องด้วยลายมือโย้เย้ติดไว้ข้างๆ คนฟังก็ได้เห็นอีกมุม

นักศึกษาอีกคน ทำเรื่อง “กะเทยบันทึก” พอเก็ตเรื่องจดหมายเหตุก็กลับไปที่บ้านโคราช หาสมุดพกตั้งแต่สมัยประถม ที่ช่องความประพฤติเขียนว่าเป็นเด็กเรียบร้อยมาก ตั้งใจเรียน เล่นกับเพื่อนผู้หญิง เขาก็คลิกทันทีว่าสมุดพกเป็นมากกว่าสมุดรายงานคะแนน แต่เป็นเอกสารกำกับความประพฤติของเขา คือเจอตัวตนของตนเองจากสมุดพก เขาไม่รู้สึกว่าเขาผิดปกติ เขาเป็นของเขาอย่างนี้ คนอื่นต่างหากที่บอกว่าเขาผิดปกติ ตอนนี้งานจดหมายเหตุเรื่องสมุดพกโรงเรียน (ของอดีต “ตุ๊ดเด็ก” คนหนึ่ง) ได้รับคัดเลือกให้ไปนำเสนอในเวทีการประชุมระดับนานาชาติเรื่องคนข้ามเพศที่ประเทศแคนาดา ดีใจมาก (เน้นเสียง) จากที่ผ่านมากะเทยถูกบันทึก แต่ตอนนี้ลุกขึ้นบันทึกเอง จากห้องเรียนเล็กๆ เราเชื่อมต่อกับเวทีในระดับโลก

แล้วกับสังคมปัจจุบัน งานวิจัยชิ้นนี้จุดประกายให้สังคมหันมาสนใจเรื่องของผู้หญิงตัวเล็กๆ?

(หยุดคิด) ยังต้องทำงานอีกมาก แต่มีความหวังค่ะ เพราะว่ามีคนรุ่นใหม่ลุกขึ้นมาเลาะรื้อ ให้เห็นความรู้ชุดใหม่ ซึ่งยังเป็นความรู้ที่ยังขาดอยู่ ไม่คิดว่าจะเปลี่ยนอะไรได้ในข้ามคืน แต่เราเห็นเมล็ดพันธุ์ที่กำลังเติบโต และจะไปเผยแพร่ความรู้ชุดนี้ในที่ต่างๆ ทำให้รู้ว่าองค์ความรู้ของผู้หญิงรากหญ้าเป็นเรื่องสำคัญ และสิ่งที่กดทับคืออะไร

“…คุณพรเพชรไปยื่นเอกสารที่อำเภอจนเป็นที่รำคาญของนายอำเภอทุกยุค
นายอำเภอคนหนึ่งจึงตวาดใส่ จะไปร้องที่ไหนก็ไป
คุณไม่มีวันชนะ คุณจะไปร้องที่ไหนก็เพื่อนผมทั้งนั้น…”

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image