เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์ : ‘เด็กคืออนาคต แต่ไม่ใช่ปัจจุบัน’ ความเจ็บปวดของคนรุ่นใหม่ กับทศวรรษที่สูญหาย

ขณะที่ประเทศกำลังวางแผนทิศทางการก้าวเดิน ยาวไปถึงยุทธศาสตร์ 20 ปี

เราพูดกันถึงอนาคต โลกที่คนรุ่นใหม่จะใช้ชีวิต

แต่ไม่ได้มองว่า “คนรุ่นใหม่” มีชีวิตอยู่ใน “ปัจจุบัน” ไม่ใช่ใน “อนาคต” ที่ไม่มีวันมาถึง

“เด็กคืออนาคตของชาติ แต่ไม่ใช่ปัจจุบัน”

Advertisement

เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์ ร่วมก่อตั้ง กลุ่มนิวกราวด์ (Newground) ขึ้นมากับเพื่อน คือ วริศ ลิขิตอนุสรณ์, วิภาพรรณ วงษ์สว่าง และ วรวัส สบายใจ

เปรมปพัทธ จบประถม ร.ร.พระแม่สกลสงเคราะห์ มัธยม ร.ร.สวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี และได้ทุนเรียนสาขาภาพยนตร์ ม.กรุงเทพ

เริ่มทำหนังสั้นตั้งแต่อายุ 13 ช่วงที่ยังมีเด็กไม่มากทำหนังส่งประกวด จึงรวมตัวกันเป็น กลุ่ม Young Film ทำค่ายและจัดเวิร์กช็อปต่างๆ

Advertisement

“ถึงจุดหนึ่งพบว่าเราทำไม่ได้ เพราะหนังสั้นที่เราทำไม่เกี่ยวกับยาเสพติด สิ่งแวดล้อม จิตอาสา เราสนใจเรื่องเซ็กซ์ โรคซึมเศร้า ตัวตน ไม่มีแม้แต่แหล่งทุนขนาดเล็กที่พร้อมซัพพอร์ต แล้วผมเริ่มพบคนที่เจ็บปวดคล้ายกันจากกระบวนการคอนฟอร์ม (Conform-ทำให้เหมือนกัน) คุณอาจเห็นคนรุ่นใหม่ลุกมาทำอะไร แต่คนที่ได้รับการสนับสนุนคือไปเก็บขยะ เป็นภาพที่แหล่งทุนหรือสังคมพร้อมจะเห็น ไม่มีพื้นที่ให้คนที่ไม่ทำตามขนบเท่าไหร่

“เรารู้สึกโกรธเรื่องนี้มาก และคิดว่านิวกราวด์น่าจะเกิดขึ้น เพื่อบอกว่ามีประชากรกลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่งเข้าไม่ถึงทรัพยากรที่เขาควรเข้าถึง”

เกือบหนึ่งปีของการก่อตั้ง นิวกราวด์ทำการศึกษาวิจัยและทำให้เกิดการเข้าถึงทรัพยากรของคนรุ่นใหม่และการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชากรในอนาคต (ดูที่ www.newgroundforum.com)

และบทบาทล่าสุดในวัย 23 คือการเป็นกรรมการพรรค “อนาคตใหม่” ที่ถูกจับตามองจากการดึงคนรุ่นใหม่เข้าร่วม โดยเปรมปพัทธดูแลนโยบายด้านเยาวชน ซึ่งเขาเห็นว่านโยบายควรมาจากคนรุ่นใหม่ที่มีประเด็นอยู่แล้วได้มีพื้นที่แสดงความต้องการ โดยอาจมีการจัดวงคุยในหลายจังหวัด เพื่อดูว่าคนรุ่นใหม่ในแต่ละพื้นที่มีปัญหาอะไร

“…เราไม่อยากเป็นผลผลิตของการตีความในอดีต เป็นได้แค่นั้นแล้วน่าโมโห เวลาผู้ใหญ่มองว่าเราเป็นแค่แขนขา ไม่ได้มองว่าเรามีสมอง หรือไม่ได้มองว่าเรามีความเจ็บปวดที่ต่างจากเขา และไม่ได้มองว่าเราต้องการผลประโยชน์บางอย่างเช่นเดียวกับเขาเหมือนกัน…”

งานที่นิวกราวด์ทำอยู่?

เราเป็นรีเซิร์ชเซ็นเตอร์ ทำ 2 เรื่องหลัก 1.ศึกษาวิจัยและทำให้เกิดการเข้าถึงทรัพยากรของคนรุ่นใหม่ ประชากรคนรุ่นใหม่มีอยู่ 15% แต่เข้าถึงงบประมาณเชิงสวัสดิการเพียง 0.012% เช่น งบการพัฒนาทักษะ พัฒนาคุณภาพชีวิตอื่นๆ โดยไม่นับสวัสดิการการศึกษา น้อยกว่าประเทศพัฒนาแล้วราว 250 เท่า ในเชิงงบประมาณ คนรุ่นใหม่จึงเป็นประชากรที่สูญหายไปจากระบบ

2.เรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชากรในอนาคต เวลาไปงานเสวนาคนรุ่นใหม่จะมีวาทศิลป์ว่า “เหลียวหน้าแลหลัง” แต่ส่วนใหญ่เป็นการเหลียวหลังอย่างเดียว ถ้าถามนักวิชาการบางคนว่า “คนรุ่นใหม่คืออะไร” เขาจะตอบในรูปแบบว่า “ถ้าเราย้อนกลับไปดูศตวรรษที่ 19…” ไม่มีใครพูดถึงฉากอนาคตเลย เขาใช้วัฒนธรรมเก่าในการมองคนรุ่นใหม่ เลยมีวาทกรรม เช่น “เด็กคืออนาคต แต่ไม่ใช่ปัจจุบัน” ทั้งที่ความต้องการ ความเจ็บปวดและผลประโยชน์ของพวกเรา เป็นสิ่งที่ต้องได้รับการตอบสนองในปัจจุบัน แต่เขาจะตอบสนองเราในอนาคต เราเลยไม่อยู่ในแผนพัฒนาของเขา แม้แต่วัฒนธรรมที่ใช้ตัดสินเราก็เป็นวัฒนธรรมของเขา

เราพยายามให้องค์กรที่ทำงานเรื่องเด็กเยาวชนคนรุ่นใหม่มา Grounding คำว่าเด็กเยาวชนใหม่ มาเข้าใจวัฒนธรรมของพวกเขาใหม่ จึงเป็นที่มาชื่อ Newground

ยากที่จะพูดถึงอนาคต การพูดเรื่องคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่จึงดึงข้อมูลจากอดีต?

นิวกราวด์เชื่อว่าคุณสมบัติที่นักวิชาการควรเป็น คือการหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ไม่ใช่จำเก่งว่าใครพูดอะไร งานเสวนางานวิจัยส่วนใหญ่เป็นญาณวิทยา ใช้กระบวนการที่มีชุดคุณค่าเดิมอยู่แล้ว ไม่ใช่ภววิทยาที่มองภาวะปัจจุบัน เช่น มีงานวิจัยว่าเด็กสมัยนี้กลับบ้านดึก ฟังดูเป็นเด็กเลว ทั้งที่ลองมากราวดิ้ง “ความดึก” ใหม่ ความดึกเมื่อ 15 ปีที่แล้ว อาจหมายถึงความน่ากลัว เพราะ 2 ทุ่มก็มืดแล้ว แต่ทุกวันนี้เรามีรถไฟฟ้า มีไฟ มีป้ายบอกทาง มีจีพีเอส หรือคำว่า “แม่” ในความเข้าใจเมื่อ 40 ปีก่อนกับวันนี้ก็ต่างกันมาก แต่เรามักใช้กรอบเก่าในการมอง เป็นปัญหาว่าเราควรกราวดิ้งทุกอย่างใหม่

วิธีหนึ่งที่นิวกราวด์ใช้คือการสำรวจ เพื่อให้ได้ความเป็นปัจจุบัน?

เราเชื่อว่าคนรุ่นใหม่ทุกคนมีความคิดเห็นของเขาอยู่แล้ว แต่กระบวนการบางอย่างทำให้ความเห็นของเขาพิการหรือใช้งานไม่ได้ เช่น คุณเกิดในจังหวัดหนึ่ง เข้าไม่ถึงสำนักข่าว แล้วเห็นว่าเรื่องของหายเป็นปัญหาในพื้นที่ ส่วนกลางก็จะไม่ให้งบประมาณมาแก้เรื่องที่ถูกมองว่าเล็กน้อยแบบนี้

นิวกราวด์เชื่อว่าทุกคนมีปัญหาอยู่แล้ว มีเด็กเข้ามาตอบแบบสอบถามทางอินเตอร์เน็ตของเราเมื่อปีที่แล้ว ได้คำตอบหลากหลายมาก เช่น มีเด็กที่สายตาสั้นแต่ไม่กล้าบอกครู เป็นคำตอบที่จริงมากๆ แต่ถ้าเอาไมค์ไปจ่อเขาว่ามีปัญหาอะไรในชีวิต เขาจะไม่ตอบแบบนี้กับคุณ

จะมีกระบวนการอะไรที่คนสัมภาษณ์จะไม่ใช้มาตรฐานตัวเองกดทับผู้ถูกสัมภาษณ์ เราเชื่อว่าอินเตอร์เน็ตพอช่วยได้ แต่ละคนมีข้อมูลอยู่แล้ว หน้าที่ของเราคือทำให้ข้อมูลของเขาเป็นประโยชน์ การที่เด็กคนหนึ่งบอกว่าโดนครูตีก็มีคุณค่าเชิงนโยบายได้ เราจับข้อมูลเหล่านี้มาแปลงเป็นภาษาที่ผู้กำหนดนโยบายพร้อมจะเข้าใจ นี่เป็นสะพานสำคัญในการเชื่อมโลกสองใบให้ใกล้กันมากขึ้น

อินเตอร์เน็ตทำให้เข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้ดีกว่า?

ต่อให้เป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ แต่วิธีใช้ภาษาก็มีส่วน เปิดแพลตฟอร์มของกรมกิจการเด็กจะพบว่าไม่เฟรนด์ลี่กับพวกเราเลย เช่นการใช้เลขไทย จะทำงานเด็กเยาวชนควรเข้าใจวัฒนธรรมเขาก่อน

คำว่า Youth หรือ New Generation ในต่างประเทศมักใช้รูปจรวดหรือหลอดไฟเป็นสัญลักษณ์ แต่บ้านเราใช้รูปต้นไม้ นัยยะว่าเด็กเป็นเมล็ดพันธุ์ที่งอกจากต้นเก่า แต่จรวดไม่ได้งอกจากจรวดลำเก่า อาจทำให้เข้าใจได้ว่าเขามองเด็กยังไง

ไม่ชอบที่ถูกมองเป็นเมล็ดพันธุ์?

โดยส่วนตัวผมไม่ชอบ เราไม่อยากเป็นผลผลิตของการตีความในอดีต เป็นได้แค่นั้นแล้วน่าโมโห เวลาผู้ใหญ่มองว่าเราเป็นแค่แขนขา ไม่ได้มองว่าเรามีสมอง หรือไม่ได้มองว่าเรามีความเจ็บปวดที่ต่างจากเขา และไม่ได้มองว่าเราต้องการผลประโยชน์บางอย่างเช่นเดียวกับเขาเหมือนกัน

ทุนสนับสนุนเยาวชนส่วนใหญ่ กำหนดให้ทำเรื่องต้านยาเสพติด?

หลากหลายมาก ช่วงหลังนี้คือเรื่องความเป็นพลเมือง ช่วงน้ำท่วมก็จะตีความเป็นเรื่องจิตอาสา มากกว่าจะมองว่าเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง เงินลงไปกับเด็กหลายส่วนมาก แต่ให้เขาแก้ปัญหาจากตัวเอง เช่น ให้สามัคคีมากขึ้น มีน้ำใจมากขึ้น ควบคุมตัวเองมากขึ้น แต่ไม่มีทุนให้แก้ปัญหาที่เกี่ยวกับเขาในภาพรวม

ต่อให้คุณได้ทุนยาเสพติดมาก็ทำอะไรได้ไม่มาก เช่น จัดเวิร์กช็อปน้องๆ เรื่องยาเสพติด เล่นกีฬาที่บอกว่าเป็นขั้วตรงข้ามยาเสพติด แต่ไม่สามารถรวมกลุ่มไปม็อบแล้วบอกว่าการทำให้ยาเสพติดบางประเภทถูกกฎหมายควรเกิดขึ้น เช่นกัญชา จะทำให้นักโทษในคุกน้อยลง คุณจะทำอะไรที่ไม่เป็นไปตามขนบไม่ได้ เขากำหนดมาแล้ว

ตอนเด็กได้รับผลกระทบจากการตัดสินของผู้ใหญ่ไหม?

ผมอาจเกิดมาในบ้านที่ลิเบอรัลมั้งครับ (หัวเราะ) แต่ก็หลีกเลี่ยงชีวิตที่โรงเรียนไม่ได้ แน่นอนว่า ไม่ว่าจะลิเบอรัลขนาดไหน แต่ความต่างในช่วงวัยก็จำกัดทรรศนะบางอย่างไว้ เช่น พ่อผมไม่เห็นด้วยกับการทำแท้ง แต่ผมเห็นด้วยมากๆ อย่างน้อยในบ้านผมคุยกันได้ การดีเบตเป็นเรื่องปกติ ความหยาบคาบที่เป็นส่วนหนึ่งของการดีเบตก็เป็นเรื่องยอมรับได้ แต่ในสังคมไม่มีพื้นที่แบบนี้เท่าไหร่

เราอาจเคยมีการเมืองประชาธิปไตย อาจเคยมีเศรษฐกิจประชาธิปไตย แต่เราไม่เคยมีวัฒนธรรมประชาธิปไตยเลย เราโตมาในความเข้าใจว่าพ่อแม่มีสิทธิตีเราโดยที่ไม่ต้องถามเหตุผล พอโตไปเราต้องกราบไหว้พวกเขาผ่านประเพณีที่ล็อกมาแล้ว เราอาจได้เรียนเรื่องสิทธิมนุษยชนอยู่บ้าง แต่สุดท้ายเราต้องปัจฉิมนิเทศถูกบังคับให้จ่ายค่าโต๊ะ แล้วไปรับน้อง ต่อให้เราไม่เห็นด้วยก็ตาม มีแต่วัฒนธรรมที่เอื้อให้เราเป็นเผด็จการ ไม่มีวัฒนธรรมที่เอื้อให้เราเป็นประชาธิปไตยเท่าไหร่

การโตในครอบครัวลิเบอรัลส่งผลต่อมุมมองต่างๆ?

การสร้างความชอบธรรมให้พ่อแม่อย่างเดียวก็อาจผิดประเด็นไปหน่อย บางคนบอกว่าเพราะพ่อแม่ดีไงลูกถึงเป็นแบบนี้ หรือเพราะพ่อแม่เลวไงลูกถึงเป็นแบบนี้ แต่ไม่เห็นนักวิจัยคนไหนพูดว่า ต่อให้พ่อแม่เลวลูกก็มีสิทธิเกลียดเขา ไม่ค่อยมีทิศทางการสร้างพลังให้เด็กสามารถเกลียดพ่อแม่ได้เท่าไหร่ คนอยู่ด้วยอาจทั้งรักและเกลียดกันได้เป็นเรื่องปกติ แต่พอจะเกลียดก็มีข้อบังคับเยอะมาก เช่น บอกว่าถ้าเกลียดพ่อแม่ต้องเกิดเป็นเปรต มีการสร้างความกลัวลักษณะนี้ ทั้งที่เราควรจะเกลียดกันได้ รักกันอย่างเดียวมันไม่เวิร์กแน่ๆ

ผมโตมาบนวัฒนธรรมที่เกลียดพ่อแม่ได้ มีหลายเรื่องที่ผมเกลียดเขา และมีหลายเรื่องมากๆ ที่ผมรักเขา การยอมรับว่าความเกลียดเป็นส่วนหนึ่งของความรักเป็นเรื่องปกติมากๆ

สิ่งแวดล้อมมีส่วนสร้างเรื่องมุมมอง

ผมมีเพื่อนที่โตมาในสิ่งแวดล้อมที่เข้าใจความเป็นตัวตนของเขา ทั้งจากชุมชนหรือโรงเรียน บางทีผมเสียดายว่าถ้าผมเกิดมาในสิ่งแวดล้อมที่เป็นมิตรกับความหลากหลายกว่านี้ อาจไม่ต้องเกรี้ยวกราดแบบทุกวันนี้ คงต่อต้านอะไรไป แต่ไม่ต้องโกรธแค้น หรืออยากเห็นใครออกมาขอโทษ อาจไม่ต้องเป็นคนที่ไม่พอใจกับทุกอย่างเหมือนทุกวันนี้ เป็นคำสาปอย่างหนึ่ง

ผมพบว่าสิ่งที่ยึดโยงให้คนในยุคพวกเรามาเจอกัน มันไม่ใช่ความสุข แต่เป็น ความเป็นอื่น ความเหงา ความเศร้า ความเจ็บปวด ที่ทำให้คนรุ่นผมมารวมกัน แล้วรู้สึกว่าเราทำอะไรไม่ได้

อาจโชคดีที่ผมโตมาพร้อมหนังสือที่หลากหลายมากๆ ในบ้าน ฟังดูน่าหมั่นไส้ แต่ชีวิตผมไม่ค่อยมีความผิดพลาดทางรสนิยมเท่าไหร่ (หัวเราะ) เรื่องรสนิยมสำคัญมาก คุณโตมาในโรงเรียนที่บังคับให้อ่านเรื่องสามัคคีเภทคำฉันท์ แต่ไม่ได้โตมากับหนังสือ 1984 ที่ตั้งคำถามกับความสามัคคี จะเรียนสามัคคีเภทคำฉันท์ก็ได้ แต่ควรเรียนในการตั้งคำถามว่ามันถูกต้องหรือเปล่า ความสามัคคีดีจริงหรือเปล่าในทุกสถานการณ์ เราเรียนตามวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นมาแล้ว ซึ่งไม่ค่อยแฟร์กับคนรุ่นใหม่

คนรุ่นใหม่คิดยังไงกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี?

นิวกราวด์เชื่อว่าวัฒนธรรมคนรุ่นใหม่ต้องกราวดิ้งทุกปี ก็เลยขัดแย้งกับอะไรที่ยาวๆ ปีที่ผ่านมามี BNK48 เข้ามาทำงานบางอย่างกับวัฒนธรรมของพวกเรา เรียกว่าเป็น Cultural Emergence ภาวะฉุกเฉินทางวัฒนธรรมที่ควรมีการคำนวณรวมในการวิจัย แต่เมื่อทรีตมันเป็นแฟชั่นทางวัฒนธรรม เลยเกิดเร็วดับเร็ว มองไม่เห็นว่ามีคุณค่าบางอย่างเกิดขึ้นมาแล้วฝังอยู่ในวัฒนธรรมของคนรุ่นเรา

ผมเกิดมาเป็น Digital Native ชนเผ่าดิจิทัล ขณะที่คนรุ่นคุณพ่อเป็น Digital Immigrant ผู้ลี้ภัยมาใช้ดิจิทัล เขาจะแสดงความเห็นต่ออาม่าก็ต้องขออนุญาตก่อน แต่ในเฟซบุ๊กไม่มีปุ่มกราบ มีปุ่มโกรธหรือกดไลค์ เราไม่ได้โตมาในมารยาทการขออนุญาต เราโตมาพร้อมมารยาทการกดไลค์ หรือแสดงความเห็นโดยไม่ต้องขอก่อน เป็นมารยาทในยุคเรา

ยุทธศาสตร์ 20 ปี มีคนรุ่นใหม่เข้ามาร่วมออกแบบ แต่แน่นอนว่าเป็นคนรุ่นใหม่ที่คอนฟอร์มทั้งหมด เขาจะไม่เสนอเรื่องกัญชาถูกกฎหมาย หรือลดอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้งแน่ๆ น่าเสียดายที่เป็นไปในลักษณะนั้น

ปัญหาเยาวชนเรื่องไหนต้องแก้ไขก่อน?

หลายปัญหาโยงกัน วัฒนธรรมแบบที่เราใช้อยู่ไม่เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่มีอำนาจของตัวเอง ไม่ต้องอำนาจเป็นผู้แทนหรือบริหารงบประมาณ แค่อำนาจของเขาเองยังไม่มี องค์กรที่ทำงานเรื่องการศึกษาเกือบทั้งหมดลงทุนกับครู เขาไม่เชื่อว่าถ้าลงทุนกับเด็กจะมีปัญญาทำอะไร เลยไปพัฒนาชุมชน ครู พ่อแม่

การศึกษาไทยตอนนี้มีเรื่องทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 เนื้อหาเหมือนไชลด์เซ็นเตอร์ช่วงคุณทักษิณ ชินวัตร เลย แต่ไม่ได้พูดเรื่องอำนาจผู้เรียน มูฟเมนต์ทางการศึกษาทุกวันนี้ทำเพื่อเด็ก แต่สร้างโดยครูหรือผู้ใหญ่ จึงไม่ใช่ประชาธิปไตยสักที ขณะที่ไชลด์เซ็นเตอร์พูดเรื่องอำนาจผู้เรียน รื้อทุกอย่างทิ้งหมด บอกว่าเด็กต้องเป็นศูนย์กลาง ครูเอาความรู้มาถวายเด็กต่างหาก แต่นำไปใช้ไม่ได้เลย เพราะไม่ได้เกิดขึ้นด้วยวิธีการแบบประชาธิปไตย คุณควรจะฟังคนที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องก่อน เป็นสิ่งที่ นิวกราวด์เชื่อว่าเราไม่ควรคิดข้อเสนอเอง ควรสำรวจก่อน

จะเกิดความเปลี่ยนแปลงได้ ต้องมีตัวแทนไปนั่งในสภาไหม?

ที่เราพอทำได้คือเปลี่ยนวัฒนธรรม แต่เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงต้องเกิดในแง่กฎหมาย บังคับใช้อย่างถูกต้อง การนั่งในสภาเป็นหนทางหนึ่ง เพราะท้ายที่สุดต้องผลักดันผ่านกลไกการเมืองแน่ๆ เราไม่ควรปฏิเสธการเมือง โดยเฉพาะถ้ารู้สึกว่าการเมืองกระทบคนรุ่นใหม่มากๆ กระทบนโยบายและงบประมาณที่ลงมาถึงพวกเรา

ในกลุ่มกังวลไหมเมื่อไปเกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง?

นิวกราวด์ไม่ได้อยู่ภายใต้พรรค แต่คนในกลุ่มจำนวนหนึ่งทำงานให้พรรค ถ้าเราจะสร้างสังคมที่คนรุ่นใหม่มีส่วนร่วม ถูกให้คุณค่า หรือมีผลทางนโยบาย บรรยากาศในพรรคควรต้อนรับคนรุ่นใหม่ และที่ผมเผชิญมามันเป็นอย่างนั้น ผมเอาข้อเสนอ 11 ข้อของนิวกราวด์ไปขายหลายคน ทั้งเอ็นจีโอด้านเด็ก แหล่งทุนต่างประเทศ ไม่มีใครซื้อเลย แต่คนรุ่นใหม่ด้วยกันเองต่างหากที่ซื้อข้อเสนอเหล่านี้ พวกเขาควรได้เป็นตัวแทนเสียงตัวเอง ผมเชื่อว่ากลไกทางการเมืองน่าจะเป็นทางลัดที่ดีที่สุดทางหนึ่งในการทำให้ทศวรรษที่สูญหายที่เราเผชิญมามีค่ากับพวกเราบ้าง

เรามีคนรุ่นใหม่อายุ 18-25 ปี 7 ล้านคน ส่วนใหญ่ไม่เคยเลือกตั้ง เป็น 7 ล้านคนที่ยังไม่มีเจ้าของ สมมุติมีคนสนใจทิศทางของเรา 1 ใน 4 จาก 7 ล้านคน เท่ากับเกือบ 2 ล้านคน ยังไม่รวมคนกลุ่มอื่น คิดว่าคงมีโอกาสพอควร

คิดยังไงกับการพูดว่า เด็กเป็นผ้าขาวบริสุทธิ์ อย่าให้แปดเปื้อน โดยเฉพาะเรื่องการเมือง?

วิธีคิดแบบนี้ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่ค่อยสนใจการเมือง ในอเมริกากับไทยสถิติคล้ายกัน คนรุ่นใหม่ในอเมริกา 18-25 ปี เดินเข้าคูหาน้อยกว่าคนแก่ 60 ปีขึ้นไปหลายเท่า หนึ่งในสิ่งที่จะทำให้เขาสนใจการเมืองเร็วขึ้น คือ ลดอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จาก 18 เหลือ 15 ปี ประชากรคนรุ่นใหม่ที่มีผลทางนโยบายจะมากขึ้นเช่นกัน

จะให้คนรุ่นใหม่สนใจการเมือง ดูแค่ที่หนังละครที่ทำให้การเมือง “เป็นอื่น” มากๆ หรือคุณมีปัญหาเชิงโครงสร้างแต่ทำอะไรไม่ได้เลย อาจทำได้แค่โพสต์เฟซบุ๊ก แล้วได้รับการตอบสนองเป็นครั้งไป เมื่อเสียงของคนหนึ่งไม่มีผลทางกฎหมายหรือนโยบายอะไร เขาก็ไม่รู้สึกว่าการเมืองตอบโจทย์เขา ผมเข้าใจมากๆ และผมก็เจ็บปวดกับอะไรแบบนี้ เราอาจมีอินเตอร์เน็ต แต่เราไม่มีแพลตฟอร์มในการส่งเสียงของเราถึงภาครัฐเลย

เรื่องลดอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ลองมองว่า คนอายุ 15-18 ปี สามารถถูกดำเนินคดีอาญาแบบผู้ใหญ่ได้ คนอายุ 15 สามารถทำงานบางประเภทได้ คนอายุ 17 แต่งงานมีครอบครัวได้ คนอายุ 17 ต้องขึ้นทะเบียนทหารกองเกิน แต่คนอายุ 15-18 ปีไม่มีสิทธิเลือกตั้ง ทั้งที่เขาเสียภาษี มีครอบครัว เสี่ยงภัยสงคราม และติดคุกได้ แต่ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง ผมว่าไม่แฟร์

อะไรคือภาพสังคมที่อยากเห็นและอยู่กับมัน?

ผมไม่ได้อยากให้ทุกคนเป็น Nonconformist แต่อยากให้คนที่ไม่คอนฟอร์มมีพื้นที่พอกับคนที่เป็นคอนฟอร์ม ไม่ใช่พื้นที่สาธารณะ แต่หมายถึงพื้นที่ทางการเมือง พื้นที่ในการจัดการงบประมาณ ไม่ใช่งบไปลงที่คอนฟอร์มหมดเลย ผมมีเพื่อนที่โตมาด้วยกัน มีความเห็น มีความฝันร่วมกัน แต่ทุกวันนี้เขาต้องไปอยู่ต่างประเทศเพราะไม่

สามารถจูนให้ตัวเองคิดแบบคอนฟอร์มได้ น่าเสียดายว่าเรากำลังเสียทรัพยากรที่สำคัญมาก พูดแบบมนุษย์ผมกำลังเสียเพื่อนคนหนึ่งไปและอาจไม่ได้เจออีกแล้ว เรื่องนี้เจ็บปวดมากและยอมไม่ได้

ผมอยากเห็นสังคมที่ต้อนรับความหลากหลาย สังคมที่กระจายอำนาจในทุกระดับ คนคนหนึ่งมีสิทธิตัดสินใจใช้ชีวิตของเขาเอง

เวลาพูดเรื่องความหลากหลาย ไม่ควรวัดจากการมีเมตตาหรือเห็นใจกับคนที่เหมือนเรา หรือพร้อมจะเหมือนเรา แต่ควรวัดว่า เรามีเมตตาหรือเห็นใจคนที่ต่างจากเราขนาดไหน นี่คือสังคมแห่งความหลากหลาย

มองไกลๆ คนรุ่นใหม่แบบเราอยากเห็นสังคมหรือระบอบการเมืองที่ไปไกลกว่านั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image