สัมภาษณ์พิเศษ : สำราญ ทรัพย์นิรันดร์ นักเขียนรางวัลคึกฤทธิ์

เป็นบุคคลผู้สร้างสรรค์ผลงานทรงคุณค่าและเป็นที่ยอมรับในแวดวงวรรณกรรม ยังเป็นผู้ได้รับมอบ “รางวัลคึกฤทธิ์” สาขาวรรณศิลป์ประจำปี 2561

เนื่องในวันคล้ายวันเกิด พลตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เมื่อวันที่ 20 เมษายนที่ผ่านมา คณะกรรมการมูลนิธิคึกฤทธิ์ ๘๐ ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีมติเห็นชอบมอบรางวัลให้กับผู้มีผลงานทรงคุณค่า น่าสนใจ เป็นที่ยอมรับในวงการนาฏศิลป์ โขน ละคร ดุริยางคศิลป์ คีตศิลป์ วรรณศิลป์ และศิลปะการเเสดง

“สำราญ ทรัพย์นิรันดร์” เป็นหนึ่งในผู้ได้รับรางวัลอันทรงเกียรติครั้งนี้

จากการสะสมประสบการณ์การทำงานมากมาย ไม่เพียงแต่เป็นนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ คอลัมนิสต์ในเครือมติชน เจ้าของนามปากกา “หลวงเมือง” และเขียนคอลัมน์ทำนายโชคชะตาในนาม “หมอทรัพย์ สวนพลู” ยังเป็นนักพยากรณ์ และนักจัดรายการวิทยุด้วย

Advertisement

สำราญ เกิดเมื่อปี 2471 พื้นเพเป็นคนแถวตลาดพลู จบการศึกษาจากโรงเรียนวัดนวลนรดิศ และเรียนต่อด้ายวิชาการหนังสือพิมพ์

ในเเวดวงวรรณกรรรม สำราญ เป็นนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ชื่อดังที่มีนามปากกามากมาย แต่ไม่ไคร่ชอบใจที่จะให้คนรู้จักปะปนสับสน เรียกว่าถ้าในมุมมองของโหราศาสตร์เเล้วชื่อ “หมอทรัพย์ สวนพลู” เป็นประกันได้ เมื่อครั้ง “พลตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช” ดึงตัวให้มาเขียนคอลัมน์พยากรณ์ในสยามรัฐรายวัน “หมอทรัพย์ สวนพลู” นับเป็นหมอดูที่โด่งดังที่สุดในยุคเเห่งความรุ่งเรืองของหนังสือพิมพ์ สยามรัฐ

ส่วนผลงานหนังสือและพ็อคเก็ตบุ๊ก มีหลายเล่มด้วยกัน เช่น ภริยาฯ (ภรรยาที่เคารพรัก), ตลาดพลู และพยากรณ์ชะตารายปีในหนังสือ “ศาสตร์แห่งโหร” ยังมีผลงานหนังสือ และรวมเรื่องสั้นในแนวลี้ลับอย่าง นาฏกรรมในเงามืด, ลางสังหรณ์ และอยู่กับผี เป็นต้น

Advertisement

การนำเสนอเรื่องราวลี้ลับเหนือธรรมชาติของสำราญนั้นไม่ธรรมดา ผี หรือปีศาจนิยายที่ปรากฏในหน้ากระดาษทุกแผ่นล้วนชวนขนหัวลุกแต่สอดเเทรกไปด้วยอารมณ์ขันชวนติดตาม

ดังที่ “ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์” เคยกล่าวถึงลักษณะการเขียนของ “หลวงเมือง” ในรวมเรื่องสั้นชุด “นาฏกรรมในเงามืด” ไว้ว่า มนต์ขลังในงานเขียนของหลวงเมืองที่มัดใจผู้อ่านจนอยู่หมัด คือวิธีการเล่าเรื่องอันเป็นเอกลักษณ์ของหลวงเมือง แม้เรื่องเหล่านี้จะค่อนข้างสั้น แต่เมื่ออ่านจนจบ ผู้อ่านจะรู้สึกเต็มอิ่มกับเรื่องราวที่นำเสนอ ประหนึ่งว่าได้อ่านนวนิยายขนาดสั้น

ทั้งนี้เพราะ “หลวงเมือง” สามารถใช้ภาษาได้อย่างกระชับรัดกุม ไม่เยิ่นเย้อยืดยาด บทบรรยายสั้น รวบรัด แต่กลับอัดแน่นด้วยเรื่องราว สามารถสร้างภาพสื่อบรรยากาศและอารมณ์ได้อย่างดี และที่สำคัญคือ ในแต่ละเรื่อง “หลวงเมือง” ใช้กลวิธีการเล่าเรื่องแบบ “ละไว้ในฐานที่เข้าใจ” เป็นสำคัญ นั่นคือการเล่าเรื่องที่เลือกเฟ้นบรรยายเฉพาะแก่นของเหตุการณ์และปล่อยให้ผู้อ่านใช้จินตนาการแต่งเติมรายละเอียดต่างๆ ด้วยตนเอง ดังนั้น บทบรรยายเพียงไม่กี่บรรทัดของ “หลวงเมือง” สามารถบรรจุเรื่องราวและเหตุการณ์ไว้มากมายจนผู้อ่านรู้สึกจุใจ

และตอนหนึ่งของคำนำผู้เขียนในหนังสือ “จิตมหัศจรรย์” อธิบายถึงที่มาของความสนใจเรื่องลี้ลับของสำราญไว้ว่า ข้าพเจ้าสนใจเรื่องจิตและวิญญาณ (ผี) มาตั้งแต่หนุ่มๆ เพราะน้องชายคนเดียวของข้าพเจ้าถึงแก่กรรมโดยการนอนหลับตาย ข้าพเจ้าเสียใจมาก ได้ถามนักประพันธ์ผู้ใหญ่ว่าผีมีจริงหรือไม่ ท่านเล่าเรื่องผีให้ฟังตั้งหลายเรื่อง น่ากลัวทุกเรื่อง และเป็นผีที่ท่านพบเห็นมาเองทั้งนั้น คนหนึ่งที่เล่าเรื่องผีได้จับใจอย่างยิ่งคือ “อิงอร” คุณศักดิ์เกษม หุตาคม ใครจะไปรู้ว่านักเขียนใหญ่ที่แต่งเรื่องจากปลายปากกาชุบน้ำผึ้ง จะเล่าเรื่องผีได้อย่างน่าขนพองสยองเกล้าขนาดนั้น

“ปัจจุบันแม้จะมีอายุ 90 ปีแล้ว แต่เพราะความผูกพันกับตัวหนังสืออย่างเเนบแน่น สำราญ หรือที่เด็กรุ่นหลังเรียกกันว่า “คุณลุง” หรือ “คุณตา” จึงมีผลงานเขียนคำพยากรณ์ปรากฏในมติชนสุดสัปดาห์ และหนังสือพิมพ์ข่าวสด อย่างต่อเนื่อง”

นอกจากผลงานที่น่าประทับใจแล้ว เรื่องราวชีวิตการทำงานของ “ลุงสำราญ” ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน

ลุงสำราญ มักจะสอดแทรกเรื่องราวชีวิตลงในหนังสือแทบทุกเล่ม และในบทความหลายชิ้น เพื่อให้ผู้อ่านได้รู้จักตัวตนของผู้เขียนผ่าน “ตัวหนังสือ”

ดังเช่นตอนหนึ่งของคำนำในหนังสือ “อยู่กับผี” ลุงสำราญ หรือ “หลวงเมือง” (นามปากกาในเล่มนี้) เล่าถึงเส้นทางการเป็น “นักอ่าน” และ “นักเขียน” ของตัวเองว่า ข้าพเจ้าชอบเป็นนักเขียน เพราะได้อ่านหนังสือต่างๆ มาตั้งแต่ยังเล็ก เรียกว่าหนังสือ “ประโลมโลกย์” หนังสือโบราณคดี วรรณคดีและอื่นๆ รวมทั้งตำราแพทย์แผนโบราณ หนังสือลำตัดเรื่อง ร.ศ.112 เรื่องเรสิดังต์ของประเทศอินโดจีน ของฝรั่งเศส ตัดสินความระหว่างชาวบ้านกับตำรวจ เรื่อง “สยามในอากาศ” และเรื่อง “เมื่อชายเป็นหญิง” ของ “พรานบูรพ์”

เรื่องตลกในหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ เช่น “คุณจึ๊ดผู้ขี้ลืมที่สุดในโลก” ส่วนเรื่องที่พิมพ์เป็นเล่มคือเรื่อง “สามเกลอ” ของ ปอง เผ่าภัลลพ และเรื่อง “นักหนังสือพิมพ์” ของบุญส่ง กุศลสนอง ซึ่งบรรยายถึงความถังแตกของคนหนังสือพิมพ์และเจ้าของโรงพิมพ์ไว้อย่างครึกครื้น ข้าพเจ้าชอบอ่านตอบปัญหาความรัก โดย “รักเลห์” และ “ขุนลีลาศาสตร์สุนทร” ส่วนเรื่อง “มวยบ้าน” “โกกโกโกม” “คล่อมครรภ์” และ “บล็องเช่” ต้องแอบอ่าน ภาพยนต์ฮอลลีวู้ดที่ฉายในตอนสงครามโลก เรื่อง “นางพญาทะเลทราย” ไม่ใช่ “โซไรดา” ดูแล้วใจแตก หรือสมัยนั้นเรียกว่า “เสียเด็ก” แต่ข้าพเจ้าไม่ได้เที่ยวเสเพล เพราะพ่อให้สาบาน

เรื่องยาวที่ลงในหนังสือพิมพ์รายวันที่อ่านแล้วติดใจคือ “ลูกสาวนายกองม้า” ของ “บ.กากะบาด” ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 หนังสือพิมพ์รายวันของญี่ปุ่นชื่อ “ช่างภาพ” ที่ตีพิมพ์เป็นภาษาไทยก็มีเรื่องยาวที่น่าอ่าน

“เรื่องราวเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นนักอ่าน และนักจำที่ดีเยี่ยม ถัดมายังได้บรรยายถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้ ลุงสำราญ สนใจเรื่อง การเขียน และก้าวสู่เส้นทางการเป็น นักเขียน”

เมื่อข้าพเจ้าเรียนชั้นมัธยมปีที่ 3 โรงเรียนมัธยมวัดนวลนรดิศ คุณครูประจำชั้นคือคุณครูสำราญ บัวแย้มเจริญ นำเรื่อง “ล่าเสือดาวด้วยลูกปืนเบอร์ 12” จากหนังสือส่งเสริมการท่องเที่ยวของกรมโฆษณามาอ่านให้ฟัง 1 จบ ให้เขียนเรียงความ ข้าพเจ้าเขียนเป็นเองเรื่องตลกแบบนวนิยายชุดสามเกลอ พลนิกรกิมหงวน ถูกคุณครูวิจารณ์ด้วยหมึกแดงเกือบเต็มหน้ากระดาษสมุด เข็ดหลาบมาจนแก่

เมื่อทำงานหนังสือพิมพ์ได้เขียนเรื่องประจำ ชีวิตตอนนั้นลำเค็ญมาก แต่เรื่องชีวิตที่เขียนออกมากลับเป็นเรื่องตลก เพื่อนอ่านแล้วหัวเราะงอหาย จึงหันไปหาแนวขบขัน ได้รับคำชมเชยตามอัตภาพแต่ไม่มีชื่อที่หน้าปกหนังสือ ถามเพื่อนว่าทำไมไม่ลงนามปากกาข้าพเจ้าที่ปก เขาตอบว่าอยู่ในเครื่องหมาย “ฯลฯ” แล้ว

การเขียนเรื่องตลกควรเขียนเพื่อลงพิมพ์อย่างเดียว จะพลิกแพลงไปเขียนเป็นจดหมายรักไม่ได้เด็ดขาด ข้าพเจ้าได้รับความล้มเหลวมาแล้ว จึงเรียนมาด้วยความเคารพ

ข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ทำให้รู้จัก “ลุงสำราญ” แต่ยังมีอีกหลายคำถามและหลายเรื่องราวที่อยากรู้ จากนักเขียนชั้นครูท่านนี้ให้มากขึ้น ดังนั้น เมื่อมีโอกาสเหมาะสมหลังประกาศรายชื่อรางวัลคึกฤทธิ์ จึงติดต่อเพื่อขอพูดคุย

ลุงสำราญ ตอบรับอย่างยินดี แต่ด้วยอายุประกอบกับปัญหาเรื่องสุขภาพ จึงไม่สามารถพูดคุยได้เเบบต่อเนื่อง ทำให้การสนทนาครั้งนี้เป็นการติดต่อผ่านโทรสาร ใช้เวลาเพียง 1 วัน ก็ได้รับคำตอบกลับมาครบครัน

มาอ่านไปพร้อมกันในบรรทัดถัดไป

ทำไมถึงสนใจงานเขียน งานประพันธ์ จนยึดเป็นอาชีพ?

ผมไม่รู้เหมือนกัน เขียนมาตั้งแต่เด็กๆ ครูที่สอนเรียงความชอบนำเรื่องสนุกๆ มาให้เขียน คุณครูคนนี้มีส่วนช่วยให้ชอบเขียนเรื่องต่างๆ ท่านชื่อ คุณครูสำราญ บัวแย้มเจริญ โรงเรียนมัธยมวัดนวลนรดิศ

นักเขียน นักประพันธ์ หรือบรรณาธิการที่ชื่นชมที่เป็นต้นแบบคือใครบ้าง?

มีครูมาลัย ชูพินิจ และ พลตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช

ชอบผลงานเขียนเรื่องใดเป็นพิเศษบ้าง?

เรื่องสามก๊ก วรรณคดีต่างๆ และงานของพลตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช

ผลงานชิ้นแรกที่ตีพิมพ์ใช้เวลาเขียนนานหรือไม่?

ผมจำไม่ได้

กว่าจะตีพิมพ์ใช้เวลานานแค่ไหน?

เรื่องแรกลงในหนังสือรายเดือนชื่อ โฆษณาสาร ของกรมโฆษณาการ คุณชอุ่ม ปัญจพรรค์ เป็น บก.ใช้เวลาไม่นานส่งไปก็ได้ลง ต่อมามีการประกวดเรื่องนั้น “โบสีฟ้า” ในหนังสือพิมพ์ สยามสมัยรายสัปดาห์ คุณชั้น แสงเพ็ญ เป็น บก.ได้ค่าเรื่อง 80 บาท ดีใจจนกินข้าวไม่ลง

ที่มาของนามปากกา ‘หลวงเมือง’ และ ‘หมอทรัพย์ สวนพลู’?

นามปากกา “หลวงเมือง” เกิดในหนังสือพิมพ์กระดึงทองรายเดือน ของบริษัท ไทยพณิชยการ จำกัด คุณสาทิส อินทรกำแหง เป็น บก.ประมาณ พ.ศ.2497 หรือ 2498 เชิญมาจากพระราชนิพนธ์ เรื่องพระร่วง ข้าพเจ้าชอบการนำมาแสดงเป็นตัว หลวงเมือง ส่วน หมอทรัพย์ สวนพลู คุณขรรค์ชัย บุนปาน ตั้งให้เมื่อเขียนคอลัมน์ดวงใครดวงมัน ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ

อาชีพนักเขียน นักหนังสือพิมพ์เวลานั้น ต่างจากปัจจุบันอย่างไร?

คงต่างเฉพาะเครื่องมือเครื่องใช้กระมัง ส่วนงานก็ออกมาจากความคิดอยู่แล้ว

ถ้าให้กล่าวถึง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ในความทรงจำเป็นอย่างไร?

ผมว่าท่านเป็นบุคคลที่หายาก

ความประทับใจ หรือสิ่งที่ได้เรียนรู้จาก ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช?

มีมากมายครับ

ล่าสุดมีการประกาศรางวัลคึกฤทธิ์ ประจำปี 2561 รู้สึกอย่างไรที่ได้รับรางวัลนี้ ในสาขาวรรณศิลป์?

ผมดีใจมากครับ

งานเขียนแนวหัสคดี เรื่องตลกในยุคก่อน เฟื่องฟูกว่ายุคนี้ หรือไม่เพราะอะไร?

ดีกันไปคนละแนว แล้วแต่รสนิยม

ที่มาของการจับงานเขียนแนวขบขัน บางครั้งเขย่าขวัญไปด้วย?

อันนี้ผมนึกไม่ออก

ภาพยนตร์ ละครผี ได้รับความนิยมมากในยุคนี้ ทั้งที่วิทยาศาสตร์ก้าวหน้ามาก คิดว่าเพราะอะไร

ผู้รับเขาแยกระหว่างงาน กับการบันเทิงออกจากกันได้

เวลาเขียนผลงานแต่ละชิ้นมีหลักคิดหรือแนวคิดอย่างไร?

บางเรื่องคิดไว้นานแล้วก็มี ส่วนมากเป็นเรื่องที่คิดไว้ตั้งแต่ยังไม่เป็นนักเขียน

วิธีค้นหาข้อมูลเพื่อเขียนงานประพันธ์แต่ละชิ้นอย่างไร?

ผมไม่ได้ค้นหา เพราะเรื่องที่จะเขียนอยู่ในใจหมดแล้ว

อย่างงานเขียนด้านโหราศาสตร์ หมอทรัพย์ มีวิธีการบรรยายที่แตกต่าง แฝงอารมณ์ขันลึกๆ ใช้เวลาค้นคว้าและเขียนนานหรือไม่?

ผมเขียนไปตามธรรมดาครับ

ความสนใจศาสตร์พยากรณ์ เริ่มต้นอย่างไร ศึกษาจากใคร?

เคยได้ฟังคำบรรยายของท่านโหรหลวง ท่านบวชอยู่ที่วัดขุนจันทน์ ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นพื้นฐานให้สนใจต่อมา

มีคนยกย่องว่า หมอทรัพย์ สวนพลู ดูดวงแม่นมาก มีหลักการอะไรเป็นพิเศษหรือเปล่า?

อ่านตำราเยอะๆ และตั้งใจทำด้วยความเคารพ

งานเขียนส่วนใหญ่จะมีการใช้สำนวนภาษาแพรวพราว สอดแทรกอารมณ์ขัน ตัวตนจริงเป็นคนอารมณ์ดีสนุกสนานแบบผลงานเขียนหรือเปล่า?

ไม่ค่อยทราบนิสัยของตัวเองหรอกครับ

ผลงานที่ผ่านมาประทับใจงานชิ้นไหนมากที่สุด เพราะอะไร?

ผมชอบงานของผมทุกชิ้นครับ

ในฐานะนักเขียน มองอาชีพนี้อย่างไร?

ก็เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่คนทั่วๆ ไปจะเลือกได้ ผมชอบอ่านชอบเขียนเวลาทำงานจึงมีความสุขไปด้วย สำหรับผมพอใจอาชีพนี้มาก

คนบอกว่านักเขียนไส้แห้ง จริงไหม?

ผมว่างานเขียนเป็นงานศิลปะ และสมัยนี้ศิลปะก็เจริญอย่างมาก

ทุกวันนี้สื่อเปลี่ยนไปมองว่าคุณค่าของนักเขียนลดลงด้วยหรือไม่?

ผมว่านักเขียนก็เป็นนักเขียนอยู่นั่นเอง

ในยุคดิจิทัล ที่เทคโนโลยีจะแทนคนมากขึ้นเรื่อยๆ คิดว่าอาชีพสื่อ อาชีพนักเขียนจะเป็นอย่างไร มีโอกาสหายไปหรือไม่?

ผมว่ายุคนี้เป็นยุคใหม่ ผู้คนเฉลียวฉลาด เครื่องไม้เครื่องมือคนเป็นผู้คิดขึ้นมาทั้งนั้น ทางออกย่อมมีให้แก่ผู้คนอยู่แล้ว ถ้าเรายังต้องสื่อสารกัน นักเขียนและสื่อผู้เสนอ จะหายไปได้อย่างไร นอกจากเปลี่ยนชื่อเป็นอย่างอื่น

มองวรรณกรรมยุคใหม่อย่างไร?

ก็สนใจความก้าวหน้าของเขาครับ

ได้ติดตามงานเขียนของคนรุ่นใหม่บ้างหรือเปล่า?

มีอุปสรรคที่สายตา งานอ่านก็น้อยลง

สำหรับคนรุ่นใหม่ที่มองหมอทรัพย์เป็นต้นแบบ อยากให้เขาเอาอย่างในด้านไหน มีคำแนะนำอย่างใดบ้าง?

ถ้ามีผู้เห็นผมเป็นต้นแบบ ผมขอขอบคุณ แต่อย่างที่ตอบไปแล้วคืออ่านตำราเยอะๆ และตั้งใจทำด้วยความเคารพ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image