คอลัมน์เดินไปในเงาฝัน : เรื่องราวของผ้าซิ่นตีนแดง : โดย สาโรจน์ มณีรัตน์

เหตุผลเดียวที่อยากเขียนถึงครูศิลป์ของแผ่นดินติดต่อกันมา 2-3 ตอน เพราะอยากยกย่องเหล่าบรรดาปราชญ์พื้นบ้านทุกคนที่เสียสละกำลังกาย กำลังตน ในการสืบสานงานอนุรักษ์การทำเครื่องเงินโบราณ, ผ้าโฮลโบราณ และผ้าซิ่นตีนแดง

อันเป็นลวดลายโบราณที่สืบทอดกันมากว่า 200 ปีจนถึงปัจจุบัน

ซึ่งหาใครไม่ได้อีกแล้วที่จะทำงานทางด้านนี้

แต่สำหรับครูศิลป์ของแผ่นดินทุกคน โดยเฉพาะจังหวัดสุรินทร์และบุรีรัมย์ ที่ผมเล่าผ่านมาเมื่อสองฉบับที่แล้ว รวมถึงฉบับนี้ คงต้องขอยกย่องความตั้งใจดีให้กับศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (SACICT) ด้วย

Advertisement

เพราะหากไม่มีหน่วยงานนี้มองเห็น พร้อมกับประกาศเกียรติยกย่องครูศิลป์ของแผ่นดินในสาขาต่างๆ อาจทำให้ลวดลายเครื่องเงินโบราณ, ลวดลายผ้าโฮลโบราณ และลวดลายผ้าซิ่นตีนแดงอาจเลือนหายไป

แต่เพราะความใจรักในการสืบสานงานอนุรักษ์ศิลปหัตถกรรมของท้องถิ่น จึงทำให้งานต่างๆ เหล่านี้ฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ทั้งยังทำให้ครูศิลป์ของแผ่นดินทุกคนรู้สึกถึงความภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองลงทุนลงแรงมาตลอดชั่วชีวิตด้วย

สำคัญไปกว่านั้น ยังทำให้ครูศิลป์ของแผ่นดินทุกคนรู้สึกมีกำลังใจที่จะสืบสานงานอนุรักษ์ศิลปหัตถกรรม เพื่อสร้างสรรค์ให้ลูก หลาน เหลน โหลนในอนาคตมองเห็นคุณค่าของศิลปะพื้นบ้านต่อไปด้วย

เพราะงานเหล่านี้หาชมยากยิ่ง

ทั้งยังเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของชาติ

อัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (SACICT) เล่าให้ฟังว่างานศิลปหัตถกรรมเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของชาติจริงๆ เพราะมีการถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ และกระบวนการสร้างสรรค์งานผ่านช่างฝีมือที่มีความรู้ความชำนาญจากรุ่นสู่รุ่น

“เพียงแต่ช่วงผ่านมา องค์ความรู้เหล่านี้ไม่ได้มีการบันทึก หรือเก็บรวบรวมไว้ให้เป็นรูปธรรม จึงลบเลือน และสูญหายไปตามกาลเวลา ตรงนี้จึงทำให้เรา ในฐานะหน่วยงานที่ให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์ สืบสาน และรวบรวมหัตถศิลป์ของไทยให้คงอยู่ต่อไป”

“จึงทำการสืบค้น และตามหาบุคคลสำคัญที่ทำงานทางด้านนี้โดยตรง เพื่อยกย่องพวกเขา พร้อมๆ กับประกาศเชิดชูเกียรติให้เป็นครูศิลป์ของแผ่นดินในสาขาต่างๆ เพราะพวกเขาเหล่านี้ไม่เพียงเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ หากยังช่วยรักษา และถ่ายทอดมรดกภูมิปัญญาของบรรพบุรุษให้คงอยู่ต่อไปจนทุกวันนี้ด้วย”

ซึ่งเหมือนกับ ครูรุจาภา เนียนไธสง ครูช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2557 งานผ้ามัดหมี่ (ผ้าซิ่นตีนแดง) อ.พุทไธสง จ.บุรีรัมย์ ผู้ที่มีความชำนาญในการทอผ้าไหมมัดหมี่ โดยมีลวดลายนกยูงทองเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว

ที่สำคัญ “ครูรุจาภา” ยังเลี้ยงไหมและสาวไหมเอง พร้อมๆ กับคิดค้นการใช้เทคนิคใหม่ๆ ด้วยการทอ และผสมผสานกับการเขียนทองเพื่อสร้างมิติของลวดลายอย่างวิจิตรบรรจง

เพราะผ้าซิ่นตีนแดงเป็นงานประณีตศิลป์ มีเรื่องเล่าสืบทอดกันมาว่าเกิดขึ้นในจวนเจ้าเมืองสมัย “พระยาเสนาสงคราม” ซึ่งเป็นเจ้าเมืองพุทไธสง เมื่อ 200 กว่าปีมาแล้ว

ครั้งหนึ่ง “พระยาเสนาสงคราม” มีคำสั่งให้กลุ่มสตรีในจวนทอผ้าซิ่นตีนแดงขึ้นมา เพื่อมอบให้กับภรรยาของตนเองก่อน และเมื่อมีงานพระราชพิธีต่างๆ ภรรยาของ “พระยาเสนาสงคราม” จะสั่งให้สตรีในจวนทุกคนนุ่งผ้าซิ่นตีนแดงด้วย

จนทำให้ผ้าซิ่นตีนแดงเริ่มเป็นที่รู้จัก

แต่ยังไม่แพร่หลายมากนัก

กระทั่ง “เจ้าพระยาตระกูลเสาไทยสง” ผู้สืบเชื้อสายต่อจาก “พระยาเสนาสงคราม” นำองค์ความรู้เกี่ยวกับการทอผ้าซิ่นตีนแดงมาเผยแพร่ให้กับลูกๆ หลานๆ จึงทำให้ผ้าซิ่นตีนแดงเริ่มกระจายออกมายังหมู่บ้านใกล้เคียง และหมู่บ้านบ้านนาโพธิ์ อ.พุทไธสง จ.บุรีรัมย์ในที่สุด

ซึ่งหมู่บ้านแห่งนี้คือสถานที่ๆ สร้างสรรค์งานหัตถกรรมผ้าซิ่นตีนแดงจนมีชื่อเสียงมากที่สุดของประเทศ

และผู้ที่ทำการสืบสาน งานอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของชาติให้ยังคงอยู่สืบมาจนถึงทุกวันนี้คือ “ครูรุจาภา เนียนไธสง” นั่นเอง

“ครูรุจาภา” บอกว่าภูมิปัญญา และทักษะเชิงช่างที่สำคัญของการทอผ้าซิ่นตีนแดงอยู่ที่การมัดเขื่อนกั้น หรือการนำเชือกกล้วย หรือเชือกฟางมามัดบนเส้นไหมที่ผ่านการย้อมมาแล้ว เพื่อสร้างเป็นลวดลายต่างๆ

“โดยเริ่มจากย้อมสีแดงก่อน เพราะสีแดงเป็นสีของหัวและตีนซิ่น จากนั้นถึงจะนำไปย้อมสีดำ หรือสีอื่นๆ ตามความต้องการ ซึ่งขั้นตอนของการมัดเขื่อนกั้น ต้องใช้ความชำนาญ ทักษะ และฝีมือที่ละเอียดมาก หากไม่รอบคอบ อาจทำให้สีที่ย้อมไหลมาผสมกับสีแดง จนทำให้ลวดลายเปรอะเปื้อน ไม่สวยงาม”

“เพราะผ้าผืนหนึ่งประกอบด้วย 3 ส่วนคือหัวซิ่น ตัวซิ่น และตีนซิ่น ส่วนหัวซิ่นและตีนซิ่นจะมีสีแดงสด ขณะที่ตัวซิ่นในสมัยโบราณเขามักจะใช้โครงสีเข้ม เช่น สีดำ หรือสีเม็ดมะขาม จากนั้นจึงนำมาทอเพื่อให้เกิดลวดลายต่างๆ ซึ่งลวดลายก็จะมีลายหมากจับ 3 ลำ, ลายแมงสีเสียด, ลายบันไดสวรรค์, ลายหมื่นนาค เป็นต้น”

“แต่ปัจจุบัน มีการเพิ่มสีสันและลวดลายในส่วนของตัวซิ่นมากขึ้น อาจมีสีฟ้า, สีน้ำเงิน, สีแดง, สีชมพู และสีอื่นๆ ตามความต้องการของตลาด ทั้งยังมีการคิดค้นลวดลายใหม่ๆ เพิ่มเติมด้วย เช่น ลายโคมห้า, ลายหมากจับน้อย, ลายลวดหนาม และอื่นๆ แต่ลายที่เป็นที่นิยมคือลายประตูวัง และลายบันไดสวรรค์ เพราะมีความเชื่อว่าหากใครมีลายผ้าชนิดนี้ นอกจากจะได้ขึ้นสวรรค์ ยังถือเป็นผู้มีบุญวาสนาด้วย”

ทั้งยังมีความเชื่ออีกว่าผ้าซิ่นตีนแดงคือผ้ามงคลที่สามารถปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายได้อีกด้วย

เสียดายวันนั้นไม่ได้ซื้อมา

แม้ราคาจะไม่แพงมากสำหรับผู้ที่นิยมชมชอบ หรือสาวๆ รุ่นใหญ่ แต่สำหรับผมแล้วถือว่าแพงพอสมควร เพราะเราเองไม่ค่อยได้ซื้อของอะไรแบบนี้เท่าไหร่นัก

ถ้าเกินพันบาทถือว่าแพงแล้ว(ฮา)

แต่ไม่เป็นไรครับ

อย่างที่ทราบๆ กัน สิ่งที่ผมอยากนำเสนอในเรื่องครูศิลป์ของแผ่นดินทุกคน จนถึง “ครูรุจาภา” ล่าสุด ก็เพื่อต้องการยกย่อง เชิดชูบุคคลต่างๆ เหล่านี้

เพราะถ้าเราหัดชื่นชมในสิ่งที่ควรชื่นชมบ้าง บางทีอาจเป็นน้ำทิพย์ชโลมใจ จนทำให้ครูศิลป์ของแผ่นดินมีกำลังใจที่จะสืบสานงานอนุรักษ์ผ้าซิ่นตีนแดงต่อไปนานๆ

ผมเชื่อเช่นนั้นจริงๆ ครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image