ระดับโลก-ระดับที่พอดี

ฟุตบอลโลก 2018 เริ่มต้นขึ้นมาแล้วตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน

แม้ไทยจะไม่ได้ส่งทีมเข้าไปร่วม แต่บรรดาแฟนบอลก็อดไม่ได้ที่จะชมเกม
การแข่งขัน

การแข่งขันครั้งนี้ คสช. โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและ รมว.กลาโหม ได้เป็นเจ้าภาพชักชวนภาคเอกชนลงขัน

ช่วยกันสนับสนุนการถ่ายทอดสดการแข่งขันระดับโลก เพื่อให้ประชาชนได้ชม

Advertisement

ขณะที่หนังสือพิมพ์ข่าวสดในเครือมติชนจัดทายผลชิงรางวัลเพิ่มความสนุก

ใครสนใจร่วมสนุก ตัดคูปองในหนังสือพิมพ์มติชน-ข่าวสดได้เลย

หรือใครจะคลิ๊กเข้ามาเล่นเกมในเว็บไซต์ก็ได้ เชิญตามสบาย

Advertisement

เพราะทีมฟุตบอลชั้นนำ เกมกีฬาระดับโลกแบบนี้ ถ้าอดดูก็น่าเสียดาย

เฉกเช่นเดียวกับเมื่อสัปดาห์ก่อน เมื่อ วงลอนดอนซิมโฟนี ออเคสตรา หรือ LSO มาแสดงในเมืองไทย

แสดงคอนเสิร์ตที่หอประชุมมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล 2 รอบ

การแสดงทั้ง 2 รอบ มี เกียนานเดรีย โนเซด้า (Gianandrea Noseda) วาทยกรระดับโลกเป็นผู้ควบคุม

มี เยฟิม บรอน์ฟแมน (Yefim Bronfman) นักเปียโน สัญชาติอเมริกัน-รัสเซียเป็นโซโลอิสต์

เยฟิม บรอน์ฟแมน เป็นนักเปียโนชั้นแนวหน้า

เช่นเดียวกับวงลอนดอนฯ ที่ยืนอยู่แถวหน้าของโลกมาช้านาน

วันนั้น พวกเขาและเธอเหล่านั้นได้มาบรรเลงบทเพลงในหอประชุมที่มีระบบเสียงดี อย่าง “มหิดลสิทธาคาร”

ใครที่ได้ไปชมคงได้ฟังได้ยลฝีมือกันไปแล้ว

เพียงแค่บทเพลงแรกของโปรแกรมเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน

บทเพลงชื่อ Rhapsody espagnole ประพันธ์โดย มัวริส ราเวล (Maurice Ravel) นักประพันธ์ดนตรีชาวฝรั่งเศส (ค.ศ.1875-1937)

ทุกคนก็ได้สัมผัสกับความกลมกล่อมของเสียงเพลง

เครื่องดนตรีที่มีหลากหลายลักษณะเสียง แต่พอผสมผสานกันแล้ว กลับส่งเสียงออกมาได้ดี ฟังละมุน

พอเข้าสู่บทเพลง เปียโน คอนแชร์โต หมายเลข 3 ของ ลุควิก ฟาน บีโธเฟน (Ludwig van Beethoven) ชาวเยอรมนี (ค.ศ.1770-1827)

มี เยฟิม บรอน์ฟแมน (Yefim Bronfman) นักเปียโนโซโล สัญชาติอเมริกัน-รัสเซียเป็นโซโลอิสต์

นับตั้งแต่ท่อนแรก ท่อนที่สอง และท่อนสุดท้าย

ทุกคนล้วนประจักษ์ถึงความหนักแน่น ความคล่องแคล่ว และความแม่นยำ

ทุกอย่างเป็นไปอย่างสมบูรณ์

นอกจากนี้ ยังได้ฟังบทเพลงที่ทำหน้าที่บอกเล่าเรื่องราวด้วยเสียง

อย่างบทเพลง “Pictures at an Exhibition” ประพันธ์โดย โมเดสต์ มูซอร์กสกี (Modest Mussorgsky) ชาวรัสเซีย (ค.ศ.1839-1881) และมาทำเป็นดนตรี

ออเคสตราโดยฝีมือ Maurice Ravel

บทเพลงนี้ บรรยายภาพฝีมือของ วิกเตอร์ ฮาร์ทมันน์ จำนวน 10 ภาพ

แต่ละภาพมีความแตกต่าง ทำให้ดนตรีที่ได้ฟังมีความหลากหลาย

หรือบทเพลง The Noon-Day Witch, Symphonic Poem ของ แอนโทนิน ดโวชาค (Antonin Dvorak) ชาวเช็ก (ค.ศ.1841-1904) ซึ่งเป็นบทเพลงเริ่มแรกในวันที่ 7 มิถุนายน

หากได้อ่านสูจิบัตร รับทราบเรื่องราวในตำนานของเรื่องนี้

พอบทเพลงเริ่มและดำเนินไปผู้ฟังก็ซึมซับกับเรื่องราวอันเศร้าๆ นั้นได้

เพลงสามารถวาดภาพด้วยเสียง สร้างจินตนาการให้ผู้ฟังได้

ในวันที่สองของการแสดง เยฟิม บรอน์ฟแมน ยังฝากความประทับใจให้ผู้ฟังหลังจบบทเพลงเปียโน คอนแชร์โต

ในช่วงที่เล่นบทเพลงแถม บทเพลงชื่อ โซนาต้า ของ เซอร์เก โปรคอเฟียฟ (Sergei Prokofiev) ชาวรัสเซีย (ค.ศ.1891-1953) นั้น

ทุกๆ จังหวะดำเนินไปด้วยความเร็วแต่ เยฟิม บรอน์ฟแมน ยังสามารถถ่ายทอดตัวโน้ตออกมาให้ฟังได้อย่างสะอาดหมดจด

เล่นเอาผู้ฟังในหอประชุมทั้งหมดถึงกับอึ้ง

ยิ่งมาถึงบทเพลงส่งท้าย คือ Symphony No.10 ของ ดมิทริ ชอสตาโกวิช (Dmitri Shostakovich) นักประพันธ์ดนตรีชาวรัสเซีส ด้วยแล้ว

ทั้งท่อนหนึ่ง ท่อนสอง ท่อนสาม และท่อนสี่ ทุกลำดับดำเนินไปอย่างน่าฟัง

บทเพลงนี้ในท่อน 3 ชอสตาโกวิช ได้ใส่กลุ่มโน้ตที่เป็นสัญลักษณ์ของตัวเอง

นั่นคือ กลุ่มโน้ต DSCH หรือโน้ต D C B และ Eb

แล้วยังมี Elmira theme ซึ่งเป็นทำนองที่แต่งให้ Elmira Nazirova คนที่เขาหลงรัก

แหม พอรู้ที่มาของกลุ่มโน้ตเช่นนี้ พอฟังแล้วรู้สึกขลังขึ้นเยอะ

ขณะที่นักดนตรีบรรเลง ผู้ฟังจะได้เห็นนักดนตรีแต่ละกลุ่มทุ่มเทพลังในการบรรเลง

โดยเฉพาะกลุ่มไวโอลินนั้น เมื่อถึงช่วงที่กลุ่มเครื่องสายต้องเน้นย้ำ จะเห็นนักไวโอลินแต่ละคนออกแรงอย่างเต็มกำลัง

เช่นเดียวกับวาทยกรที่สะบัดไม้สะบัดมืออย่างสุดแรง และทุ่มเทให้กับการ “คอนดักต์” อย่างเต็มที่

ใครได้เห็นก็ต้องยอมรับในการทุ่มเท ใครได้ยินคงรับทราบถึงผลงานเสียงที่เปล่งออกมา

ต้องยอมรับในฝีมือ

ฝีมือของคนระดับโลกมีข้อน่าสังเกตคือ “ความพอดี”

แม้บทเพลงจะมีเสียงสูง เสียงต่ำ เสียงหนัก เสียงเบา แต่วาทยกรระดับโลกก็สามารถควบคุมเสียงให้พอดี

เช่นเดียวกับนักดนตรี ไม่ว่าจะต้องบรรเลงเครื่องดนตรีในมือด้วยเสียงอันแผ่วต่ำ หรือสูงปรี๊ด

หรือกระแทกกระทั้นให้เกิดเสียงดัง

แต่เมื่อเปล่งเสียงออกมาแล้ว ช่างเข้ากับเครื่องดนตรีข้างเคียง

ไม่ทำให้เสียงที่ได้ยินเป็นมลพิษแก่ผู้ฟัง

เฉกเช่นเดียวกับอื่นๆ รอบๆ ตัว ถ้ามันพอดีก็ย่อมเป็นประโยชน์

อาทิ คนจีนเชื่อในหยินและหยางที่ต้องมีดุลยภาพ

อาหารที่อร่อยคืออาหารที่มีรสชาติลงตัว งานศิลปะแม้จะมีความสุดโต่ง แต่กลับมีองค์ประกอบถ่วงดุลที่ทำให้พอดี

ความพอดีเช่นนี้เป็นคุณสมบัติสากล เป็นคุณสมบัติสำคัญที่ทำให้ผู้คนนิยม

นิยมในความงามที่พอดิบพอดี นิยมในความกลมกล่อมไม่ว่าจะเป็นเสียง หรือรสชาติอาหาร

ดังนั้น หากใครสามารถตระหนักรู้ถึงความพอดีในการดำรงชีวิต

โอกาสที่จะทำให้การงานก้าวหน้า โอกาสที่จะทำให้ชีวิตราบรื่นก็มีสูงยิ่ง

เพียงเราสามารถได้สัมผัส และรู้จักกับคำว่า “อะไรคือความพอดี”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image