ขรรค์ชัย-สุจิตต์-กิเลนประลองเชิง เตรียมเช็กอินถิ่นกำเนิด ‘อิน-จัน’ เปิดตำนาน ‘แฝดสยาม’ ลุ่มน้ำแม่กลอง เส้นทางเชื่อมสองทะเลสมุทร

จบลงไปอย่างอบอุ่นสำหรับงานคืนถิ่นแฝดสยามอิน-จัน ซึ่งทายาทรุ่นที่ 5 เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาไกลจากเมืองเมาท์แอรี สหรัฐอเมริกา เพื่อเยี่ยมเยือนบ้านเกิดบรรพบุรษ ณ จังหวัดสมุทรสงคราม ด้วยความร่วมมือร่วมใจของทางจังหวัดพร้อมด้วยกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ กระทรวงการต่างประเทศ อันเป็นหนึ่งในกิจกรรมฉลองครบรอบ 185 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์การทูตไทย-สหรัฐ

รายการขรรค์ชัย บุนปาน-สุจิตต์ วงษ์เทศ ทอดน่องท่องเที่ยวประจำเดือนมิถุนายน ในวันอังคารที่ 19 มิถุนายนที่จะถึงนี้ อดีตสองกุมารสยามที่ตัวติดกันมาแต่วัยหนุ่มไม่แพ้แฝดอิน-จัน จะจูงมือกันไปตามรอยชีวิตแฝดสยามผู้มีถิ่นฐานบ้านเกิด ณ บ้านแหลมใหญ่ เมืองแม่กลอง ซึ่งปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอเมืองสมุทรสงคราม

ย้อนเวลากลับไปในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย วันที่ 11 พฤษภาคม พุทธศักราช 2354 ครอบครัวยากจนให้กำเนิดบุตรชายฝาแฝดมีร่างกายเชื่อมต่อกันด้วยท่อนเอ็นที่หน้าอก พ่อแม่ตั้งชื่อลูกคนซ้าย (จากสายตาคนมอง) ว่า อิน คนขวาว่า จัน ตามชื่อผลไม้ที่ชาวสยามรู้จักกันดี ชาวแม่กลองเรียกเด็กคู่นี้ว่า “แฝดจีน” เนื่องจากพ่อของอิน-จันเป็นชาวจีนแต้จิ๋วที่อพยพมาอยู่ในสยามราว ปี 2333 มีอาชีพทำการประมง ข้อมูลหลายแหล่งบอกว่าไม่ทราบชื่อ แต่บางแหล่งระบุว่าชื่อ ทีอาย ซึ่งฟังดูไม่เป็นจีนเท่าไหร่

ภาพอิน-จันในวัย 18 มีเปียม้วนรอบศีรษะ คาดว่าเป็นภาพแรกซึ่งถูกตีพิมพ์ให้โลกเห็น โดยใช้ประกอบบทความของศาสตราจารย์วอร์เรน ในวารสาร American Journal of Science Arts ค.ศ.1829


วิลาส นิรันดร์สุขศิริ ผู้เรียบเรียงหนังสือ “แฝดสยาม อิน-จัน ฅนคู่สู้ชีวิต” ค้นคว้าเพิ่มโดยสอบถามคนจีนซึ่งมีความเห็นว่า อาจเป็นชื่อ ทีไอ่ หรือตี๋อาย มากกว่า

Advertisement

ส่วนแม่ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงบันทึกไว้ในเรื่อง “ฝรั่งขอคนแฝดไทยไปอเมริกา” ว่า ชื่อนาค ในขณะที่ ส.พลายน้อย สะกดชื่อไว้ในหนังสือ “100 รอยอดีต” ว่า นาก โดยบันทึกฝรั่งบอกว่าชื่อ Nok ซึ่งอาจออกเสียงเป็น นก แม่ของอิน-จัน เป็นลูกครึ่งจีน-มาเลย์ ดังนั้น อินจันจึงมีเชื้อจีนในสายเลือดถึง 3 ใน 4 ส่วน

Advertisement

บันทึกส่วนใหญ่ระบุว่า แม่ของอิน-จัน คลอดลูกชายฝาแฝดคู่นี้เมื่ออายุ 35 ปีหลังจากมีลูกแล้ว 4 คน ตอนคลอด ไม่มีปัญหาใดๆ เว้นแต่เด็กที่ลืมตาออกมาดูโลกมีร่างกายติดกัน ทำเอาชาวแม่กลองต่างโจษขาน หลั่งไหลมาดูแฝดเป็นเวลานานนับเดือน

ในวัยเด็ก อิน-จัน ใช้ชีวิตอยู่ในย่านนั้นอย่างปกติเหมือนเด็กทั่วไป แม้ร่างกายติดกัน แต่เรียนรู้ที่จะว่ายน้ำในลำน้ำแม่กลอง พายเรือ วิ่ง เดิน เหมือนคนปกติ

บันทึกฝรั่งยังระบุว่าทั้ง 2 ได้รับการศึกษาจนอ่านออกเขียนได้จนอายุ 7 ขวบ ถ้าจริงแสดงว่าฐานะไม่ถึงกับแร้นแค้นมากนัก

ชีวิตวัยเด็กของแฝดสยามที่แม่กลองซึ่งถูกบันทึกไว้ ยังสะท้อนประวัติศาสตร์สังคมของย่านแม่กลอง โดยระบุถึงการที่ทั้งคู่ทำงานเป็นลูกมือชาวประมง เมื่อสะสมเงินได้ก็ซื้อเรือของตัวเอง ต่อมาจึงทำการค้าอื่นๆ ด้วยการซื้อสินค้าราคาถูก แล้วนำไปขายต่อที่ตลาดน้ำเพื่อหากำไร ขายน้ำมันมะพร้าว เลี้ยงเป็ด และทำไข่เค็มขาย ข้อความในบันทึกส่วนหนึ่งมีดังนี้

“ไข่เป็ดเป็นสินค้าขายดีในกรุงบางกอก และได้รับการเก็บรักษาในลักษณะเดียวคือ แรกทีเดียวจุ่มลงในส่วนผสมนุ่มๆ ที่ประกอบด้วยเกลือและดินเหนียว หลังจากนั้นจึงหุ้มด้วยขี้เถ้าแห้งๆ ทำให้จับต้องได้เหมือนผลพีชหรือแอปเปิล และใช้เป็นอาหารได้นาน 2-3 ปี”

เรือนไทยริมน้ำร่วมยุคสมัยอิน-จัน ซึ่งเกิดและใช้ชีวิตวัยเด็กในแถบแม่กลอง สมุทรสงคราม (ภาพจาก The Kingdom and People of Siam โดย Sir John Bowring ตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ. 1857)


อีกหนึ่งข้อมูลที่ชวนให้จินตนาการถึงภาพในอดีตของแฝดคู่นี้ในลำน้ำแม่กลอง คือบันทึกในช่วงต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยนายโรเบิร์ต ฮันเตอร์ พ่อค้าชาวสก๊อต ซึ่งคนไทยรู้จักในชื่อ “หันแตร” บอกว่า เห็นเด็กแฝดทั้ง 2 เป็นครั้งแรกขณะล่องเรือข้ามแม่น้ำแม่กลองกลับบ้าน สายตาเหลือบเห็นร่างซึ่งว่ายน้ำอยู่ไกลจากเรือ ร่างดังกล่าวมี 2 หัว 4 แขน 4 ขา อวัยวะทั้งหมดแหวกว่ายอย่างกลมเกลียว

นี่คือช่วงเวลาก่อนที่ทั้ง 2 จะถูกขออนุญาตครอบครัวและรัฐบาลสยามนำตัวไปยังสหรัฐ โดยตอนแรกเชื่อว่าเป็นการไปเพียงชั่วคราวเพื่อสร้างรายได้จากการโชว์ตัวและการแสดง กระทั่งสุดท้ายไม่ได้กลับมาเหยียบแผ่นดินไทยอีกเลยตราบชั่วชีวิต

อิน-จัน กลายเป็นคนไทยคู่แรกที่เดินทางไปอเมริกาแล้วได้สัญชาติอเมริกัน มีภรรยาเป็นชาวอเมริกันซึ่งสมรสถูกต้องตามกฎหมาย มีทายาทมากมาย ภายใต้ชื่อตระกูลบังเกอร์


ทริปนี้ ขรรค์ชัย-สุจิตต์ นัดหมาย ประกิต หลิมสกุล หรือ “กิเลน ประลองเชิง” คอลัมนิสต์ชื่อดังจากคอลัมน์ “ชักธงรบ” มาร่วมเดินทางตามรอยชีวิตแฝดสยามในวัยเยาว์

กลองใบใหญ่ ที่วัดใหญ่ แม่กลองเป็นส่วนหนึ่งของตำนานเรื่องเมืองแม่กลอง


กิเลน ประลองเชิง เป็นลูกชาวประมงสมุทรสงครามตัวจริง จึงมีเรื่องราวมากมายพร้อมบอกเล่าในเชิงลึก ดังเช่นครั้งหนึ่งเคยเขียนไว้ในคอลัมน์ของตัวเองถึงประวัติน่าสนใจของ “วัดใหญ่ แม่กลอง” ซึ่งจะเป็นสถานที่ถ่ายทอดสดในครั้งนี้ว่า วัดใหญ่ มี “กลอง” ใบใหญ่ อยู่ในหอกลอง ข้างศาลาการเปรียญ กลองใบนี้เป็นต้นตำนานเรื่อง “เมืองแม่กลอง” ที่บอกเล่ากันมาช้านานว่า “ครั้งหนึ่งมีกลองใบใหญ่ลอยน้ำมา”

ประกิต หลิมสกุล หรือ กิเลนประลองเชิง

นอกจากนี้ ยังยกข้อมูลจาก “เทพชู ทับทอง” ซึ่งเขียนไว้ว่า วัดใหญ่สร้างตั้งแต่สมัยปลายอยุธยา ชื่อวัดตั้งตาม เนิน เดิม มี สามพี่น้อง ผู้สร้าง สมัยธนบุรี จีนกุน บุตรชายจีนกุ๋ย พ่อค้าเรือสำเภา รับราชการเป็นพระราชประสิทธิ์ ถึงสมัยรัตนโกสินทร์ เป็นพระยาศรีพิพัฒน์ จางวางกรมพระคลังสินค้า ต่อมาเลื่อนเป็นพระยาคลัง ฉายา ท่านท่าเรือจ้าง ในรัชกาลที่ 2 เป็นเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ ที่สมุหนายก (ต้นตระกูลรัตนกุล) บ้านท่านสมุหนายกอยู่ใกล้วัด ท่านยกที่บ้านให้สร้างวัด อุโบสถ ศาลาการเปรียญ กุฏิสงฆ์ใหม่ใหญ่โตสวยงาม ชื่อวัดเนินเดิมมี ก็เปลี่ยนไป กลายเป็นวัดใหญ่

สุจิตต์ วงษ์เทศ-ขรรค์ชัย บุนปาน


ด้าน สุจิตต์ คอลัมนิสต์ค่ายมติชนแน่นอนไม่น้อยหน้า เคยค้นคว้าและเขียนถึงที่มาของคำว่า “กลอง” ในชื่อแม่กลองว่า น่าจะมาจากคำในภาษามอญว่า โคลฺง แปลว่า ทาง (คมนาคม) แล้วกลายคำเป็นคลอง (เช่น แม่น้ำลำคลอง) จนเป็นกลองในชื่อแม่กลองสอดคล้องกับต้นน้ำแม่กลอง อยู่ในหุบเขาพรมแดนไทย-พม่า เป็นหลักแหล่งของชาวมอญตั้งแต่ จ.ตาก ต่อเนื่องลงไปถึง จ.กาญจนบุรี ทริปนี้ยังคงมีแผนที่และเส้นทางแม่น้ำลำคลองมาโชว์เฉกเช่นเคย

ส่วน ขรรค์ขัย ผู้มีชีวิตวัยเยาว์ในย่านบางขุนเทียน กรุงเทพฯ ไม่ไกลจากเมือง 2 สมุทร ทั้งสมุทรสาครและสมุทรสงคราม เชื่อว่ามีบรรยากาศและเรื่องเล่าจากความทรงจำในวันวานที่เปี่ยมด้วยสีสันมาเล่าให้ฟังกันอย่างแน่นอน

ห้ามพลาด อังคารที่ 19 มิถุนายน เวลา 14.00 น.

รายการขรรค์ชัย บุนปาน-สุจิตต์ วงษ์เทศ ทอดน่องท่องเที่ยว ตอน “สมุทรสงคราม น้ำแม่กลองเส้นทางเชื่อมสองทะเลสมุทร สุดยอด Siamese twins อิน-จัน” รับชมสดผ่านเฟซบุ๊ก “มติชนออนไลน์” “ข่าวสด” และยูทูบ “มติชนทีวี” วิทยากรพิเศษ ประกิต หลิมสกุล หรือ “กิเลน ประลองเชิง”

สนับสนุนโดย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image