ประสานักดูนก : ท้องแดงแห่งป่าดิบ : โดย นสพ.ไชยยันต์ เกษรดอกบัว

นกพญาปากกว้างท้องแดง Black-and-red Boradbill เป็น 1 ใน นกพญาปากกว้าง 7 ชนิดที่พบในประเทศไทย จากขนาดตัวที่ยาว 21-24 ซม. จึงเป็นนกพญาปากกว้างขนาดกลาง ที่เล็กกว่าพี่ใหญ่ คือ นกพญาปากกว้างสีดำ และ นกพญาปากกว้างหางยาว จุดเด่นของนกกลุ่มนี้คือ จะงอยปาก ที่กว้างหนาคล้ายปากกบ ชื่อไทยจึงตั้งตามหลักรูปพรรณนามของนก รวมถึงชื่อวิทยาศาสตร์ Cymbirhynchus macrorhynchos ที่แปลว่า นกที่มีปากใหญ่และกว้างคล้ายท้องเรือ

“นกพญาปากกว้าง” เป็นนกประจำในป่าดิบ แต่เจ้าท้องแดงนี้อาศัยอยู่ในป่าชายเลนได้ด้วย นอกจากสีเด่น ดำขาวแดงที่ตัดกับสีฟ้าของจะงอยปากบานๆ แล้ว ม่านตาของนกก็มีสีฟ้าเช่นเดียวกัน ดังนั้น นับเป็นนกป่าสีสวยที่เตะตานักดูนกที่ชอบส่องนกสีเจ็บๆ

นกพญาปากกว้างเป็นนกกินแมลง แต่เจ้าท้องแดงชนิดนี้มีรายงานว่านอกจากแมลง ผีเสื้อ ผีเสื้อกลางคืนแล้ว ยังกินหอยทาก ปูและปลาอีกด้วย ซึ่งถ้าทราบว่านกชอบทำรังใกล้น้ำ เหนือลำธารในป่า เช่นที่ แก่งกระจาน แล้ว ก็คงไม่แปลกใจ เพราะรังของนกพญาปากกว้างนับว่าเด่นเตะตา มองหาง่ายมาก ด้วย รังรูปไข่ สร้างจากหญ้าแห้ง ใบไม้ กิ่งไม้แห้งสานกันแน่นหนาคล้ายกระเป๋าห้อยจากปลายกิ่งไม้เล็กๆ ลางทีถ้าลมฝนแรงๆ จะแกว่งไปมาดูเหมือนจะหล่นไม่หล่นแหล่ดูเผินๆ ก็คล้ายเศษขยะไม่น้อย หากลักษณะรังเช่นนี้ ช่วยให้นกรอดพ้นจากการล่ารังของสัตว์อื่นๆ ที่ปีนป่ายบนต้นไม้เก่งๆ อาทิ ลิง ค่างแว่น กระรอก หรืองูที่หมายปองไข่หรือลูกนกในรัง

กลยุทธ์อีกแบบที่เจ้าท้องแดง วิวัฒน์ขึ้นมาได้ คือจะ สร้างรัง 2 รัง ไว้ใกล้ๆ กัน ทางหนึ่งไว้หลอกสัตว์ล่ารังว่ารังไหนเป็นรังจริง หรือรังหลอก อีกทางหนึ่งไว้เป็นเสมือนทางเลือกถ้ารังไหนถูกลมพัดตกหล่นลงพื้น ก็ยังมีรังที่สองไว้สำรอง แม้ว่านกจะต้องทุ่มเทพลังงานมากขึ้นเป็นสองเท่า แต่ก็คงจะคุ้มถ้ามันสามารถวางไข่ เลี้ยงลูกให้รอดปลอดภัยไปได้อีกฤดูกาลหนึ่งตามสัญชาตญาณที่กำหนดให้ต้องดำรงเผ่าพันธุ์ต่อไป

Advertisement

นกพญาปากกว้างจัดเป็นนกเกาะคอนโบราณ ที่กล้ามเนื้อในกล่องเสียงไม่เจริญมากนัก มีกล้ามเนื้อที่ช่วยสร้างเสียงไม่กี่มัด จึงไม่มีเสียงร้องไพเราะเสนาะหู ปรับเปลี่ยนทำนองได้หลากหลาย เช่นนกเกาะคอนส่วนใหญ่ เสียงร้องของมันจะส่งเสียงถี่ๆ ว่า อ๊บๆๆ หรือ แอ๊กๆๆๆ ดังๆ ร้องโต้ตอบกันระหว่างคู่ผสมพันธุ์ ฟังดูคล้ายเสียงกบ นกจะเกาะคู่กันเมื่อเข้าสู่ฤดูผสมพันธุ์ เมื่อเลือกทำเลทำรังได้แล้ว ทั้งสองตัวจะช่วยกันหาวัสดุทำรัง คาบไว้ในจะงอยปาก เริ่มสานทอจากปลายกิ่งไม้ทีละเล็กทีละน้อยในเวลานานกว่าสัปดาห์จนเป็นรูปร่างของรังห้อยกลางอากาศ

นกพญาปากกว้างมีนิสัยเชื่องช้า เกาะที่ใด มักจะเกาะนานนิ่ง ไม่ไหวติงนานเป็นนาที ดังนั้นก่อนที่นกจะบินข้าไปสร้างรัง หรือเข้ารังเพื่อกกไข่ หรือป้อนลูก จึงมีเวลาที่นักดูนกจะส่องชมรายละเอียดของชุดขนที่ไม่แตกต่างระหว่างเพศผู้และเพศเมียได้อย่างละเอียด

ด้วยความที่เป็นผู้อาศัยในป่าดิบที่ราบต่ำ ซึ่งถูกตัดถางเหลือน้อยลงได้ง่ายกว่าป่าบนดอยหรือที่สูง ทำให้นกพญาปากกว้างท้องแดง พบเห็นไม่ใคร่ง่ายนัก ยกเว้นป่าแก่งกระจาน ที่ลานกางเต็นท์บ้านกร่าง จะพบเห็นได้ง่ายๆ ในฤดูฝนที่นกจะจับคู่ทำรัง เหนือลำธาร หรือบ่อน้ำใกล้ถนน นับเป็นนกเด่นชนิดหนึ่งแก่งกระจาน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image