ดนตรี..สร้างชาติ

หูหนาน ซิมโฟนี ออเคสตรา เปิดการแสดงระหว่างวันที่ 25-26 มีนาคม ที่หอประชุมมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล

บทเพลงที่บรรเลงวันแรกและวันที่สองแตกต่างกัน

วันที่ 25 มีนาคม เริ่มต้นด้วยบทเพลง รุสลัน และ ลุดมิลา โอเวอร์เจอร์ ( Ruslan and Ludmila Overture) ของ มิคาอิล กลิงคา (Mikhail Glinka) นักประพันธ์ดนตรีชาวรัสเซีย (ค.ศ.1804-1857)

ตามด้วยคอนแชร์โต้ ชื่อ ไวโอลิน คอนแชร์โต (Violin Concerto) “The Butterfly Lover” หรือบทเพลง “คู่รักผีเสื้อ” ตำนานรักชั้นยอดของจีน..เหลียงจู้

Advertisement

และเพลงฝรั่ง คือ ซิมโฟนี หมายเลข 9 ในบันไดเสียง อี ไมเนอร์ โอปุสที่ 95 ของอันโตนิน ดโวชาร์ก (Antonin Dvorak) นักประพันธ์ชาวโบฮีเมีย (ค.ศ.1841-1904)

บทเพลงวันนั้น … ไม่ได้ไปฟัง

แต่ไปฟังบทเพลงในวันที่ 26 มีนาคม มีเพลง Ruslan and Ludmila Overture เป็นบทเริ่ม

Advertisement

ตามด้วยไวโอลิน คอนแชร์โต ในบันไดเสียง ดีเมเจอร์ โอปุส.35 (Violin concerto in D Major Op.35) ของ ปีเตอร์ ไชคอฟสกี้ (Pyotr Tchaikovsky) นักประพันธ์ชาวรัสเซียน (ค.ศ.1840-1893)

และปิดท้ายด้วย ซิมโฟนี หมายเลข 5 ในบันไดเสียงดี ไมเนอร์ โอปุส. 64 (Symphony No.5 in D minor Op.64) ของ ไชคอฟสกี้

บทเพลงทั้งหมดมี เสี่ยว หมิง (Xiao Ming) เป็นวาทยกร ส่วนนักไวโอลินโซโล คือ หลิว เสี่ยว (Liu Xiao)

การแสดงในวันนั้นมีผู้เข้าชมเยอะ ส่วนใหญ่เป็นชาวจีน แตกต่างจากปกติที่ฝรั่งมานั่งฟังมาก

แถมการแสดงแต่ละช่วง ยังมีเพลงจีนเล่นให้ฟังในช่วง “อังกอร์” ด้วย

ตอนฟังเพลงฝรั่งรู้สึกชอบความเข้มแข็งเปี่ยมพลัง

ตอนฟังเพลงจีนรู้สึกชอบความพลิ้วไหว แว่วหวาน สวยงาม

ฟัง หลิว เสี่ยว หนุ่มชาวจีน โชว์ฝีมือจัดจ้าน บรรเลงบทเพลง Violin concerto in D Major แล้วประทับใจ

บทเพลงคอนแชร์โต้นี้ มีทำนองในท่อนแรกคุ้นหู เพราะ อาจารย์สุทิน เทศารักษ์ นำมาเป็นทำนองในบทเพลง “ม่านไทรย้อย”

แต่สำหรับวันนั้น รู้สึกประทับใจการโซโลไวโอลินในท่อน 2 มากกว่าท่อนแรก

อาจเป็นเพราะท่อนแรก เสียงไวโอลินมีความเข้มแข็งเกินกว่าที่จินตนาการไว้

ผิดกับท่อน 2 ที่เล่นได้อารมณ์เศร้า…โดนใจ

บทเพลงนี้จบลงในท่อนที่ 3 ก่อนที่ หลิว เสี่ยว จะออกมาโชว์ช่วง “อังกอร์” เรียกเสียงปรบมือกึกก้อง

ส่วนบทเพลง ซิมโฟนี หมายเลข 5 ของไชคอฟสกี้นั้น ได้แสดงศักยภาพของหูหนาน ซิมโฟนี ออเคสตรา แบบเต็มๆ

เพลงบทนี้แสดงให้เห็นความพร้อมเพรียงของวงหูหนาน

เห็นความเชี่ยวชาญของนักดนตรีสมาชิกวง

ได้ยินเสียงเครื่องสายอย่าง ไวโอลิน วิโอลา เชลโล ดับเบิลเบส

เครื่องเป่า ทั้งคลาริเนต ฟลุต บาสซูน โอโบ

รวมทั้งเครื่องเป่า เฟรนช์ฮอร์น ทรอมโบน ทรัมเป็ต ทูบ้า

นักดนตรีแต่ละคนบรรเลงเครื่องเล่นแตกต่าง แต่ถ่ายทอดทำนองของบทเพลงออกมาได้อย่างกลมกลืน

ทั้งท่อน 1 ใช้จังหวะเร็ว ท่อน 2 จังหวะช้า ท่อน 3 ร่าเริงมีชีวิตชีวา หรือท่อน 4 ที่กลับมาบรรเลงเร็ว มีพลัง

ในบรรดา 4 ท่อนของซิมโฟนีบทนี้ ท่อนที่ 2 ก็เป็นบทสโลว์ที่ฟังแล้วซึ้งที่สุด

ว่ากันว่าบทเพลงท่อนนี้ เป็นผลงานชิ้นเอกชิ้นหนึ่งของไชคอสฟกี้เลยทีเดียว

การฟังดนตรีในวันนั้นจบลง ผู้ฟังแต่ละคนรับเอาความสุนทรีย์กลับไปอย่างอิ่มเอม

ความสุนทรีย์ที่ได้รับนั้นมีค่าต่อการใช้ชีวิตในฐานะปัจเจก

ขณะเดียวกันความสุนทรีย์ก็มีความสำคัญถึงขนาดช่วยสร้างชาติได้เช่นกัน

เพราะดนตรีสร้างรสนิยมที่ดีให้แก่ผู้ฟัง

รสนิยมที่ดีทำให้คนรักความงาม และมองเห็นความงามในสิ่งที่หลายคนอาจ

มองข้าม

รสนิยมที่ดีทำให้คนมองเห็นความงามจากความสงบ

เห็นความงามจากความสะอาด เห็นความงามความเป็นระเบียบ

รสนิยมที่ดีจะช่วยขัดเกลาพฤติกรรมของคน

คนที่มองเห็นความงามของสันติสุข ย่อมไม่นิยมความรุนแรง

ไม่ชอบทะเลาะเบาะแว้ง ไม่พูดจาหยาบคาย ไม่แสดงพฤติกรรมก้าวร้าวกับใคร

คนที่มองเห็นความงามจากความสะอาด ย่อมทนกับความสกปรกไม่ได้

ไม่ทิ้งขยะไม่เป็นที่ หรือสร้างขยะขึ้นมามากจนเกินไป

คนที่มองเห็นความงามของความเป็นระเบียบเรียบร้อยก็เช่นกัน

คนที่มองเห็นเช่นนั้น ย่อมไม่ปล่อยให้ข้าวของวางระเกะระกะ

ไม่ทำให้ชีวิตยุ่งเหยิง ไร้การจัดการ

เห็นไหมว่ารสนิยมที่ดีทำให้อะไรๆ เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี

และในเมื่อรสนิยมที่ดีเกิดจากอารมณ์อันสุนทรีย์

อารมณ์สุนทรีย์เกิดจากการฟังดนตรี

แล้วทำไมเราจึงไม่ลองไปฟังดนตรีดีๆ กันบ่อยๆ

ฟังดนตรีให้เกิดความสุนทรีย์ รักในความงาม

รักที่จะอยู่ในสังคมที่มีความงาม

สังคมที่ดีงามเป็นสังคมพึงประสงค์ของทุกคน

น่าเสียดายที่ตรรกะเรื่องนี้ หลายคนไม่ได้มอง… หลายคนไม่ได้เห็น

หลายคนจึงอาจไม่รู้ว่าการฟังดนตรีดีๆ ก็สามารถสร้างชาติได้

จนกว่าจะมีโอกาสได้ฟังแล้วอาจได้เห็น

ดนตรีช่วยสร้างคนให้มีจิตใจงาม แล้วคนนี่แหละที่จะสร้างสังคม

สังคมที่ดีย่อมทำให้ชาติเจริญ

พอเห็นเค้าลางแล้วใช่ไหมครับ…ดนตรีช่วยสร้างชาติได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image