ความหลงตัวเองกับความเสี่ยงต่อการกระทำผิดทางเพศ

มีผู้ป่วยประเภทหนึ่งที่พยายามทำความเข้าใจแล้วแต่ก็ยังไม่เข้าใจเสียทีค่ะ กลุ่มนั้นคือคุณผู้ชายที่นอกใจภรรยาไปมีกิ๊ก ที่จริงเรื่องนอกใจไม่ได้จำกัดที่เพศใดเพศหนึ่งแต่ความที่ไม่ใช่ผู้ชายเลยอาจจะทำความเข้าใจไม่ได้เสียทีค่ะ

ที่สำคัญคุณผู้ชายกลุ่มนี้อาจจะไม่ได้เล่าเรื่องนอกใจให้ตัวเองดูแย่ลงแต่มักจะเล่าเรื่องไม่ดีของภรรยาและความชอบธรรมในการนอกใจ เช่น ภรรยาทำตัวห่างเหินไม่สนใจหรือขี้หึงเกินไป เหตุผลเหล่านี้มีความจริงอยู่แน่นอนแต่ด้วยวิธีพูดที่กล่าวโทษคนรอบข้างเพื่อให้การนอกใจกลายเป็นเรื่องดูดีนี่ล่ะค่ะที่ทำความเข้าใจไม่ได้เสียที

ทำให้นึกถึงคุณผู้ชายท่านหนึ่งซึ่งเพิ่งเกษียณอายุราชการ ท่านเป็นโรคซึมเศร้าหลังจากภรรยาเสียชีวิตไม่นาน ก่อนหน้านี้ก็ดูแลภรรยาซึ่งป่วยนอนติดเตียงมาเกือบสิบปี ความที่ไม่มีลูกด้วยกันวันที่ภรรยาไม่อยู่แล้วจึงรู้สึกเหงามากจนเกิดเป็นอาการซึมเศร้า ฟังแล้วก็น่าเห็นใจค่ะ หลังรักษาซึมเศร้าจนหายดี ท่านก็กลับมาพร้อมของฝากจากต่างประเทศและเล่าให้ฟังว่าถึงแม้ภรรยาไม่อยู่แล้วแต่ก็จะพยายามหาความหมายให้ชีวิตต่อไป เรื่องหนึ่งที่ทำไม่ได้ตอนภรรยามีชีวิตอยู่คือการเที่ยวต่างประเทศ

“ของฝากนี่ผมไม่ได้เลือกเองหรอกครับ แฟนผมที่ไปด้วยช่วยเลือกให้”

Advertisement

ฟังทีแรกก็ใจไม่ดีค่ะ หรือท่านจะเศร้าจนลืมไปว่าภรรยาเสียชีวิตแล้ว แต่ปรากฏว่าแฟนคนนี้ไม่ใช่ภรรยาค่ะ เป็นคนที่เริ่มคบกันอย่างลับๆ หลับภรรยาป่วยจนนอนติดเตียง ท่านให้การว่ายังรักและดูแลภรรยาเหมือนเดิมแต่ความเหงาที่ไม่สามารถพูดคุยเรื่องเครียดกับภรรยาได้เพราะกลัวภรรยาซึ่งป่วยอยู่แล้วจะเครียดอีก ท่านจึงคบหากับผู้หญิงอีกคนแต่ก็ยังคงรักภรรยาเหมือนเดิม

เรื่องแบบนี้หาอ่านยากในการ์ตูนนะคะ แต่ในที่สุดก็มีการ์ตูนที่สะท้อนสังคมแบบชายเป็นใหญ่ของญี่ปุ่นตีพิมพ์ในไทยแล้ว แม้เรื่องนี้จะยังเขียนไม่จบแต่ที่แปลเป็นไทยได้ 2 เล่ม คือ ภาคที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1983 (33 ปีก่อน) “ชิมะ โคซาคุ ภาคหัวหน้าแผนก” เรื่องนี้เป็นหนึ่งในหนังสืออ้างอิงสำหรับคนที่ต้องทำงานกับนักธุรกิจชายญี่ปุ่นเนื่องจากสะท้อนค่านิยมของวัฒนธรรมในบริษัทญี่ปุ่นได้เป็นอย่างดีค่ะ

“ชิมะ โคซาคุ” เป็นมนุษย์เงินเดือนที่พบได้ทั่วไปในญี่ปุ่น เขามีภรรยากับลูกสาวที่กำลังจะสอบเข้าโรงเรียนประถมของรัฐ ชิมะมองว่าภรรยาของเขาเย็นชาและห่างเหิน วันๆ เอาแต่ทำงานบ้านกับเลี้ยงลูก ทั้งที่เขาต้องทำงานอย่างหนักเพื่อดูแลครอบครัวแต่ภรรยาก็ไม่สามารถเป็นคู่ชีวิตที่ช่วยแบ่งเบาความเครียดให้ได้เลย ออกจะทำให้เครียดมากขึ้นด้วยซ้ำ

Advertisement

เนื้อเรื่องในแต่ละตอนสะท้อนวัฒนธรรมมนุษย์เงินเดือนที่ต้องเอาใจเจ้านาย ดูแลลูกน้อง และเผลอใจไปมีอะไรกับสาวๆ บางครั้งโดยชิมะพยายามอธิบายให้คนอ่านเข้าใจว่าการนอกใจเป็นเพียงหนึ่งในวิธีสร้างความมั่นใจในความเป็นชายของเขาบวกกับผ่อนคลายความเครียดเพราะภรรยาผู้แสนบึ้งตึงไม่ดูแลเขาตรงนี้ สาวน้อยใหญ่ที่ชิมะมีความสัมพันธ์ด้วยก็ล้วนแต่เป็นคู่รักในฝันของผู้ชาย พวกเธอไม่เรื่องมาก ไม่ก่อปัญหาภายหลัง ไม่เรียกร้อง ดูแล้วสาวเหล่านั้นมั่นใจและเป็นตัวของตัวเอง ล้ำยุคของทั้งสังคมญี่ปุ่นและยุคสมัยสามสิบกว่าปีก่อนมากค่ะ

ชิมะไม่ได้เป็นชายชั่วที่นอกใจภรรยาด้วยความประสงค์ร้ายต่อครอบครัว เขามักจะลังเลสองจิตสองใจและยอมตามสถานการณ์ซึ่งพาไปให้นอกใจในที่สุด ทำไปแล้วก็ต้องสติแตกภายหลังเพราะกลัวว่าภรรยาจะจับได้จนมีปัญหาแต่ก็ยังทำแล้วทำอีก สิ่งนี้อาจจะแสดงให้เห็นความหลงตัวเองบางอย่างเรียกว่า “narcissism”

มีทั้งแบบไม่แย่มากนัก (healthy or non-pathhological narcissism) ซึ่งคนกลุ่มนี้มีลักษณะมั่นใจในตัวเองสูง กล้าทำงานที่คนอื่นอาจจะขยาดไม่กล้าทำเพราะกลัวล้มเหลว

แต่ถ้าเป็นแบบที่ก่อปัญหา (pathological) มักจะมั่นใจเกินไปจนทำเรื่องไม่ถูกต้องบางอย่างเพราะเชื่อว่าสมควรได้รับสิ่งดีๆ นี้ (เช่น ทุจริตหรือทำผิดกฎหมาย) และขาดความเห็นอกเห็นใจคนอื่นโดยอาจให้เหตุผลที่ฟังไม่ขึ้นนัก (เช่น ฉันหาเงินให้ครอบครัวตั้งเยอะแค่นอกใจนิดหน่อยไม่เป็นไร โดยไม่เห็นใจคนในครอบครัว) คนหลงตัวเองอาจเกิดจากทั้งมั่นใจจนไม่ลืมหูลืมตาหรือเป็นแบบวิตกจริตสูงจนต้องคอยระแวดระวังความมั่นคงปลอดภัยของตัวเองเสมอ กลุ่มแรกอาจทำเรื่องไม่ดีอย่างเปิดเผยไม่กลัวอะไรแต่กลุ่มหลังมักจะแอบๆ ทำไม่ดีซึ่งชิมะน่าจะเข้าข่ายแบบหลัง

งานวิจัยของคุณเอมิลี มวลโซ ซึ่งสำรวจนักศึกษาชาย 234 คน พบว่า narcissism แบบแคร์สายตาคนอื่นจนต้องแอบๆ ทำไม่ดีมีแนวโน้มจะดื่มสุราและล่วงละเมิดทางเพศผู้หญิงหรือกระทำผิดทางเพศ

คุณเอมิลีสร้างสมมุติฐาน 2 แบบ แบบแรกเชื่อว่า narcissism อาจจะมั่นใจในตัวเองมากเกินไปจึงรู้สึกไม่กังวลกับการมีเพศสัมพันธ์กับคนที่ไม่ได้เป็นคู่รักกันซึ่งถือว่าเป็นพฤติกรรมเสี่ยง อีกสมมุติฐานหนึ่งเชื่อว่าเกิดจากความก้าวร้าวและความโกรธของเพศชายที่ต้องการแสดงต่อผู้หญิงโดยต้องการสื่อให้เห็นว่าต้องการทำให้ความสัมพันธ์กับแฟนตัวจริงแย่ลงเพราะเธอไม่แคร์ฉันเลย ฉันจึงไม่แคร์เธอเหมือนกัน ข้อหลังนี้เหมือนชิมะไม่มีผิดค่ะ

ที่บอกว่าผู้ชายก็ยังเป็นเด็กผู้ชายวันยังค่ำอาจจะสะท้อนได้ดีจากเรื่องนี้ค่ะ การเป็นเด็กผู้ชายไม่ได้หมายถึงยังอ่านการ์ตูนหรือเล่นเกม แต่อาจจะหมายถึงยังตามใจตัวเองโดยไม่คำนึงถึงความรู้สึกของคนอื่น โดยเฉพาะคนที่สำคัญกับตัวเองด้วยเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น (แต่ก็ขึ้นสำหรับคนทำล่ะนะคะ)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image