ประสานักดูนก : สันกาลาคีรี

นกกระเต็นน้อยสามนิ้วหลังแดง

สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา คนเขียนเดินทางไปดูนกที่ อุทยานแห่งชาติสันกาลาคีรี ที่ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา สภาพพื้นที่เป็นป่าดิบที่ราบต่ำ เชื่อมต่อกับป่าฮาลา-บาลา จ.ยะลา ใกล้ชายแดนประเทศมาเลเซีย

เป้าหมายหลักในช่วงนี้แม้ว่าจะเสี่ยงฝนอยู่บ้าง คือ นกเงือกกรามช้างปากเรียบ Plain-pouched Hornbill ที่เป็นนกเงือกไทยชนิดเดียวที่มีพฤติกรรมอพยพย้ายถิ่นตามฤดูกาล ระหว่างถิ่นอาศัยในฤดูผสมพันธุ์ ตั้งแต่ต้นปี ที่ป่าห้วยขาแข้ง เมื่อลูกนกเงือกออกจากโพรง ก็จะพากันอพยพยกครัวลงใต้ มาตามป่าภาคตะวันตก และภาคใต้ ผ่านอุทยานแห่งชาติหลายแห่ง อาทิ น้ำตกกรุงชิงใน อช.เขาหลวง, อช.แก่งกรุง, อช.ใต้ร่มเย็น, อช.สันกาลาคีรี และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา ก่อนที่จะบินข้ามชายแดนเข้าประเทศมาเลเซียไปรวมฝูงนับพันตัวที่ป่า Belum ในรัฐเปรักทางภาคเหนือฝั่งตะวันออกของของประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นป่าดิบที่ราบต่ำถูกน้ำท่วม จากการสร้างเขื่อนคล้ายป่าคลองแสงในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง และ อช.เขาสก

ในอดีต เมื่อข้อมูลการพบเห็นฝูงนกเงือกกรามช้างปากเรียบ ระหว่างเส้นทางอพยพยังมีน้อย จึงไม่ทราบว่านกเงือกหายากใกล้สูญพันธุ์ ระดับ เข้าข่ายจะสูญพันธุ์ Vulnerable ทั่วโลกเหลือประชากร ประมาณ 7,000 ตัวเท่านั้น ที่สำคัญ นับเป็นนกถิ่นเดียวของอาเซียน เพราะแพร่กระจายพันธุ์ใน 3 ประเทศเท่านั้นตั้งแต่ประเทศเมียนมา ตามแนวเทือกเขาตะนาวศรี ลงไปจรดคาบสมุทรมลายู ในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทยและมาเลเซียเท่านั้น ดังนั้น ในแง่การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เจ้าปากเรียบนับเป็นนกเด่นของภาคใต้ ในป่าดิบสันกาลาคีรีที่นกต้องแวะ เพื่อหาอาหารกินระหว่างทาง เติมพลังงานก่อนเดินทางต่อไปยังจุดหมายปลายทางที่ป่า Belum

จากการสังเกตพฤติกรรมของนกเงือกที่บริเวณที่ทำการของ อช.สันกาลาคีรี ซึ่งนกจะเริ่มบินออกจากจุดเกาะนอนกลางคืน ตั้งแต่เช้า 7 โมงเป็นต้นไป พบว่าจะรวมฝูงมีตั้งแต่ 3 ตัว ถึงหลายสิบตัว ในฝูงเล็กๆ 3 หรือ 7 ตัว พบว่าประกอบด้วยนกเพศผู้
เพศเมีย และลูกนกที่ยังไม่มีรอยควั่นบนสันปากบน หรือบางตัวมีรอยควั่น 1 เส้น ของนกวัยรุ่น น่าจะเป็นครอบครัวที่อพยพมาด้วย เมื่อมาพบครอบครัวอื่นๆ ถ้าไม่ได้มาด้วยกัน ก็จะรวมฝูง ทิศทางการบินของนกจะบินไปทางเดียวกัน หายเข้าไปในหุบเขา ซึ่งเข้าใจว่าจะไปหาลูกไม้ ลูกไทรกินเพื่อยังชีพ หลังจากนั้นในช่วงบ่าย ขนาดของฝูงจะใหญ่ขึ้น เป็น 20 ถึง 50 ตัว โดยประมาณ และในวันอาทิตย์ที่ 1 กรกฎาคม พบถึง 120 ตัว โดยประมาณ ใน 2 ฝูง

Advertisement

ภาพการบินของนกเงือกหายากชนิดนี้ ที่บินไปมาเหนือลานโล่งของอุทยานฯ บางครั้งต่ำมากขนาดได้ยินเสียงลมใต้ปีกอย่างชัดเจน นับเป็นปรากฏการณ์น่าตื่นเต้นสำหรับนักดูนก ไม่แพ้เหยี่ยวอพยพนับพันนับหมื่นตัว ที่น่ายินดีอีกอย่าง คือ ชาวบ้านท้องถิ่น ที่เข้าไปกรีดยางในสวนตามแนวชายป่าของอุทยานฯก็ตระหนักรู้ เรื่องการมาของนกเงือก และคอยแจ้งข่าวว่าพบเห็นตรงไหน อย่างไร เวลาใด ปฏิสัมพันธ์เช่นนี้ ร่วมกันการให้ความรู้ ขอความร่วมมือและป้องปรามของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ ย่อมมีส่วนช่วยปกป้องนกเงือกกรามช้างปากเรียบให้พ้นจากภัยคุกคามจากการล่าได้มากขึ้นอีกด้วย

นอกจากเจ้าปากเรียบ นกเด่นแห่งป่าสันกาลาคีรีแล้ว ยังมีนกใต้อีกหลายชนิด ที่เป็น southern specialty สำหรับคนเขียนหมายตา หมายใจว่าอยากจะเห็นกับตาตนเอง เช่น นกกาน้อยแถบปีกขาว นกกาฝากอกแดง นกกระเต็นน้อยสามนิ้วหลังแดง ที่เคยกล่าวถึงไปแล้วพบเห็นได้ไม่ยากในภาคใต้ ไว้จะเล่าให้ฟังต่อไปครับ

ชมคลิปฝูงนกเงือกกรามช้างปากเรียบ https://www.youtube.com/watch?v=OLEGC7UnYyk

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image