‘โซตัส’ สร้างความสัมพันธ์พี่น้อง หรือแค่ ‘รอยด่าง’ ทางสังคม?

เป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่สืบต่อกันมานานในรั้วมหาวิทยาลัย สำหรับการรับน้องใหม่ด้วยกิจกรรมกระชับความสัมพันธ์

บ้างก็ “สร้างสรรค์” บ้างก็ “สร้างดราม่า” เนื่องจากในหลายสถาบันนำ “ระบบโซตัส” (SOTUS) มาใช้ ทำให้รูปแบบการรับน้องมีความเข้มข้น รุนเเรงต่อร่างกายเเละจิตใจ

ปรากฏเป็นภาพกิจกรรมที่หลายคนเเทบรับไม่ได้

เมื่อไม่นานมานี้ ภาพการรับน้องพร้อมคำสั่ง “จูบดิน” ของนักเรียนวัยมัธยม หรือการ “จูบก้น” ของนิสิต-นักศึกษารั้วมหาวิทยาลัย กระทั่งการแลกลูกอมจากปากต่อปากระหว่างนักศึกษาวิชาทหาร (ร.ด.) ชาย-ชาย และ ร.ด.หญิง-หญิง สร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์สนั่นโลกออนไลน์และสังคมไทยถึง “ความเหมาะสม” ดังกล่าว

Advertisement

จนพาลให้ขบคิดว่า การรับน้องควรมีต่อหรือไม่

เนื่องจากคนจำนวนไม่น้อยมองว่า การรับน้องยิ่งมีก็ยิ่งเสื่อม ยิ่งจัดก็ยิ่งมีการล่วงล้ำสิทธิมนุษยชน ขณะที่บางคนสนับสนุนให้มีรับน้องต่อไป เพราะเป็นการสร้างสัมพันธ์ที่ดีระหว่างรุ่นพี่กับรุ่นน้อง หรือบางกิจกรรมเองก็เป็นกิจกรรมสร้างสรรค์

“ทุกคนต้องคิดเหมือนกัน

ทำเหมือนกัน

ซึ่งการจะเลิก หรือ ไม่เลิก ไม่ใช่ประเด็น

แต่อยู่ที่จะทำไปเพื่ออะไร”

มีได้ ไม่ห้าม แต่ต้องรู้ว่าทำเพื่ออะไร

“ผมอยากให้ดูที่วัตถุประสงค์ ไม่ใช่ว่าจะห้ามไม่ให้มี แต่ให้ดูว่าทำไปเพื่ออะไร”

Advertisement

คำกล่าวจาก ผศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เคยออกมาให้ข่าวต่อต้านการรับน้อง

ผศ.ดร.ยุกติ-มุกดาวิจิตร

พร้อมระบุว่า หากบอกว่าทำไปเพื่อให้รุ่นน้องเคารพรุ่นพี่ หรือให้ทุกคนรักใคร่กลมเกลียวกัน เราควรต้องตรวจสอบด้วยว่า นอกจากวัตถุประสงค์ดังกล่าว ระบบรับน้องจะยังแฝงด้วย “การละเมิดคุณค่าของมนุษย์” แบบใดอีก ซึ่งอาจหมายถึงความไม่เท่าเทียมกัน เพราะน้องต้องอยู่ใต้อาณัติของพี่ และไม่ได้รับอิสระทางความคิดหรือไม่

“ทุกคนต้องคิดเหมือนกัน ทำเหมือนกัน ซึ่งการจะเลิกหรือไม่เลิกไม่ใช่ประเด็น แต่อยู่ที่จะทำไปเพื่ออะไร และสังคมยอมรับได้หรือไม่” ผศ.ดร.ยุกติยืนยัน

อย่างไรก็ตาม “ระบบโซตัส” เริ่มมีพัฒนาการดีขึ้น ด้วยเพราะการพยายามปรับรูปแบบการรับน้องเพื่อลดความรุนแรงของสถาบันต่างๆ แต่ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ “ความรุนแรง” หากแต่อยู่ที่ “การลดคุณค่าความเป็นมนุษย์ในหลักมนุษยธรรม” ดังกล่าวข้างต้น ซึ่งปัจจุบันยังคงปรากฏอยู่

เป็นผลจาก “วัฒนธรรมการปลูกฝังการศึกษาของไทย” ที่มิได้ให้ความสำคัญกับคุณค่าของคนในเรื่องสิทธิมนุษยชน หรือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามหลักสากลมากพอ

“ผมว่าระบบการศึกษาไทยล้มเหลวในสิ่งเหล่านี้” ผศ.ดร.ยุกติกล่าวหนักแน่น

เมื่อสังคมไทยเห็นว่า วิธีการสอนสั่งต้องมีความรุนแรงดั่ง “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” ระบบการศึกษาไทยก็จะไม่พัฒนาไปทางไหน คุณค่าที่แท้จริงควรใช้เหตุผลมากกว่าความรุนแรงหรือการใช้อำนาจ หากเราไม่เปลี่ยนความคิด ปรากฏการณ์แบบนี้ก็จะยังมีต่อไปเรื่อยๆ แม้จะมีข่าวออกมาพูดถึง “ความไม่เหมาะสม” ของการรับน้องก็ตาม

อย่างเรื่อง “ระบอบอำนาจนิยม” นั้น ผศ.ดร.ยุกติแนะนำให้มองคนใกล้ตัวอย่าง “ผู้นำประเทศ” ที่ยังไม่รู้จักใช้เหตุผล ซึ่งเป็นสิ่งสะท้อนสังคมไทยอยู่แล้ว ดังนั้น ไม่ต้องหวังที่จะเปลี่ยนแปลงเด็ก เพราะสังคมของผู้ใหญ่ทำให้เด็กเป็นเช่นนี้

“ความจริงเรื่องนี้คนที่ควรรับผิดชอบก็คือผู้ใหญ่ทุกคน ซึ่งความรุนแรงในระบบการศึกษามีอยู่ทุกช่วงวัยของสังคมไทย และมีมาอย่างยาวนานแล้ว เพียงแต่เดี๋ยวนี้เราเริ่มยอมรับมันไม่ได้ ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีในการเริ่มพัฒนาฟื้นฟูระบบที่จำเป็น ต้องถอนรากถอนโคนออกมาทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นความคิดและทัศนคติอื่นๆ ที่ล้วนเกี่ยวข้องกับเรื่องคุณค่าในความเป็นมนุษย์” ผศ.ดร.ยุกติทิ้งท้าย

มหาวิทยาลัยออกกฎระเบียบ = เสือกระดาษ

ขณะที่ “เหน่อ หนองกระโดน” ซึ่งเป็นนามปากกาของแอดมินเพจเฟซบุ๊ก “ANTI SOTUS” ผู้ตั้งตัวเป็นอริกับระบบโซตัสทุกรูปแบบ และมักเผยแผร่คลิปวิดีโอการรับน้องประเภท “ไม่เหมาะสม” ในโลกโซเชียล บอกว่า สถานการณ์การรับน้องค่อนข้างทรงตัว เนื่องจากเป็นการปฏิบัติตามธรรมเนียมมานานหลายปี แต่แฟนเพจนี้ก่อตั้งมาเพียง 5 ปีเท่านั้น หากต้องการจะเปลี่ยนแนวคิดของสังคมกลุ่มนี้ได้จำเป็นต้องใช้ “เวลา”

“แฟนเพจเราถือเป็นองค์กรสื่อเลือกข้าง และทำงานได้เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น ไม่มีอำนาจในการจัดระเบียบถึงระดับรากฐานได้ เรามีเพียงนำข้อเท็จจริงมาประกาศให้สังคมรับรู้ มีบางครั้งที่สถาบันต่างๆ เปิดรับและปรับเปลี่ยนระบบการรับน้องขึ้นมาใหม่ โดยที่ผ่านมาก็ปรับตัวอยู่ตลอด เช่น การประกาศควบคุมดูแลห้ามไม่ให้นักศึกษาจัดกิจกรรมรับน้องอย่างชัดเจน” 

แต่การออกกฎระเบียบของมหาวิทยาลัยเป็นเพียงแค่เสือกระดาษเท่านั้น มิได้ให้ความสำคัญไปถึงกระบวนการยุติธรรม

แอดมินเพจแอนตี้โซตัสยกตัวอย่างเจ้าหน้าที่ใน จ.น่าน ที่ปล่อยให้เรื่องเงียบหาย โดยพนักงานสอบสวนอ้างว่า “งานล้นมือ” ทำให้คดีความรุนแรงในการรับน้องกลายเป็นเรื่องเล็ก บอกปัด และผ่านไปอย่างง่ายดาย

“การรับน้องในระดับมัธยมทราบว่าเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่มีมานานเทียบเท่ากับมหาวิทยาลัยโดยส่งไม้ต่อกันมา เพราะการคืนสู่เหย้าของรุ่นพี่ ซึ่งสาระของการส่งต่อคือ เพื่อต้องการถ่ายทอดความนิยมในสถาบันร่วมกัน นำมาซึ่งการสร้างเครือข่ายระบบอุปถัมภ์ หากต้องการแก้ไขเชิงโครงสร้าง นับเป็นเรื่องยากเทียบเท่าการปฏิรูปการศึกษา เพราะเรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างสังคมไทย และการกระทำของกลุ่มที่แสดงการต่อต้านก็สร้างแรงขับให้กับสังคมพอสมควร”

จัดระบบที่ต้นทาง ปลูกฝังที่การศึกษา

ด้าน รศ.ดร.กุลธิดา ธรรมวิภัชน์ รองคณบดีฝ่ายสารนิเทศและกิจการนักศึกษา คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า ไม่แน่ใจว่าเดี๋ยวนี้โรงเรียนมัธยมมีการรับน้องรุนแรงแบบนั้นแล้วหรือ และไม่แน่ใจว่าเด็กนำแบบอย่างความรุนแรงดังกล่าวมาจากไหน เนื่องจากแรกเริ่มของระบบโซตัสเป็นระบบที่ดี เพียงแต่เด็กที่นำมาปฏิบัติเป็นเพียงประสบการณ์ชั้น 2 คือ ไม่ได้สัมผัส แต่เรียนรู้เอง

รศ.ดร.กุลธิดา-ธรรมวิภัชน์

“การดูจากยูทูบอาจเกิดจากพฤติกรรมเลียนแบบ บวกกับเทคโนโลยีสมัยนี้ที่แค่เปิดมือถือก็สามารถเลียนแบบได้แล้ว สิ่งนี้อาจเป็นตัวการทำให้เกิดเรื่องเหล่านี้ขึ้น ฉะนั้น เรื่องการจัดกิจกรรมควรมีอาจารย์ให้คำปรึกษา และควรดูแลอย่างใกล้ชิด”

ขณะเดียวกัน รศ.ดร.กุลธิดาชี้ว่า กิจกรรมรับน้องเป็นความรับผิดชอบของทุกฝ่าย ทั้งผู้ปกครอง ครู อาจารย์ หรือสถาบัน เพราะการจัดกิจกรรมต้องขอสถานที่จากสถาบันการศึกษา ประกอบกับคนขออนุญาตต้องเป็นประธานโครงการ ต้องมีผู้ให้คำปรึกษาโครงการ มีอาจารย์อนุญาตให้ใช้สถานที่ ซึ่งการจัดกิจกรรมครั้งหนึ่งต้องเป็น “ความร่วมมือจากทุกฝ่าย”

“ผู้ปกครองต้องมาดูว่าเด็กทำกิจกรรมอะไร อาจารย์ต้องดูแลควบคุมไม่ให้เกิดความเสื่อมเสีย หากควบคุมได้ก็จะเป็นประโยชน์มากเลยทีเดียว ทั้งนี้ ต้องดูเจตนาของการจัดกิจกรรมจากทุกฝ่ายว่ามีเจตนาที่ดีหรือไม่ อย่างไรก็ตาม การที่เด็กมีการใช้ความรุนแรง ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะทำตามอาจารย์จากสถาบันของตนก็เป็นได้ ฉะนั้น แกนหลักในการยับยั้งความรุนแรงในสถาบันการศึกษา ตลอดจนร่วมเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมก็ควรร่วมมือกันทั้งสถาบันการศึกษาและครอบครัว โดยลดความรุนแรงในการสอน เปลี่ยนเป็นการคุยด้วยเหตุผล และจัดกิจกรรมที่ทำแล้วเกิดประโยชน์ เพื่อให้เด็กนำไปปรับใช้เป็นตัวอย่างที่ดีต่อไป”

ดังนั้น ระบบโซตัสควรมีต่อไปหรือไม่จึงไม่สำคัญเท่ากับหลายฝ่ายตื่นตัวและพูดถึงเรื่องนี้มากขึ้น ถือเป็นสัญญาณดีที่จะช่วยขจัดความรุนแรงออกไปจากระบบการศึกษาและสังคมไทย ทุกระบบมีทั้งข้อดีและข้อเสีย อย่างโซตัสเอง ถ้ารุนแรงก็ย่อมไม่ดี แต่ถ้านำมาใช้ในช่วงเวลาจำกัดหรือมีผู้ควบคุมที่ดีพอ จะทำให้เด็กรู้จักกันในเวลาเร็วขึ้น

รศ.ดร.กุลธิดายังบอกด้วยว่า หากต่อยอดกิจกรรมในทางที่ดี จะทำให้รุ่นพี่-รุ่นน้อง หรือรุ่นเดียวกันเกิดความสนิทสนมกันมากกว่าการไม่จัดกิจกรรมใดๆ เลย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ตัวกิจกรรมต้องไม่รุนแรง เพราะหากเป็นไปในทางรุนแรง คาดว่าอาจเป็นการใช้อำอาจมากเกินไป แต่ถ้านำมาปรับใช้แบบพอประมาณ มีระดับ มีลิมิต แบบนี้สามารถรับได้

ทว่าความรุนแรงในระบบการรับน้องยังมีออกมาต่อเนื่อง ไม่ว่าใครจะมองว่าสิ่งนี้ช่วยสร้างความสัมพันธ์ หรือเป็นแค่รอยด่างของสังคม แต่ความคาดหวังจากหลายฝ่ายซึ่งเห็นพ้องต้องกันว่า ควรจัดระบบที่ต้นทาง นั่นคือการปลูกฝังที่ระบบการศึกษา ซึ่งจะเป็นการช่วยขัดเกลาระบบการรับน้องให้เป็นความถูกต้องตามครรลองคลองธรรม

และเป็นการคงไว้ซึ่ง “ประเพณี” ในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างรุ่นพี่-รุ่นน้องให้ถูกต้องตามหลักมนุษยธรรมด้วย 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image