ขุดลึกร่องรอย’อิสลาม’ในสยามเมื่อกว่าพันปี ล่องเรือมาเพื่อค้า ร่วมสมัยทวารวดีในยุคทองของโลกมุสลิม

ซ้าย-ภาพประกอบในวรรณกรรมช่วงปลายราชวงศ์อับบาสิยะห์ ถูกใช้ในการศึกษารูปแบบเรือ ซึ่งมีหางเสือ มีการเย็บไม้กระดาน 2 เสากระโดงมีรอกตรงปลาย สมอเรือทรงตะขอ ขวา-เครื่องถ้วยเขียนสีโลหะแบบมันวาว ผลิตที่อิรักแล้วแพร่ไปอียิปต์ ในไทยพบชิ้นส่วนขนาดเล็กที่วัดมหาธาตุ ราชบุรี

ได้รับความสนใจอย่างล้นหลามจนต้องนำเก้าอี้มาเสริมแต่ก็ยังไม่พอ สำหรับงานเสวนาหัวข้อ “โบราณคดีอิสลาม จากรัฐทวารวดี ปาตานี ถึงอยุธยา” ที่ห้องประชุมริมน้ำ คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อไม่กี่วันมานี้

หนึ่งในประเด็นน่าสนใจอย่างยิ่ง ถูกนำเสนอโดย สุนิติ จุฑามาศ นักศึกษาปริญญาโทสาขาโบราณคดีอิสลาม มหาวิทยาลัยจอร์แดน ที่ออกมาพูดเรื่อง “โบราณคดีอิสลาม การค้าทางทะเลสู่อิสลามมานุวัตรในยุคโบราณ ทวารวดี-ศรีวิชัย สู่รัฐสุลต่านมลายูปาตานี”

ชื่อหัวข้อยาวมาก และการบรรยายก็เต็มไปด้วยมีรายละเอียดยิบย่อยมากมาย หากให้สรุปในไม่กี่บรรทัดเพื่อความเข้าใจตรงกันเบื้องต้นก่อนพิจารณาดีเทลปลีกย่อยก็คือ ชาวมุสลิมล่องเรือทางทะเลมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อการค้าเป็นหลัก ไม่ใช่เพื่อเผยแผ่ศาสนาหรือมาพร้อมกองทัพ

แผนที่เส้นทางการค้าจากอ่าวเปอร์เซีย ขยับตัวตามมหาสมุทรอินเดียไปทางตะวันออก มายังอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยมีจุดมุ่งหมายคือจีน

หลักฐานประจักษ์ในราวพุทธศตวรรษที่ 13-16 หรือกว่าพันปีมาแล้ว ในยุคต้นราชวงศ์อับบาสิยะห์ ซึ่งเป็นยุคทองของโลกมุสลิม ร่วมสมัยอารยธรรมทวารวดีทางภาคกลางของไทยและศรีวิชัยทางภาคใต้ โบราณวัตถุส่วนใหญ่พบในเมืองท่าทางภาคใต้มากกว่าที่ราบลุ่มภาคกลาง อาจสะท้อนให้เห็นว่าเมืองท่าภาคใต้เป็นแหล่งรับสินค้าใหญ่ แล้วส่งต่อมายังภาคกลางอีกทอดหนึ่ง อย่างไรก็ตาม การพบเรือโบราณพนมสุรินทร์ ที่สมุทรสาคร ซึ่งเป็นเรืออาหรับชี้ให้เห็นว่ามุสลิมก็ขึ้นมาถึงอ่าวไทยด้วย

Advertisement

ต่อจากนี้ คือข้อมูลที่ สุนิติ บรรยายอย่างชวนตื่นตาตื่นใจชนิดที่ว่าแม้ยาวยืดไม่มีพักเบรก ก็แทบไม่มีใครลุกจากเก้าอี้

จากเปอร์เซีย สู่อุษาคเนย์ การค้าทางทะเลบน ‘เส้นทางที่คุ้นเคย’

เริ่มประเด็นแรกที่คำถามสำคัญอันเป็นพื้นฐานว่ามุสลิมเข้ามาในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และไทยเมื่อไหร่ และอย่างไร?

สุนิติ บอกว่า ชาวมุสลิมเจตนามาแถบนี้พร้อมการค้าทางทะเล โดยปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีที่แสดงถึงการค้าสมัยราชวงศ์อับบาสิยะห์ในไทยตั้งแต่พันกว่าปีมาแล้ว ร่วมสมัยทวารวดี ไม่เคยมีหลักฐานว่านำกองทัพมาบังคับคนท้องถิ่นเปลี่ยนศาสนา อย่างไรก็ตาม การค้าระหว่างตะวันออกกลางกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีมาก่อนการเข้ามาของศาสนาอิสลามแล้ว

“ชาวเปอร์เซียเป็นนักเดินเรือที่เชี่ยวชาญเดินทางมาในดินแดนแถบนี้โดยเป็นเส้นทางที่คุ้นเคย แต่พัฒนาการเดินเรือพัฒนาขึ้นในยุคของชาวมุสลิม ซึ่งศาสนาอิสลามถือกำเนิดขึ้นในคาบสมุทรอาหรับ เมื่อพันกว่าปีก่อน และตั้งแต่สมัยของศาสดามูฮัมหมัด ชาวมุสลิมก็สัมผัสกับการเดินเรือและทะเลแล้ว ครั้งแรกของประวัติศาสตร์ชาวมุสลิมที่สัมผัสการเดินเรือ คือการอพยพจากการกีดกันทางศาสนาในเมกกะไปยังอะบิสซิเนีย หรือเอธิโอเปียในปัจจุบัน หลังจากนั้น เมื่อศาสดามุฮัมหมัดเสียชีวิตใน พ.ศ.1175 ผู้สืบทอดได้เผยแพร่ศาสนาอิสลามและขยายพรมแดนทางศาสนาออกไปยังโดยเริ่มไปซ้อนทับเมืองท่าโบราณในอ่าวเปอร์เซียที่ถูกใช้ค้าขายกับดินแดนตะวันออกตั้งแต่ยุคก่อนหน้านั่นเอง”

สุนิติ จุฑามาศ นักศึกษาปริญญาโทสาขาโบราณคดีอิสลามมหาวิทยาลัยจอร์แดน

ก่อนเขยิบถึงรายละเอียดต่อไป มีการขยายความเน้นย้ำว่า ยุคราชวงศ์อับบาสิยะห์ คือ ราชวงศ์ที่ 2 หลังจากนะมีมูฮัมหมัดเสียชีวิต เป็นยุคทองด้านวรรณกรรมและศิลปวิทยาการในโลกอิสลาม มีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงแบกแดด ประเทศอิรักในปัจจุบัน ทำให้อาณาจักรอิสลามขยับเข้าไปใกล้ดินแดนตะวันออกมากขึ้น

“วรรณกรรมอย่างอาหรับราตรี อะลาดิน พันหนึ่งราตรี ปรากฏในยุคนี้ นอกจากนี้ยังมีเมืองใหญ่ๆ เกิดขึ้นมากมาย แบกแดดถือว่าเจริญที่สุดในโลกยุคนั้น มีประชากรเกือบเทียบเท่ากรุงคอนสแตนติโนเบิล ของจักรวรรดิโรมันไบเซนไทน์ เมื่อชาวมุสลิมได้ปกครองพื้นที่อ่าวเปอร์เซีย ซึ่งเป็นเมืองท่าโบราณเดิมอยู่แล้วบวกกับความต้องการที่จะค้ากับโลกตะวันออกเพื่อตอบสนองยุคทองของศิลปวิทยาการ สินค้าต่างๆ เช่น ผ้า สมุนไพร ยา ของป่าจำเป็นต้องถูกนำมาในศูนย์กลาง จึงผลักดันให้ชาวมุสลิมออกเดินทาง ซึ่งในอีกแง่หนึ่งก็เป็นการแสวงหาความรู้ไปด้วย ดังวจะของท่านนะบีมูฮัมหมัดศาสดาที่ระบุว่า จงแสวงหาความรู้ แม้ว่าท่านจะต้องไปไกลถึงเมืองจีน”


เช็กโลเกชั่น ‘ชื่อเมืองไม่ลับ’ แต่ยังไม่รู้ จากวรรณกรรมอาหรับ

นักโบราณคดีท่านนี้ยังเปิดประเด็นเรื่องชื่อเมืองอันเกี่ยวเนื่องกับการค้าโดยปรากฏในวรรณกรรมและบันทึกของพ่อค้า บ้างก็ชัดเจนว่าคือที่ไหน บางก็ยังไม่ชัวร์ ต้องรอเช็กกันต่อไป

“วรรณกรรมเอ่ยถึงผู้คน สินค้า แม้กระทั่งการเมือง วิถีชีวิตคนท้องถิ่นที่นักเดินเรือบรรยายไว้ บางเล่มเอ่ยชื่อเมืองแปลกๆ ที่ต้องศึกษาต่อไปว่าหมายถึงเมืองอะไร ตั้งอยู่ตรงไหน ประกอบกับหลักฐานทางโบราณคดีที่จะเชื่อมโยงกันเพื่อค้นหาโลเกชั่น อย่าง อะลังกาบาลุส (Alangabalus) สันนิษฐานว่าคือ หมู่เกาะนิโคบาร์ ส่วนซ็อนฟ์ น่าจะเป็น จามปา ในอนาคตอาจต้องเอามาวิเคราะห์กันต่อ แต่บางชื่อก็ทราบ เช่น ซาบัจญ์ คือ ชวา”

นอกจากวรรณกรรม แน่นอนว่ายังมี แผนที่ ซึ่งกษัตริย์โรเจอร์ ที่ 2 แห่งซิซิลี จ้างให้นักเขียนแผนที่ชาวมุสลิมเขียนแผนที่โลกขึ้นมา

“ยุคนั้นคือยุคทางปัญญาของโลกมุสลิมในขณะที่ยุโรปยังตกอยู่ในยุคมืด อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ จะเขียนขึ้นมาได้ แต่ได้รับองค์ความรู้จากกรีก อินเดีย เปอร์เซีย ผสมกับความรู้ของตัวเองจากการเดินเรือ สภาพทางภูมิศาสตร์อาจยังไม่เที่ยงตรงนัก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นรูปเกาะๆ แก่งๆ ในแผนที่”

ภาพจำลองเรืออาหรับที่เกาะเบลิตุง อินโดนีเซีย คล้ายกับเรือพนมสุรินทร์ที่เพิ่งพบในไทยเมื่อปี 2556 ทั้งคู่เป็นเรืออาหรับยุคต้นราชวงศ์อับบาสิยะห์ ร่วมสมัยทวารวดีกว่าพันปีมาแล้ว ปัจจุบันยังมีลูกหลานนักเดินเรือในอดีตตามกลุ่มชาติพันธุ์ในคูเวตกาตาร์ และโอมาน สืบทอดเทคนิคโบราณไว้บางส่วน


‘พนมสุรินทร์’ เรืออาหรับสมบูรณ์สุดในอุษาคเนย์

ขยับเข้ามาถึงหลักฐานสำคัญในเมืองไทย อย่างการพบเรือพนมสุรินทร์ที่สมุทรสาคร เป็นข่าวฮือฮาเมื่อ ปี 2556

สุนิติ บอกว่า สิ่งที่น่าสนใจคือการเดินเรือในยุคนั้นเป็นการเดินเรือจากคาบสมุทรมลายูแล้วตัดอ่าวไทยขึ้นไปที่เขมรหรือจามปาเลย ไม่ได้เข้ามาในอ่าวไทย แต่ก็เจอหลักฐานที่อ่าวไทยด้วย นั่นคือเรือพนมสุรินทร์ ซึ่งชัดเจนว่าเป็นเรืออาหรับ อายุราวพันปี

“เทคนิคการต่อเรือพนมสุรินทร์ไม่ได้ใช้ตะปูในการตอกเชื่อมไม้กระดาน แต่ใช้เชือกทำจากใยมะพร้าวเย็บเข้าด้วยกันซึ่งเป็นเทคนิคการต่อเรือแบบอาหรับ มีเสากระโดง สภาพสมบูรณ์ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ลักษณะใกล้เคียงกับเรืออาหรับที่พบในแหล่งเรือจมที่เกาะเบลิตุงในอินโดนีเซียมาก รวมถึงสินค้าในเรือด้วย คือมีเครื่องถ้วยนานาชนิด เช่น เครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ถัง ซึ่งร่วมสมัยราชวงศ์อับบาสิยะห์ เครื่องถ้วยตะวันออกกลาง และยังเจอหม้อมีสันแบบทวารวดีด้วย”

เรือพนมสุรินทร์ พบที่นากุ้งในตำบลพันท้ายนรสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร
เทคนิคการเย็บเรือแบบอาหรับในโอมาน


แกะรอยเครื่องแก้วและหม้อไห เดินทางไกลจาก ‘ไคโร’

สำหรับรายละเอียดของแหล่งผลิตโบราณวัตถุต่างๆ สุนิติ บอกว่า ภาชนะดินเผาหรือเครื่องถ้วยมุสลิมที่พบในแหล่งโบราณคดีไทยส่วนใหญ่ส่วนใหญ่ทำขึ้นแถบอิรักตอนใต้ ในอ่าวเปอร์เซีย ซึ่งทั้งเป็นแหล่งผลิตสินค้าและเมืองท่า

“เครื่องถ้วยมุสลิมที่พบในไทย มี 5 ชนิด คือ ตอร์ปิโด จาร์ พบที่แหล่งเรือพนมสุรินทร์, เครื่องถ้วยเปอร์เซียเคลือบสีเทอร์ควอยซ์ เช่น ที่พบในเขาศรีวิชัย สุราษฎร์ธานี และเมืองโบราณศรีมโหสถ ปราจีนบุรี, เครื่องถ้วยเคลือบสีขาว รับอิทธิพลจากจีน เจอที่เกาะคอเขา, เครื่องถ้วยแบบสีสาดกระเซ็น พบที่แหลมโพ สุราษฎร์ธานี และเครื่องถ้วยเขียนสีโลหะแบบมันวาว ซึ่งถูกผลิตในโลกมุสลิมครั้งแรกในอิรักแล้วแพร่ไปอียิปต์ ใช้ออกไซด์เหล็กผสมตอนเผา นอกจากนี้ยังเจอเครื่องแก้วเทคนิคตะวันออกกลาง ในอิรัก อิหร่าน และเครื่องแก้วเขียนสีบนเคลือบ ที่แหลมโพซึ่งแหล่งผลิตคือเมืองไคโร ประเทศอียิปต์ในปัจจุบัน”

ภาชนะเคลือบสีเทอร์ควอยซ์แบบเปอร์เซียพบที่เมืองโบราณศรีมโหสถ ปราจีนบุรี ร่วมกับเนินโบราณสถาน
เหรียญอาหรับ พบที่เมืองโบราณอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี มีคำปฏิญาณของชาวมุสลิม


โจทย์ใหญ่นักโบราณคดีไทย อ่าน-แปล ‘ตีความใหม่’ เหรียญอาหรับ

ปิดท้ายที่ประเด็นซึ่ง สุนิติ บอกว่าเป็น ‘โจทย์ใหญ่’ อย่างเหรียญอาหรับซึ่งพบน้อยมาก จึงอาจสะท้อนว่า เหรียญเหล่านั้น ไม่ได้ใช้ในการแลกเปลี่ยน แต่อาจเป็นการใช้สินค้าแลกสินค้าหรือไม่

“เหรียญอาจเป็นของติดตัวมา หรือใช้เป็นของที่ระลึก เพราะพบแค่ 6 เหรียญ ส่วนใหญ่เจอทางภาคใต้ ในสุราษฎร์ธานี คือ เวียงสระ พุนพิน และแหลมโพ ที่เหลือเจอในภาคกลาง คือ อู่ทอง สุพรรณ 3 เหรียญ อายุต้นราชวงศ์อับบาสิยะห์ ผู้สร้างเมืองแบกแดด”

เจ้าตัวยังเล่าเรื่องราวที่ดูเหมือนเกร็ดขำๆ ไม่สลักสำคัญ หากแต่พลิกผันข้อมูลในทะเบียนโบราณวัตถุกันเลยทีเดียว

“ตอนไปขอทะเบียนดูเเหรียญที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง มีข้อมูลระบุว่าบนเหรียญมีรูปบ้าน ด้านล่างเสา 6 ต้น พอผมลองพลิกดู พบว่าที่แท้เป็นคำปฏิญาณของมุสลิม คือ ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลเลาะห์ ไม่มีภาคีใดเสมอพระองค์ อยากแนะนำปรับแก้ อัพเดตข้อมูล แต่ไม่โทษกรมศิลป์ เพราะยุคนั้น ยังไม่มีนักวิชาการไทยที่อ่านภาษาอาหรับได้ การตีความและกำหนดอายุสมัยจึงอาจคลาดเคลื่อนได้”

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของข้อมูลมากมายซึ่งช่วยเปิดโลกโบราณคดีอิสลาม ซึ่งการศึกษาไทยอาจยังไม่คุ้นเคย และอยู่ในช่วงเริ่มต้นกรุยทางอย่างจริงจังนับจากนี้

 

เสวนา “โบราณคดีอิสลาม จากรัฐทวารวดี ปาตานี ถึงอยุธยา” ที่ห้องประชุมริมน้ำ คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ยังมีประเด็นน่าสนใจอย่าง เรื่องหินปักหลุมศพแบบ บาตูอาเจะห์ ในปัตตานี รวมถึงเรื่อง “มุสลิมและอิสลามสมัยอยุธยา จากหลักฐานทางโบราณคดี ประวัติศาสตร์และศิลปกรรม” โดยวิทยากรระดับแม่เหล็ก ผศ.ดร.จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์ อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ดำเนินรายการโดย ผศ.พิพัฒน์ กระแจะจันทน์ อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ และ อ.ณัฐพล จันทร์งาม อาจารย์คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร ผู้เชี่ยวชาญภาษาเขมร สายเลือดมุสลิมย่านตรอกจันทน์

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image