คอลัมน์สุจิตต์ วงษ์เทศ: ตำหนักทอง วัดไทร บนเส้นทางประวัติศาสตร์

ตำหนักทองวัดไทร ย่านบางขุนเทียน ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นที่ประทับพระเจ้าเสือ

ถนนพระราม 2 จากกรุงเทพฯ ไปเชื่อมถนนเพชรเกษม (จ. ราชบุรี) เข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ได้แก่ ชะอำ (จ. เพชรบุรี) และหัวหิน, ปราณบุรี, สามร้อยยอด (จ. ประจวบคีรีขันธ์)

ช่วงพระราม 2 เชื่อมเพชรเกษม เลียบเส้นทางสายประวัติศาสตร์ของไทยไปตามแม่น้ำลำคลอง แต่สังคมไทยไม่ทรงจำความจริงเหล่านั้น จึงไม่เชื่อมโยงกันระหว่างของเก่าคือแม่น้ำลำคลอง กับของใหม่คือถนน

แม่น้ำลำคลองเส้นทางประวัติศาสตร์เชื่อมระหว่างลุ่มน้ำเจ้าพระยา ภาคกลาง กับดินแดนคาบสมุทรสุดแหลมมลายู ได้แก่

1. เริ่มจากแม่น้ำเจาพระยา ที่กรุงเทพฯ เข้าคลองด่าน แยกจากคลองบางกอกใหญ่ หรือคลองบางหลวงที่ตลาดพลู ลงไปทางทิศใต้ ผ่านคลองสนามชัย มีตำหนักทอง วัดไทร บางขุนเทียน จอมทอง กทม. ผ่านคลองมหาชัย มีศาลพันท้ายนรสิงห์ อ. เมืองฯ จ. สมุทรสาคร ทะลุแม่น้ำท่าจีน

Advertisement

2. ต่อจากแม่น้ำท่าจีน เข้าคลองสุนัขหอน ลอดสะพานถนนพระราม 2 เข้าเขตนาเกลือ จ. สมุทรสงคราม ผ่านคลองแม่กลอง ทะลุแม่น้ำแม่กลอง (ฝั่งเหนือวัดใหญ่ อยู่ทางใต้วัดหลวงพ่อบ้านแหลม อ. เมืองฯ จ. สมุทรสงคราม)

3. ต่อจากแม่น้ำแม่กลอง เข้าคลองบางเรือหัก ไปบ้านยี่สาร แล้วเชื่อมต่อไปบางตะบูน, บ้านแหลม เข้าแม่น้ำเพชรบุรี

[เส้นทางคลองบางเรือหักไปเมืองเพชร ได้ความรู้จากกิเลน ประลองเชิง (แห่งไทยรัฐ) ทำให้ผมตาสว่างมองเห็นหนทางเชื่อมโยงทะลุปรุโปร่ง หลังจากมะงุมมะงาหรานานหลายปีที่เที่ยวไปมาหาเส้นคมนาคมย่านนี้ซึ่งซับซ้อนมาก เปลี่ยนแปลงมาก ยากที่คนต่างถิ่นอย่างผมจะเข้าใจ จึงขอขอบพระคุณอีกหลายครั้ง]

เมืองเพชรบุรี อยู่ริมทะเลอ่าวไทย สมัยโบราณคุมช่องสิงขร (จ. ประจวบคีรีขันธ์) ไปเมืองมะริด ทะเลอันดามัน ทั้งฟากทะเลอ่าวไทยและฟากทะเลอันดามัน แล่นเรือเลียบชายฝั่งถึงปลายแหลมมลายู

เส้นทางคมนาคมสายประวัติศาสตร์ผ่านแม่น้ำลำคลองที่บอกมานี้ มีร่องรอยหลักฐานเชื่อได้ว่าใช้งานแล้วตั้งแต่เรือน พ.ศ. 1000 (ที่มักเรียกสมัยทวารวดี) สืบเนื่องถึงสมัยสุพรรณภูมิกับละโว้-อโยธยาศรีรามเทพ

สมัยอยุธยาเป็นเส้นทางขนถ่ายสินค้าอาหารทะเลสด-แห้ง ขึ้นไปเลี้ยงคนอยุธยา

พระเจ้าตาก ใช้เส้นทางนี้เสด็จไปเมืองนครศรีธรรมราช กับรับศึกบางกุ้งที่แม่กลอง

ร.1 ใช้เส้นทางนี้เสด็จทางเรือทวนน้ำแม่กลองขึ้นไปรับศึกพม่าที่ท่าดินแดง เมืองกาญจนบุรี จนถึง ร.2 และ ร.3 ก็ตามเสด็จเส้นทางนี้

ตำหนักทอง

ตำหนักทอง วัดไทร ริมคลองสนามชัย (บางขุนเทียน-จอมทอง) เส้นทางประวัติศาสตร์ มีลักษณะศิลปกรรมที่นักโบราณคดีประวัติศาสตร์ศิลปะ ว่าฝีมือช่างกรุงรัตนโกสินทร์

ส่วนคำบอกเล่าเชิงตำนานนิทานว่าเป็นตำหนักที่ประทับชั่วคราวของพระเจ้าเสือเมื่อเสด็จทรงปลา ซึ่งไม่ใช่เรื่องโกหกหลอกลวงหรือเพ้อเจ้อ หากเป็นความจริงอีกชุดหนึ่งที่สังคมของคนกลุ่มเดียวกันยุคนั้นต่างรู้จักคุ้นเคยแล้วเชื่อถือ แต่เป็นกลุ่มที่เข้าไม่ถึงความรู้แบบวิทยาศาสตร์ที่สมัยหลังยกย่องยึดถือ

อีกมุมหนึ่งตำนานนิทานก็คือประวัติศาสตร์แบบชาวบ้านพื้นถิ่นที่เล่าสู่กันปากต่อปาก ซึ่งมีระเบียบต่างจากประวัติศาสตร์เป็นลายลักษณ์อักษรแบบทางการ

แต่นักประวัติศาสตร์โบราณคดีรุ่นใหม่ (ใต้แนวคิดอาณานิคม) ประเมินค่าว่าตำนานนิทานเป็นเรื่องโกหกหลอกลวงเพ้อเจ้อ เชื่อถือไม่ได้ ซึ่งต่างจากพงศาวดารเชื่อถือได้

เรื่องพันท้ายนรสิงห์ในพงศาวดารแผ่นดินพระเจ้าเสือ แท้จริงแล้วก็เป็นตำนานนิทานที่ถูกเติมเข้าไปเพื่อประโยชน์ทางการเมืองสมัยที่แต่งพงศาวดาร แต่นักประวัติศาสตร์โบราณคดีรุ่นใหม่แบบอาณานิคมกลับเชื่อถือเป็นจริงเป็นจังอย่างไม่มีที่สงสัย ทั้งๆ ไม่ต่างจากเรื่องตำหนักทอง

นี่เป็นสองมาตรฐานชัดๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image