ปีศาจแห่งกาลเวลา และ 100 ปี ชาตกาล เสนีย์ เสาวพงศ์

“…ผมเป็นปีศาจที่กาลเวลาได้สร้างขึ้นมาหลอกหลอนคนที่อยู่ในโลกเก่า ความคิดเก่า ทำให้เกิดความละเมอหวาดกลัวและไม่มีอะไรจะเป็นเครื่องปลอบใจท่านเหล่านี้ได้เท่ากับไม่มีอะไรหยุดยั้งความรุดหน้าของกาลเวลาที่จะสร้างปีศาจเหล่านี้ให้มากขึ้นทุกที…”

“…ท่านอาจจะเหนี่ยวรั้งอะไรไว้ได้บางสิ่งบางอย่างชั่วครั้งชั่วคราว แต่ท่านไม่อาจจะรักษาทุกสิ่งทุกอย่างไว้ได้ตลอดไป”

ประโยคอันทรงพลังจากฉากบนโต๊ะอาหารที่ประทับใจนักอ่านมาหลายรุ่น จากนวนิยายเรื่อง “ปีศาจ” ของ เสนีย์ เสาวพงศ์ คล้ายคำประกาศการต่อสู้ทางชนชั้น

เรื่องราวของ สาย สีมา ทนายหนุ่มผู้ยึดมั่นในอุดมการณ์ และ รัชนี หญิงสาวในสังคมชั้นสูง กับแนวคิดของคนรุ่นใหม่ที่เรียกหาความเสมอภาค ต่อต้านการเอารัดเอาเปรียบระหว่างชนชั้น (สมัยตั้งแต่ตีพิมพ์เป็นตอนลงนิตยสารสยามสมัย ปี 2496-2497 จนรวมเล่มครั้งแรกปี 2500 โดยสำนักพิมพ์เกวียนทองของลาว คำหอม และดำเนิน การเด่น)

Advertisement

ปีศาจกลายเป็นชื่อหนังสืออันเป็นที่รักของนักอ่าน รวมถึงตัวละครในเรื่อง ทั้ง สาย สีมา และ รัชนี

พอกันกับความรักในฝีมือการประพันธ์และความคิดของชายผู้ให้กำเนิดตัวละครเหล่านี้

เสนีย์ เสาวพงศ์ หรือ ศักดิ์ชัย บำรุงพงศ์ อดีตนักการทูตและหนึ่งในนักเขียน “ชั้นครู” ที่คนวรรณกรรมยกย่อง

Advertisement

สร้างหลากผลงานจากหลายนามปากกา ชัยชนะของคนแพ้, ความรักของวัลยา, คนดีศรีอยุธยา, บัวบานในอะมาซอน ฯลฯ

เสนีย์ เกิดเมื่อ 12 กรกฎาคม 2461 ถึงแก่กรรมในวัย 96 ปี เมื่อ 29 พ.ย. 2557

ผ่านมาเพียง 4 ปี ในวันนี้ครบ 100 ปี ชาตกาล บุรุษผู้มีหัวใจยิ่งใหญ่ ท่ามกลางความเงียบเหงาของแวดวงวรรณกรรม

ด้วยความเคารพในสายตาแห่งมนุษยธรรมและความเสมอภาค ของนักเขียนชื่อเสนีย์


“…ถ้าจะถือว่าวรรณกรรมเป็นสิ่งสะท้อนสังคม ผมมีความรู้สึกส่วนตัวว่า ผู้สร้างงานวรรณกรรมในหลายๆ โอกาสได้พลาดหน้าที่สำคัญนั้นไป แต่ชีวิตมีความหลากหลายมากเกินกว่าที่นักเขียนคนหนึ่งจะจับเอามาสะท้อนได้ทั้งหมด แม้เขาจะทำงานนั้นชั่วชีวิตก็ตาม

“เมื่อกาลเวลาเลยผ่าน บรรยากาศที่ห่อหุ้มทศวรรษ 80 ผันเปลี่ยนไปสู่ทศวรรษ 90 และตามด้วยทศวรรษษ 2500 ไหลไปสู่ประวัติศาสตร์โดยไม่มีใครอาจสัมผัสได้อีก มีเหลือไว้แต่ในหนังสือ ที่เมื่อผ่านสายตาในบรรยากาศใหม่ สิ่งที่ขาดไปไม่มีใครจับต้องได้ เพียงช่วงเวลาที่ผ่านไปหมาดๆ นี่เอง ได้มีความพยายามที่จะสร้างกรอบแห่งทิวทัศน์ขึ้นใหม่ของการเขียนประวัติศาสตร์ด้วยวิธี ‘วิศวกรรมประวัติศาสตร์’ (Historical Engineering)

“คนเขียนหนังสือมีบทบาทอันจำกัด แต่ก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในสังคมอารยะ แม้ในยามยากเข็ญอัตคัต คนยังอ่านหนังสือและนี่น่าจะเป็นพลังทางใจอย่างมหาศาลสำหรับคนเขียนหนังสือ…”

เสนีย์ เสาวพงศ์

13 สิงหาคม 2529

จากคำนำ “แจ่มรัศมีจันทร์ และรวมเรื่องสั้นเกือบทั้งชีวิตของ เสนีย์ เสาวพงศ์”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image