อาศรมมิวสิก : ลูกน้อยควรได้เรียนดนตรี เมื่ออายุเท่าไหร่ : โดย สุกรี เจริญสุข

ลูกน้อยควรได้เรียนดนตรีเมื่ออายุเท่าไหร่? เป็นคำถามที่พบได้บ่อย และพ่อแม่ก็ต้องการคำตอบ
สภาพของผู้ใหญ่ไทยซึ่งหมายรวมถึงพ่อแม่และผู้ปกครอง มีความเชื่อแบบไทยโบราณสืบต่อกันมาว่า “เด็กไร้เดียงสา” เด็กไม่รับรู้อะไร ปล่อยให้เด็กโตขึ้นแล้วค่อยให้เด็กได้เรียนดนตรี ไปเรียนตอนนี้ยังเล็กอยู่ สิ้นเปลืองเวลาเปล่าๆ ให้เด็กโตขึ้นอีกหน่อย เมื่อเด็กรับรู้ เมื่อโตแล้ว ค่อยเรียนดนตรี จะได้คุ้มค่าเล่าเรียน เหล่านี้เป็นความเข้าใจที่ผิด ในขณะเดียวกันก็ขาดการศึกษาอย่างจริงจัง

พ่อแม่บางคนก็เข้าใจว่า เมื่อโมสาร์ต (Mozart) ได้เรียนดนตรีตั้งแต่ 4 ขวบ เป็นเด็กอัจฉริยะ เป็นได้เฉพาะบางคนเท่านั้น เกิดมาแล้วเก่งดนตรี ทำให้พ่อแม่เชื่อว่าเด็กที่เรียนดนตรีทั้งหลาย ก็ควรเรียนดนตรีตั้งแต่อายุได้ 4 ขวบ ดังนั้น เมื่อลูกอายุได้ 4 ขวบแล้ว ก็เป็นอายุที่เหมาะสมที่จะให้ลูกได้เรียนดนตรี

อีกความเห็นหนึ่ง ในเมื่อปัจจุบันที่โรงเรียนอนุบาลเริ่มรับเด็กตั้งแต่อายุ 2 ขวบครึ่ง ลูกก็น่าจะได้เรียนดนตรีตั้งแต่อายุได้ 2 ขวบครึ่ง เพราะว่าได้ไปโรงเรียนแล้ว

ตัวอย่างความเชื่อและความเข้าใจที่ยกมานั้น เป็นตัวอย่างของเด็กที่เติบโตอยู่ในเมือง ซึ่งเป็นเด็กที่มีโอกาสมากกว่าเด็กที่อยู่ในชนบท ทั้งนี้เพราะความเหลื่อมล้ำทางด้านโอกาสในการศึกษา ความเอาใจใส่ของพ่อแม่ ฐานะความพร้อมทางเศรษฐกิจของผู้ปกครอง บริบทความพร้อมของสิ่งแวดล้อม ครูในโรงเรียน โดยเฉพาะครูดนตรีที่จะสอนเด็กในชนบทนั้นมีน้อย

Advertisement

ส่วนพื้นที่ในเมืองนั้น นอกจากมีโรงเรียนและครูดนตรีที่ดีกว่าในชนบทแล้ว ครูสอนดนตรีพิเศษก็มีให้เลือกอีกหลายเครื่องดนตรี..

เมื่อมีการศึกษาค้นคว้าโดย ชินอิชิ ซูซูกิ (Shinichi Suzuki, 1898-1998) เป็นครูดนตรีชาวญี่ปุ่น ผู้ค้นคว้าและได้เปลี่ยนแปลงการศึกษาดนตรีโลก จนกลายเป็น “วิธีสอนแบบซูซูกิ” ได้ค้นพบวิธีใหม่ว่า
“เด็กเป็นลูกของสิ่งแวดล้อม สิ่งแวดล้อมเป็นอย่างไร เด็กก็จะเติบโตเป็นอย่างนั้น เด็กเป็นอย่างไรก็เพราะสิ่งแวดล้อมของเด็กเป็นอย่างนั้น”
การศึกษาเพื่อหาคำตอบว่า “การเรียนรู้ดนตรีของเด็กเกิดขึ้นได้อย่างไร” พบว่า เสียงของแม่ก็คือครูดนตรีคนแรกของลูก ดังนั้น ถ้าแม่ร้องเพลงเพี้ยน ลูกก็จะร้องเพลงเพี้ยนด้วย แม้ว่าแม่จะไม่ได้เป็นนักร้องสุดยอดของโลก แต่เสียงของแม่เป็นเสียงสวรรค์ของลูก แม่อยู่ที่ไหน บ้านของลูกก็จะอยู่ที่นั่น

ตัวอย่างเด็กที่เติบโตมาในบ้านที่พ่อแม่ปู่ย่าตายายเล่นดนตรีไทย เด็กก็จะได้ยินเสียงดนตรีตั้งแต่เล็ก มีโอกาสสัมผัสเสียงดนตรีและได้เล่นดนตรีมาตั้งแต่เด็กด้วย โอกาสที่จะเก่งดนตรีจึงมีมากกว่าเด็กคนอื่นๆ เด็กได้คลุกคลี ได้ยินเสียงดนตรี ได้เห็นการเล่นดนตรี ได้สัมผัสเครื่องดนตรี โอกาสของเด็กอาจจะ “ไม่เก่งแต่ชำนาญ ไม่เชี่ยวชาญแต่เคยมือ” เพราะเกิดมาก็อยู่ในวงดนตรีแล้ว

ดังนั้น การที่เด็กได้เรียนรู้ดนตรีจากครอบครัว จากพ่อแม่ โดยการฟังแม่ร้องเพลงตั้งแต่แรกเกิด แม่จะร้องเพลงอย่างไร หรือร้องเพลงอะไรไม่สำคัญ แต่เสียงของแม่ที่ร้องเพลงให้ลูกฟังนั้น เป็นสัมผัสความรักและความผูกพัน เด็กจึงเรียนรู้ดนตรีโดยการฟังเพลงจากแม่ ตั้งแต่นาทีแรกที่ลืมตาดูโลก ลูกน้อยฟังเสียงของแม่ เสียงของแม่ผ่านทางหูและผ่านทางรูขุมขนเข้าสู่ตัวเด็กตลอดเวลาโดยไม่รู้ตัว เพราะแม่อยู่กับลูกและลูกได้อยู่กับแม่

ในกรณีที่ลูกอยู่กับแม่นมหรือลูกอยู่กับพี่เลี้ยง ลูกก็จะเติบโตและมีนิสัยตามพี่เลี้ยงด้วย เพราะพี่เลี้ยงคือสิ่งแวดล้อมเด็ก

ในกรณีที่แม่ร้องเพลงเพี้ยน ลูกก็จะร้องเพลงเพี้ยนตามแม่ เพราะเด็กเรียนรู้โดยการเลียนแบบจากแม่ สิ่งแวดล้อมที่เลี้ยงดูเด็กตั้งแต่เล็กจนโตจึงมีบทบาทสำคัญในการบ่มเพาะเด็ก

ทำไมเด็กสุพรรณพูดภาษาสุพรรณเพอร์เฟกต์ คือพูดเหน่อสุพรรณเหมือนกันทุกคน เพราะว่าภาษาสุพรรณ สำเนียงสุพรรณ เป็นสิ่งแวดล้อมของคนสุพรรณ เด็กสุพรรณได้ยินได้ฟังภาษาสุพรรณมาตั้งแต่เกิด เด็กจึงเลียนแบบและสามารถพูดภาษาสุพรรณได้เหมือนกันหมด ภาษาสุพรรณกับเด็กสุพรรณจึงเป็นตัวอย่างที่ดีว่า เด็กได้เรียนรู้ภาษามาตั้งแต่เกิด โดยอาศัยการฟัง แม้เด็กยังพูดไม่ได้ก็ตาม สิ่งที่สำคัญคือ เด็กได้รับรู้ผ่านการฟังก่อนการพูด

ในกรณีที่เด็กเรียนรู้ “ภาษาแม่” ได้ตั้งแต่แรกเกิด แม่พูดกับลูก แม่สอนลูกให้เรียกแม่ ซึ่งแม่จะต้องพูดซ้ำๆ เป็นพันเป็นหมื่นครั้ง ก่อนที่ลูกจะพูดคำว่า “แม่”ได้ ในช่วงระยะ 10 เดือนแรก เด็กได้แต่ฟังเสียงแม่พูด แม่ออกเสียงให้ลูกได้เลียนแบบ จนกว่าลูกจะเรียกแม่ได้ แม่จะต้องทำซ้ำมานานมากแล้ว 10-12 เดือน จนกว่าลูกจะพูดคำแรกออกมาได้

การเรียนดนตรีของเด็กนั้น เด็กได้เรียนรู้ด้วยการทำซ้ำ ฟังแล้วฟังอีก เด็กเฝ้าแต่ฟัง เพราะเด็กได้เรียนด้วยวิธีการเลียนแบบโดยตรงจากแม่ ยังไม่มีวิธีไหนดีเท่ากับแม่สอนให้ลูกพูดและแม่สอนให้ลูกเล่นดนตรี เพราะลูกดูดน้ำนมจากอกแม่ ลูกเรียนทุกสิ่งทุกอย่างจากแม่ ลูกจึงเรียนดนตรีจากแม่เป็นดีที่สุด

อัจฉริยะมาจากการฝึก ความเก่ง ความชำนาญ อัจฉริยะไม่ได้เป็นสิ่งที่ลี้ลับอีกต่อไป ..

การที่เด็กได้ฝึกฝนและทำซ้ำๆ เช่น การเล่นดนตรีอย่างใดอย่างหนึ่ง ร้องเพลงหรือเล่นเครื่องดนตรี เด็กฝึกฝนจนกระทั่งดนตรีกลายเป็นหุ้นส่วนของชีวิตเด็ก ดนตรีอยู่ในตัวเด็กเป็นหุ้นส่วนกัน เด็กก็กลายเป็นอัจฉริยะทางดนตรี

การที่พ่อแม่ปลูกฝังให้ลูกได้เรียนดนตรีด้วยความรักและความผูกพัน จะทำให้ลูกโตขึ้นด้วยความรักเสียงดนตรี อย่าลืมว่าเสียงของแม่ก็เป็นเสียงดนตรีด้วย เสียงดนตรีที่สดใส ออกมาจากจิตใจที่สะอาด “เสียงใสใจสะอาด” เมื่อแม่ร้องเพลงให้ลูกฟังนั้น จิตใจของแม่เปี่ยมไปด้วยความรักและความผูกพัน แม่ร้องเพลงด้วยเสียงที่สดใส เพราะจิตใจของแม่มีความรักความผูกพัน รักลูกด้วยใจที่สะอาด

จากตัวอย่างที่ยกมา ลูกจึงต้องเรียนดนตรีได้ตั้งแต่แรกเกิด เด็กเรียนดนตรียิ่งเล็กยิ่งดี ยิ่งมีโอกาสได้เรียนดนตรีตั้งแต่แรกเกิดก็ยิ่งดีที่สุด

หากเมื่อลูกโตขึ้น รู้สึกว่าช้าไปแล้ว อย่าปล่อยให้ลูกเติบโตอย่างยถากรรมอีกต่อไป ต้องรีบให้ลูกได้เรียนดนตรีตั้งแต่เล็กแต่น้อย ไม่มีอะไรให้ลูกดีเท่ากับการฝึกให้ลูกได้เรียนรู้ดนตรีที่ดีที่สุด ดนตรีเป็นทักษะที่ลูกจะต้องฝึกฝน

พ่อแม่อาจจะตั้งคำถามว่า ทำไมลูกต้องเรียนดนตรี….

ดนตรีเป็นหุ้นส่วนในการสร้างบุคลิกภาพที่ดี ดนตรีจะช่วยพัฒนาทัศนคติที่ดีให้กับเด็ก ดนตรีช่วยพัฒนาศักยภาพความเป็นเลิศของเด็ก ด้วยความเชื่อที่ว่า ดนตรีมีพลังช่วยขจัดความเจ็บปวดในระหว่างวัน ดนตรีช่วยสมานรอยแผลในจิตใจ ดนตรีช่วยขับเคลื่อนความรู้สึกที่ไม่ดีออกจากจิตใจ และจะช่วยเติมความไพเราะ ความสวยงาม เข้าไปในจิตใจแทน

ดนตรีจะช่วยประคับประคองจิตใจให้ทำในสิ่งที่ดีงาม ดนตรีจะให้ความรู้สึกที่ดี ดนตรีจะให้สติเตือนใจ เสียงดนตรีเป็นพลังงานที่มีแรงขับสูงมาก เสียงดนตรีทำให้ขนลุก เป็นพลังงานที่มีอำนาจต่อจิตใจ ดนตรีสร้างความสวยงามในจิตใจ ดนตรีให้ความเพลิดเพลิน ดนตรีให้ความสุขโดยที่มีค่าใช้จ่ายน้อย ดนตรีช่วยหล่อหลอมจิตใจทำให้ชีวิตมีความงดงาม ดนตรีให้ความคิดสร้างสรรค์ สร้างแรงบันดาลใจ ทำให้มนุษย์มีความหวัง ในโบสถ์วิหารซึ่งเป็นสถานที่เจริญพลังทางวิญญาณ เสียงดนตรีถูกใช้เป็นอุปกรณ์สวดหรือเล่นดนตรีในโบสถ์วิหาร เพื่อที่จะส่งดวงวิญญาณสู่สรวงสวรรค์

พ่อแม่จึงสมควรให้ลูกได้เรียนดนตรีตั้งแต่เด็ก ยิ่งเล็กยิ่งดี หากเด็กโตขึ้นก็ยิ่งช้า การพัฒนาของเด็กก็จะช้าไปด้วย ยิ่งประเทศที่ด้อยพัฒนา พ่อแม่ปล่อยให้ลูกโตอย่างยถากรรม โดยที่ลูกไม่ได้เรียนรู้อะไร ซึ่งพ่อแม่อย่าเข้าใจว่าเด็กไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย ความจริงเด็กก็จะเก็บและจดจำความรู้ รวมทั้งสิ่งที่อยู่รอบตัวของเด็กเข้าไป เป็นความรู้อย่างยถากรรม ซึ่งทำให้ประเทศด้อยพัฒนา

ประเทศที่เจริญแล้ว ทรัพยากรมนุษย์เป็นทรัพยากรที่สูงค่าที่สุด เพราะทรัพยากรมนุษย์สามารถที่จะแสวงหาทรัพยากรอื่นๆ ได้หมด เด็กๆ ในประเทศที่เจริญ ได้เรียนดนตรีตั้งแต่แรกเกิด ดนตรีเป็นหุ้นส่วนของชีวิต ประเทศจึงเจริญ…

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image