ทุกสิ่งที่ปลายนิ้ว : คอลัมน์ นอกลู่ในทาง

ภาพจาก AFP

เปิดเกมรุกไม่หยุด สำหรับ “แกร็บ” (Grab) หลังประกาศว่าจะยกระดับตนเองจากการเป็นแอพพลิเคชั่น “เรียกรถโดยสาร” ไปเป็น “ซุปเปอร์แอพพ์” ที่รวมบริการทุกสิ่งอันเพื่อตอบสนองการใช้ชีวิตในแต่ละวันของผู้บริโภค ซึ่งจะว่าไปช่างละม้ายคล้ายกับ “ไลน์” (LINE) อีกแอพพลิเคชั่นยอดฮิตในบ้านเราที่ขยับจาก “แชต” ไปยังสารพัดบริการ

นับตั้งแต่เปิดให้บริการเป็นต้นมา “แกร็บ” ใช้เวลา 5 ปี 4 เดือน กว่าที่บริการรับส่งผู้โดยสารจะครบ 1 พันล้านแรก แต่ใช้เวลาเพียง 9 เดือนหลังจากนั้นในการให้บริการครบรอบพันล้านถัดมาได้ โดยเพิ่งฉลองการให้บริการรับส่งผู้โดยสารครบ 2 พันล้านเที่ยวไปเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2561 และมั่นใจว่าจะเป็นบริษัทแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีรายได้รวมสูงถึงพันล้านเหรียญสหรัฐภายในสิ้นปี 2561 นี้

หนึ่งในกลยุทธ์สำคัญเพื่อมุ่งไปสู่ การเป็น “ซุปเปอร์แอพพ์” คือการประกาศตัวเป็น “โอเพ่นแพลตฟอร์ม” ทำงานร่วมกับพันธมิตรในการเชื่อมต่อบริการต่างๆ โดยอาศัยฐานข้อมูลผู้ใช้ของ “แกร็บ” และเครือข่ายช่องทางการขนส่งของ “แกร็บแพลตฟอร์ม” ในรูปแบบ APIs (Application Programming Interface) ที่จะเชื่อมต่อบริการเหล่านั้นกับเทคโนโลยีของแกร็บ

ไม่ว่าจะในส่วนของการจัดส่งสินค้า, การชำระเงินออนไลน์, การระบุตัวตนผู้ใช้, การส่งข้อความ, การให้ข้อมูลข่าวสาร และแผนที่ระบุพิกัด

Advertisement

โดยมี “แกร็บเฟรช” บริการส่งสินค้าจากซุปเปอร์มาร์เก็ตแบบออนดีมานด์เป็นตัวอย่างล่าสุด

“แกร็บ” ร่วมมือกับ “แฮปปี้เฟรช” ผู้ให้บริการส่งสินค้าจากซุปเปอร์มาร์เก็ตอันดับหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าในซุปเปอร์มาร์เก็ตได้จากที่บ้าน โดยผู้ขับขี่ และให้บริการขนส่งของ “แกร็บเอ็กซ์เพรส” จะส่งสินค้าถึงประตูบ้านได้ภายใน 1 ชั่วโมง หรือตามเวลาที่นัดไว้ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมนี้เป็นต้นไป เริ่มที่เมืองจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ก่อนขยายไปยังประเทศไทย และมาเลเซียภายในสิ้นปีนี้

เท่ากับเป็นการขยายบริการเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีกออนไลน์อย่างเป็นทางการ โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าที่มีการจับจ่ายมากที่สุด จากปัจจุบันที่ผู้บริโภคจะใช้ “แกร็บ” เพื่อการเดินทาง, รับประทานอาหารกลางวัน, ส่งพัสดุ และช้อปปิ้งอยู่ก่อนแล้ว

Advertisement

“กิลเลม ซาการ์ร่า” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แฮปปี้เฟรช ระบุว่า ธุรกิจการส่งสินค้าเครื่องอุปโภคบริโภคภายในบ้านมีโอกาสเติบโตได้อีกมากโดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

จากการสำรวจของเราพบว่า ร้อยละ 70 ของผู้ซื้อสินค้าของใช้ในบ้านผ่านแอพพลิเคชั่นมักซื้ออย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง และมักซื้อจากร้านที่มีความคุ้นเคย สิ่งที่ลูกค้ากลุ่มนี้ต้องการ คือสินค้าพร้อมส่งในเวลาที่ต้องการ ซึ่งแกร็บเฟรชมีสินค้าที่หลากหลายที่สุดหากเทียบกับผู้ให้บริการส่งสินค้ารายอื่น และแกร็บคือพันธมิตรที่ดีที่สุดด้วยจำนวนผู้ขับขี่และส่งสินค้าจำนวนมากทำให้จัดตารางส่งสินค้าได้มากขึ้น และปรับปรุงเวลาการส่งสินค้าได้

“แอนโทนี่ ตัน” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้งแกร็บ กล่าวว่า ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา บริษัททำงานอย่างหนักในการปรับปรุงเทคโนโลยีและขยายการเข้าถึงบริการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องทำให้เติบโตจากการเป็นแพลตฟอร์มการจองรถแท็กซี่มาเป็นผู้ให้บริการขนส่งสำหรับบริษัทในธุรกิจอีคอมเมิร์ซ

ถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะนำความเชี่ยวชาญที่มีมาทำงานร่วมกับพันธมิตรที่ได้รับการคัดเลือกเพื่อผลักดันให้ “แกร็บ” เป็นแพลตฟอร์มเปิดสำหรับธุรกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

โดย “แกร็บ” จะทำงานร่วมกับพันธมิตรชั้นนำในธุรกิจต่างๆ ในการมอบการบริการสำหรับทุกวันแก่ลูกค้า รวมไปถึงโอกาสในการเข้าถึงแหล่งรายได้สำหรับผู้ประกอบธุรกิจรายย่อย และธุรกิจขนาดเล็ก ด้วยยอดการติดตั้งแอพพลิเคชั่นในโทรศัพท์มือถือ 100 ล้านเครื่อง, เครือข่ายผู้ขับขี่, พันธมิตรผู้ขนส่ง, ผู้ค้า และตัวแทนรวมกว่า 7.1 ล้านคน ใน 225 เมืองใน 8 ประเทศ รวมกับระบบการจ่ายเงินและเทคโนโลยีที่มี

การทำงานร่วมกันกับพันธมิตรเพื่อสร้างการเติบโตของธุรกิจ และลดความซับซ้อนในการให้บริการทำได้หลายรูปแบบ ได้แก่ 1.การสร้างบริการในแกร็บแพลตฟอร์ม เช่น “แกร็บเฟรช” เป็นการให้บริการ โดย “แฮปปี้เฟรช” แก่ผู้ใช้แกร็บ

2.เชื่อมต่อการทำงานกับเทคโนโลยีของแกร็บ เช่น แกร็บเพย์สำหรับการชำระเงินผ่านมือถือ, แกร็บเอ็กซ์เพรสสำหรับการขนส่ง, แกร็บโปรไฟล์เพื่อการระบุตัวตนผู้ใช้ เข้ากับเว็บไซต์ และแอพพลิเคชั่นของพันธมิตร

และ 3.สร้างปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าผ่านแกร็บแพลตฟอร์ม โดยพันธมิตรสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้แกร็บผ่านการให้ข่าวสาร และโปรแกรม “แกร็บรีวอร์ดส์” โดยใช้เนื้อหาที่เป็นประโยชน์ เช่น รีวิวผลิตภัณฑ์ หรือมีโปรโมชั่น เป็นต้น

ผู้ร่วมก่อตั้ง แพลตฟอร์ม “แกร็บ” ย้ำว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่มีขนาดทางธุรกิจใหญ่ เป็นอันดับ 4 ของโลกและภายในปี 2593 ประชากรจำนวนมากจะมีฐานะดีขึ้น ระบบสาธารณูปโภคทางเทคโนโลยีจะเดินหน้าทำให้บริษัทต่างๆ ต้องปรับตัวอย่างรวดเร็วให้สอดคล้องกับโอกาสทางธุรกิจที่กำลังเปลี่ยนแปลง

“การผสานกันระหว่างความแข็งแกร่งของแกร็บ และความเชี่ยวชาญของพันธมิตรจะเสริมศักยภาพของทั้งสองฝ่ายให้เติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว”

ชัดเจนว่าสิ่งที่ทำทั้งหมดเพื่อเป็น “แอพพลิเคชั่นเดียว” ที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในทุกเวลาที่ต้องการ รวมไปถึงคาดการณ์ความต้องการของผู้บริโภคล่วงหน้าได้ด้วย อันเป็นส่วนหนึ่งของการก้าวสู่การเป็น “ซุปเปอร์แอพพ์ สำหรับทุกวันของผู้บริโภค

แน่นอนว่าไม่ได้มีแค่ “แกร็บ” ที่คิดเช่นนี้ บรรดาแพลตฟอร์มดิจิทัลทั้งหลายที่มีในปัจจุบันต่างคิดและทำไม่ต่างกันนัก ประมาณเดียวกับที่แบงก์ไทยพาณิชย์ปรับโฉมโมบายแอพพลิเคชั่น “เอสซีบี อีซี่” และบอกว่าต้องการทำให้ “เอสซีบี อีซี่” เป็น “ทุกสิ่งเพื่อคุณ” (ลูกค้า) ทีนี้ก็อยู่ที่ว่าใครจะทำได้ดีกว่า และไปถึงเป้าหมายในใจผู้บริโภคได้ก่อนกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image