หอเก็บสมบัติ : คอลัมน์แท็งก์ความคิด

โฮงมูนมังเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น

ไปขอนแก่นมีเวลาบ้างระหว่างรอคอยเที่ยวบินกลับกรุงเทพฯ

เวลาที่ว่างจึงแวะไปดูผลงานของเทศบาลนครขอนแก่น

ชื่อว่า “โฮงมูนมังเมือง” หรือหอเก็บสมบัติ

“โฮงมูนมังเมือง” เป็นสถานที่รวมความเป็นมาของจังหวัดขอนแก่น และประเพณีอีสาน

Advertisement

ค่าเข้าชมเด็ก 10 บาท ผู้ใหญ่ 20 บาท

เข้าไปแล้วมีเจ้าหน้าที่เทศบาลคอยบรรยายให้ฟังอย่างเต็มอกเต็มใจ

ขอนแก่น มีความเชื่อที่เกี่ยวข้องอยู่ 3 ประการ

Advertisement

ความเชื่อแรก เชื่อว่าเมื่อ พ.ศ.2332 ท้าวเพียเมืองแพน พร้อมผู้คน 330 คน อพยพจากแขวงเมืองสุวรรณภูมิ

มาตั้งเมืองอยู่ริมบึงบอนหรือบริเวณบึงแก่นนครปัจจุบัน

จากนั้นได้มีใบบอกไปยังกรุงเทพฯ กระทั่งได้รับพระบรมราชานุญาตให้ยกขึ้นเป็นเมือง พร้อมพระราชทาน “ตราเจ้าเมือง” ให้

แต่คำว่า “บึงบอน” หรือ “บอนแก่น” เกิดเพี้ยนเสียง จนกลายเป็น “ขอนแก่น” ในที่สุด

ความเชื่อที่สอง ระบุว่า ที่มาของชื่อจังหวัด มาจากอภินิหารของพระธาตุบ้านขาม สถานที่ที่เคยมีการนำพระสรีรางคารมาวางไว้บนตอมะขามใหญ่

จากนั้นตอไม้ที่ตายแล้ว กลับมีชีวิตขึ้นมาอีก ทำให้ผู้มีจิตศรัทธาร่วมกันสร้างธาตุใหญ่คร่อมตอไว้

คำว่า “ขอนแก่น” จึงเพี้ยนมาจากคำว่า “ขามแก่น” ด้วยประการฉะนี้

ความเชื่อที่สาม มาจากนักวิชาการชื่อ อาจารย์ประมวล พิมพ์เสน

อาจารย์บอกว่า จ.ขอนแก่นน่าจะมี “ตอไม้หรือขอนไม้แก่นหล่อน” อยู่มาก จึงเรียกว่า “ขอนแก่น”

ความเชื่อทั้งหมด ใครจะเชื่ออันไหนก็ตามสบาย

แต่ในจำนวน 3 ความเชื่อ ความเชื่อแรกดูเหมือนจะมีเอกสารมาสนับสนุน

ความเชื่อแรกที่บอกเล่าเรื่องการกำเนิด และสอดรับกับการลงหลักปักฐานของคนขอนแก่นยุคแรก

คนขอนแก่นยุคนั้นสร้างวัดคู่กับชุมชน มีเกร็ดน่าฟังเรื่องเกี่ยวกับการไหลของน้ำว่า แม่น้ำที่ขอนแก่นไหลจากทิศใต้ไปทางทิศเหนือ

ส่วนเรือนที่พัก มีการจำลองเรือนใหญ่ยกเสาสูง

ห้องด้านขวาเป็นห้องนอนของพ่อและลูกชาย ห้องตรงกลางใครมานอนก็ได้

ขณะที่ห้องด้านซ้าย เป็นที่นอนของลูกสาวที่มีสามี

นอกจากนี้ ในโฮงมูนมังเมือง ยังมีห้องแสดงวัฒนธรรมประเพณีชาวอีสาน

ที่ขาดไม่ได้คือ งานบุญ 12 เดือน

เริ่มจากเดือนอ้าย ทำบุญเข้ากรรม เป็นเดือนที่พระสงฆ์ที่ทำผิดพระธรรม มีโอกาสได้สารภาพต่อหน้าคณะสงฆ์

จากเดือนอ้ายเข้าเดือนยี่ เป็นเดือนหลังการเก็บเกี่ยว ชาวบ้านจึงทำบุญข้าวเปลือก เพื่อเป็นสิริมงคล

เดือนสาม ทำบุญข้าวจี่ หรือทำข้าวสุก ทำให้เห็นวิถีชีวิตการเกษตรได้ดีทีเดียว

พอเข้าเดือนสี่ จะฟังเทศน์มหาชาติ

เดือนห้า ทำบุญสงกรานต์ ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนห้า เดือนนี้ถือเป็นเดือนสำคัญ เพราะเป็นการเริ่มต้นปีใหม่ไทย

เดือนหก มีประเพณีบุญบั้งไฟและบุญวันวิสาขบูชา

เดือนเจ็ด ทำบุญบูชาบรรพบุรุษ มีการเซ่นสรวงหลักเมือง หลักบ้าน ปู่ตา ผีตาแฮก ผีเมือง

เป็นการทำบุญเพื่อระลึกถึงผู้มีพระคุณ

เดือนแปด ทำบุญเข้าพรรษา อันนี้คล้ายกับภาคอื่นๆ

เดือนเก้า ประเพณีทำบุญข้าวประดับดิน เป็นการทำบุญเพื่ออุทิศแก่ญาติผู้ล่วงลับ เพื่อบูชาผีบรรพบุรุษและผีไร้ญาติ

ลูกหลานจะทำอาหารไปวางไว้ที่โคนต้นไม้ เพื่อให้บรรพบุรุษมารับไป

มีเรื่องเล่าว่า ชาวบ้านที่อยู่หัวไร่ปลายนา พอถึงช่วงนี้ในตอนค่ำจะได้ยินเสียงหัวเราะ

และในตอนเช้ามืด จะได้ยินทั้งเสียงหัวเราะและเสียงร้องไห้

ว่ากันว่า เสียงร้องไห้มาจากผีที่ไม่มีญาตินำของมาเซ่นไหว้

จริงไม่จริงโปรดใช้วิจารณญาณ

ต่อมาเดือนสิบ เป็นประเพณีทำบุญข้าวสากหรือข้าวสลาก เป็นการทำบุญให้บรรพบุรุษเหมือนกัน

เพียงแต่คราวนี้ ทำบุญตอนเลี้ยงเพลพระ

เมื่อถึงเดือนสิบเอ็ด ทำบุญออกพรรษา ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนสิบเอ็ด พระสงฆ์จะแสดงอาบัติ

และเดือนสิบสอง ทำบุญกฐิน ประชาชนที่อาศัยอยู่ตามริมฝั่งแม่น้ำใหญ่ ทั้งโขง ชี มูล มีการแข่งเรือ

มีงานสนุกสนานเฉลิมฉลอง

เดินวนรอบ โฮงมูนมังเมือง ไป 1 รอบ ได้ความรู้เกี่ยวกับขอนแก่นมาอักโข

ทราบมาว่า โฮงมูนมังเมืองนี้เก่ามากแล้ว กำลังจะย้ายไปยังที่แห่งใหม่

จะย้ายไปที่ไหน ขอให้มีข้อมูลจังหวัดเช่นนี้

และขอให้มีเจ้าหน้าที่ที่ขยันขันแข็ง คอยอธิบายความเป็นไปของจังหวัดเช่นที่ได้ประสบ

เพราะใครที่ได้ฟังความเป็นมาของขอนแก่น จะรู้สึกภาคภูมิใจ

ภูมิใจแทนคนขอนแก่นที่มีสมบัติล้ำค่าเก็บรักษาไว้อยู่ในเมือง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image