เริ่มแล้ว 7 วันอันตราย

วันนี้เป็นวันแรกของสัปดาห์ 7 วันอันตรายอีกปีหนึ่ง เมื่อวันเสาร์อาทิตย์ 9-10 เมษายนที่ผ่านมา ถือเป็นวันสุกดิบที่พี่น้องเริ่มเดินทางออกจากที่พักอาศัย โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร เพื่อเดินทางกลับบ้าน

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ยังไม่นับเป็นวันเริ่มต้น แต่จะเริ่มนับวันจันทร์ที่ 11 ถึงวันอาทิตย์ที่ 17 เมษายน 2559 ตั้งแต่ 00.01 น. วันจันทร์ ถึง 24.00 น. วันอาทิตย์

วันนี้มีจดหมายจาก “ผู้อ่านประจำ” มาอีกฉบับหนึ่งแล้วครับ เป็นเรื่องของการใช้ถ้อยความภาษาไทยให้ถูกต้องตามเคย จดหมายบอกมาว่า ดีใจที่ ข้าพเจ้า (ผู้เขียน) นำเรื่องที่ “ผู้อ่านประจำ” เรื่องการนับวันเดือนปีของเดือน มกราคม กุมภาพันธ์ มีนาคม พ.ศ.2483 มาเผยแพร่

“แต่จะได้ผลในทางปฏิบัติก็หวังมากไม่ได้ ที่น่ายกย่องคือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขานับของเขาถูกมาตั้งแต่แรกแล้ว ร.6 ทรง ‘ประดิษฐาน’ สถาบันแห่งนี้เมื่อ 26 มี.ค.59 (พ.ศ.2459) – (เดือนเดียวกับที่อาจารย์ป๋วยเกิดพอดี) ดังนั้นจึงครบ 99 ปี และก้าวสู่ 100 ปีในปีหน้า”

Advertisement

จากนั้นจึงชี้ข้อผิดพลาดให้ทราบ คือ บรรยายภาพเมื่อวันศุกร์ที่ 25 มีนาคม 2559 บอกว่า “นายธนิต ธงทอง รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธานตักบาตรพระ 99 รูป เนื่องในโอกาสครบรอบ 99 ปี วันสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย…ขึ้นต้นใช้คำว่า ‘มหาวิทยาลัย’ แล้วตามหลังว่า ‘มหาวิทยาลัย’ – คุณบางกอกเกี้ยนต้องกำชับลูกน้องให้มากๆ ครับ อย่าให้ผิดแบบนี้อีก” รับปฏิบัติครับ

“อ้อ ในวันต่อๆ มา มติชนได้ตีพิมพ์บทความเล่าถึงความเป็นมาของคนสำคัญในมติชน 4 คน เป็นบทความที่ดีมากครับ ได้รู้จักความเป็นมาเป็นไปอย่างเช่น คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ ทำให้ผมเข้าใจประวัติศาสตร์ไทยดีขึ้นมาก ได้รู้ว่าเป็นการแต่งนิทานโดยตัดตอนเฉพาะเรื่องของพระมหากษัตริย์ แต่ไม่ได้มีเรื่องราวของชาวบ้านและสังคมคนธรรมดา

“คนไทยโดยทั่วไปจึงไม่รู้ว่าก่อนที่จะมีชาติ-รัฐสยามนั้น เรามีหลายอาณาจักรอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ แล้วถูกอาณาจักรสยามที่มีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงเทพฯ รวบรวม (ทั้งสมัครใจและใช้กำลังบังคับอย่างรัฐมลายูทางใต้) เข้าเป็นสยามประเทศไทย

Advertisement

“ไม่เหมือนก่อนที่จะได้อ่านบทความเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ของคุณสุจิตต์ ก็นึกว่าประเทศไทยมีอาณาเขตแบบนี้มาตั้งแต่สมัยสุโขทัยแล้ว

“สรุปว่า ชีวิตนี้คุ้มจริงๆ ที่ได้อ่านมติชนตั้งแต่ฉบับแรกมาถึงปัจจุบัน”

“ป.ล. แม้ว่า ร.6 ทรงใช้คำว่า ‘ประดิษฐาน’ แต่ตามความนิยมสมัยนี้ก็อนุโลมเรียกว่า ‘สถาปนา’ ให้เหมือนกับสถาบันอื่นๆ”

เรื่องการนับจำนวนปีของประเทศไทยอาจแตกต่างกับประเทศอื่น เหมือนกับการนับอายุของคนจีน เขาจะเริ่มนับตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา เป็น 1 ขวบ เช่นผู้ที่เกิดปีนี้ 2559 ถึงปีหน้าคนจีนนับเป็น 2 ปี ไม่เหมือนกับคนไทย (หรือคนชาติอื่นด้วยกระมัง) ที่นับอายุตั้งแต่วันแรกเกิดถึงรอบวันเกิดอีกปีหนึ่งเป็น 1 ขวบ

เช่นผู้ที่เกิดวันที่ 11 เมษายน พ.ศ.2559 คือวันนี้ ถึงวันที่ 10 เมษายน ปีหน้า ครบรอบ 1 ขวบ หรือ 1 ปี พอดี แต่ส่วนใหญ่มักจะจัดงานคล้ายวันเกิดเป็นวันที่ 11 เมษายน เนื่องจากเกิดในวันนั้น ซึ่งนับเป็นวันแรกของขวบปีที่สอง และนับว่าเริ่มย่างเข้าสู่ปีที่สอง ปีที่สาม ปีที่สี่ ตามลำดับ

ดังกรณีของวันขึ้นรอบปีหนังสือพิมพ์มติชน 9 มกราคม 2521 ครั้นถึงวันที่ 9 มกราคม 2522 นับเป็นวันก้าวขึ้นสู่ปีที่สอง ไม่ใช่วันครบรอบปีที่ 1 เพราะครบรอบ 1 ปีไปแล้วเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2522

ปีนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพิ่งย่างขึ้นสู่ปีที่ 100 คือครบ 99 ปีมาตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2559

เนื่องจากวันสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2459 ตั้งแต่เริ่มแรกที่ยังไม่ทัด “การันต์” บน ณ เณร (“ทัดการันต์” เป็นสำนวนของ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ ครับ)

นับแต่นี้ ชาว “น้ำใจน้องพี่สีชมพู” จะมีงานฉลองครบ 100 ปีจากวันนี้ถึง 26 มีนาคม 2560 โน่น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image