นางสงกรานต์ทั้งเจ็ด

เริ่มวันที่สองของ 7 วันอันตราย ขอให้ผู้ขับขี่ยานพาหนะทุกประเภท โดยเฉพาะรถยนต์ส่วนบุคคล รถโดยสารตู้ และรถโดยสารของบริษัท ขนส่ง จำกัด (บ.ข.ส.) จงใช้ความระมัดระวังในการขับขี่ มีมิตรจิตมิตรใจต่อกัน

ที่สำคัญ คือ งดเว้นการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภทเด็ดขาด

ดูซิว่า ปีนี้สถิติอุบัติเหตุที่มีทั้งคนเจ็บและเสียชีวิตจะลดลงหรือไม่ แม้ไม่ลดลง แต่ไม่เพิ่มขึ้นนับว่าได้ผลดีแล้ว ยิ่งมีสถิติการใช้ยานพาหนะเพิ่มขึ้น แต่อุบัติเหตุลดลง หรือเท่าเดิม ต้องนับว่าอุบัติเหตุลดลง

ปัญหาอุบัติเหตุที่ผ่านมาแต่ละปี ส่วนใหญ่เกิดกับรถจักรยานยนต์ที่ผู้ขับขี่มักดื่มแล้วขับเกือบทั้งสิ้น ทั้งไม่เฉพาะรถมอเตอร์ไซค์เท่านั้น รถเก๋ง รถปิกอัพทำให้เกิดอุบัติเหตุไม่น้อย ส่วนใหญ่ผู้ขับขี่หากไม่เมา หรือหลับใน ก็ขับรถเร็วเกินกำหนด อุบัติเหตุจึงเกิดขึ้นได้ ส่วนใหญ่มักไปสร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่นด้วย

Advertisement

คาถาสำคัญของเกจิอาจารย์ในช่วงนี้ คือ “อย่าประมาท” โดยเฉพาะหลวงพ่อคูณเมื่อครั้งยังมีชีวิต ถึงกับออกยันต์เป็นภาพหลวงพ่อนั่งยองๆ บอกว่า “เมาไม่ขับเด้อ” ทั้งยังเคยบอกกับลูกศิษย์ที่ไปขอวัตถุมงคลติดตัวเพื่อคุ้มกันภัยและอุบัติเหตุ ท่านบอกว่า ท่องจำไว้ให้ดี คือ “อย่าประมาท”

ทั้งยังบอกด้วยว่า อย่าขับรถเร็ว “ขับเกิน 100 กูก็โดดลงแล้ว”

เนื่องในเทศกาลสงกรานต์ตั้งแต่พรุ่งนี้วันพฤหัสบดีที่ 13 เมษายน ถึงวันศุกร์ที่ 15 เมษายน น้องหนูมาทำความเข้าใจและรู้จักตรุษสงกรานต์กันดีกว่า

ความหมายของ “ตรุษ” คือ ตัด ขาด ตัดปี หรือขาดปี หมายถึง การสิ้นปี

พจนานุกรมฉบับมติชน พ.ศ.2547 “ตรุษ” คือ เทศกาลงานฉลองอย่างโบราณ “สงกรานต์” คือการยกย้ายราศี เทศกาลขึ้นปีใหม่ตามการนับแบบสุริยคติ เมื่อพระอาทิตย์ย้ายเข้าสู่ราศีเมษ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 อธิบายว่า เทศกาลเนื่องในการขึ้นปีใหม่อย่างเก่า ซึ่งกำหนดตามสุริยคติ ปกติตกวันที่ 13-14-15 เมษายน วันที่ 13 คือวันมหาสงกรานต์ วันที่ 14 คือวันเนา และวันที่ 15 คือวันเถลิงศก

ตรุษสงกรานต์จะเกี่ยวกับนางสงกรานต์ ตามตำนานมี 7 องค์ ซึ่งเป็นธิดาของท้าวกบิลพรหม หรือท้าวมหาสงกรานต์ และนางฟ้าบนสรวงสวรรค์ชั้นจาตุมหาราช (สวรรค์ชั้นที่ 1) ซึ่งมีหน้าที่ในการรับศีรษะของท้าวกบิลพรหมแห่รอบเขาพระสุเมรุในแต่ละรอบปี โดยมีเกณฑ์กำหนดว่าสงกรานต์ตรงกับวันใด ให้นางสงกรานต์ประจำวันนั้นเป็นผู้แห่ ดังนี้

1.นางทุงษเทวี ประจำวันอาทิตย์ ทัดดอกทับทิม มีปัทมราค (แก้วทับทิม) เป็นเครื่องประดับ ภักษาหาร คือ อุทุมพร (มะเดื่อ) พระหัตถ์ขวาถือจักร พระหัตถ์ซ้ายถือสังข์ เสด็จไสยาสน์เหนือปฤษฎางค์ครุฑ

2.นางโคราดเทวี ประจำวันจันทร์ ทัดดอกปีป มีมุกดาหาร (ไข่มุก) เป็นเครื่องประดับ ภักษาหาร คือ เตละ (น้ำมัน) พระหัตถ์ขวาถือพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายถือไม้เท้า เสด็จไสยาสน์เหนือพยัคฆ์

3.นางรากษสเทวี ประจำวันอังคาร ทัดดอกบัวหลวง มีโมรา (หิน) เป็นเครื่องประดับ ภักษาหาร คือ โลหิต (เลือด) พระหัตถ์ขวาถือตรีศูล พระหัตถ์ซ้ายถือธนู เสด็จประทับเหนือวราหะ (หมู)

4.นางมณฑาเทวี ประจำวันพุธ ทัดดอกจำปา มีไพฑูรย์ (พลอยเหลืองแกมเขียว) เป็นเครื่องประดับภักษาหาร นม, เนย พระหัตถ์ขวาถือเหล็กแหลม พระหัตถ์ซ้ายถือไม้เท้า เสด็จไสยาสน์เหนือปฤษฎางค์คัสพะ (ลา)

5.นางกิริณีเทวี ประจำวันพฤหัสบดี ทัดดอกมณฑา (ยี่หุบ) มีมรกตเป็นเครื่องประดับ ภักษาหาร คือ ถั่ว, งา พระหัตถ์ขวาถือพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายถือปืน เสด็จไสยาสน์เหนือปฤษฎางค์คชสาร (ช้าง)

6.นางกิมิทาเทวี ประจำวันศุกร์ ทัดดอกจงกลนี มีบุษราคัมเป็นเครื่องประดับ ภักษาหาร คือ กล้วยและน้ำ พระหัตถ์ขวาถือพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายถือพิณ เสด็จประทับเหนือมหิงสา (ควาย)

7.นางมโหทรเทวี ประจำวันเสาร์ ทัดดอกสามหาว (ผักตบชวา) มีนิลรัตน์เป็นเครื่องประดับ ภักษาหาร คือ เนื้อทราย พระหัตถ์ขวาถือจักร พระหัตถ์ซ้ายถือตรีศูล เสด็จประทับเหนือมยุรา (นกยูง)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image