ตามประสานักดูนก : นกกาฝากอกแดง โดย : นสพ.ไชยยันต์ เกษรดอกบัว

นกกาฝากอกแดง

อุทยานแห่งชาติสันกาลาคีรี ตั้งอยู่บนป่ารอยต่อระหว่างจังหวัดยะลา สงขลา และชายแดนประเทศมาเลเซียนอกจากนกเงือกกรามช้างปากเรียบ ที่ถือเป็นนกเด่นในช่วงอพยพย้ายถิ่นแล้ว ยังมีนกใต้อีกหลายชนิด พบที่ป่าสันกาลาคีรี รวมถึงนกเทพบางชนิดที่พบเฉพาะภาคใต้เท่านั้น

นกกาฝากอกแดง เป็น 1 ในนกกาฝาก 10 ชนิด ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย และเป็นนกกาฝากในภาคใต้ขนานแท้ ที่พบเห็นยากที่สุดในบรรดานกกาฝากไทยทั้งมวล ชนิดที่น่าจะคุ้นเคยที่สุด คือ นกสีชมพูสวน ซึ่งเป็นนกบ้าน นกสวนที่พบได้ทั่วประเทศ

นกกาฝากกินลูกไม้ กินแมลงที่ติดอยู่ตามใยแมงมุม และเปลือกไม้ แต่ในความเหมือนจะมีความต่าง ถ้าสังเกตจะงอยปากอย่างละเอียด จะมีกลุ่มย่อยๆ ที่จะงอยปากเล็กเรียวโค้ง เช่น นกสีชมพูสวน และอีกกลุ่มที่จะงอยปากอวบหนากว่าชัดเจน เช่น นกกาฝากอกแดง Scarlet-breasted Flowerpecker ที่ชื่อวิทยาศาสตร์ Prionochilus thoracicus แปลอย่างถอดความโดยอรรถได้ว่า นกที่มีรอยหยักเหมือนเขี้ยวบนขอบจะงอยปาก และอกเด่น (ด้วยสีแดง) เน้นลักษณะเด่นของอกสีแดง ที่พบในชื่อสามัญภาษาอังกฤษ/ไทย ด้วยเช่นกัน

ลักษณะทางกายวิภาคของจะงอยปากที่คล้ายเหยี่ยวปีกแหลมและเหยี่ยวกิ้งก่า แต่ไม่พบในนกส่วนใหญ่นี้ ช่วยให้นกกาฝากกินลูกไม้หรือเนื้อผลไม้ได้อย่างมาก เพราะรอยหยักบนขอบปาก ทำหน้าที่เหมือนฟันเวลานกขบลงบนเปลือกลูกไม้หนาๆ ให้แตก ง่ายต่อการจิกกินเนื้อใน ส่วนลูกตะขบหรือลูกไทรที่ฉ่ำน้ำแน่นเนื้ออยู่ภายในเปลือก นกก็ขบให้แตกได้ง่ายๆ เพื่อกินเนื้อในที่อุดมไปด้วยสารคาร์โบไฮเดรตและไขมัน

Advertisement

“นกกาฝาก” จัดเป็นนกขนาดเล็กมาก ยาวแค่ 9-10 ซม. เล็กกว่านกกระจอก แต่บินเร็ว และมักจะส่งเสียงแหลมเล็กถี่ๆ ขณะบินไปมาบนเรือนยอดไม้ เป็นสัญญาณว่านกอยู่ในละแวกใกล้เคียง แต่จะหาเจอ มองเห็นหรือไม่นั้น ก็อีกเรื่องหนึ่ง เพราะจัดเป็นนกอยู่ไม่สุข แถมตัวเล็ก ถ้าตาไม่ไว มือไม่คล่อง จับกล้องสองตาส่องทันละก็ จะหาตัวไม่เจอได้เหมือนกัน

รูปลักษณ์ระหว่างเพศต่างกัน นกเพศผู้สีสันสวยงามกว่านกเพศเมียที่ตัวสีเขียวไพลและสีเทา อาจมีขนสีแดงแต้มบนอกพอบางๆ ต่างจากนกเพศผู้ที่ประดับด้วยสีเด่น 3 สี เหลือง แดง และดำ จนถึงบัดนี้ ยังไม่มีข้อมูลการทำรังของนกกาฝากอกแดงในประเทศไทย

“นกกาฝากอกแดง” เคยมีรายงานที่ป่าฮาลาบาลา และอุทยานแห่งชาติเขาน้ำค้าง มักจะโผล่มารุมกินโต๊ะร่วมกับนกชนิดอื่นๆ เมื่อต้นไทรสุก ด้วยความที่แหล่งอาศัยหากินอยู่ไกลถึงชายแดน จึงเป็นกาฝากชนิดที่คนดูนกส่วนใหญ่อยากเห็น และใช่ว่าจะได้เห็นกันง่ายๆ เพราะต้องดั้นด้นลงมาถึงป่าชายแดน

Advertisement

ในช่วงปลายเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม นักดูนกและถ่ายภาพนกพากันไปเยือนป่าสันกาลาคีรี เพื่อไปชมมหัศจรรย์ธรรมชาติ การอพยพของนกเงือกหายากใกล้สูญพันธุ์ ต่างก็ได้โบนัสติดไม้ติดมือกลับบ้าน เพราะนกกาฝากอกแดง เพศผู้ ที่นอกจากจะมีอกสีแดงแล้ว ยังมีขีดสีชาดคาดกลางกระหม่อม แวะมากินเนื้อลูกฝรั่งเป็นประจำ จึงได้เห็นพฤติกรรมการกินของนกกาฝากที่จะงอยปากมีรอยหยักคล้ายเขี้ยวไว้เพื่อการนี้โดยเฉพาะ

หนำซ้ำยังเป็นนกใหม่ชนิดที่ 814 ด้วยล่ะครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image