อาศรมมิวสิก : ดนตรีเป็นความหลากหลายและไร้พรมแดน : โดย สุกรี เจริญสุข

ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการต่างประเทศ ได้จัดการฝึกอบรมนักการทูต เพื่อที่จะเตรียม ตัวนักการทูตผู้ที่จะออกไปทำหน้าที่เป็นทูตคนต่อไป นอกจากนี้ยังมีข้าราชการกระทรวงอื่นที่ทำงานเกี่ยวข้องกับต่างประเทศ ซึ่งมีหน้าที่จะต้องไปทำงานหรือประสานงานกับต่างประเทศ อาทิ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น ก็สามารถที่จะประสานงานผ่านเพื่อนร่วมรุ่นได้ทันที เป็นหลักสูตรที่สร้างเครือข่ายในการทำงาน

ในการฝึกอบรมใช้เวลา 3 เดือน (พฤษภาคม-กรกฎาคม) ในเวลาราชการ อย่างน้อยข้าราชการที่ทำงานด้านต่างประเทศก็จะได้มีโอกาสรู้จักกัน เมื่อใดที่มีความจำเป็นต้องทำงานร่วมกัน ก็จะมีเพื่อนและพวกช่วยประสานงานกันได้

สำหรับความมีรสนิยมนั้น ข้าราชการในกระทรวงการต่างประเทศมีรสนิยมเป็นลำดับต้นๆ ทีเดียว

ดนตรีเป็นวิชาหนึ่งที่อยู่ในหลักสูตรผู้บริหารการทูตระดับสูง บรรจุให้ผู้เข้าฝึกอบรมได้เรียนรู้ ใช้เวลา 1 วัน (6 ชั่วโมง) ในวันพฤหัสบดีที่ 26 กรกฎาคม 2561 ซึ่งเป็นรายการเกือบสุดท้ายก่อนที่จะเรียนจบหลักสูตร ในรุ่นก่อนๆ ทุกคนก็มักจะประหลาดใจว่าทำไมต้องเรียนวิชาดนตรีด้วย เพราะดนตรีเป็นเรื่องของรสนิยม

Advertisement

ดนตรีเป็นหุ้นส่วนของชีวิต เป็นหนึ่งในหัวข้อที่บรรยาย ทั้งนี้ เพื่อนำเสนอว่า ในชีวิตนั้น มีส่วนต่างๆ เป็นหุ้นส่วนของชีวิตมากมาย แต่หนึ่งส่วนในนั้นเป็นดนตรี ในเมื่อดนตรีเป็นนามธรรม ดนตรีจะเข้าไปอยู่ในชีวิตได้อย่างไร จริงอยู่ชีวิตมนุษย์ประกอบด้วย “กายและจิต” ในส่วนที่เป็นกายนั้น สามารถมองเห็น จับต้อง และสัมผัสได้ เพราะเป็นตัวตนดำรงอยู่ แต่ในส่วนที่เป็นจิตนั้นสัมผัสอย่างกายไม่ได้ ต้องสัมผัสได้ผ่าน “ความรู้สึกนึกคิด” ของคน คนก็จะบอกได้ว่า สิ่งที่ได้สัมผัสนั้น รู้สึกเป็นอย่างไร

ความรู้สึกนั้นเป็นปัจจุบัน นึกถึงเรื่องในอดีต และคิดถึงอนาคต การได้สัมผัสจิตของคนก็จะบอกได้ว่า อดีตเขาเป็นอย่างไร ดังที่คนสมัยก่อนสอนไว้ว่า “สำเนียงส่อภาษา กิริยาส่อสกุล” เมื่อได้สัมผัส คนก็จะเข้าไปถึงอดีตได้ ขณะเดียวกันก็จะรับรู้ความรู้สึกที่เป็นปัจจุบัน และในที่สุดก็สามารถที่จะทำนายได้ว่าอนาคตควรจะเป็นอย่างไร

ดนตรีพัฒนาบุคลิกภาพ ความมีรสนิยม และคุณภาพชีวิต ทั้งหมดเป็นหุ้นส่วนที่เป็นนามธรรม จับต้องไม่ได้ แต่สัมผัสได้ว่า เหตุที่คนจะฟังเพลงอย่างไรก็เพราะเขาชอบอย่างนั้น สะท้อนให้ทราบว่าเพราะจิตใจถูกหล่อหลอมให้เป็นอย่างนั้น เขาเติบโตมาจากสิ่งแวดล้อมอย่างนั้น เพราะดนตรีเป็นสิ่งแวดล้อมที่มีอิทธิพลต่อชีวิต ดนตรีหล่อเลี้ยงบุคลิกภาพและเป็นรสนิยมของชีวิต

Advertisement

คุณสมบัติของดนตรีที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ “เสียงมีอำนาจและเสียงคือพลังงาน” อำนาจของเสียงทำให้เกิดการเคลื่อนไหว ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงก็จะทำให้เกิดการพัฒนา ยิ่งมีการเปลี่ยนแปลงบ่อยๆ ก็จะช่วยให้การพัฒนาได้เร็วขึ้น การพัฒนาก็จะทำให้เกิดความเจริญ ดังนั้น ในระบอบประชาธิปไตยจึงนิยมใช้การเลือกตั้ง เพื่อใช้เสียงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยอาศัยเสียงที่เป็นเสียงของประชาชนในการสร้างความเปลี่ยนแปลง

เสียงที่ละเอียดประณีตจะเป็นเสียงที่มีอำนาจสูงมาก เสียงที่หยาบกระด้างจะมีอำนาจที่ต่ำกว่า เสียงที่ละเอียดได้รับการยกย่องว่าเป็น “เสียงคลาสสิก” ในความหมายที่เป็นคลาสสิกนั้น มีความเข้าใจที่แตกต่างกัน

คนส่วนใหญ่ยกย่องคำว่า “คลาสสิก” เป็นเรื่องของมาตรฐานยุโรป อาทิ ยุคคลาสสิก เพลงคลาสสิก วัฒนธรรมคลาสสิก เป็นต้น ส่วนวัฒนธรรมอื่น ดนตรีอื่น ไม่ได้รับการยกย่องให้เทียบเคียงความเป็นคลาสสิกของยุโรป

คลาสสิกในความหมายที่ว่า “สุดยอด เจ๋ง เป็นที่สุด และดีจังเลย” มีความหมายเป็นคลาสสิกอยู่ในตัว ซึ่งมีซ่อนอยู่ในทุกวัฒนธรรม เมื่อคุณสมบัติของเสียงละเอียดและประณีต จึงมีคุณภาพและมีคุณสมบัติเป็นเสียงคลาสสิกได้ อาทิ แม่ร้องเพลงกล่อมให้ลูกนอน แม้ว่าแม่จะไม่ได้เป็นนักร้องเอกของโลก แต่แม่ร้องเพลงกล่อมให้ลูกนอนด้วยความรักและความผูกพัน ไม่มีสินจ้างรางวัลใดๆ ให้กับแม่

นอกจากความรักที่มีต่อลูกน้อย เป็นความรักและความผูกพันกับลูกตราบจนวันที่ตายจากกัน เพราะเสียงของแม่คือบ้านของลูก เสียงแม่อยู่ที่ไหน บ้านของลูกอยู่ที่นั่น และแม่เป็นหนึ่งเดียวเท่านั้น

เสียงพระสวด เป็นเสียงที่คลาสสิก พระสวดมนต์ภาวนา เป็นการชำระจิตใจให้ผ่องใส บทสวดเป็นความดีงาม เป็นการปลดปล่อยสิ่งที่เป็นกิเลสเครื่องเศร้าหมองทั้งหลายออกจากจิตใจ

เสียงพระสวดที่สดใส ออกมาจากจิตใจที่สะอาด ดังนั้น เสียงพระสวดจึงมีอยู่ในทุกๆ ศาสนา ในทุกพิธีกรรม เพราะว่าการทำพิธีกรรม ก็คือการชำระจิตใจให้สะอาดและผ่องใส เมื่อพระสวดจบแล้วก็จะรู้สึกโล่ง โปร่ง เบา เสียงพระสวดจึงเป็นเสียงที่ไพเราะถึงขั้นคลาสสิก ได้รับอานิสงส์ทั้งพระผู้สวดและฆราวาสที่เป็นผู้ฟัง

เสียงระฆังวัด ในทุกๆ ศาสนสถาน ในโบสถ์ วิหาร มัสยิด จะมีเสียงของเครื่องดนตรีประเภทฆ้อง ระฆัง กังสดาล เพื่อใช้ในการประกอบพิธีกรรม เมื่อนักบวชสวดมนต์ในพิธีกรรมเหล่านั้น จะมีเครื่องดนตรีที่หลากหลายบรรเลง อาทิ แตร สังข์ กังสดาล ฆ้อง ระฆัง กระดิ่ง ตะโพน กลอง เป็นต้น เพื่อที่จะทำเสียงให้ดัง เพื่อประกอบให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์ เสียงที่ประกอบเหล่านั้นไม่ได้เป็นเพลง แต่เป็นเสียงที่ศักดิ์สิทธิ์

ในกรณีของเสียงที่ใช้ประกอบพิธีกรรมนั้น ใช้คติที่ว่า “เสียงน้อย กิเลสน้อย” เพราะเสียงเป็นสื่อทางจิตใจที่จะทำให้จิตใจสงบลง อย่าลืมว่ามนุษย์ประกอบขึ้นด้วยจิตที่มีความกลัวเป็นที่ตั้ง เมื่อมีความเงียบสงบก็เกิดความกลัวขึ้นในจิตใจ มนุษย์จึงต้องทำเสียงให้ดังขึ้น เพื่อที่จะขจัดความกลัวและขจัดความเจ็บปวดในระหว่างวัน เมื่อมีเสียงดังขึ้นแล้ว มนุษย์ก็จะรู้สึกปลอดภัย จนกว่ามนุษย์มีจิตใจแข็งแกร่งขึ้น จิตใจก็จะมุ่งแสวงหาความมืด ความเงียบ และความสงบ “นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ-ความสุขยิ่งกว่าความสงบไม่มี” เพราะไม่ได้กลัวอีกแล้ว

ดนตรีจากฝีมือนักดนตรีที่สุดยอดหรือเจ๋ง ก็เป็นดนตรี “คลาสสิก” ได้เช่นเดียวกัน เพราะความเจ๋งของฝีมือนักดนตรีนั้น ออกมาจากจิตใจที่บริสุทธิ์ เสียงดนตรีที่ออกมาจากใจส่งออกไปถึงใจ

เมื่อความบริสุทธิ์ได้สัมผัสกัน ก็จะสร้างความประทับใจที่ไม่รู้ลืม ทั้งๆ ที่ไม่เคยสัมผัสกันมาก่อน

ทําไมต้องเรียนรู้ดนตรี เพราะดนตรีสร้างทัศนคติที่ดีให้กับชีวิต การศึกษานั้นเป็นความเจริญงอกงามของชีวิต ทัศนคติที่ดีเป็นความปรารถนาของชีวิต ดนตรีเป็นศิลปะของเสียงที่จะช่วยพัฒนาให้มนุษย์มีทัศนคติที่ดี ซึ่งเป็นความปรารถนาของชีวิตทุกชีวิต “ชนใดไม่มีดนตรีการ ในสันดานเป็นคนชอบกลนัก” ซึ่งคำว่าชอบกลนั้น หมายถึง จืดชืด เชย ไม่มีเสน่ห์ นั่นเอง

“ดนตรีและศิลปะบริสุทธิ์ มีคุณสนับสนุนความมีจิตว่าง… เราฟังดนตรีกันที่ความไพเราะ เหมือนกับการศึกษาธรรมะ ก็เพราะความไพเราะของพระธรรม” (พุทธทาสภิกขุ)

ดนตรีเป็นเรื่องของความจริง ความดี ความงาม ความไพเราะ และความถูกต้อง ซึ่งสามารถสัมผัสได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านสื่อใดๆ หมายความถึงการที่มีคนเล่าถึงความไพเราะของดนตรีให้ฟัง จะได้ฟังคำบอกเล่าสักกี่ครั้งกี่หนก็ตาม สู้การฟังดนตรีโดยตรงด้วยตัวเองไม่ได้ เพราะความไพเราะของเสียงดนตรีจะต้องสัมผัสด้วยตัวเองเท่านั้น ไม่สามารถจะถ่ายทอดความรู้สึกได้ด้วยการเล่าสู่กันฟัง ต้องรู้สึกได้ด้วยตัวเอง

ดนตรีเป็นความไพเราะที่เป็นความจริง ในขณะเดียวกัน มาตรฐานของความจริงของเสียงดนตรีที่สืบทอดกันมานั้น เป็นความดีงามที่ถ่ายทอดกันมาหลายชั่วอายุคน ความดีงามเหล่านั้นเป็นความถูกต้องด้วย

ในที่สุด ความไพเราะของเสียงดนตรีก็เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับความจริง ความดี และความถูกต้อง

สุดท้ายที่อยากพูดถึง คือ ดนตรีเป็นศิลปะที่ไร้พรมแดน ดนตรีไม่มีเขตแดน เพราะความไพเราะของเสียงดนตรีเข้าถึงหูคนทุกคน ดนตรีที่ไพเราะส่งผ่านร่างกายเข้าทางรูขุมขน พลังของเสียงดนตรีก็เข้าไปเคลื่อนไหวทำให้ทุกอณูขยับ ดนตรีทุกชนิดจึงไม่มีพรมแดน

ดนตรีเป็นความไพเราะที่ไม่มีเงื่อนไขและไร้ข้อจำกัด เมื่อเสียงดนตรีออกมาจากจิตใจที่สะอาดแล้ว จิตใจที่สะอาดทุกดวงก็สามารถสัมผัสเข้าถึงดนตรีได้ ดนตรีไม่ได้เกี่ยวข้องกับชนชั้น ไม่มีเชื้อชาติ และไม่มีศาสนา ดนตรีจึงสามารถเข้าถึงคนได้ทุกคน ใครก็สามารถสัมผัสดนตรีชนิดใดก็ได้ ที่ไหนก็ได้ เกิดความอิ่มเอิบที่ได้สัมผัสเสียงดนตรีที่ไพเราะ ทุกศาสนาจะสอนว่า “วิญญาณกลับไปสู่สรวงสวรรค์ด้วยเสียงดนตรี”

ความจริงนั้น ดนตรีเป็นศิลปะที่ไร้ร่องรอย ซึ่งไม่เหมือนกับศิลปะแขนงอื่น รูปที่แขวนไว้ดูเพราะความสวยงาม ประติมากรรมตั้งไว้ให้ชื่นชม ไปดูกี่ครั้งก็ได้ รูปที่แขวนไว้ก็ไม่ได้เปลี่ยนไป ส่วนดนตรีนั้น ฟังผ่านหูแล้วก็จะผ่านไป กลับไปฟังอีกไม่ได้ การฟังดนตรีจากแผ่นเสียง เทป ซีดี สามารถที่จะฟังเพลงซ้ำได้ แต่ก็จะเหมือนกับการดูภาพเก่าๆ ที่แขวนไว้

โดยธรรมชาติแล้ว ดนตรีเป็นการเล่นสด ฟังสด ดนตรีจึงจะมีชีวิตอยู่ได้ การฟังดนตรีสดจึงสามารถสร้างความประทับใจและตราตรึงไว้ในจิตใจได้อีกยาวนาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image