เดินไปในเงาฝัน : ล่องหนและเฉยเมย : โดย สาโรจน์ มณีรัตน์

ผมเห็นข่าวที่ลูกศิษย์หลายสิบคนในเบื้องต้นเบี้ยวหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ที่มีครูของตัวเองเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ให้
ก็ให้รู้สึกเศร้าใจ

แม้ต่อมาจะมีลูกศิษย์อีกบางส่วนทยอยเข้าโปรแกรมชำระหนี้ตามมาก็ตาม แต่กระนั้น ก็ยังลูกศิษย์อีกหลายคนใช้วิชา “ล่องหน” และวิชา “เฉยเมย” ทั้งๆ ที่ไม่มีในตำราเรียน

แต่กลับนำมาใช้แทนจิตสำนึกที่ถูกต้อง

จนทำให้ “ครู” ต้องเดือดร้อน ถูกยึดทรัพย์สิน กระทั่งเป็นข่าวดังในเวลาต่อมา ซึ่งเห็นแล้ว ผมรู้สึกว่าสังคมไทยในปัจจุบันน่าห่วงยิ่งนัก

Advertisement

“ความซื่อสัตย์สุจริต” ที่ครูพร่ำสอนใช้ไม่ได้เลยกับคนกลุ่มนี้ ทั้งๆ ที่ตามข่าวบอกว่าปัจจุบันพวกเขาน่าจะอายุประมาณ 30 กว่าๆ แล้วก็ตาม

แถมยังใช้ชีวิตอยู่ดีมีสุข

มีชีวิตเลิศหรู

Advertisement

แต่กลับปล่อยให้ “ครู” ของตัวเองมารับกรรมกับสิ่งที่เกิดขึ้นจากความห่วงใยในตัวของลูกศิษย์ กลัวจะไม่ได้เรียนหนังสือต่อไปในระดับสูงๆ

กลัวว่าจะไม่มีอนาคต

แต่สุดท้ายพวกเขากลับทำลายอนาคตของตัวเอง

ถามว่าผมเห็นข่าวนี้แล้วรู้สึกเช่นไร ?

เศร้าปนความสงสัยในระบบของราชการไทยหลายประการ หนึ่งในนั้นคือทำไม กยศ.ถึงปล่อยให้ครูคนหนึ่งสามารถค้ำประกันเงินกู้นักเรียนได้ถึง 60 คน

ประเด็นนี้ผมสงสัยมาก

สอง การติดตามทวงหนี้นักเรียนที่กู้เรียนขณะนั้น ซึ่งในเวลาต่อมาพวกเขาอาจมาเรียนหนังสือต่อในระดับอาชีวศึกษา วิทยาลัย และมหาวิทยาลัยต่างๆ ตามมา

แต่ทำไมกระบวนการติดตามทวงหนี้ถึงปล่อยให้คาราคาซังยาวนานมาก แสดงว่าการทำงานของ กยศ.เองก็น่าจะมีปัญหา ทำงานอย่างไร้ประสิทธิภาพ จึงทำให้มูลหนี้ทั้งระบบมีมากกว่าหลายหมื่นล้านบาท

ทั้งยังมีลูกหนี้หลายแสนราย

ที่สำคัญ ลูกหนี้เหล่านั้นกลับไม่มีมโนสำนึกในความรับผิดชอบของตัวเอง ทั้งๆ ที่วัตถุประสงค์ของการตั้งกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาเพื่อให้นักเรียนที่มีผลการเรียนดี แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์สามารถนำเงินกู้เหล่านี้ไปเรียนหนังสือต่อในระดับสูงๆ ได้

เพื่อหวังว่าพวกเขาจะยกระดับคุณภาพชีวิตของตัวเองขึ้นมา

กระทั่งมีที่ยืนในสังคม

แต่กระนั้น การกำหนดเกณฑ์การคัดกรองที่มีอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นผลการเรียนไม่น้อยกว่า 2.0 สำหรับผู้กู้รายเก่าเลื่อนชั้นปี และการเข้าร่วมโครงการที่มีประโยชน์ต่อสังคม และสาธารณะจำนวน 36 ชั่วโมงสำหรับผู้กู้รายเก่าเลื่อนชั้นปี

ผมดูในภาพรวมแล้วถือว่าพอรับได้

แต่สำหรับผู้กู้รายใหม่กลับไม่มีกฎเกณฑ์อะไรควบคุมเลยไม่ว่าจะเป็นเกรดเฉลี่ย หรือการเข้าร่วมโครงการต่างๆ เพื่อสังคม ผมจึงบอกว่าตรงนี้ก็เป็นความหละหลวมอีกประการหนึ่ง

เพราะในความเป็นจริงเราสามารถคัดกรองได้ตั้งแต่เขาอยู่ชั้นมัธยมต้นด้วยซ้ำ

บางคนอาจเถียงว่าเป็นการจำกัดสิทธิการเข้าถึงเพื่อการศึกษาจนเกินไป ตรงนี้ก็ไม่ว่ากันครับ แต่เมื่อมูลหนี้ กยศ.สูงขึ้นทุกปี ทั้งกระบวนการติดตามหนี้ยังอ่อนประสิทธิภาพอย่างนี้ ผมว่าต้องลองไปทบทวนกันใหม่

สาม ผมมองว่าการศึกษาในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นของรัฐ หรือเอกชนค่าเล่าเรียนสูงเกินไป จนทำให้คนที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงทางการศึกษาจึงต้องพึ่งพิง กยศ.

โรงเรียน หรือมหาวิทยาลัยต่างๆ พอรู้ว่านักเรียน นิสิต นักศึกษากู้หนี้จาก กยศ.เขาก็ไม่ว่าอะไร เพราะรู้อยู่แล้วว่ายังไงๆ เขาก็ได้รับเงินค่าเล่าเรียนแน่
สำคัญไปกว่านั้น คณะต่างๆ หรือสาขาต่างๆ แทบจะไม่ตอบโจทย์ผู้เรียน จึงทำให้ภาคเอกชนบางแห่งจึงจัดตั้งสถาบันของตัวเองขึ้นมาเพื่อผลิตคนคุณภาพของตัวเองขึ้นมา

ส่วนที่เหลือไปไหนล่ะ ?

ก็ไปทำงานตามมีตามเกิด โชคดีหน่อย ถ้ามีโอกาสทำงานดีๆ ก็สามารถชำระหนี้คืน กยศ.ได้ แต่ถ้าทำงานไปวันๆ และไหนจะต้องผ่อนมือถือ,ผ่อนรถ,ผ่อนคอนโดตามเทรนด์ของคนรุ่นใหม่สมัยนี้

ผมว่าพวกเขาไม่มีทางชำระหนี้ กยศ.ได้แน่นอน
ก็เหมือนกับ “ลูกศิษย์” ที่เป็นข่าวนั่นแหละครับ

ผมเห็นแล้วเศร้าใจแทนจริงๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image