มหัศจรรย์การ์ตูน : ถ้าเราติด (อยู่ใน) เกม โดย : วินิทรา นวลละออง

ในปีนี้ องค์การอนามัยโลกได้ประกาศระบบการวินิจฉัยโรคฉบับล่าสุดชื่อ ICD-11 และหนึ่งในการวินิจฉัยใหม่ที่สร้างความฮือฮาคือ “gaming disorder” ถ้าเรียกเป็นภาษาไทยน่าจะเป็นโรคติดเกมค่ะ สอดคล้องกับสมาคมจิตแพทย์อเมริกันซึ่งประกาศการวินิจฉัย “internet gaming disorder (IGD)” ให้เป็นหนึ่งในการวินิจฉัยในระบบการวินิจฉัยโรคล่าสุดชื่อ DSM-5 จากกระแสนี้จึงเชื่อได้ว่าองค์การอนามัยโลกและสมาคมจิตแพทย์อเมริกันคงมองเห็นผลกระทบของการเล่นเกมต่อสุขภาพกายและจิต แต่ไม่ได้หมายความว่าคนเล่นเกมทุกคนจะต้องได้รับการวินิจฉัยนี้นะคะ

เด็กหนุ่มวัยประถมคนหนึ่งติดตามคุณแม่ซึ่งไม่สบายเป็นโรคซึมเศร้ามาตรวจด้วย อาการของคุณแม่คงที่ดี คุณพ่อซึ่งมาด้วยเห็นได้จังหวะคือแซวลูกชายให้หมอฟังเสียเลย

“คุณหมอช่วยหน่อยเถอะ คนนี้น่ะติดเกมน่าดู กลับมาบ้านไม่ทำอะไร เอาแต่เล่นเกม คุณหมอช่วยบอกให้เลิกเล่นหน่อยเถอะ”

หนุ่มน้อยก็หน้าเสียเลยค่ะ แผนยืมปากหมอช่วยห้ามลูกเล่นเกมใช่ว่าจะได้ผลเสมอไปนะคะ

Advertisement

“ชอบเล่นเกมเหรอคะ แล้วเรียนหนังสือได้เกรดเท่าไหร่”

หนุ่มน้อยชู 4 นิ้วขึ้นมาค่ะ สรุปว่าแม้จะเล่นเกมแต่ก็เล่นเฉพาะตอนอยู่ที่บ้าน ยังสามารถไปเรียนและคบเพื่อนได้ตามปกติ มีเพื่อนที่โรงเรียนหลากหลายกลุ่มไม่เฉพาะเพื่อนที่เล่นเกมด้วยกัน ที่สำคัญคือเรียนเก่งเสียด้วย สรุปว่าต้องบอกคุณพ่อไปว่าน้องไม่ได้ติดเกมหรอกค่ะ เขาแค่ชอบเล่นเกมเท่านั้นเอง ไม่ต้องกินยารักษาหรือห้ามเล่นเกมตลอดกาล เพียงแค่ดูแลให้เล่นโดยไม่รบกวนชีวิตประจำวันด้านอื่น เช่น การเรียน การกิน หรือการนอนเท่านั้นเอง

มาดูหนุ่มน้อยอีกคนซึ่งคนนี้เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย เขาถูกอาจารย์บังคับให้มาพบจิตแพทย์เพื่อรักษาอาการติดเกม หนุ่มน้อยคนนี้อยู่ปี 2 แล้ว ผลการเรียนแย่ลงเรื่อยๆ จนกระทั่งต้องซ้ำชั้น สาเหตุที่เขาสอบแทบไม่ผ่านเลยสักวิชาเพราะใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเล่นเกม กลางคืนเล่นเกมจนถึงตี 3-4 จนง่วงจึงเข้านอน ถ้าตอนเช้าตื่นไปเรียนไม่ทันก็จะโดดเรียนเล่นเกมอยู่ที่หอเลย ถึงไปเรียนได้บางครั้งก็หลับในห้องเพราะเล่นเกมจนดึก ไม่มีสมาธิเรียนเพราะใจร้อนรนอยากเล่นเกมตลอดเวลา โชคดีที่หนุ่มนักศึกษาคนนี้เริ่มเห็นปัญหาของตัวเองและตัดสินใจยอมกินยารักษารวมถึงยอมลบเกมออนไลน์ที่ทำให้เล่นจนลืมเวลาด้วย แต่เขายังขอเหลือเกมบางเกมเอาไว้ที่เล่นง่ายและรู้สึกเพลิดเพลิน สามารถหยุดเกมเล่นค้างไว้ได้ไม่เหมือนเกมออนไลน์ที่ต้องเล่นต่อเนื่องไม่สามารถหยุดได้ หลังดูแลมา 2 ปี เขาก็ไม่สอบตกอีกและไม่กลับไปเล่นเกมออนไลน์อีกเลยค่ะ

Advertisement

โลกของเกมพัฒนาไปมากจนผู้ใหญ่ที่ไม่ได้เล่นเกมบางท่านอาจจินตนาการไม่ออกเลยทีเดียว มีการพัฒนาเกมให้ผู้เล่นรู้สึกเหมือนหลุดเข้าไปอยู่ในโลกของเกมและสร้างค่านิยมทางสังคมบางอย่างขึ้นโดยที่เราไม่รู้ตัว เช่น ความเก่งไม่จำเป็นต้องวัดจากผลการเรียนเสมอไป หากเล่นเกมด้วยความอุตสาหะและเก็บไอเทมได้เยอะๆ เราก็จะเก่งขึ้นได้โดยไม่ต้องทนเบื่อนั่งเรียนหนังสือในห้อง หรือความตายไม่ได้น่ากลัวเพราะต้องจากกันตลอดกาลเหมือนความตายในชีวิตจริง ความตายในเกมอาจหมายถึงพลังชีวิตลดลงจนหมดทำให้สูญเสียแอคเคาท์ไปและต้องกลับไปเริ่มเล่นในระดับต่ำสุดอีกครั้ง ในแอนิเมชั่นเรื่อง “Seven Senses of the Re’Union” ได้พาเราเข้าไปใกล้โลกแห่งจินตนาการมากขึ้นอีกซึ่งทำให้คำนิยามของชีวิตและความตายถูกตั้งคำถามอีกครั้ง

ในโลกอนาคต เกมยูเนี่ยนได้รับความนิยมอย่างสูง ผู้เล่นต้องเชื่อมต่อประสาทสัมผัส (sense) ของตัวเองเข้ากับเครื่องเล่นทำให้สัมผัสประสบการณ์ได้เหมือนไปเดินอยู่ในเกมจริงๆ นักเล่นเกมทีม “ซุบารุ” ที่แข็งแกร่งประกอบด้วยเด็กประถม 6 คนตัดสินใจบุกไปทำภารกิจที่ยากและไม่เคยมีทีมใดทำสำเร็จ “อาซาฮี” เด็กหญิงหนึ่งในทีมเข้าไปช่วย “ฮารุโตะ” เพื่อนสนิทของเธอจนเธอถูกโจมตีและตายในเกม หลังจากนั้นทุกคนก็ติดต่อเธอไม่ได้ เด็กทุกคนไปหาอาซาฮีที่บ้านทันที แม่ของอาซาฮีพบว่าเธอเสียชีวิตด้วยอาการหัวใจล้มเหลวเวลาเดียวกับที่เธอตายในเกม เกมยูเนี่ยนจึงถูกปิดตัวไป ผ่านไป 6 ปีเกมนี้กลับมาอีกครั้งในชื่อรียูเนี่ยน ฮารุโตะซึ่งยังรู้สึกผิดต่อการเสียชีวิตของอาซาฮีกลับไปเล่นเกมนี้อีกครั้งอย่างไม่เต็มใจนัก เขาตกใจเมื่อพบว่าอาซาฮีซึ่งเสียชีวิตไปเมื่อ 6 ปีก่อนกลับยังเล่นเกมอยู่โดยไม่มีความทรงจำตลอด 6 ปีที่ผ่านมาเลย เธอไม่สามารถออกจากเกมได้เหมือนวิญญาณของเธอสิงอยู่และเป็นส่วนหนึ่งของโลกในเกม แบบนี้จะเรียกว่าเธอตายไปแล้วได้หรือเปล่าถ้าเธอยังคงใช้ชีวิตและเติบโตไปพร้อมกับเกม

ไม่แน่ใจว่าคนที่ติดเกมอยากเข้าไปติดอยู่ในโลกของเกมหรือเปล่าแต่อ่านนิยามของโรคติดเกมแล้วก็เป็นไปได้ว่าอาจจะอยากค่ะ อาการของโรคติดเกมคือให้มองย้อนไปในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ผู้เล่นมีปัญหาไม่สามารถควบคุมตนเองให้เล่นเกมแต่พอเหมาะได้หรือไม่ จัดการเล่นเกมให้อยู่ในลำดับสำคัญกว่า
กิจกรรมอื่นๆ ในชีวิตประจำวันหรือเปล่า และยังคงเล่นเกมแม้ว่าจะเกิดผลเสียต่อชีวิตหรือเปล่า ถ้าการเล่นเกมกระทบต่อชีวิตครอบครัว การเข้าสังคม การคบหาเพื่อน การเรียนหรือการทำงานแล้ว ต้องสงสัยว่าจะมีปัญหาติดเกมจริงๆ ค่ะ

อย่างไรก็ตาม การวินิจฉัยนี้ได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์อยู่บ้างในแง่ที่อาจทำให้ผู้ปกครองบางคนเข้าใจผิดว่าเด็กที่เล่นเกมด้วยความสนุกเป็นเด็กติดเกม การเล่นเกมที่ยังไม่รบกวนชีวิตประจำวันมากนักไม่ได้ถือเป็นการติดเกมค่ะ ถ้าเขายังสามารถควบคุมตัวเองให้เล่นและหยุดพักตามเวลา สามารถไปเรียนได้ ก็อย่าถึงกับห้ามเด็ดขาดเลย แค่กำหนดเวลาเล่นให้เหมาะสมก็พอ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image