อุทยานธรณี “ภูเวียง” ขอนแก่น เตรียมประกาศข่าวดี พบไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ชนิดที่ 5 ของโลก

เพิ่งจะรวมพลังปลูกกล้วยไม้ช้างกระที่อุทยานมัญจาคีรี ไปเมื่อตอนต้นปี รอคอยฤดูกาลที่จะบานต้อนรับนักท่องเที่ยว เป็นการเติมสถานที่ท่องเที่ยวอีกแห่งไว้ในปีปฏิทิน

ความที่ “ขอนแก่น” เป็นเมืองการค้าการลงทุน จึงดูเหมือนมิค่อยมีสถานที่ท่องเที่ยวมากมายสักเท่าไรนัก แต่ไม่เกินแรงแม่เมืองดอกคูนเสียงแคน “สิริพร สงบธรรม จังตระกุล” ไปค้นไปตามหาสถานที่ “อันซีน” ในสไตล์บ้านนี้เมืองนี้มานำเสนอ

สิริพร สงบธรรม จังตระกุล

นับตั้งแต่ “เขื่อนอุบลรัตน์” ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำแห่งแรกของภาคอีสาน ยังเป็น “ศูนย์ควบคุมโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” ทำหน้าที่เป็น “เขื่อนแม่” ควบคุมเขื่อนลูกๆ อีก 6 เขื่อน ด้วยรีโมตคอนโทรล เพื่อการชลประทานและการผลิตไฟฟ้า โดยเขื่อนลูกทั้งหกได้แก่ เขื่อนน้ำพุง เขื่อนปากมูล เขื่อนสิรินธร เขื่อนห้วยกุม เขื่อนจุฬาภรณ์ และเขื่อนลำตะคอง

“สถานีรถไฟเขาสวนกวาง” จุดกำเนิดของไก่ย่างเขาสวนกวาง ที่เริ่มต้นจากการขายไก่ย่างริมถนนมิตรภาพ เป็นของฝากกลับบ้านกินคู่กับข้าวนึ่ง กระทั่งปัจจุบันยุคที่กระแสสุขภาพมาแรง มหาวิทยาลัยขอนแก่นทำวิจัยได้ไก่สายพันธุ์ใหม่ KKU1 เป็นไก่ลูกผสมพันธุ์พื้นเมืองที่นอกจากมีเนื้อแน่นหนานุ่ม ยังให้ค่ายูริกต่ำอีกด้วย จึงกลายเป็นสินค้า จีไอ ของขอนแก่นไปแล้ว

Advertisement

นอกจากนี้ ยังมี “เรือนพักรับรอง จอมพล ป.พิบูลสงคราม” ซึ่งปัจจุบันปรับเป็นพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ บอกเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการพัฒนาประเทศและเมืองขอนแก่น เมื่อ 60 ปีก่อน

สิริพร แม่เมืองขอนแก่น เล่าว่า บริเวณดังกล่าวซึ่งมีพื้นที่เกือบ 30 ไร่ ไม่ได้มีแต่เรือนพักรับรองของ จอมพล ป. แต่ยังมีจวนผู้ว่าฯ เรือนพักของปลัดจังหวัด หัวหน้าสำนักงานจังหวัด อยู่ภายในบริเวณเดียวกัน เพื่อให้ทุกคนสามารถปรึกษาข้อราชการด้วยกัน

Advertisement

“หลังท่านปฏิวัติแล้วอยากวางนโยบายเพื่อการพัฒนาประเทศ เห็นว่าอีสานเป็นภูมิภาคที่ยากจนที่สุด รายได้ต่อหัวน้อยสุดและแห้งแล้ง จึงเลือกขอนแก่นและพามันสมองของประเทศมาที่นี่ ประชุมและเกิดการพัฒนาประเทศและเมืองขอนแก่น 3 เรื่อง

1.ทำให้เกิดแผนพัฒนาและเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 1 

2.ทำให้เกิดการพัฒนาเมืองขอนแก่นอย่างชัดเจน ก่อสร้างเขื่อนอุบลรัตน์ เป็นเขื่อนแม่ที่ควบคุมรีโมตคอนโทรลอีก 7 เขื่อนในภาคอีสาน ในการผลิตกระแสไฟฟ้า

3.มีการก่อตั้งสถานศึกษา ซึ่งปีนี้ครบ 52 ปี มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นมหาวิทยาลัยที่มีพื้นที่ในการจัดตั้งมากที่สุดในประเทศไทย พื้นที่เกือบ 5,000 ไร่ ห่างจากเมือง 5 กิโล เป็นที่มาของการสร้างรถไฟฟ้ารางเบา 

เมื่อมีมหาวิทยาลัยเกิดขึ้นก็มีนักวิชาการ มีการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนระหว่างส่วนกลางมาถึงขอนแก่น กลายเป็นการเชื่อมโยงของวิชาการและภาคเศรษฐกิจก็เกิดขึ้นในคราวเดียวกัน ขอนแก่นจึงเป็นเมืองการค้าการลงทุนด้วยประการฉะนั้น และยังเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาทางภูมิศาสตร์ของการพัฒนาของ 20 จังหวัดในภาคอีสานเช่นกัน”

เปิดหน้าประวัติศาสตร์ ‘ไดโนเสาร์’ ในไทย

พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง

ดินแดนไดโนเสาร์เรียกขานกันในหลายจังหวัดทางภาคอีสานมีทั้งบุรีรัมย์ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ฯลฯ เพราะผืนดินแถบนี้เมื่อประมาณ 130-150 ล้านปีก่อน สันนิษฐานกันว่ามีไดโนเสาร์เดินเพ่นพ่านเต็มไปหมด

แต่ถ้าเป็นการเปิดหน้าประวัติศาสตร์การศึกษาเกี่ยวกับไดโนเสาร์แล้วต้องยกให้กับ “ภูเวียง” จังหวัดขอนแก่น

ที่นี่พบซากฟอสซิลไดโนเสาร์ชิ้นแรก คือชิ้นส่วนกระดูกหัวเข่าซ้ายของไดโนเสาร์ ยาว 15 ซม. มีน้ำหนักถึง 17 กิโลกรัม ที่ภูประตูตีหมา (หลุมขุดค้นที่ 1)

“เจอฟอสซิลไดโนเสาร์ครั้งแรกปี 2519 แต่เริ่มสำรวจทำการวิจัยจริงๆ ปี 2523 เนื่องจากต้องเสียเวลาส่งบุคลากรไปเรียนที่ฝรั่งเศส 5 ปี”

ทำไมต้องเป็นฝรั่งเศส?

“ก็เพราะฝรั่งเศสเป็นประเทศแรกที่ยื่นมือเข้ามาให้ความช่วยเหลือ โดยทำความร่วมมือผ่านทางสถานทูตฝรั่งเศส ให้เราไปเรียน 2 คน อ.นเรศ สัตยารักษ์ กับ อ.หมู ดร.วราวุธ สุธีธร”

ปรีชา ซ้ายหนองขาม เจ้าหน้าที่ประจำพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง เล่าและย้อนความให้ฟังด้วยความภาคภูมิใจว่า เขาเป็นคนภูเวียง มีประสบการณ์โดยตรงเพราะเคยสำรวจป่าภูเวียงมาก่อน

ปรีชา ซ้ายหนองขาม

ถือเป็นอีกกำลังสำคัญในการสำรวจค้นพบซากฟอสซิลไดโนเสาร์ ตั้งแต่ปี 2532

“ตอนนั้นอาจารย์วราวุธถามผมว่าเจออะไรแปลกๆ บนลานหินบ้างมั้ย ผมก็เล่าว่า เจอรอยตีนเป็ดโบราณ แล้วก็ไปเห็นรอยเท้าไดโนเสาร์ หลังจากนั้นมีการขุดที่ประตูตีหมา”

จากวันนั้นจนถึงวันนี้ เราพบไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ 4 สายพันธุ์ คือ ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน, สยามโมซอรัส สุธีธรเน, สยามโมไทรันนัส อิสานเอนซีส, กินรีมิมัส ขอนแก่นเอนซีส และได้อัพเดตความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับไดโนเสาร์อีกมากมาย

อาทิ ที่เข้าใจกันว่า ไดโนเสาร์มี 2 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ที่กินพืช กับสายพันธุ์ที่กินเนื้อนั้นไม่จริงเสียทีเดียว เพราะมีสายพันธุ์ที่กินทั้งพืชและเนื้อด้วย

ที่น่าสนใจคือ ที่เคยเข้าใจกันมาตลอดว่า ไดโนเสาร์มีหน้าตาเหมือนกับที่เห็นในภาพยนตร์จูราสสิก พาร์ก ปัจจุบันมีความรู้ใหม่ว่า ไดโนเสาร์อาจ “มีขน” เพราะมีการค้นพบไดโนเสาร์มีขนที่มองโกเลีย

ทั้งมีรายงานการพบก้อนอำพันที่มีชิ้นส่วนของหางไดโนเสาร์ที่คงสภาพชัดเจนแม้กระทั่งขน มีอายุย้อนหลังไปถึง 99 ล้านปี

เรื่องเล่าจากยอดภูประตูตีหมา

กระดูกสันหลัง (จำลอง) ที่โผล่ขึ้นมาจากชั้นหิน ที่หลุมขุดค้นที่ 9

ย้อนกลับไปเมื่อเกือบ 50 ปีก่อน ภูเวียง ยังเป็นเพียงชื่อของอุทยานแห่งชาติ ครั้งนั้นมีโครงการสำรวจแหล่งแร่ ภูเวียงนับเป็นแหล่งแร่ยูเรเนียมในหินทรายแหล่งแรกในประเทศไทย

ปรีชา เล่าให้ฟังว่า ปี 2519 ตอนนั้นมีการสำรวจหาแร่ยูเรเนียม เป็นความร่วมมือกันสำรวจระหว่างรัฐบาลไทยกับเยอรมนี เราพบสารกัมมันตภาพรังสีบริเวณภูประตูตีหมา พบแร่ยูเรเนียมบนชั้นหินทรายด้วย

ฟอสซิลชิ้นแรกที่พบคือส่วนของกระดูกหัวเข่าซ้าย

ขณะที่สำรวจ คุณสุธรรม แย้มนิยม อยากทำธุระส่วนตัว เลยเดินไปที่ร่องน้ำประตูตีหมา ระหว่างนั้นก็มองไปเรื่อยๆ ปรากฏว่าสะดุดหินก้อนหนึ่งลักษณะโครงสร้างเหมือนกระดูกมาก จึงให้คนงานเอามาไว้ที่แคมป์ ตอนหลังมีผู้เชี่ยวชาญจากฝรั่งเศส คือ คุณอีริค บุฟโต จากปารีสกับคณะเข้ามาสำรวจฟอสซิลไดโนเสาร์ในประเทศไทย เอาตัวอย่างให้ดูจึงรู้ว่าเป็นฟอสซิลของซอโรพอด ไดโนเสาร์กินพืชขนาดใหญ่ จากนั้นความร่วมมือระหว่างไทย-ฝรั่งเศสก็ดำเนินไป โดยส่งคุณ วราวุธ สุธีธร ซึ่งเป็นนักธรณีวิทยาตอนนั้นไปฝรั่งเศสศึกษาวิธีการอนุรักษ์ฟอสซิลอยู่ 6 เดือน กลับมาก็แทคทีมกันขึ้นมาที่ประตูตีหมาก่อนจะเดินขึ้นไปจนถึงยอดภู และมีการขุดค้นกันอย่างเป็นระบบ

สำหรับ ชื่อ “ประตูตีหมา” ซึ่งเป็นจุดที่พบฟอสซิลไดโนเสาร์เป็นครั้งแรก เป็นเทือกเขาหนึ่งอยู่ที่ภูเวียง ปรีชาบอกว่า ชื่อนี้มีที่มา เป็นเรื่องเล่าแต่ครั้งเก่าก่อนว่า นายพรานพาหมามาล่าสัตว์ที่เพิงผาแห่งนี้ แต่รอสัตว์อยู่นานก็ไม่ออกมาเสียที ปรากฏว่าหมาออกมาแทน เลยถูกตี

ซึ่งลักษณะภูมิประเทศตรงนั้นเป็นลำห้วยลึก เข้าไปแล้วออกไปทางไหนไม่ได้ เลยเรียกว่า “ประตูตีหมา”

เตรียมฉลองใหญ่

สายพันธุ์ใหม่ชนิดที่ 5 ของโลก

เดินทางมาภูเวียงแล้ว สิ่งที่ไม่ควรพลาดหลังเก็บภาพวิวที่ “ผาชมตะวัน” แล้ว คือเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติแบบ Hiking trail เบาๆ ท่ามกลางป่าเต็งรัง ไปชม “หลุมขุดค้นที่ 9”

ที่นี่คือ จุดที่ค้นพบฟอสซิลบรรพบุรุษของ ทีเร็กซ์ เป็นครั้งแรกในเมืองไทย “สยามโมไทรันนัส อีสานเอนซิส” (Siamotyrannus isanensis) มีอายุอยู่ในยุคครีเทเชียสตอนต้น ค้นพบเมื่อเดือนสิงหาคม 2536 โดยพบส่วนสะโพกด้านซ้ายและกระดูกโคนหาง ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในตู้กระจกบนลานหินขนาดใหญ่

ปรีชา ซึ่งรับหน้าที่เป็นผู้บรรยายเล่าว่า ส่วนของ “สันหลัง” ที่เห็นในหลุมขุดค้นเป็นของจำลอง โดยหล่อด้วยเรซิน ส่วนของจริงเก็บในคลังตัวอย่างที่พิพิธภัณฑ์สิรินธร ที่กาฬสินธุ์ เนื่องจากเป็นต้นแบบของไดโนเสาร์ที่เรารู้จักเป็นครั้งแรก

“ปี 2536 ผมและคุณสมชัย (สมชัย เตรียมวิชานนท์) มาที่นี่และเจอส่วนของสันหลัง มันดำมาก แต่หลังจากดูที่ข้อต่อจึงเชื่อว่าน่าจะเป็นฟอสซิลไดโนเสาร์ช่วงสันหลัง จึงเก็บไว้ เราใช้เวลาสกัดอยู่ประมาณ 7 เดือน ได้สะโพกและสันหลัง และเมื่อเอาให้ อ.วราวุธดูแล้วน่าจะเป็นไดโนเสาร์กลุ่มกินเนื้อขนาดใหญ่” และขยายความเพิ่มเติมว่า

“ของเราจะเล็กกว่าไดโนเสาร์ที่เห็นในจูราสสิก พาร์ก เชื่อว่าเป็นเพราะสภาวะแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย ทำให้มันโตไม่เต็มที่ พอมาในช่วงยุคครีเตเชียส เจ้าทีเร็กซ์เริ่มพัฒนาตัวขึ้นมาจนตัวใหญ่ ฉะนั้น ซากที่เจอที่ภูเวียงครั้งแรก เมื่อไปเทียบกับที่เจอที่อเมริกาเหนือ หรือจีน จึงสันนิษฐานว่า ทีเร็กซ์น่าจะเกิดครั้งแรกที่ประเทศเรา และมีการเคลื่อนย้ายของไดโนเสาร์เมื่อสมัยที่ผืนแผ่นดินยังเป็นผืนเดียวกันอยู่ เราตั้งชื่อว่า ‘สยามโมไทรันนัส อีสานเอนซิส’ เป็นไดโนเสาร์พันธุ์กินเนื้อ”

แต่ก็พบไดโนเสาร์กินพืชด้วย คือ ภูเวียงโกซอรัสสิริธรเน เจอเมื่อ 2525 เป็นการขุดอย่างเป็นระบบแล้ว เรามีตัวอย่างฟอสซิลมากกว่า 20 ชิ้น โดยเอาตัวอย่างซอโรพอดจากไทย ที่ประตูตีหมานี่แหละไปวิจัยร่วมกับซอโรพอดทั่วโลก ปรากฏว่าไม่เหมือนที่ใดเลย จึงตั้งชื่อใหม่ โดยลงท้ายว่า “ภูเวียง” ตอนนั้นเราขุดหลุมที่ 2 อยู่ สมเด็จพระเทพฯ ทรงสนพระทัยเรื่องซากดึกดำบรรพ์โดยเฉพาะซากไดโนเสาร์จึงเสด็จที่ภูเวียง ทั้งพระราชทานนาม เป็นที่มาของชื่อ “ภูเวียงโกโนซอรัสสิรินธรเน”

แม้ปัจจุบันเราจะเจอซากสมบูรณ์ที่กาฬสินธุ์หรือที่ไหนก็ตาม ก็ยังต้องใช้ชื่อ ภูเวียงโกโนซอรัสสิรินธรเน อยู่ดี เพราะต้นแบบเสร็จจากที่นี่ ฉะนั้น ตั้งแต่ 2532 จนถึงปัจจุบัน หลายๆ ที่ในหลายภูมิภาคของประเทศไทยจึงมีการขุดสำรวจซากฟอสซิลไดโนเสาร์

ภูเวียงเองพบไดโนสายพันธุ์ใหม่ของโลก 4 สายพันธุ์ “ภูเวียงโกโนซอรัสสิรินธรเน” “สยามโมไทรันนัส อีสานเอนซิส” และเราก็เจอไดโนเสาร์กินปลาในกลุ่มสไปโนซอรัส เนื่องจากเราเจอฟันอย่างเดียว ต่อมาเราเจอกระโดงแทงหลังด้วยที่ตำบลสำราญ อำเภอเมือง จ.ขอนแก่น ที่สำคัญเป็นไดโนเสาร์พันธุ์ใหม่เช่นกัน ชื่อ “สยามโมซอรัสสุธีธร”

จากนั้นมาประมาณปี 2536-2537 เราเจอซากฟอสซิลที่ภูเวียง เป็นไดโนเสาร์นกกระจอกเทศ ชื่อ “กินรีไมมัส” นี่คือ 4 สายพันธุ์ใหม่

ล่าสุดสายพันธุ์ที่ 5 กำลังจะประกาศการค้นพบ ซึ่งขณะนี้ผ่านการวิจัยแล้ว โดยนักศึกษาไทยที่ไปศึกษาเรื่องนี้ที่ประเทศเยอรมนี เอาตัวอย่างจากที่นี่ไป เข้าใจว่าเป็นกลุ่ม แรพเตอร์ ซึ่งน่าจะมีการประกาศภายในสิ้นปีนี้แน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image