ให้ ‘ชิ้นเอก’ เล่าชีวิต ‘จักรพันธุ์ โปษยกฤต’ 75 ปีนายช่างแห่งรัตนโกสินทร์

ในช่วงชีวิตของคนหนึ่งคน อาจยาวนานหรือแสนสั้นชั่วพริบตา

ถูกจดจำหรือลืมเลือนราวกับไม่เคยมีตัวตน

ทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่หรือปล่อยให้เวลาผ่านไปอย่างเลื่อนลอย

75 ปีของ “จักรพันธุ์ โปษยกฤต” มีความหมายยิ่งไปกว่านั้น

Advertisement

จากเด็กน้อย เติบโตเป็นนักเรียนศิลปะ เป็นช่างเขียน เป็นศิลปิน และเป็นครู

สร้างผลงานราวภาพฝัน อ่อนช้อย ละเมียดละไม ลึกซึ้งด้วยความหมาย งดงามอย่างอุดมคติ ทั้งยังหลอมรวมประสมประสานศาสตร์และศิลป์หลากหลาย ไม่จำกัดเพียงจิตรกรรมที่สร้างชื่อสู่ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ พุทธศักราช 2543

คว้ารางวัลเป็นหางว่าว จนไม่อาจกล่าวได้หมดสิ้น

Advertisement

ทำหน้าที่สำคัญด้านการอนุรักษ์งานประณีตศิลป์โบราณมากมาย อาทิ ตู้วรรณคดี หุ่นหลวง ตุ๊กตาล้ำค่า

ได้รับยกย่องเป็น “นายช่างเอกในรอบ 200 ปีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์” หนึ่งใน 52 คนนับแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

ท่ามกลางเกียรติยศ ชื่อเสียง คำสรรเสริญ เจ้าตัวยังคงทำงานอย่างต่อเนื่องไม่หยุดยั้ง แม้ล่วงสู่วัยชรา ราวกับเวลาไม่เคยหมดไป

เช้าตรู่ของวันที่ 16 สิงหาคม 2561 ในวันที่อายุครบ 75 ปีเต็ม บ้านเลขที่ 49/1 ในซอยเอกมัย คลาคล่ำไปด้วยผู้คนหลากหลายวงการ โดยเฉพาะแวดวงศิลปะ ที่ตั้งใจเดินทางมาร่วมทำบุญเลี้ยงพระ ทั้งเนื่องในวันคล้ายวันเกิดของศิลปินคนสำคัญแห่งยุคสมัย และพร้อมกันนั้นยังเป็นวันเปิดนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกในรอบ 15 ปีที่คัดสรรผลงาน “ชิ้นเอก” มาให้ได้รับชมอย่างใกล้ชิด อีกทั้งบางชิ้นยังไม่เคยจัดแสดงที่ใดมาก่อน

จักรพันธุ์ โปษยกฤต ดึงริบบิ้นดอกไม้เปิดนิทรรศการ

เที่ยง 9 นาที จักรพันธุ์ โปษยกฤต ปรากฏตัวด้วยรอยยิ้มอ่อนโยน สีหน้าแจ่มใส แม้อยู่ในวีลแชร์ หลังล้มป่วยด้วยอาการเส้นเลือดในสมองตีบ

จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย ถวายเครื่องไทยธรรมแด่ภิกษุสงฆ์ แล้ว “ดึงริบบิ้นดอกไม้” เปิดนิทรรศการอย่างเป็นทางการในห้องเล็กๆ แต่เปี่ยมด้วยมนต์ขลัง เพราะเดิมเป็นพื้นที่ซ้อมหุ่นกระบอกซึ่งถูกปรับเปลี่ยนเป็นห้องหับสำหรับโชว์ผลงานระดับมาสเตอร์พีซ อาทิ จิตรกรรมสีน้ำมัน “พระแม่คงคา” พ.ศ.2533, หุ่นกระบอกชุด “สามก๊ก” ตอน โจโฉแตกทัพเรือ พ.ศ.2532, หุ่นกระบอกชุด “ตะเลงพ่าย” พร้อมแม่พิมพ์ต้นแบบที่หาชมยากยิ่ง อีกทั้งประติมากรรมต้นแบบทศกัณฐ์จากเรื่องรามเกียรติ์ซึ่งตั้งตระหง่านหน้าพื้นที่จำลอง บรรยากาศห้องทำงานของศิลปินเจ้าของผลงานซึ่งให้ความรู้สึกสงบ เรียบง่าย

สีหน้าและแววตาของความมุ่งมั่นระหว่างที่อาจารย์จักรพันธุ์บรรจงแต่งแต้มสีสันบนใบหน้าของ “อิเหนา” ซึ่งรับบทโดย ครูเวณิกา บุนนาค ฉายแจ่มชัดบนภาพถ่ายเก่าสีจางในมุมหนึ่งของห้อง

งามอย่างไทยในแบบ ‘อุดมคติ’
หุ่นกระบอกสามก๊ก ตอน โจโฉแตกทัพเรือ

“ขอต้อนรับ”

คำกล่าวสั้นๆ ด้วยเสียงแหบพร่า ทว่ามีรอยยิ้มแห่งความสุข ท่ามกลางวงล้อมอันอบอุ่นของลูกศิษย์ลูกหาและผู้ศรัทธาในผลงาน

หลากวงการโดยเฉพาะแวดวงศิลปะร่วมงานเปิดนิทรรศการซึ่งจัดขึ้นในวันคล้ายวันเกิดในวัย 75 ปีของจักรพันธุ์ โปษยกฤต
ผลงานเขียนด้วย ‘มือซ้าย’ หลังป่วยด้วยภาวะเส้นเลือดในสมองตีบ

จากนั้น วัลลภิศร์ สดประเสริฐ รองประธานมูลนิธิจักรพันธุ์ โปษยกฤต รับหน้าที่บอกเล่าถึงนิทรรศการสำคัญครั้งนี้แทน โดยระบุว่า จัดขึ้นภายใต้โครงการ “จักรพันธุ์ โปษยกฤต นิทรรศการ” เพื่อให้ประชาชนได้เข้าชมและหาความรู้จากงานศิลปกรรมของอาจารย์จักรพันธุ์ในรูปแบบนิทรรศการหมุนเวียน ประกอบด้วย ภาพเขียน หุ่นกระบอก ประติมากรรม และงานประณีตศิลป์ หมุนเวียนทุก 4 เดือน เริ่มแสดงผลงานชุดแรกนับแต่บัดนี้จนถึง 25 ธันวาคม

“ในนิทรรศการมีทั้งงานจิตรกรรม ประติมากรรม หุ่นกระบอก ซึ่งโยงกับดนตรีนาฏศิลป์ เนื่องจากอาจารย์จักรพันธุ์ศึกษาศิลปะหลากหลายแขนง และด้วยความเป็นคนตั้งใจทำอะไรแล้ว ทำจริง จึงทำได้ดีทุกอย่าง และทำให้งานศิลปะมีความสมบูรณ์มากขึ้น ถ้าเยาวชนได้เห็น ได้ดูงานเหล่านี้จะมีประโยชน์มาก”

ทศกัณฐ์ และมุมจำลองบรรยากาศสถานที่ทำงานของจักรพันธุ์ โปษยกฤต
‘พระแม่คงคา’ สีน้ำมันบนไม้อัด พ.ศ.2553 และ ‘พระลอเสี่ยงน้ำ’ สีน้ำมันบนผ้าใบ พ.ศ.2551

ด้วยเหตุนี้ นอกจากมีภาพวาดคุณแม่สว่างจันทร์-คุณพ่อชุบ โปษยกฤต บิดามารดาผู้ให้กำเนิด ตั้งบนโต๊ะหมู่บูชาหน้าห้องจัดแสดง ยังมีภาพถ่ายครูบาอาจารย์ด้านศิลปะมากมายหลายแขนงวิชา อาทิ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี บิดาแห่งศิลปะสมัยใหม่ของไทย, ครูบุญยงค์ เกตุคง ครูระนาด “เทวดา”, อาจารย์เยื้อน ภาณุทัต ปรมาจารย์งานประณีตศิลป์ และครูอร่าม อินทรนัฏ โขน “ทศกัณฐ์” ในตำนาน เป็นต้น

เชิด ‘ไหว้ครู’ รำลึกคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พ่อแม่และอาจารย์ ในวันเปิดนิทรรศการ

ด้วยผลงานที่เชื่อว่ามีมากมายหลักหมื่นชิ้น แนวคิดการสร้างสถานที่รวบรวมผลงานเพื่อเป็นแหล่งศึกษาหาความรู้และแรงบันดาลใจให้คนรุ่นหลังจึงถือกำเนิดขึ้น

พันธุ์ศักดิ์ จักกะพาก ศิลปินสีน้ำชื่อดัง เล่าถึงความคืบหน้าของการเนรมิต “พิพิธภัณฑ์จักรพันธุ์ โปษยกฤต” บนถนนสุขาภิบาล 5 ย่านสายไหม กรุงเทพฯ ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2562 โดยคาดหวังให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางด้านศิลปะ โดยนอกจากจะรวบรวมงานศิลป์ชิ้นสำคัญแล้ว ยังมีโรงมหรสพสำหรับแสดงหุ่นกระบอกด้วยระบบเวที แสง สี เสียง อย่างเต็มรูปแบบ สมบูรณ์ที่สุดแห่งแรกในแผ่นดินไทย

พิพิธภัณฑ์ จักรพันธุ์ โปษยกฤต ย่านสายไหม กรุงเทพฯ คาดแล้วเสร็จในปี 2562

อีกหนึ่งกรุสมบัติที่ไม่เอ่ยถึงไม่ได้ คือผลงานหนังสือ “จักรพันธุ์ โปษยกฤต 6 รอบ” ชุด 2 เล่มอันเป็นไอเท็มสุดเลอค่าที่เป็นขุมทรัพย์ทางความรู้ที่นักเรียนศิลปะและผู้สนใจควรมีไว้เป็นสมบัติส่วนตัวเพื่อศึกษาอย่างลุ่มลึก

“จุดประสงค์เดียวคือเพื่อเป็นสมบัติของแผ่นดิน” พันธุ์ศักดิ์ย้ำถึงจุดประสงค์ของการรวบรวมและจัดพิมพ์หนังสือชุดดังกล่าว ซึ่งถูกรวบรวมและคัดสรรอย่างประณีตก่อนตีพิมพ์เผยแพร่

ไม่ต้องมีคำบรรยายมากมาย ดังเช่นถ้อยความเขียนด้วยลายมือของเจ้าตัวที่ถูกขยายใหญ่ไว้หน้าทางเข้านิทรรศการว่า

“ชื่อว่าช่างเขียน จะมีบทความใดบอกเล่าชีวิตได้ดีกว่าผลงานภาพเขียน”

นี่คือช่วงชีวิตของช่างเขียนแห่งประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์นาม “จักรพันธุ์ โปษยกฤต”

 

นิทรรศการหมุนเวียนผลงานจักรพันธุ์ โปษยกฤต

จัดแสดงที่มูลนิธิจักรพันธุ์ โปษยกฤต สุขุมวิท 63 (เอกมัย) กรุงเทพฯ

เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 13.00-16.30 น. ไม่มีวันหยุด

ค่าธรรมเนียมเข้าชม ประชาชนทั่วไป 100 บาท

นักเรียน นิสิต นักศึกษาในเครื่องแบบ หรือแสดงบัตรประจำตัว 50 บาท

สถาบันการศึกษาขอเช้าชมเป็นหมู่คณะ ทำหนังสือล่วงหน้า 7 วันถึงมูลนิธิจักรพันธุ์ โปษยกฤต ไม่เสียค่าธรรมเนียม โดยจะเปิดให้ชมในช่วงเช้า 11.00-12.00 น.

สอบถามเพิ่มเติมโทร 0-2392-7754 หรือ 08-7332-5467

www.chakrabhand.org

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image