เริงโลกด้วยจิตรื่น : สู่วัฒนธรรม‘ทำทิ้ง’ : โดยจันทร์รอน

ศักยภาพของชีวิตนั้น มักถูกตีค่าด้วยความคิดยิ่งในโลกยุคปัจจุบันที่ประสิทธิภาพการเชื่อมต่อถึงกันสูงยิ่ง ดังกับว่าทุกคนในโลกสามารถปฏิสัมพันธ์ต่อกันและกันโดยตรงได้ในทันที โดยไม่มีอะไรขวางกั้น ขอเพียงเข้าถึงเครื่องไม้เครื่องมือที่ดีพอ

กระทั่งภาษายังมีเครื่องมือแปลมาลดอุปสรรคได้เกือบทั้งหมด

ในการสร้างมูลค่าจำเป็นต้องอาศัยการนำเสนอประโยชน์ที่แตกต่าง แต่ว่าความแตกต่างสามารถเลียนแบบทำให้หมดคุณค่าไปได้ในพริบตา

คุณค่าของมนุษย์จึงต้องอาศัย “ความคิดสร้างสรรค์แบบถี่ยิบ” หมายถึงปรับเปลี่ยนรวดเร็ว แทบจะเรียกได้เป็น “คุณค่าแบบทำทิ้ง”

Advertisement

เพราะเมื่อนำเสนอออกไปแล้ว คุณค่าแห่งความคิดสร้างสรรค์นั้นจะหมดความใหม่สดในเวลาไม่นาน ด้วยการเลียนแบบที่เกิดขึ้นง่ายได้และขยายไปรวดเร็ว

“ความคิดสร้างสรรค์” จึงตกอยู่ในการขับเคลื่อนของ “วัฒนธรรมทำทิ้ง”

และ “วัฒนธรรมโลก” ที่เข้าสู่ “ทำทิ้ง” นี่เอง สำหรับผู้คนในยุคสมัยเช่นนี้ พวกหนึ่งเกิดความเดือดเนื้อร้อนใจเป็นอันมาก แต่อีกพวกหนึ่งกลับสนุกสนานกับความเป็นไปเช่นนี้

Advertisement

พวกแรกที่เดือดเนื้อร้อนใจคือ “กลุ่มคนที่ถูกฝึกมาให้ดำเนินชีวิตแบบมีความคิดสร้างสรรค์”

เป็นพวกที่สร้างคุณค่าให้ชีวิตด้วยการคิดสร้างสิ่งใหม่ขึ้นมา สร้างมูลค่าให้ตัวเองด้วยนำเสนอประโยชน์ที่แตกต่าง

ได้รับการยกย่องว่าเป็น “ผู้มีความคิด” หรือ “ขายความคิด”

สำหรับยุคสมัยที่ “สิ่งประดิษฐ์ที่เกิดจากความคิด” ไม่สามารถเลียนแบบได้ง่ายๆ หรือกฎหมายป้องกันการเลียนแบบยังศักดิ์สิทธิ์บังคับใช้ได้

“นักสร้างสรรค์” จึงเป็นบุคคลชั้นนำในสังคม สามารถสร้างฐานะได้ด้วยความคิด

แต่ในยุคปัจจุบันดูจะไม่เป็นเช่นนั้นแล้ว

คนอีกพวกหนึ่งคือ พร้อมจะลอกเลียน ปรับเปลี่ยนรวดเร็วตามกระแสดูจะฉกฉวยโอกาสได้มากกว่า

การหาหนทาง เปิดรับความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ คิดวิธีการลอกเลียนให้ง่าย และปรับเปลี่ยนได้เร็วที่สุด ดูจะเป็นโอกาสที่ดีกว่าของชีวิต

วัฒนธรรมของสังคมเช่นนี้ จึงก่อความทุกข์ให้กับ “ผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์”

และแม้จะมีความพยายามใช้อำนาจรัฐเข้ามาจัดการบรรเทาทุกข์ของกลุ่มคนที่ให้คุณค่ากับความคิด แต่ดูจะไม่ได้ผลอะไรมากนัก

เพราะเอาเข้าจริงแล้ว กฎหมายที่ว่าด้วยลิขสิทธิ์ทั้งหลายนั้น ลึกลงไปแล้วกลับคล้ายว่าจะฝืนธรรมชาติของชีวิต

สรรพชีวิตที่เกิดขึ้นด้วยการลอกเลียนและพัฒนา ในรูปของพันธุกรรม ซึ่งก็เป็นการสร้างขึ้นจากการลอกเลียนนั่นเอง

หรือแม้แต่คุณค่าทางวัฒนธรรมต่างๆ ก็หนีไม่พ้นที่จะมาจากการเลียนแบบ และต่อยอดกันมา

การลอกเลียนจึงเหมือนผนึกแน่นอยู่ในระดับยีนของสรรพสัตว์

ด้วยเหตุนี้เอง หนทางที่จะนำ “นักคิดนักสร้างสรรค์” คืนสู่ความสบายใจ อันเป็นจิตปกติ คือ “เลิกยึดติด” กับการให้คุณค่า “ความคิด” และ “การสร้างสรรค์”

ยอมรับความจริงของ วัฒนธรรม “ทำทิ้ง”

ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับว่า ความปรารถนาของ “นักคิด” และ “นักสร้างสรรค์” คืออะไร

หากเป้าหมายสุดท้ายอยู่กับ “ความร่ำรวย” หรือ “ความมีฐานะ” เห็น “ความคิดสร้างสรรค์” นั้นเป็น “สินค้ามีราคา” ที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการสะสมทรัพย์สิน

ความลำบากยากเย็นของชีวิตที่เคลื่อนไปใน “วัฒนธรรมทำทิ้ง” จะเกิดขึ้น

แต่หากความสุขเกิดขึ้นทันทีจากผลงานอันเกิดด้วย “ความคิดสร้างสรรค์” นั้น

โดยไม่ปรุงปรารถนาอื่นเข้ามาเพิ่มเติม

ชีวิตก็เคลื่อนสู่ความสุขได้อย่างฉับพลัน

เหมือนกับ “นักคิดสร้างสรรค์” ที่อดีต ซึ่ง “คิดและสร้างผลิตผลที่เกิดประโยชน์กับมนุษย์ขึ้นมามากมาย” พร้อมให้เพื่อนร่วมโลกได้ร่วมใช้ โดยไม่ปรารถนาสื่งอื่น

ชื่อเสียงที่เกริกไกรมาจนทุกวันนี้ ด้วยคนทั้งหลายที่อาศัยประโยชน์เชิดชู ยกย่อง ต่อเนื่องกันมา และตลอดไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image